ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัญหาค้ามนุษย์จากกัมพูชา-ลาว-เมียนมา สู่ไทย – “หนี้สิน” แรงผลักแรงงานย้ายถิ่นผิดกฏหมาย

ปัญหาค้ามนุษย์จากกัมพูชา-ลาว-เมียนมา สู่ไทย – “หนี้สิน” แรงผลักแรงงานย้ายถิ่นผิดกฏหมาย

12 สิงหาคม 2017


เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดรายงานผลการวิจัย “ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา มายังประเทศไทย” ภาพจากซ้าย นายเจเรมี ดักลาส และขวา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดรายงานผลการวิจัย “ปัญหาการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา มายังประเทศไทย” (Trafficking in Persons from Cambodia, Lao PDR, and Myanmar, to Thailand)

โดยมีนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ ดร.ดีแอนนา เดวีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัย UNODC ร่วมอภิปรายและสรุปรายงานผลการวิจัย

นายเจเรมีกล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์การค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการในกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพหลายมาตรการประกอบกันเพื่อปราบปรามเครือข่ายการค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันยังต้องสามารถปกป้องสิทธิของผู้ถูกค้ามนุษย์ และเอื้อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ได้รับการรวบรวมไว้เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดความร่วมมือและให้การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ได้ และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงนอกเหนือจาก 4 ประเทศที่ร่วมอยู่ในรายงาน

ปัญหาหนี้สิน อีกหนึ่งปัจจัยแรงงานย้ายถิ่น

จากข้อมูลในปี 2558 ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานข้ามชาติถึง 4 ล้านคน คิดเป็น 5.76% ของประชากรทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ราว 90% มาจาก กัมพูชา เมียนมา และลาว มีจำนวน 4-23% ที่เข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

ดร.ดีแอนนากล่าวถึงปัจจัยที่น่าสนใจนอกเหนือจากปัญหาความยากจน ข้อจำกัดของตลาดแรงงานภายในประเทศ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่สูง ไปจนถึงการขาดที่ดินทำกินแล้ว ปัญหาหนี้สินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันให้ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคม และประชากรขาดโอกาสทางการศึกษา

“เราพบว่าปัญหาหนี้สินมีผลต่อการย้ายถิ่นในหลายประเทศ เมื่อเขามีหนี้สินจากการกู้ยืมมาเพื่อประกอบกิจการ การเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงทำให้ไม่มีเงินที่จะจ่าย ประกอบกับภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง ก็ส่งผลให้ภาคการเกษตรเสียหาย จึงเกิดการโยกย้ายถิ่น ซึ่งหลายครั้งที่เด็กๆ ก็ต้องร่วมชดใช้หนี้ดังกล่าวที่พ่อแม่สร้างขึ้นด้วยการถูกขายเป็นแรงงาน และสิ่งนี้ก็สร้างปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อนตามมา เนื่องจากการเข้าเมืองนั้นมีค่าใช้จ่าย และผู้โยกย้ายถิ่นจำนวนมากไม่มีเงินเพียงพอ ต้องพึ่งพาครอบครัวและเพื่อฝูง หรือต้องยอมทำข้อตกลงกับนายหน้า หรือนายจ้างให้หักเงินจากรายได้เมื่อได้เข้ามาทำงานในไทยแล้ว” ดร.ดีแอนนากล่าว

ค่าธรรมเนียมสูงผลักแรงงานลักลอบเข้าเมือง

เนื่องจากช่องทางเข้าเมืองที่ถูกกฎหมายนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการลักลอบเข้าเมืองผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผู้โยกย้ายถิ่นเลือกที่จะเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

ช่องทางการลักลอบเข้าเมืองของขบวนการค้ามนุษย์ ที่มา: สไลด์ประกอบงานวิจัยของ UNODC

กรณีของแรงงานกัมพูชาที่จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในไทย มีค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการต่างๆ ถึง 20,000-25,000 บาท ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทจัดหางานอีกกว่า 3,000 บาท คล้ายกับกรณีของแรงงานพม่าที่ต้องจ่ายค่านายหน้าจัดหางานสูงลิ่ว พ่วงด้วยภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐบาล 10% ของรายได้จากการทำงานในต่างประเทศ ขณะที่อัตราค่าใช้จ่ายในการเข้าเมืองถูกกฎหมายของแรงงานลาวแม้จะต่ำกว่า อยู่ที่ 16,000-24,000 บาท แต่ก็เท่ากับค่าแรงที่พวกเขาต้องทำงานราว 4-6 เดือน ส่วนช่องทางผิดกกฎหมายเสียค่าใช้จ่ายเทียบเท่าค่าแรงเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมค่านายหน้าจัดหางานอีกราว 20,000 บาท

ดร.ดีแอนนาระบุว่า แม้ช่องทางผิดกฎหมายจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ถูกกว่า แต่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับฐานะของผู้อพยพ โดยในส่วนของกัมพูชามีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 3,200-11,500 บาท ในส่วนนี้เป็นค่าสินบนที่ต้องจ่ายตั้งแต่ระดับเล็กน้อย คือ ประมาณ 200 บาท ไปจนถึง 8,500 บาท ซึ่งนายหน้าจะได้กำไร 10-30% ต่อหัว ด้านผู้อพยพชาวลาวค่าใช้จ่ายในการลักลอบเข้าเมืองผ่านนายหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาท ขณะที่เมียนมามีใช้จ่ายในการลักลอบเข้าเมืองผ่านนายหน้า 2 ช่องทาง แบ่งเป็น 1) การลักลอบผ่านพรมแดนทางบก มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 100 บาท ไปจนถึง 15,000 บาท 2) การลักลอบเข้าเมืองผ่านพรมแดนทางทะเล มีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 3,000-12,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพที่เข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เมื่อเข้ามาแล้วก็ยังคงสถานะของผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้อพยพเหล่านี้มักต้องตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอก ถูกกรรโชก ต้องเผชิญกับความรุนแรง และถูกแสวงหาประโยชน์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งงานวิจัยพบว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะทวีขึ้นในกลุ่มผู้อพยพที่เป็นเด็ก

ช่องโหว่พรมแดนกับการลักลอบเข้าเมือง

ทั้งนี้ พื้นที่ตามแนวชายแดนของไทยมีช่องทางให้สามารถข้ามพรมแดนไปมาได้โดยง่ายทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะด้านแนวแม่น้ำโขง ซึ่งประชากรประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามแดนมาฝั่งไทยล้วนหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว ด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าและความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมบางประเภท

ดร.ดีแอนนากล่าวว่า ผู้โยกย้ายถิ่นฐานจำนวนมากพยายามที่จะตั้งถิ่นฐานและทำงานในประเทศไทยระยะยาวหรือเป็นการถาวร ขณะที่บางคนข้ามพรมแดนมาทำงานรายวันบริเวณตะเข็บชายแดน ซึ่งผู้ที่เข้ามาอยู่ก่อนแล้วมีส่วนสนับสนุน ช่วยเหลือในการติดต่อกับคนในพื้นที่ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และเป็นเครือข่ายสังคมสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาใหม่

“การเดินทางจากกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามายังไทยนั้นทำได้โดยง่าย พวกเขาสามารถเลือกช่องทางการเดินทางข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยได้หลายวิธี ทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการรถโดยสายประจำทาง เรือข้ามฟาก หรือแม้แต่การเดินเท้าเข้ามาก็สามารถทำได้ ซึ่งการขนส่งแรงงานข้ามพรมแดนมีทั้งวิธีที่ซ่อนเร้นและเปิดเผย ผู้อพยพบางคนเพียงแค่เดินข้ามชายแดนหรือนั่งรถข้ามมา จากนั้นจะมีคนพาพวกเขาไปยังสถานที่จ้างงาน สำหรับการเดินทาง ไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยนั้น ผู้อพยพมักต้องอาศัยความช่วยเหลือด้านเอกสารและการขนส่ง” ดร.ดีแอนนากล่าว

โดยที่แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานที่ลักลอบเข้าเมืองสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. กรณีการมีผู้ค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง จะมึการพยายามปกปิดการเคลื่อนไหวของแรงงานเหล่านี้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการข้ามพรมแดนในพื้นที่ห่างไกล หรือการหลบซ่อนมาในรถบรรทุก เช่น กรณีผู้อพยพจากเมียนมาที่ลักลอบเข้าไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาจากรัฐยะไข่ บางครั้งมีการเลี่ยงเส้นทางปกติโดยอ้อมไปทางบังกลาเทศแล้วเข้าประเทศไทยผ่านทางเรือ ต้นทางจะโดยสารเรือลำเล็กออกจากเมืองชายฝั่ง จากนั้นพวกเขาจะถูกขนถ่ายไปยัง “เรือนัดพบขนาดใหญ่” (rendezvous vessels) ที่ลอยลำอยู่นอกชายฝั่ง ซึ่งผู้อพยพจะถูกกวาดต้อนขึ้นเรือจนแน่นขนัดเกินกำลังบรรทุกของเรือ จากนั้นเรือก็จะออกเดินทางข้ามไปยังฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เป็นช่องทางที่อันตรายและมักมีผู้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางเสมอ
  2. กรณีเข้ามายังประเทศไทยตามลำพังหรือมาเป็นกลุ่มเล็กๆ พวกเขาก็มักจะใช้เส้นทางผ่านบริเวณทุ่งนา ป่า แม่น้ำ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีการลาดตระเวนบริเวณชายแดนน้อย หรืออาจเลือกบริเวณที่ข้ามแดนรายวัน เพื่อข้ามแดนมายังประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย แล้วพักอาศัยเกินกำหนดจนกลายเป็นแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
ดร.ดีแอนนา เดวีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัย UNODC

ดร.ดีแอนนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้โยกย้ายถิ่นส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงเข้ามาใช้แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำงานในภาคบริการ เช่น การเป็นแม่บ้าน บริการการท่องเที่ยว รวมไปถึงการค้าประเวณี แต่ในช่วงหลังแรงงานชายหลั่งไหลเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคเกษตรกรรม และในอุตสาหกรรมประมงเพิ่มขึ้น ซึ่งการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ ประชากรเหล่านี้มักถูกหลอกลวง ขูดรีด ได้รับค่าแรงที่ต่ำมาก และอยู่ในสภาพการทำงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

โดยปกติการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและผู้หญิง ซึ่งในเมืองท่องเที่ยวเด็กชายก็มีความเสี่ยงที่จะถูกหาประโยชน์ทางเพศเช่นกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยชิ้นนี้คือข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การค้ามนุษย์จากกัมพูชามายังประเทศไทยเพื่อมุ่งหวังการหาประโยชน์ทางเพศมีแนวโน้มลดลง โดยประเทศกัมพูชาได้กลายเป็นประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์ที่มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ โดยนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม รวมทั้งมีอัตราการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่ในระดับสูง

สำหรับแรงงานเด็กที่เข้าประเทศไทยผ่านขบวนการค้ามนุษย์ มักลงเอยที่การถูกบังคับให้ขอทาน หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ แต่ยังมีข้อกังขาในส่วนของขอทานเด็กว่า เด็กเหล่านี้เป็นแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาเป็นขอทาน หรือเป็นเด็กที่เกิดจากแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่า มีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากที่เข้ามายังประเทศไทยทุกวันเพื่อทำงานในภาคการเกษตร ในตลาด หรือในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล

แรงงานผิดกฎหมาย คือ “เหยื่อ” แนะหาตัวการค้ามนุษย์

ด้านศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กล่าวว่า ความไม่เสมอภาคทางสังคม ความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและโอกาสในการหาเลี้ยงชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และลักลอบนำเข้าแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายได้มากขึ้น การสนับสนุนด้านการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะและเพิ่มโอกาส ในการจ้างงานที่เท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงงานที่ดีและประกอบอาชีพในประเทศของตนเองได้อย่างเหมาะสม

“ในอนาคต ก้าวสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยมีนโยบายระดับชาติที่การส่งเสริมให้มีการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและป้องปรามมิให้เกิดการค้าแรงงานอย่างผิดกฎหมาย และเพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานเกิดประโยชน์สูงสุด การมีกลไกคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพราะหลายครั้งที่แรงงานข้ามชาติมีสถานะเป็นเหยื่อ นโยบายของรัฐที่ไม่ชัดเจนส่งผลให้เขาไม่มีทางเลือก ไม่กล้าที่จะเผยตัวออกมา การให้เขาเข้ามาสู่กระบวนการที่เหมาะสมจะทำให้แรงงานที่มีสถานะผิดกฎหมายเหล่านี้สามารถให้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การขจัดต้นตอของขบวนการค้ามนุษย์ และการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติได้ รวมไปถึงการประสานความร่วมมือกันระหว่างประเทศในทุกระดับของรัฐบาล โดยเฉพาะการประสานกันระหว่างหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานตามชายแดน ผู้พิทักษ์ชายฝั่ง และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กล่าว

นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)