ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UNODC-TIJ ชี้แนวทางป้องกันอาชญากรรม ด้วย “หลักนิติธรรม” สู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

UNODC-TIJ ชี้แนวทางป้องกันอาชญากรรม ด้วย “หลักนิติธรรม” สู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

12 มีนาคม 2018


เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)จัดการประชุมระดับสูงเรื่อง“การพัฒนาอย่างยั่งยืน การป้องกันอาชญากรรม และสังคมที่สงบสุข” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

โดย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประทานพระดำรัสเปิดการประชุมและนายยูรี่ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหาร UNODC กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม ใจความตอนหนึ่งว่า “เป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านการอำนวยความยุติธรรม ฝ่ายความมั่นคง ผู้กำกับกติกาบ้านเมือง และผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนา มีแนวโน้มที่จะต่างฝ่ายต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนไป ในลักษณะที่แยกส่วนจากกัน ในขณะที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ก็มักจะไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวาระในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม การประชุมในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งแสดงให้เห็นว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในทางที่ดีขึ้น”

นายยูรี่ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหาร UNODC กล่าวว่า เป็นทราบกันดีว่าหลักนิติธรรมและสถาบันทางยุติธรรมยังมีความด้อย และความพยายามจากโลกภายนอกที่จะผลักดันให้ประชาชนหลุดจากภาวะความจนและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ยังถูกขัดขวางและบ่อนทำลาย

อย่างไรก็ตาม เราก็ต่างรู้ดีว่าหลักนิติธรรมและความยุติธรรมของระบบบริหารงานยุติธรรมจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรมได้ รวมทั้งยังมีอำนาจและสนับสนุนให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้

หากต้องการสังคมปลอดภัย การพัฒนาที่ยั่งยืน และการที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เราต้องมีส่วนในการร่วมผลักดันหลักนิติธรรมและความยุติธรรมของระบบบริหารงานยุติธรรม ให้สามารถปกป้องเป้าหมายอันมีค่านี้ได้จริงๆ

นายยูรี่ยังกำชับกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า ให้ใช้โอกาสในการรวบรวมการสนับสนุนให้เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนสำเร็จได้โดยสันติ และเป็นโอกาสในการรวมสังคม รวมไปถึงใช้โอกาสนี้เน้นให้เห็นความสำคัญของการสร้างสถาบันที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบบริหารงานยุติธรรมที่เป็นสิ่งที่ต้องมาเป็นอันดับแรกเพื่อความเจริญก้าวหน้าในระยะยาว

สำหรับเนื้อหาการประชุมได้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมกล่าวถึงความจำเป็นในการมีส่วนร่วมให้การทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประสบความสำเร็จ และได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรับผิดชอบจากการบริหารงานยุติธรรมทางอาญาหรือหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ การผลิตและการค้ายาเสพติด รวมไปถึงปัญหาคอร์รัปชัน และยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนชี้ให้เห็นว่า หลายๆ กรณีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการกระทำอาชญากรรมที่มากเกินไป เช่น ผู้หญิงที่มักตกเป็นเหยื่อ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขและความท้าทาย คือเน้นไปที่การใช้กฎหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลายๆ ท่านเรียกร้องให้มีทัศนคติที่เหมาะสมในระบบบริหารงานยุติธรรม

ดังที่มีโครงการนำร่องมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากแนวทางของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงริเริ่มและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) นำเรื่องเหล่านี้ออกสู่ภายนอกไปสู่ระดับนานาชาติ จากชาติหนึ่งไปสู่ชาติหนึ่ง จากนั้นแต่ละประเทศในแถบภูมิภาคก็จะสามารถเรียนรู้กันไปได้จากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่ง

ที่ประชุมยังได้อภิปรายถึง SDGs 16 (SDGs เป้าหมายที่16 : สังคมสงบสุข ยุติธรรม และการไม่แบ่งแยก) อย่างกว้างขวาง โดยมีการยกตัวอย่างกรณีที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น สัดส่วนที่น้อยของเพศหญิงในกลุ่มอาชีพด้านงานบริหารยุติธรรมอาชญากรรม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้อาวุโสของการบังคับใช้ข้อกฎหมาย

จนทำให้เราได้เห็นความพยายามในการเพิ่มสัดส่วนของผู้อาวุโสที่เป็นผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ว่าไม่ได้เป็นแค่คำถามเรื่องสิทธิและคุณภาพของความเป็นเพศเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพและส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อไป รวมถึงการปรับปรุงของระบบบริหารงานยุติธรรมอาชญากรรมด้วย

ที่สำคัญ แต่ละประเทศมีคณะทำงานอยู่เบื้องหลังและเป็นกุญแจสำคัญจำนวนไม่น้อย เพื่อสร้าง SDGs 16 ทั้งคณะทำงานในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ รวมถึงข้าราชการท้องถิ่นและข้าราชการในประเทศ ภาคปัจเจก สังคม สิทธิมนุษยชน สถาบันศึกษา ซึ่งกลุ่มคณะเหล่านี้มุ่งที่จะสร้างให้เกิดผลสูงสุดต่อการทำงานด้าน SDGs 16

ที่ประชุมยังเน้นถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบของระบบการบริหารงานยุติธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของ Rule of Law ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มีความต้องการในการหลอมรวมเน้นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งนี้ โดยจะทำอย่างไรให้มีการอภิปรายถกเถียงได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานได้มากกว่านี้

พร้อมกันนี้ยังได้แลกเปลี่ยนถึงการปรับปรุงในการพัฒนา SDGs 16 ไว้หลายแนวทาง เช่น ประเด็นเรื่องความท้าทายของ Rule of Law ที่ต้องมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจได้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ

UNODC ควรเป็นตัวแทนของ SDGs 16 และอธิบายถึงความเชื่อมโยงของกรอบการทำงานที่จะช่วยให้ได้นับการสนับสนุนได้อย่างดี แนะนำให้มีโรดแมปของ SDGs 16 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการจะช่วยให้ SDGs 16 ได้รับการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น รวมถึงควรพิจารณาให้มีการประชุมในทำนองเดียวกันนี้อยู่เสมอ เพื่อให้เห็นงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยว่า ควรมีการสร้างความรับรู้เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สร้างวัฒนธรรม ให้การศึกษาถึงการเคารพและรักษากฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมมุ่งหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงแลกเปลี่ยนกระบวนทัศน์เรื่องหลักนิติธรรมว่าที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของ SDGs

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าภูมิภาคนี้เป็นดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ มีความท้าทายที่ต้องกล่าวถึงมากมาย เช่น การขนส่งยาเสพติด สภาพแวดล้อมอาชญากรรม การค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งเป็นความท้าทายในระบบงานบริหารยุติธรรมว่าจะทำการตอบสนองเรื่องเหล่านี้อย่างไร

โดยเฉพาะประเด็นในเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ก็จะยิ่งเห็นผลกระทบสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ โดยเฉพาะสุขภาพสาธารณะของคนในภูมิภาค เพราะกระบวนการยาเสพติดนำไปสู่ความวิกฤติของสุขภาพสาธารณะ การทำลายระบบความปลอดภัยสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างมาก

และหากมองในมุมที่ต่างออกไปในเชิงของพาณิชย์ พบว่า ในภูมิภาคนี้มีจำนวนเงินจากอาชญากรรมข้ามชาติสูงถึง 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เงินจำนวนมากมายมหาศาลนี้จะถูกนำไปสู่ภูมิภาค ไม่ใช่ไปสู่ใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรอาชญากรรมที่ไหน แต่จะไปอยู่ที่การเพิ่มความสามารถและเป็นกำลังเงินให้กับกลุ่มคนในบริเวณนั้น

ดังนั้น จะต้องทำความเข้าใจโครงสร้างและการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคนี้ ทำความเข้าใจเหยื่อตามสัดส่วนของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพราะการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนช่วยทำให้เราเห็นภาพความสามารถของรัฐ และทำให้เราเข้าใจกระบวนการอาชญากรรมได้

นายเจเรมียังชี้ให้เห็นถึงระบบงานบริหารยุติธรรมในเรือนจำในภูมิภาคนี้ ว่ายังคงมีประเด็นสำคัญเรื่องนักโทษที่ล้นเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องโทษจากเรื่องยาเสพติดจำนวนมาก โดยในบางประเทศมีสัดส่วนของนักโทษในเรือนจำ 400% ของประชากร บางประเทศ 100% หรือ 50 % ซึ่งการที่เรามองในเรือนจำในประเด็นนี้ จะช่วยให้สถาบันสาธารณะได้มีวิธีการรับมือกับเหยื่อที่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้ เพราะหลายเรือนจำก็ไม่ได้ออกแบบตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาผลกระทบเรื่องคอร์รัปชันในกระบวนการเหล่านั้นด้วยว่า มีการส่งผลกระทบอย่างไร เพราะการคอร์รัปชันทำลายความสมบูรณ์ของสังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งจะเห็นว่าภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญเรื่องคอร์รัปชัน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ก็ยังเหมือนกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ที่ได้รับการท้าทายจากปัญหาความรุนแรงของอาชญากรรม โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในเด็กและผู้หญิง และปัญหานี้ยังทับซ้อนกับปัญหาการค้ามนุษย์

จากการศึกษาของสถาบัน TIJ และ UNODC พบว่ามีการค้ามนุษย์ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาในไทย เราพบว่ามีเหยื่อจำนวนมากที่เป็นเด็กถูกกระทำชำเราทางเพศ และค้าแรงงานเด็กจากครอบครัวและในถิ่นที่ยากจน

นอกจากนี้ยังไม่ได้รับการศึกษา ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ และยังมีโอกาสเสี่ยงให้คนกลุ่มนี้ทำผิดกฎหมายได้ เนื่องจากไม่ได้รับโอกาสหรือทางเลือกในชีวิตที่ดีพอ การขาดโอกาสเหล่านี้ทำให้เด็กและผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากขึ้นด้วย

กระนั้นก็ตาม ได้มีการตระหนักถึงกฎหมายและงานบริหารยุติธรรม ซึ่งในอดีตอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่น่ายินดีนักที่จะป้องกันและตอบสนองต่ออาชญากรรมและความรุนแรง แต่หากเราเอ่ยถึงปัญหานี้ไปพร้อมกับพิจารณาต้นตอของปัญหา

สำหรับประเทศไทย ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นดินแดนสำคัญแห่งสามเหลี่ยมทองคำ เป็นแหล่งผลิตที่มีค่า แต่ชาวนาในท้องถิ่นอยู่ด้วยความยากจน ในสภาพแวดล้อมที่ขาดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สถานการณ์นี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องพึ่งพาอาศัยการเพาะปลูกเป็นหลัก

แต่ได้เริ่มมีการพัฒนาทางเลือก โดยได้รับการริเริ่มจากในหลวงรัชกาลที่ 9 โครงการทั้งหลายได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของประชาชนในแถบนั้นให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น การพัฒนาไม่ได้เป็นไปในด้านการบังคับด้านกฎหมาย แต่เป็นไปในด้านความต้องการพื้นฐานในชีวิต เช่น สุขภาพ การศึกษา และความต้องการพื้นฐาน

ซึ่งนี่เป็นวิธีการพัฒนาทางเลือกที่ใช้ได้ผลมายาวนานและมีประสิทธิภาพ จึงอาจนำมาปรับใช้กับระบบบริหารงานยุติธรรมและการป้องกันอาชญากรรม แนวทางนี้สามารถนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในการเอ่ยถึงเรื่องการขาดโอกาสในสังคมได้มาก

เมื่อการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาได้รับการจัดการ ก็เข้ามาสู่เกมใหม่ทั้งหมด เมื่อสมาชิกในชุมชนแบ่งปันทรัพย์สินของตนเอง และตระหนักในความต้องการ Rule of Law และความถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันนอกเหนือจากบริบทของการป้องกันอาชญากรรมแล้ว การพัฒนานี้จะนำไปสู่แนวทางที่มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้มีผู้กระทำความผิด

ดังที่พระเจ้าหลานเธอฯ ได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีใครอยากจะกระทำความผิด ทั้งกระทำผิดเพราะมาจากการเป็นเหยื่อ หรือจากการไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม บางคนก็เพียงเลือกเดินเส้นทางในชีวิตผิดเส้นไป

“ประสบการณ์ของประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เรานึกถึงความต้องการ โอกาส และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีในวันนี้ นำไปใช้ในการแก้ต้นตอของปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ด้วยการใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน”

อย่างไรก็ดี หลังจากมีเป้าหมาย SDGs เข้ามา ทำให้มีกรอบการทำงานที่จะช่วยจัดการกับปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยผสาน ด้วยการนำเข้ามาสู่คุณค่าทางสังคม อันได้แก่ สุขภาพที่ดี ความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ขจัดความยากจน และความสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ

ขณะเดียวกัน อาเซียนได้เพิ่มบทบาทที่ก้าวหน้าขึ้นโดยการสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันอาชญากรรม ภายในความกว้างของกรอบการทำงานโดยการปรับการตกแต่งวัฒนธรรมของการป้องกัน สิ่งนี้ทำให้นึกถึงคุณค่าของความเข้าใจต้นตอของความรุนแรง และได้เอ่ยถึงแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัว และในองค์กร

รวมถึงตอนนี้อาเซียนเป็น Rule Base ที่แนะแนวทางโดย ASEAN Charter ซึ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบบการจัดการที่ดี เพื่อไปช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี และโอกาสของการพัฒนามนุษย์ให้มีความอยู่ดีกินดีและสงบสุข

ทั้งนี้อาจกล่าวสรุปได้ว่า ทุกคนทราบดีว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังคงมีความไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม โอกาสในการเจอความท้าทายนี้ก็ยังคงมีอยู่ แต่วิธีการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมจะถูกค้นพบในวงกว้าง ภายใต้การได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งกรอบการทำงานนี้มีอยู่จริงในภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่แต่ละประเทศจะออกแบบนำไปใช้ในแนวทางไหนให้เข้ากับประเทศตนเองได้ดีที่สุด

นายอิสรา สุนทรวัฒน์ เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนเหมือนรถฟอร์มูลาวัน เงางาม น่าดึงดูด มีเสน่ห์ และราคาแพง คนในประเทศอาเซียนจึงเป็นเหมือนคนขับฟอร์มูลาวันให้เคลื่อนหน้าไป ส่วน AIPA ทำหน้าที่เหมือนเป็นทีมที่คอยช่วยเหลือดูแลรถและผู้แข่งขันข้างสนาม ดังนั้น อาเซียนจึงต้องการกฎหมายหรือกฎนานาชาติเพื่อทำให้งานต่างๆ หรือกิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปได้ โดยที่ AIPA จะมาช่วยให้ประชาชนในอาเซียนและกฎหมายมีความสมานเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม เรายังคุยกันแต่เพียงในภูมิภาคของเรา ยังทำงานแบบคนเดียว ไม่ค่อยมีความรู้สึกส่วนร่วมว่าประเทศในภูมิภาคนี้สามารถไปถึงระดับโลกได้ ดังนั้น AIPA จึงอยากเป็นเสียงพูดแทนอาเซียน ทำให้ประชาชนในอาเซียนรู้สึกว่ากลุ่มประเทศเราก็เป็นหนึ่งในกลไกของโลกด้วย และจะทำให้เกิดอนาคตของอาเซียนที่เติบโตต่อไป

สำหรับ AIPA มีการประชุมกันทุกปี โดยคุยกันเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นเรื่องระดับโลก แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็ได้พยายามที่จะหารือกันเรื่องอากาศแปรปรวน โลกร้อน (climate change) ความยากจน (poverty) ลองทำจากในภูมิภาคก่อน เพื่อแสดงให้เห็นกันว่าเราสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่ใช่แยกกันทำงานแต่กับองค์กรของตนเอง

“สิ่งที่ AIPA พยายามทำก็คือเริ่มจากในภูมิภาคก่อน และพยายามให้มีความเป็นจริง ปฏิบัติได้จริงมากขึ้น นั่นคือแนวโน้มเป้าหมายร่วมกันของ AIPA และอาเซียน สิ่งสำคัญคือใครจะเป็นผู้ริเริ่มสิ่งนี้และรวบรวมอาเซียนเป็นเครือข่ายเพื่อที่จะทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน”

อนึ่ง การประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ มาประชุมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่ง คือต้องการสร้างความตระหนักรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ไม่อาจแยกขาดจากกระบวนการพัฒนา เพราะทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและจำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับผู้แทนร่วมประชุม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันวาระแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุดแห่งประเทศไทย, เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA), รัฐมนตรีและประธานคณะกรรมาธิการป้องกันการทุจริตแห่งเมียนมา ที่ปรึกษาอาวุโสกระทรวงแผนพัฒนาแห่งชาติประเทศอินโดนีเซีย, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมประเทศญี่ปุ่น, ประธานสถาบันอาชญาวิทยาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้, คณะทูตานุทูตและผู้แทนระดับสูงจากประเทศในอาเซียน และประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานสหประชาชาติในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้