ตั้งแต่ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติเมื่อปี 2553 หลังจากนั้นทรงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC), สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ), กรมราชทัณฑ์ ผลักดันให้มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่เรือนจำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศและทั่วภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบันประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบด้านการปรับปรุงเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพแล้วจำนวน 10 แห่ง เช่น เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่, เรือนจำจังหวัดอุทัยธานีฯลฯ ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเริ่มมีเรือนจำหลายแห่งนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือเรือนจำ “ตังเกอรัง” (Tangerang) สาธารณรัฐประเทศอินโดนีเซีย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ UNODC ทรงนำคณะผู้บริหารระดับสูงจาก UNODC, TIJ, รวมทั้งสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง ศึกษาดูงานเรือนจำตังเกอรัง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเรือนจำสำหรับการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพต่อไป
เรือนจำตังเกอรัง เป็นเรือนจำหญิงแห่งแรกในอินโดนีเซียที่นำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งอยู่ในจังหวัดบันเตน ห่างจากกรุงจาการ์ตาประมาณ 20 กิโลเมตร สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 200 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังหญิงถึง 400 คน เกินความจุถึง 60% โดยผู้ต้องขังหญิงกว่า 80% เข้ามาอยู่ในเรือนจำด้วยคดียาเสพติด ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกจึงไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่ก็มีความพยายามที่จะปฏิรูปเรือนจำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

นางเฮอลิน จันทรวาตี (Herlin Chandrawati) หัวหน้าเรือนจำตังเกอรัง เปิดเผยกับสื่อมวลชนไทยว่า อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับข้อมติของสหประชาชาติ ซึ่งข้อกำหนดกรุงเทพมีความสอดคล้องกันกับรัฐธรรมนูญปี 1945 ของอินโดนีเซีย ที่มีเรื่องการดูแลผู้หญิงให้เหมาะสมตามเพศภาวะ
นางเฮอลินกล่าวว่า เรือนจำตังเกอรังได้พยายามที่จะทำตามข้อกำหนดกรุงเทพ โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารที่เพียงพอแก่ผู้ต้องขัง การดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง การดูแลเรื่องแม่และเด็ก ทั้งเด็กที่ติดผู้ต้องขังและเด็กที่เกิดในเรือนจำ รวมทั้งให้ความสำคัญกับผู้ต้องขังในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาตามที่ผู้ต้องขังนับถือ และเพิ่มพูนทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องขังด้วย
อย่างไรก็ตาม นางเฮอลินบอกว่า อุปสรรคและความท้าทายของเรือนจำตังเกอรังคือ ภูมิหลังของผู้ต้องขังที่แตกต่างกันทั้งเรื่องวัฒนธรรม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือผู้ต้องขังบางคนมาจากต่างประเทศ ทำให้การดูแลผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายเช่นนี้ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด
ส่วนปัญหาเรื่องผู้ต้องขังล้นคุก นางเฮอลินระบุว่า กำลังแก้ไขด้วยการให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรียนรู้การบริหารจัดการคนเพื่อทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าอยู่ในเรือนจำได้อย่างไม่แออัดเกินไป อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้วยเช่นกัน เพื่อให้เรือนจำแห่งนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตของผู้ต้องขังดีขึ้น
นางสาวชลทิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า เรือนจำหญิงตังเกอรังเป็นหนึ่งในเรือนจำของประเทศอินโดนีเซียที่ริเริ่มนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นการฝึกอาชีพของผู้ต้องขัง การนำโปรแกรมศาสนามาใช้ในการฟื้นฟูจิตใจของผู้กระทำผิด และการพัฒนาเชิงของกายภาพของเรือนจำในหลายส่วน เช่น การเพิ่มเติมห้องสมุด การปรับปรุงห้องแม่และเด็กให้มีความพร้อมและสอดคล้องกับผู้ต้องขัง
“ทางอินโดนีเซียค่อนข้างให้ความสนใจกับเรื่องประเด็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอาชีพ การปรับปรุงมาตรฐานด้านสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งสุขภาพของแม่และเด็กในเรือนจำ เนื่องจากอินโดนีเซียคล้ายกับหลายประเทศในภูมิภาคที่ให้เด็กมาอยู่กับแม่ในเรือนจำได้ เพราะฉะนั้นการดูแลเด็กที่ติดผู้ต้องขัง ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ต้องขัง จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานที่แตกต่างไปและสอดคล้องกับความต้องการของเด็ก”
หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ เล่าว่า จากการสำรวจเรือนจำตังเกอรังพบว่ามีลักษณะเชิงกายภาพที่ไม่ได้ดูเข้มงวดจนเกินไปนัก สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพที่เห็นว่าเรือนจำคุมผู้ต้องขังหญิง ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลโหดร้ายหรือกระทำความผิดร้ายแรง ควรมีลักษณะเชิงกายภาพที่ดูเป็นมิตร ไม่น่ากลัวจนเกินไป ขณะเดียวกันมีการเลือกใช้สีที่ค่อนข้างสว่าง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อสภาพจิตใจของผู้ต้องขัง รวมทั้งมีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก เป็นแนวทางลดความเครียดให้ผู้ต้องขัง
นอกจากนี้ เรือนจำยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงศูนย์ฝึกอาชีพผู้ต้องขังให้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพที่มีความหลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องขังหญิง เช่น มีงานเย็บจักร งานประดิษฐ์ งานเสริมสวย ขณะที่เรือนนอนผู้ต้องขังมีความสะอาด และมีการสร้างสุขภาวะที่ดี พร้อมกันนั้นยังมีการพัฒนาด้านการศึกษาโดยมีการสร้างห้องสมุดให้ผู้ต้องขังเข้ามาใช้บริการยืมหนังสือไปอ่านได้ และมีสิ่งที่เรือนจำกำลังจะทำเพิ่มเติมคือการพัฒนาพื้นที่สำหรับแม่และเด็ก และสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กที่ติดผู้ต้องขัง
“นอกจากเรือนจำแห่งนี้แล้ว ยังมีเรือนจำอีกหลายแห่งในอินโดนีเซียพยายามปรับปรุงมาตรฐานการปฏิบัติงานของเขาอยู่แล้วโดยที่ไม่ได้อ้างอิงเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ แต่ที่นี่เป็นแห่งแรกที่ UNODC เห็นว่ามีความเข้าใจในข้อกำหนดกรุงเทพค่อนข้างมาก แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการปฏิรูปเรือนจำ เพราะฉะนั้นเขาจะทำในสิ่งที่เขาทำได้ก่อน เช่น ปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเรือนจำ แต่สิ่งที่ลึกไปกว่านั้นคือสร้างโปรแกรมให้ผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำได้ โดยพัฒนาศักยภาพตัวเขาเองด้วย และออกไปจากเรือนจำโดยไม่ทำผิดอีก”

นางสาวชลทิชอธิบายว่า ปัจจุบันบทบาทของ TIJ ในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ มีการดำเนินงานในหลายมิติทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญคือสร้างความตระหนักรู้ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้กำหนดนโยบายเข้าใจหลักการพื้นฐานของข้อกำหนดกรุงเทพก่อนที่จะนำไปพัฒนาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเริ่มมีความเข้าใจข้อกำหนดกรุงเทพมากขึ้น
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ มีหลักนิติธรรมเป็นร่มใหญ่ของการพัฒนา เนื่องจากหลักนิติธรรมไม่สามารถมองแยกจากประเด็นการพัฒนาในมิติอื่นๆ ได้ ดังนั้น สิ่งที่ TIJ กำลังทำคือพยายามเชื่อมโยงหลักนิติธรรมและการพัฒนาเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เห็นว่าการจะพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพได้ต้องมองมิติทางสังคมด้วยว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก
ยกตัวอย่างในมิติการดูแลผู้กระทำความผิด TIJ ได้พยายามทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุผลที่ผู้ต้องขังกระทำความผิด ซึ่งมีทั้งเรื่องความยากจน ความไม่เท่าเทียมในสังคม การขาดโอกาสเข้าถึงการจ้างงาน การด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ ฯลฯ และพยายามนำมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น ส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมุ่งหวังว่าเมื่อผู้ต้องขังเหล่านี้ออกจากเรือนจำไปแล้ว เขาจะสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยที่ไม่หวนกลับมาทำความผิดอีก
“สำหรับ TIJ คำว่าหลักนิติธรรมเป็นร่มใหญ่ในการดำเนินงาน แต่ในประเด็นย่อยคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ที่ทำความผิดแล้วเข้ามาในกระบวนการยุติธรรมจะได้รับการปฏิบัติที่ยุติธรรมและคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา เราก็มาทำโปรแกรมเรื่องเรือนจำผ่านการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ ภายใต้บริบทของการดูแลผู้กระทำผิด” นางสาวชลทิชกล่าว
อนึ่ง การเสด็จเยือนกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวาระการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ UNODC ในการช่วยให้ประเทศต่างๆ สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันในกระบวนการยุติธรรมและกลไกในการสร้างความมั่นคงสาธารณะ โดย UNODC และประชาคมอาเซียนอยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาวิธีขับเคลื่อนและส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวร่วมกันในภูมิภาค