ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลแพ่ง พิพากษา “รพ.กรุงเทพ” คืนสิทธิ-รักษาฟรีตลอดชีพแก่สมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจ คลับ”

ศาลแพ่ง พิพากษา “รพ.กรุงเทพ” คืนสิทธิ-รักษาฟรีตลอดชีพแก่สมาชิก “ไลฟ์พริวิเลจ คลับ”

28 ธันวาคม 2017


เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ศาลแพ่งนัดอ่านคำพิพากษา คดีที่นายธัญญวรรตร์ วงศ์รัตน์ โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย กรณีบอกเลิกสัญญารักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพที่ทำไว้กับสมาชิกในโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 เวลา 9.30 น. ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษา คดีระหว่างนายธัญญวรรตร์ วงศ์รัตน์ โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย (โรงพยาบาลกรุงเทพ) ในข้อกล่าวหาผิดสัญญา, ละเมิด และเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีจำเลยบอกเลิกสัญญาโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ (Life Privilege Club) หรือ ยกเลิกสิทธิของสมาชิกในการรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ได้จดทะเบียนในการประกอบธุรกิจประกันภัย

ในวันนี้ศาลแพ่งพิพากษาว่า โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ (Life Privilege Club) ไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (จำเลย) จึงไม่มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา เพราะไม่เข้าข่ายธุรกิจประกันภัย จึงพิพากษาให้จำเลยดำเนินโครงการนี้ต่อไปตามสัญญา หากจำเลยให้บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือดูแลสมาชิกไม่ดี ศาลแพ่งได้สงวนสิทธิให้โจทก์มาเรียกร้องสิทธิ เป็นครั้งที่ 2 ได้ภายใน 10 ปี

นอกจากนี้ ศาลแพ่งยังพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 4-5 กรณีที่โจทก์ได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลแห่งอื่นในช่วงที่โรงพยาบาลกรุงเทพบอกเลิกสัญญา และให้โจทก์ชำระค่าทนายให้แก่จำเลยทั้ง 5 คน คนละ 20,000 บาท ค่าดำเนินการอีกคนละ 5,000 บาท

น.ส.จิรัฏฐ์ จุฑาศิลปารัตน์ โจทก์ที่ 2 ของคดีนี้ เปิดเผยว่าวันนี้ศาลแพ่งตัดสินแล้ว โครงการนี้ไม่ใช่ธุรกิจประกัน โรงพยาบาลกรุงเทพไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และต้องทำต่อไปภายใต้มาตรฐานการรักษาที่กำหนดไว้ในสัญญาเหมือนเดิมทุกประการ ส่วนค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายให้กับโรงพยาบาลแห่งอื่นช่วงที่ถูกบอกเลิกสัญญานั้น ศาลแพ่ง ตัดสินให้จำเลยต้องรับผิดชอบตามหลักฐานใบเสร็จ

“วันนี้ต้องขอขอบคุณท่านผู้พิพากษาศาลแพ่งที่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคตัวเล็กๆ ความยุติธรรมนั้นมีจริง ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่ายอม ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พวกเราทำงานหนักมาก ช่วยกันค้นหาเอกสารทุกประเภท จนกระทั่งทราบว่าจำเลยมีบริษัทในเครือเป็นบริษัทประกันมาตั้งแต่ปี 2542 ก่อนที่จะเปิดโครงการนี้ขึ้นมา ดังนั้น จำเลยจะอ้างว่าไม่รู้โครงการนี้เป็นธุรกิจประกันภัยหรือไม่คงไม่ได้ ขณะนี้หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น คปภ., คณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลแพ่ง ได้ลงความเห็นแล้วว่าไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย เชื่อว่าบริษัทเองก็น่าจะมีธรรมาภิบาลหรือจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ” น.ส.จิรัฏฐ์กล่าว

น.ส.จิรัฏฐ์ จุฑาศิลปารัตน์ โจทก์ที่ 2 (ถือกระดาษสีขาว)

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ในคดีแพ่ง คดีดำหมายเลขที่ ผบ.928, 929, 939, 940, 2504.2505/2560 ระหว่างนางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ โจทก์ที่ 1 และพวกรวม 6 คน จำเลยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เป็นคดีในโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับของโรงพยาบาลกรุงเทพ กรณีโรงพยาบาลกรุงเทพบอกเลิกสัญญา ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีว่าโครงการนี้ไม่ใช่สัญญาประกันที่จำเลยนำมาเป็นเหตุยกเลิกสัญญา

ทั้งนี้ หลักการสำคัญของการประกันภัยอย่างหนึ่งคือ จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง” …วรรคสุดท้ายบัญญัติว่า… “ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้”

