ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ThaiPublica Forum “สุมหัวคิด” หนี้สาธารณะรัฐบาลไทย โอกาส-ความเสี่ยงกับภาวะ fiscal Cliff ในอนาคต

ThaiPublica Forum “สุมหัวคิด” หนี้สาธารณะรัฐบาลไทย โอกาส-ความเสี่ยงกับภาวะ fiscal Cliff ในอนาคต

16 กรกฎาคม 2013


ThaiPublica Forum ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “สุมหัวคิด... Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” วันจันทร์ที่ 15  กรกฎาคม 2556 ณ KTC POP อาคาร UBCII
ThaiPublica Forum ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “สุมหัวคิด… Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 ณ KTC POP อาคาร UBCII

สำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเสนวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “สุมหัวคิด… Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 ณ KTC POP อาคาร UBCII มีวิทยากรได้แก่ ดร.วิรไท สันติประภพ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร. พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการ ส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเสวนาครั้งนี้เพื่อร่วมกันคิดว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาลไทยในปัจจุบันมีความเสี่ยงอะไรที่ต้องระวัง ในอนาคตมีโอกาสเผชิญ “หน้าผาการคลัง” หรือไม่อย่างไร และในเชิงนโยบายแล้วต้องปฏิรูปด้านใดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติการคลัง

รายละเอียดจากวงเสวนามีดังนี้

ภาวิน : วันนี้เรามาสุมหัวคิดกัน ก็ขอเริ่มโดยให้ ดร.พิสิทธิ์เล่าสถานการณ์ หนี้รัฐบาลไทยเป็นอย่างไร

พิสิทธิ์ : สิ่งที่ผมจะพูดเป็นเรื่องสถานะปัจจุบันและคาดการณ์ในอนาคตตามมุมมองของกระทรวงการคลัง และอีกประเด็นหนึ่งจะพูดเรื่องหลักเกณฑ์ทางการคลัง เพราะว่าการจะนำไปสู่ Fiscal cliff ในอนาคตหรือไม่นั้น หลักเกณฑ์ทางการคลังที่ดีจะมีส่วนที่จะช่วยการดูแลวินัยการคลัง โดยจะพูดสถานะปัจจุบันของหลักเกณฑ์ทางการคลังว่ามีอะไรบ้าง และพูดเรื่องสถานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นเรื่องหนึ่งที่หลายฝ่ายติดตามและเป็นห่วงอยู่ว่าฐานะเป็นอย่างไร ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการคลังด้วย สุดท้ายจะเป็นเรื่องประมาณการหนี้สาธารณะในอนาคตว่ากระทรวงการคลังมองเรื่องนี้อย่างไร

สถานะหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันจะมีปัญหาในอนาคตการคลังหรือไม่ หากดูในปัจจุบันหนี้สาธารณะเราไม่สูงมากอยู่ในระดับที่ดี คืออยู่ที่ประมาณ 44% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) แต่ถ้ามองหนี้สาธารณะสุทธิต้องหักทรัพย์สินทางการเงินที่รัฐถืออยู่ที่มีสภาพคล่องมากที่สุดคือ เงินคงคลังซึ่งปัจจุบันมีอยู่ระดับสูงประมาณ 400,000 ล้านบาท หรือประมาณ 4% ของจีดีพี เพราะฉะนั้น ถ้าหนี้สาธารณะสุทธิจะอยู่ประมาณ 40%

ส่วนหนี้สาธารณะประกอบด้วย หนี้ของรัฐวิสาหกิจมีสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งสามารถบริหารจัดการเองได้ประมาณ 10% และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวนี้ไม่เป็นภาระของงบประมาณแล้ว

จะเห็นว่า หนี้สาธารณะที่เป็นภาระของงบประมาณจริงๆ ณ ตอนนี้อยู่ประมาณ 20% ของจีดีพี นี่คือภาพปัจจุบันของด้านการคลังซึ่งถือว่ามั่นคง

ทั้งนี้ นิยามหนี้สาธารณะประกอบด้วยหนี้รัฐบาลประมาณ 30% ของจีดีพี (ในส่วนนี้มีหนี้กองทุนกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ในนี้ด้วย) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินประมาณ 9.3% ของจีดีพี และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันประมาณ 500,000 ล้านบาท หรือประมาณ 4.26% ของจีดีพี ส่วนนี้มีหนี้ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอยู่ด้วยประมาณ 57,000 ล้านบาท

จะเห็นว่า ปัจจุบันการรายงานสถานะหนี้สาธารณะพยายามรวมตัวเลขต่างๆ ที่จะให้ครอบคลุมภาระหนี้ของภาครัฐให้มากที่สุด

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์(กลาง)
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ (กลาง)

ขณะที่โครงสร้างหนี้ปัจจุบัน มองในมิติหนี้ในประเทศ หนี้ต่างประเทศ ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะทั้งหมด 5.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 44% ของจีดีพี โดยตัวเลขประมาณ 93% เป็นหนี้ในประเทศที่กู้ยืมเป็นเงินบาท ก็จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ

ทั้งนี้ หนี้ต่างประเทศของไทยมีจำกัดแค่ 6.5% เท่านั้น และดูแผนการกู้เงินของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ และกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศ เพราะฉะนั้นจะยังรักษาระดับหนี้ในประเทศในสัดส่วนที่สูง ก็จะช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ เมื่อดูอายุหนี้จะเห็นว่า 97% ของหนี้สาธารณะ 5.1 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ระยะยาวอายุเกิน 1 ปี

สรุปโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบัน เกิน 95% เป็นหนี้ในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว

ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งกำลังเป็นจุดสนใจ ณ ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดูจากตัวเลขที่เราติดตามได้แก่ตัวเลขเอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) อยู่ที่ 5.1% ถือว่าพอใจได้ ดังนั้น สถาบันการเงินเฉพาะกิจในภาพรวมถือว่าใช้ได้ อาจมีบางแห่งมีปัญหาเชิงนโยบายที่กระทรวงการคลังจะบริหารจัดการต่อไป ส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงล่าสุด ณ มี.ค. 2556 อยู่ที่ 10% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 8.5%

เพราะฉะนั้น ในภาพรวมสถานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็ถือว่าพอใช้ได้

ส่วนวันนี้ที่เรามาชวนคุย fiscal cilff หรือ “หน้าผาทางการคลัง” ว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นหรือไม่ ผมขอเริ่มต้นว่าปัจจุบันเรามีหลักเกณฑ์ทางการคลังที่เขียนในกฎหมาย กำหนดกรอบการกู้ยืมเงินของรัฐบาลไว้ว่า กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกู้ได้ไม่เกิน 20% ของกรอบวงเงินงบประมาณ บวกอีก 80% ของชำระคืนต้นเงินกู้ และมี 20% เพื่อค้ำประกันให้กู้ต่อเป็นเงินบาท ในส่วนนี้การจำนำข้าวก็ใช้ในกรอบวงเงินนี้อยู่

จะเห็นว่า การทำนโยบายการคลังต่างๆ ก็อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ทางการคลัง

สุมหัวคิด กรอบวินัยการคลัง

ส่วนการกู้เงินตราต่างประเทศ กรอบกฎหมายให้กู้ได้ไม่เกิน 10% ของกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่วงเงินนี้ปัจจุบันรัฐบาลไม่ค่อยใช้เงินกู้ต่างประเทศ

จากหลักเกณฑ์ทางการคลัง ทำให้ในแต่ละปีเรามีข้อจำกัดทางการคลังเรื่องของการกู้เงิน อย่างปี 2556 วงเงินงบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ถ้าคำนวณจะพบว่า เพดานการกู้ชดเชยเพื่อขาดดุลงบประมาณมีกรอบวงเงินเกือบ 500,000 ล้านบาท วงที่รัฐบาลทำนโยบายขาดดุลมีประมาณ 300,000 ล้านบาท เราก็จะเห็นในส่วนของตัวเลขต่างๆ ว่าเราใช้นโยบายการคลังภายใต้หลักเกณฑ์อะไรบ้าง (ดูภาพประกอบข้างบน)

ในส่วนรัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินของรัฐ มีหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันหรือให้กู้ต่อกับรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงิน กรณีรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถานะเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชน ค้ำประกันได้ไม่เกิน 3 เท่าของเงินกองทุนรัฐวิสาหกิจนั้น แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินของรัฐให้ค้ำประกันได้ไม่เกิน 6 เท่าของเงินกองทุนสถาบันการเงินของภาครัฐนั้น

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังพยายามใช้หลักเกณฑ์ของสากล เช่น เกณฑ์ของอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 8.5% เกณฑ์สินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากไม่ต่ำกว่า 6% เหล่านี้พยายามทำตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้ดูแลธนาคารพาณิชย์

ในกรอบความยั่งยืนการคลัง กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี จะเป็นหลักเกณฑ์ที่เราพยายามดูแล และภาระหนี้ต่องบประมาณต้องไม่เกิน 15%

สุดท้าย เรื่องของประมาณการหนี้สาธารณะ เป็นภาพที่รัฐบาลวางแผนการกู้เงินในอนาคต ซึ่งจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และเรื่องของกู้เงินพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งอีก 2 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขที่เราคาดการณ์ในอนาคต 5-7 ปี กระทรวงการคลังมองภาพว่า ณ ปัจจุบันหนี้เราอยู่ประมาณ 45% ของจีดีพี เราจะไปข้างหน้า หนี้สาธารณะจะไปอยู่ที่เท่าไหร่

ประมาณการหนี้สาธารณะ
ประมาณการหนี้สาธารณะ

จากกราฟ (ข้างบน) เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไปข้างหน้า เพราะตัวเลขการลงทุน 2 โครงการใหญ่มีระยะเวลา 5-7 ปีในอนาคต โดยสำนักบริหารหนี้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังร่วมกันคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะจากปัจจุบันอยู่ที่ 45% ของจีดีพี และจะไปสูงสุดอยู่ที่ 50% ของจีดีพีในปี 2559

ถ้าติดตามข่าวก็จะได้ยินผู้บริหารกระทรวงการคลังบอกว่า เพดานกรอบความยั่งยืนทางการคลังอยู่ที่ 60% แต่เราพยายามบริหารจัดการไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% เพราะอย่างน้อยเราก็ยังมีกฎเกณฑ์การคลัง มีช่องที่จะเหลือไว้ในกรณีที่จะเกิดความไม่แน่นอน

วันนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศผันผวน ในอีก 5-7 ปีข้างหน้ามีความไม่แน่นอน แต่อย่างน้อยเราก็มีช่องที่จะทำนโยบายการคลังที่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า

ภาวิน : ตัวเลขหนี้สาธารณะที่มีการพยากรณ์ไปข้างหน้า รวมโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท กับ โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก็ยังอยู่ในกรอบ 50% ของจีดีพี ใช่ไหม

พิสิทธิ์ : เวลาเราไปชี้แจงกรรมาธิการก็ถูกถามมากว่า ทำไมเรากู้เงิน 350,000 ล้านบาท และ 2 ล้านล้านบาท ทำไมหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มจาก 44% เป็น 50% เอง ทั้งที่หากนำเงินกู้ 350,000 ล้านบาท กับ 2 ล้านล้านบาท มารวมกันก็น่าจะประมาณ 20% ของจีดีพี แต่ทำไมกู้แล้วหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเพียง 5%

เราพยายามชี้แจงว่าได้รวมไปแล้ว โดยเราได้ประสานงานกับกระทรวงคมนาคมว่ามีแผนการการคาดการณ์เบิกจ่ายในอีก 7 ปี เป็นอย่างไร เราก็เอาแผนการเบิกจ่ายที่คมนาคม เพราะเราจะกู้ตามแผนการสำเร็จของงาน กู้ตามความต้องการใช้เงิน ซึ่งไม่ได้กู้มาทีเดียว ดังนั้นเมื่อได้แผนการใช้เงินมาเราก็มาเติมใส่ในการประมาณการว่าโครงการน้ำจะกู้เท่าไหร่ โครงการ 2 ล้านล้านบาท จะเบิกเท่าไหร่ เราจะกู้ตามนั้น

การคาดการณ์หนี้สาธารณะดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐาน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP) จะขยายตัวปีละ 7.5% มาจากการขยายตัวเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP) 4.5% และเงินเฟ้อ 3% รวมกันเป็น 7.5%

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์

Real GDP 4.5% เป็นเรื่องที่อัตราการขยายตัวในระยะปานกลาง เราได้คุยกับไอเอ็มเอฟ และงานศึกษาอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าของไทยขยายตัวได้ประมาณ 5%

ประเด็นคือ ปัจจุบันมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท จากสมมติฐานที่เรามองในอนาคต ถ้า Nominal GDP จะขยายตัวได้ 7.5% รายได้ของคนไทยปีหนึ่งก็จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาท ถ้ารักษาระดับหนี้ไม่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลก็มีช่องที่จะกู้เงินได้อย่างน้อย 400,000 ล้านบาท เพื่อที่จะรักษาระดับหนี้ต่อจีดีพีไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง

จะเห็นว่า มองไปข้างหน้าแต่ละปี ภายใต้โครงการต่างๆ รัฐบาลจะกู้เงินประมาณปีละ 500,000 กว่าล้านบาท ถ้าตามกรณีฐาน (baseline) ที่คาดจะเห็นว่า เรื่องที่สำคัญคือ ตราบใดที่เศรษฐกิจยังขยายตัวก็ไม่น่าห่วง

ภาวิน : กรอบวินัยการคลังที่กำหนดหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 60% ไม่ใช่กฎหมาย เพราะฉะนั้นมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ แล้วมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงได้ยากง่ายขนาดไหน คือถึงเมื่อหนี้สาธารณะถึง 60% ของจีดีพี เราก็เปลี่ยนกรอบเพดานเป็น 70% ของจีดีพีได้ทันทีหรือไม่

พิสิทธิ์ : กรอบความยั่งยืนทางการคลังไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอนาคต ถ้าเราต้องกู้เงินเกินกรอบความยั่งยืน กระทรวงการคลังก็อาจต้องเสนอเรื่องเข้า ครม. เพื่อที่จะปรับเพดาน แต่ในอดีตกรอบความยั่งยืนทางการคลังจะอยู่ที่ 50% บ้าง 60% บ้าง เมื่อรัฐบาลมีแผนลงทุนระยะยาวก็เพิ่มเพดานกรอบความยั่งยืนเป็น 60% ซึ่งทำสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว

ภาวิน : ดร.พิพัฒน์เห็นตัวเลขแล้ว คิดว่ายังมีเรื่องอะไรที่คิดว่าต้องพิจารณาเพิ่มเกี่ยวกับตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทย

พิพัฒน์ : เห็นด้วยในระดับหนึ่งว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระดับกว่า 40% เป็นระดับที่บริหารจัดการได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ประเด็นที่จะชี้ให้เห็นคือ ตัวเลขที่เรากำลังดูกันอยู่นั้นนับภาระของรัฐบาลทั้งในปัจจุบันและอนาคตโดยมองครบถ้วนหรือไม่ ขอขยายความของ ดร.พิสิทธิ์ว่าทำไมเรานิยมดูหนี้ 50-60% ต่อจีดีพี เราดูกันทำไม มีปัจจัยอะไรบ้างที่มากระทบตัวเลขตัวนี้ และเราควรวัดกันอย่างไร

กรอบการดูตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็นกรอบที่ดูกันทั่วไป คือ ดูว่าระดับหนี้ที่เรามีในปัจจุบันเมื่อเทียบกับรายได้ที่เราทำได้แต่ละปีเป็นสักกี่เปอร์เซ็นต์ หรือกี่เท่าของรายได้ที่เรามี เพราะฉะนั้น ตัวเลขจะประกอบด้วยตัวหนี้ กับตัวจีดีพี

ปัจจัยที่จะกระทบการโตของหนี้มี 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ 1. ภาระการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปี บวกกับเงินกู้ที่จะมาลงทุนอะไรก็แล้วแต่ 2. ภาระดอกเบี้ย มาจากยอดหนี้คงค้างคูณด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เพราะฉะนั้น ทั้งสองตัวนี้ ถ้าเราควบคุมหนี้ที่เพิ่มขึ้น บวกกับต้นทุนดอกเบี้ยไม่ให้โตเกินกว่า Nominal GDP สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีก็จะไม่เพิ่มขึ้น การดูตรงนี้สำคัญมากในการวิเคราะห์ความยั่งยืนทางการคลัง

เพราะฉะนั้น มีปัจจัยที่กระทบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 4 ตัว เท่านั้น คือ หนี้ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่าย การขาดดุลรวมไปถึงการกู้เงินการลงทุนภาครัฐด้วย และการเจริญเติบโตของ Nominal GDP

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตได้ประมาณ 7% และต้นทุนการเงินอยู่ที่ประมาณ 4-5% เราก็ยังพอมีช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสามารถดูแลให้อยู่ในกรอบที่เราอยากจะให้เป็น

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (ถือไมค์)
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (ขวาสุด)

แต่มีข้อสังเกต 2 ประเด็น คือ 1. ตัวเลขหนี้สาธารณะเป็นตัวเลขที่เหมาะสมหรือไม่ในแง่การดูภาระของรัฐบาล สาเหตุที่ต้องมานั่งดูกรอบ ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การคลัง หรือกรอบความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

ประเด็นคือ เราต้องการมีกรอบเพื่อต้องการผูกมัดตัวเองว่า ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราอยากจะใช้เงินอะไรก็กู้มาและใช้ไป ถ้าเป็นเช่นนั้น หลังๆ พอมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็จะมีมาตรการใหม่เพิ่มขึ้นมา แล้วรู้สึกเหมือนว่าไม่มีต้นทุนเลย อยากจะกู้ก็กู้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ

การมีกรอบเพื่อบังคับตัวเองให้ทำงานอยู่ภายใต้กรอบให้ได้ สมมติว่า เรามีกรอบว่าจะกู้เงินได้ไม่เกินเท่านี้ ถ้าเราจะมีมาตรการหรือโครงการใหม่ๆ เข้า หมายความว่าเราต้องไปไล่โครงการอื่นๆ ออกเพื่อเอาเงินมาใช้โครงการใหม่ หรือไม่ก็หาแหล่งรายได้ใหม่มา เพื่อบริหารจัดการโครงการใหม่ให้อยู่ภายใต้กรอบ ซึ่งความเข้าใจตรงนี้สำคัญมาก คือการพยายามให้ข้อจำกัดมีความสำคัญ เพื่อให้มีการรับรู้ถึงต้นทุน จะได้บริหารจัดการต้นทุนโครงการใหม่ ไม่เช่นนั้นก็จะกู้มาและใช้โดยไม่คิดเลย

แต่ปัญหาคือ ถ้าทุกอย่างอยู่ในงบประมาณทั้งหมด อยู่ในหนี้สาธารณะทั้งหมดก็คงไม่เป็นไร เนื่องจากเรามีกรอบค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว เพราะว่าเราจะกู้เพื่อชำระงบประมาณไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย หนี้ต่อจีดีพีไม่เกินเท่าไร แต่มีข้อสังเกตว่า ระยะหลังเรามีความพยายามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่จะใช้เงินที่อยู่นอกงบประมาณ เอามาใช้เพิ่มขึ้น

แสดงว่าต้องการจะผ่อนคลายข้อจำกัดที่เราพยายามกดตัวเองเอาไว้ เราพยายามหนีไปทางอื่น ตัวอย่างการใช้เงินนอกงบประมาณ อาทิเช่น

1. สถาบันการเงินของรัฐ จะเห็นว่า การจำนำข้าว การอุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลยอมรับว่าเป็นภาระการคลังของรัฐ แต่แทนที่จะเป็นเงินงบประมาณโดยตรง กลับเป็นการใช้เงินกู้ โดยรัฐบาลกู้ส่วนหนึ่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บางส่วน ธ.ก.ส. ไปกู้และใช้เงินของรัฐชำระคืน ซึ่งสุดท้ายไม่รู้เลยว่าใช้เงินเท่าไรเป็นภาระของรัฐ เป็นข้อสังเกตที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

และปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หลายๆ แห่งโตขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นประมาณ 8-10% ของระบบสถาบันการเงินทั้งหมด แต่ปัจจุบันอยู่เกือบ 30% แสดงว่ารัฐบาลเข้าไปมีบทบาททั้งในแง่ของการระดมทุน การใช้เงิน 30% ของระบบธนาคารพาณิชย์ถูกรัฐควบคุมได้ ก็เป็นขอสังเกตที่อาจต้องระมัดระวัง และทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นก็จะมีผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ได้ อย่างเมื่อ ธ.ก.ส. มีปัญหาสภาพคล่องก็จะไปดึงเงินจากธนาคารพาณิชย์มาใช้

2. ในแง่ของรัฐวิสาหกิจและการลงทุน ต้องยอมรับว่าการลงทุนบางอย่างมีการลงทุนของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น แอร์พอร์ทเรลลิงค์ ซึ่งใช้เงินของรัฐ และการลงทุนอื่นๆ ที่รัฐใช้ผ่านรัฐวิสาหกิจซึ่งปรากฏอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว แต่ยังไม่นับรวมภาระของรัฐที่ต้องอุดหนุนเพิ่มเติม หนี้ตัวนี้ป็นหนี้ที่ไปกู้มาจริงๆ แต่ไม่ได้บอกว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจนั้นๆ ขาดทุนเพิ่มเติม ถ้ารัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนเพิ่ม จะมีภาระอีกเท่าไร ตัวนี้ยังไม่ได้ถูกนับรวม

3. หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีความสามารถที่จะกู้มาได้ และมีความสามารถที่จะใช้ได้บ้าง แต่ตัวเลขตัวนี้ยังเป็นความท้าทายด้านการคลังในการตรวจดูว่า ภาระท้องถิ่นไปกู้เป็นเท่าไร เพราะว่าการควบคุมและการบริหารจัดการอยู่คนละกระทรวงกัน

ตัวสุดท้ายคือ กองทุนนอกงบประมาณทั้งหลาย ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีฐานะต่างกันไป เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมัน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ฯลฯ เป็นกองทุนที่สถานการณ์ต่างกัน ความจำเป็นที่รัฐจะต้องอุดหนุนต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วเป็นภาระที่รัฐอาจจะต้องรับไปในปัจจุบัน

ภาพจากซ้ายไปขวา ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล,ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์,ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (ถือไมค์) ,ดร.วิรไท สันติประภพ และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ
ภาพจากซ้ายไปขวา ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล,ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์,ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ,
ดร.วิรไท สันติประภพ และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

เพราะฉะนั้น ในแง่ตัวเลขหนี้สาธารณะก็มีอีกหลายตัวที่อาจจะไม่ได้นับรวมถึงภาระของรัฐทั้งหมดนั่นคือประเด็นแรก

ประเด็นที่สองที่จะชี้คือ หนี้สาธารณะที่เราเห็นในปัจจุบันคือหนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังมีภาระหรือมีความเสี่ยงต่อฐานะของรัฐอีก 3 ประเภท ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต และหนี้ที่เห็นในระดับ 44% ของจีดีพียังไม่ได้บอกว่าเรามีความสามารถที่จะเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร

กลุ่มที่ 1 คือภาระที่ยังไม่ได้เกิด แต่เรารู้ว่าเกิดแน่ๆ เช่น กองทุนประกันสังคมที่เรามีผลประโยชน์ให้กับผู้เกษียณอายุ และเรารู้ว่าสถานการณ์ประชากรไทยจะแก่ขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นผลประโยชน์ที่ให้กับคนที่เกษียณอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนวัยทำงานจะลดลง ฉะนั้นรายได้หรือเงินสมทบเข้ากองทุนจะลดลงเรื่อยๆ

มีการประมาณการว่า อีก 20 ปี กองทุนประกันสังคมจะเริ่มขาดทุน และ 30 ปี กองทุนจะติดลบ ฉะนั้น เรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ตรงหน้า

ยกตัวอย่าง ตัวเลขนี้ในระยะหลังมีคนให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเทศที่เผชิญสถานการณ์ใกล้เคียงกับเรา เช่น สหรัฐฯ ปัจจุบันมีหนี้ประมาณ 80-100% ของจีดีพี มีการประมาณการกันว่าถ้ารวมมูลค่าปัจจุบันของภาระระบบสวัสดิการสังคมที่ไม่ได้มีการสมทบทั้งหมด ตัวเลขหนี้ของสหรัฐฯ จะสูงถึง 550% ของจีดีพี คือจาก 100% เพิ่มเป็น 550%

แต่ของเมืองไทยผมไม่แน่ใจเพราะยังไม่ได้ดูตัวเลข แล้วไม่รู้ว่ามีคนประมาณการหรือไม่ แต่ว่าระเบิดเวลาอย่างนี้เรารู้ว่าจะเกิดแต่ยังไม่เกิด แล้วหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 44% มากหรือน้อย เราคิดถึงข้างหน้ากันหรือยัง

นอกจากนี้ ทางด้านต้นทุนในการประกันสุขภาพ ตัวเลขในการเบิกจ่าย หรือค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพทั้งข้าราชการ ทั้งสวัสดิการของระบบประกันสังคม เรามีเพียงพอหรือไม่ นี่เป็นการพูดถึงค่าใช้จ่ายในสถานการณ์ปัจจุบันที่ให้อยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าสวัสดิการที่เราให้ในปัจจุบันนั้นเหมาะสมเพียงพอหรือไม่กับสถานการณ์ที่เรากำลังจะเจอ และเราดูแลเฉพาะคนในกลุ่มประกันสังคมเท่านั้น ยังไม่ได้บอกว่าในอนาคตถ้าเราอยากจะดูแลคนเกษียณอายุให้ดีกว่านี้ ต้นทุนก็จะสูงขึ้น ตรงนี้เรามองกันครบหรือยัง

กลุ่มที่ 2 คือ ภาระที่ยังไม่เกิด และไม่รู้ว่าจะเกิดหรือเปล่าและจะเป็นเท่าไร ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ความมีเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มทุกรอบ ตรงนี้ภาระที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นเท่าไร ไม่มีใครรู้ แล้วก็ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้หวังว่าจะเกิดแต่เราก็ต้องระมัดระวัง

ตัวอย่างอีกประเทศหนึ่งคือ ไอร์แลนด์ ปี 2007 ก่อนที่จะมีวิกฤติ ไอร์แลนด์มีหนี้ต่อจีดีพีอยู่ 25% หลังจากเขาผ่านการเผชิญวิกฤติสถาบันการเงินมามากมาย ตอนนี้เขามีหนี้ 115% ของจีดีพี คือ 3 ปีผ่านไปหนี้เพิ่มขึ้นมหาศาลเพราะต้นทุนที่ต้องเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินที่จะล้มสูงมาก

เราเตรียมพร้อมสำหรับความเสี่ยงเหล่านั้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

กลุ่มสุดท้าย ความเสี่ยงในแง่ของเศรษฐกิจมหภาค อย่างที่ ดร.พิสิทธิ์ว่าไว้ ถ้าเรามองแล้วในกรณีฐานหรือในกรณีที่เราคาดการณ์หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 50% ในอีก 7 ปีข้างหน้า บนสมมติฐานอัตราการขยายตัวของจีดีพี ณ ราคาปัจจุบันที่ 7.5% ถ้ามีความเสี่ยงมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ตัวเลขคาดการณ์หนี้ก็จะเปลี่ยนไป

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ฉะนั้น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นที่จะต้องควรดูด้วยนอกจากดูกรณีฐานอย่างเดียวก็คือ เรามีกันชนหรือของกองเอาไว้เป็นทุนเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้หรือไม่

นี่คือสิ่งที่เราควรจะมอง นี่คือสิ่งที่เราควรจะห่วงในอนาคตคืออะไร ถึงเราจะมองว่าหนี้ในปัจจุบันจะอยู่ในสถานะที่บริหารจัดการได้

ภาวิน : เรื่องเหล่านี้กับหนี้สาธารณะนั้นเกี่ยวอะไรกับ Fiscal cliff มันเหมือนหรือต่างในสหรัฐฯ อย่างไร

พิพัฒน์ : Fiscal cliff ที่พูดกันในสหรัฐฯ ต่างจากที่เราเข้าใจหรือคิดว่ามันเป็น Fiscal cliff ในสหรัฐฯ ที่เกิดเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา คือ เกิดในกรณีที่บังเอิญว่าในสหรัฐฯ จำเป็นต้องขึ้นภาษีและลดรายจ่ายบางอย่างพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน เป็นมูลค่าประมาณกว่า 600,000 ล้านเหรียญ

สาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะเขาพยายามจะมีวินัยทางการคลัง เพราะฉะนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่ลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเขาจะบอกเสมอว่า เขาลดภาษีไปเขาจะต้องอัดรายจ่ายประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หรือจะขึ้นภาษีกลับมาในระยะเวลาเท่าไหร่

ตัวอย่างเช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดกันตั้งแต่สมัยบุช ทุกครั้งจะมีการบอกว่าแล้วจะขึ้นภาษีเมื่อไหร่ พอสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีขึ้นเขาก็เลื่อนไปเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยก็มีการบอกว่า การลดภาษีนั้นจะถูกไฟแนนซ์ด้วยอะไร คือลดภาษีลงก็ต้องตัดรายจ่ายงบประมาณลงด้วย หรือไม่ก็ต้องขึ้นภาษีอื่นๆ หรือขึ้นภาษีเดียวกันกลับมาในอนาคต

ฉะนั้น หน้าผาการคลังที่เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ผมเรียกว่าเป็นหน้าผาที่เขาสร้างขึ้นเอง เพื่อที่จะมีวินัยทางการคลัง แต่หน้าผาที่เราระวังกันอยู่ในตอนนี้คือว่า กลัวว่าเดินๆ อยู่แล้วจะตกหลุมโดยไม่รู้ตัว เป็นความเสี่ยงที่อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันเราไม่มีปัญหาเหมือนสหรัฐฯ พอเรามีโครงการใหม่ๆ เราไฟแนนซ์ด้วยอะไร เราไม่เคยบอก ประกอบกับเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ในเชิงโครงสร้างเราลดรายได้เพิ่มรายจ่ายตลอดเวลา เหมือนกับเราสร้างภาระมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนี้ต้องระมัดระวัง เพราะถึงแม้ตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 40% เรายังมั่นใจอยู่ แต่ความเสี่ยงยังมีในอนาคต

ภาวิน : ดร.พิพัฒน์ให้กรอบโดยเทียบหนี้กับจีดีพี ถ้าหนี้โตช้ากว่าจีดีพีไม่มีปัญหา แต่ว่าก็มีความกังวลต่อ 3 ปัจจัยหลักๆ คือ ภาระที่ยังไม่เกิดแต่จะเกิดแน่ๆ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสุขภาพ ส่วนภาระที่ยังไม่เกิดและไม่รู้ว่าจะเกิดหรือเปล่า เช่น สถาบันการเงินล้ม หรือความเสี่ยงเรื่องอื่นๆ และความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจมหภาค ถ้าเกิดจีดีพีไม่โตตามเป้า จะเกิดภาระที่เกินกว่ากำลังเราหรือเปล่า ทาง ดร.วิรไทจะมีประเด็นอะไรที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องหนี้สาธารณะของไทยบ้าง

วิรไท : Fiscal cliff ณ วันนี้ผมเห็นด้วยว่าเรายังไม่ได้เผชิญกับหน้าผาการคลังในลักษณะที่ว่าต้องปรับนโยบายการคลังอย่างรุนแรง คือยังไม่ได้เดินเข้าไปชนหน้าผาแล้วเดินต่อไม่ได้ แต่ถ้ามองไปในอนาคตเราก็อาจเผชิญกับหน้าผาการคลังได้ แล้วเราจะเผชิญกับหน้าผาการคลังได้ก็ต่อเมื่อเราเดินลงเหวไปเรื่อยๆ

เราค่อยๆ เดินลงเหวไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเราไปเผชิญหน้าผาอยู่ข้างหน้า

วันนี้คิดว่ามีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เราค่อยๆ เดินลงเหวไปเรื่อยๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว และถ้าเราไม่หาทางที่จะหยุดแล้วเดินกลับขึ้นมา อาจจะทำให้เราเจอหน้าผาได้ในอนาคต คิดว่ามีประมาณ 5 เรื่องที่สำคัญที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เราเดินลงเหวไปเรื่อยๆ

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

ข้อแรก คือ เราติดอยู่ในกับดักของนโยบายประชานิยม เรื่องนี้สำคัญมาก ไม่ว่ารัฐบาลไหนในช่วง 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมาเราเห็นการแข่งขันกันด้วยนโยบายประชานิยมเพิ่มมากขึ้น เราเห็นระบอบการปกครองของเราเป็นประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเฉพาะชนะการการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยที่อิงกับการชนะการเลือกตั้งเป็นหลัก ฉะนั้น การนำเสนอนโยบายที่เป็นประชานิยมในช่วงก่อนเลือกตั้งก็จะแข่งขันมากขึ้น รวมไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ว่าจะเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในรอบที่ผ่านมา เราก็เห็นลักษณะการนำเสนอนโยบายหลายอย่างที่คล้ายกับประชานิยมมากขึ้น

การแข่งขันกันด้วยนโยบายประชานิยมทำให้นโยบายของรัฐบาลได้เกินไปจากสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ถ้ามองประชานิยมในช่วงต้นๆ จะเป็นประชานิยมที่พยายามตอบโจทย์สวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น เรียนฟรี 30 บาทรักษาทุกโรค แต่วันนี้กลายเป็นนโยบายที่สัญญาว่าจะให้ สิ่งที่รัฐบาลสัญญาว่าจะให้เมื่อชนะการเลือกตั้งนั้นเกินความต้องการพื้นฐานของประชาชนไปแล้ว

เราก็เห็นหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นรถคันแรก พักหนี้ดี จำนำข้าวทุกเม็ด พวกนี้เป็นโยบายที่อาจจะเรียกว่าเป็นนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบมากกว่าเป็นประชานิยม คือ ไม่ได้ตอบโจทย์ของความต้องการพื้นฐานของประชาชน

การแข่งขันกันในลักษณะแบบนี้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการแข่งขันลักษณะแบบนี้มากขึ้นเรื่อย อันหนึ่งที่เราเห็นคือ เลิกยาก บางครั้งรัฐบาลมีความตั้งใจจะเลิก แต่เลิกไม่ได้ เพราะว่าคนมีความคาดหวังไว้แล้วและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง

มักจะมีความเสียหายสูงๆ ก่อนถึงจะเลิกได้ ความเสียหายสูงๆ ก็คือ ความเสียหายบานปลายหรือเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และที่สำคัญ งบประชานิยมพวกนี้เป็นงบที่ไปเพิ่มงบประมาณที่เรียกว่า “รายจ่ายประจำของงบประมาณ” เป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้รายจ่ายงบลงทุนของประเทศซึ่งจำเป็นในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ

ในวันนี้งบรายจ่ายประจำงบประมาณอยู่ประมาณ 80% เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คิดว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อยู่ประมาณ 70% หรือไม่ถึง 70% แต่วันนี้ขึ้นมาถึง 80% ของงบประมาณประจำปี เราจึงเห็นความพยายามหรือความตั้งใจของรัฐบาลที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ลงทุนไม่ได้ เพราะว่าติดกับภาระด้านรายจ่ายประจำ แล้วต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษกัน อันนี้เป็นปัจจัยแรกที่ทำให้คล้ายกับว่าเราเดินลงเหวเรื่อยๆ จนอาจจะเจอหน้าผาได้ ก็คือ กับดักประชานิยม

ข้อสอง ที่ทำให้รู้สึกเรากำลังเดินลงเขาไปเรื่อยๆ ก็คือความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทยและคนไทยโดยรวม หรือความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม ถ้าดูเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดูจะลดลงที่สุดหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดโดยเปรียบเทียบ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเรื่องสำคัญๆ แทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ประเทศรอบๆ บ้านเราเพิ่มขึ้นเร็วมาก ในความเร็วที่เร็วกว่าเรามาก

เวลาที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะของธุรกิจของคนไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น ในยุคที่มีการแข่งขันเสรี ในยุคโลกาภิวัตน์ ก็ไม่ประหลาดใจที่เห็นธุรกิจไทยไปตั้งอยู่ต่างประเทศมากขึ้น แรงงานไทยแพงแล้วก็ไม่มีสิทธิภาพก็ไปตั้งที่ที่แรงงานถูก แล้วก็สามารถทำมาค้าขายกับไทยได้เหมือนเดิมภายใต้ข้อตกลงทางการค้าเสรีต่างๆ ธุรกิจต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะมาตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อขายคนไทย ก็ไม่จำเป็น ไปตั้งโรงงานอยู่ในมาเลเซีย ลาว หรือเขมรก็ได้ แล้วก็ส่งมาขายให้คนไทยภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

ที่ตั้งของธุรกิจนั้นสำคัญ เพราะเป็นฐานของภาษี เราคุยกันเรื่อง Fiscal cliff ถ้าธุรกิจดีๆ ธุรกิจเก่งๆ ตัดสินใจไปอยู่ต่างประเทศ ก็หมายความว่าฐานภาษีหลักๆ ที่จะเป็นรายได้ที่รัฐบาลเก็บก็จะน้อยลง

เพราะฉะนั้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญและเป็นวาระระยะยาวที่ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยได้มีการคิดเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราติดกับดักประชานิยม เราติดการคิดแต่เรื่องสั้นๆ เพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในเรื่องฮาร์ดแวร์ เช่น แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากเช่น การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เรื่องพวกนี้เราไม่ค่อยได้ยินการพูดถึงเท่าไหร่เลยในช่วงที่ผ่านมา

เสวนา สุมหัวคิด fiscaj cliff หนี้รัฐบาลไทย

ที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนแข่งขันได้อย่างเต็มที่และอย่างเป็นธรรมด้วย ดร.พิพัฒน์ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าวันนี้มันดูจะสวนทางกัน คือภาครัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจ ที่ควรจะเป็นธุรกิจของภาคเอกชนที่ภาคเอกชนเขาทำได้ดีอยู่แล้วใน 2 อุตสาหกรรม ที่ชัดเจน คือ

อุตสาหกรรมการเงิน ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในระบบการเงิน ไม่ใช่ธนาคารใหญ่เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กลายเป็นวันนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เวลาออกแคมเปญอะไรมาธนาคารใหญ่ต้องรีบออกแคมเปญมาแข่ง แล้วก็ได้สิทธิประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเรื่องภาษี การไม่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น เรื่องของการไม่ต้องจ่ายเงินสบทบ FIDF (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) นี้ก็เป็นการแข่งขันที่ดูเหมือนไม่เป็นธรรมและภาครัฐกลายเป็นผู้เล่นมีบทบาทมากขึ้น

อีกอุตสาหกรรมคือ ข้าว ที่ภาครัฐเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น

แม้กระทั่งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 300 บาท อันนี้มีผลต่อการทำธุรกิจของภาคธุรกิจในพื้นที่ห่างไกล เมื่อก่อนคนยอมไปตั้งโรงงานไกลๆ เพราะคิดว่าค่าแรงจะถูก ยอมเอาค่าแรงที่ถูกมาชดเชยกับค่าส่งขนที่แพงขึ้น แต่พอวันนี้มีแคมเปญที่อาจจะมีผลประโยชน์เรื่องการเมืองเป็นหลัก ทำให้ค่าแรงไกลแค่ไหนก็แพงเท่ากับค่าแรงในเมืองที่อยู่ใกล้ท่าเรือ ใกล้กรุงเทพฯ ใกล้ตลาดสำคัญ ก็กระทบกับการธุรกิจในที่ห่างไกล

เป็นนโยบายไม่เอื้อต่อการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชน ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนและเป็นนโยบายที่ทำให้ภาครัฐเข้ามาเป็นคู่แข่งกับเอกชน ผมคิดว่าอันนี้เป็นปัจจัยที่ 2 ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราเดินแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะเดินลงเขา แล้วถ้าเราเดินลงเขาวันหนึ่งเราก็จะเจอหน้าผา

ข้อสาม ที่ทำให้รู้สึกว่าเราเดินลงเขา คือ เราไม่ค่อยได้มองว่ามีระเบิดเวลาอะไรบ้างที่อยู่ข้างหน้า ที่สร้างภาระผูกพันล่วงหน้า ประเด็นที่สำคัญคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราต้องพูดถึงเรื่องนี้กันมากกว่าวันนี้ ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่การเตรียมพร้อมที่จะรองรับการเข้าไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดูเหมือนว่าจะน้อยมาก รายจ่ายภาครัฐฐานนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน

อย่างที่ ดร.พิพัฒน์ได้กล่าวว่า รายจ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แล้วการที่รัฐบาลมีนโยบายการดูแลสุขภาพ ในลักษณะที่เป็นราคาเดียว ดูแลทุกอย่าง แล้วสิทธิประโยชน์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง 30 บาท ทั้งประกันสังคม อันนั้นจะเป็นภาระมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนแก่ที่จะอายุยืนขึ้นก็จะเป็นปัญหาของประเทศ ไม่ได้กระทบแค่นั้นรายจ่ายภาครัฐเท่านั้น รายจ่ายภาคครัวเรือนเองก็จะมีปัญหาเช่นกัน เพราะถ้าดูโครงสร้างประชากรของประเทศ คนวัยทำงานต้องดูแลคนแก่จำนวนมากขึ้น เราก็ทราบกันอยู่ เวลาที่มีคนแก่คนหนึ่งเจ็บป่วยในบ้านของเรา มันกระทบต่อการออมของเรามากน้อยแค่ไหน กระทบกับการใช้จ่ายของเรามากน้อยแค่ไหน

ฉะนั้น เมื่อเราเข้าไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ความคาดหวังว่าการบริโภคของภาคครัวเรือนจะเป็นตัวปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ เครื่องยนต์ตัวนี้จะมีตัวถ่วง ตัวดึงขึ้นมาทันที เราไม่สามารถคาดหวังให้การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาคครัวเรือน จะเป็นกลไกที่สำคัญได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในภาวะที่เราเข้าสู่สังคมคนแก่

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์(ซ้าย),ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (กลาง)และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ(ขวา)
ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ (ซ้าย), ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย (กลาง) และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ (ขวา)

ในภาคธุรกิจเช่นเดียวกัน การแข่งขันในภาคธุรกิจก็ถูกกระทบจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะว่าแรงงานจะมีอายุเพิ่มมากขึ้น เรากำลังคุยกันว่าอาจจะต้องมีการขยายระยะเวลาการเกษียณ ถ้ามีคนทำงานในวัย 60 ขึ้นไปมากๆ ความสามารถในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ลดลง ความสามารถในการปรับตัวก็ลดลง ในขณะที่ค่าแรงของเราสูงขึ้นเรื่อยๆ

ฉะนั้น เรื่องสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เหมือนดึงเราลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมให้ดีพอ และเราอาจไปเจอหน้าผาได้ในอนาคต

เรื่องที่สี่ อาจจะทำให้เราเดินลงหน้าเขาและอาจเจอหน้าผาการคลังได้ คือ ความสามารถและประสิทธิภาพของผู้นำทางของเรา ว่าผู้นำทางของเราพาเราเดินลงเขาไปเรื่อยๆ หรือไม่ ผู้นำทางในที่นี้ก็คือผู้มีอำนาจรัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ทั้งในส่วนที่เป็นการเมืองและส่วนที่เป็นข้าราชการ ที่จะต้องมองไกลๆ มีความรู้บนทางที่เดินและกล้าที่จะบอกว่าต้องเปลี่ยนทางแล้วนะ เมื่อทางที่เดินเป็นทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่มองช่วงสั้นๆ

สำหรับนักการเมืองก็ทราบกันดีว่า เป็นปัญหาทุกประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่นักการเมืองจะให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้ามากกว่า ฉะนั้นการมองก็ไม่ได้มองไกลมาก แต่วันนี้เราเริ่มเห็นบทบาทข้าราชการที่มองไกลก็ดูจะลดทอนลง อาจจะเพราะว่าวาระเรื่องเศรษฐกิจของประเทศเป็นวาระช่วงสั้นๆ เป็นส่วนใหญ่ เป็นการให้ความสำคัญด้านมาตรการเศรษฐกิจมากกว่านโยบายเศรษฐกิจ

เราไม่ค่อยได้ยินเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ เราได้ยินเรื่องมาตรการเศรษฐกิจออกมากันค่อนข้างมาก แล้วก็มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากลไกภาครัฐไม่สามารถที่จะเป็นตัวที่จะชี้นำ นำทางของเราว่าทางที่เดินที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นแม้กระทั่งสภาหอการค้าลุกขึ้นมาทำแผนพัฒนาประเทศฝั่งภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่มั่นใจแผนพัฒนาภาคทางการ ว่าจะตอบโจทย์ภาคเอกชนมากน้อยแค่ไหน กับการคอร์รัปชันที่มากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เราตื่นตัวขึ้นมาก แต่เราก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเราจะหยุดปัญหาคอรัปชันที่เพิ่มขึ้นมากได้อย่างไร เราเห็นการคอร์รัปชันที่เข้าไปทำลายทั้งระบบราชการ และทำลายความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชน

เราเห็นความพยายามที่อาจจะเรียกว่า sideline ข้าราชการระดับสูงที่มีความสามารถหลายคนไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะได้อยู่ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ แต่ข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญก็ไม่แสดงผลงานหรือไม่เคยแสดงผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ให้สังคมเห็นว่าเป็นคนที่มีความสามารถ โดยเฉพาะในเรื่องกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เราเห็นการแทรกแซงทางการเมืองในรัฐวิสาหกิจที่มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนผู้บริหาร การหาผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่ได้จนทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ต้องแข่งขันมีคุณภาพตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งเหล่านั้นจะเป็นปัจจัยเป็นปัญหาที่สำคัญในอนาคต เพราะอย่าลืมว่ารัฐบาลไปค้ำประกันรัฐวิสาหกิจไว้มากและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีภาระผูกพันไว้ในอนาคตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาระที่เกี่ยวกับทางด้านกฎหมาย คือภาระที่มาจากการฟ้องร้องทางกฎหมาย ข้อพิพาททางกฎหมาย มีรัฐวิสาหกิจหลายอย่างที่อาจเป็นระเบิดเวลาในอนาคตได้

ฉะนั้น คิดว่าเรื่องประสิทธิภาพของระบบราชการและการมองไกล การคิดเรื่องวิสัยทัศน์ การคิดเรื่องนโยบายระยะยาวของภาครัฐของผู้มีอำนาจรัฐที่ดูจะน้อยลง

สุดท้ายที่ทำให้เชื่อว่า คล้ายเราเดินลงเขาไปเรื่อยๆ คือ เราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันเท่าไหร่นัก ภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าในภาคเอกชนเรียกว่าการบริหารความเสี่ยง เราไม่ค่อยมีการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของภาครัฐ

นักเศรษฐศาสตร์เราจะติดกับดักของอันหนึ่งคือการพยากรณ์หรือการประมาณการในลักษณะที่เป็น baseline projection ทุกคนก็ทำเรื่องนี้ ประมาณการจีดีพี nominal GDP โต 7-7.5% ก็ดูเชื่อได้อยู่ แต่ตอนก่อนปี 2540 เราก็เชื่อแบบนี้ เราประมาณการว่าเมืองไทยจะไม่เหมือนเม็กซิโก เราก็โตของเราได้ เพราะเราคิดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่มีปัญหา ถ้าเศรษฐกิจยังโตได้เท่าเดิม ใกล้ๆ เดิม หรือน้อยกว่าเดิมนิดหน่อย คือทุกคนคิดแบบ baseline projection แล้วเวลาคิดถึงกรณีแย่ที่สุดก็ปรับลงนิดหน่อย กรณีฐานก็ปรับขึ้นนิดหน่อย แต่ในโลกที่มีความผันผวนสูงนั้น อาจจะต้องคิดในเรื่องของการพยากรณ์อีกแบบหนึ่ง คือลักษณะที่เรียกว่า scenario analysis (การวิเคราะห์สถานการณ์) ในหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมัน จะใช้คิดในเรื่องแบบนี้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยคุ้นกันเท่าไหร่

scenario analysis คือพยายามมองว่าปรากฏการณ์อะไรบ้างที่จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นลูกโซ่ได้และทำให้เราไปอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนจาก scenario หนึ่งไปสู่ scenario ที่สอง ที่สาม แล้วมัจะเกิดผลรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

วันนี้ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่ไหลลงเรื่อยๆ และทุกครั้งเราก็จะได้ยินว่า เพราะสถานการณ์จริงนั้นแย่กว่าที่คาดไว้ เงินที่เตรียมไว้ให้กรีซรอบแรกจึงไม่พอ รอบที่สองก็ไม่พอ เพราะไปติดกับการคิดและการช่วยเหลือจากการประมาณการในลักษณะที่เป็นกรณีฐาน และไม่มีภูมิคุ้มกันไว้มากพอ

ในเศรษฐกิจโลกปัจจุบันเราต้องเจอความผันผวนขึ้นเรื่อยๆ หุ้นขึ้นลงวันละ 50 จุด ดูเหมือนจะเป็นความปกติใหม่ของเรา อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลกระโดดขึ้น 0.3–0.5% ภายใน 1 อาทิตย์ ในภาคเศรษฐกิจจริงก็ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วเราไม่เคยได้ยินคำว่าสึนามิ แต่ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่าสึนามิทุกปี ต้องมีเกิดที่ไหนสักแห่งบนโลก บางปีก็ 2-3 ครั้ง เราไม่เคยน้ำท่วมแบบนี้ และโลกร้อนก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากที่เราไม่ได้มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเท่าไหร่นัก

โรคที่มาจากโลกร้อนจะเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโรคของคน โรคของสัตว์ โรคของพืช เราเป็นประเทศที่หนีไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ และเป็นประเทศที่อิงกับเรื่องเกษตรค่อนข้างมาก คนไทยส่วนมากอยู่ในภาคของเกษตรกรรม ก็เป็นความเสี่ยงที่สำคัญเช่นกัน ความเสี่ยงเหล่านี้จะกระทบรายได้ของภาครัฐในอนาคตได้ จะกระทบรายจ่าย ภาระของของภาครัฐในอนาคตได้อย่างรวดเร็วและผันผวนมาก

ไม่ได้มีเจตนาให้เรากังวลจนเกินควรนะครับ แต่ผมคิดว่าเรื่องการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญ การบริหารความเสี่ยงของประเทศและการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ

เป็น 5 ประเด็น ที่คิดว่าถ้าเราเดินทางไปอย่างนี้ ผมคิดว่าเรากำลังเดินลงเหวไป ซึ่งอาจทำให้เราเจอหน้าผาในอนาคตได้ แม้ว่าวันนี้เราจะยังไม่มีหน้าผาก็ตาม

ภาวิน : มาที่ ดร.สมประวิณ เชี่ยวชาญทางการด้านเศรษฐกิจมหภาค น่าจะมีประเด็นเรื่องความเสี่ยงเพิ่มเติม

สมประวิณ : จริงๆ แล้วผมจะมาพูดเรื่องยาวๆ จะผูกโยงกับเรื่องที่ทุกท่านพูดไปแล้ว ดร.พิสิทธิ์ได้โชว์ตัวเลขให้เห็นแล้วว่าตอนนี้หนี้สาธารณะเป็นอย่างไร และมองไปข้างเป็นอย่างไร ได้ตั้งประเด็นให้เรามาพูดต่อกันเยอะ และ ดร.พิพัฒน์ได้แตะบางประเด็นที่ผมจะพูด และผมชอบมากที่ ดร.วิรไทได้บอกว่าเรากำลังเดินลงเหว เป็นอนุมานที่ผมคิดว่า “ใช่เลย” พอฟังก็คิดว่าเรากำลังเดินลงอยู่จริงๆ ประเด็นที่ผมเตรียมมา จริงๆ ก็คล้ายกับวิทยากรท่านอื่น และอาจจะเสริมกันไป

ก่อนที่จะมองไปข้างหน้า ขอมองย้อนไปในอดีตว่าเราเห็นอะไรบ้าง มีอยู่ 4 ประเด็นที่เราเห็น

1. เราเรียนรู้จากกลุ่มประเทศยุโรป หรือพวกที่มีวิกฤติเศรษฐกิจทั้งหลาย เรารู้ว่าเมื่อไรก็ตามที่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจในทางไม่ดีเกิดขึ้น หลังจากนั้นหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นมหาศาล จากภาระรายจ่ายของรัฐที่ไม่สามารถลดลงได้ หลายส่วน เช่น สวัสดิการ และรายรับที่อาจจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง มีรายจ่ายที่ต้องเข้าไปอุ้มมากมาย

นั่นคือข้อสังเกตที่ 1 เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากช็อคที่เกิดขึ้นนอกประเทศ ไม่ใช่ในประเทศที่เราทำผิดเอง คนอื่นทำพลาด แต่เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ มันกระทบเรา และเราต้องใช้เงินมหาศาล หนี้สาธารณะกระโดดขึ้นได้

2. หากย้อนกลับไปดูความเก่งของคนไทย เมื่อ 40 ปี ช่วง 1960 จีดีพีที่แท้จริงโต 8% สูงมาก จากนั้นในปี 1970-1980 โตประมาณ 6% และในช่วงทศวรรษ 2000 โตปีละ 4% จะเห็นได้ว่าเหมือนลงบันได อาจจะลงเหวหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่แสดงว่าความสามารถในการผลิตของประเทศไทยเก่งน้อยลง

นอกจากนี้ รายได้ของรัฐก็เหมือนกัน อย่าลืมว่าภาษีผูกกับกิจกรรมเศรษฐกิจหลายอย่าง ไม่ว่าภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ผูกกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ว่าความสามารถในการให้มีรายได้ของรัฐในอนาคตมันถูกจำกัดแล้ว หากเราไม่ขึ้นภาษี ก็เพิ่มยากจากโครงสร้างของประเทศเราแบบนี้ ก็ทำให้มีข้อจำกัดในการเพิ่มรายได้ของประเทศ วิ่งตามไม่ทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

3. การใช้จ่ายภาครัฐส่วนใหญ่ ย้อนมองกลับไปจะพบว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือใช้เงินหนักๆ เอามากระตุ้นการบริโภค สิ่งเหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์ชอบในระยะสั้นเท่านั้น ไม่ชอบในระยะยาว เพราะเวลากระตุ้นเศรษฐกิจโดยการบริโภค เราไปกู้เงินในอนาคตเอามาบริโภค ใช้แล้วหมดไป สิ่งที่ถูกต้องคือ ถ้ากู้อนาคตมาแล้วคุณทำอย่างไรก็ได้ให้คุณรวยขึ้นในอนาคต คุณถึงจะมีเงินใช้ในอนาคต

เพราะฉะนั้น การกู้มาบริโภคไม่ได้ทำให้คุณรวยขึ้นในอนาคต แล้วคุณจะเอาเงินไปคืนในอนาคตได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นปัญหา เราเห็นเรื่องประชานิยมมีเยอะว่ากู้มาเพื่อบริโภค ไม่ได้ทำให้เรารวยขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่จะเป็นข้อจำกัดของรัฐ เป็นภาระที่สะสมมา ที่เราเห็นในปัจจุบันนี้เกิดจากสิ่งที่ไม่ทำให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล

4. ขอขยายความเรื่องโครงสร้างประชากร ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาค สิ่งที่ผมกลัวที่สุดในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 10% ตั้งแต่ปี 2547 แล้ว แล้วอีก 17 ปีจากนี้ไปสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) คาดว่า 1 ใน 4 จะเป็นผู้สูงอายุ เดินมา 4 คน 1 คนอายุเกิน 60 ปี ถามว่าเยอะแค่ไหน ระดับความรุนแรงของสังคมผู้สูงอายุของไทยเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ ซึ่งกระทบอะไรมากมาย

ดร.สมประวิณ มันปรเสริฐ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ผมมีโอกาสไปช่วยมูลนิธิสถาบันวิจัยผู้สูงอายุ ปรากฏว่ามีความเป็นไปได้ที่การเติบโตของจีดีพีเราในอนาคตจะหายไป 1% ซึ่งมหาศาลในระยะยาว และไปผูกกับภาครัฐอีก เรามีสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น รายได้จากภาษีบุคคลธรรมดา รัฐไม่ได้เก็บ การมีสวัสดิการเยอะเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องหารายได้เพิ่ม สวัสดิการเหล่านี้เป็นรายจ่ายของรัฐ ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้เกิด ผู้หญิง 80 กว่าปี ผู้ชาย 70 กว่าปี

พอมองไปในอดีตเราจะเห็นว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากประเทศเพื่อนบ้านเรา ยุโรป ตัวเราเองในอดีต คราวนี้เรามองไปในอนาคต ผมอยากมองยาวๆ 30ปี 50ปี เพราะประเทศไม่ได้อยู่ 4 ปีเหมือนรัฐบาล แต่ประเทศอยู่เป็น100 ปี 1,000 ปี เราต้องทำให้ประเทศเราดำเนินไปได้ในระยะยาว

เวลาเราเอาระยะยาวเป็นตัวตั้ง เราจะเห็นภาพที่เปลี่ยนไป เราจะเห็นความเสี่ยงที่มากขึ้น ผมเองกังวลเรื่องตรงนี้ มองยาวๆ แล้วเราเห็นอะไร

มองเห็นความเสี่ยงของภาครัฐที่เกิดขึ้นทั้งสองด้าน ทั้งรายรับและรายจ่าย รายรับมีโอกาสที่รัฐจะมีความสามารถในการจัดเก็บภาษีน้อยลงไปเรื่อยๆ จากโครงสร้างประเทศที่เปลี่ยนไป จีดีพีโตน้อยลง จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จากโครงสร้างแรงงานที่เป็นอยู่คือ อยู่นอกระบบมากขึ้น ทำให้เก็บภาษีได้น้อย

ด้านรายจ่าย ภาระของรัฐมีโอกาสที่จะสูงขึ้นในอนาคตมากพอสมควร จากสิ่งเดียวกันที่กล่าวมาคือ การเข้าสู่สังคมชราภาพของประเทศไทย ทำให้รัฐมีภาระมากขึ้น และจากภาระหนี้ผูกพัน หากพูดถึงภาระของรัฐเราดูภาระในปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองไปข้างว่าภาระของรัฐในอนาคตมีอะไร

ต้องคิดว่าภาระของรัฐที่ต้องเลี้ยงพวกเราในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เป็นเท่าไหร่ในอนาคต และคิดทอนกลับมาในปัจจุบัน แล้วหนี้จริงๆ ที่คิดเป็น present value (มูลค่าปัจจุบัน) จริงๆ สิ่งเหล่านี้เราควรจะต้องคิดด้วยว่าจริงๆ เท่าไหร่กันแน่ คงเยอะมหาศาลและมีภาระหนี้ที่ผูกพันอีก เช่นค่ารักษาพยาบาล เราไม่รู้ว่าในอนาคตโรคอะไรจะมา และรัฐจะมีภาระแค่ไหน

โรคปัจจุบันที่จะเป็นค่ารักษาพยาบาลแพงๆ ก็เป็นโรคใหม่ที่รักษายาก เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ จริงๆ มีข้อมูล คิดยาก แต่คิดได้ จริงๆ สิ่งเหล่านี้เราคงควรจะต้องคิดด้วย

การคิด “fiscal space” (พื้นที่การคลัง) คงดูปัจจุบันอย่างเดียวไม่ได้ ดูภาระหนี้อดีตสะสมอย่างเดียวไม่ได้ fiscal space คงต้องมองไปข้างหน้าแล้วคิดย้อนกลับมาปัจจุบันว่า space เราเหลือเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระข้างหน้า ไม่ใช่ปัจจุบัน เราต้องมองไปในอนาคต ที่สำคัญ เวลามีช็อคทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ซับไพรม์ เราเห็นแล้วชั่วข้ามคืนส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยแล้ว

เพราะฉะนั้น เราต้องมี fiscal space เยอะๆ เตรียมเงินเอาไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เกิดช็อคขึ้นมา ผมไม่อยากจินตนาการว่าวันหนึ่งเราต้องใช้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ วันนั้นมีข้อจำกัดเยอะ มีช่องให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย จะเกิดอะไรขึ้น

ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย) และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ(ขวา)
ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย) และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ(ขวา)

จริงๆ แล้วสิ่งที่ ดร.วิรไทพูดดีมาก ผมมาคิดว่า base case scenario หรือ baseline projection อาจจะไม่จำเป็น สิ่งที่เราอาจจะจำเป็นต้องทำเรียกว่า “stress test” ของรัฐบาล จะทำอย่างไรหากมีช็อคเกิดขึ้น เอา worse case scenario (จำลองสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด) ที่อาจเกิดขึ้นได้ มีสังคมชราภาพเต็มที่ รัฐมีภาระเต็มที่ อยากจะถามว่าแล้วรับภาระจะพุ่งขึ้นเป็นเท่าไหร่ ไม่ใช่ทำให้ตกใจ แต่ทำเพื่อเตรียมตัวเตรียมใจรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ประเด็นสุดท้าย บทบาทหรือหน้าที่นโยบายทางการคลัง หรือภาระทางการคลังทำอะไร มองกว้างๆ มี 2 อย่าง

1. รัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ภายในเวลา ณ ปัจจุบันหนึ่ง รัฐมีหน้าที่จัดสรรให้คนเท่าเทียมกัน ไปเก็บภาษีคนที่รวยมาให้คนจน ภายในหนึ่งหน่วยเวลาที่รัฐกระจายทรัพยากรระหว่างคน

แต่อย่าลืมว่ารัฐมีหน้าที่อีกหน้าที่อื่นด้วย คือ 2. จัดสรรทรัพยากรระหว่างเวลาด้วย หมายความว่าถ้าคุณจะเอาเงินในอนาคตมาใช้โดยไม่คำนึงเลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเอามาให้คนในปัจจุบันอย่างเดียว อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ก็โดนผลกระทบกันทุกคน พอโดนช็อคระหว่างเวลามันโดนกันทุกคน คนที่โดนมากสุดไม่ใช่คนที่มั่งคั่งที่สุด ผลการศึกษาชัดเจน คนที่โดนหนักสุดอยู่ปลายสุดของความรวยในประเทศ หรือติ่งสุดของความรวยในประเทศ

อย่าลืมว่าการจัดสรรทรัพยากรแบบนี้ การยืมเงินในอนาคตโดยทำเกินตัว โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดในอนาคตอาจจะสร้างปัญหาได้ในอนาคต

ภาวิน : ถาม ดร.พิสิทธิ์ว่ารัฐบาลมีประเด็นอะไรที่คำนึงอยู่แล้ว หรือมีองค์ประกอบอะไรที่จะรับมือกับความเสี่ยงนี้อยู่แล้ว หรือมีองค์ประกอบอะไรเพิ่มเติม

พิสิทธิ์ : เห็นด้วยว่าในระยะปานกลางมีหลายเรื่องที่เราจะต้องทำบนฐานว่าภาคการคลังยังถือว่ามั่นคงอยู่ ถ้าเรามาสุมหัวคิดใน 30 ปีข้างหน้า มันอาจจะช้าไป วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะมองไปข้างหน้า นโยบายการคลังไทยยังมีเวลาในการปรับโครงสร้าง

คงจะตอบในส่วนที่ผมมาจาก สศค. ผมคงจะเล่าว่าเรามีงานนโยบายที่เราศึกษาที่ สศค. ที่พยายามจะตอบคำถามพวกนี้ อย่างที่ทุกคนเห็นตรงกันเรื่องการปฏิรูปภาคการคลัง การปฏิรูปภาคภาษีต่างๆ เรื่องของการปฏิรูปรายจ่าย เป็นงานที่กระทรวงการคลังพยายามทำอยู่

ทุกคนทราบดีว่า ในอนาคต เป็นแนวโน้มว่าเรื่องของภาษี ฐานรายได้ คงจะเก็บได้ยากขึ้น และแนวโน้มรัฐบาลก็ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลงเพราะเราต้องไปแข่งขันกับโลกในอนาคต และรัฐบาลทั่วโลกก็ลดลง ตอนนี้เราต้องไปพึ่งพาฐานภาษีในอนาคต คือ ฐานภาษีการบริโภค ฐานภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดิน ความมั่งคั่งของคน

ประเทศไทย หากเราไปดูเรื่องเหลื่อมล้ำ อาทิ ความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ ความเหลื่อมล้ำในเชิงความมั่งคั่งสูงมาก เรื่องคนรวยคนจนส่วนต่างช่องว่างมาก นี่คือการปฏิรูปการคลังในมิติต่างๆ เหล่านี้เข้ามา

นอกจากนี้ การส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นเรื่องที่ปัจจุบันมีกองทุนต่างๆ อยู่แล้ว อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ในอนาคตมันต้องเพิ่มบทบาท ท้ายที่สุด เรื่องสังคมผู้สูงอายุ อีก 17 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 25% เรายังเป็นระบบไปหวังเอาภาษีข้างหน้ามาจ่าย อันนี้เป็นเรื่องในอนาคต แต่ท้ายสุดจะทำอย่างไรให้คนออมมากขึ้นเพื่อวัยเกษียณ ทั้งคนในภาครัฐ คนภาคเอกชน ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นโจทย์ที่จะต้องทำในอนาคตต่อไป

สุมหัวคิด-12-12

ท้ายที่สุด เรื่องผลิตภาพในอนาคต ในปัจจุบันคนทำงาน 5 คน เลี้ยงผู้สูงอายุ 1 คน ในอนาคตเหลือ 3 คน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้คนทำงานที่เหลืออยู่มีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิต ผลรายได้มากกว่าคนทำงานในปัจจุบัน ท้ายที่สุด ทิศทางผู้สูงอายุเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้น่าจะเห็น aging cliff (หน้าผาผูุ้สูงอายุ) มากกว่า ทำอย่างไรเราถึงจะดูแลผู้สูงอายุโดยดูแลภาครัฐด้วย ทางเดียวคือเพิ่มประสิทธิภาพ

ประเด็นสุดท้ายที่คิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ สศค. พยายามทำในอนาคต 30 ปี เราคงจะเห็นประมาณการการคลังในเชิงของการมองไปถึงคนรุ่นหนึ่งไปข้างหน้า 30 ปี 50 ปี หลายประเทศได้ทำไปแล้ว อย่างออสเตรเลียเขาก็ทำว่าภาคการคลังข้างหน้าจะมีทิศทางอย่างไร เราจะได้มีเวลาในการปรับนโยบาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทาง สศค. พยายามผลักดันนโยบายต่างๆ เหล่านี้

ภาวิน : มีองค์ประกอบอะไรที่ ดร.พิพัฒน์คิดว่าน่าจะยังมีความจำเป็น และยังไม่มีอยู่ในโครงสร้างปัจจุบัน

พิพัฒน์ : ผมขอฝากไว้ 2-3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 อย่างที่คุณพิสิทธิ์กล่าวว่าเรามี fiscal rule ของเรามีอยู่แล้ว มีกรอบวินัยทางการเงินการคลัง ก็อยากให้ยึดติดกับกรอบนั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ยึดตามกรอบที่มีอยู่ในปัจจุบัน เอาให้อยู่ เช่นกรอบ 20-80 รัฐกู้ไม่ได้ ก็ไปออก พ.ร.ก. 2 ล้านล้านบาท คำถามคือ เรากำลังแหกกฎอยู่หรือเปล่า เพราะภายใต้กรอบการกู้เงิน โครงการ 2 ล้านล้านบาททำไม่ได้แน่นอน

ดังนั้น เมื่อเรามีกรอบอยู่แล้ว แต่ว่ารัฐบาลใหม่อยากจะกู้เกินกรอบก็ออกกฎหมายใหม่เพื่อจะกู้เกินกรอบ ออกไปเรื่อยๆ ต้องถามว่า แล้วความยั่งยืนถูกกำหนดด้วยอะไร แล้วอย่าลืมว่าสิ่งที่วิทยากรพูดตรงกันว่าเรากำลังใกล้ถึงสังคมผู้สูงอายุ ลองคิดในแง่การเงินแต่ละคนที่วัยใกล้เกษียณ ควรมีหนี้หรือมีเงินออมกันแน่

ตอนนี้เป้าหมายที่เรามี 60% ไม่ใช่มีไว้เพื่อพุ่งชน แต่ว่าเป้าหมายต้องเป็นกรอบ เราควรมีเงินออมในปัจจุบันไม่ใช่ควรมีหนี้

รวมถึงการออกโครงการต่างๆ เช่น ออกโครงการในแบบปลายเปิด คือออกไปโดยไม่รู้ว่าผลหรือภาระที่จะเกิดขึ้นคืออะไร อย่างโครงการรับจำนำข้าว คือถามกันตั้งนานจนวันนี้ยังไม่รู้ว่าขาดทุนไปเท่าไหร่ และอนาคตจะขาดทุนอีกเท่าไหร่ เป็นต้น แบบนี้เราวัดได้ไหมว่าขาดทุน 100,000 ล้านบาท 200,000 ล้านบาท และเราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่ามีโครงการอะไรที่ดีกว่าหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้นทุนที่มีคืออะไร ตรงนี้สำคัญมากว่าต้องทำภายใต้กรอบ

ประเด็นที่ 2 ในแง่การเลือกใช้เงิน เราอยากมีเงินออมมาก แต่ต้องแน่ใจว่า เงินที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้คุ้มค่าจริงๆ และต้องแน่ใจว่าการใช้เงินในปัจจุบันมีผลตอบแทนออกไปและเพิ่มตอบแทนในอนาคตด้วย

กล่าวคือ การใช้จ่ายอะไรก็ตามที่จะเพิ่มจีดีพีในอนาคตคุ้มกับต้นทุนทางการเงินด้วย หมายความว่าใช้จ่าย 1 บาท ไม่ใช่หมดในวันนี้ 1บาท แต่สามารถสร้างจีดีพีในอนาคตได้เร็วกว่าต้นทุนที่กู้มาถึงจะคุ้ม เพราะฉะนั้น ในการเลือกโครงการมาทำ ในการเช็คดูความคุ้มค่าของโครงการมีความสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าเราอยากจะมีโครงการนี้เพราะประเทศอื่นเขามีหมดแล้ว เราเลยต้องมี แต่เราไม่ดูเลยว่ามันคุ้มหรือไม่ ซึ่งเห็นอยู่ว่ามีหลายโครงการที่ทำไปแล้วไม่คุ้มและเป็นภาระขนาดไหน

ดังนั้น ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการเลือกโครงการมีความสำคัญมาก

ประเด็นสุดท้าย ต้องยึดมั่นในความโปร่งใสทางการคลัง ซึ่งมีอยู่หลายองค์ประกอบ คือ

1) ต้องมีองค์กรทำหน้าที่เบิกจ่าย และสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ตลอดเวลา ไม่ใช่รัฐบาลอยากทำอะไรก็ออกกฎหมายใหม่หรืออยากใช้เงินเพิ่มขึ้นก็ไปบอก สศค. ปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง แต่คือวิธีการแหกกฏโดยใช้องค์กรภายในประเทศ

ดังนั้น ควรจะมีสำนักงานทำหน้าที่ดูแลการจัดทำงบประมาณในระยาว ซึ่งไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุล

2) ควรมีการจัดทำงบประมาณที่โปร่งใส และมองไปข้างหน้าหลายๆ ปีที่มีการทำประมาณการด้านภาษีและรายจ่าย รวมทั้งควรมีการจัดลำดับความสำคัญ เราจะได้ทราบว่าจะใช้อะไรก่อนอะไรหลัง

3) การเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ควรเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น จำนำข้าวทุกวันนี้ยังไม่ทราบเลยว่าสต็อกข้าวมีอยู่เท่าไหร่ ปิดเป็นความลับ ทั้งๆ ที่เป็นเงินก้อนใหญ่ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เอาไปใช้

4) เรื่องความโปร่งใส ต้องไม่มีคอร์รัปชัน หากมีคอร์รัปชันเยอะขึ้นเท่าไหร่ ความคุ้มค่าของการใช้เงินก็ลดลง

คิดว่าทั้ง 4 องค์ประกอบหลัก ควรจะทำให้ดีมีความโปร่งใส

ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย)และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ(ขวา) รองคณบดี
ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย) และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ (ขวา)

ภาวิน : ขอไปที่ ดร.วิรไท

วิรไท : โจทย์ที่สำคัญของประเทศไทยคือ เราจะอยู่อย่างไรกับประชานิยม ขณะเดียวกันต้องสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเอกชน ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข แต่วันนี้ทำประชานิยมมาก และเป็นประชานิยมที่ไปล้วงกระเป๋าภาคเอกชน กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

ดังนั้น เราจะทำประชานิยมรูปแบบใด ถึงจะช่วยให้เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก เพราะเราติดอยู่กับกับดักประชานิยม

ตัวอย่างในต่างประเทศที่เขาทำ เขาไม่ได้เรียกประชานิยม แต่เรียกว่ารัฐสวัสดิการ ทำให้ลักษณะ choice and competition คือเป็นมาตรการที่เปิดให้เกิดการแข่งขันในเรื่องการให้บริการของภาครัฐ ทำให้ประชาชนมีทางเลือก มีทั้ง 2 แบบ ไม่ใช่ไปจ้างเอกชนมาทำแทน แต่ภาครัฐยังเป็นผู้ให้บริการอยู่ แต่ต้องมีการแข่งขันและประชาชนสามารถเลือกได้

แต่วันนี้ประชานิยมที่เราทำกัน ในกรณีกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด หรือมีภาระผูกพันสูงสุด คือกระทรวงศึกษากับกระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงศึกษาได้รับงบประมาณสูงสุด โดยรัฐบาลเป็นคนออกกฎเกณฑ์ ออกนโยบายจัดระบบการศึกษาของประเทศ ทั้งยังเป็นคนจัดการศึกษา เป็นเจ้าของโรงเรียน และเป็นผู้ประเมินผลการศึกษาเองด้วย ภาระผูกพันที่เกิดขึ้นมีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐเป็นผู้ให้บริการเอง ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นการให้บริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

มาดูประเทศที่ใช้นโยบาย choice and competition ทำอย่างไร เขาจะให้เงินอุดหนุนประชาชนในเรื่องของค่าเล่าเรียนบุตร แต่รัฐจะลดบทบาทการเป็นเจ้าของโรงเรียน เพราะเอกชนสามารถเข้ามาทำโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถเลือกได้ว่าจะส่งลูกไปเรียนที่ไหน โดยเอาคูปองที่รัฐบาลช่วยอุดหนุนไปจ่ายเป็นค่าเทอมให้กับโรงเรียนหากผู้ปกครองเห็นว่าเป็นโรงเรียนที่มีความสามารถ มีประสิทธิภาพ และจัดการศึกษาตรงกับความต้องการของตลาด

เห็นว่าผู้ประกอบการโรงเรียนก็ต้องแข่งขันกัน ถึงแม้รายได้จะมาจากภาครัฐแต่คนที่จะเอาเงินไปจ่ายหรือตัดสินใจเลือกใช้บริการคือผู้ปกครอง ซึ่งโรงเรียนเอกชนต้องแข่งขันกัน โรงเรียนของรัฐที่มีอยู่ก็ต้องแข่งขันกันด้วย หากอยู่แบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพ ก็ไม่มีใครส่งลูกมาเรียน ไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ

เริ่มทำจากการศึกษาและไปทำในเรื่องสาธารณสุข โรงพยาบาล คลินิก บางประเทศไปไกลถึงการให้บริการขั้นสูง เช่น ผ่าตัดต่างๆ ตัวอย่างมีที่สแกนดิเนเวีย อังกฤษ มีการทำแบบนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งผลการศึกษาและวิจัยจากการทำนโยบายดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า 1. ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น 2. ทราบว่ารัฐต้องใช้เงินอุดหนุนปีละเท่าไหร่ ไม่ใช่เป็นงบฯ ปลายเปิด ทำให้การใช้เงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำในลักษณะของการเหวี่ยงแหไป เช่น 30 บาท เอายาแค่ไหนก็จ่าย 30 บาท

ตัวอย่างแรกที่ประเทศไทยทำ คือระบบรักษาพยาบาลของประกันสังคม สามารถเลือกโรงพยาบาลเอกชนได้ ถ้าเข้าไปดูโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าหลายแห่งที่ประสบความสำร็จสูงมาจากการให้บริการกับคนไข้ที่เป็นสมาชิกประกันสังคม เพราะโรงพยาบาลทราบว่าจะได้รับเงินจากประกันสังคมปีละเท่าไหร่และทำเก่งกว่าภาครัฐ จึงมีกำไร ขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ และทำให้การใช้จ่ายเงินของภาครัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย

อีกเรื่องที่หายไปไปจากประเทศไทย ซึ่งน่าเสียดายเพราะเป็นตัวอย่าง choice and competition ที่ดีมาก คือการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ในช่วงก่อนที่ ธปท. จะออกฏหมายใหม่ มีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้กับเอสเอ็มอีหรือผู้ส่งออก แต่ละปี ธปท. จัดเป็นโควตาให้กับธนาคารพาณิชย์และให้มีการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าปกติ ทั้งธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเอกชนก็แข่งขันกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีการแก้ไขกฏหมาย ธปท. เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท. แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล สินเชื่อซอฟต์โลนประเภทนี้หายไปเลย อาจจะมีเหลืออยู่บ้าง เช่น สินเชื่ออนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรของกระทรวงอุตสาหกรรม

เสวนา สุมหัวคิด Fiscal cliff  หนี้รัฐบาลไทย
เสวนา สุมหัวคิด Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย

ขณะเดียวกัน กรณีกระทรวงการคลังใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือ “แบงก์รัฐ“ เป็นกลไกในการขยายสินเชื่อ จะขัดกับทิศทางที่ควรจะเป็น วันนี้สินเชื่อแบงก์รัฐขยายตัวเร็วมาก หากเศรษฐกิจเกิดช็อคขึ้นมาก็น่ากลัว รัฐบาลจะแบกรับภาระความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ

ตัวอย่างที่เกิดเรื่อง เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ หรืออิสลามแบงก์ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปเพิ่มทุนและรับความเสี่ยงเต็มๆ ตอนนี้ยังไม่สามารถหาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารธนาคารได้ สำหรับลูกค้าของธนาคารเหล่านี้ก็เป็นลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เป็นลูกค้า second tier หรือ third tier พวกนี้ธนาคารเอกชนไม่ค่อยอยากปล่อยกู้ ลูกค้าเหล่านี้จึงมากู้กับแบงก์ของรัฐ

แต่ถ้าเรากลับไปใช้ choice and competition รัฐบาลจัดวงเงินให้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อ เอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยง ลูกค้ามีสิทธิที่จะไปเลือกว่าจะใช้บริการธนาคารแห่งใดก็ได้ แบบนี้น่าจะมีประสิทธิภาพ มากกว่าไปใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ผมเชื่อว่าบริการลูกค้าที่ได้รับก็ดีกว่า รัฐไม่ต้องมารับความเสี่ยงในเรื่องการอนุมัติสินเชื่อ เพียงแต่มากำหนดว่าแต่ละปีรัฐต้องรับผิดชอบเท่าไหร่

สรุป เราติดกับดักประชานิยมได้ แต่ต้องไม่ใช่ประชานิยมปลายเปิด เราสามารถรับรู้ได้ว่าในอนาคตรัฐจะมีภาระเท่าไหร่ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นประชานิยมที่ไปล้วงกระเป๋าของภาคเอกชน ไม่ทำลายความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน แต่เป็นประชานิยมที่ให้สวัสดิการและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

นั่นเป็นประการที่ 1

ประการที่ 2 ขอให้ยึดกรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ผมคิดว่าควรทำให้เข้ามากขึ้น เข้มกว่าที่มีอยู่ ถึงแม้จะเป็นกรอบตามมติคณะรัฐมนตรีไม่มีผลบังคับทางกฏหมาย แต่หลายอย่างก็ควรต้องเขียนไว้ในกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อทำให้การหลีกเลี่ยงกฎทำได้ยากขึ้น

ทุกครั้งที่มีการหลีกเลี่ยงกฎ รัฐบาลมีเหตุผลเสมอ อย่างที่เราทราบกัน การมองเป็นการมองในภาวะปัจจัยแวดล้อมในขณะนั้นเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ไม่มีใครปฏิเสธว่าเราต้องการวางระบบการจัดการน้ำให้ดีขึ้น แต่ต้องวางกรอบกติกาให้ชัดเจนหลีกเลี่ยงกฎไม่ได้ จะเกิดการจัดทำงบประมาณรูปแบบใหม่ วิธีคิดรูปแบบใหม่

วันนี้ไม่มีใครพูดถึงการลดรายจ่ายประจำเลย หากเราเขียนกฎกติกาไว้ให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายใหม่มากู้เงินไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องกลับมาดูว่าจะลดรายจ่ายประจำที่มีสัดส่วน 80% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายได้อย่างไร แต่วันนี้ไม่มีใครพูดถึง เมื่อติดกฎเกณฑ์แบบนี้ ก็พยายามหาวิธีการเลี่ยงไปใช้วิธีแบบใหม่

หรือในเรื่องของประสิทธิภาพโครงการลงทุนของรัฐบาลก็เช่นเดียวกัน ถ้ากรอบวินัยการคลังชัดเจนเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนก็ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า โครงการที่จะลงทุนมีความต้องการที่จะลงทุนจริงหรือไม่ ไม่ใช่เสนอโครงการมาก่อน แต่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อนว่ามันมีความเป็นไปได้ และในเชิงธุรกิจคุ้มค่าหรือเปล่า

ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย)และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ  (ขวา)
ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้าย) และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ (ขวา)

ประการที่ 3 ต้องมาคิดถึงวิธีการสนับสนุนทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม (PPPs) ในการลงทุน ร่วมกันรับความเสี่ยง

ปัจจุบันกรอบกติกาของเรามันไม่เข้มพอ ถ้าเราไม่อยากจะเผชิญหน้าผาการคลังในอนาคต ต้องกำหนดกติกาให้เข้มงวดมากขึ้น และไม่ควรให้อำนาจการตัดสินใจไปขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจรัฐคนใดคนหนึ่ง เป็นเรื่องลำบากมาก เพราะมักจะมีเหตุผลเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา และไปฝากไว้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมและมีอำนาจรัฐ เป็นคนที่รับผิดชอบอยู่ มันยาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ช่วงปี 2540 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนเดียวเป็นคนตัดสินใจว่าจะแทรกแซงหรือไม่แทรกแซงสถาบันการเงิน จะขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย เอาภาระใหญ่อันใหญ่หลวงไปฝากไว้กับคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ถูกบีบคั้นด้วยภาวการณ์ทุกอย่าง

แต่ถ้าเราเขียนกฎเกณฑ์กติกาให้ชัดเจนมันก็จะช่วยได้ เช่น การปิดสถาบันการเงินที่ช้าเพราะไม่มีใครกล้าติดสินใจ ธปท. เสนอมาที่กระทรวงการคลังว่าควรต้องปิดสถาบันการเงิน แต่กระทรวงการคลังมัวทำการศึกษากันอยู่นั่น ธปท. ทำเรื่องส่งมาก็ส่งไปปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลังส่งต่อให้ สศค. โยนกันไปโยนกันมา ในที่สุดสถานการณ์ก็บานปลาย และต้องปิดกิจการไฟแนนซ์ เพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดภาระหนี้ก้อนใหญ่ 1.4 ล้านล้านบาท เพราะเราเอาอำนาจการตัดสินใจไปฝากไว้กับคนบางคนที่มีอำนาจ

แต่ขณะนี้มีการแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยใหม่ การตัดสินใจในรูปของคณะกรรมการฯ มีกติกาชัดเจนมากขึ้น ในกฎหมายกำหนดสัดส่วนเงินกองทุนของธนาคาร หากต่ำกว่าที่กำหนดเท่าไหร่ ธปท. ต้องเข้าไปแทรกแซง ไม่แทรกแซงไม่ได้ เพราะกฎหมายบังคับให้ต้องแทรกแซง และถ้าลดลงต่ำไปอีกระดับ ต้องเข้าไปปิดกิจการเลย เพราะกฎหมายบังคับ ธปท. ก็จะส่งให้สถาบันประกันเงินฝากเข้าไปจัดการทันที

ในส่วนของภาคการคลังยังไม่ค่อยเห็น ถ้าเราทำกติกาภาคการคลังให้เข้มแบบนี้ ก็จะชัดเจนมากขึ้น และจะไม่เกิดปรากฏการณ์แบบที่เป็นอยู่ เช่น การลดราคาจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 12,000 บาทต่อตัน เพราะว่าจะกระทบต่อวินัยทางด้านการคลัง พอผ่านไป 2 อาทิตย์ ก็ปรับราคารับจำนำขึ้นกลับไปเหมือนเดิมเพราะวินัยการเงินยังไม่มีปัญหา

เพราะฉะนั้นต้องกลับมาวางกฎให้ชัดเจน ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็จะไม่ถูกแรงกดดัน ไม่ต้องถูกแรงล็อบบี้ ทำให้การตัดสินใจกลับไปกลับมา

ประเด็นต่อมา ผมเห็นด้วยกับ ดร.พิพัฒน์มาก เกี่ยวกับแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้เราเดินลงหน้าผา คือ เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการงบประมาณ แต่สิ่งที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ช่วงฤดูของการพิจารณางบประมาณ ส.ส. แย่งงบประมาณกัน เพื่อเอาไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เริ่มมีสิทธิเข้ามาเอางบประมาณไปให้ ส.ส. พื้นที่ได้ด้วย ตรงนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง ทำให้ประสิทธิภาพของการจัดสรรงบประมาณของประเทศไทยมีปัญหา

ในต่างประเทศก็มีการจัดตั้งสำนักงานงบประมาณที่ขึ้นอยู่กับรัฐสภา ทำหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณอย่างเป็นวิชาการ ทำให้ปลอดจากแรงผลักดันของ ส.ส. การใช้จ่ายงบประมาณก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ภาวินต้องอธิบายให้เราฟัง สำนักงานงบประมาณประจำรัฐสภาในประเทศไทยคิดว่ามีประโยชน์มาก

ประเด็นสุดท้าย คือผมเห็นด้วยกับ ดร.พิพัฒน์ที่พูดว่า ประสิทธิภาพ ความสามรถในการแข่งขัน และความโปร่งใสของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เราไม่ได้ยินเรื่องปฏิรูประบบราชการมานานมากแล้ว ทำอย่างไรให้ระบบราชการได้คนเก่งมีความรู้ความสามารถมาทำงานเพื่อประเทศอย่างจริงจังและยังคงความเก่งในระยะยาวได้ด้วย มีระบบให้คุณให้โทษที่มีความเหมาะสม นักการเมืองทำงาน 4 ปี แล้วก็ไป ส่วนข้าราชการอยู่ยาวกว่า ความกดดันตรงนี้ ควรจะมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล

เราไม่ได้ยินปฏิรูประบบราชการมาเป็น 10 ปีแล้ว เราไม่ได้ยินปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมาเป็น 10 ปีแล้ว รัฐวิสาหกิจหลายแห่งวันนี้กลายเป็นภาระให้กับรัฐบาล และจะเป็นภาระให้กับรัฐบาลในอนาคต ซึ่งมีหนี้ที่รัฐเข้าไปค้ำประกัน และมีหลายรายการอาจจะเป็นภาระผูกพันต่องบประมาณในอนาคต และมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีภาระผูกพันตามกฎหมาย และมีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นมาก อาจจะกลายมาเป็นระเบิดให้เกิดภาระทางการคลังได้

รัฐวิสาหกิจที่ฟ้องร้องกับภาคเอกชนไม่เคยชนะเอกชน วันนี้หลายรัฐวิสาหกิจก็ยังหาผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงไม่ได้ด้วยซ้ำไป ถ้าปล่อยไปแบบนี้รัฐวิสาหกิจก็เป็นตัวถ่วงทางเศรษฐกิจด้วย ไม่ได้เป็นตัวถ่วงเฉพาะภาคการคลังแค่นั้น

ปัญหาระบบโลจิสติกส์ ระบบราง ก็เห็นว่ารัฐวิสาหกิจกลายเป็นตัวถ่วงต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ของทั้งประเทศ ไม่ได้เป็นภาระงบประมาณเท่านั้น ระบบโทรคมนาคมของไทยที่ล้าหลังก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเพราะว่ารัฐวิสาหกิจเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่และสัญญาสัมปทานสมัยก่อน

ผมจึงต้องมาคิดถึงประสิทธิภาพของผู้นำทาง ประสิทธิภาพของภาครัฐทั้งในส่วนของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง แต่ที่สำคัญที่สุดต้องกลับไปนั่งคิดสังคม choice and competition คิดโมเดลใหม่ๆ เราต้องอยู่กับประชานิยมให้ได้ ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

ภาวิน : ในต่างประเทศอย่างที่ ดร.วิรไทพูดถึงสำนักงานงบประมาณในสหรัฐอเมริกา ขึ้นอยู่กับสภาคองเกรส ไม่ใช่หน่วยงานที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หน้าที่หลักๆ ไม่ได้จัดสรรงบประมาณแข่งกับสำนักงบประมาณของรัฐบาล ไม่มีอำนาจหน้าที่มากขนาดนั้น แต่หน้าที่หลักๆ เป็นการส่งเสริมศักยภาพการทำงานของสมาชิกรัฐสภาให้เข้าใจ วิเคราะห์การใช้จ่ายของรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น ทำให้การทำหน้าที่ตรวจสอบร่วมจัดสรรงบฯ ในส่วนของรัฐสภามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หน่วยงานนี้ขึ้นอยู่กับรัฐสภา ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไประงับกฎหมายหรือไปจัดสรรงบประมาณใหม่ ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น

ถ้าจะทำให้หน่วยงานนี้มีความน่าเชื่อถือ หน่วยงานนี้ต้องมีความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง ตอนนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กำลังจะได้รับเงินสนับสนุนจากทางธนาคารโลก เพื่อที่จะมาจัดตั้งสถาบันนี้ขึ้นมา ช่วยสนับสนุนการทำงานของสมาชิกรัฐสภา

เสวนาสุมหัวคิด fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย
จากซ้ายไปขวา :ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล,ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์,ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย,
ดร.วิรไท สันติประภพ และดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

ขอปิดท้ายที่ ดร.สมประวิณ

สมประวิณ : สิ่งที่ผมกังวลคือ การทำนโยบายหวังผลระยะสั้นเป็นหลัก อาจเป็นเพราะผู้ที่มีอำนาจในการทำนโยบายช่วงชีวิตเขาสั้นกว่าประเทศ อาจจะมีระยะเวลาแค่ 3-4 ปี รัฐบาลทุกยุคจะหวังผลระยะสั้นมากกว่าระยะยาว ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มองยาว เป็นเพราะอะไร คำตอบคือ

1. เขาอาจจะสายตาสั้น มองยาวไม่เป็น

2. เขามองยาวได้ แต่ละเลย และรู้ด้วยว่าทำแบบนี้จะมีผลระยะยาวต่อประเทศอย่างไร แต่ว่าชีวิตฉันอยู่สั้นฉันก็ทำแค่นี้ ทุกท่านถ้ากู้หนี้เสร็จไม่ต้องคิดระยะยาว กู้มาแล้วให้เพื่อนเราใช้หนี้แทน เกิดอะไรขึ้น อาจจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการพัฒนาประเทศในระยะยาว ก็ต้องมานั่งคิดกันว่าทำอย่างไรให้รัฐบาลความสนใจในระยะสั้น และสนับสนุนการพัฒนาประเทศในระยะยาวได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสำนักงานงบประมาณของ ดร.ภาวินมาช่วยนักการเมืองคิดทำนโยบายไอเดียบรรเจิดมาก ลองตรวจสอบดูสิ ถ้าทำแล้วมีผลกระทบต่อฐานะการคลังอย่างไร แต่นักการเมืองไม่คิด คิดแค่ทำวันนี้ ปรากฏว่านโยบายที่ทำมีผลผูกพันปีละ 4 หมื่นล้านบาทในอนาคต คิดเป็นจำนวนเงินมหาศาล เวลาจะยกเลิกก็ยกเลิกไม่ได้ เพราะมันเป็นประชานิยมไปแล้ว

ดังนั้น การทำนโยบายต่างๆ ควรทำให้มันยู่ในกรอบวินัยการคลังที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สมมติว่าวันหนึ่งทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลมีช่องว่างที่จะทำนโยบายการคลังเหลือน้อยมาก เศรษฐกิจขณะนั้นเกิดช็อคขึ้น รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมาก จะเกิดอะไรขึ้น หั่นสวัสดิการได้ไหม หรือเก็บภาษีคนเพิ่มขึ้น ทางเลือกต่างๆ มันทำไม่ได้

ดังนั้นเราควรจะวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการเสวนาของ ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์