ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4: “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี” (ตอนที่ 2)- อนาคตเรามี “ระเบิดเวลา” รออยู่เต็มไปหมด ทางรอดสร้าง”คน”ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4: “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี” (ตอนที่ 2)- อนาคตเรามี “ระเบิดเวลา” รออยู่เต็มไปหมด ทางรอดสร้าง”คน”ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

3 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี?” ณ SEAC ชั้น 2 มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน), ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย, ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และ ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีเนื้อหาดังนี้

ต่อตอนจากที่ 1

ดร.ธีรวุฒิ: เราจะมาคุยกันต่อเรื่องเหตุที่ประเทศไทยเศรษฐกิจดี แต่คนยังรู้สึกแย่ รอบที่แล้วเราได้คุยถึงข้อเท็จจริงไปแล้วว่ามันเกิดจากการที่เศรษฐกิจโตในภาคส่งออก มีหนี้ครัวเรือนเยอะอยู่ และมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไป รอบนี้เราจะมาคุยกันต่อว่า อะไรที่ทำให้เกิดภาวะแบบนี้ แล้วเราจะก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ยังไง ถาม ดร.พิพัฒน์ก่อนครับว่า ทำไมปัจจุบันเราถึงเกิดภาวะที่มีหนี้เสียเยอะ หรือภาคการส่งออก ทำไมมันเกิดบางเซกเตอร์ที่โตได้

ดร.พิพัฒน์: จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นโครงสร้างของเราอยู่แล้ว ว่าเครื่องจักรในการส่งออกตัวสำคัญของเราคือสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่าง ที่อาจจะต้องบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับคนไทยเท่าไหร่ เพราะเราเป็นประเทศรับจ้างผลิต

นอกจากสินค้าเกษตร การส่งออกบริการ การท่องเที่ยว แล้วก็เมดิคัลทัวริซึมบางส่วน ถามว่าเราส่งออกอะไรเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถามว่าแบรนด์อะไร ก็มีเต็มไปหมดทั้งซัมซุง โซนี่ แต่แทบจะไม่ใช่อะไรของไทย

ฉะนั้นก็แปลว่าเราถูกผูกไว้กับซัพพลายเชนโกลบอลอยู่แล้ว ดังนั้นการส่งออกหรือการฟื้นตัวของการส่งออก เราก็เลยถูกผูกไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวเร็วขนาดนี้ แล้วการส่งออกเราไม่เร็วขนาดนี้ ตัวเลขเฮดไลน์เศรษฐกิจเราคงไม่ได้โตไปกว่านี้

ดังนั้นต้องบอกว่าเรายังอยู่ในขาชะลอของเศรษฐกิจ domestic demand หรือตัวเศรษฐกิจจริงๆ ในประเทศมันยังอยู่ในหมวดม้วนลงอยู่ แต่บังเอิญอย่างที่เราคุยกันช่วงแรกว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นตัวฉุดขึ้นไป ทำให้ตัวเลขเฮดไลน์ดูดีมาก แต่อย่างที่บอกว่าถ้าตัวเลขส่งออกไม่ได้ดีขนาดนี้ ก็ต้องยอมรับสภาพว่าเศรษฐกิจมันไม่ได้ดีมาก

ทีนี้ถามว่าหนี้ทำไมมันถึงเยอะ หรือการบริโภคทำไมถึงยังไม่ค่อยดีขึ้น ทั้งที่ตัวเลขการส่งออกดีแล้ว ก็อย่างที่คุยกันก็คือ ตัวเลขภาระหนี้ที่เรายืมไปในอดีต ถ้ามองดูในภาพรวมจนกระทั่งถึงปี 2555,2556 การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว

คือระดับอาจจะไม่ได้น่ากลัวเท่าไหร่ แต่สปีดที่มันขึ้น ขึ้นค่อนข้างเร็ว อาจจะต้องบอกว่าตอนนี้เรา payback period คือเรามีการกระตุ้นค่อนข้างเร็ว จากน้ำท่วมปี 2554 พอปี 2555 เรามีทั้ง 300 บาท มีทั้งจำนำข้าว 15,000 มีรถคันแรก มีบ้านหลังแรก ซึ่งหลายๆ อย่าง อาจจะเป็นการยืมรายได้ในอนาคต ก็คือรายได้ของตอนนี้ไปใช้

อันที่สอง เป็นการเพิ่มสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำว่า permanent income คือนึกว่ารายได้เราจะเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต เช่น ราคาข้าววันนี้อาจจะอยู่สัก 7 พันบาท หรือ 8 พันบาทต่อตัน แต่ตอนนั้นถูกอินเฟลตไปที่ 15,000 บาทต่อตัน

เกษตรกรหรือคนที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ก็คิดว่า 15,000 บาทต่อตัน จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต ฉะนั้นเราก็ไปยืมเงินมาใช้บริโภคในช่วงนั้น โดย based on ว่ารายได้เราจะอยู่ based on ราคาข้าวที่ 15,000 บาทต่อตัน

ดร.ธีรวุฒิ: แปลว่าตอนนั้นปี 2554, 2555 ที่ผมรู้สึกว่ารายได้ผมเยอะ ผมมีทางใช้เงินได้ ผมไม่ควรจะรู้สึกดีกับมัน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

ดร.พิพัฒน์: ผมว่าทุกคนรู้สึกดีนะ และเอ็นจอยในตอนนั้น แต่อย่าลืมมาจ่ายคืนด้วย ถ้าเราจำได้ปี 2554, 2555, 2556 ธีมสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่มาสนใจเมืองไทย ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ “urbanization” ทุกคนจะไปดูต่างจังหวัด นักลงทุนต่างประเทศมา จะขอไปดู อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย แต่วันนี้ไม่มีใครมาขอดูเลย

แต่ช่วง 4-5 ปีที่แล้ว คนเซอร์ไพรส์ว่าเรามีห้างขนาดใหญ่อยู่ที่หัวเมือง ซึ่งมันก็กระจายรายได้ กระจายการบริโภคไปให้กับต่างจังหวัดจริงๆ กระจายความเจริญไปจริงๆ แต่พอราคาสินค้าเกษตรมันชะลอตัวลง ความคึกคัก ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจดี มันก็ดูแผ่วๆ ไป เพราะฉะนั้นก็อาจเป็นสาเหตุว่าเรากำลังจ่ายคืนสิ่งที่เราเอาไปใช้เมื่อปี 2554, 2555, 2556

ดร.ธีรวุฒิ: ปี 2011, 2012 ผมรู้สึกดี และปีนี้ผมก็อยากจะรู้สึกดีต่อไปด้วย มันจะเป็นไปได้มั้ย

ดร.เบญจรงค์: จริงๆ ก่อนหน้าน้ำท่วม ตัวเลขจีดีพีมันดูดีมาก จนกระทั่งน้ำท่วมปลายปี 2554 พอปี 2555 ก็จะมีนโยบายออกมา เรื่องรถคันแรก, ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, เงินเดือนขั้นต่ำข้าราชการ 15,000 บาท, เรื่องบ้านหลังแรก ออกมาพร้อมกันหมดในปีเดียว เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างมโหฬาร

