ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เรือนจำอยุธยา ต้นแบบ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” สู่เป้าหมายบ้านเปลี่ยนชีวิต

เรือนจำอยุธยา ต้นแบบ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” สู่เป้าหมายบ้านเปลี่ยนชีวิต

19 สิงหาคม 2017


นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร “เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นเรือนจำต้นแบบตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) จากข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำสู่การปฏิบัติในประเทศไทย โดยความร่วมมือของ TIJ และกรมราชทัณฑ์

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการพาสื่อมวลชนชมเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือเป็นเรือนจำต้นแบบที่มีการวางแผนที่ดี และประสบผลสำเร็จตามที่ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ได้ระบุไว้

“ข้อกำหนดกรุงเทพซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นและมีการดำเนินการนั้น เกิดขึ้นจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงเล็งเห็นว่าผู้ต้องขังหญิงนั้นมีความแตกต่างทั้งในด้านกายภาพ ด้านเพศ แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย เพราะฉะนั้นก็ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” นายอดิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม คำว่าเป็นพิเศษไม่ได้หมายความว่าจะปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่นำข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามาเสริมในสิ่งที่ขาด โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ควรจะได้รับ

ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการหวังให้ผู้ต้องขังสามารถออกไปประกอบสัมมาชีพได้แล้ว อีกหนึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของทั้ง TIJ และกรมราชทัณฑ์ คือทำอย่างไรที่จะให้สังคมยอมรับคนที่หลงผิดไป ให้กลับคืนสู่สังคมได้

แต่ก่อนที่จะได้สิ่งนั้น เราต้องทำให้ผู้ต้องขังหญิงที่จะพ้นโทษไปแล้ว มีความคิดดี ตั้งใจดี มีประสบการณ์ มีการฝึกอาชีพ ที่อย่างน้อยที่สุดเมื่อออกไปแล้ว สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ ไม่หันกลับไปประพฤติผิดอีก

พร้อมกันนี้ยังเผยว่า ขณะนี้บรรดาประเทศในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ได้นำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในอาเซียน เอเชีย หรือประเทศยุโรปหลายประเทศที่เข้ามาศึกษา ติดตาม และนำไปใช้ประโยชน์

รวมถึงประเทศในลาตินอเมริกา เช่น อาร์เจนตินา, เปรู มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปเป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งในการปฏิบัติ ซึ่งในแต่ละประเทศต่างมีระเบียบการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์แตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยที่สุดข้อกำหนดกรุงเทพเป็นบรรทัดฐานประการหนึ่งที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้นำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ

นายอดิศักดิ์ย้ำว่า สิ่งที่ TIJ และกรมราชทัณฑ์ทำอยู่นี้ไม่ได้เป็นการให้สิทธิพิเศษกับผู้ต้องขังหญิง แต่คำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงความเป็นอารยธรรมของประเทศไทย และต้องการเป็นแบบอย่างให้กับนานาประเทศ

“ขอย้ำว่าเราคำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ และต้องการสร้างผู้ต้องขังหญิง รวมทั้งผู้ต้องขังชาย ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีจิตสำนึกที่ดี อยากประกอบสัมมาชีพ เมื่อเขาเป็นคนที่ดีแล้ว สังคมจะได้เปิดพื้นที่กว้างขึ้นให้การยอมรับผู้ที่หลงผิด ดังนั้น ทาง TIJ และกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งสื่อมวลชน จะทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจพวกเขา ทำอย่างไรที่จะเปิดให้พวกเขาได้กลับมามีชีวิตใหม่ กระตุ้นให้สังคมยอมรับบุคคลที่พ้นโทษไปแล้ว”นายอดิศักดิ์

ดร.นัทธี จิตสว่างที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า หลังจากข้อกำหนดกรุงเทพผ่านการรับรองจากสหประชาชาติแล้ว ได้มีการจัดตั้งสถาบัน TIJ เพื่อขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ และดำเนินการเผยแพร่ข้อกำหนดกรุงเทพไปยังประเทศต่างๆ แต่ก็มีการย้อนถามว่าประเทศไทยทำได้หรือไม่

ดังนั้นจึงมีการทำเรือนจำต้นแบบให้เห็นว่า แม้จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ข้อจำกัดด้านสถานที่ ข้อจำกัดด้านบุคลากร ประเทศไทยก็สามารถนำข้อกำหนดกรุงเทพมาประยุกต์ใช้ได้ ทำเป็นต้นแบบเพื่อให้เรือนจำต่างๆ ในประเทศไทยได้ดูเป็นตัวอย่าง
ทั้งนี้ หลังจากได้ดำเนินการไปแล้วพบว่า มาตรฐานต่างๆ ตามข้อกำหนดกรุงเทพช่วยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานในการทำงาน เพราะข้อกำหนดกรุงเทพดูแลทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง

ปัจจุบันมีการดำเนินการทำเรือนจำต้นแบบในช่วงปีแรก 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่, เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี และในปีที่สองอีก 3 แห่ง ได้แก่ ทัณฑสถานหญิงชลบุรี, เรือนจำกลางสมุทรสงคราม และทัณฑสถานปทุมธานี

การตรวจค้นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิง

ดร.นัทธีกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการเพื่อให้เป็นเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ มีความแตกต่างจากเรือนจำทั่วไปคือ การดำเนินการต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขัง เช่น การตรวจค้นต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีผู้หญิง ไม่ตรวจค้นภายในโดยละเมิดสิทธิ์

ขณะที่การจัดทำทะเบียนจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่จะรู้จักผู้ต้องขังทุกคน เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนเป็นใคร มาจากไหน จึงมีการวางแผนรายบุคคล (Sentencing Plan) ว่าเข้ามาในเรือนจำแห่งนี้แล้วจะได้รับอะไรกลับไปบ้าง ซึ่งประกอบไปด้วย ต้องผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างน้อย 3 วิชาชีพ, ผ่านการอบรมเอสเอ็มอีเปลี่ยนชีวิตอย่างน้อย 1 หลักสูตร

ถัดมาคือ ต้องได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ ได้เรียนรู้พฤติกรรมสุขภาพ เช่น หลีกเลี่ยงการกินหวาน มัน เค็ม หรือหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง หรือพฤติกรรมที่จะนำมาสู่โรคต่างๆ

รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ครอบครัว, การปฏิบัติธรรมตามศาสนาต่างๆ และการปรับสภาพอารมณ์และจิตใจ ซึ่งมีศูนย์แฮปปี้เซ็นเตอร์ (Happy Center) หรือศูนย์สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง

เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามาในนี้ไม่ว่าจะมาจากไหน จะผ่านการอบรมจากกระบวนการดังกล่าว จนกระทั่งเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และดูแลหลังปล่อย รวมทั้งมีการติดตามผลต่อไปว่า คนที่พ้นออกไปแล้วกลับสู่สังคมอย่างไร

การฝึกอบรมทำอาหาร
ผู้ต้องขังเรียนหนังสือเพื่อศึกษาหาความรู้
บรรยากาศในแฮปปี้เซ็นเตอร์ เพื่อพูดคุยและสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน
ผู้ต้องขังเรียนหลักสูตรสมาธิในเรือนจำ
อบรมการนวด

“จุดหลักของที่นี่คือ ‘เป็นบ้านเปลี่ยนชีวิต’ หมายความว่า เข้ามาที่นี่ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี ทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องสุขภาพ เรื่องอาชีพ เรื่องจิตใจ และความสัมพันธ์ในครอบครัว”

เมื่อลงพื้นที่สำรวจแดนหญิงในเรือนจำชาย ภายในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีพื้นที่ใช้ควบคุมผู้ต้องขังหญิงประมาณ 4 ไร่ จากพื้นที่ภายในเรือนจำ 33 ไร่ พบว่า มีการแบ่งสัดส่วนโซนกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้ต้องขังหญิงอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นมุมอ่านหนังสือ, มุมฝึกโยคะ, สถานพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ, มุมมุสลิม, ห้องเรียน, ห้องสวดมนต์

มีการจัดฝึกอาชีพในเรือนจำที่ผู้ต้องขังสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนม และบริการ เช่น อาหารตามสั่ง, กาแฟ, น้ำเต้าหู้, ปาท่องโก๋, ทำผม, งานศิลปะแฮนด์เมด ฯลฯ

