ThaiPublica > เกาะกระแส > สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ สนช. เปิดประชุมด่วน กรณี AOT ไม่ทำตามผู้ตรวจการแผ่นดิน-สั่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้า”

สมาคมดิวตี้ฟรีจี้ สนช. เปิดประชุมด่วน กรณี AOT ไม่ทำตามผู้ตรวจการแผ่นดิน-สั่งเปิด “จุดส่งมอบสินค้า”

27 มกราคม 2018


เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น. นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ยื่นทำหนังสือต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ขอให้เร่งบรรจุรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช.

ต่อกรณีที่สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี 2557 เรียกร้องให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม จัดหาพื้นที่เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick-up Counter) ให้ผู้ประกอบการอื่นที่ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากรใช้ร่วมกัน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุด พร้อมเสนอแนะให้ ทอท. เปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ร่วมกัน โดยให้เหตผุลว่า “กรณี ทอท. อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้ตั้งจุดส่งมอบสินค้า อาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติหรือปิดกั้นเสรีทางการค้า เนื่องจากจุดส่งมอบสินค้าเป็นเรื่องของการให้บริการประชาชนผู้ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง การให้สิทธิผู้ประกอบการแต่เพียงรายเดียวบริหารจัดการจุดส่งมอบสินค้าเป็นการไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และอาจเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองรายอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ”

ขณะที่ ทอท. ได้ทำหนังสือชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินว่า “การให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หาก ทอท. ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วจะถือเป็นการละเมิดสิทธิของคู่สัญญาทั้งที่สัญญายังไม่สิ้นสุด อาจก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ”

หลังพิจารณาคำชี้แจงดังกล่าวแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่า “คำชี้แจงของ ทอท. ยังไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดมาเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินได้” ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงแจ้งผลการยืนยันคำวินิจฉัยเดิมไปยังนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ทอท. เพื่อดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

ปรากฏว่า ทอท. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินแต่อย่างใด วันที่ 15 ธันวาคม 2560 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือแจ้งนายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552แล้ว โดยส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนแล้ว

นับจากวันก่อตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องจัดทำรายงานแจ้งที่ประชุม สนช. กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นวาระเร่งด่วน ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 30 วัน ปรากฏว่า สนช. ยังไม่ได้บรรจุรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของ สนช. แต่อย่างใด ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น. นางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย จึงทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้พิจารณาบรรจุรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าสู่วาระการประชุมของ สนช. โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายฉบับใหม่กับกฎหมายฉบับเดิม มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. หรือเป็นหน้าที่ของ สนช. ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยที่ประชุมวิป สนช. วันที่ 23 มกราคม 2561 ได้มีมติว่า “ในเมื่อประเด็นยังไม่มีความชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวเป็นบทบาทหน้าที่ขององค์กรใด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านกฎหมาย จึงมีมติให้ทำหนังสือแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้แจ้งความประสงค์มาให้ชัดเจนว่าจะเลือกช่องทางใด โดยให้ทำหนังสือตอบกลับมาอีกครั้ง หากผู้ตรวจการแผ่นดินเลือกที่จะใช้ช่องทางของ สนช. เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ สนช. ก็จะดำเนินการต่อไป”

นางรวิฐาชี้แจงว่า ปกติช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากกฎหมายฉบับเก่าไปสู่กฎหมายฉบับใหม่ พ.ร.บ. ทุกฉบับจะมีบทเฉพาะกาลเพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเสมอ ประเด็นดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 39 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติว่า “ความในวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการตัดอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะรายงานให้คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา หรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง เพราะเป็นกรณีเร่งด่วน หรือจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน” อันจะถือเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ประกอบกับมาตรา 60 ในบทเฉพาะกาลระบุว่า เรื่องใดก็ตามที่ทำมาแล้วและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้ 2 ทาง ตรงนี้ขอฝากวิป สนช. ทั้งหลายขอให้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง

“อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็จะไปชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินว่ากฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 2 ฉบับนี้ไม่ได้มีส่วนใดขัดแย้งและถูกต้องตามหลักนิติรัฐทุกประการ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทุจริตที่ต้องส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ แต่เป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะหรือคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีการส่งเรื่องนี้มาที่สนช.” นางรวิฐากล่าว

นายพีระศักดิ์กล่าวย้ำว่า “ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือยืนยันมาอีกครั้ง สนช. ยินดีที่จะปฏิบัติตาม”

นางรวิฐากล่าวต่อว่า หาก สนช. ไม่ดำเนินการจะเกิดผลกระทบต่อหลักนิติรัฐโดยรวม เนื่องจาก สนช. เป็นผู้บัญญัติกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งจะถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศที่สามารถใช้บังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ประกอบกับเรื่องดังกล่าว รัฐบาลชุดนี้ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปชักชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และเมื่อนักลงทุนเหล่านั้นได้เข้ามาลงทุนตามคำเชื้อเชิญและดำเนินการตามกฎหมายของประเทศไทยทุกประการ แต่มีหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม และ ทอท. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยไม่มีเหตุอันควร กรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศไทย ในเรื่องการค้าเสรีที่นักลงทุนต่างชาติจะต้องฟ้องร้องเป็นคดี หากมีการฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล และจะทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ไม่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในที่สุด

ดูคลิปวิดีโอ ที่นี่