ThaiPublica > เกาะกระแส > เทคโนโลยีอัจฉริยะของร้าน Amazon Go เปลี่ยน “7-Eleven” เป็นร้านสะดวกซื้อแบบไฮเทค

เทคโนโลยีอัจฉริยะของร้าน Amazon Go เปลี่ยน “7-Eleven” เป็นร้านสะดวกซื้อแบบไฮเทค

29 มกราคม 2018


ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/4d/Amazon_Go

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา Amazon Go ร้านสะดวกซื้อของ Amazon เปิดกิจการครั้งแรกที่เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ลูกค้าเดินเข้าร้าน หยิบของที่ต้องการ แล้วก็เดินออกจากร้าน โดยไม่มีใครวิ่งไล่ตามจับ การจะซื้อของในร้านสะดวกซื้อได้อย่างสะดวกสบายแบบนี้ ก็ต้องเข้าไปชอปปิ้งในร้าน Amazon Go เพราะความสะดวกสบายของลูกค้าถือเป็นวิสัยทัศน์ของยักษ์ใหญ่ขายของออนไลน์อย่าง Amazon โดยลูกค้าไม่ต้องเข้าแถวรอจ่ายเงิน และทางร้าน Amazon Go ก็ไม่มีพนักงานเก็บเงิน

ความสะดวกในการชอปปิ้งของลูกค้าในร้าน Amazon Go เกิดจากเทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น แอปพลิเคชันของสมาร์ตโฟน กล้องอินฟราเรดติดตั้งที่เพดาน ระบบทำงานของคอมพิวเตอร์แบบการจับภาพ หรือ computer vision อุปกรณ์ทั้งหมดจะทำงานร่วมกันเพื่อคอยดูว่า ลูกค้าหยิบของอะไรจากชั้น และก็จะคิดเงินผ่านบัตรเครดิตที่ลูกค้าเปิดบัญชีไว้กับ Amazon เทคโนโลยีชอปปิ้งแบบไฮเทคของ Amazon Go นี้ พนักงานของ Amazon เป็นคนพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับการชอปปิ้งออฟไลน์ผ่านร้านสะดวกซื้อทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่ในระยะที่ผ่านมา Amazon เป็นยักษ์ใหญ่การซื้อขายของทุกอย่างแบบออนไลน์ ตั้งแต่ A ถึง Z

เพดานของร้าน Amazon Go มีกล้องนับร้อยตัวจับภาพลูกค้า ที่มาภาพ : recode.net

ร้าน “7-Eleven” แบบไฮเทค

หน้าตาของร้าน Amazon Go ก็เหมือนกับร้าน 7-Eleven แต่ลูกค้าเข้าร้านจะต้องผ่านการสแกนด้วยแอปพลิเคชันของ Amazon Go เวลาออกจากร้าน ก็เดินออกไปได้เลย ไม่ต้องผ่านการสแกนอีกครั้ง เมื่อเข้าไปในร้านจะเห็นสินค้าต่างๆ เช่น ผักสลัด แซนด์วิช และเครื่องดื่ม รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทานสำหรับทุกมื้อ ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวัน หรือมื้อเย็น

Amazon Go มีบริเวณที่ขายเบียร์และไวน์ แต่มีพนักงานอยู่ประจำ เพื่อคอยตรวจบัตรประชาชนของคน ที่จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะเป็นร้านของ Amazon แต่ Amazon Go ก็ขายสินค้าที่มาจากร้านซูเปอร์มาร์เก็ต The Whole Foods ที่ Amazon ซื้อกิจการเมื่อปีที่แล้ว เป็นสินค้าที่เรียกว่า 365 Brand เช่น มันทอด หรือถั่วต่างๆ

การเปิดร้านสะดวกซื้อ Amazon Go นั้น Amazon อาจมีเหตุผลจริงๆอยู่ที่ความต้องการจะพิสูจน์ความคิดที่ว่า เทคโนโลยีสามารถทำให้ร้านสะดวกซื้อ มีความสะดวกมากขึ้นสำหรับลูกค้า Amazon อาจต้องการสร้างกลุ่มลูกค้าที่ซื่อสัตย์กลุ่มใหม่ขึ้นมา จากเดิมมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้อยู่แล้วในระบบการขายออนไลน์ ลูกค้ากลุ่มใหม่นี้จะเป็นลูกค้าแบบออฟไลน์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังซื้อของกินของใช้ผ่านร้านสะดวกซื้อมากกว่าจะซื้อทางออนไลน์ ในสหรัฐฯ 90.9% ของยอดการขายปลีก ยังซื้อผ่านร้านสะดวกซื้อ

นาย Dilip Kumar หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Amazon Go บอกกับ redcode.net ว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ใน Amazon มีการตั้งคำถามกันว่า “เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อทำให้เกิดความสะดวกมากขึ้นในการซื้อของในร้านต่างๆ คำตอบที่ได้มาก็คือ คนเราไม่ชอบที่จะเข้าแถวรอการชำระเงิน”

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=NrmMk1Myrxc

หลังจากลูกค้าเดินเข้าร้าน จากการสแกนด้วยโทรศัพท์มือถือ ผ่านแอปพลิเคชันของ Amazon Go แล้ว ลูกค้าจะเดินชอปปิ้งเหมือนกับร้านสะดวกซื้อทั่วๆ ไป แต่มีจุดต่างกันที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ หลังจากเลือกของที่ต้องการซื้อได้หมดแล้ว ลูกค้าจะเดินออกจากร้าน โดยไม่ต้องชำระเงินใดๆ แต่เทคโนโลยีของ Amazon Go จะคิดเงินจากลูกค้าทันที ที่เดินออกจากร้าน ผ่านบัญชีที่เปิดไว้กับ Amazon การคิดเงินจะแจ้งผ่านใบเสร็จดิจิทัล ทาง Amazon Go จึงเรียกความสะดวกรวดเร็วนี้ว่า “การชอปปิ้งแบบเดินออกจากร้านได้เลย” ลูกค้าร้าน Amazon Go คนหนึ่งบอกกับ New York Times ว่า รู้สึกเหมือนกับหยิบของออกจากร้านสะดวกซื้อแล้วไม่จ่ายเงิน

ระบบ Amazon Go ทำงานดังกล่าวได้อย่างไร?

ร้าน Amazon Go มีกล้องจับภาพติดตั้งที่เพดาน ซึ่ง New York Times บอกว่ามีร้อยกว่าตัว และเครื่องเซนเซอร์ที่ชั้นวางของ ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานแบบมองภาพของคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการมองภาพจากกล้องของ Amazon Go ทำงานคล้ายกับเทคโนโลยีการมองภาพของรถยนต์ที่ไร้คนขับ เทคโนโลยีนี้จะเชื่อมโยงลูกค้าที่เข้าร้านผ่านการสแกนจากแอปพลิเคชัน กับสินค้าที่หยิบจากชั้นวางของ แล้วถูกนำออกจากร้าน แต่ระบบการมองภาพของคอมพิวเตอร์ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ในกรณีที่ลูกค้า 2 คนหน้าตาคล้ายกันแล้วเดินซื้อของอยู่ใกล้ๆ กัน

ผลกระทบต่อการจ้างงาน

ร้านสะดวกซื้อไฮเทค Amazon Go จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงานในธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ งานที่ทำหน้าที่เก็บเงินของร้านค้าปลีกถือเป็นงานสามัญใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ รองจากพนักงานขายของในร้าน New York Times รายงานว่า ในปี 2016 สหรัฐฯ มีคนทำงานเก็บเงินถึง 3.5 ล้านคน รายได้เฉลี่ยของพนักงานเก็บเงินอยู่ที่ปีละ 20,000 ดอลลาร์ หากเทคโนโลยี Amazon Go ขยายตัวไปยังร้านสะดวกซื้อต่างๆ งานดังกล่าวนี้ก็คงจะหายไป

เมื่อปี 2013 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดก็เคยคาดหมายไว้แล้วว่า งานในหน้าที่การเก็บเงินที่มีลักษณะเป็นงานแบบทำซ้ำๆ ซากๆ มีความเสี่ยงถึง 97% ที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ Amazon บอกว่า เทคโนโลยีของตัวเอง จะเป็นเพียงการเปลี่ยนบทบาทการทำงานของพนักงาน เช่น เปลี่ยนมาทำงานการนำสินค้ามาเติมในชั้นวางของ หรือช่วยลูกค้าหาของที่ต้องการ เป็นต้น สรุปก็คือ งานไม่ได้สูญหายไป แต่เปลี่ยนไปเป็นงานอย่างอื่นแทน

แต่ร้าน Amazon Go ก็สะท้อนความพยายามของ Amazon ที่จะหาทางลดขั้นตอนของธุรกรรมการค้าปลีกให้เหลือน้อยที่สุดมาตลอด นักวิเคราะห์เทคโนโลยีคนหนึ่งของ Royal Bank of Canada บอกกับ theatlantic.com ว่า “ในเรื่องการเลือกซื้อ ความสะดวก และราคาที่ต่ำ Amazon ให้คุณได้มาแล้วภายใน 3 วัน จากนั้นก็เหลือ 2 วัน จากนั้นก็เหลือ 1 วัน แล้วก็มาเหลือภายในวันเดียวกัน และภายใน 1 ชั่วโมง Amazon ได้ดำเนินการมามาก ที่จะขจัดความไม่สะดวกต่างๆ ในการชอปปิ้งออนไลน์ คำถามมีอยู่ว่า Amazon จะทำได้หรือไม่กับร้านค้าออฟไลน์”

โฉมหน้าใหม่ของร้านสะดวกซื้อแบบไฮเทคของ Amazon Go คงจะสั่นคลอนธุรกิจค้าปลีกแบบเดิมๆ ทำให้งานบางอย่างล้าสมัยและสูญหายไปในที่สุด แต่ในระยะที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมประสบภาวะชะงักงัน ไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีมาแล้ว เมื่อคนเราขึ้นลิฟต์ต้องอาศัยพนักงานทำหน้าที่ควบคุมลิฟต์ จะโทรศัพท์ไปที่ไหนสักแห่งก็ต้องผ่านพนักงานทำหน้าที่โอเปอเรเตอร์ หากเราจะดูภาพยนตร์ในบ้าน ก็ต้องไปหาซื้อดีวีดีหรือเช่าจากร้านวิดีโอ แต่ทุกวันนี้ คนเราสามารถเสียเงินดูภาพยนตร์ที่บ้านได้เลยผ่านบริษัทที่ให้บริการอย่างเช่น Netflix หรือ Amazon Studios

ดูเพิ่มเติมที่นี่

เอกสารประกอบ

Amazon’s Checkout-Free Store Makes Shopping Feel Like Shoplifter, Jake Bullinger, theatlantic.com.
Inside Amazon Go, a Store of the Future, Nick Wingfield, nytimes.com.
Amazon Go, a high-tech version of a 7-Eleven, will finally open on Monday – with no checkout lines and no cashiers, Jason Del Rey, recode.net.