ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กวฉ. สั่งเปิดผลสอบ “อุทยานราชภักดิ์” หลังยื่นขอกลาโหมมา 3 ปี ระบุประชาชนมีสิทธิจะได้รู้

กวฉ. สั่งเปิดผลสอบ “อุทยานราชภักดิ์” หลังยื่นขอกลาโหมมา 3 ปี ระบุประชาชนมีสิทธิจะได้รู้

3 ตุลาคม 2018


กวฉ. สั่งกระทรวงกลาโหม เปิดข้อมูลผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ หลังผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้ายื่นขอมากว่า 3 ปี ชี้เป็นข้อมูลที่ประชาชนมีสิทธิได้รับรู้ ตามหลักความ “โปร่งใส ตรวจสอบได้” ระบุ การเปิดเผยผลการตรวจสอบที่ได้บทสรุปแล้ว จะไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ

โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ที่เคยเป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายปี 2558 ว่าอาจมีความไม่โปร่งใส จบลงไปท่ามกลางความกังขาของหลายๆ คน เพราะแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงถึง 4 ชุด ทั้งของกองทัพบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ทุกหน่วยงานก็สรุปว่า โครงการนี้โปร่งใส ไม่มีการทุจริต แต่ไม่เปิดเผยรายงานฉบับเต็มของการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ตรวจสอบรายละเอียด

หากใครยังจำกันได้ ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการนี้มีหลายประเด็น เช่น การเปิดรับเงินบริจาคทำตามระเบียบราชการถูกต้องหรือไม่ มีการเรียกค่าหัวคิวจากโรงหล่อพระที่เข้าร่วมในโครงการนี้หรือไม่ การใช้เงินบริจาคต่างๆ มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยื่นขอข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ จากกระทรวงกลาโหม (กห.) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2558 หลังเข้าฟังแถลงข่าวผลการตรวจสอบโครงการนี้ ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล ซึ่งขณะนั้นเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม (ปัจจุบัน พล.อ. ชัยชาญเป็น รมช.กลาโหม) เป็นประธาน

โดยข้อมูลที่ยื่นขอมีทั้งสิ้น 2 รายการ แต่รายการที่สำคัญได้แก่ รายงานผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการฯ ชุดของ พล.อ. ชัยชาญ นั่นเอง

อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหม ใช้เวลาถึง 8 เดือนถัดมา ถึงจะส่งหนังสือตอบกลับมาว่า กห. ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าฟังแถลงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ชุด พล.อ. ชัยชาญ แล้ว ผู้สื่อข่าวจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)

แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น มีการเปลี่ยนแปลงภายใน สขร. โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแล สขร. และการครบวาระของ กวฉ. ชุดต่างๆ ทำให้การดำเนินการล่าช้าไปเกือบปี

เมื่อ กวฉ. ชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้ง จึงหยิบคำร้องนี้มาพิจารณาอีกครั้ง โดยกระทรวงกลาโหม ได้ยื่นหนังสือชี้แจง ลงวันที่ 9 ก.ย. 2559 ถึงสาเหตุที่ไม่เปิดเผยรายงานผลสอบฉบับเต็ม กรณีอุทยานราชภักดิ์ ให้ตามที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ร้องขอ โดยอ้างเหตุผลเรื่อง “รายงานดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลภายนอก รวมทั้งชื่อบริษัท รวมทั้งโรงหล่อพระที่ร่วมโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หากผู้ร้องขอนำไปเปิดเผยอาจทำให้บุคคล บริษัท และโครงหล่อพระที่ปรากฏในรายงานได้รับความเสียหายได้”

ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมได้ยื่นเงื่อนไขว่า แต่ถ้า กวฉ. จะสั่งให้เปิดเผย ก็ขอให้ปกปิดชื่อบุคคล บริษัท และโรงหล่อพระที่เข้าร่วมโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นเสีย เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม หลังจาก กวฉ. (สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 1 ที่มีนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ เป็นประธาน) ได้พิจารณาเหตุผลจากทุกฝ่าย ก็มีคำสั่งที่ สค 277/2561 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2561 สั่งให้กระทรวงกลาโหม เปิดเผยผลสอบฉบับเต็ม กรณีอุทยานราชภักดิ์ ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ เป็นประธาน ให้กับผู้ขอ

ด้วยเหตุผลว่า “ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประกอบกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความล่าช้าซึ่งผู้อุทธรณ์ในฐานะประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียย่อมมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงว่าการเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์”

ส่วนที่กระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้ปกปิดชื่อของบุคคล บริษัท หรือโรงหล่อพระทั้งหมดนั้น กวฉ. ระบุว่า ให้ปกปิดเฉพาะลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารทั้งหมดเท่านั้น เพราะถือเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

ทั้งนี้เป็นความคืบหน้าสำคัญ ในการยื่นขอข้อมูลนี้จากกระทรวงกลาโหม มาเกือบ 3 ปีเต็ม (ระหว่างเดือน ธ.ค.2558 – เดือน ต.ค. 2561) โดยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจะเดินทางไปที่กระทรวงกลาโหม เพื่อนำคำสั่งของ กวฉ. นี้ไปยื่นขอรายงานผลสอบฉบับเต็ม กรณีอุทยานราชภักดิ์ ของคณะกรรมการฯ ชุด พล.อ. ชัยชาญ ต่อไป

สำหรับโครงการอุทยานราชภักดิ์ เป็นการก่อสร้างสวนสาธารณะที่มีจุดเด่นคือรูปปั้นพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต 7 พระองค์ เริ่มต้นในสมัย พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เป็น ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือน ต.ค. 2557 – เดือน ก.ย. 2558)

โดยข้อมูลจากผลสอบของคณะกรรมการฯ ชุด พล.อ. ชัยชาญ ที่เปิดเผยในการแถลงข่าวช่วงปลายปี 2558 มีอยู่ว่า

  • โครงการนี้ใช้งบรวมกัน 866 ล้านบาท (แบ่งเป็นงบกลาง 64 ล้านบาท และเงินบริจาค 802 ล้านบาท) ใช้ไปแล้ว 816 ล้าน คงเหลือ 50 ล้านบาท
  • การจัดงานระดมทุน “ราชภักดิ์ Bike & Concert แทนคุณแผ่นดิน” ที่ทำให้ได้เงินบริจาค 77 ล้านบาทเป็นไปด้วยความโปร่งใส ส่วนข้อสงสัยเรื่องต้นปาล์มทั้งหมดในอุทยาน ที่มีข้อสังเกตเรื่องราคาต้นละ 3 แสน แท้จริงแล้วเป็นการบริจาคโดยไม่คิดเงิน
  • การหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน เนื่องจากบุคคลภายนอกบางคนยังไม่ได้มาให้ข้อมูล ทำให้สรุปกรณีหักค่าหัวคิวโรงหล่อพระ 20 ล้านบาทไม่ได้
  • คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 ในการขอรับเงินบริจาค

  • “ไทยพับลิก้า”ยื่นศาลปกครอง คัดค้านคำให้การกองทัพบก เปิดราคากลาง หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ อุทยานราชภักดิ์
  • เปิดคำให้การ ทบ.กรณีสื่อขอศาลปกครองสั่งเปิด “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ – 20 เดือนที่ยังคงไร้คำตอบ
  • ศาลปกครองรับคดี “อุทยานราชภักดิ์” พิจารณาเปิดราคากลางสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
  • กวฉ. สั่งเปิดข้อมูล “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ หลังยื่นขอมา 9 เดือน – ทบ. อ้างว่าไม่มี ต้องไปจบที่ศาล