มีหลักสูตร “เอสเอ็มอีเปลี่ยนชีวิต” ที่มุ่งพัฒนาผู้ต้องขังให้สามารถประกอบอาชีพอิสระหลังพ้นโทษ โดยเน้นอบรมการประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี การตลาด การหาทุน และการสร้างแรงบันดาลใจ

นอกจากนี้ยังมี “ห้องเปลี่ยนชีวิตที่บ่มเพาะแรงบันดาลใจ” (Happy Center) ทำหน้าที่ทั้งการบำบัดรักษาและพัฒนาสุขภาพจิต เน้นการบ่มเพาะแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนชีวิต สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งเร้าภายนอกเมื่อพ้นโทษ โดยใช้การให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น กระบวนการกลุ่ม ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด สมาธิบำบัด ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต ฯลฯ โดยมีการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์

สำหรับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ จะมีการแยกห้องไว้ให้โดยเฉพาะ โดยจะได้รับการตรวจครรภ์และฝากครรภ์ตามระยะเวลาที่กำหนด มีห้องแม่และเด็ก ส่วนกรณีที่มีเด็กติดผู้ต้องขัง เด็กจะได้รับการตรวจสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กเป็นอย่างดี

ภายในเรือนจำมีศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถดูแลบุตรได้

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด (ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2560) จากเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยว่า มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงรวมทั้งหมด 563 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังจากคดียาเสพติดกว่า 400 คน รวมทั้งผู้ต้องขังจากคดีทั่วไป

นายอดุลย์ ชูสุวรรณ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า โครงสร้างเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยามี 2 ส่วน คือ ส่วนควบคุมและส่วนพัฒนา ซึ่งในส่วนพัฒนาจะเน้นการฝึกวิชาชีพ ที่ได้รับการสนับจากหลายองค์กร เช่น TIJ ที่เข้ามาสนับสนุนทั้งเรื่องการฝึกวิชาชีพ การฝึกจิตใจและดูแลสุขภาพ การอบรมให้ความรู้เรื่องเอสเอ็มอีเพื่อให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปแล้วได้นำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพจริง เช่น การสอนทำกาแฟ, เบเกอรี่

ล่าสุดมีผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วพบว่า เขาได้ออกไปประกอบอาชีพจริง ได้รับการสนับสนุนรถขายกาแฟจากบริษัทเนสท์เล่ และไม่ได้แค่ขายกาแฟอย่างเดียว แต่ยังขายน้ำเต้าหู้ด้วย หรือเมื่อมีเวลาว่างก็ซื้อผักมาขาย หารายได้เสริม

วันเดียวกันนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จากประเทศไทยและประเทศอาเซียนเดินทางมาอบรมและศึกษาเรือนจำต้นแบบแห่งนี้ เพื่อขยายแนวคิดโครงการเรือนจำต้นแบบไปยังประเทศในอาเซียนต่อไป

ดร.บาร์บารา โอเวน (Dr.Barbara Owen) ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ เล่าว่า ข้อกำหนดกรุงเทพถูกร่างขึ้นโดยผ่านกระบวนการจากสหประชาชาติ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่สากลมองว่าเป็นเรื่องสำคัญและควรจะนำไปปฏิบัติตาม

สำหรับการจัดอบรมอบรมครั้งนี้มุ่งหวังว่า เนื้อหาสาระหลักของข้อกำหนดกรุงเทพจะเป็นที่เข้าใจของผู้ปฏิบัติงานจริงในภูมิภาคอาเซียน ว่าการดูแลผู้ต้องขังที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของเพศหญิง ควรจะมีเรื่องอะไรบ้าง รวมทั้งการนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีในการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้มีอะไรบ้าง

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การสร้างความร่วมมือในกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในภูมิภาคนี้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าข้อท้าทายของเขาคืออะไร และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่เขาจะเรียนรู้จากกันและกันได้ว่ามีอะไรบ้าง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะได้จากการฝึกอบรมครั้งนี้คือ “แผนปฏิบัติการ” (Action Plan) ที่ทุกคนจะนำกลับประเทศของตนเองพร้อมกับข้อแนะนำหรือแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของการอบรมครั้งนี้คือ การมีแผนปฏิบัติงานและการสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานราชทัณฑ์

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรือนจำต้นแบบ ตามข้อกำหนดกรุงเทพ ในวันที่ TIJ นำสื่อมวลชนสำรวจเยี่ยมชม