แต่คีย์เวิร์ดคือการกระตุ้นการใช้จ่าย มันได้ผลในเชิงจีดีพี แต่ข้อเสียคือว่ามันไม่ใช่เรื่องของการสร้างรายได้ สองอันมันไม่เหมือนกัน ทีนี้เรากระตุ้นการใช้จ่าย ถ้าเกิดเราไม่มีรายได้ แต่อยากจ่ายเพิ่ม มันก็ต้องกู้ มันมีแค่ทางเลือกเท่านี้เอง ฉะนั้น สุดท้ายก็อย่างที่ ดร.พิพัฒน์บอก ว่าการกู้ก็คือการเอารายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบัน

ดร.ธีรวุฒิ: ไม่มีทางเลือก ต้องใช้คืนในที่สุด

ดร.เบญจรงค์: ใช่ครับ ไม่อย่างนั้นก็ติดเอ็นพีแอล ซึ่งเราก็เห็นในระบบธนาคารว่าหลังจากปี 2555 เข้ามาสู่ปี แล้ว 2556 เอ็นพีแอลของรายย่อย ลูกค้าบุคคล เริ่มไต่ขึ้น

ปี 2556 เข้าสู่ 2557 เป็นช่วงที่เอ็นพีแอลของลูกค้ารายย่อยเพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งมันเริ่มเป็นปัญหาของเอสเอ็มอี ก็คือผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีก็เริ่มไต่ขึ้นตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึงทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่าทุกอย่างมันเป็นความเชื่อมโยงกันพอสมควร แต่ต้องเรียนตามตรงว่าไม่ใช่จากนโยบายภาครัฐอย่างเดียว จังหวะพอเหมาะพอเจาะกับปี 2556 เป็นปีที่ราคาสินค้าเกษตรไหลลงทั่วโลกด้วย

ตอนนั้นราคายางพาราอยู่ที่ 140 บาทต่อกิโลกรัม ไหลลงมาเหลือ 70 บาทต่อกิโลกรัม และไหลลงมาเรื่อยๆ จนถึงต้นปี 2558 เราพูดถึงราคายาง 3 กิโลละ 100 บาทจะเห็นได้ว่ามันเป็นจังหวะที่หลายๆ อย่างมันส่งผล

แต่ทีนี้ ผลกรรมที่เราทำไว้ตอนนั้น ก็ส่งผลในตอนนี้เช่นกัน อย่างเรื่องของหนี้ครัวเรือนของเมืองไทย อาจจะไม่ได้สูงที่สุดในโลก แต่แปลกที่สุด ตรงที่ว่าประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วอาจจะมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่าเรา แต่ว่าหนี้ของเขาส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้เพื้อซื้อบ้าน หมายความว่าเป็นการซื้อสะสมสินทรัพย์ พอจ่ายหมดเขาก็จะมีสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น แต่เมืองไทยหนี้ครัวเรือนที่เราบอกว่าอยู่ที่ 80% ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบริโภค

ดร.ธีรวุฒิ: หมายความว่าถ้าเราดูแค่เฉพาะตัวเลข ไม่น่ากลัว แต่ดูไส้มันแล้วน่ากลัว

ดร.เบญจรงค์: ดูไส้แล้วผมว่าดูน่ากลัวกว่าเดิม ตัวเลขก็มีความน่ากลัวของมัน ในอาเซียนเราหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย แต่สุดท้ายแล้วมันสะท้อนให้เห็นว่า หัวใจของมันคือไส้ใน ว่าจริงๆ แล้วหนี้ของเราเป็นหนี้จากการบริโภค ก็คือเราจะไม่ได้รับประโยชน์จากการก่อหนี้พวกนี้แล้ว จะเหลือแค่การจ่ายนี้คืนเท่านั้นเอง ต่างจากหนี้ซื้อบ้าน ซึ่งเป็นหนี้ที่ในอนาคตจะมีสินทรัพย์เพิ่ม สามารถเอาไปเป็นสินทรัพย์เพื่อค้ำประกันทำธุรกิจหรือทำอะไรได้ต่อ

ดร.ธีรวุฒิ: ดร.พิสิทธิ์เห็นภาพเดียวกันในพวกเอสเอ็มอีมั้ยครับว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นมันจะส่งผลกระทบกับปัจจุบันยังไง

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย,เบญจรงค์ สุวรรณคีรี และพิสิทธิ์ พัวพันธุ์(ภาพซ้ายไปขวา)

ดร.พิสิทธิ์: ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น แต่พอมองไปในอนาคต ก็หวังว่าถ้าเราสามารถที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง รายได้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ที่จริงถ้าเรารอไปเรื่อยๆ ถ้าเศรษฐกิจมันฟื้นต่อเนื่อง ผมก็เชื่อว่าถ้าเราคุยกันอีก 2 ปีข้างหน้า คนในตลาด คนในชุมชน น่าจะบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น มันต้องใช้เวลาในการ trickle-down ผลประโยชน์เศรษฐกิจให้มันดีขึ้น

แต่นโยบายการคลังก็เป็นตัวที่สามารถช่วยให้กลไกลการ trickle-down effect ของเศรษฐกิจน่าจะเกิดได้เร็วขึ้น ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว อย่างที่ ดร.พิพัฒน์พูดเรื่องของภาคเกษตร ทำอย่างไรที่เราจะปรับปรุงภาคเกษตร นโยบายการคลังจะเข้าไปดูแลอย่างไร ยกระดับ productivity ยกระดับประสิทธิภาพเกษตรกร

หรืออย่างที่ ดร.เบญจรงค์ พูดถึงเรื่องท่องเที่ยว ซึ่งน่าสนใจมากว่า ประเทศไทย 77 จังหวัด มีแค่ 17 จังหวัดที่ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวเต็มๆ นโยบายการคลังจะทำอย่างไรที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นเรื่องนโยบายการคลังต้องเข้ามาช่วยในส่วนนี้

สรุปก็คือเรื่องของการกระจายรายได้ ผลประโยชน์มันกระจุก กลไกภาครัฐจะทำอย่างไรที่จะดึงผลประโยชน์ที่มันกระจุก กระจายให้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องของกลไกนโยบาย

ดร.ธีรวุฒิ: ฟังโดยภาพรวมก็คือ เกิดจากการที่เราทำกรรมไว้ คือใช้เงินไว้ล่วงหน้า ความสุขของเราได้ใช้ไปแล้ว ช่วงนี้ก็รับไปก่อน ส่วน ดร.พิสิทธิ์พูดประมาณว่า รอสักพักนึงที่มันจะกระจาย ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ดร.พิสิทธิ์: แต่ถ้าจะเร็วขึ้น ถ้ารัฐมีระบบนโยบายที่สามารถจะให้การกระจายมันทำได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น มันก็จะเร็วกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

ดร.ธีรวุฒิ: ผมถามดร.พิพัฒน์ กับ ดร.เบญจรงค์ครับว่า อยากให้รัฐทำยังไงเพื่อสร้างความเร็วให้มันเร็วขึ้นได้บ้าง หรือมองในอนาคตจะได้ไม่ต้องเกิดการใช้กรรมซ้ำซ้อนแบบนี้อีก