แต่ตามข้อตกลงโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับไม่ได้คำนึงถึงจำนวนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเลยว่าจะมีมากหรือน้อยกว่าค่าสมาชิกหรือไม่เพียงใด และค่าใช้จ่ายจ่าย 100 บาทต่อครั้งก็เป็นค่าใช้จ่ายตายตัว ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง ข้อตกลงตามโครงการจึงไม่มีลักษณะเป็นประกันภัย แต่เป็นสัญญาให้บริการอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้บังคับกันได้ เมื่อไม่มีเหตุให้เลิกสัญญาตามข้อตกลงของโครงการหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รวมทั้งประเด็นข้อพิพาทที่วินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้ง 6 หรือไม่เพียงใด เห็นว่าไม่มีเหตุตามข้อตกลงของโครงการหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้สิทธิจำเลยบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของโครงการต่อไป สำหรับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 5 จำนวน 69,859.50 บาท และของโจทก์ที่ 6 จำนวน 46,900 บาทนั้น เห็นว่าโจทก์มีใบเสร็จรับเงิน เอกสารที่เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งบางรายการเป็นใบเสร็จของโรงพยาบาลจำเลย จากพยานหลักฐานจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 5 และ 6 เจ็บป่วยและรักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงินจริง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว

นอกจากนี้ โจทก์ทั้ง 6 นำสืบว่า หากในอนาคตจำเลยยุติโครงการอีกหรือให้บริการต่ำกว่ามาตรฐาน ขอให้ศาลใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 40 ด้วยการสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามข้อบังคับหรือให้คู่ความนำสืบเพิ่มเติมนั้น เห็นว่า การสงวนสิทธิต้องเป็นกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย แต่ในกรณีเป็นการฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย

สรุปคำพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์ทั้ง 6 ตามข้อตกลงของโครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิตและเปิดสโมรสรไลฟ์พริวิเลจคลับ รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมรสรตามแผ่นพับโฆษณา และจ่ายค่าธรรมเนียมต่อศาล ค่าทนายความคนละ 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีคนละ 500 บาท

แหล่งข่าวจากสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับเปิดเผยว่า จากนี้ไปเมื่อสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับไปใช้บริการรักษาพยาบาล ถ้าได้รับการบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานของสัญญา จะมีการรวบรวมข้อมูลบันทึกเป็นเอกสาร คาดว่าทุก 6 เดือนจะยื่นบันทึกนี้ไปยังโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อเป็นหลักฐานต่อไป

ข้อความที่โรงพยาบาลกรุงเทพส่งถึงสมาชิก เพื่อยกเลิกสัญญาโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ

อนึ่งหลังจากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ซึ่งมี นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นเศรษฐีหุ้นไทยอันดับหนึ่งของเมืองไทยที่ครองตำแหน่งนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และติดอันดับ50 เศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บส์เอเชีย โดยโรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือ BDMS ได้ยกเลิกโครงการรักษาฟรีตลอดชีวิตของสมาชิก โดยให้อ้างว่าโครงการดังกล่าวเข้าข่ายเป็นสัญญาประกันภัย ซึ่งโรงพยาบาลไม่มีใบอนุญาต จึงเป็นเหตุให้โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลพญาไท2 แจ้งสมาชิกเพื่อยกเลิกโครงการดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นอกจากนี้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่โครงการนี้บริษัทจะต้องตั้งวงเงินสำหรับกันสำรองเป็นเงินหลายพันล้านบาท

โครงการ “ไลฟ์พริวิเลจคลับ” ของโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นแพคเกจรักษาสุขภาพ ให้สิทธิพิเศษสมาชิกรักษาพยาบาลตลอดชีวิต โดยเสียค่าใช้จ่าย 100 บาทต่อครั้ง ทั้งนี้ จ่ายค่าสมาชิกเป็นทองคำ 100% น้ำหนัก 200 บาท เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2544 และปิดรับในปี 2551 ซึ่งสมาชิกจ่ายด้วยเงินแทนทองคำได้ในราคาตลาด ณ ขณะนั้น ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 3 รุ่น ตามอัตราเงินที่จ่ายแทนทองคำ คือ 1 ล้านบาท 1.2 ล้านบาท และ 2 ล้านบาท ตามลำดับ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 284 คน โดยบุคคลที่เป็นสมาชิกต้องเป็นลูกค้าของโรงพยาบาล และที่ได้รับเชิญจากผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโรงพยาบาล และต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อน

เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้แจ้งสมาชิกทางเอสเอ็มเอสว่าจะปิดโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับในวันที่ 20 มกราคม 2560 แต่สมาชิกยังสามารถรักษาต่อได้จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ทั้งๆ ที่การทำสัญญาซื้อแพคเกจนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้วในเงื่อนไขสัญญาทางโรงพยาบาลระบุว่าจะดูแลสมาชิกตลอดชีวิต

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า แพคเกจไลฟ์พริวิเลจคลับไม่เข้าเงื่อนไขการประกันและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีการตีความเรื่องนี้ไว้แล้ว แต่คปภ.ได้ทำหนังสือให้สำนักงานกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้อีกครั้ง และสำนักงานกฤษฎีกาตีความล่าสุดว่าไม่เข้าข่ายสัญญาประกันภัย ส่วนการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชี จะเป็นเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำตามมาตรฐานบัญชี