ThaiPublica > คอลัมน์ > “ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม” (ตอนที่ 2)

“ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม” (ตอนที่ 2)

20 เมษายน 2020


วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

ความเดิมตอนที่แล้ว : ในตอนที่แล้วของ ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม (1) ซึ่งผู้เขียนได้สำรวจจักรวาลงานออกแบบแล้วพบเรื่องน่าแปลกใจที่ว่า “งานออกแบบเพื่อต่อต้านการข่มขืนส่วนมาก สุดท้ายก็ผลักภาระให้ผู้หญิงป้องกันตัวเองให้รัดกุมขึ้นเกือบทั้งหมด” โดยงานออกแบบประเภทนี้มีแนวคิดจากการ “ปกป้องสินทรัพย์” เช่น การยืมระบบ ล็อก / ติดตามตัว เหมือนการป้องกันไม่ให้รถยนต์หรือจักรยานถูกขโมย

ดังนั้นโจทย์ที่ผู้เขียนตามหาคือ “แล้วมันมีงานออกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาในทางโครงสร้างบ้างไหม”

แต่ในขณะที่ผู้เขียนพยายามงมหานวัตกรรมที่ดีกว่า ผู้เขียนก็ได้พบนวัตกรรมที่ประหลาดกว่ากางเกงในล็อกจิ๋มอีก เช่น
แอพสนธิสัญญายินยอมให้มีเซ็กส์!

ที่มาภาพ : เว็บไซต์ consentamour.com

มันเหมือนจะเป็นเรื่องล้อเล่น แต่มันก็เป็นเรื่องจริง – แอพพลิเคชัน Consent Amour ยืมเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) โดยมีหลักการว่า ต่างคนต่างมีแอพของตัวเอง แล้วทำสัญญาร่วมกันว่า “ยินยอม” ให้ทำอะไรบ้าง เสร็จแล้วก็สแกน QR โค้ดเพื่อยืนยันสัญญา ทีนี้หากมีปัญหาทีหลังในทางกฎหมาย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะอ้างได้ว่า “นี่ไง อีกคนยินยอมแล้ว”

Consent Amour โฆษณาแอพของตัวเองว่า “จดหลักฐานความสัมพันธ์ทางกาย ความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายทำให้ความตั้งใจที่จะมีอะไรกันมันเคลียร์และไม่ทำลายมู้ดของความสัมพันธ์”

แต่ในหน้าที่ถูกลบไปแล้วจาก Consent Amour ระบุว่า ว่าพวกเขาสร้างแอพนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ชายที่ต้องการคำยืนยันอย่างชัดเจน (“Today’s single guy needs proof.”)

ที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจคือ Consent Amour ไม่ใช่สตาร์ทอัพเจ้าเดียวที่ใช้ Smart Contract และ Blockchain มาจับกับเรื่อง Consent ยังมีแอพคล้ายๆ กันชื่อ Legalfling.io

ที่มาภาพ: Legalfling.io

Legalfilling.io เขียนเจตนารมย์ที่ตรงไปตรงมามากกว่าว่านั้นว่า “เพราะเซ็กส์ที่ปลอดภัยไม่ได้เกี่ยวกับการปกป้องร่างกายเท่านั้น แต่มันหมายถึงความยินยอมว่าในห้องนอนจะเกิดอะไรขึ้น…เพราะสวีเดนกำลังจะออกกฎหมายที่เรียกร้องความยินยอมที่ชัดเจนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก #MeToo Movement” ที่แพร่ระบาดในปี 2017”

แน่นอนว่า แอพเหล่านี้ถูกสาปส่งโดยนักวิจารณ์ด้านสิทธิสตรีและความเป็นธรรมทางเพศ

  • Ruth Akins เขียนวิจารณ์ลงใน Medium1 ว่า ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ธุรกิจต่างๆ เริ่มหากินกับความกลัวของการข่มขืนในวิธีที่น่าประหลาดมาก ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่กลัวจะถูกข่มขืน แต่ผู้ชายเองก็กลัวที่จะถูกกล่าวหาว่าข่มขืนจนต้องทำนวัตกรรมเพื่อปกป้องตัวเองออกมา ดังนั้นนวัตกรรมพวกนี้ช่วยให้เรา เดินหน้า หรือว่าถอยหลัง?
  • ในสายตาของผู้เขียน (ที่เป็นผู้ก่อตั้ง Thaiconsent.in.th) มองว่าการทำ “สัญญาล่วงหน้า” ไม่ได้ปกป้องหลักการเรื่องความยินยอมพร้อมใจครบทุกด้าน เพราะความยินยอมพร้อมใจที่แท้จริงนั้นหมายถึง “การเปลี่ยนใจกลางทาง” และอาจเป็นดาบสองคมได้หากแอพพลิเคชันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการ “ล่อลวงให้ยินยอม” แล้วอ้างว่า “ยินยอมแล้ว” ในลักษณะเดียวกับการขอให้คนรู้จักช่วยเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีมาจับกับเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ในทางหนึ่ง หากใช้อย่างไม่ระวังพอก็จะสร้างนวัตกรรมที่อาจ “ช่วยเหลือผู้ข่มขืนให้รอดคดีแทน” เช่น ในปี 2015 คดีข่มขืนในฟลอริด้าถูกยกฟ้องเนื่องจากฝ่ายจำเลยอ้าง ข้อมูลจากนาฬิกา Fitbit ซึ่งระบุว่าในขณะเกิดนั้น “ฝ่ายหญิงกำลังตื่นอยู่” ในขณะที่ผู้ถูกข่มขืนให้การว่าเธอ “เธอหลับ ถูกปลุกราวเที่ยงคืน และถูกข่มขืนโดยระหว่างนั้นเธอไม่ได้ใส่นาฬิกาข้อมือ2

เคสที่เทคโนโลยีต่อต้านผู้ใช้ ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในประเทศแคนาดา ข้อมูลจากนาฬิกา Fitbit ก็เคยถูกใช้ในศาลในคดีแรงงานเพื่อพิสูจน์ว่า “ผู้เสียหายยังแอคทีฟดี ไม่ได้มีร่างกายที่เสียหายจากการประสบอุบัติเหตุ” แม้ว่าคำวินิจฉันของแพทย์จะบอกว่ามีความเสียหายจริงก็ตาม3

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว การ “ออกแบบชุดตรวจการข่มขืนใหม่” ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ที่มาภาพ : Wect News (Samantha Kummerer)

“Rape Kit” หรือชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมานานแล้ว และสามารถพบได้ในโรงพยาบาลหรือสถานีตำรวจ ซึ่งปกติแล้วหน้าตาของมันก็จะเหมือนเครื่องมือทางการแพทย์ แต่ก็มีนักออกแบบจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า “มันควรจะดีขึ้น” เราจึงได้เห็นโปรเจกต์ออกแบบ Rape Kit ที่แก้ปัญหาบางอย่างมากมาย

ที่มาภาพ :เว็บไซต์ของ Metoo Rape Kit

งานออกแบบที่รวบรวมโดย sva.edu(ในปี 2019) เล่าถึงการแก้ไขปัญหา เช่น โครงการ Hark ตั้งใจว่าชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนควรจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายในร้านขายยา เพื่อช่วยให้ผู้ที่ถูกข่มขืนมีชุดเก็บหลักฐานที่บ้าน เวลาจะใช้ก็โทรเรียกพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเก็บหลักฐานได้โดยไม่ต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังเป็นการออกแบบที่ลดการตีตรา (เนื่องจากคนที่ไม่รู้ว่า Hark คืออะไร ก็จะไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับการข่มขืน)

ส่วนโปรเจกต์ RN Advocate ออกแบบชุดเก็บหลักฐานใหม่ด้วยเหตุผลว่า โรงพยาบาลเพียง 1 ใน 4 ของสหรัฐ จะมีนางพยาบาลที่เคยฝึกฝนการใช้ชุดเก็บหลักฐาน ซึ่งผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆ เนี่ย ดูใช้ยาก และมีคำแนะนำในลักษณะเอกสารราชการ ดังนั้นงานออกแบบชิ้นนี้เลยจะช่วยให้พยาบาลและผู้ใช้เข้าใจขั้นตอนง่ายขึ้น และยังมีพร้อมวิดีโอสาธิตให้เข้าใจง่ายๆมีพร้อมวิดีโอสาธิตให้เข้าใจง่ายๆ4

ส่วน Data Rape Kit Box โดย Sarah Addy และ Ryan Manauis มีแนวคิดที่ต่างออกไป ทั้งสองได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวปี 2009 ที่ออกมาแฉว่า พบชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนที่ “ไม่ถูกส่งตรวจ” ดองอยู่ 11,000 ชุด ในเมืองดีทรอยท์5 พอเรื่องแดงขึ้นมา (และถูกไล่บี้โดยพลเมืองและสื่ออย่างหนัก) ทางการถึงได้ไล่เอาชุดหลักฐานมาตรวจ ใช้เวลาสิบปีจนถึงปี 2018 ถึงได้พบว่ามี “ผู้ที่มีโอกาสเป็นนักข่มขืนต่อเนื่องถึง 821 คน”

ชิ้นงานของ Sarah จึง “ออกแบบใหม่” โดยใช้ชุดเก็บหลักฐานมาเป็นพื้นที่บอกข้อมูล ให้คนรู้ปัญหาของความอยุติธรรม และในขณะเดียวกันการจัดแสดงงานของเธอก็ยังทำให้ได้ค้นพบว่าคนจำนวนมากไม่รู้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “ชุดเก็บหลักฐานการข่มขืน” อยู่ในโลกด้วยซ้ำ

ที่มาภาพ : เว็บไซต์ของ Metoo Rape Kit

แต่เคสที่น่าสนใจคือเคสของ Metoo Rape Kit ที่เป็นงานออกแบบประเภทเดียวกันกับตัวอย่างที่ยกมา (และออกแบบโดยเหยื่อข่มขืนวัย 23 ปีด้วยนะ) โดยในเว็บไซต์ของผู้ออกแบบในรัฐมิชิแกนระบุว่า “นี่คือชุดเก็บหลักฐานการข่มขืนประจำบ้าน – ประสบการณ์ของคุณ – เรื่องราวของคุณ – คุณเป็นผู้กำหนดเอง” โดยแม้จะยังไม่มีการจำหน่ายจริงและอยู่ในช่วงโฆษณาเสนอไอเดีย งานชิ้นนี้กลับถูกสาปส่งโดยทนายความและนักวิจารณ์จำนวนมาก

  • Dana Nessel ทนายความชาวมิชิแกนเรียกเขียนจดหมายเตือนผู้ผลิตงานออกแบบชิ้นนี้ว่า “เป็นความหน้าไม่อายของบริษัทที่ผลิตอะไรพวกนี้มาหาเงินจากกระแส #MeToo โดยหลอกหล่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าชุดตรวจนี้จะเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้6 (เพราะจริงๆ ชุดตรวจที่เป็นหลักฐานได้ต้องถูกรองรับโดยบุคคลที่สามอย่าง สถานีตำรวจ หรือโรงพยาบาล เพื่อส่งเข้าแลปตรวจดีเอนเอ) อีกอย่าง ประชาชนชาวมิชิแกนมีสิทธิเข้าถึงบริการตรวจหลักฐานการข่มขืนได้ฟรีอยู่แล้วภายใน 120 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ
  • Peg Langhammer ผู้อำนวยการขององค์กร Day One สายด่วนช่วยเหลือเหยื่อข่มขืน ให้ความคิดเห็นถึงผลิตภัณฑ์นี้ต่อ NBC 10 News ว่า “ชุดตรวจหลักฐานด้วยตัวเองนี้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลหรือในทางการแพทย์ได้ และองค์กรของเราต่อต้านการโฆษณาและการผลักดันผลิตภัณฑ์ที่หากินจากเหยื่อและกระแส Metoo ซึ่งดูเหมือนว่าชุดตรวจหลักฐานนี้ได้สร้างความเข้าใจที่ผิด และกำลังหากินจากกระแสดังกล่าว7
  • หลังได้รับจดหมายเปิดผนึกจากทนาย Madison Campbell อดีตเหยื่อข่มขืนและผู้ก่อตั้ง MeToo Rape Kit ออกมาตอบโต้ Dana Nessel ผ่าน Vox ว่า “คำตอบของคุณน่าผิดหวังมาก ฉันเชื่อว่าเหยื่อข่มขืนควรจะมีสิทธิเก็บหลักฐานได้เองอย่างสบายใจ ที่บ้านของตัวเอง และสำหรับนักข่มขืนพวกเขาอาจจะกลัวมากขึ้นหากได้รู้ว่า คนทุกคนมีชุดเก็บหลักฐานที่พร้อมจะเอาเรื่องพวกเขารออยู่ที่บ้าน อีกอย่างไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถ ไปโรงพยาบาลได้8
  • Morgan Dewey ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารขององค์กรยุติการข่มขืนในมหาวิทยาลัย (End Rape on Campus) ให้สัมภาษณ์กับ Vox ว่า “ปกติแล้วเราจะให้ความช่วยเหลือแนะนำเหยื่อถึงสิ่งที่พวกเขาและพวกเธอสามารถทำได้ ตราบใดที่มันไม่อันตรายต่อเหยื่อ – แต่เราพบว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้พวกเขาได้…ที่จริงเมดิสันก็พูดถูกนะเรื่องเหยื่อข่มขืนต้องใช้เวลาทำใจ ไม่อยากเปิดเผยตัวตนต่อบุคคลที่สาม และเหยื่อจำนวนมากก็ไม่กล้าไปโรงพยาบาลจริงๆ แต่ทางออกที่ยั่งยืนกว่า คือการสนับสนุนให้เหยื่อเข้าถึงการช่วยเหลือจากชุมชนรอบตัว”
  • ในทรรศนะของผู้เขียน MeToo Rape Kit จึงแตกต่างจาก Hark (ที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้) ทั้งที่มีวิธีคิดคล้ายกัน คือ ชุดเก็บหลักฐานของ Hark อนุญาตให้ผู้ที่ถูกข่มขืนได้เก็บหลักฐานในที่ที่ตนสะดวกปลอดภัย แต่ มีพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญมาทำให้ ซึ่งถูกต้องตามข้อบังคับทางกฎหมาย งานออกแบบที่ดี จึงไม่ได้หมายถึงแค่ตั้งใจดี แต่ต้องมาจากกระบวนการที่เชื่อมโยงเหยื่อข่มขืนเข้ากับความช่วยเหลือรอบตัวนั่นเอง

เส้นแบ่งของงานออกแบบที่ก้าวหน้าต่างจากการออกแบบที่ถอยหลังตรงไหน

เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็รู้สึกสับสนเหมือนกันว่าแล้วตัวเองใช้อะไรเป็นมาตรวัดในการบอกว่าสิ่งนี้ใช้ได้ สิ่งนั้นใช้ไม่ได้ และทุกงานออกแบบก็ดูยังไม่มีงานไหนสมบูรณ์แบบ และย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางใดทางหนึ่งเสมอ

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบข้อวิพากษ์ที่เกิดขึ้นในอดีตก็ทำให้ผู้เขียนพอจะสรุปทิศทางที่เป็นการ “เดินหน้า” ได้เป็นหัวข้อคร่าวๆ ได้ว่า ความก้าวหน้าในที่นี้หมายถึง

  • อำนวยความสะดวกให้เหยื่อเข้าถึงความเป็นธรรม โดยภาระในการพิสูจน์ไม่ควรตกอยู่ที่ตัวเหยื่อ
  • คำนึงถึงจริยธรรมของการใช้เทคโนโลยี ในระดับกฎหมาย ต้องไม่เป็นดาบสองคมที่นำไปสู่การตีความใดๆ ที่สนับสนุนวัฒนธรรมการข่มขืน
  • ไม่เอาความกลัวมาหากิน
  • ไม่แยกเหยื่อออกจากความช่วยเหลือภายนอก ในทางกลับกัน ต้องพยายามเชื่อมเหยื่อเข้าหาความช่วยเหลือหรือระบบที่มีอยู่

ใช่ค่ะ เรายังไปไม่ถึงตัวอย่างของงานออกแบบที่ไปไกลกว่า “กางเกงในล็อกจิ๋ม” เลยนะ เรายังอยู่กลางทางตรงเส้นแบ่งบางๆ ว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์คเท่านั้น!

แล้วงานออกแบบดีๆ เป็นยังไง? งานออกแบบที่ช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นเป็นยังไง? โปรดติดตามได้ในตอนสุดท้ายของ “ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม (3) : ออกจากวังวนของความรุนแรง” ได้ที่ Thaipublica เช่นเดิม

เกี่ยวกับผู้เขียน: วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เป็นผู้ก่อตั้ง Thaiconsent.in.th เพื่อสื่อสารเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท สาขา Social Design ที่ L’École de Design Nantes ประเทศฝรั่งเศส กำลังทำโปรเจกต์จบเกี่ยวกับ งานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาละเมิดทางเพศ” ติดต่อสอบถามได้ทาง nanaaa.net

หมายเหตุ
1. Ruth Akins, The Weird, Wearisome World of Rape-based Tech Startups (2019)

2. Kashmir Hill, Fitbit data just undermined a woman’s rape claim (2015)

3. Parmy Olson, Fitbit Data Now Being Used In The Courtroom (2014)

4. Sva.Edu, WHEN NO ONE BELIEVES YOU: Redesigning the Rape Kit and Responses to Sexual Assault (2019)
5.End the Baclkog
6. Department of Attorny General, AG Nessel Blasts “Me Too” Sexual Assault Kits (2019)
7. JESSICA A. BOTELHO, ‘MeToo Kit’ marketed as DIY rape kit sparks opposition (2019)
8. Anna North, This company is advertising MeToo-branded at-home rape kits. Experts say it’s a terrible idea.(2019)