ดร.พิพัฒน์: เราต้องยอมรับว่า ในระยะยาวมันไม่มีอะไรที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั่วไปได้ดีเท่ากับ “เพิ่มค่าจ้างที่แท้จริง” ให้กับเขา หมายความว่าสุดท้ายคือทำยังไงให้แรงงานมี productivity สูงขึ้น มันเป็นเหมือนกับสิ่งที่ทุกคนฝันเอาไว้ว่าสุดท้ายแล้วในระยะสั้น เราจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยที่ไม่เพิ่ม productivity มันไม่ได้

สุดท้ายแล้วนโยบายของรัฐ ต้องไปดูว่าจะทำยังไงให้ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของประชากรโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น โดยเพิ่ม productivity ของแรงงาน ไม่ใช่ไปบังคับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

ฉะนั้นเรากำลังพูดถึงว่า สุดท้ายแล้วรัฐอาจจะต้องกลับไปมองเป้าหมายในระยะยาวว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น hard infrastructure เช่น การขนส่ง รวมถึงเรื่อง soft infrastructure คือเรื่องของการศึกษา ซึ่งก็เป็นประเด็นที่สำคัญมาก

สุดท้ายผมว่า อันนี้คือเป็นระยะยาวจริงๆ คือเราทำยังไงที่จะ improve พวกนี้ มันน่าจะเป็นสิ่งที่ sustainable ที่สุด แล้วก็ไม่ต้องมานั่งเถียงกันในอนาคตว่า ทำไมเราต้องมาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทีละ 10 บาท 20 บาท ถ้าเราสามารถเพิ่ม productivity โดยรวมของประชาชนขึ้นมาได้

ประเด็นที่สอง ผมเห็นว่าในอนาคตเรามี “ระเบิดเวลา” รออยู่เต็มไปหมด ฉะนั้นความจำเป็นเรื่องการใช้จ่ายเงินภาครัฐจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ระเบิดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างประชากร ซึ่งภาระการคลังเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของระบบประกันสุขภาพ ประกันสังคม หรืออะไรต่างๆ มันมาแน่นอน

แล้ว growth ในอนาคตยังไงก็ต้องชะลอลง เพราะจำนวนแรงงานวัยทำงานลดลง เพราะฉะนั้นมีคนทำงานน้อยลง แต่เราต้องการที่จะทำให้ขนาดของพายที่เรากำลังแบ่งใหญ่ขึ้นตลอดเวลา วิธีเดียวที่ทำก็คืออย่างที่บอก คือต้องเพิ่ม productivity และใช้เงินให้คุ้มที่สุด

แล้วข้อดีคือเราไปเอาประสบการณ์ของประเทศอื่นที่เคยเจอมาได้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่เคยเจอสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเห็นว่าทุกคนไม่มีทางเลือก ต้องเพิ่ม productivity ของตัวเอง ฉะนั้น ในระยะยาวผมคิดว่าข้อนี้น่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญที่สุด

เบญจรงค์ สุวรรณคีรี

ดร.เบญจรงค์: สนับสนุนครับ เห็นด้วย สุดท้ายเราต้องเข้าใจว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทุกประเทศคือ“มนุษย์” ไม่ใช่น้ำมัน ไม่ใช่แร่ธาตุ ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ลม แต่มนุษย์เป็นทรัพยากรที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ ได้ ถ้าเราไม่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สุดท้ายเราจะติดหล่มอย่างมาก

ผมคิดว่าเป็นโจทย์ที่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ เราให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรอื่นตลอดเวลา โดยที่ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์น้อยเกินไป

เรายกตัวอย่างภาคเกษตรกันบ่อยๆ (ดูภาพประกอบ) โครงสร้างแรงงานอยู่ในภาคการเกษตร 32% ที่เหลืออยู่เอสเอ็มอี อยู่บริษัทใหญ่ เราก็ตั้งคำถามกันมาหลายครั้งว่าสุดท้ายแล้ว 32% สร้างรายได้ไม่ถึง 10% ของจีดีพี จะทำอย่างไรให้คนพวกนี้สร้างรายได้มากกว่านั้น หรือใช้คนที่น้อยกว่านี้

ซึ่งเมืองไทยในภาคการเกษตรเรายังตั้งโจทย์ผิดเสมอ ทรัพยากรที่ขาดแคลนที่สุดของประเทศตอนนี้คือ “แรงงานที่มีฝีมือ” แต่ในขณะเดียวกันเราตั้งเคพีไอของประเทศในการพัฒนา yield per rai ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ตอบโจทย์ทรัพยากร

การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ เป็นโจทย์ที่สุดท้ายเราจะหนีไม่พ้น และโจทย์ที่หนีไม่พ้นเลย ณ ตอนนี้คือ เราจะใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ผมเป็นหนึ่งคนที่จะปฏิเสธเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงานของประเทศมาตลอด เพราะผมรู้สึกว่าเมืองไทยยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเราขาดแคลนแรงงานโดยอ้างสังคมผู้สูงอายุ เราเป็นประเทศที่ใช้แรงงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ underemployment แล้วใช้แบบงูๆ ปลาๆ

ขณะที่ในภาคราชการ ก็เป็นภาคที่จำนวนการจ้างงานโตทุกปี ในขณะที่เราบอกว่าประเทศกำลังขาดแคลนแรงงาน แล้วแผนของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เองก็จะเห็นว่า จำนวนข้าราชการก็จะโตจากนี้ไปอีก 10 ปี ทุกปี มันจะเป็นไปได้ยังไง ภายใต้ภาวะที่เรารู้สึกว่าขีดความสามารถหรือ productivity ของแรงงานมันต้องเพิ่มขึ้นกว่านี้

จริงๆ การขาดแคลนแรงงาน ถ้าเราบอกว่าเราขาดแคลนแรงงานเพราะ aging population เราทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าบอกว่าขาดแคลนแรงงานเพราะเราใช้แรงงานอย่างขาดประสิทธิภาพ มันมีเรื่องให้เราทำเยอะมากเลย ที่เราจะต้องแก้ตรงนี้

ในส่วนที่สอง ที่ผมรู้สึกว่าเป็นโจทย์หลัก คือ ประเทศไทย นอกจากเรา concentrate ในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว เรา concentrate รายพื้นที่มาก

ผมนั่งคุยกับเด็กบางคนที่ผมเจอ เขาบอกว่าตอนเด็กๆ เขาเรียนได้อันดับหนึ่งของอำเภอ ของจังหวัดเขา แต่พอเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เหมือนกับกรุงเทพฯ สุดท้ายสอบไม่ผ่าน มันแสดงให้เห็นว่า โอกาสหรือสิ่งที่เราพยายามสร้างให้คนในแต่ละพื้นที่มันไม่เท่ากันเลย

ผมก็เลยเริ่มสงสัยว่า ที่เราบอกว่าเศรษฐกิจเราโตได้ สุดท้ายมันเป็นภาพที่บางจังหวัดโตอย่างมโหฬารหรือเปล่า ในขณะที่จังหวัดที่เหลือไม่ได้รับอานิสงส์ คล้ายๆ กับเรื่องท่องเที่ยวที่เราคุยกัน

