ThaiPublica > เกาะกระแส > ครบรอบ 50 ปี การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศ อะพอลโล 11

ครบรอบ 50 ปี การลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศ อะพอลโล 11

21 กรกฎาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นักบินอวกาศ บัซซ์ อัลดรินบนดวงจันทร์ ที่มาภาพ : wikipedia.org

ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2019 นี้ เป็นการครบรอบ 50 ปี ที่มนุษย์คนแรก คือนักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) และบัซซ์ อัลดริน (Edwin “Buzz” Aldrin) ได้เดินทางด้วยยานอวกาศอะพอลโล และก้าวเดินลงเหยียบผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษย์เรา ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1969 เมื่อนักบินอวกาศ 2 คนก้าวลงเหยียบผิวดวงจันทร์นั้น มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และมีคนทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน ได้ดูเหตุการณ์ครั้งนี้

การเดินทางของมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของโลกอย่างหนึ่ง อาร์เธอร์ ชเลซินเกอร์ (Arthur Schlesinger) นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐฯ กล่าวว่า การค้นพบที่สำคัญในศตวรรษที่ 20 ได้แก่ DNA ยาเพนิซิลลิน คอมพิวเตอร์ และตัวชิป เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารยะธรรม แต่ในอีก 500 ปีข้างหน้า คนในอนาคตจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 คือ การเดินทางไปยังดวงจันทร์ของมนุษย์เรา

ภาพถ่ายโลกที่โด่งดังกับผิวดวงจันทร์ชื่อ Earthrise ที่ถ่ายโดยนักบินอวกาศจากยานอะพอลโล 8 ที่มาภาพ : wikipedia.org

ความความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

การเดินทางท่องไปในอวกาศ ล้วนเต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ ดวงจันทร์ไม่มีอากาศ แต่มีฝุ่น ในหนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกวางตลาดชื่อ One Giant Leap (2019) ของ Charles Fishman กล่าวว่า สำหรับองค์การการบินและอวกาศของสหรัฐฯ หรือ นาซ่า แม้แต่ฝุ่นดวงจันทร์ก็เป็นเรื่องที่มีปริศนาความลี้ลับ เนื่องจากฝุ่นดวงจันทร์ไม่ได้สัมผัสกับออกซิเจนมายาวนาน หากนักบินอวกาศนำติดตัวกับมาที่ยานจันทรา หรือ “ลูนา” (Lunar Module) เมื่อเปิดระบบความดันอากาศในห้องโดยสารของยาน ก็อาจเกิดระเบิดขึ้นมาได้ เพราะฝุ่นเกิดการสัมผัสกับออกซิเจน

ทำไมการเดินทางของมนุษย์ไปดวงจันทร์ในปี 1969 จึงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หนังสือ One Great leap กล่าวว่า คำตอบนั้นมีอย่างง่ายๆ เมื่อประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดีประกาศในปี 1962 ว่า สหรัฐฯจะส่งคนไปยังดวงจันทร์ เท่ากับเป็นการแสดงพันธะในสิ่งที่ประเทศนี้ไม่เคยทำมาก่อน สหรัฐฯยังไม่มีจรวจ ฐานส่งจรวด เสื้ออวกาศ คอมพิวเตอร์ หรืออาหารในภาวะไร้น้ำหนัก ที่ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นในการส่งคนไปดวงจันทร์

ปัญหาไม่เพียงแค่สหรัฐฯยังไม่มีสิ่งที่จำเป็นในการเดินทางไปดวงจันทร์เท่านั้น แต่สหรัฐฯยังไม่รู้ว่า สิ่งที่จำเป็นนั้นจะต้องมีอะไรบ้าง ที่สำคัญสหรัฐฯยังไม่รู้ว่า จะบินไปดวงจันทร์ได้อย่างไร และเมื่อไปถึงดวงจันทร์แล้ว นักบินอวกาศจะไปพบกับอะไรบ้าง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์บางคนเห็นว่า ในภาวะที่แรงดึงดูดเป็นศูนย์ คนเราอาจอยู่ในสภาพที่คิดอะไรไม่ออก ส่วนนักคณิตศาสตร์เกรงว่า นักบินอวกาศจะไม่สามารถคิดคำณวนให้ยาน 2 ลำโคจรมาพบกันในอวกาศ

ดังนั้น ในช่วงปี 1966-1969 บรรดานักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักบริหาร ผู้ควบคุมการบิน นักออกแบบจรวด นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และคนงานโรงงานสร้างยานอวกาศ รวมกันเรียกว่า ทีมดวงจันทร์กว่า 4 แสนคน ได้แก้ปัญหาที่เป็นการท้าทายมากกว่า 10,000 ปัญหา เพื่อส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ และนำพวกเขากลับมายังโลกอย่างปลอดภัย

อดีตประธานาธิบดีเคนเนดีแถลงในปี 1961 ที่จะส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ ที่มาภาพ : houstonchronicle.com

จากจุดเริ่มต้น สู่ปลายทาง

โครงการอะพอลโล หรือการส่งนักบินอวกาศไปเยือนดวงจันทร์ มีจุดเริ่มต้นจากการประกาศของอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี เมื่อเดือนพฤษภาคม 1961 ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่า ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ ประเทศนี้ควรมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย การส่งคนไปเยือนดวงจันทร์ และนำเขากลับมายังโลกอย่างปลอดภัย”

หนังสือ Team Moon (2006) ของ Catherine Thimmesh กล่าวว่า ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้อย่างมั่นใจว่า จะเดินทางไปดวงจันทร์ได้อย่างไร จะส่งนักบินอวกาศไปลงดวงจันทร์อย่างไร และจะกลับมายังโลกเราได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ด้านอวกาศของสหรัฐฯระบุว่า ในการส่งคนไปดวงจันทร์ มีภารกิจงานอยู่ 10,000 อย่าง ที่จะต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่งานจะต้องทำยังมีอีกมากมาย

ในที่สุด แผนการสุดท้ายที่ปรากฏออกมา ก็แตกต่างจากสิ่งที่เคยเป็นความฝัน แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่า การเดินทางไปยังดวงจันทร์ ใช้ยานอวกาศลำเดียวที่เดินทางไปล่อนลงที่ดวงจันทร์ แล้วก็เดินทางกลับมายังโลกเรา แต่แผนงานสุดท้าย ยานอวกาศถูกออกแบบเป็น 2 ลำ คือยานลำแม่ที่ทำหน้าที่ควบคุมการบิน (command and service module) และอีกลำคือ ยานจันทรา (lunar module) ที่จะแยกตัวออกไปล่อนลงดวงจันทร์ แล้วก็ขึ้นกลับมาสมทบกับยานลำแม่

ในอวกาศเต็มไปด้วยสภาพอันตราย เช่น วัตถุขนาดเล็กมากที่วิ่งในอวกาศ พลังงานรังสี และสภาพที่ไร้อากาศ ส่วนการเดินทางกลับมายังโลก ยานจะเผชิญกับความร้อนสูง เมื่อเข้าสู่บรรยากาศโลก เจ้าหน้าที่นาซ่าที่ออกแบบยานแม่บอกว่า การออกแบบยานอวกาศ จะต้องมั่นใจว่า นักบินอวกาศสามารถมีชีวิตรอดได้ เพราะเหตุนี้ ยานแม่ที่มีชื่อว่า โคลัมเบีย (Columbia) จะทำหน้าที่เป็นที่พักอาศัยของนักบินอวกาศ และเป็นศูนย์บัญชาการการเดินทาง รวมทั้งเป็นยานที่จะกลับมายังโลกเรา

หลังสือและภาพยนตร์สารดีชื่อ Chasing the Moon ที่เผยแพร่ในโอกาสครบ 50 ปีของยานอะพอลโล 11

ยานอะพอลโล 11

ยานอะพอลโล 11 ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Saturn V เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1969 จากศูนย์อวกาศเคนเนดี ยานอะพอลโลมี 3 ส่วน คือ (1) ยานบัญชาการ ที่ประกอบด้วยห้องพักนักบินอวกาศ 3 คน และส่วนที่กลับมายังโลก (2) ยานส่วนสนับสนุนการเดินทาง ได้แก่การขับเคลื่อน พลังไฟฟ้า ออกซิเจน และน้ำ และ (3) ยานจันทรา (lunar module) ที่มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ลงจอดที่ดวงจันทร์ กับส่วนที่จะนำนักบินอวกาศขึ้นมาโคจรรอบดวงจันทร์ และสมทบกับยานแม่

หลังจากอาศัยการขับเคลื่อนเพื่อเดินทางไปดวงจันทร์จากจรวดท่อนที่ 3 นักบินอวกาศก็แยกยานอะพอลโลจากจรวดท่อนสุดท้าย และใช้เวลาเดินทาง 3 วัน เพื่อเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ จากนั้น นีล อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน ก็เข้าไปอยู่ในยานจันทรา ที่มีชื่อเรียกว่า Eagle แล้วก็ร่อนลงจอดบริเวณที่เรียกว่า ทะเลแห่งความเงียบ (Sea of Tranquility) ก้าวแรกของอาร์มสตรองที่เหยียบผิวดอกจันทร์ มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก

นักบินอวกาศทั้งสองคนเดินอยู่บนดวงจันทร์นาน 2 ชั่วโมงครึ่ง แล้วก็อาศัยยานจันทราท่อนที่ทำการบินขึ้นจากผิวดวงจันทร์ มาสมทบกับยานบัญชาการ Columbia ที่มีนักบินอวกาศไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ทำหน้าที่ควบคุมยานอยู่ จากนั้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 1969 ก็เดินทางกลับมายังโลก และยานร่อนลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยอาศัยร่มชูชีพ รวมเวลาเดินทางในอวกาศทั้งหมดกว่า 8 วัน

ช่วง 50 ปีหลังจากอะพอลโล 11 องค์การนาซ่าได้ส่งยานอวกาศไปสำรวจและไปพ้นจากดาวพลูโต ลงยานไปลงยังผิวดาวอังคาร นักดาราศาสตร์ยังค้นพบดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะและมีลักษณะคล้ายโลกเรา แต่คนส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่า ยานจันทราของอะพอลโล 11 ที่ไปลงจอดบนดวงจันทร์ พร้อมนักบินอวกาศ 2 คน เป็นเหตุการณ์ที่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สุดของการเดินทางสำรวจอวกาศ

หนังสือและภาพยนตร์สารคดีชื่อ Chasing the Moon (2019) อ้างความเห็นของอาร์เธอร์ ซี คลาร์ก (Arthur C. Clarke) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เรื่อง 2001: A Space Odyssey ที่กล่าวว่า การส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ คือการเริ่มต้นการดำรงชีวิตในจักรวาล ที่อยู่นอกโลกของเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Homo Sapiens) พร้อมกับเป็นพันธะสัญญาที่แสดงว่า ในอนาคตข้างหน้า มนุษย์เราจะบรรลุอะไร

เอกสารประกอบ

One Giant Leap, Charles Fishman, Simon & Schuster, 2019.
Chasing the Moon, Alan Andres & Robert Stone, Ballantine Books, 2019.
Apollo 11, Wikipedia.org