ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 3) : ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพิ่มพลังเสียงประชาชน

สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 3) : ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพิ่มพลังเสียงประชาชน

14 กุมภาพันธ์ 2021


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย โดยคณะราษฎร 27 มิถุนายน 2475 บัญญัติให้อายุผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเป็นรัฐมนตรีอยู่ที่ 20 ปี ในขณะที่ปัจจุบัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุ 25 ปี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป ในขณะที่ฮ่องกงอนุญาตให้ประชาชนลงสมัครรับเลือกตั้งสภาท้องถิ่นได้ตั้งแต่ 21 ปี ส่วนออสเตรเลีย, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์ กำหนดอายุเริ่มต้นของผู้ลงสมัครตำแหน่งทางการเมืองไว้ที่ 18 ปีในทุกระดับ (หลายปีก่อน Wyatt Roy อายุ 20 ปี ได้เก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนในเลือกตั้ง federal) เช่นเดียวกันกับประเทศแคนาดา เว้นแต่ตำแหน่งวุฒิสภาที่สงวนไว้ที่อายุอย่างน้อย 30 ปี ไม่ไกลบ้านเรา ประเทศมาเลเซีย “ไซเอ็ด แซดดิค อับดุล ราห์มาน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา ด้วยเพียงอายุ 25 ปี และช่วงที่ผ่านมา คุณไซเอ็ดก็ได้ประกาศลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งของมาเลเซียจากเดิม 21 ปี เป็น 18 ปี ทำให้จะมีผู้มีสิทธิมากขึ้น 3.7 ล้านเสียง

สภาจะเป็นพื้นที่ของตัวแทนกลุ่มคนที่หลากหลายช่วงวัยได้ หากประเทศไทยลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งลง

ทำไมต้องลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

หลายปีก่อน รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งทางช่อง TPBS ติดต่อผมมาให้ไปเสนอนโยบายลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่จำเป็นต้องปฏิเสธไปด้วยเหตุด้านการปฏิบัติต่อแขกคนก่อนหน้าของรายการนี้ รวมถึงรูปแบบรายการยังจัดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ตัดสิน อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวถูกเสนอในเวลาต่อมา โดยนักกิจกรรมผู้หนึ่ง

ตามกฎหมายแล้วเราทราบดีว่า กฎหมายอนุญาตให้จ้างงานคนอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่มากกว่า 15 ปีทำงานได้ตามข้อกำหนด, อนุญาตให้คน 17 ปีแต่งงานได้ รวมทั้งให้คน 17 ปีที่เข้าเกณฑ์ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินและให้อำนาจศาลลงโทษทางอาญาแก่คนอายุมากกว่า 15 แต่ต่ำกว่า 18 ปีได้ เช่นเดียวกับคนทั่วไป

เมื่อมองจากกรอบกฎหมาย หากคนอายุมากกว่า 15 ปี โตพอที่จะ ‘เสียภาษี’ ‘มีครอบครัว’ ‘เสี่ยงภัยสงคราม’ และ ‘ถูกดำเนินคดี’ เขาก็ควรโตพอที่จะใช้สิทธิเลือกนโยบายที่จำเป็นต่อพวกเขา และเลือกผู้แทนที่จะใช้ภาษีของพวกเขาอย่างคุ้มค่า ได้เช่นกัน

เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย แต่กลับไม่สามารถมีส่วนร่วมกับกฎหมายได้ ทั้งการแก้ไข การเสนอร่างกฎหมาย รวมถึงการลงคะแนนเสียง

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ลดลงจาก 50% ในปี 1972 เหลือ 38% ในปี 2012 (ในขณะที่กลุ่มคนอายุมากกว่า 65 ปีใช้สิทธิเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นจาก 64% เป็น 70%) และลดลงเหลือเพียง 17% ในปี 2014 ในขณะที่การลงคะแนนประชามติสกอตแลนด์ ลดอายุผู้มีสิทธิลงคะแนนเหลือ 16 ปี ผลปรากฏว่า มีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิสูงถึง 98 %

ในเอเชีย หลายปีก่อน ญี่ปุ่นผ่านกฎหมายลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 20 ปีเป็น 18 ปี ทำให้คนกว่า 2.4 ล้านสามารถหย่อนบัตรได้ เหตุผลหนึ่งคือ เพื่อถ่วงดุลกลุ่มผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปี ที่กินสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของประเทศ และคาดว่าจะขยายเป็น 40% ในอีก 15-30 ปีข้างหน้า

หลายประเทศที่อายุผู้มีสิทธิเดิมอยู่ที่ 18 ปี ก็มีการผ่านกฎหมายให้ลดลงไปอีก เช่น ออสเตรีย เลือกตั้งได้เมื่อมีอายุ 16 ปี รวมทั้งในประเทศมอลตา และการเลือกตั้ง Scottish Parliament และ Welsh Parliament ในสหราชอาณาจักร ก็เช่นเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกามี 21 รัฐที่ให้คนอายุ 17 ปีโหวต primary election ได้ และกรีซที่อาจจะลงจาก 18 ปีไปเหลือ 17 ปีในอนาคต

ขณะนี้ มีคนในหลายประเทศที่กำลังรณรงค์ให้ลดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งในอังกฤษ สวีเดน แคนาดา เปอร์โตริโก บราซิล ออสเตรเลีย เวเนซุเอลา ลักเซมเบิร์ก ไอซ์แลนด์ คนเหล่านี้มองเยาวชนในฐานะมนุษย์ที่มีความคิด ความเจ็บปวด ร้องไห้ได้ มีผลประโยชน์ได้ มีความขัดแย้งได้ และสามารถสะท้อนเสียงของตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เช่นกัน

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ไร้ความหวัง แต่ถูกทำให้ไร้อำนาจในทางการเมือง เราควรรีบทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่พื้นที่การเมือง และทำให้ประชาธิปไตยเดินเข้าหาพวกเขาตั้งแต่แรก ด้วยการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนที่เขาจะต้องใช้อายุที่มากขึ้น ไปกับความสนใจการเมืองที่น้อยลง ด้วยเหตุผลว่า เสียงของเขาไม่ถูกตอบสนองในชีวิต และแทนที่มันด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หาเงิน และมีครอบครัว

หากยังไม่สามารถแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็น่าลองทำเลือกตั้งคู่ขนานในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และน่าลองให้บุคคลที่รัฐไม่อนุญาตให้มีสิทธิ เช่น พระและนักโทษ ได้ออกคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย

ผมเองยังคิดถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นที่ว่า จะเป็นไปได้ไหมที่จะลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จาก 18 ไม่ใช่เหลือ 17 หรือ 15 แต่ เหลือ 0 ปี โดยให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนโดนชอบธรรมเป็นผู้ใช้สิทธิแทน จนกระทั่งอายุครบ 15 หรือ 18 ปีบริบูรณ์ พูดง่ายๆ ว่า ในครอบครัวที่มีลูก จะได้สิทธิเลือกตั้งเพิ่ม เพราะเมื่อนั้นเขาไม่ได้ดูแลแค่ตัวเอง แต่ยังต้องเลือกนโยบายและผู้แทนที่เหมาะสมที่สุดให้ลูกของตนด้วย

แน่นอนว่าความพยายามนี้ต้องเผชิญกับแรงปะทะจากสังคมจำนวนมาก เช่น เด็กเลือกเองได้หรือ เดี๋ยวก็ไปเชื่อพ่อแม่ เชื่อเพื่อน ปัญหาการดูถูกเหล่านี้ซึ่งจริงๆ ก็เกิดกับคนทุกช่วงวัย มันจะเกิดขึ้นอยู่แล้วครับ เราควรรีบทำให้มันเกิดขึ้น เรียนรู้ และจบลงให้เร็วที่สุด

ให้สิทธินั้นกับพวกเขาไปเถอะครับ ปล่อยให้เขาได้มีโอกาสเลือก ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน แล้วสังคมจะเติบโตขึ้นเอง และที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย There are no wrong votes. ครับ

ลดอายุ ลดข้อจำกัด เพิ่มโอกาส เพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิต

นอกจากข้อเสนอการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับแล้ว ยังควรทบทวนถึงการลดอายุในด้านอื่นๆ ที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของคนรุ่นใหม่อีกด้วย เช่น การลดอายุบรรลุนิติภาวะ และการลดอายุการทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง

ในวันที่ 1 เมษายน ปี 2022 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์แก้ไขใหม่ของญี่ปุ่นจะมีผลให้เกณฑ์อายุบรรลุนิติภาวะลดลงจาก 20 ปีเป็น 18 ปี ประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากกำหนดอายุบรรลุนิติภาวะอยู่ 18 ปี ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 20 ปี

2 ปีที่หายไป มีค่าเสียโอกาสจำนวนมาก โอกาสที่เยาวชนจะได้รับผิดชอบชีวิตตนเองมากขึ้น โอกาสที่จะประกอบกิจการภายใต้ชื่อของตนเอง โอกาสที่จะกำหนดที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง รวมไปถึงโอกาสที่จะมีอิสระในชีวิต

อีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ เพื่อให้ค่อยเป็นค่อยไป หากกังวล คือ เสนอให้คนอายุมากกว่า 18 ปีสามารถแสดงเจตจำนงเพื่อขอบรรลุนิติภาวะได้โดยไม่ต้องรอถึง 20 ปี ซึ่งจะช่วยกลุ่มคนที่เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง ให้ไม่ต้องใช้ชื่อผู้ปกครองจดทะเบียน และช่วยให้คนอายุ 18 ปีซึ่งสามารถถูกรับโทษทางอาญา เสียภาษี มีครอบครัว เลือกตั้ง ขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ให้มีสิทธิและอิสรภาพในการกำหนดชีวิตของตนเองได้

เยาวชนจำนวนมากมีความสามารถที่จะตัดสินใจในเส้นทางของตนเอง แต่ยังอายุไม่ 20 ปี คำถามคือ เราจะเลือกอะไรระหว่าง ลดความสามารถและความตั้งใจของคนเหล่านี้ให้เหลือตามที่กฎหมายกำหนด หรือแก้ไขกฎหมายให้คนเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพตนเองอย่างเต็มที่

และที่สำคัญ เราต้องตระหนักว่า เยาวชนเหล่านี้ จ่ายภาษีเช่นเดียวกับเรา อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายเดียวกับเรา พวกเขาควรมีสิทธิโหวตเช่นเดียวกันกับที่คุณและผมมี