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 44% ถ้าผมจำไม่ผิด เป็นสัดส่วนที่ใหญ่มาก มากกว่าโตเกียวมีต่อประเทศญี่ปุ่น และมากกว่าที่ลอนดอนมีต่อประเทศอังกฤษ มากกว่าที่ปารีสมีต่อประเทศฝรั่งเศส

มันเป็นโจทย์ที่กลับมาว่า หรือสุดท้ายแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เราพูดถึง ก็คือการที่เราไม่สามารถกระจายการบริการหรือโอกาสเข้าไปสู่พื้นที่ต่างๆ

ผมพยายามแยกของแต่ละจังหวัดออกมากางดู (ดูข้อมูลประกอบ) ก็จะเห็นว่าจังหวัดที่สามารถโตได้ดีมีอยู่ 4-5 จังหวัด ซึ่งก็จะเป็นจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับอีสเทิร์นซีบอร์ดหรือภาคการส่งออก ส่วนที่เหลือก็จะอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหมดเลย

ผมลองดูคร่าวๆ ว่า แทนที่จะมองเป็นครัวเรือนมาคำนวณ ที่เขาเรียกว่า gini coefficient ซึ่งผมไม่ได้ใช้จำนวนครัวเรือน ผมใช้จำนวนจังหวัด เอาจังหวัดมาเรียง แล้วก็ตัดตามจำนวนประชากรในจังหวัด

สิ่งที่เห็นก็คือ มันทำให้แอบแปลกใจว่า gini coefficient ที่เราวัดกัน เอาครัวเรือนมาเรียงกัน มันอยู่ที่ประมาณ 45% ซึ่งไม่ได้แย่มาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก แต่พอมาเรียงตามจังหวัด มันอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันแย่ มันแปลว่ามีความกระจุกอยู่ในระดับจังหวัดค่อนข้างมาก

ผมยกตัวอย่างอีกหนึ่งอย่างคือ ภาคใต้ ไม่รู้ รู้กันหรือเปล่าว่า เป็นภาคที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมากที่สุดในประเทศไทย 97% ของรายได้จากภาคใต้มาจากต่างประเทศ หรือคนต่างชาติทั้งนั้น ท่องเที่ยว ยางพารา เรื่องอาหารทะเล ปาล์มน้ำมันซึ่งราคาก็เชื่อมกับตลาดโลก ฉะนั้นภาคใต้มีความสำคัญอย่างมาก ที่ต้องเชื่อมกับโลกข้างนอกให้ได้

ภาคใต้ไม่มีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นภาคเดียวที่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมกลับมาที่กรุงเทพฯ แต่เราก็ไม่สร้าง ไม่มีการคิดในกรอบตรงนี้

แม้กระทั่งดูเรื่องการค้าชายแดน เราบอกว่าการค้าชายแดนผ่านทางภาคใต้ที่สะเดา เป็นการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุด แล้วก็บอกว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าการค้าชายแดนเราดี

จริงๆ ตรงการค้าชายแดนที่สะเดา มันเกิดขึ้นเพราะผู้ประกอบการไม่มีที่ขนส่งสินค้าออกนอกประเทศ คุยกับผู้ประกอบการร้อยทั้งร้อยที่อยู่ภาคใต้ เขาไม่อยากส่งผ่านมาเลเซีย ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งผ่านมาเลเซีย

แต่เนื่องจากเราไม่มีแผนการทำเรื่องระบบการขนส่งที่ตอบสนองต่อพื้นที่เศรษฐกิจนั้นๆ จึงทำให้ศักยภาพที่ภาคใต้ควรจะได้จากการเชื่อมกับเศรษฐกิจโลกหายไป

เพราะฉะนั้น ตัวนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง แล้วผมเชื่อว่าแต่ละภาคมีความต้องการสุดท้ายไม่เหมือนกันในโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่บางครั้งเนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมการวางแผนและการคิดทุกอย่าง เราก็จะมองจากมุมมองของคนกรุงเทพฯ พอสมควร

ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราจะต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป หรือการแก้ไขเศรษฐกิจในระยะกลางต่อไป เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าเกิดยังพยายามวางแผนว่าจะเชื่อมการขนส่งภาคใต้กลับเข้ากรุงเทพฯ ยังไง ภาคใต้ก็จะไม่มีวันที่จะสามารถขยายตัวไปได้มากกว่านี้

แล้วตราบใดที่เรายังใช้พื้นที่การขยายตัวเดิมอยู่ ประมาณ 10 จังหวัด มันก็จะถึงลิมิตของมันในการขยายตัว

เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี?” ณ SEAC ชั้น 2

โจทย์ในการขยายตัวรอบถัดไปของประเทศไทย ก็คล้ายๆ ที่ ดร.พิพัฒน์บอกเรื่องของ urbanization ในจังหวัดต่างๆ มันต้องเริ่มออกแบบการขยายตัวในจังหวัดอื่นๆ แล้ว ว่าการโตของเขา หรือว่าคนในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพที่เด่นที่สุดของเขาคืออะไร

เพราะตราบใดที่ทุกอย่างยังเป็นโมเดลของกรุงเทพฯ แล้วพยายามไปวางในแต่ละพื้นที่อยู่ ผมว่าโอกาสที่เมืองไทยจะก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงมันเกิดขึ้นค่อนข้างยาก ฉะนั้นนี่เป็นโจทย์คร่าวๆ ที่ทำให้เห็นว่า เรื่องของปัญหาโครงสร้าง มันมีมาสักพักแล้ว

แล้วเรื่องการพัฒนาการส่งออกภาคตะวันออก จริงๆ อีอีซีเป็นเรื่องที่ดี ควรจะทำต่อ ก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราทำต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในการเปิดอีสเทิร์นซีบอร์ด ปัจจุบันเราก็ยังเน้นการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดอยู่

แต่น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคุยกัน ว่านอกจากเรื่องของอีสเทิร์นซีบอร์ด ภาคอื่นในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ เราควรจะมุ่งเน้นไปที่ไหน

ดร.ธีรวุฒิ: ผมสรุปประเด็นคร่าวๆ เพื่อถาม ดร.พิสิทธิ์ต่อว่า ตอนนี้เราคุยกันว่าเศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนยังไม่รู้สึกดีด้วย สิ่งที่เราคุยกันมาก็จะเกิดจากภาคเศรษฐกิจโตจากการส่งออก แต่ฝั่งครัวเรือน ฝั่งเอสเอ็มอี ฝั่งการบริโภค เติบโตขึ้นได้ยาก เกิดจากโครงสร้างหนี้ที่เกิดขึ้น

และจากการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของเรา ที่ไม่ได้พัฒนาด้านประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งหลายๆ อย่างนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคตที่มันจะเกิดซ้ำ ดร.เบญจรงค์ก็พูดต่อไปอีกอันหนึ่งว่า เหตุที่มันกระจายไปไม่ถึงแต่ละคน ก็เพราะเราดันไปพัฒนากระจุก ดร.พิสิทธิ์อยู่ในภาครัฐ มองเห็นนโยบายต่างๆ ที่เรากำลังจะไปสู่ข้างหน้า ใน 2-3 ประเด็นนี้อย่างไรบ้างครับ

ดร.พิสิทธิ์: ที่จริงนโยบายการคลังน่าจะมีบทบาทได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น ปัญหาที่เราคุยกันในรอบแรกเป็นปัญหาที่เราเจออยู่ในวันนี้ ถามว่าเราจะแก้ยังไง ที่ ดร.พิพัฒน์พูดเรื่องการใช้เงินงบประมาณ ใช้เงินรายจ่ายภาครัฐให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าเรายอมรับปัญหาว่าเรามีความเหลื่อมล้ำ มีคนจน คนรวย มีคนจนมาก เราจะช่วยเขาอย่างไร กลไกรัฐ กลไกนโยบายการคลัง ก็เป็นประโยชน์ แต่ถามว่าการที่เราจะส่งเงินไปให้เขา ทำอย่างไร

ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าทุกรัฐบาลอยากจะช่วยคนจน แต่เราไม่รู้จักคนจน ว่าคนจนเป็นใคร อยู่ที่ไหน อันนี้เป็นปัญหาของทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย เราไม่รู้จักคนจน แต่วันนี้ด้วยเทคโนโลยี ภาครัฐสามารถใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูล ฐานข้อมูลต่างๆ ต้นทุนมันต่ำลง อย่างที่ผ่านมาเรามีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ก็เป็นจุดเริ่มต้นอันหนึ่ง

วันนี้เรากลับมาเริ่มต้นว่าฐานข้อมูลคนจน เราต้องสร้างให้มันดี แล้วเรารู้จักคนจนว่าคนจนอยู่ที่ไหน เรารู้ว่าคนจนส่วนใหญ่เป็นใคร เราก็จะคาดได้ คนจนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่มาลงทะเบียนเยอะๆ โคราช อุบลราชธานี จังหวัดใหญ่ๆ ที่มีจำนวนลงทะเบียนเยอะ ก็จะเป็นความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่อย่างที่ ดร.เบญจรงค์พูด

พิสิทธิ์ พัวพันธ์

คนอยู่ในต่างจังหวัด คนไม่มีงานทำ ก็จะเป็นเรื่องของการศึกษา เขาไม่มีโอกาสในอาชีพ ก็เป็นโจทย์ที่เรารู้แล้ว ระยะสั้นเราให้ปลา ระยะยาวเราก็ต้องให้เบ็ด ซึ่งนโยบายให้เบ็ดก็คือเทรนนิง

ในระดับนโยบายเราก็มีการคุยว่าจะมีพี่เลี้ยงมั้ย สำหรับผู้มีรายได้น้อย พี่เลี้ยงที่จะคอยดูแลว่าเขาต้องเทรนเรื่องอะไร เหมือนเป็นที่ปรึกษา เหมือนแบงก์ที่มี account officer ที่ดูแลลูกค้า ภาครัฐก็อาจจะมี account officer ที่ดูแลคนจน ให้คำปรึกษา ทำอย่างไรให้เขายกระดับชีวิตเขาได้ ในระยะยาวก็อย่างที่คุยกันเรื่องของการลงทุน ทั้งลงทุนในคน และเรื่องการศึกษา

ดร.ธีรวุฒิ: ผมฟังมาทั้งหมด ตอนนี้กลับรู้สึกว่า ที่เราตั้งโจทย์ว่าเศรษฐกิจไทยดี แต่ทำไมคนยังรู้สึกแย่ ผมเริ่มเป็นห่วงน้อยลงแล้ว ผมได้ภาพคล้ายๆ ว่า เราอยู่ในมุมมืดสักอันหนึ่ง แล้วมีลมกระแสที่จุดไฟเล็กๆ ในภาคส่งออก แล้วจะค่อยๆ ลามออกไป

แต่ฟังทั้ง 3 ท่านแล้ว โดยเฉพาะ ดร.พิพัฒน์ รู้สึกว่าเรากำลังจะเจอคลื่นลูกใหม่ ที่อาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีกถ้าไม่ปรับตัว ถามในรายละเอียดว่า ดร.พิพัฒน์เห็นอะไรที่มันจะเป็นกระแสใหม่ ที่ถ้าเราไม่ปรับ จะแย่แน่ๆ

ดร.พิพัฒน์: หลายเรื่องเลยครับ อันที่หนึ่งคือเรื่อง “เทคโนโลยี” ที่คุยกันว่าต่อไปนี้การแข่งขันมันไม่ใช่โชห่วยมุมนึงของถนน ไปแข่งกับโชห่วยอีกมุมนึงของถนนแล้ว แต่เรากำลังแข่งกับอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม ที่มาจากที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วกำลังจะกิน pricing power ของคน แล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ นี่คือสิ่งที่เราเห็นใกล้ตัว

อันที่สองคือ เทคโนโลยีเหมือนกัน คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มันเข้ามา ทำให้เราซึ่งอาจจะเคยเป็นเหมือน cash cow ในอดีตเราเคยเป็นฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ มันจะเปลี่ยน wave ไปอย่างค่อนข้างเร็วมาก คำถามคือเราก้าวทันมันหรือเปล่า

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ เราเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่รายนึง เป็นศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แต่รถยนต์กำลังจะเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้อะไหล่ ใช้หม้อน้ำ ใช้เครื่องหล่อลื่น ซึ่งเรามีซัพพลายเชนที่เจ๋งมาก

แต่ต่อไปส่วนประกอบจะหายไปหมดเลย มันจะเหลือแค่ระบบคอมพิวเตอร์ มอเตอร์ แล้วก็ยางรถยนต์ ซึ่งซัพพลายเชนที่เรามีเกือบจะไม่มีความจำเป็นเลย

แล้วทำยังไงให้เรายังเป็นเดสติเนชั่นในการลงทุน ที่ต่างประเทศอยากจะมาลงทุนกับเรา เราสร้างอินฟาสตรักเจอร์ หรือสร้างซอฟอินฟาสตักเจอร์ อย่างที่ผมบอก ก็คือเรื่องคุณภาพของคนพร้อมหรือยัง เราเตรียมพร้อมเรื่องการกำกับดูแล เรื่องของนโยบาย เรื่องของสถาบันต่างๆ เช่น เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรม เราทำให้เตรียมพร้อมที่จะดึงดูด wave ต่อไปของการลงทุนหรือยัง ซึ่งภาพมันจะเปลี่ยนไปมหาศาล

เรื่องที่สามคือเรื่องของ demographic เทรนด์มันจะเปลี่ยนไปเยอะมาก เราใช้แรงงานโมเดลแรงงานแบบเดิมๆ ไม่ได้ รัฐเตรียมพร้อมหรือยังในแง่ของการใช้ทรัพยากรการลดรัฐทั้งหลาย การลดคอร์รัปชัน ซึ่งมันเป็น fat ชิ้นใหญ่ การลดบทบาทภาครัฐ ผมคิดว่ารัฐมีหน้าที่ แต่รัฐต้องรู้ว่าตัวเองควรจะต้องไปทำอะไร

เช่น บอกว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องคนจน ควรจะทุ่ม resource เพิ่มมากขึ้น แสดงว่าต้องไปเอา resource จากที่อื่นออก ไม่ใช่เพิ่มทั้งหมด ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปัญหาว่าเราจะไป crowd-out resource ซึ่งมันมีจำกัดอยู่แล้ว

ฉะนั้น ลดบทบาทในสิ่งที่รัฐไม่ควรจะทำ รัฐวิสาหกิจเป็นอันนึงซึ่งเราเห็นเลยว่า fat มันค่อนข้างเยอะ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งไม่สามารถแข่งกับบริษัทเอกชนได้

ทำยังไงรัฐถึงจะมีนโยบายแข่งขันที่ตรงไปตรงมา ไม่เอื้อกับรัฐวิสาหกิจ แล้วสุดท้ายไปทำให้การลงทุนมันสิ้นเปลือง รัฐจะทำยังไงที่จะถอยตัวเองออกมา แล้วทำให้เอกชนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น

อย่างนโยบายการช่วยคนจน ก็เป็นทางที่สำคัญอันหนึ่งในอดีต แต่ตอนนี้เราอาจจะถกเถียงกันว่าให้ได้ ไม่ได้ คนนี้เป็นคนจนโพสต์รูปลงอินสตาแกรม แต่ว่าตรงนั้นยังสิ้นเปลืองน้อยกว่าเราให้รถไฟฟรี แล้วคนรวยจำนวนเยอะมาขึ้น หรือรถเมล์ฟรี หรือไฟฟรี โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราให้ใครไป

อย่างน้อยวันนี้เป็นความพยายาม ถ้ามันมีปัญหาก็ค่อยๆ แก้กันไป อย่างเช่น ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ) ในอดีตบอกเลยว่าฟรี ทำยังไง ขสมก. ก็รายงานว่าขาดทุนตลอดเวลา

แต่ถ้าเรารู้ลิมิตว่าเราจะให้ใคร เราก็จะชัดเจนมากขึ้นว่าค่าใช้จ่ายมันถูกลิมิตเอาไว้ ขสมก. ต่อไปก็ไม่สามารถเคลมว่าขาดทุนเพราะช่วยเหลือคนจน อย่างน้อยมันก็เช็คได้ง่ายขึ้น

ฉะนั้นรัฐก็ต้องมีบทบาทที่สำคัญในการ reform วันนี้ผมคิดว่าปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปภาครัฐ ทำยังไงให้เห็นภาพชัดเจนเลยว่า เราจะใช้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ต้นทุนคืออะไร ใส่ให้เขาไปเลยมั้ย ให้เขาไปแข่งกับเอกชนให้ได้

เราจะใช้แบงก์รัฐ บอกไปเลยว่าแบงก์รัฐ ต่อไปนี้การกำกับดูแลตรงกับภาคการเงินทั่วไป ถ้าจะช่วยเหลือก็มีการจัดสรรงบประมาณอย่างชัดเจน เพื่อไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่า เพราะเราต้องมีอันนี้ เพราะเราต้องไปช่วยคนนี้

ตอนนี้เราชัดเจนแล้วว่า ถ้าจะมาอ้างว่านโยบายนี้เพื่อช่วยคนจน ก็ต้องบอกได้ว่า เราไปช่วยคนจน เป็นใคร แล้วช่วยอย่างไร มีเงินจำกัดอยู่ตรงไหน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สำคัญ

ดร.ธีรวุฒิ: ฟังดูคลื่นอันแรกจะน่ากลัว

ดร.พิพัฒน์: น่ากลัว ถ้าเราไปดูสปีดของการเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเรื่องของเทคโนโลยี แล้วเราจะทำยังไงให้ตามทัน เรื่องของการจ้าง capacity เรื่องของความมี agility คือความสามารถที่จะเข้าใจสถานการณ์แล้วปรับเปลี่ยนสถานการณ์ต่อไป

ไม่ใช่ไปยึดกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ถ้าเกิดมันเข้มงวดเกินไป มันก็อาจจะกลายเป็นบ่วงของตัวเอง ทำให้เราขยับได้ลำบากเหมือนกัน ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ดร.ธีรวุฒิ: ถ้าหากตามกระแสไปได้ เราจะไปได้ไกล

ดร.พิพัฒน์: ใช่ครับ เพราะเรามีบุญเก่าที่ค่อนข้างเยอะ แต่ทำยังไงที่เราจะเอาบุญเก่านั้นมาเป็นสปริงบอร์ดให้เราสามารถรักษาบุญไว้ในอนาคต ไม่ใช่ตกขบวนกับทุกอย่างที่กำลังจะเปลี่ยนไป

ดร.ธีรวุฒิ: ขอให้ ดร.พิสิทธิ์ ตอบประเด็นนี้ครับว่า ภาครัฐปรับตัวในเรื่องนี้อย่างไรบ้างหรือยัง

ดร.พิสิทธิ์: กระบวนการก็คงจะต้องปรับตัวอย่างที่ ดร.พิพัฒน์ว่า ไม่อย่างนั้นเราก็จะเผชิญปัญหาในอนาคต ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังก็พยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ สร้างความโปร่งใส กลไกการกำกับดูแล ทุกคนก็คิดเหมือนกันว่า รัฐวิสาหกิจในอนาคตต้องดำเนินงานเชิงพาณิชย์มากขึ้น แยกบัญชีอย่างที่ ดร.พิพัฒน์พูด

แยกบัญชีธุรกิจกรรมเชิงนโยบาย แยกออกจากธุรกิจกรรมเชิงพาณิชย์ แล้วก็ลดบทบาทลง โดยส่วนตัวผมก็คิดเหมือนกันว่าภาครัฐควรจะทำนโยบายและกำกับดูแล ส่วนโอเปอเรชัน ถ้าเป็นสิ่งที่เอกชนทำได้ ก็ควรจะเป็นสิ่งที่เอกชนทำ

ที่ผมคิดก็ไม่ได้เป็นอะไรใหม่ ถ้าเราไปดูประเทศพัฒนาแล้ว เกือบทุกประเทศก็จะเป็นอย่างนี้ ลักษณะภาครัฐเป็น policy maker เป็นผู้กำกับดูแล ส่วนโอเปอเรเตอร์เอกชนเป็นตัวหลัก

ที่ผ่านมาเรามีรัฐวิสาหกิจทำไม เพราะว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเอกชนทำไม่ได้ รัฐก็ต้องมีรัฐวิสาหกิจมาทำ แต่โลกมันเปลี่ยนเร็ว วันนี้เอกชนมาทำหลายๆ อย่างที่รัฐเคยทำมาในอดีต มันก็เป็นเรื่องในอนาคตต่อไปที่เราต้องกลับมาทบทวนบทบาท

ธีรวุฒิ ศรีพินิจ

ดร.ธีรวุฒิ: ถาม ดร.เบญจรงค์ครับว่า ในภาพคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมา ตอนนี้เรากำลังคุยเรื่องเศรษฐกิจดี แล้วเราจะจน ภาคเอกชนมองอย่างไร เราจะต้องมาตั้งคำถามแบบนี้อีกมั้ยว่าเราจะจนกันหมดหรือเปล่า

ดร.เบญจรงค์: จริงๆ ครั้งหนึ่งเราเคยตั้งตัวเองเป็นเสือตัวที่ 5 ตอนนั้นเราพยายามจะแข่งกับสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ แต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราก็ล้มลุกคลุกคลาน ฟื้นได้ช้ากว่าคนอื่น เขาก็ไปแล้ว

เราเริ่มฟื้นตัวได้เมื่อปี 2544 จีนก็เข้าสู่ WTO คำถามตอนนั้นที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องตอบนักข่าวก็คือ เราจะแข่งกับจีนได้ยังไง แต่ข้อสรุปก็คือ เราแข่งไม่ได้ เราเวิร์กกับเขาในส่วนของการเป็นซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำหรือปลายน้ำ

พอออกมาจากวิกฤติซับไพรม์ คนก็เริ่มถามว่า เมืองไทยจะแข่งกับเวียดนามได้มั้ย ผมก็นั่งคิดๆ ดูว่าทำไมคู่แข่งของเรามันลดลงมาเรื่อยๆ หรือของเขาปรับเพิ่มขึ้น แล้วเราอยู่กับที่ ก่อนเข้าเออีซี คนถามผมว่าเราจะแข่งกับพม่ายังไง

ฉะนั้นมันทำให้เห็นว่า คู่แข่งในโลกเขาปรับตัวเร็วมาก แล้วทำให้ผมนึกถึงหนึ่งคำที่คนจะพูดผิดบ่อยๆ คนจะบอกว่า ชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่าผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่อยู่รอดได้ ไม่จริงครับ ไดโนเสาร์แข็งแรงกว่ามนุษย์เยอะมาก สุดท้ายก็ไม่สามารถอยู่รอดได้

ผู้ที่จะสามารถอยู่รอดได้ คือคนที่สามารถปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสภาวะที่ตัวเองไปได้ ผมว่านี่เป็นเรื่องที่จริงสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน

สิ่งที่เราโฟกัสต่อไป ไม่ใช่การวางแผนระยะยาว ว่าสุดท้ายเราจะไปสู่แผนนั้นได้ยังไง แต่คือการทำให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้เร็วที่สุด

อันนี้เป็นโจทย์ที่บริษัทเอกชนทุกบริษัทใช้เวลาอย่างมากในการพยายามทำตอนนี้ ให้องค์กรตัวเอง ทำยังไงให้ไปสู่การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะว่าสิ่งที่เราวางแผนไว้ปีหน้า จะไม่เหมือนสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ แม้กระทั่งวันนี้เราคิดว่าปีหน้าน่าจะเป็นอย่างนี้ ปีหน้าไม่เหมือนที่เราบอกหรอกครับ สุดท้ายมันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

ฉะนั้นความรวดเร็วของการตอบสนองจะเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ตัวนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐ เพราะต้องบอกว่าเมื่อวิกฤติปี 2540 ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวเองอย่างรุนแรงมาแล้วหนึ่งครั้ง

เพราะฉะนั้น ภาคเอกชนจะมีความยืดหยุ่นกว่าภาครัฐ โชคดีของเมืองไทย แต่ก็เป็นโชคร้ายของภาครัฐด้วย ที่เราไม่เคยมีวิกฤติของภาครัฐ เรามีวิกฤติการเมือง แต่ยังไม่เคยเกิดวิกฤติภาครัฐอย่างกรีซ หรืออย่างประเทศพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้นภาครัฐยังไม่เคยถูกบังคับให้มีการปรับตัวอย่างรุนแรง

แต่ผมคิดว่ามันหนีไม่พ้นแล้วครับ เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจที่เรามา ณ ปัจจุบัน บทบาทของภาครัฐมันเล็กลงเรื่อยๆ แล้วไม่ควรจะพยายามใหญ่ไปมากกว่านี้ ในอดีตสัดส่วนจีดีพีของภาครัฐใหญ่กว่านี้ ปัจจุบันสัดส่วนเหลืออยู่ที่ประมาณ 20% ของจีดีพี

เพราะฉะนั้น การที่บอกว่าภาครัฐจะต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้น มันเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในมือภาคเอกชน

ผมคิดว่าภาครัฐจะต้องกลับมาปรับเรื่องของกระบวนการของตัวเองที่เคยเป็นขั้นตอน หรือการไม่กล้าตัดสินใจ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2-3 อัน เพื่อมาตัดสินใจ อย่างนั้นมันต้องค่อยๆ หายไป

ในขณะเดียวกัน ให้แฟร์กับภาครัฐ มีหลายอย่างที่ภาครัฐทำได้ดี จริงๆ ผมเห็นด้วยเรื่องโครงการขึ้นทะเบียนคนจน ผมคิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ครั้งหนึ่งทุกคนคุ้นคำว่าเช็คช่วยชาติ ตอนวิกฤติซับไพรม์ปี 2552 เราออกโครงการเช็คช่วยชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนที่มีเงินเดือนประมาณ 15,000 ตอนนั้นก็ด่ากันระงมกันทั้งเมืองว่าทำไมให้คนเงินเดือน 15,000 พวกนี้เป็นคนรวย คำตอบที่รัฐไม่ได้บอกตอนนั้นคือ เขาไม่รู้ว่าคนจนอยู่ไหน เขาบอกไม่ได้จริงๆ แล้วรัฐบาลอยู่อย่างนั้นมาตลอด 20 ปี ไม่สามารถบอกได้ว่าคนจนอยู่ที่ไหน

ถึงแม้โครงการนี้จะได้คนไม่จนปนมาบ้าง แต่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ โลกยุคใหม่จะถูก drive ด้วยข้อมูล หลายคนบอกว่า data is the new oil data หรือข้อมูลจะเป็นเหมือนน้ำมัน ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเมื่อร้อยปีที่แล้ว

เพราะฉะนั้นตัวข้อมูลจะเป็นตัวที่สำคัญที่สุด พอทำเรื่องของทะเบียนคนจนเสร็จ ต่อไปคงหนีไม่พ้นภาครัฐคงต้องทำข้อมูลเรื่องเอสเอมอีให้มากขึ้นด้วย ตรงนี้ภาครัฐก็ยังไม่เห็นว่าสุดท้ายแล้วเอสเอ็มอีหน้าตารูปร่างเป็นยังไง แล้วเขามีปัญหาอะไร

ดร.ธีรวุฒิ: สุดท้ายผมอยากจะถามวิทยากรทั้ง 3 ท่าน เราเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นมา แต่ก็มีบางภาคที่ยังไม่ได้รับอานิสงส์ เราเห็นคลื่นใหม่ที่อาจจะน่ากลัวกว่าเดิม เราเห็นภาพนี้แล้ว อยากให้ทุกท่านฝากเป็นคอมเมนต์ทิ้งท้ายว่า ภาพนี้เราควรจะมองมันยังไง

ดร.พิพัฒน์: ผมคิดว่าแต่ละคนก็ควรบริโภคข่าวสารด้วยสติ ไม่ใช่เห็นตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วเราก็เริ่มใช้เงิน ทั้งที่เงินยังไม่เข้ากระเป๋า และต้องเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจ เข้าใจว่าเราไม่สามารถสรุปตัวเลขได้ หรือไม่สามารถสรุปภาพใหญ่ๆ ออกมาได้ด้วยตัวเลขตัวเดียว เพราะสุดท้ายมันมีการกระจายเต็มไปหมด

เราบอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ถ้าบังเอิญเราอยู่ในจุดที่มันแย่กว่าค่าเฉลี่ย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะดีไปด้วย ในระยะสั้น อาจจะมีอานิสงส์ค่อยๆ ตามมา แต่ต้องเข้าใจวันนี้ว่า ตัวที่ผลักดันสำคัญจริงๆ คือภายนอก คนที่ใช้เงินคือผู้ซื้อภายนอก ไม่ใช่ข้างใน

เพราะฉะนั้นเราก็อย่าไปใช้เงินตามเขา แต่ละคนก็อาจจะต้องบริโภคข่าวสารมีสติ ต้องพิจารณาสำรวจตัวเอง แล้วเราต้องมองไกลด้วย ในแง่ว่า wave อะไรที่มันกำลังจะเข้ามา นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจระยะสั้น

ถ้าใครอยู่ในอุตสาหกรรมที่มันมีการ disrupt กันเยอะๆ มีการเปลี่ยนแปลงเยอะๆ ความถี่และความเร็วของการเปลี่ยนแปลง มันจะเข้ามาเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราปรับตัวอย่างไร ในเรื่องของทั้งโครงสร้าง เรื่องของโมเดลธุรกิจ ไม่ใช่ว่าปู่ย่าตายายทำมาอย่างนี้ เราก็รักษาไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันอาจจะคามือก็ได้

แล้วเราจะปรับ skill ของเราอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงเยอะเต็มไปหมด จะทำยังไงให้เราเข้าใจสถานการณ์และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเอง

เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี?” ณ SEAC ชั้น 2

ดร.เบญจรงค์: การปรับตัวสำคัญที่สุดครับ แต่ก็ไม่รู้จะบอกยังไงดี ให้ท่านผู้ฟังทุกท่านไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ไกลเกินตัว อย่างแรกก็คือตื่นตัว แต่อย่าตื่นตระหนก ตามข่าวให้เห็นว่าตัวเนื้อข่าวมันต้องดูหลายๆ อันประกอบ มันไม่มีข่าวไหนที่ให้ข้อมูลหรือให้มุมมองได้ 100% ต้องหาข้อมูลอื่นประกอบด้วย

ยิ่งในยุคโซเชียล ข่าวปลอม ข่าวเท็จก็เยอะ ข่าวเต้า ข่าวโกหก ข่าวแต่งตัวเลข เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อทุกอย่างที่เป็นข่าว แต่พอดูข่าวแล้วสำรวจตัวเอง ว่าสุดท้ายแล้วศักยภาพ จุดแข็งของตัวเองเป็นยังไง ความสนใจของตัวเองคืออะไร

อย่างเรื่องดิจิทัล ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเป็นดิจิทัลถึงจะชนะ แต่ทุกคนต้องอยู่กับดิจิทัลได้ ยกตัวอย่าง แนะนำให้ดูรายการอายุน้อยร้อยล้าน ที่เขาสะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจยุคใหม่มันทำยังไง

การทำธุรกิจยุคใหม่ ไม่ใช่ทุกคนต้องขึ้นดิจิทัล ขึ้นเฟซบุ๊ก ขึ้นโซเชียลหมด แต่เขาใช้กลไกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ใช้กลไกของดิจิทัล มาช่วยทำให้จุดแข็งของเขามันเด่นไปสู่คนในวงที่กว้างขึ้น

ยกตัวอย่างเจ๊ไฝ ก็ไม่ได้ดิจิทัลเลย และก็ไม่ใช่ธุรกิจเดียว ผมคิดว่ายังมีอีกหลายๆ ธุรกิจไม่ว่าจะร้านอาหาร หรือร้านที่เป็นดิจิทัลหน่อย แต่สามารถเข้าไปอยู่กับโลกดิจิทัลที่กำลังไปได้

ถ้าทุกคนกระโดดเข้าอีคอมเมิร์ซหมด ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่น่ารอด เพราะอีคอมเมิร์ซไม่ใช่พื้นที่สำหรับทุกคนที่จะประสบความสำเร็จได้ แต่เราสามารถอยู่กับดิจิทัล แล้วเอาจุดแข็งของตัวเองกับจุดแข็งของดิจิทัลมารวมกัน เพื่อให้เข้าไปสู่ลูกค้าที่กว้างขึ้นได้ ตรงนี้อยากฝากให้ลองนึกดู แล้วลองดูตัวอย่างหลายๆ อัน ผมคิดว่ามันมีตัวอย่างค่อนข้างเยอะที่สามารถทำได้

ดร.พิสิทธิ์: ก็มองเหมือนกับทั้ง 2 ท่าน ว่าเรื่องของการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ แล้วยิ่งมีกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน

ภาครัฐเองก็ต้องพยายามปรับตัวทั้งระยะสั้น ระยะยาว นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการ คลังคงจะต้องเตรียม ระยะสั้นอย่างที่เราคุยกันคือ target group เป้าหมาย ใช้เงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้น

ระยะยาวก็คือเรื่องของการลงทุน เรื่องการเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ ในอนาคต สศค. (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ประเมินไว้ว่าปี 2597 ประกันสังคมจะหมดเงิน อีก 30 กว่าปี ไปถึงจุดนั้นเราจะเตรียมรองรับยังไง จะต้องปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้มันยั่งยืนมากขึ้น เตรียมระบบการออม ใช้กลไกการออมเป็นตัวกระจายรายได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องทำในอนาคต ใครรายได้มากก็ออมเยอะ แต่เวลาจ่ายผลประโยชน์ก็เน้นไปทางคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ท้ายที่สุดเพื่อที่จะเตรียมพร้อมประเทศไทยเข้าสูยุคดิจิทัล ให้แข่งขันได้ในโลกอนาคตที่ข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว

ดร.ธีรวุฒิ: วันนี้เราคุยกันว่าเศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนยังรู้สึกแย่ ผมขอสรุปโดยภาพรวมว่า การที่เศรษฐกิจดี แต่คนรู้สึกแย่ เกิดจากสาเหตุที่หนึ่งก็คือ เศรษฐกิจมันโตทางเศรษฐกิจบางภาค ก็คือภาคการส่งออก ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ วัดตัวเลขเศรษฐกิจออกมา เราจึงเห็นว่าเศรษฐกิจดี แต่ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกับการส่งออก ก็ยังไม่ได้รับอานิสงส์

ทุกท่านได้ให้ข้อเสนอว่า เศรษฐกิจจะต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แล้วบางภาคอาจจะได้รับผลช้าหน่อย บางภาคได้รับผลเร็วหน่อย แต่วิทยากรทั้ง 3 ท่านได้ชี้ประเด็นอีกอันหนึ่งว่า เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ยังมีปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เราเรียกว่า “ดิจิทัลอีโคโนมี”

การเปลี่ยนแปลงนี้ ใครเตรียมตัวดีจะได้รับอานิสงส์ ใครเตรียมตัวไม่ดี อาจจะตกขบวนไป ซึ่งในเรื่องดิจิทัลอีโคโนมี ไทยพับลิก้าจะได้จัดเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่5 จะมาคุยเรื่องดิจิทัลอีโคโนมีโดยเฉพาะ

สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร