หลังจากศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 928/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 5679/2560 ว่า “โครงการไลฟ์พริวิเลจคลับ” (Life Privilege Club) ไม่ใช่ธุรกิจประกันภัย จึงมีคำสั่งให้โรงพยาบาลกรุงเทพ (จำเลย) คืนสิทธิรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพแก่นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ และพวกรวม 6 คน (โจทก์) รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรที่ระบุในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์สำคัญที่โรงพยาบากรุงเทพมอบให้แก่สมาชิก
ปรากฏว่าโรงพยาบาลกรุงเทพปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเพียงบางส่วน นางจุฑาทิพย์ สนิทพันธุ์ และพวกรวม 6 คนจึงมายื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ขอให้บังคับคดี หลังจากศาลได้พิจารณาคำร้องของโจทก์แล้ว ได้มีคำสั่งให้กรรมการผู้มีอำนาจมาพบศาลในวันที่ 24 เมษายน 2561 ถึงกำหนดวันนัดไต่สวน นายประดิษฐ์ ทีฆกุล กรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) พร้อมทนายความ เดินมาชี้แจงศาล ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจน ศาลได้นัดกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยมาไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.30 น. หากไต่สวนแล้วพบว่า “จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จะพิจารณาออกหมายจับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยทุกคน”
ล่าสุด เมื่อถึงกำหนดนัดไต่สวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.30 น. ปรากฏว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่มา แต่ได้มอบหมายให้ทนายความชี้แจงต่อศาลแทน เวลา 14.20 น. ศาลจึงเริ่มกระบวนการไต่สวน โดยเริ่มจากทนายความฝ่ายโจทก์ชี้แจงศาลว่า ฝ่ายโจทก์ได้ไปโรงพยาบาลกรุงเทพเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 พบว่ามีการจัดห้องไว้ให้บริการสมาชิกโครงการไลฟ์พริวิเลจคลับแล้ว แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลให้บริการ
ด้านทนายความฝ่ายจำเลยชี้แจงต่อศาลว่า ภายหลังจากโรงพยาบาลกรุงเทพสั่งยุติโครงการดังกล่าว ได้ย้ายบุคลากรที่ประจำอยู่ในห้องนี้ไปทำงานในแผนกอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้จัดเจ้าหน้าที่มาคอยให้บริการแก่สมาชิกแล้ว โดยทนายความฝ่ายจำเลยกล่าวย้ำว่า ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ทางโรงพยาบาลกรุงเทพได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นครบถ้วน
หลังจากที่ศาลได้รับฟังคำชี้แจงจากคู่ความ มีความเห็นว่า ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลจึงนัดคู่ความมาฟังคำสั่งศาลในวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.00 น.
อนึ่ง ภายหลังศาลแพ่ง มีคำพิพากษาคดีแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 “ให้จำเลย (โรงพยาบาลกรุงเทพ) ปฏิบัติต่อโจทก์ทั้ง 6 คน ตามข้อตกลงของ “โครงการเอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต” และเปิดสโมสรไลฟ์พริวิเลจคลับ กับปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสโมสรดังกล่าวตามแผ่นพับโฆษณา” โดยสาระสำคัญของแผ่นพับโฆษณาสรุปได้ดังนี้
1. สมาชิกตกลงจ่ายเงิน 1 ล้านบาท, 1.2 ล้านบาทและ 2 ล้านบาท เพราะต้องการ “เอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต” ตามที่เขียนในแผ่นพับ เมื่อจ่ายเงินและเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ภายหลังจึงได้รับ “กฎระเบียบข้อบังคับของคลับ” ซึ่งในหลักการแล้วจะไปขัดต่อ “ข้อตกลงฯ ตามแผ่นพับโฆษณาไม่ได้ แต่ในรายละเอียดปลีกย่อย อาจปรับเพิ่ม ปรับลด หรือยกเลิกได้
2.“เอกสิทธิ์ของคุณภาพชีวิต”ตามแผ่นพับมี 4 ข้อ ดังนี้
-
2.1 ด้านสุขภาพ ได้แก่ การตรวจสุขภาพประจำปี, ดูแลสุขภาพแบบผู้ป่วยนอกในอัตราสมาชิก 100 บาทต่อครั้ง และดูแลสุขภาพแบบผู้ป่วยใน ณ ห้องพัก VIP หรือมาตรฐานที่เหมาะสมในอัตราสมาชิก 100 บาทต่อครั้ง
2.2 ด้านบริการ สมาชิกสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากศูนย์ Custom Service ที่คอยให้ความช่วยเหลือใน “กรณีฉุกเฉิน” และ “ให้คำแนะนำเบื้องต้น” โดยให้สมาชิกติดต่อมาที่เบอร์โทร 081-734-7777 หรือ 02-310-3066
2.3 ด้านกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ การจัดแพทย์อบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่สมาชิก, รับฟังบรรยายเรื่องสุขภาพและโรคต่างๆ, จัดส่งวารสารเกี่ยวกับกิจกรรมด้านสุขภาพ, สังสรรค์ในหมู่สมาชิกที่ Member Lounge, ออกกำลังกาย, เต้นรำ และร่วมกิจกรรมที่ให้ประโยชน์แก่สังคม
2.4 ด้านอื่นๆ จัดให้มี Member Lounge โดยคู่สมรสและบุตรได้ส่วนลดค่ารักษาพยาบาลบางรายการ 10%
อ่านเพิ่มเติมในซีรีส์ คดีผู้บริโภค… กรณีตัวอย่าง “ไลฟ์พริวิเลจคลับ”