ThaiPublica > เกาะกระแส > อวสานของ “ประชาธิปไตยของผู้ถือหุ้น”แล้วธุรกิจตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

อวสานของ “ประชาธิปไตยของผู้ถือหุ้น”แล้วธุรกิจตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

25 สิงหาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Walmart’s Shareholder Meeting ที่มาภาพ: https://www.businessinsider.com/walmart-shareholders-meeting-2016-photos-2017-5

เมื่อวัน 19 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจชื่อ Business Roundtable (BR) ที่ประกอบด้วย CEO ของบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง วัตถุประสงค์ใหม่ของบรรษัทธุรกิจ ว่า จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด อันได้แก่ ลูกค้า พนักงาน ซัพพลายเออร์ ชุมชน และผู้ถือหุ้น

นับจากปี 1997 เป็นต้นมา กลุ่ม BR ได้ออกแถลงการณ์เป็นระยะมาตลอดในเรื่องธรรมาภิบาลขององค์กรธุรกิจ แต่ละครั้งทาง BR ให้การสนับสนุนหลักการเรื่องความสำคัญของผู้ถือหุ้น โดยถือว่าการดำรงอยู่ของบรรษัทธุรกิจก็เพื่อสนองประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

แต่แถลงการณ์ล่าสุดของ BR เรื่องวัตถุประสงค์ของบรรษัท ซึ่งมี CEO ของบริษัทชั้นนำ 181 แห่งร่วมลงนาม กล่าวว่า

    (1) จะมุ่งมั่นสร้างมูลค่าให้กับผู้บริโภค โดยการสนองความคาดหวังของลูกค้า

    (2) การลงทุนในพนักงาน โดยเริ่มจากผลตอบแทนที่เที่ยงธรรม และการฝึกฝนทักษะใหม่แก่พนักงานในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป

    (3) ดำเนินการที่เที่ยงธรรมและมีคุณธรรมกับซัพพลายเออร์ โดยการเป็นหุ้นส่วนที่ดีกับบริษัทอื่นๆ เพื่อดำเนินการในภารกิจของบริษัท

    (4) สนับสนุนชุมชนที่บริษัทมีส่วนร่วมทำงาน เคารพประชาชนในชุมชน และปกป้องสภาพแวดล้อม โดยยึดถือการดำเนินงานที่ยั่งยืนของธุรกิจ

    และ (5) สร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่ให้เงินทุนสำหรับธุรกิจใช้ในการลงทุน การเติบโต และสร้างนวัตกรรม

ความผิดพลาดของ Milton Friedman

Eric Posner เขียนในบทความชื่อ Milton Friedman was wrong ใน theatlantic.com ว่า การเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของ CEO กลุ่ม BR หมายความว่า นับจากนี้ต่อไป ธุรกิจไม่ได้มีเป้าหมายแสวงหากำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น แต่เป็นการสร้างประโยชน์แก่ “ผู้มีส่วนได้เสีย” (stakeholders) อื่นๆ ด้วย เช่น พนักงาน ลูกค้า และประชาชน

แนวคิดวัตถุประสงค์ของธุรกิจเพื่อผู้ถือหุ้น ถือเป็นผลงานทางความคิดของ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่ได้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี 1970 เขาเขียนบทความลงใน New York Times ว่า CEO คือลูกจ้างของผู้ถือหุ้น ดังนั้น จึงต้องทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น การทำประโยชน์นั้นก็คือ การให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นนั้นเอง

Milton Friedman อธิบายอีกว่า หาก CEO หันไปทำอย่างอื่นที่แตกต่างจากนี้ เช่น ใช้เงินบริษัทไปบริจาคให้องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หรือลดความยากจนในหมู่ประชาชน CEO ก็ต้องหาเงินจากทางใดทางหนึ่ง เช่น จากลูกค้า โดยตั้งราคาสูงขึ้น, จากพนักงาน โดยกดค่าจ้างลง หรือจากผู้ถือหุ้น โดยให้ผลตอบแทนน้อยลง

ในแง่นี้ การกระทำของ CEO เหมือนกับไปเก็บภาษีกับคนอื่นๆ แล้วนำเงินมาใช้ในด้านสังคมที่ตัวเองไม่มีความถนัด เป็นเรื่องดีกว่าที่จะปล่อยให้ลูกค้า พนักงาน หรือผู้ถือหุ้น ใช้เงินของตัวเอง ไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล หากพวกเขามีความประสงค์ดังกล่าว

แนวคิดดังกล่าวของ Milton Friedman ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในแวดวงธุรกิจ เพราะช่วยให้ธุรกิจหลุดพ้นจากปัญหาทางจริยธรรมที่ยุ่งยากมาก และช่วยปกป้องธุรกิจจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลามีผลกำไร ส่วนพวกวอลล์สตรีทเห็นว่า ทัศนะของ Milton Friedman ช่วยทำให้เห็นตัวเงินทองมากขึ้น เพราะเป็นแนวคิดที่บอกว่า ให้ธุรกิจทุ่มเทกับการแสวงหาผลกำไร

Milton Friedman ที่มาภาพ: https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2019/08/milton-friedman-shareholder-wrong/596545/

บทความของ Eric Posner กล่าวว่า การสร้างความชอบธรรมเรื่องการแสวงหากำไร ทำให้ธุรกิจใช้วิธีการหลายอย่าง ที่ทำให้ได้ผลกำไรมากสุด เช่น การขจัดการแข่งขัน โดยการควบรวมกิจการ การทุ่มตลาดเพื่อทำลายคู่แข่ง หรือชักจูงให้รัฐออกกฎหมาย ขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจรายใหม่

นอกจากนี้ การเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้มีฐานะแบบกึ่งผูกขาด ก็ยิ่งอยู่ในฐานะที่จะแสวงหากำไรสูงสุด หรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น กรณี Facebook หรือการใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรณี Exxon

การบิดเบี้ยวของประชาธิปไตยผู้ถือหุ้น

บทความของ Andrew Ross Sorkin ใน New York Times กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 50 ปีที่บริษัทอเมริกันให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 กับการสร้างผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้น การทุ่มเทเพื่อเป้าหมายนี้ กลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ เช่น ประโยชน์ของลูกค้า พนักงาน หรือชุมชน

การให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้นถูกเรียกว่า “ประชาธิปไตยของผู้ถือหุ้น” (shareholder democracy) โดยนักลงทุนแสดงอำนาจในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เรื่องธรรมภิบาลขององค์กร การกำหนดลำดับความสำคัญขององค์กร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ยุคความเป็นใหญ่ของผู้ถือหุ้น

การลงนามของ CEO บริษัทชั้นนำอย่างเช่น JPMorgan Chase, Apple, Amazon และ Walmart อาจเป็นความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวัตถุประสงค์ของบริษัทธุรกิจอเมริกา เพราะแถลงการณ์กล่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นพื้นฐานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ถือหุ้น

ที่ผ่านๆ มา บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะทบทวนบทบาทความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม โดยมีท่าทีว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือความรุนแรงที่มาจากอาวุธปืน เป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นทางธุรกิจ เพราะเหตุนี้ แถลงการณ์เรื่องวัตถุประสงค์ใหม่ของธุรกิจ จึงเป็นการเปลี่ยนท่าทีครั้งสำคัญของธุรกิจยักษ์ใหญ่ในอเมริกา

บทความของ Andrew Ross Sorkin ที่เคยเขียนหนังสือโด่งดังชื่อ Too Big to Fail กล่าวอีกว่า แม้หลายคนอาจจะยังสงสัยความเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ของธุรกิจยักษ์ใหญ่ แต่ท่าทีดังกล่าวของธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

เกือบ 50 ปีหลังจากที่มีการพิมพ์หนังสือโด่งดังชื่อ The Modern Corporation and Private Property ในปี 1932 บริษัทธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินงานเพื่อกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียทุกส่วน เช่น การมีสหภาพแรงงาน โครงการเกษียณของบริษัท เงินก้อนเพื่อการเกษียณ งานสาธารณกุศลแก่ชุมชน และการวิจัยเพื่อการเติบโตในอนาคตของบริษัท เป็นต้น

นับจากปี 1970 ที่ Milton Friedman เขียนว่า ธุรกิจมีเป้าหมายอยู่ที่กำไร ทำให้เวลาต่อมา เกิดการแพร่หลายของแนวคิด “ประชาธิปไตยของผู้ถือหุ้น” ผู้บริหารบริษัทที่ไม่ดำเนินลดต้นทุนต่างๆ จะถูกผู้ถือหุ้นขับออกไป การปลดพนักงานจึงมีเพิ่มขึ้น งบด้านวิจัยและพัฒนาถูดตัดทอนลงไป หรือโครงการบำนาญขององค์กร ถูกเปลี่ยนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เรียกว่า 401(k)

การถกเถียงทางการเมืองระดับประเทศในสหรัฐฯ เรื่องทุนนิยม มีส่วนทำให้กลุ่มธุรกิจชั้นนำออกแถลงการณ์ดังกล่าว รวมทั้งกระแสประชานิยมของขั้วทางการเมืองต่างๆ เช่น นโยบายกีดกันการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือนโยบายรัฐสวัสดิการของวุฒิสมาชิก เบอร์นี แซนเดอรส์

แต่ท่าทีล่าสุดของกลุ่ม Business Roundtable อาจเป็นจุดเริ่มต้น เพราะกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มชื่อ The Council of Institutional Investors ก็ออกแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วย โดยบอกว่า “ความรับผิดชอบต่อทุกคน คือความไม่รับผิดชอบต่อใครเลย เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่บริษัทธุรกิจ ที่จะรับผิดชอบ ในการระบุสิ่งที่เป็นเป้าหมายทางสังคม”

เอกสารประกอบ

How shareholder democracy failed the people, Andrew Ross Sorkin, The New York Times, August 21, 2019.
Milton Friedman was wrong, Eric Posner, theatlantic.com