ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4: “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี” (ตอนที่ 1) – เศรษฐกิจโตไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจดีอีกต่อไป

เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4: “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี” (ตอนที่ 1) – เศรษฐกิจโตไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจดีอีกต่อไป

3 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี?” ณ SEAC ชั้น 2 มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน), ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย, ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และ ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีเนื้อหาดังนี้

ดร.ธีรวุฒิ: ขอต้อนรับเข้าสู่เวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4 วันนี้จะมาคุยเรื่องที่พูดกันในสังคมเรื่องหนึ่งว่า “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี?” โดยในช่วงแรกจะคุยกันเรื่องข้อเท็จจริงว่ามันไม่ดีจริงมั้ย หรือมันดีแล้ว ส่วนในช่วงที่สองจะมาวิเคราะห์กันว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

ในรอบแรกผมขอถามก่อนว่า เราจะได้ยินข่าวว่าเศรษฐกิจฟื้น แต่คนยังรู้สึกไม่ดี ผมลองไปทำการบ้าน สอบถามคนแถวบ้านว่าช่วงนี้ค้าขายดีมั้ย เขาบอกว่า “อย่าไปฟังนักวิชาการ เพราะผมยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่อยู่ ดังนั้นถามวิทยากรทั้ง 3 ท่านว่า เวลาที่คนรู้สึกว่าแย่ เป็นการมโนไปเองหรือเปล่า หรือมันแย่จริง”

ดร.พิพัฒน์: ผมว่าประเด็นที่หนึ่งคือ ที่เรารู้สึกว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นแล้วเพราะว่าหลายคนออกมาปรับประมาณการ ถ้าดูตั้งแต่ต้นปีหลายๆ ฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจไทยโต 3 ต้นๆ วันนี้ประมาณ 3.7-3.9%

แสดงว่าการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของฝั่งนักวิชาการ ฝั่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง ปรับประมาณการเศรษฐกิจที่เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจเริ่มค่อนข้างดีแล้ว

ประเด็นที่สอง คือ เป็นครั้งแรกๆ ในรอบ 5-6 ปี ที่ประมาณการเศรษฐกิจถูกปรับขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 2011-2012 เราปรับประมาณการลงตลอด แต่ปีนี้เป็นปีแรกๆ ในรอบหลายปีที่เราปรับประมาณการขึ้น

ดังนั้น ในฝั่งของคนที่ทำตัวเลข เป็นครั้งแรกๆ ที่เริ่มเห็นข่าวดี แล้ว optimistic กับมันมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง คนก็มองว่าปรับประมาณการขึ้นได้ยังไง เพราะความรู้สึกของคนเดินถนนมันยังไม่เห็นดีเลย มันเลยเกิด contrast ขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ในหลายประเด็น

ประเด็นที่หนึ่งคือเรื่องตัวเลขจีดีพี เราคงเอาตัวเลขเดียวมาตัดสินความรู้สึกของคนทุกคนไม่ได้ เพราะว่าแต่ละคนสภาพเศรษฐกิจก็ต่างกันไป แต่พออ่านข่าวเยอะๆ ว่าตัวเลขจีดีพีปรับขึ้น ก็คาดหวังว่าความรู้สึกเราก็ควรจะดีขึ้น

แต่บังเอิญว่าตัวเลขจีดีพีเป็นตัวเลขรวม เหมือนเป็นค่าเฉลี่ย ก็ต้องมีคนที่รู้สึกดีกว่าค่าเฉลี่ย และก็อาจจะมีคนรู้สึกแย่กว่าค่าเฉลี่ย ฉะนั้นประเด็นที่หนึ่งก็คือ ขึ้นอยู่กับว่าค่าเฉลี่ยมันเอนเอียง หรือมันแทนคนกลุ่มใหญ่ของประเทศหรือเปล่า

สิ่งที่เราได้ยินวันนี้ก็คือ คนจำนวนเยอะมากบ่นว่าไม่ได้รู้สึกดีขึ้นตามตัวเลข ก็แสดงว่า ความรู้สึกหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ดีเท่าค่าเฉลี่ย ซึ่งก็อาจจะต้องกลับไปย้อนดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ประเด็นต่อมา ถ้าเรามองแค่ตัวเลขจีดีพี ซึ่งบอกอะไรเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะบอกเรื่องปริมาณมูลค่าผลผลิตที่ผลิตขึ้นในฝั่งการผลิต ขณะเดียวกันก็มีฝั่งดีมานด์หรือฝั่งคนใช้จ่าย ว่าใครเป็นคนใช้จ่าย และอีกฝั่งหนึ่งก็คือฝั่งรายได้

ตัวเลขจีดีพีที่เราเห็นว่ามันขึ้น เป็นฝั่งผลิตขึ้นซะเยอะ ในขณะที่ถ้าไปดูฝั่งบริโภค มันไม่ได้ขึ้นตามเหมือนกับตัวเลข เช่น ตัวเลขในสองไตรมาสสุดท้ายที่เราเห็นตัวเลขจีดีพีขึ้นไป 3% กว่าๆ 4% ต้นๆ การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศของผู้บริโภค ยังคงอยู่แถว 3%

แสดงว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนท็อปไลน์ตัวเลขโดยรวมส่งสัญญาณว่าโต แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คนที่ใช้สินค้า ซื้อสินค้าอยู่ทุกวัน ไม่ได้ซื้อของเพิ่ม ไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่ม ฉะนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคนส่วนใหญ่เขายังไม่ได้รู้สึกดีตามตัวเลขท็อปไลน์ที่มันถูกปรับขึ้น

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี?” ณ SEAC ชั้น 2 มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง, ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย,ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และ ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ(ภาพจากขวามาซ้าย)

ดร.ธีรวุฒิ: ดร.พิพัฒน์กำลังจะบอกว่า จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้แย่ไปกว่าเดิม เพียงแต่ว่าผมได้ยินข่าวว่าดีแล้ว ก็เป็นความหวังว่าเมื่อไหร่จะมาถึงเรา เลยรู้สึกแย่

ดร.พิพัฒน์: อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็คงมีบางส่วนที่แย่ลงไปด้วย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้คือ คนที่อยู่ในภาคเกษตร ด้วยราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะผงกหัวขึ้นนิดนึง แล้วปรับลดลงไปอีกแล้ว เขาก็อาจจะรู้สึกแย่ลงจริงๆ

ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางส่วนที่รู้สึกแย่ลง แต่คนโดยทั่วไปที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือ ทำไมท็อปไลน์ถูกปรับขึ้น แต่ทำไมเราไม่เห็นรู้สึกดีตามไปด้วย น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

ดร.ธีรวุฒิ: ดร.พิสิทธิ์กับ ดร.เบญจรงค์ เห็นเป็นยังไงครับ เรามโนกันไปเองมั้ยที่รู้สึกแย่

ดร.พิสิทธิ์: ทางฝากกระทรวงการคลังก็พยายามติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ถ้าดูในจีดีพีภาคเกษตร สองปีก่อนหน้านี้มันแย่มาก มันติดลบ 5% กว่า ปีที่แล้วแทบไม่ขยายตัว ผลผลิตเกษตรเพิ่งมาขยายตัวปีนี้

ที่เราคุยกันอาจจะเป็นปัจจัยเรื่องผลกระทบของปีที่ผ่านมาที่มันไม่ดีมากๆ ปัญหาหนี้ภาคเกษตรกรต่างๆ ที่ทำให้ดึงกำลังซื้อของภาคการเกษตรในปัจจุบัน แม้ว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาก็ไม่ได้ดีขึ้นมาก มันก็ cancel out รายได้เกษตรกรก็อาจไม่ได้ขยายตัวมากนัก อันนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง

เพราะว่าถ้าดูในโครงสร้างเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ของประเทศ แรงงาน 30% ก็อยู่ในภาคเกษตร เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าตัวเกษตรก็เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้ด้วย

อีกอย่างหนึ่งผมเห็นด้วยกับ ดร.พิพัฒน์ว่า การเติบโตในช่วงที่ผ่านมามันอาจจะค่อนข้างกระจุกตัว ซึ่งเป็นเรื่องโครสร้างเศรษฐกิจที่มันเหลื่อมล้ำในหลายๆ มิติ ทั้งทางพื้นที่ สังคม และธุรกิจ ก็เป็นตัวดึงให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มันฟื้นขึ้นไม่ได้กระจายตัว

ดร.เบญจรงค์: ในเรื่องการเกษตรผมเห็นด้วย แต่ปัญหาของเมืองไทยจริงๆ ไม่ใช่เรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาคือเรามีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรมากเกินไป เป้าหมายในการพัฒนาเกษตรคือการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ซึ่งจริงๆ อาจจะเป็นเป้าหมายที่ผิด

ด้วยความที่เรามีกำลังแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรเยอะ จริงๆ เป้าหมายหลักสุดท้ายคือต้องเป็นเรื่องของการเพิ่มผลผลิตต่อแรงงาน ก็คือ yield per labor ไม่ใช่ yield per rai เป้าหมายก็คือว่าเราจะทำยังไงที่จะใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย

พอกลับมาเรื่องการฟื้นตัว ถามว่าปีไหนการบริโภคดี ดูง่ายๆ ครับ ปีไหนก็ตามที่การบริโภคขยายตัวได้เท่าหรือมากกว่าจีดีพี ปีนั้นการบริโภคดี แล้วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การบริโภคขยายตัวได้ต่ำกว่าจีดีพีตลอด

ก็หมายความว่าจีดีพีโต ตัวอื่นโต แต่ไม่ใช่การบริโภค แล้วปีนี้หรือปีหน้าการบริโภคน่าจะขยายตัวได้สักประมาณ 3% ในขณะที่ประมาณการจีดีพีทุกที่ก็พยายามปรับขึ้น ใกล้ 4% มากขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจมันดูเหมือนขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่การบริโภคไม่ได้ไปตาม ซึ่งการบริโภคส่วนหนึ่งมันสะท้อนเรื่องของความเชื่อมั่น และมากกว่านั้นมันสะท้อนเรื่องกำลังซื้อ

แต่คำว่าเศรษฐกิจดี ไม่ดี มันเริ่มแยกกับคำว่าเศรษฐกิจโตหรือไม่โต ถ้าเราจะสรุปง่ายๆ ก็จะเห็นว่า “เศรษฐกิจไทยโต เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่ยังไม่ดี” เศรษฐกิจไทยโต คงไม่มีใครปฏิเสธ เพราะตัวเลขมันสะท้อนออกมา ส่งออกโตได้ดีที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

เราจะเห็นได้ว่าตัวเลขส่งออกล่าสุดกลับมาโต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้เห็นมานานมาก ฉะนั้นยอดส่งออกค่อนข้างดี ท่องเที่ยวก็ขยายตัวได้ดี ทั้งหมดนี้ก็ทำให้จีดีพีที่มันออกมาขยายตัว ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจมันโต

แต่คำว่าโต มันไม่ได้แปลความกลับมาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจดีเหมือนในอดีต ที่เมื่อก่อนเวลาเราเห็นเศรษฐกิจโต เราจะรู้สึกว่าถ้าเศรษฐกิจโตมันต้องเศรษฐกิจดี แต่ตอนนี้มันไม่ไปด้วยกัน เพราะว่าอย่างหนึ่งที่เราเข้าใจผิดมาตลอด คือเราบอกว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเยอะ มันไม่ใช่อีกต่อไป

จริงๆ ปัจจุบัน ประเทศไทยพึ่งพาในประเทศกับต่างประเทศเท่าๆ กัน สัดส่วนจีดีพีไปสู่เรื่องการส่งออกสินค้าอยู่ที่ประมาณ 60% สัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 55% มันมีความแตกต่างกันไม่มาก ในขณะที่การบริโภคลงไปสู่เอสเอ็มอีเกือบ 3 ล้านราย แต่ส่งออกไปสู่บริษัทประมาณ 2-3 หมื่นรายเท่านั้นเอง

ดังนั้นเราจะเห็นว่าที่ ดร.พิสิทธิ์บอกเมื่อสักครู่ว่า เรื่องของการโตไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ ถ้าดูจากข้อมูล (ดูภาพประกอบ) จะเห็นว่าส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจที่โตได้ มันโตมาจากเรื่องภาคการส่งออก จำนวนบริษัทส่งออกมีทั้งหมดประมาณ 15,000 บริษัทเท่านั้นเอง จะเห็นได้ว่าส่งออกที่โตได้เกือบ 90% มาจากบริษัทใหญ่ที่มีสัดส่วนแค่ประมาณ 1 ส่วน 4 ของผู้ส่งออก แล้วใน 1 ส่วน 4 ไม่ถึง 1% ของบริษัททั้งหมดของประเทศ ฉะนั้นถ้าจีดีพีโตเพราะส่งออก นี่ก็คือผู้ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของส่งออก

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การส่งออกครั้งนี้ไม่ใช่การส่งออกที่กระจายไปทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออกซึ่งไม่ใช่กลุ่มใหญ่ มีอยู่แค่หมื่นกว่าบริษัทเท่านั้นเอง

อีกตัวหนึ่งที่เราพูดกันเยอะคือเรื่องของท่องเที่ยว อย่างหนึ่งที่เราจะบอกมาตลอดว่า เศรษฐกิจดีเพราะท่องเที่ยวดี ตรงนี้ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าท่องเที่ยวเป็นปัจจัยรายพื้นที่ ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว คุณจะไม่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยว

รายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านล้าน ปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ใน 17 จังหวัด 2 ใน 3 ของ 3 ล้านล้าน กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ 4 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศไปเที่ยวกัน เรากำลังพูดถึงกรุงเทพฯ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เท่านั้น 2 ใน 3 ของรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดเท่านั้น แล้วท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จีดีพีเราโตได้ดี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เวลาเราบอกเศรษฐกิจโต โตจริงครับ แล้วในหลายกลุ่มได้อานิสงส์จากการโตตรงนี้ แต่ว่ามันยังไม่ทั่วถึง

สมมติท่องเที่ยวได้อานิสงส์ประมาณ 10 จังหวัด อีก 60 จังหวัดไม่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวที่มาจากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นมันคือภาพที่ทำให้เราเห็นว่า ทำไมจึงเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจโต แต่ไม่ดี มีจริงมั้ย มีจริงครับ

ดร.ธีรวุฒิ: อยากจะถามคุณพิพัฒน์ว่า เมื่อเราเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนดีใจ ว่าเศรษฐกิจมันฟื้นแล้ว เราให้น้ำหนักกับตัวเลขแค่นี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ดร.พิพัฒน์: ปกติต้องบอกว่าเศรษฐกิจมันควรจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน ใครที่มาเป็นเครื่องจักรในการนำเศรษฐกิจควรจะนำภาคอื่นตามไปด้วย ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี หรือเศรษฐกิจดีแล้ว

ซึ่งมันก็มีสาเหตุอย่างที่เราคุยกันว่า พอตอนนี้มันเหมือนถูกนำด้วยเศรษฐกิจภายนอกล้วนๆ จะเห็นว่าเครื่องจักรสำคัญทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว ฉะนั้นผมใช้คำว่าแข็งนอก แต่ข้างในยังอ่อนอยู่ ก็คือแข็งนอกอ่อนใน

แต่ว่าปกติในภาพของการฟื้นตัว มันก็จะมีใครที่เป็นเครื่องจักรหลักขึ้นมาก่อน แล้วในที่สุดมันก็ควรจะส่งอานิสงส์ไปยังภาคอื่น เพียงแต่ว่ารอบนี้อาจจะเป็นไปได้ว่ามันพึ่งจะเป็นในช่วงต้นมาก ดังนั้นอานิสงส์มันยังไม่ตามไป

ยกตัวอย่างเช่น ภาคการส่งออก การส่งออกไทยติดลบมา 3 ปีติด เราพึ่งจะมาเป็นบวกปีนี้ปีแรก ถึงแม้เราจะบอกว่าบวก 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่อยาลืมว่าเราติดลบมา 3 ปีติดกัน ฉะนั้นในแง่ของฐานมันค่อนข้างต่ำ

แล้วการส่งออกจำนวนเยอะมันมาจากภาคสินค้าเกษตร ปีที่แล้วภัยแล้งเยอะ ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรมันหายไป แล้วภาคอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เพิ่งจะกลับมาดี เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อันนี้เห็นชัดว่า มันพอเศรษฐกิจโลกโตไปพร้อมๆ กัน มูลค่าการค้าโลกมันมาหมดเลย ทุกประเทศ รวมถึงเมืองไทยด้วย เราก็ได้อานิสงส์ แต่ระยะแรกๆ ในแง่การฟื้นตัวของการส่งออก เราจะเห็นยอดขายไปก่อน คือสินค้าคงคลังเริ่มลด แต่การผลิตยังไม่มา อันนี้ก็เป็นสัญญาณที่น่าสนใจว่า ปริมาณการผลิตมันยังไม่ได้โตตามยอดขาย

ถ้าผมเป็นคนขาย คือเอาสินค้าคงคลังทยอยขายไปก่อน แต่ว่าเมื่อสินค้าคงคลังหมดแล้ว ผมก็ต้องผลิตเพิ่ม พอผลิตเพิ่ม ผมก็ต้องจ้างงานเพิ่ม จ้างงานเพิ่มผมก็น่าให้ให้โอที ขึ้นค่าจ้างแรงงาน ถึงตอนนั้นคนก็จะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น แต่ตอนนี้อาจยังไม่ถึงขนาดนั้น

เหมือนกันกับภาคการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าโตมาค่อนข้างจะหลายปี แต่มันก็ยังกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่จังหวัดอย่างที่คุยกัน มันก็เลยกลายเป็นการโตที่อานิสงส์มันไม่กระจายออกไป อย่างที่หลายคนบอกว่าโตกระจุกจนกระจาย คนส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่

ประเด็นถัดมา มันก็มีเรื่องความเหลื่อมล้ำจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำเรื่องการกระจายรายได้ การกระจายการเข้าถึง และการกระจายเรื่องสินทรัพย์

เรื่องการกระจายรายได้ สิ่งที่เราเห็นก็คือ คนที่เป็นฐานราก เป็นคนที่ใช้เงิน รายได้ของเขาเป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นพอเงินในกระเป๋ามันไม่โต การใช้จ่ายมันชะลอหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย เช่น ภาคการผลิตที่ผลิตของน้อยลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ทำให้เงินในกระเป๋าเกษตรกรลด มันสะท้อนถึงการบริโภคในต่างจังหวัดอย่างชัดเจน

ครั้งสุดท้ายที่คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจเมืองไทยดี อาจจะต้องย้อนกลับไปถึงปี 2554 – 2555 ฉะนั้นเศรษฐกิจจะดีได้ เงินในกระเป๋ามันต้องมี ตอนนี้พอราคาสินค้าเกษตรไม่ดี เศรษฐกิจต่างจัดหวัดก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าดี

แต่ถ้ามาดูในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ อานิสงส์อัตราของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างนาน ทำให้ราคาสินทรัพย์มันขึ้น แล้วคนส่วนใหญ่ การใช้จ่ายไม่ได้ขึ้นกับ income เท่าไหร่ แต่ขึ้นกับ wealth หรือความมั่งคั่งซะเยอะ ถ้าหุ้นยังขึ้น ถ้าราคาที่ดินยังขึ้น การใช้จ่ายก็ยังดี

ฉะนั้นวันนี้เราเห็น contrast ค่อนข้างมาก อย่างที่อาจารย์ธีรวุฒิบอกตอนต้นว่าไปถามคนในตลาด เขาจะรู้สึกว่าเขาขายของไม่ค่อยได้ แม้กระทั่งร้านขายข้าวแกง ยังรู้สึกว่าช่วงนี้ยอดขายไม่ค่อยดี แต่ถ้าไปดูมิชลิน 1 ดาว วันนี้คิวแน่นมาก มันก็เห็น contrast

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

ถ้าเราไปดูยอดขายรถในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้มันเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราเห็นคือยอดขายรถญี่ปุ่นร่วง แต่ยอดขายรถเยอรมันไม่ค่อยร่วงเท่าไหร่ แสดงว่ามันมีเรื่องของเซกเมนต์มาเกี่ยว

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขหนึ่งจาก FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ไปถามเรื่องการใช้จ่ายในสินค้าปกติ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เขาบอกว่าแย่ที่สุดในรอบ 8 ปี จนมีคำนึงที่พาดหัวออกมาว่า ต้องหรูถึงอยู่ได้ กลายเป็นสินค้าเบสิก สินค้าประจำวัน สินค้าปกติขายไม่ค่อยดี ก็เลยอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำด้วยว่า นอกจากแข็งนอกอ่อนในแล้ว เรายังมีแข็งบนและอ่อนล่างด้วย

ดร.ธีรวุฒิ: ถาม ดร.พิสิทธิ์ ดร.เบญจรงค์ เราเห็นภาพประมาณเดียวกันมั้ยครับว่า เรารู้แล้วว่าความรู้สึกแย่มันเกิดขึ้นบางส่วน แต่มันมีบางคนที่เขาก็ไปได้จริงๆ เศรษฐกิจมันดีจริงๆ หรือแม้กระทั่งเราได้ยินราคาอสังหาริมทรัพย์มันขึ้น ทั้ง 2 ท่านเห็นภาพเดียวกันมั้ยครับ

ดร.พิสิทธิ์: ก็เห็นด้วยกับ ดร.พิพัฒน์ว่า ประเทศไทยจริงๆ เศรษฐกิจในภาพรวมมันดีขึ้น แต่มันมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันสั่งสมมาหลายปี ถ้าดูข้อมูลความเหลื่อมล้ำ (ดูภาพประกอบ) ในมิติต่างๆ ก็จะเห็นตัวเลขความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถือครองทรัพย์สิน บัญชีเงินฝาก ก็จะเห็นชัดเจนว่าคน 1% ถือเงินฝาก 70% ของประเทศ

หรือการถือครองที่ดิน คน 20%บน ถือครองที่ดิน 60% ของประเทศ ส่วนคน 20%ล่างถือครองที่ดินแค่นิดเดียว ก็จะเห็นภาพว่า การถือครองที่ดินของคน 20%บน กับคน 20%ล่าง ต่างกัน 878 เท่า

บัญชีที่มีเงินฝากเกิน 10 ล้านบาท มีแค่ 0.1% ถือเป็นบัญชีเงินฝากเกือบครึ่งหนึ่งของเงินฝากทั้งระบบ นี่คือมิติของการถือครองทรัพย์สิน รายได้

หรือมิติของโอกาส การศึกษา การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนถึงปัญหาที่คนรู้สึกไม่ค่อยดี ภาพความเหลื่อมล้ำนี้มันก็เป็นมาต่อเนื่อง

จากข้อมูล ถ้าพูดในเชิง absolute poverty คนไทยดีขึ้น จนน้อยลงในภาพรวม แต่ความยากจนเชิงเปรียบเทียบ แน่นอนว่าก็ยังเป็นปัญหาอยู่

และในสังคมยุคนี้ต้องยอมรับว่าเราโซเชียลมีเดีย เราเห็นคนอื่น ข้อมูลข่าวสารทั่วถึง เห็นเพื่อนลงเฟซบุ๊ก ถ่ายรูปกับรถหรู ถ่ายรูปกับเครื่องใช้หรู คนก็เปรียบเทียบ อาจทำให้เราไปเปรียบเทียบกับคนที่มีการใช้จ่ายสูงกว่าเรา อย่างเช่นกินอาหารมิชลิน เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็สามารถที่จะเปรียบเทียบได้จากข้อมูลข่าวสาร ก็ทำให้กระทบกับความรู้สึกได้

ดร.เบญจรงค์: ผมก็เห็นด้วยครับว่าตอนนี้เศรษฐกิจโต เศรษฐกิจฟื้น แต่เศรษฐกิจดีทั่วถึงหรือยัง ยัง แต่ถามว่าปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วมั้ย เหมือนจะดีกว่า ปีหน้าก็น่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เพราะฉะนั้นก็ไม่อยากให้คนรู้สึกว่าประเทศไทยมันหมดความหวังเหลือเกิน แต่มันทยอยมา เพียงแต่บางกลุ่มได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัว ช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

แล้วส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเราจะเริ่มเห็น คือเรื่องการท่องเที่ยว ที่เราบอกว่ากระจุกอยู่ใน 4 จังหวัด ทำไมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมันถึงมีความสำคัญอย่างมากในแง่การกระจายการท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ มากขึ้น ฉะนั้นมันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เข้ามาช่วยสนับสนุน

ปัญหาเชิงโครงสร้างของเมืองไทยอยู่กับเรามาเป็น 10 ปีแล้ว แล้วในทุกๆ ปีรัฐบาลแก้ปัญหากันเฉพาะระยะสั้นๆ ในปัญหาเชิงโครงสร้าง ตอนนี้เราก็จะเห็นทั้งในแง่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่เราคุยกันเรื่องราคาสินค้าเกษตรเมื่อสักครู่ หรือแม้กระทั่งเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ ก็เป็นผลกับธุรกิจในประเทศด้วยกันทั้งหมด

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ว่าในขณะที่เราพูดเรื่องการบริโภคไม่ฟื้น สินค้าเกษตรส่งผลให้ไม่มีกำลังซื้อ กลุ่มแบงก์ก็จะรู้ดีว่าลูกค้าเอสเอ็มอีมีปัญหามาก มากกว่ารายใหญ่เยอะมาก ตอนนี้เราเริ่มเห็นสินเชื่อของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เริ่มขยายตัวได้ สอดคล้องกับส่งออกที่ขยายตัว

แต่ว่าธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่ดีขึ้น สินเชื่อเอสเอ็มอียังไม่โต เอ็นพีแอลยังสูงอยู่ มันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า สุดท้ายแล้วมันเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่มันไม่ดี ทำให้เอสเอ็มอียังไม่ฟื้น ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง

อีกปัจจัยหนึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวย คือเรื่อง “ดิจิทัลอีโคโนมี” ต่างๆ ที่เข้ามา และถึงแม้กำลังซื้อจะกลับมา ผมคิดว่าวิธีการใช้เงินจะไม่เหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องระวังอย่างมาก

เรากำลังพูดถึงการซื้อผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ในอดีตเอสเอ็มอีในภูมิภาค ในท้องถิ่น ไม่เคยต้องแข่งด้วย แต่ปัจจุบันด้วยช่องทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งระบบการขนส่ง เมื่อก่อนคนไม่ค่อยอยากจะซื้อผ่านช่องทางดิจิทัล เพราะต้องรอนานกว่าสินค้าจะมา เดี๋ยวนี้ไม่เกิน 2-3 วัน สินค้าถึงหน้าบ้าน และในอนาคตผมเชื่อว่าอีกไม่นาน เราจะส่ง 1 วันทั่วประเทศ

เพราะฉะนั้น ทางเลือกของผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าได้จากที่บ้านของตัวเอง ด้วยทางเลือกที่มากกว่าในอดีตที่เคยมี มันกำลังจะไปสู่แนวทางนั้น เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ว่าถึงแม้กำลังซื้อกลับมา พฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่เหมือนเดิม จากหน้าร้านที่เคยมีคนเดินพลุกพล่านมาซื้อของตลอดเวลา คงไม่ใช่ภาพเก่าที่จะกลับมาเห็นอีกครั้งหนึ่ง

ดร.พิพัฒน์: ผมคิดว่าเอสเอ็มอีโดนทั้งวงจรธุรกิจที่ชะลอตัว และกำลังเจอปัญหาโครงสร้างที่กำลังเปลี่ยน แม้กระทั่งธุรกิจแบบเก่าอย่างโมเดิร์นเทรด ศูนย์การกระจายสินค้า ก็ทำให้อำนาจของเอสเอ็มอีที่เคยมีในอดีตอาจจะเปลี่ยน

ดร.ธีรวุฒิ: แปลว่ารอบนี้ สมมติเศรษฐกิจเริ่มกระจายความดี เอสเอ็มอีทำแบบเดิมก็อยู่ยาก

ดร.เบญจรงค์: จริงๆ ต้องบอกว่า พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กระจายการฟื้นตัวมาสู่ผู้บริโภค เอสเอ็มอีแบบเดิมก็จะยังไม่ได้อานิสงส์ อย่างที่ ดร.พิพัฒน์บอกว่า FMCG บอกว่ายอดขายลำบากมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นจริงๆ แม้กระทั่งไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่ต้องไปเอง สามารถสั่งออนไลน์ให้คนมาส่งได้ มันเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ

ฉะนั้น เรื่องวิถีการทำธุรกิจแบบเดิมๆ โอกาสที่จะรอด แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างทั่วถึง ก็จะยากอยู่ เราต้องเข้าใจว่าร้านที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดก็ยังมีสินค้าไม่เพียงพอเท่ากับทางเลือกที่มีในอินเทอร์เน็ต

แล้วผมคิดว่าความยากของเอสเอ็มอีในปัจจุบันคือ พอยอดขายตัวเองไม่ดี เราจะตอบโจทย์ได้อย่างไร ว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี หรือเป็นเพราะเราเจอกับคู่แข่งที่เราไม่ได้เห็นหน้าร้านเขาอีกต่อไป

ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

ดร.ธีรวุฒิ: ดร.พิสิทธิ์น่าจะรู้จักคลุกคลีกับเอสเอ็มอีอยู่บ้าง เห็นภาพในทำนองเดียวกันมั้ยครับ

ดร.พิสิทธิ์: ก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีมันกำลังเปลี่ยน วันนี้เอสเอ็มอีไทยไม่ได้แข่งในประเทศไทยอย่างเดียว เพราะตลาดดิจิทัลเปิดกว้างทั่วโลก ซึ่งวันนี้เราอาจจะต้องไปแข่งกับเอสเอ็มอีที่จีน หรือที่ต่างประเทศ ที่เขาสามารถเปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้เหมือนกัน

ผมมองว่าเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส เพราะวันนี้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เปิดให้กับอีคอมเมิร์ซ คนธรรมดาก็สามารถที่จะเริ่มต้นธุรกิจได้ แต่โจทย์สำคัญวันนี้คือ ทำอย่างไรที่เราจะเตรียมพร้อมคนไทยในอนาคตสำหรับดิจิทัล อีโคโนมี อย่างไร

ดร.พิพัฒน์: อาจจะสรุปได้ประมาณว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอานิสงส์ของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังไปไม่ถึงในหลายภาคส่วน ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่แม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะฟื้นแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้สึกขนาดนั้น

ผมขออนุญาตเพิ่มอีก 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่งที่หลายคนพูดถึงคือเรื่อง “หนี้ครัวเรือน” ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2011-2012 เหมือนกับช่วงนั้นเรายืมรายได้จากอนาคต วันนี้เราก็มายืนอยู่บนอนาคตแล้ว เรากำลังถูกรายได้ที่ถูกยืมไปใช้เมื่อครั้งนั้น ตอนนี้เรากำลังจะจ่ายคืนให้การบริโภคตรงนั้น

ก็ทำให้หลายคนถูกยืมรายได้อนาคตไปจ่ายหมดแล้ว วันนี้ก็เหลือเงินน้อยลง ถึงรายได้เพิ่มมา ส่วนหนึ่งก็ไปจ่ายคืนเจ้าหนี้ก่อน ก็ยิ่งทำให้คนอาจจะไม่รู้สึกดีเท่าที่ควร

อีกประเด็นหนึ่งคือ พวกรายได้ ในแง่เงินในกระเป๋า ถ้ายังไม่สะท้อนกลับเข้ามา คนก็อาจจะยังไม่รู้สึก ยังไม่กล้าใช้ เป็นเรื่องของความมั่นใจด้วย

ดร.ธีรวุฒิ: ในช่วงแรกที่เราคุยกัน สรุปเบื้องต้นได้ว่า สิ่งที่เราคุยว่าเศรษฐกิจฟื้น แต่ทำไมคนไม่รู้สึกดี เบื้องต้นก็คือเศรษฐกิจของเราติดอยู่ในอาการชะลอตัวมาระยะหนึ่ง และในช่วงนี้เศรษฐกิจที่ดีจะมาจากภาคส่งออก แต่เป็นสัดส่วนที่ยังไม่เยอะมาก เราจะรอจนกระทั่งคล้ายๆ เป็นแสงไฟแห่งความหวัง ว่ามันจะกระจายตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

ในประเด็นที่สอง ที่ทำให้คนอาจจะยังไม่รู้สึกดี ก็เพราะว่าเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐกิจรายย่อยเอสเอ็มอี บางทีเราใช้เงินในอนาคตมาส่วนหนึ่ง เมื่อเงินยังมาไม่ถึงเรา เราก็ยังไม่กล้าใช้เงิน

และเรื่องสุดท้ายที่คุยกันมาก็คือเรื่อง รูปแบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การที่เราดำเนินธุรกิจตามปกติ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจดี เราอาจรู้สึกแย่ก็ได้
(ติดตามตอนที่2)

สนับสนุนเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 4 โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร