ThaiPublica > เกาะกระแส > TIJ-UNDOC เตือนไทยเตรียมรับมือ “คลื่นอาชญากรรม Cryptocurrency”

TIJ-UNDOC เตือนไทยเตรียมรับมือ “คลื่นอาชญากรรม Cryptocurrency”

8 กันยายน 2018


เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งในประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก จัดงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล: อาชญากรรมกับ คริปโตเคอร์เรนซี่ (cryptocurrency)” ที่โรงแรมอโนมา ราชดำริ เพื่อเสนอมุมมอง และหาทางออกของการก่ออาชญากรรมโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งกำลังเป็นประเด็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะแม้ว่าในด้านหนึ่งสกุลเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrency จะเติบโตและเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในแวดวงเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจุดแข็งของนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวที่สามารถแลกเปลี่ยนกันโดยไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน และอีกประการหนึ่งคือการอยู่บนพื้นฐานของบล็อกเชนที่ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเชื่อมั่นและปลอดภัยจากการปรับแก้ข้อมูลหรือโดนขโมย ทั้งยังไม่ต้องพี่งพาคนกลางอย่างสถาบันการเงิน

แต่ทว่าในอีกด้านหนึ่ง การเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลนี้ทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ของคลื่นอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency ตั้งแต่การนำนวัตกรรมทางการเงินไปใช้ในการฟอกเงิน การสนับสนุนการก่อการร้าย ตลอดจนการทำธุรกรรมบนตลาดมืด เพื่อซื้อของผิดกฎหมาย ฯลฯ

Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิกฯ

Julien Garsany รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก สำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC) ฉายภาพให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของอาชญากรรมทางไซเบอร์ (cybercrime) มีมูลค่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในเศรษฐกิจโลก สำหรับภูมิภาคอาเซียนงานวิจัยชี้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์อยู่ระหว่าง 120-200 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างผลกำไรอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

อาชญากรรมทางไซเบอร์ภายในภูมิภาคนี้กำลังเพิ่มขึ้นมากมายในหลายประเทศ การโจมตีของ ransomware ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้รับความนิยมรวมทั้งธุรกิจ แม้กระทั่งโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลให้คอมพิวเตอร์หลายร้อยเครื่องมีปัญหาและเป็นภัยกับชีวิตคน

crytocurrency มูลค่านับล้านดอลลาร์ที่ถูกแฮ็กและถูกขโมย การซื้อขายยาที่ผิดกฎหมาย อาวุธ ข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายหรือควบคุมโดยกฎหมายอื่นๆ โดยที่เครือข่ายด้านมืดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางความมั่นคงและสังคม ซึ่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเหล่านี้

“อาชญากรรมข้ามชาติได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับทุกอย่าง ตั้งแต่การสื่อสารไปจนถึงกิจกรรมออนไลน์ อาชญากรรมทุกประเภทมีมิติหลักฐานดิจิทัลกระจายอยู่ทั่วหลายแพลตฟอร์ม เพื่อเอาชนะสถานการณ์นี้ ระบบยุติธรรมทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมายต้องทำงานร่วมกัน ผู้ตรวจสอบอัยการผู้พิพากษาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักอื่นๆ ควรตระหนักถึงภัยคุกคามของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ที่ภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่”  รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิกฯ กล่าว

 

โลกยกระดับความเสี่ยง “อาชญากรรมไซเบอร์”

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า จากการศึกษาของ TIJ ร่วมกับองค์กรวิจัยของสหประชาชาติ ในการศึกษาเรื่องการก่ออาชญากรรมในภูมิภาคอาเซียน พบว่าองค์กรอาชญากรรมในภูมิภาคนี้ก็เช่นเดียวกับองค์กรอาชญากรรมทั่วโลกที่ให้ความสำคัญมากกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการประกอบอาชญากรรม พัฒนาการในด้านนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและน่าตกใจมาก จึงจำเป็นที่องค์กรภายใต้กระบวนการยุติธรรมทุกระดับต้องให้ความสำคัญ แล้วก็พยายามตามให้เท่าทันและเร็วกว่า ไม่เช่นนั้นจะมีช่องว่างมากมายให้อาศัยเทคโนโลยีในการประกอบอาชญากรรม

ในรายงาน Global Risk Report ของ World Economic Forum ล่าสุดยังประเมินไว้ด้วยว่า “อาชญากรรมทางไซเบอร์” ถือเป็น 1 ใน 5 ของโอกาสของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้าและสร้างผลกระทบให้กับโลก ทั้งนี้จะเห็นด้วยว่าองค์การสหประชาชาติยังยกระดับประเด็นเรื่องอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยจะถูกบรรจุเป็นหัวข้อหนึ่งในการจัดประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในปี 2020 จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นซีงจะมีการยกระดับเรื่องนี้ให้มีความสำคัญขึ้นอีกด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

แนวโน้มอาชญากรรมที่อาศัย Cryptocurrencyในระดับโลก

Alexandru Caciuloiu ผู้ประสานงานโครงการอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิกฟิก กล่าวว่า อาชญากรรมที่อาศัย crytocurrency มีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ (transnational crime) ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การขู่เรียกเงินค่าไถ่ผ่าน ramsomeware ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เข้ารหัสไฟล์เอกสาร รูปภาพ หรือข้อมูลส่วนตัวสำคัญ ไปจนถึงการสร้างโครงสร้าง network ขององค์กร ผู้เสียหายต้องจ่ายเงินสกุลดิจิทัลมาปลดล็อก การลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ตัวประกันจะถูกจับและเรียกค่าไถ่เป็น Bitcoin ซึ่งคดีแบบนี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศแอฟริกาใต้และอังกฤษ การฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย (เช่น การระดมทุนผ่าน ICOs) และการซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย  ยาเสพติด และอาวุธสงคราม

“ดาร์คเว็บ จำนวนมากที่รับเงิน crytocurrency ซึ่งไม่เพียงช่วยในเรื่องความมั่นใจในการจ่ายเงิน แต่อาชญากรยังเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะสามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร ”  ผู้ประสานงาน UNODC กล่าว

อินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคที่มีความพยายามในการผลักดันและบริหารจัดการเรื่องนี้  Dian Ediana Rae รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์และรายงานธุรกรรมทางการเงินแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียกล่าวว่า ภายใต้การทำงานของหน่วยงานข่าวกรองทางการเงิน ซึ่งเป็นอิสระ ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี “เรากำลังอยู่ในช่วงท้ายๆ ของการที่จะมีการออกระเบียบมาบังคับใช้ และเราก็กำลังคลำทางอยู่ว่าจะจัดการมันได้อย่างเหมาะอย่างไร  ”

ในอินโดนีเซียเองก็มีทั้งการเห็นด้วยและเห็นต่างในการใช้ cryptocurrency โดยเฉพาะธนาคารกลาง  อย่างไรก็ตาม ในการกำกับดูแลการทำงานต้องตรวจสอบเข้ามากขึ้นและรู้ว่าระบบทำงานอย่างไร และจะสามารถป้องกันตัวเองจากการแทรกแซงภายนอกอย่างไร

ทั้งนี้ในการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับ cryptocurrency ได้มีการเสนอเงื่อนไขการเพิ่มการตรวจสอบสถานะทางการเงิน มี due diligence เพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในมุมของเขามองถึงการรับมือกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการทำงานร่วมกันทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ในการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุม ASEAN+2 โดยเป็นการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกอาเซียน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย  กับความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงและดูความเป็นไปได้ของการทำงานร่วมกัน

สถานการณ์และความเสี่ยงของไทย

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มของอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มของอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการหลอกลวงให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ซึ่งอาจไม่มีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency จะมาในรูปแบบที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น กรณีเมื่อปี 2560 ที่มีคดีการจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ Alphabay หนึ่งในดาร์คเว็บ หรือเว็บตลาดมืด สำหรับซื้อขายยาเสพติดและของผิดกฎหมายที่มีรายได้มากที่สุดในโลกโดยใช้เงินสกุลดิจิทัล cryptocurrency ในการแลกเปลี่ยน

พันตำรวจเอก พิศาล เอิบอาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

พันตำรวจเอกพิศาล เอิบอาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการข่าวกรองยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการทำงานกับทีมสอบสวนคดีพิเศษ (FBI) ที่ประสานมากรณีการจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ Alphabay จะเห็นว่าเขาใช้เวลาในการแกะรอยมายาวนาน 4-5 ปี ก่อนจะพบเบาะแสอยู่ในประเทศไทยและประสานงานมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการสืบสวนจนนำไปสู่การจับกุมได้ในที่สุด

“คำถามคือเรามีความพร้อมแค่ไหน ขนาด FBI ยังใช้เวลาหลายปีและใช้เทคนิคอย่างมาก ถ้าเกิดคดีแบบนี้ขึ้นที่ประเทศไทยอีก เราจะมีเทคโนโลยีและทักษะที่เพียงพอที่จะจัดการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรต่างชาติหรือองค์กรอาชญาธรรมข้ามชาติ” พันตำรวจเอก พิศาล กล่าว

“เหรียญสองด้าน” ของการเติบโตและการคุมกฎ

ปัจจุบันในหลายประเทศ cryptocurrency ยังเป็นหน่วยเงินที่ไม่มีกฎหมายรองรับกระทั่งตลาดการเงินระดับโลกเช่นอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มที่จะเข้ามาหาวิธีการในการบริหารจัดการตลอดจนการกำกับดูแล ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีการออกกฎหมายมากำกับดูแล cryptocurrency  โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมามีการประกาศใช้ พระราชกำหนดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดให้มีการกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจและการดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันได้มีการนำ cryptocurrency และโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการควบคุมที่เคร่งครัดอย่างรวดเร็วเกินไปจะกระทบกับการแข่งขันและเติบโต

นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcoin

ในฐานะผู้ประกอบการ นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcoin และ TDAX Crypto Currency  กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้สกุลเงินดิจิทัลหรือ cryptocurrency กว่า 0.2% ของการใช้เงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยผู้ประกอบมองว่าหัวใจที่สำคัญที่สุดคือการทำให้สกุลเงินดิจิทัลเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายมากำกับดูแล แต่กฎหมายไม่สามารถห้ามไม่ให้เกิดอาชญากรรมได้ และสิ่งสำคัญที่สุดผู้คุมอำนาจต้องสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลและการทำให้ธุรกิจเติบโต