ThaiPublica > คนในข่าว > “พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา” นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์มองมรดกทางวัฒนธรรมสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่

“พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา” นักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์มองมรดกทางวัฒนธรรมสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่

4 พฤศจิกายน 2017


“พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา” หรือ “แพง” เป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่สนใจศึกษางานโบราณคดี งานมรดกทางวัฒนธรรม เป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบัน พชรพรกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

เธอเคยร่วมเป็นหนึ่งในเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่อง Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? ในเวทีนั้นเธอทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อเชื่อมร้อยเรื่องราวกับวิทยากรท่านอื่นๆ

วันนี้เรานัดเธอมาพูดคุยอีกครั้ง เพื่อเล่าเรื่องราวที่เธอกำลังศึกษาอยู่ จะนำมาเชื่อมต่อกับมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอย่างไร ด้วย”พชรพร”เชื่อว่า มรดกทางวัฒนธรรม หรือ “Heritage Industry” เป็นอะไรที่มากกว่าแค่มิติทางสินค้า การท่องเที่ยว หรือการสร้างโครงการใหญ่ๆ แต่ยังสามารถนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจได้ หากมีการพัฒนา “องค์ความรู้” และสร้างฐาน “ข้อมูล” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

ไทยพับลิก้า: ทำไมถึงเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์

สาขาที่เรียนคือเศรษฐศาสตร์สาขาประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ค่อยได้ศึกษากันในเมืองไทยและเอเชีย อธิบายคร่าวๆ ก็คือ การใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม มาทดสอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เช่น มาอธิบายปรากฏการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมีอะไรบ้าง

ถามว่าทำไมประวัติศาสตร์ถึงสำคัญ? เพราะว่าในการใช้ทฤษฎีอะไรก็ตาม ถ้าเราสามารถใช้ข้อมูลที่ยืนยันผลข้อมูลได้แล้วว่าเหตุการณ์นั้นตามมาจริงๆ ก็ทำให้ทฤษฎีต่างๆ ที่เราคาดการณ์แม่นยำขึ้น

วิชาเศรษฐศาสตร์ในภาคสมัยใหม่ยกเว้นบางสาขาซึ่งมีการทดลองเข้ามาประกอบ จะใช้การดาวน์โหลดข้อมูลที่จำกัดแค่ไม่กี่สิบปี บางทีไม่ถึงด้วยซ้ำ ทำให้เราไม่เห็นภาพระยะยาวจริงๆ ว่าสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าใช่ มันใช่แค่ไหน ซึ่งเมื่อก่อนจบเศรษฐศาสตร์มาก็ใช้วิธีนี้มาเรื่อยๆ แต่วันหนึ่งคิดว่าข้อมูลพวกนี้มันสื่อถึงจุดเวลาจุดเดียวจริงๆ แล้วมันจะให้คำตอบกับสังคม หรือสื่อถึงตัวแปรของสังคมได้จริงๆ หรือเปล่า ตอนนั้นความมั่นใจทางเศรษฐศาสตร์ก็น้อยลง บวกกับเกิดเหตุการณ์หลายอย่างในโลก รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ

พอจบปริญญาตรี ก็เลือกเรียน Southeast Asian Studies ก็อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับภูมิภาคของตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ เคยอยู่มาเจ็ดประเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เลยรู้สึกผูกพันกับภูมิภาคนี้ มันทำให้เห็นความเชื่อมโยงของโลกทั้งในด้านวัฒนธรรมและการค้าไปในตัว เคยใช้เวลาอยู่ตะวันออกกลาง 4 ปี ไปอยู่ยุโรป ไปอยู่ญี่ปุ่น ย้ายไปมาๆ เข้าเอกลักษณ์ของ Silk Road มันก็เลยมาเป็นตัวเรา

ตอนแรกที่เข้าไปเรียน Southeast Asian Studies อยากจะดูว่าระบบ Sustainable Development Model ในภูมิภาคนี้มีปัจจัยตัวแปรอะไรบ้าง เช่น ในเรื่องการเกษตร

ต่อมาระหว่างที่เรียนได้รู้จักกับท่านอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ (อดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจารย์เป็นคนสอน ก็เริ่มเขียนเปเปอร์วิชาของอาจารย์ ก็เลือกสุวรรณภูมิ ด้วยความสนใจแบบงูๆ ปลาๆ

พอเริ่มเรียนจริงๆ ก็เห็นอะไรบางอย่าง เพราะว่านักประวัติศาสตร์ชอบพูดถึงการค้า พูดถึงความมั่งคั่ง อ่านไปอ่านมาพบว่าไม่ค่อยตรงกับทฤษฎีที่เรียนมาเท่าไหร่ ทฤษฎีเรามีปัญหาหรือว่าประวัติศาสตร์มีปัญหา ก็เป็นโจทย์ที่เริ่มตั้งมา

กระทั่งจบลงด้วยการเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องสุวรรณภูมิในเส้นทางการค้าโบราณ

ตอนนั้นก็ลองแบบงูๆ ปลาๆ ลองใส่โมเดลวิเคราะห์ International Trade ลงไปในวิทยานิพนธ์นิดๆ หน่อยๆ จนอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์แนะนำว่าให้ส่งเปเปอร์ไป Conference มันมีวิชา Economic History อยู่ ซึ่งเราก็เคยได้ยินวิชานี้ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ ไปซื้อหนังสือเล่มหนึ่งของอาจารย์ Andre Gunder Frank อธิบายความแตกต่างระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก โดยให้เหตุผลว่า โลกตะวันตกรวยขึ้นมาได้เพราะโชคล้วนๆ คือ 1. ไปเจออเมริกา ทำให้ปลดล็อกทางด้านทรัพยากรได้ 2. สถาบันที่ถูก set up ขึ้นมา ความโชคดี ลักษณะเทคโนโลยีที่ผลิตในยุโรปมันตรงกับสิ่งแวดล้อมยุโรป

เขาก็เปรียบเทียบกับกรณีจีน เช่น เรื่องถ่านหิน ถ่านในจีน ลักษณะเหมืองถ่านมีลักษณะเป็นความร้อนสูง ฉะนั้นเทคโนโลยีของจีนจะเน้นการถ่ายความร้อนออก แต่ตัวที่ทำให้เกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมได้คือเทคโนโลยีที่ดูดน้ำออกจากบ่อ ซึ่งมันเป็นสภาวะของอังกฤษพอดี

เราก็มองว่าน่าสนใจมาก มันตอบคำถามความแตกต่างของสังคมได้ ตอบคำถามปัจจัยทางกาลเวลาและการพัฒนาได้ ตอนนั้นก็ชอบอาจารย์คนนี้มาก แต่ตอนหลังก็เริ่มไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง (หัวเราะ)

ต่อมาพอส่งเปเปอร์ไปที่ญี่ปุ่น ก็ไปเจอกลุ่มอาจารย์ที่ London School Economics (LSE) ได้คุยกับหลายท่าน เขาก็บอกให้เราสมัครมาเลย มาเรียนต่อ ก็เลยไป ระหว่างนั้นก็รู้แล้วว่าตัวเองอยากทำ คือเอเชียไม่มีการทำฐานข้อมูลในลักษณะ Economic History แบบ Macro Data ไม่มีเลย ขนาดจีนก็พึ่งเริ่มมาทำเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ก็อยากทำขึ้นมาตั้งแต่ยุคโบราณว่าลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นอย่างไร

เมื่อมาอ่านงานทางภูมิภาคนี้ ยังยึดทฤษฎียุโรปต้นศตวรรษที่ 20 ไว้เยอะมาก อย่างเช่น โครงสร้างสมัยก่อนเศรษฐกิจ จะเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีอะไรเลย เป็นเศรษฐกิจจนๆ ไม่เกิดการค้าขึ้น ซึ่งเมื่อมาดูหลักฐานทางโบราณคดี มันค้านกับความคิดพวกนี้ หรือชนชั้นบนกดขี่ชนชั้นล่าง ใช้แต่แรงงาน เอาทรัพยากรออกไป มันไม่อธิบายการเจริญเติบโตของเมืองเล็กๆ หรือชุมชนเล็กๆ ที่เกิดขึ้น แต่เมืองเล็กๆ เหล่านั้นมีพัฒนาการขึ้นมาเป็นระดับใหญ่ได้

โครงสร้างทฤษฎีเหล่านี้เคยถูกใช้อธิบายเศรษฐกิจสังคมในยุโรป เคยใช้อธิบายเศรษฐกิจสังคมในจีน ก็กลับมาดูว่าทฤษฎีพื้นฐานโครงสร้างมาร์กซิสต์มันไม่เวิร์กเลยนะ มันไม่มีอยู่จริง มันคือการคาดการณ์

ถามว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น เพราะเขาไม่ได้เดินทางมาเอเชีย เขาคิดว่าโลกทั้งโลก รวมทั้งอังกฤษและประเทศอื่นด้วยคือเยอรมัน คือสภาวะในเยอรมันที่เขาอยู่ นั่นคือประสบการณ์ของนักประวัติศาสตร์ยุคนั้น ซึ่งเป็นปัญหาของโครงสร้างทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ทั้งหมดในการวิเคราะห์ แล้วมีการต่อยอดกันมาเรื่อยๆ

เรื่องนี้ก็โดนใจมาก ระหว่างนั้นก็ทำงานการทูตด้วย ก็มีโอกาสได้ไปสหประชาชาติ ก็เห็นว่าปัญหานี้มันยืดมาทุกระดับ เรียกว่าปัญหาการมองโลกจากมุมมองของยุโรป ซึ่งแม้แต่คนในสังคมวิชาการยุโรปในยุคนี้ ก็มองว่ามันไม่ใช่แล้ว

พอไปเรียน LSE ก็เริ่มทำวิทยานิพนธ์ เรื่องแรกก็ทำเรื่องสมัยรัชกาลที่ 3 ดูค่าความแตกต่างของแรงงานระหว่างพม่า ไทย มาเลเซีย ก็ขุดข้อมูลสุดๆ มีเวลา 1 ปี ได้มาจุดหนึ่งก็พบว่าเศรษฐกิจไทยตามหลังพม่าอยู่จริงๆ แต่พอเข้าสู่รัชกาลที่ 4 ฝรั่งเริ่มเข้ามา มันทำให้เราไม่พร้อมในหลายๆ เรื่องในการ Modernize เข้ามาเป็น Modern Center

หลังจากนั้นก็ตั้งใจแล้วว่าเรียนปริญญาเอกแน่ ก็สมัครและได้ทุนทั้งที่ LSE และ อ๊อกซฟอร์ด แต่เลือกที่จะไปอ๊อกซฟอร์ดด้วยเหตุผลว่าเขามีคณะโบราณคดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว เพราะว่าภูมิภาคนี้มีข้อมูลในเชิงกระดาษที่แน่ๆ คือหอจดหมายเหตุ แต่มีข้อมูลจำนวนจำกัด คือข้อมูลที่กู้ได้จากการที่หอจดหมายเหตุเก่า เอกสารเก่าถูกทำลาย ไฟไหม้หลายรอบ เอกสารก็กระจัดกระจาย แต่ Material Culture ของที่มันเป็นวัตถุยังอยู่ ของเหล่านี้เป็นพื้นฐานได้ว่าเราจะเอามาพลิกแพลงยังไงในการศึกษา

เช่น กระดูกมนุษย์ที่ขุดขึ้นมาได้ ข้อมูลทางการแพทย์ตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาล เราสามารถเห็นได้ว่า ถ้าหากว่ากระดูกคนช่วงขายาวขึ้น แสดงว่าคนสูงขึ้น การเปลี่ยนเปลี่ยนทางความสูงโดยเฉลี่ยในระยะยาวแสดงถึงความมั่งคั่งของสังคม เพราะคนได้รับโปรตีน ได้รับสารอาหารดีขึ้น นี่คือการพลิกแพลงแบบหนึ่ง

นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

ถามว่าทำไมมาลงเรื่อง Heritage Industry เหตุผลหลักเพราะว่า ตอนทำต้องทำฐานข้อมูลใหญ่ ก็ไปขอความร่วมมือโดยได้รับความกรุณราจากกรมศิลปากร ในการใช้ฐานข้อมูลของเขา บวกกับดูงานวิทยานิพนธ์ งานแยกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ขุด แล้วเอาทุกอย่างมารวมกันทั้งพม่า ไทย และมาเลเซีย มาเลเซียคือแถวรัฐ เคดาห์ (Kedah) ก็เซอร์เวย์หมด

แต่ฐานข้อมูลพวกนี้มันกระจัดกระจาย บางอันมันหายไป เราต้องไปแหล่งโบราณคดีบ้าง เช็คไซต์บ้าง แล้วก็เอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำบางปะกงด้วย ซึ่งเจอแหล่งโบราณคดีแถวเมืองศรีมโหสถ (จ.ปราจีนบุรี) ทางตอนเหนือของเมือง ตอนนี้พบสุสานโบราณ ซึ่งคาบเกี่ยวกับสมัยแรกเริ่ม กับสมัยทวารวดี

ก็ได้ความร่วมมือจากชาวบ้านทั้งตอนทำเซอร์เวย์และตอนที่คุย พอไปเริ่มคลุกคลีตรงนั้น ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของเรามันถูกปลุกขึ้นมา พอคุยมากๆ รู้สึกว่าของพวกนี้มันพัฒนาได้ งานหลายอย่างที่นักโบราณคดีทำอยู่ หรืองานศึกษาพวกนี้สามารถ Outsource ให้ชุมชนได้ ทำไมถึงลักลอบขุดกันอยู่ ทำไมถึงมีปัญหาความยากจน

มีอยู่ที่หนึ่งได้เข้าไป ผู้ใหญ่บ้านร้องไห้เลย เพราะว่าหลานตัวเองไปลักลอบขุดในแหล่งโบราณคดีใต้ป่าไผ่ เวลาขุดก็ต้องอาศัยน้ำ เวลาฝนตกแรงๆ ลูกปัดมันจะลอยขึ้นมา เด็กก็ไปมุดรูขุดใต้ป่าไผ่ ถ้าดินถล่มลงมาก็จบเลย คือมันเป็นพื้นที่การเกษตรที่ยังไม่เจริญ แต่ก็ไม่ได้ไกลจากตัวเมือง มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแหล่งโบราณคดีได้ ที่จะเชื่อมต่อ

ทั้งนี้เชื่ออย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าชุมชนใดก็ตาม เขาต้องการดำรงเอกลักษณ์ของเขาไว้ก็จริง แต่มนุษย์ทุกคนมีความต้องการเชื่อมต่อกับโลกสมัยใหม่รอบๆ ตัวเรา กระแสพวกนี้ไม่ว่ายังไงก็ห้ามไม่ได้ สอนให้มีความรับผิดชอบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นทุนนิยมเต็มตัว แต่ว่าให้มีความรู้ ใช้แล้วเดินเข้าไปพร้อมกับสังคมเมืองกรุงเทพฯ ได้ นี่คือสิ่งที่เห็นว่าโบราณคดีมอบให้คนได้ เพราะมันเป็นศาสตร์ของโบราณคดี และการศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วคือ Skill Sector

ตั้งแต่นั้น ทุกครั้งทุกแหล่งที่ไป ก็ได้ไปคุยกับคนที่ลักลอบขุดบ้าง หมู่บ้านบ้าง ก็ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งเพราะดูปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ด้วย ก็ได้ความรู้เพิ่มเติมไปด้วย สนุกมาก ช่วง 1 ปีที่เซอร์เวย์ไซต์ต่างๆ ไปตั้งแต่สุโขทัย ลงไปถึงสงขลา ทะลุไปเคดาห์ ก็เป็นที่มาว่าทำไมถึงเริ่มมาสนใจเรื่อง Heritage Industry

ไทยพับลิก้า: กางแผนที่ยังไงตอนทำเซอร์เวย์ ว่ามันต้องไปตรงไหน อย่างไร

ไปตามสำนักศิลปากรค่ะ ถ้าเป็นพม่าก็ติดต่อกระทรวงวัฒนธรรมเขาก่อน สนุก ได้ความรู้เยอะมาก ตอนไปพม่าก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก ได้ลงไปรัฐมอญ ไล่ทีละหมู่บ้านไปเลย

ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะลงหนักขนาดนั้น แต่ข้อมูลไม่มี ต้องไปเอาข้อมูลในพื้นที่ ใช้ความพยายามหน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็ขอความรู้จากนักโบราณคดีเป็นหลัก นักโบราณคดีจะรู้อะไรเยอะมาก เพราะเขาลงพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร แต่ละคนค่อนข้างมีอินไซด์ที่ลึก

ไทยพับลิก้า: ที่บอกว่าเอเชียไม่ค่อยมีการทำฐานข้อมูลในลักษณะ Economic History เป็นเพราะอะไร

ไม่มีการรวมศูนย์กลาง แต่มองว่าส่วนหนึ่งที่ไทยทำได้เลยก็คือการปรับตัวเองเป็น “Data Economy” คือ Data Driven สอนให้คน Data Literate เรายังไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะค่านิยม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทยอย่างเดียว ในตะวันตกก็มี

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนชอบบอกว่า ไม่เก่งเลขนะ กล้าพูด แต่จะไม่มีใครกล้าพูดว่าใช้ภาษาไม่เก่ง แปลกไหม ทั้งที่เลขก็เป็นภาษาแบบหนึ่ง แล้วปัญหาก็คือการตัดสินใจอะไรทุกวันนี้เพราะว่าไม่มองให้ละเอียด

คือการคำนวณทำให้เราเห็นข้อมูลในเชิงที่ละเอียดขึ้น อย่างน้อยการตัดสินใจในชีวิตประจำวันหรือการวิเคราะห์ข้อมูล คนเราควรจะสามารถจับตัวเลขได้ง่ายๆ เช่น จะตัดสินใจเรื่องเลือกตั้ง ถ้าดูตัวเลขไม่เป็นก็จบ ตัวเลขมันก็หลอกกันได้เหมือนกัน

ซึ่งเมื่อได้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อ๊อกซฟอร์ด ก็เห็นความสำคัญของ Data Economy ที่อังกฤษพยายามสร้างขึ้นมา อย่างน้อยการเอาผลเลือกตั้งมาให้เด็กนั่งวิเคราะห์ เข้าใจไหมว่าเปอร์เซ็นเทจมันหมายความว่าอะไร

อังกฤษพยายามสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นฐานข้อมูลของโลก คือ Monopolize ข้อมูล ใครจะทำงานวิจัยต้องจ่ายเงิน ซื้อฐานข้อมูล ไทยก็ทำได้เหมือนกัน เพราะมีนักสถิติเยอะ ค่อนข้างจะพัฒนาในด้านสังคมศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

“เราน่าจะเอาตรงนี้มาใช้ แล้วข้อมูลโบราณคดีราคาแพงนะคะ ถ้าหากนักวิจัยจากสถาบันต่างประเทศมาซื้อ มันสร้างมูลค่าให้ประเทศเราได้เลย ตั้งฐานข้อมูลดีๆ Monopolize ข้อมูลในภูมิภาค ก็เท่ากับกุม Knowledge Capital ไว้แล้ว”

ไทยพับลิก้า: ปัจจุบันข้อมูลของไทยมันอยู่ในระดับไหน หลังจากที่คุณได้เข้ามาทำ

ตอนนี้ค่อนข้างมีการทำซ้ำซ้อนกันเยอะ และการเข้าถึงข้อมูลใช้อยู่เฉพาะจุดเดียว ไม่มีการพลิกแพลงข้าม อย่างเช่นกรมศิลปากรมีฐานข้อมูลของตัวเอง ศูนย์มานุษยวิทยาก็มีฐานข้อมูลของตัวเองเหมือนกัน

งานขุดที่อยู่ที่กรมศิลปากร บางครั้งก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ยากหน่อย ต้องใช้การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน ซึ่งทำให้การเข้าถึงข้อมูลหรือการนำมาใช้ข้อมูลระดับรวมมันยากขึ้น

แม้กระทั่งงานประวัติศาสตร์ศิลป์ การเปิดพิพิธภัณฑ์ ยังใช้ว่าใครมีคอนเนคชั่นกับใครอยู่เลย ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ หรือหนังสือจัดตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก็เป็นของกรมศิลป์ แต่มันควรมีงานตีพิมพ์ของนักวิชาการ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์มารวมกันมากกว่านั้น คือเมืองไทยขาดคนที่ช่วยประสานงานแล้วจัดระบบเรื่องพวกนี้ให้เข้ามาเป็นองค์รวมทางเศรษฐกิจให้ได้

นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

ไทยพับลิก้า: จริงๆ แล้วมันควรจะเป็นนโยบายไหม

ควรที่จะเป็นโยบายในการแก้ปัญหา อย่างเรื่องที่เห็นชัดคือการจัดทะเบียนพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้มีปัญหาเรื่องทะเบียนขึ้นมา แต่ถามว่าคนในพิพิธภัณฑ์ไม่ทำทะเบียนเหรอ ก็ไม่ใช่ ทะเบียนทุกที่ที่ไป ทำ แล้วทำละเอียดด้วย

แต่ถามว่าทรัพยากรบุคคลมีพอมั้ย ไม่ งบประมาณต่อปีมีพอมั้ย ไม่ พิพิธภัณฑ์ต้องไปทำงานอย่างอื่นอีก เจ้าหน้าที่มีอยู่คนเดียวใน 365 วัน เข้าใจเลยว่ามันเหนื่อย งบประมาณตรงส่วนที่เป็นตรวจสอบมาช่วยพัฒนาระบบ หรือไปดึงองค์กรอื่นซึ่งถนัดเรื่องการทำฐานข้อมูลมาช่วยทำงานดีกว่าไหม นั่นคือสิ่งที่สัมผัสได้ถึงงานของเขา ขาดการประสานงานอย่างเต็มๆ

หลายพิพิธภัณฑ์ พอเจ้าหน้าที่เป็นอย่างนี้ ถามว่าทำไมระบบมันไม่ตรงกัน ก็เพราะว่าแม้ส่วนกลางจะอบรมไปครั้งสองครั้ง แต่กับการสร้างฐานข้อมูลเขาไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง หลายคนจบประวัติศาสตร์ศิลป์ จบการบริหารพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้จบเรื่องไอที มันเป็นการคาดหวัง โหลดงานให้คนคนเดียวมากเกินไป ซึ่งน่าจะเป็นโครงสร้างปัญหาที่พบทั่วไปในระดับกว้าง

เพราะการจัดเก็บมันต้องแยกของ สมมติหม้อทั้งหมดมีเกิน 10 ชนิด ซึ่งต้องค่อยๆ แยก ค่อยๆ ดู ค่อยๆ จด ค่อยๆ วัด ถามว่าเขาจะเอาเวลามาจากไหน เพราะแต่ละชิ้นใช้เวลานานมาก

“ถามว่าตะวันตกทำอย่างไร แพงทำงานในพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษ ก็จะเปิดให้ใครก็ได้ที่สนใจ เช่น สนใจเรื่องเหรียญ เราสามารถไปช่วยภัณฑารักษ์แยกเหรียญได้เลย ก็เป็นโปรไฟล์ของเรา เราก็เรียนรู้ไปด้วย ภัณฑารักษ์ก็มาสอนด้วย คนพวกนี้ก็จะกลายเป็นทรัพยากรต่อไป”

มีอยู่คนหนึ่งสนใจเรื่องถ้วยโรมันจริงๆ เป็นคุณลุงอายุ 60 เริ่มทำงานตั้งแต่ก่อนเกษียณสัก 2-3 ปี จนปัจจุบันอายุ 65 กว่า กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยโรมันชนิดนี้ของอังกฤษโดยที่แกไม่ได้จบการศึกษาอะไรมาเลย แต่เป็นวิศวกร มีความสนใจ ชอบ

นี่คือความสวยงามของงานด้านพิพิธภัณฑ์ ไม่จำเป็นที่งานทุกชนิดต้องจบปริญญา ส่วนงานที่ต้องใช้ปริญญาจริงๆ คืองานวิจัย งานแบบที่ตัวเองทำ คือดูผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว

สรุปคือเรามีฐานข้อมูลเยอะ แต่ได้มีการจัดระบบการประสานข้อมูลออกมา แล้วฐานข้อมูลพอทำออกมาแล้วซ้ำซ้อน มันทำให้ขยายฐานข้อมูลให้ ละเอียดไม่ได้ ฐานข้อมูลก็จะขาดๆ เกินๆ เติมบ้างไม่เติมบ้าง หลายส่วนก็แหว่งไป ทำให้การนำออกมาใช้ก็ไม่ทั่วถึง

อีกส่วนหนึ่งคือเกิดปัญหาในเชิงลึกขึ้น ในแง่ความแม่นยำของข้อมูล เพราะงานด้าน โบราณคดี แหล่งโบราณคดีถ้าจะขุดให้ถูกต้องเลย อย่างน้อยต้องมีนักโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญด้านดิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพืช ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระบบหลายๆ อย่าง แม้กระทั่งเรื่องถ้วยชาม เหล็ก นักประวัติศาสตร์บางแหล่งใช้วิศกรด้วย ดึงผู้เชี่ยวชาญหลายจุดเข้ามา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษา

แล้วแหล่งหนึ่งขุดลงไป สมมติว่าจะขุดที่ลพบุรี ชุมชนวิทยา ก็ผู้ชำนาญการคนหนึ่งแล้ว ขุดลงไปอีกสมัยลพบุรี อีกคนหนึ่ง ลงไปอีกสมัยทวารวดี ลงไปอีกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 4 ชั้น 4 คน มันต้องครบองค์รวม แล้วคนเหล่านี้ก็จะมีผู้ช่วยแตกออกไปอีก เป็นการสร้างงาน ถามว่าชุมชนเข้ามาเรียนรู้ได้มั้ย งานบางอย่างเอาเข้ามาเรียนรู้ได้ แต่เมืองไทยขุดหลุมนึง มีเฉพาะนักโบราณคดี จบ

ไทยพับลิก้า: ทำไมถึงมีแค่นักโบราณคดีอย่างเดียว มันเกิดอะไรขึ้น

มาจากเหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้โดยตรง เพราะในแง่งานโบราณคดี เมื่อก่อนเรียกภูมิภาคนี้ว่า Greater India คนที่เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้แรกๆ เลยก็คือฝรั่ง แล้วก็คนไทยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐไทย

แต่เป็นการมองแบบลักษณะประวัติศาสตร์ศิลป์ซะเยอะ ถามว่าทำไม เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว วิชาโบราณคดียุคแรกๆ เรียกว่ายุค Orientalism คือทุกอย่างเป็นเรื่องศิลปะ เรื่องสวยงาม ทำให้มีการเอาของที่เป็นส่วนต่างไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก็เลยเน้นแต่รูปลักษณ์

ส่วนที่เราพูดมาไม่ว่าจะวิศวะ หรือผู้ชำนาญการทางวิทยาศาสตร์อะไรก็แล้วแต่ มันเป็นงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา ของไทยก็เข้ามาช้ากว่านั้นอีก และยังมีแค่บางแหล่งเท่านั้นที่ทำจริงๆ

ปัญหาระดับต่อมาก็คือ เมื่อวิทยาศาสตร์เข้ามารุ่นแรกๆ ก็จะเป็นนักประวัติศาสตร์สายก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งสายก่อนประวัติศาสตร์อย่างที่อธิบายไป มันอยู่ชั้นลึกสุด บางคนเข้ามาอะไรที่อยู่ข้างบนก็โยนทิ้งไป

ยกตัวอย่างในภูมิภาคนี้ วัดพู ประเทศลาว คนที่อยู่ในสังคมประวัติศาสตร์จะรู้ว่าวัดพู สมัยก่อนมีวัฒนธรรมเขมรโบราณก็คือวัฒนธรรมทวารวดี ตอนที่ฝรั่งเศสขุดเพื่อไม่ให้แหล่งโบราณคดีเชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก ซึ่งอยู่ในบริเวณของไทย ก็โยนทุกอย่างที่เป็นทวารวดีออกไป

มันก็มีนัยของอาณานิคม นัยของตัววิชา ซึ่งสมัยนั้นเน้นศิลปะมากเกินไป ไม่ให้ความสนใจกับบริบทของพื้นที่สักเท่าไหร่ พอจะแก้ก็เป็นเรื่องค่อนข้างยากแล้ว เพราะว่าหลายแหล่งก็ถูกทำลายไปบ้าง ก็ไปแก้ตัววิชาการศึกษาบ้าง

เช่น การขุด ปัจจุบันเริ่มทำกันแล้วในมหาวิทยาลัยศิลปากร คือทำ 3D สมมติเจอหม้อชิ้นหนึ่ง มาร์คเลยว่าในชั้นดิน 3D เท่าไหร่ เจอตรงบริเวณไหน พอทำโมเดลออกมาจะเห็นการกระจายตัวในระดับ 3 มิติ ซึ่งมันสำคัญมาก เพราะเราจะรู้ว่าของมันไปคลัสเตอร์อยู่ตรงไหน แล้วบริเวณนั้นมันใช้สำหรับอะไร

สมัยก่อนขุดใช้กริด แล้วก็เก็บขึ้นมาชั่งกิโลต่อกริด เราจะได้แค่ความหนาแน่นลักษณะ 2D เป็นยังไง แต่จะไม่ได้รูปลักษณ์หรือการกระจายตัวที่แท้จริง นี่คือการผสมผสานเทคโนโลยีและความละเอียดของงานเข้ามา

มันส่งผลกระทบแม้กระทั่งการตรวจค่าอายุของแหล่งโบราณคดี ปัญหาที่เห็นชัดๆ คือการกำหนดอายุ แหล่งโบราณคดีในหลายๆ ที่ ถ้าตีความในแง่ประวัติศาสตร์ ไม่มีศิลปวัตถุ ไม่มีลายลักษณ์อักษร ถือว่าเป็นก่อนประวัติศาสตร์

ถามว่าดูยังไงว่าเป็นสมัยทวารวดี ก็คือมีรูปเคารพ หรือมีศิลาแลง หรือมีอะไรที่มันดูว่าเป็นสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งถามว่าในสังคมปัจจุบัน ยกตัวอย่างง่ายๆ จากกรุงเทพฯ จะออกไปหมู่บ้านไหนไกลๆ เมืองหน่อย ขนมที่มาจากญี่ปุ่น ไม่ไปปรากฏอยู่ที่นั่น ถามว่าหมู่บ้านนี้กับเมืองนี้เป็นสมัยเดียวกันมั้ย ก็ยังเป็นสมัยเดียวกันอยู่ เพียงแต่ของมันไม่ได้ไปตรงนั้นเท่านั้นเอง

ฉะนั้นการตีความเหล่านี้มันก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นว่า มันก่อนประวัติศาสตร์แน่หรือ มันก็ไม่ได้เห็นการวิวัฒนาการของการเจริญเติบโตว่าอันนี้คือศูนย์กลาง

พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

ไทยพับลิก้า: เป็นเพราะสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ทันสมัย แต่วันนี้เทคโนโลยีทันสมัย เลยทำให้ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ส่วนหนึ่งก็ใช่ แต่ว่าเรื่องเรดิโอคาร์บอน อ๊อกซฟอร์ดเป็นที่แรกที่ทำขึ้นมา พัฒนามาตั้งแต่ประมาณปี 1954 ก็ใช้กันมาเรื่อย แต่ความเข้าใจและความกระตือรือร้นในการตรวจให้ละเอียดเพิ่งมาเริ่มเมื่อเร็วๆ นี้เอง หลายแหล่งก็ยังไม่ได้ตรวจเช็ค บางที่พอไปตรวจอีกทีก็หายไปแล้ว พังไปแล้ว

อีกปัญหาหนึ่งที่เห็นชัดทุกพื้นที่ก็คือ ชาวบ้านมีความเข้าใจผิดเรื่องบทบาทของกรมศิลปากรมาก คือเข้าใจว่าถ้าเป็นแหล่งโบราณคดีจะต้องโดนยึดพื้นที่ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะมีปัญหา แต่มาสมัยนี้นักโบราณคดีส่วนใหญ่ที่แพงเคยสัมผัส ทุกท่านทุ่มเทให้กับงานเต็มที่ แต่ก็ในกรอบที่จำกัดอยู่ แต่ชาวบ้านยังติดภาพนักโบราณคดีเข้ามารังแกชาวบ้านอยู่

ไทยพับลิก้า: แล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง ที่สามารถสร้างฐานข้อมูลให้เกิดชัดเจนขึ้น

ต้องมีหน่วยงานกลางหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งก็หวังว่าฐานข้อมูลที่แพงกำลังสร้างอยู่ตอนนี้จะเป็นบรรทัดฐานที่จะเริ่มทำขึ้นมาให้เกิดขึ้น คือเป็น “สถาบันส่วนกลาง” ที่จะผสานข้อมูลจากหน่วยงานทั้งหมด เอาเข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน

คือเมืองไทยยังขาด Mediator สมมติพิพิธภัณฑ์จะจัดงาน ต้องทำประชาสัมพันธ์เอง ต้องวางแผนโครงการดีไซน์เอง ทำทุกอย่างเองหมด ซึ่งงานมันเยอะ ผลสุดท้ายคุณภาพงานไม่ออก ควรจะมี Mediator เข้ามารองรับงานพวกนี้ให้เกิดขึ้น

ถ้ามองในแง่ Business Structure ของเมืองไทย เราค่อนข้างจะไม่ค่อยมี Think Tank ที่ปรึกษาเรื่อง Heritage แทบไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะอาศัยฝรั่ง แต่ถ้ามีหน่วยงานตรงกลางขึ้นมา อาจจะไม่ต้องขึ้นกับรัฐก็ได้

ที่อยากให้เกิดคือ “หน่วยงานเอกชน” มากกว่า บริษัทที่จะเข้ามา Cover ตรงนี้ คุณอาจจะไม่ต้องชำนาญการเรื่องประวัติศาสตร์มาก แต่ควรจะเป็นคนที่ประสานงานให้เขาได้และรับนโยบายได้จากหลายหน่วยงาน เป็นตัวกลางที่จะทำให้คุณภาพเกิดขึ้น ความเข้าใจเรื่องคุณภาพก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ อะไรคืองานที่น่าจะออกมา ไม่ใช่ทำเพื่อขายอย่างเดียว

ไทยพับลิก้า: ในวงกว้างคนยังไม่เข้าใจความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์กับสิ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม

ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างนั้นด้วย ส่วนหนึ่งของงานที่กำลังคิดจะทำกับเพื่อนคือการดูเรื่องคำนิยามของมรดกวัฒนธรรมระหว่างเอเชียกับตะวันตก เพราะว่าตะวันตกเขาไม่มีการเสียไป เขาต่อยอดมาเรื่อยๆ

พอสมัยยุคกลางก็เริ่มกลับไปหาโรมัน สมัยโรมันก็กลับไปกรีก แล้วก็ต่อยอดมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้นักศึกษาที่สนใจประวัติศาสตร์โรมัน-กรีก มากที่สุด จริงๆ แล้วอยู่ที่อเมริกา ศูนย์ศึกษาโรมัน-กรีก ใหญ่ๆ กลับไปอยู่อเมริกา มันทำให้ Identity ในฐานะคนของเขามันต่อยอด

แต่ของเรามันจะมียุคเอเชียทั้งหมดมีปัญหานี้ คือความภูมิใจ ความเป็นส่วนหนึ่งของการผันแปรผสานระบบของวัฒนธรรมมันหายไปในยุคนึง คือยุคที่ฝรั่งเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคม ต่อมาก็คือยุคที่ปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็มีการพยายามทิ้ง แม้กระทั่งญี่ปุ่นเอง หลายๆ อย่างก็หายไป

แต่ญี่ปุ่น Concision เขาจะเร็วกว่านิดนึง ยกตัวอย่างกิโมโน คือหมายถึงสิ่งที่สวมใส่ เป็นเสื้อผ้า แล้วกิโมโนที่เราเห็นปัจจุบันนี้ เป็นของที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพราะสมัยก่อนคนทั่วไปไม่ใส่กิโมโนที่เป็นผ้าไหม แล้วแบบอย่างกิโมโนถูกสร้างเกิดขึ้นในช่วงสร้างชาติของญี่ปุ่น ยุคเมจิ เขาก็พยายามเชื่อมต่อขึ้น คือ Disruption ที่เกิดขึ้น มีอยู่ช่วงหนึ่งคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาจะทิ้งการแต่งตัวแบบญี่ปุ่น ทุกอย่างต้องเป็นตะวันตกหมด แต่ช่วงเวลา 10-20 ปี แต่มันยังสั้นกว่าของเรา ของเราค่อนข้างยาวแล้วทิ้งเลย

พอทิ้งเลย Sense of Lost มันสูง แล้วพอสร้างก็สร้างจากความฝัน คิดว่ามันเป็นแบบนี้ ทำให้ความรู้สึกว่าฉันโตมากับวัฒนธรรมนี้มันประดักประเดิด ไม่เท่ากัน แล้วแต่ว่าคุณอยู่ส่วนไหนในสังคม พอเราโยงวัฒนธรรมนี้เข้ากับความเป็นชาติ กับมวลรวมเศรษฐกิจ มันทำให้จิตสำนึกตรงนี้ คนเชื่อมโยงไม่ได้ว่าอะไรคือไทยจริงๆ

แต่ปัญหาแรกที่เราควรจะตกลงกันให้ได้ก็คือ แน่นอนว่าทุกอย่างในสมัยใหม่เป็นความคิดที่สร้างขึ้นเหมือนกับประวัติศาสตร์ แต่สร้างขึ้นมาแล้วไม่ได้หมายความว่าไม่มีตัวตนอยู่ เช่น แก้วใบหนึ่งเป็นคอนเซปต์ดีไซน์เหมือนกัน แต่วันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะอยู่กับมันยังไง เราจะใช้ประโยชน์จากมันได้ยังไงมากกว่า

ตอนนี้งานทางมนุษยวิทยาจะติดอยู่ที่ว่า มันไม่จริง นี่ไม่ใช่ไทยหรอก มาจากที่นั่น มาจากที่นี่ ถามว่าทำอย่างนั้นแล้วได้อะไร ตอนจบแล้ว พอมันผสานกัน มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นระหว่างกลาง ที่มันกลายเป็นของที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ณ พื้นที่นี้ ใช้โดยคนกลุ่มนี้ ก็เป็นเอกลักษณ์แบบหนึ่งเหมือนกัน แล้วจะใช้มันออกมายังไงมากกว่า

ไทยพับลิก้า: อะไรทำให้คนรู้สึกไม่เชื่อ มองแค่ว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นมา หรือเป็นแค่ฝัน

ขอยกตัวอย่าง “ชุมชนคูบัว” (จ.ราชบุรี) เป็นชุมชนที่ย้ายมาตอนสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะพื้นที่เมืองคูบัวโบราณโดนทิ้งไปแล้ว เขาเข้ามามีวัฒนธรรมของเขา โดยเฉพาะผ้าคูบัว ดังมาก สวยมาก เขาต้องการเน้นวัฒนธรรมอันนั้นของเขามากกว่า เพราะว่าโบราณสถานที่ตั้งอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่กรมศิลป์เคยพูดถึง คนก็เข้ามาเที่ยวนิดๆ หน่อยๆ เขาหาประโยชน์จากมันไม่ได้ ยกเว้นแต่ไปขุดลูกปัดขาย

ดังนั้นถามว่าเขามีความรู้สึกภูมิใจมั้ย ไม่ อย่างเดียวที่เขารู้สึกว่ามีค่าหน่อยก็คือสถูป เพราะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แต่ถ้าถามว่าสุสานโบราณทั่วไป ขุดเละหมดแล้ว

อันนี้เป็นการขาดการเชื่อมโยงความหวงแหนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เกิดขึ้น เพราะชุมชนนี้รวยอยู่แล้ว มีโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถเชื่อมต่ออัตลักษณ์ของตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ได้

ประเด็นนี้สำคัญมาก… ถ้าย้อนกลับไปว่าเขาจะรู้สึกเชื่อมโยงได้มั้ย ได้เลย เพราะเราไม่รู้ว่าทวารวดีคืออะไร ทวารวดีแน่ๆ คือมอญมาแน่ แต่ก็อาจจะมีชาติพันธุ์อื่นอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตซึ่งขยายไปสู่ภูมิภาคที่เขาเคยมา วัฒนธรรมเขา แล้วเขาก็มารับต่อวัฒนธรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาไม่รู้ตัวเลย มาจากวัฒนธรรมทวารวดีเหมือนกัน

เหมือนกับคนอังกฤษหวงความเป็นโรมัน ทำไมคนอังกฤษหวงความเป็นโรมันได้ แต่เราไม่สามารถหวงความเป็นทวารวดีได้ หวงความเป็นเขมรโบราณได้ ก็คงจะมีคำถามว่าจะทำยังไงกัน

ซึ่งเป็นงานที่อาจจะต้องใช้ Public Engagement โดยนักวิชาการและนักโบราณคดีพูดภาษาให้ชาวบ้านเข้าใจ สิ่งที่สนุกอย่างหนึ่งเวลาเข้าไปตามชุมชนก็คือได้คุยภาษาเปรียบเทียบง่ายๆ เขาก็จะได้เห็นภาพว่าของชิ้นนี้บรรพบุรุษฉันก็เคยใช้สิ เขาอาจจะไม่ได้เกิดที่นี่ แต่ปู่ยาตาทวด เอาแก้วอาหรับเข้ามาให้คนฉันนะ ก็เริ่มเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเขายังไง

ที่สำคัญมากที่สุด คือต้องตอบปัญหาเรื่องปากท้องเขาให้ได้ เพื่อจะหยุดการขุด ของพวกนี้พอตอนจบแล้วเป็นมรดกก็จริง บางคนมองว่าเป็นมรดกก็เอาทรัพย์สินมาถ่ายเท ก็ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ โดยการมองว่าถ้าคุณรักษาตรงนี้ไว้ แล้วไปพัฒนา คุณอาจจะกลายเป็นผู้ชำนาญเรื่องแก้วโบราณ ลองขุด ลองศึกษา เขียนหนังสือซิ คุณก็จะกลายเป็นคนอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ได้รายได้ด้วย คือทำ 2 ระดับ ให้อดีตเป็นปัจจุบัน แล้วก็ให้ปัจจุบันเป็นอนาคต

ไทยพับลิก้า: การที่จะทำอย่างนั้นได้ มันจะทำยังไง เพราะคนที่จะเข้าใจเหมือนคุณก็ไม่ได้มีเยอะมากในประเทศไทย แต่แหล่งโบราณมีเป็นหมื่นๆ ที่

ตอนนี้มีความพยายามในการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยู่ แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมันกระจัดกระจาย ซึ่งเมื่อไทยขาด Historical Review สิ่งที่กรมศิลป์ทำได้ก็คืออาจจะออกคู่มือการศึกษาประวัติศาสตร์แล้วกระจายไปตามชุมชน เพราะแต่ละ อบต. ที่เข้าไปเขาอยากสร้างเรื่องราวให้บ้านตัวเองอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: มีชุมชนต้นแบบทำให้เห็นก่อนไหม

ชุมชนที่มองว่าค่อนข้างน่าสนใจ คือ “ชุมชนอู่ทอง” หลังเขาพุหางนาค (จ.สุพรรณบุรี) ซึ่งคนในชุมชนไปทำงานที่อื่นมา แล้วเขาก็กลับมา ก็รักหวงป่าตรงนั้น หวงโบราณสถานตรงนั้น เกิดความพยายามต้องการศึกษา แต่ได้เข้ายุคแรกๆ หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีโอกาสกลับไปอีก แต่ก็เจอว่าความจริงหลายๆ อย่างที่เขาควรจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ เขาไม่รู้และไม่สามารถเข้าถึงได้

ถ้ามันมีคู่มือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง เช่น การผลิตสินค้าจดลิขสิทธิ์ยังไง การศึกษาประวัติศาสตร์ทำยังไง การจัดพิพิธภัณฑ์ทำแบบไหน คุณต้องติดต่อใครบ้าง มีการบรีฟพื้นที่แต่ละพื้นที่ อย่าเก็บความรู้ไว้ที่ตัวเอง นักวิชาการที่เข้าไปจะต้องมีหลักจรรยาบรรณ

คือมันจำเป็นหรือไม่ที่นักวิจัยที่ทำงานในภูมิภาคแบบนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องผสานงานกับภูมิภาคที่คุณเข้าไป กับคนในชุมชนที่คุณเข้าไป เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่คุณรู้ให้เขารู้ แล้วเรียนรู้จากเขาด้วย และเป็นตัวประสานงานให้เขา อาจจะเป็นหลักจรรยาบรรณเลยว่าลงพื้นที่คุณต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่ไปเอาข้อมูลมา ตัวคุณได้ชื่อ แต่คุณทิ้งเขาไว้ตรงนั้น ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นเยอะมาก

หลายๆ ที่ที่ประสบความสำเร็จนอกเรื่องโบราณคดี เช่น เรื่องการเกษตร ที่ชุมพรมีนักศึกษาปริญญาโทเข้าไปดูไร่กาแฟแล้วไปสร้างระบบโรงงานพลังแสงอาทิตย์ เป็นเครื่องอบโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ชุมชน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงและราคาถูกด้วย ก็ทำได้ แต่ต้องอาศัยตัวบุคคลที่มีจิตสำนึก ทำไมเขาไม่ทำให้เป็นมาตรฐาน ถามว่าเป็นเฉพาะประเทศไทยมั้ย มันเป็นคำถามที่หลายๆ ที่เริ่มตั้งขึ้น

“อย่างอ๊อกซฟอร์ดเข้ามาจะมีเอกสารปึกหนึ่งที่ต้องไปอ่านกับเจ้าหน้าที่ว่า แพงมีความรับผิดชอบแบบนี้ แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นคุณฟ้องแพงได้นะ ฟ้องมหาวิทยาลัยได้ ร้องเรียนได้ นี่คือหน้าที่ที่แพงต้องทำให้คุณ คือแพงจบแล้ว จะต้องเอางานแปลเป็นภาษาไทยก็แล้วแต่ มาส่งให้ นี่เป็นความรับผิดชอบพื้นฐาน”

แต่หลายมหาวิทยาลัยที่เข้าไปก็ยังไม่มีหลักจรรยาบรรณ ก็ติดต่อขออนุญาตเข้าไป จบ มันเป็นการทำให้ความรู้มันทิ้งช่วงระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท

ไทยพับลิก้า: แต่ละที่พยายามสร้างเรื่องราวของตัวเองขึ้นมาว่าชุมชนฉันมาจากไหน มายังไง มีจุดแข็งอะไร แต่ก็ไม่มีเครื่องมือในการที่จะทำ

ความจริงมันไม่เหมือนปริญญา ความจริงเป็นของที่ส่งต่อได้ง่ายๆ วิธีการขุดมันทำให้คนเห็นได้ว่าทำยังไง จะปล่อยให้ชาวบ้านขุดเองก็คงไม่ใช่ เพราะต้องใช้นักโบราณคดีกำกับ แต่มันก็ผ่อนงานของกรมศิลป์ได้ ถ้าสมมติ อบต. มีงบประมาณ และต้องการที่จะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ชุมชน

หาเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่จำเป็นต้องเอกลักษณ์ต่างมาก แต่เป็น “เอกลักษณ์ที่ต่างและเหมือน” สมมติเดินทางจากแหล่งโบราณคดีหนึ่งในอังกฤษ จากโบสถ์หนึ่งไปอีกโบสถ์หนึ่ง มันก็เหมือนๆ กัน แต่ทุกโบสถ์มีความต่างอย่างละนิดอย่างละน้อย ทำให้เรื่องราวในการเดินทาง ในการท่องเที่ยว มันน่าสนใจ

แล้วแต่ละโซนก็ทำเป็นรูทได้ อย่างเช่น คนไทยจะรู้จักสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) แต่จริงๆ แล้วทางเหนือของสโตนเฮนจ์จะมีถนนโบราณ เป็นถนนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตัดลงมาถึงสโตนเฮนจ์ แล้วระหว่างทางมีปราสาทโบราณ เป็นเหมือนชุมชนที่ยกระดับขึ้นไปเป็นหน้าผาสูงๆ แล้วก็ไปตั้งเมืองเป็นวงกลมข้างบน

ข้างล่างก็จะมีสโตนเซอร์เคิลเล็กๆ น้อยๆ สามารถเดินจากแหล่งข้างบนซึ่งอยู่ใกล้ๆ เมืองอ๊อกซฟอร์ดลงไปถึงสโตนเฮนจ์ได้ ก็มีคนไปตั้งแคมป์ ระหว่างทางมีสุสานโบราณ เป็นพื้นที่ที่มีเส้นที่มีหนึ่งเรื่องราวกำกับคือการค้าโบราณ แต่ทุกชุมชนมีความแตกต่าง ทุกครั้งที่เดินไปคุณจะเจอเรื่องราวใหม่ๆ มีการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามา มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตว่า เสาร์-อาทิตย์นี้ไปสำรวจอันนี้ต่อไปกันเถอะ ไม่ใช่ต้องรอเพื่อนมาจากต่างประเทศเพื่อพาไปเที่ยวอยุธยา

ไทยพับลิก้า: มันต้องเชื่อมกับชีวิตประจำวัน ทำให้เข้าใจ หวงแหน

หวงแหน แล้วต้องทำให้เห็นความเชื่อมโยงด้วย อาจจะแลกเปลี่ยนกัน 2 หมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งมีแหล่งโบราณคดีอยู่ อีกหมู่บ้านหนึ่งมีแหล่งโบราณ สลับกันดูมั้ย อันนี้เหมือนของฉัน อันนี้ไม่เหมือนของฉัน

ไทยพับลิก้า: อาจจะต้องสร้างต้นแบบขึ้นมาสักแห่งหนึ่งก่อน มีไหม

ของไทยมีความพยายามทำ แต่ประปราย ไม่กล้าตอบเหมือนกัน อาจจะต้องถามเจ้าหน้าที่กรมศิลป์ เพราะกรมศิลป์จะมีงานอยู่เรื่อยๆ แต่มันอยู่ที่โครงการที่ต่อเนื่องมา มันมาถึงระดับไหน

แต่ในต่างประเทศมันมีอยู่แล้ว อย่างเที่ยวเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น แต่ถามว่าเรื่องการผูกชุมชนเข้าสู่ชุมชน เข้าสู่สังคมในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ยังขยายไม่เยอะเท่าไหร่ ในแง่ของความสำคัญของวัฒธรรมที่ยึดไว้กับที่ดิน

วัฒนธรรมลอยมีแล้ว ในแง่ของภาค ในแง่ของงานเทศกาล แต่สถานที่จะทำยังไง เพราะสถานที่มันจะเป็นการปลดล็อกการกระจายการพัฒนา แล้วต้องทำให้คนรู้สึกว่ามาอีกทีหนึ่งแล้วไปอีกที่หนึ่งให้ได้ อันนี้สำคัญมาก เหมือนทำให้ฝรั่งรู้สึกว่าไปสุโขทัยแล้วต้องไปศรีสัชนาลัย

ไทยพับลิก้า: มันต้องเปลี่ยนการเล่าประวัติศาสร์ใหม่ไหม ให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ

ส่วนหนึ่งก็คือนักประวัติศาสตร์กับนักโบราณคดีต้องทำงานด้วยกันมากขึ้น ทำงานกับภาคสังคมต่างๆ มากขึ้น อย่างเช่นตอนนี้มีเรื่องมาลาเรียแปรพันธุ์ในเวียดนาม คนเริ่มตายเยอะ เพราะมาลาเรียตัวนี้มันดื้อยาทั้งหมด

พอเห็นข่าว ก็คุยกับเพื่อนที่สนิทกันทำงานโบราณคดี เขาดูฐานข้อมูลทั่วโลกเรื่องการแปรพันธุ์ของมาลาเรีย เขาบอกว่าเรื่องนี้ไม่แปลกเลย ภูมิภาคเธอเป็นตัวปัญหาเลย เป็นภูมิภาคที่แปรพันธุ์ได้เร็วที่สุด ถามว่าเขาได้ข้อมูลจากไหน ก็มีการตรวจเลือดคนทุกพื้นที่ แล้วทำเป็น Macro Data เข้ามา

งานของเขาคาบเกี่ยวระหว่างภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โบราณคดี สังคมศาสตร์ด้วยบางส่วน ตอนนี้ก็คุยกันว่าจะเอาเรื่องนี้มาผูกกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วงภูมิศาสตร์ไหนที่แหล่งมาลาเรียเจริญมากๆ ดูว่า Performance ทางเศรษฐกิจเป็นยังไง แล้วก็ดูเป็น Historical Legacy ได้เลย เพราะดูได้ตั้งแต่ชุมชนโบราณ ไม่โต จนกระทั่งปัจจุบัน

“ก็ได้คำตอบที่ชัดและลึกซึ้งมากขึ้นกว่างานที่ทำกระจายๆ อยู่ แล้วไปทำเอง ถามว่าแพงตอบคำถามได้หมดมั้ย ก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ เพราะตอนจบคือสังคมศาสตร์ คือศาสตร์ที่ศึกษาสังคม และสังคมมีตัวแปรเยอะ”

ไทยพับลิก้า: เหมือนที่ผ่านมาเราแยกส่วนมาก เวลาศึกษาแต่ละด้าน

ที่ผ่านมาเมืองไทยค่อนข้างจะเน้นการพึ่งรัฐในการแก้ปัญหาเยอะ Heritage Reservation ในอังกฤษไม่ได้เกิดจากรัฐ แต่เกิดจากช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มันเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้บ้านใหญ่ๆ ในอังกฤษถูกทำลาย

เศรษฐีอังกฤษบางกลุ่มทนไม่ได้ ก็เริ่มมีการรณรงค์ ผลักดัน เพราะบ้านพวกนี้สวยมาก เรียกว่าเป็นยุคทองของอังกฤษ เกิดสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เกิดศิลปะขึ้น

แต่ตึกพวกนี้ถูกทำลายเยอะแยะไปหมด เขาก็เริ่มมีการรณรงค์ให้เกิดภาวะหวงแหนพื้นที่โดยการเปิดพื้นที่พวกนี้ ให้คนรู้สึกว่าสิทธิในการเสพมรดกทางวัฒนธรรม การไปนั่งทำงานอยู่ในตึกสวยๆ มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา มันมีประโยชน์กับเขาจริงๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กเข้าไป ลองนั่งเขียนหนังสือเล่นในตึกประวัติศาสตร์ มีความรู้สึกสงบขึ้นมั้ย ดีขึ้นมั้ย

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นจากภาคเอกชน แล้วก็ร้องเรียนให้มีการออกกฎหมาย เป็นที่เดียวในอังกฤษปัจจุบันนี้ว่า รัฐบาลมีสิทธิที่จะยับยั้งการตกแต่ง-ทำลายของแหล่งโบราณสถาน ซึ่งอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเอกชนได้

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังทำอะไรกันไม่ได้เลย ตึกสวยๆ โบราณในกรุงเทพฯ โดนทำลาย เพราะของพวกนี้ถือเป็น “ทรัพย์สาธารณะ” คุณมาถือไว้ก็จริง แต่อาจมีการตกลงกันว่าคนที่ถือทรัพย์สาธารณะพวกนี้ไว้จะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

ไทยพับลิก้า: เมืองไทยยังไม่มีใช่ไหม คำว่าทรัพย์สาธารณะทางด้านวัฒนธรรม

มันมีการปกป้องเฉยๆ แต่ในแง่ตึกเก่าในกรุงเทพฯ บ้านตระกูลใครสักคนหนึ่ง บอกว่าเบื่อตึกเก่าแล้ว อยากทุบทิ้ง สร้างเป็นคอนโดขึ้นมา อันนี้เมืองไทยทำได้อยู่ แต่ถ้าอังกฤษทำไม่ได้ ยุโรปก็ยังทำได้ในหลายประเทศ อยู่ที่มุมมองของสังคมว่าจะให้มูลค่าขนาดไหน

ซึ่งผลจากการทำอันนี้ ทำให้อังกฤษกลายเป็น Knowledge Capital จริงๆ คือศูนย์ของ Heritage เขาทำออกมาเป็นนโยบายในแง่การต่างประเทศเขา ก็คือการขายมรดกทางวัฒนธรรม ความรู้เรื่องดนตรี ความรู้เรื่องการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ความรู้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจระยะยาว

ไทยพับลิก้า: ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีการทำเรื่องนี้เลยหรือ

สิงคโปร์พยายามจะเริ่มขึ้นมา แต่สิงคโปร์เป็นประเทศที่ Heritage Capital ต่ำที่สุด เขาก็พยายามจะเริ่มทำ แต่บิดๆ เบี้ยวๆ ในแง่การค้ามากไปนิดนึง ทำให้ภาพมันไม่ค่อยลึกซึ้ง และมีปัญหาเรื่องการซื้อของในพิพิธภัณฑ์

ไทยพับลิก้า: ที่จริงประเทศไทยก็มีข้อมูลเยอะในการทำ Data Economy ขึ้นมา

ใช่ค่ะ เอามาทำได้ แล้ว Data Economy ควรจะต่อยอดได้ด้วย อย่างเช่น การทำ “จีโอฟิสิกส์” (Geophysics) ปัจจุบันถ้านักโบราณคดีจะทำ ต้องไปจ้างคณะสำรวจธรณีวิทยามาทำ แต่ไม่มีหน่วยโบราณคดีข้างนอกที่จะสามารถรองรับการตรวจจีโอฟิสิกส์ได้ หรือพัฒนาเทคโนโลยีจีโอฟิสิกส์เพื่อตรวจแหล่งโบราณคดีได้

ถามว่าเทคโนโลยีจีโอฟิสิกส์ดียังไง จีโอฟิสิกส์ยิงลงไปใช้ 2 แบบ แบบใช้กระแสไฟฟ้ากับกระแสแม่เหล็ก ทุกอย่างบนโลกนี้มีกระแสแม่เหล็ก สมมติไปฝังไว้ใต้ดิน เราตรวจกระแสไฟฟ้าเพื่อดูความลึก ตรวจกระแสแม่เหล็กเพื่อดูลักษณะโครงสร้าง สร้างเป็นโมเดลออกมาจะเห็นเลยว่ามีอะไรอยู่ชั้นไหนในใต้ดินบ้างโดยไม่ต้องขุดเลย เวลาการขุดก็สั้นกว่า ประหยัดกว่า ปลอดภัยกว่าด้วย เพราะว่าไม่ต้องทำลายชั้นอยุธยา ลพบุรี อะไรลงไป

มันทำให้ประหยัดมากขึ้น แล้วโปรเจกต์สโตนเฮนจ์ ที่ตอนนี้เห็นเป็นเมืองรอบสโตนเฮนจ์ ก็เกิดได้เพราะจีโอฟิสิกส์เหมือนกัน ตัวนี้เมืองไทยวิศวกรเราก็เก่ง ทำไมเราไม่รับเป็นศูนย์กลางภูมิภาคในการตรวจ แล้วเราได้ข้อมูลนะ ข้อมูลอยู่ที่เรา แล้วเอามาพัฒนาได้อีก ในขณะเดียวกันเราก็ขายได้ด้วย

แล้วถามว่าภูมิภาคนี้รวมทั้งจีนด้วย ความต้องการที่จะเสพมรดกทางวัฒนธรรมมันกำลังโต ตลาดศิลปะของจีนโต 20% เป็นประวัติการณ์ แค่คุณไปตรวจเมืองโบราณของจีนได้ก็รวยแล้ว

ไทยพับลิก้า: จะต่อยอดสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร

คือองค์ความรู้ทางมรดกวัฒนธรรมมันเป็นในแง่ Knowledge Capital ทั้งหมด ดังนั้นไม่ว่าคุณจะลงสู่ศิลปะ ก็เป็นความรู้ ไม่ว่าคุณจะลงสู่วิทยาศาสตร์ ก็เป็นความรู้ อย่างที่พูดเรื่องมาลาเรีย ไม่ว่าคุณจะลงสู่อะไรก็แล้วแต่ วิศวกร เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ

ถามว่าอิตาลี มันจะมีอยู่อันหนึ่งบอกว่า อิตาลีตอนเหนือรวยมากกว่าอิตาลีตอนใต้ ถามว่าทำไม ตอนนี้มีโปรเจกต์ที่ดู Data ตั้งแต่สมัยโรมัน ตำแหน่งการตั้งเมืองว่าอิตาลีตอนใต้มันกลายเป็นเมืองท่าหมด พอธุรกิจการท่าของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมันจบลงไปหรือมันซาลง มันกลายเป็นว่าเมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือรุ่งเรืองขึ้นมา

เราก็เห็นว่าในสมัยก่อนเมืองตอนกลางและตอนใต้อิตาลีมันเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ทำไมพอยุบเมือง หายไปเลย ก็จะตอบได้ว่าภูมิศาสตร์มีความหมายยังไง นี่คือในแง่เศรษฐศาสตร์

หรือที่เราบอกว่าประเทศไทยเป็นทางผ่านระหว่างทะเลอินเดียกับจีนใต้ จริงเหรอที่การค้าดีจริงๆ ถ้าหากว่าคุณเป็นการค้าในระดับอยู่ใกล้ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ๆ สองอัน แล้วระยะห่างระหว่างสองตัวนี้มันไม่พอ คุณจะกลายเป็นศูนย์ที่กลายเป็นว่า ทุนโดนดูดออกจากคุณ แล้วคุณจะโตได้แค่จุดเดียว

นี่คือสิ่งที่ Historical Model ทำได้ แต่จำเป็นที่จะต้องใช้ฐานข้อมูลที่ดี จำเป็นต้องใช้ระบบการรักษาเอกสารที่ดี ซึ่งเอกสารก็เป็นเรื่องของหอสมุดแห่งชาติแล้ว หอสมุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ควรจะเริ่มมั้ยว่าตั้งศูนย์ขึ้นมาว่า บ้านนี้มีผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่งเสียชีวิต เอกสารที่เกี่ยวกับท่าน ที่ท่านเก็บไว้ทั้งหมด เอามาแยกได้มั้ย เก็บเอาไว้ได้มั้ย เป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเขาเองด้วย ศูนย์พวกนี้ก็เป็นศูนย์ทิ้งเอกสาร แล้วก็มาแยกว่าเป็นเอกสารชนิดใด บางทีบัญชีเลขเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะคนทำงานเศรษฐศาสตร์ เช่น ตัวเลขว่าซื้อขนมปังมาเท่าไหร่ เมื่อปี 1703

สำหรับเลข 1703 อาจดูเป็นเศษขยะ แต่สำหรับเราเป็นทองคำเลย เพราะมันบอกว่าขนมปังราคาเท่าไหร่ แล้วขนมปังสื่อถึงอะไร ถ้าสมมติไปเจอตัวเลข 1703 อีกที่หนึ่ง ก็สามารถเทียบได้แล้วว่าเศรษฐกิจมันไปในระยะทางเดียวกันหรือเปล่า แล้วภูมิภาค 2 ภูมิภาคมีความเชื่อมต่อกันมั้ย มีการค้ากันมั้ย สามารถตรวจได้ในระดับเล็กเลย

แม้กระทั่งใครจะคิดว่าเทปคาสเส็ตที่เราเล่นกันเมื่อสมัยก่อน ปัจจุบันกลายเป็นวินเทจไปแล้ว แค่ระยะเวลาเท่านั้นเอง มันเป็นความรู้ แล้วอาจจะตอบคำถามสำคัญๆ ได้

อย่างกรณีล่าสุดมีนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจคนหนึ่งเขาทดลองว่า Comparative Advantage ในระยะยาวมันจริงมั้ย โดยใช้ข้อมูลการสร้างรถไฟของอินเดียเป็นตัวแปร แล้วดูราคาข้าว แป้งสาลี แล้วเอาตัวนี้มาเทียบเป็นฐานข้อมูลระยะยาว 300 ปี ปรากฏยืนยันออกมาได้ว่า ถ้าเราพัฒนาการค้าออกไปเรื่อยๆ ผลกระทบของ Comparative Advantage ตอนจบแล้ว จะทำให้ทุกสังคมมั่งคั่งจริงๆ ในการเชื่อมต่อ

ซึ่งเราจะไม่รู้ตัวนี้เลย เป็นการพัฒนาแบบไร้หลัก คาดหวังว่ามันจะใช่ อันนี้คือมูลค่าของข้อมูลที่เราไม่รู้และมองไม่เห็น ซึ่งสามารถทำได้ สมมติว่าตั้งเป็นศูนย์ย่อมๆ ขึ้นมาก็ได้ เก็บเป็นข้อมูลชมชน

แล้วในระยะยาวสิ่งที่เกิดขึ้นอีกคือ พอคนเริ่มมีเวลาว่าง มีทรัพย์สิน คนก็จะเริ่มอยากรู้ประวัติครอบครัวของตัวเอง ในตะวันตกมีบริษัทที่รับจ้างทำประวัติครอบครัว ครอบครัวที่ค่อนข้างมีสถานะหน่อย สนใจมั้ย เราจะเขียนประวัติศาสตร์ครอบครัวคุณให้ เป็นธุรกิจที่โตขึ้นมาเรื่อยๆ มีมานานแล้ว พวกยุโรปจะให้ความสำคัญ ตอนนี้เป็น กระแสเริ่มกลับมาในครอบครัวคนจีน นักประวัติศาสตร์เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ ครอบครัวออกมาให้เลย

คือของเล็กๆ มันทำให้หลากหลายได้ทุกด้าน จะเอาไปทำอะไรล่ะ จะเอาไปทำศิลปะ จะเอาไปสร้างวัตถุใหม่ ล่าสุดเพิ่งเห็นงานของศูนย์ศิลปาชีพ ตอนนี้มีการรณรงค์เรื่องผ้ากันอยู่ ก็มีเทคนิคการเอาสีไม้ย้อมสีธรรมชาติ แล้วก็ทอออกมาเป็นผ้าแพรวา สวยมาก เอาประวัติศาสตร์บางส่วนมาผสมกับบางส่วน แล้วก็สร้างของใหม่ซึ่งดูเก่า แต่ก็ยังเป็นของใหม่ ไม่ได้ลอกเลียนของเก่าซะทีเดียว

ไทยพับลิก้า: ฟังแล้วทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด

ต้องมีคนจัดระบบให้เกิดให้ได้ เรื่องแรกเลยคือกฎหมาย กฎหมายควรจะเปิดพื้นที่ เรื่องที่สองคือการเข้าถึง Resource Center และ Financial Center ของพวกนี้ Set up ยาก แต่ Set up แล้วเวิร์กเลย

ทำได้ 2 ระบบ ถ้าเป็นระบบใน Big Scale ในแง่ Data Economy ยกตัวอย่างภาพยนตร์งานที่ท่านมุ้ยทำ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ตอนนี้ศิลปะอยุธยาสวยงามหมดแล้ว ออกมาในสื่อไทย เป็นไปได้มั้ยว่าเราไปเริ่มวิจัยศิลปะการแต่งตัวภาคใต้ ศิลปะการแต่งตัวภาคเหนือ ใครจะมาทำหนังก็มาเช่าของจากคุณ คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เป็นธุรกิจ แล้วเป็นไปได้มั้ยว่าออกไปชวา ไปศึกษาว่าอินโดนีเซียแต่งตัวยังไง มาเลเซียแต่งตัวยังไง แล้วทำให้เหมือนของในประวัติศาสตร์จริงๆ

แล้วเราไม่จำเป็นต้องย้ายของไป แต่ไปตั้ง Regional Center ที่นั่นเลย แล้วเป็นที่ปรึกษาให้เขาถ้าคุณจะสร้างหนัง เพราะหลังจากหนังเรื่องสมเด็จพระสุริโยทัย เรื่องสมเด็จพระนเรศวร พม่าก็พยายามสร้าง มาเลเซียก็พยายามสร้าง คือกระแส Historical Movie มันเกิดขึ้น เราสามารถเอาผู้เชี่ยวชาญตรงส่วนนี้ไปขายได้ แต่เราก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมเขา

ก็ต้องใช้เอเจนซีในระดับเล็กๆ อย่างที่เราพูดถึง คนประสานงาน จัดประชาสัมพันธ์ให้พิพิธภัณฑ์ ทำยังไงให้พิพิธภัณฑ์ชุมชน 3-4 ที่เอาทัวร์ไปลงได้ แต่คนประสานงานตรงนั้นยังไม่เกิด ส่วนใหญ่ชุมชนก็จะโฆษณาตัวเอง พิพิธภัณฑ์ก็จะมีคนไปมั้ง ไม่ไปมั้ง

แม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลป์เองที่อินทร์บุรี (จ.สิงห์บุรี) หรือที่ จ.อ่างทองมีเมืองโบราณ แต่เปิดมาไม่มีคนไป คนก็ไม่รู้จัก ก็ควรจะมีหน่วยงานที่โปรโมทตรงนี้ขึ้นมา ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ร้าง คือของเยอะ แต่ไม่มีคนเข้าไปอยู่ดี

เพราะธรรมชาติของวัฒนธรรม ต้องเข้าใจว่าตลาดมันเกิดจากฝั่งอุปสงค์ ไม่ใช่ฝั่งอุปทาน แต่การกระตุ้นดีมาน การกระตุ้นทัศนคติให้คนรู้ มันต่างกัน อันนี้เรายังไม่มี ส่วนใหญ่การท่องเที่ยวก็จะเน้นแต่โปรโมทใหญ่ๆ ต่อให้มีการพัฒนาในชุมชนขึ้นมา ก็จะโปรโมทแต่รายใหญ่ๆ

ไทยพับลิก้า: เป็นการโปรโมทที่ไม่เชื่อมกับชีวิตประจำวัน

Sentiment มันลงไปถึงระดับการศึกษา เคยไปช่วยน้องคนหนึ่งสอนหนังสือเด็กมัธยม เปิดหนังสือประวัติศาสตร์มา แทบจะเป็นลม ทวารวดีมีอยู่นิดเดียว เหมือนจิ้มจุ่มชิม ซึ่งเด็กจะไปรู้สึกอะไร จำยังไม่ค่อยจะได้

เวลาที่เรียน จำเป็นมั้ยว่าโรงเรียนทุกโรงเรียนต้องพาเด็กไปแหล่งโบราณคดี ซึ่งญี่ปุ่นทำ อังกฤษก็ทำ หรือไปที่พิพิธภัณฑ์ใกล้บ้านก็ได้

โจทย์ทางโบราณคดีที่แพงสอนอยู่ โจทย์หนึ่งที่ให้เด็กไปทำก่อนจะมาเริ่มเรียนปีหนึ่ง ก็คือคุณต้องตอบให้ได้ว่า ในพื้นที่ของคุณมันมีความเป็นโบราณคดียังไง สมมติคุณไปตึกสมัยพ่อแม่คุณก็ได้ มันมีความเป็นโบราณคดียังไง แล้วมันเกี่ยวข้องกับตัวคุณยังไง

คือคนจะมองโบราณคดีว่าเป็นของเก่า แต่มันไม่ควรจะมองอย่างนั้น โบราณคดีอยู่ได้ แม้กระทั่งทำโบราณคดีอวกาศยังทำได้เลย มันคือวิชาการศึกษาของที่เกิดขึ้นว่ามีปัจจัยผลกระทบยังไงกับสังคมในอดีตและตัวเราในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องไกลตัวมากกว่าเรื่องใกล้ตัว

ซึ่งวิธีที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัว ง่ายๆ เลยคือครูที่สอนเอาหม้อสักชิ้นหนึ่งไปวางให้เด็กจับ หรือหาขวานโบราณไปให้เด็กจับ ซึ่งมีอยู่เยอะแยะเลย แค่นั้นเด็กก็จะเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันเป็นของที่อยู่ในความทรงจำของเราในอดีต

แพงเคยเอาขวานหินที่เก็บได้จากแหล่งที่มีคนขุดแล้วทิ้ง เอาไปวางให้นักศึกษาจับ เราเห็นเลยว่า เขาเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่

ประวัติศาสตร์ที่น่าเบื่อ มันกลายเป็นความทรงจำของเขาว่าเขาได้ตัดแปะวัตถุโบราณที่มีอายุเก่าแก่เป็นพันปีขึ้นมา

Sentiment อันนี้มันก็ต่อยอดไปเรื่อยๆ มันคือการสร้างปลูกเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ให้เกิดความหวงแหน ให้รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา มันกลายเป็นองค์ความรู้ติดตัว แล้วเวลาไปท่องเที่ยวก็เอาไปใช้ได้ เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เหมือนเลข เหมือนคณิตศาสตร์ แต่ทุกวันนี้อะไรก็ไม่รู้ ไปหลบๆ เก็บๆ เอาไว้

แล้วประเทศไทยยังขาดอีกอย่างหนึ่งคือการทำ Academic Review ถ้าไปงานเสวนาของไทย จะมีการถามคำถามบ้าง แต่จะไม่ถามตรงตัว แล้วไม่จี้จุดประเด็น ส่วนใหญ่จะนั่งฟังกันเฉยๆ

พอมันไม่มี Vision เกิดขึ้น ใครจะเขียนอะไรก็ได้ ก็ตีพิมพ์ออกไปในระดับหนึ่ง แล้วถ้าหากว่าไม่พอใจกันก็ไปตั้งสำนักพิมพ์แยก ทำให้ไม่เกิดการประสานงานขึ้นว่า Consensus ณ จุดนี้ ที่เราตกลงกันได้แล้วเป็นยังไง เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ถกกันจนได้ความจริง มากกว่าเรื่องที่สร้างขึ้น

มันจะเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นต่อเมื่อคุณจะแยกมันออกไป ทุกคนก็จะงง สรุปว่ารัฐไทยมีมาแต่โบราณ หรือมาจากจีน หรือยังไง มันไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนข้างนอกเข้ามาฟัง

ทุกครั้งที่สังคายนาประวัติศาสตร์ ทำกันอยู่ในห้องโดยนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ผลิตเป็นหนังสือออกมาบางๆ ถ้าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหน ได้ข้อสรุปอะไร ได้ยินข่าวอะไรมา ก็รับแค่ส่วนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของบทบาทของสื่อที่หายไป

อย่างบีบีซีมีผลกระทบมากต่อ Sentiment อันนี้ เพราะว่าเขาทำสารคดี เขาพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของ Entertainment ให้คนรับรู้ แล้วเสนอมุมมองต่างๆ ของนักประวัติศาสตร์ นำเสนอแต่ละสมัยของอังกฤษ เสนอแม้กระทั่งเรื่องเสื้อผ้าของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ว่าเก็บไว้ในตู้ไหนของลอนดอน

ความรู้พวกนี้มันอยู่ในความสนใจของสาธารณะตลอดเวลา มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอังกฤษ ความภูมิใจที่เราพูดถึง การนำมาใช้ ไอเดียพวกนี้มันก็เริ่มเกิด ซึ่งสื่อมีอำนาจสูงมาก เรายังไม่มีการสื่อแบบนั้น เราทำสารคดีสั้นๆ แต่ไม่ใช่เป็นตอนๆ

ไทยพับลิก้า: กลับมาในเรื่องโบราณคดีที่มีการลักลอบขุด ในเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง

หนักหนามาก ต้องใช้คำนี้เลย ภูมิภาคเราข้อดีก็คือเปิดการศึกษาด้านโบราณคดีก่อนชาวบ้านในภูมิภาคนี้ แต่ขณะเดียวกันข้อเสียก็คือพอเปิดศึกษาแล้ว แล้วชาวบ้านรู้ว่าเป็นแหล่งโบราณคดี กระแสการลักลอบขุดก็ตามมา

คือยุคแรกจะเป็นการขุดเอาเทวรูป ยุคถัดมาคือการเก็บพระเครื่องจากการไปทำลายสถูปเล็กๆ เพื่อหาพระเครื่อง และพัฒนามาเป็นการลักลอบขุดลูกปัด ตอนนี้ลูกปัดกลายเป็นเครื่องรางของขลังไปแล้ว

พอเริ่มขุดของเล็ก มันก็กระจายตัวเยอะ เหมือนคนมาเอาสร้อยเราไปแล้วตัวเราโดนฝังอยู่ สร้อยมันก็เยอะแยะไปหมด คนก็ไปหาสร้อยพวกนี้ ศพก็ถูกรื้อออกมา ชุมชนโบราณก็ถูกรื้อพังระเนระนาด อันนี้คือปัญหาหลัก เพราะว่าส่วนใหญ่แหล่งโบราณคดีคือพื้นที่เกษตรกรรม กรมศิลป์ไม่มีจำนวนคนพอที่จะเข้าไปห้าม ห้ามวันนี้ ขุดใหม่พรุ่งนี้ ชาวบ้านไม่เห็นมูลค่า ก็เป็นปัญหา เพราะแหล่งโบราณคดีเยอะมาก ซึ่งการยับยั้งไม่ให้คนขุดมันยังไม่มากพอ

สิ่งที่แพงพยายามทำความเข้าใจ ณ ขณะนี้ก็คือ พอเราข้ามจังหวัดไปที่เคดาห์ มันจะไม่มีการขุดลักษณะสุ่มหาเครื่องราง เหตุผลที่นักโบราณคดีมาเลเซียเคยบอกก็คือ มีการขุดที่จังหวัดเคดาห์ ขุดขึ้นมาทำบ้านตัวเองให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านฉัน ฉันนั่งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นโบราณสถาน แล้วโบราณสถานมันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของมาเลย์ เป็นคนมาเลย์

อีกส่วนหนึ่งมันเกิดจากวัฒนธรรมที่คนมาเลย์ค่อนข้างจะเชื่อในวิญญาณ ในผี เพื่อปกป้องโบราณสถาน เข้มข้นกว่าของเรา ที่น่าสนใจก็คือชุมชนส่วนใหญ่ที่มีการลักลอบขุด จะมีการทรงเจ้า ก็เกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ และความต้องการ ความบีบคั้นบางอย่างในตัวแปรวัฒนธรรม

คือต้องสร้างเรื่องราวให้ครบ โบราณสถานดี แต่โบราณสถานที่เหลืออยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นศาสนสถานโบราณ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความเคารพในปัจจุบัน อีกส่วนหนึ่งก็คือ โบราณสถานเกี่ยวข้องกับชุมชนยังไง

อย่างในภาคอีสาน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าดูผังชุมชนโบราณ 2 พันปีที่แล้วอยู่ยังไง ปัจจุบันก็ยังอยู่อย่างนั้น บางสวนอาจจะย้ายเข้ามาใหม่ แต่แน่นอนว่าพื้นฐานเดิมในการตั้งถิ่นฐานมีอยู่แล้ว แปลว่าเขาเป็นภูมิภาคที่ดีมากในการเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน ตั้งแต่ยุคหินยันสมัยนี้

แต่มันไม่มีการเชื่อมโยง ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องศาสนา ไม่มีมิติว่าลูกปัดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจยังไงต่อชุมชนนั้น ชุมชนพอขุดจะได้แวทอผ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ พวกเครื่องบดสมุนไพรต่างๆ ของพวกนี้ส่วนใหญ่ก็มากองให้ดู

เราทำให้เห็นได้มั้ยว่า ของที่คนยังใช้อยู่ปัจจุบันนี้ มันเกี่ยวยังไงกับชิ้นนี้ในสมัยก่อน แล้วของสมัยก่อนมันมีการผลิต มีการเสียดสี หรือมีการใช้ยังไง ทำให้ชุมชนรู้สึกเกี่ยวข้องกับของชิ้นนี้ ซึ่งมันไม่ยากเลย แต่มันอยู่ที่เรื่องราว ปัจจุบันนี้ของโบราณคือยกขึ้นมา เก่า แล้วเอาไปตั้งไว้ ซึ่งอันนี้ขาดไป

แล้วของโบราณมีเยอะ ซึ่งข้อดีของของโบราณที่มันมีเยอะมากคือ พิพิธภัณฑ์ต่างชาติเลือกที่จะให้คน จับ ลอง ใช้ หยิบไปเลย ไม่ต้องเอาไปเก็บไว้ ในพิพิธภัณฑ์ลองเอามาบดสมุนไพรกันดู เอามาใช้ได้จริง พอมันใช้ได้จริง คนก็รู้สึกว่าเหมือนเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นครก หรืออะไรก็ตาม มันก็ได้ไอเดีย ได้อะไรไปต่อยอดได้

ไทยพับลิก้า: สรุปให้อีกครั้งว่าประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นความต่อเนื่องของความมั่งคั่งยังไงกับประเทศ กับเศรษฐกิจ

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ถ้านำมาวิเคราะห์ให้ถูกต้อง จัดระบบให้ถูกต้อง ใช้ให้ถูกต้อง สามารถมาเป็นฐานข้อมูลที่เราจะใช้คำนวณ วัดระดับความมั่งคั่งของเศรษฐกิจได้ เช่น ขนาดของเมือง ขนาดของการลงทุนในบ่อน้ำโบราณ ต้องใช้แรงงานกี่คน เราจะกำหนดประชากรได้คร่าวๆ การเจริญเติบโตของประชากร การสร้างเมือง การลงทุนในบ่อนี้ มันแสดงถึงความร่ำรวยของเศรษฐกิจนั้นๆ

แล้วก็เป็นปัจจัยบอกได้ด้วยว่า ถ้าสร้างมากเกินไป เมืองมันล่มมั้ย หรือไม่ก็หลักฐานว่าแก้วเปอร์เซียไปโผล่ถึงจุดไหน ไม่ใช่ดูแค่เมืองใหญ่ๆ แต่ดูในเมืองระดับย่อยด้วย มันกระจายออกไปได้มากขนาดไหน ลูกปัดเปอร์เซียกระจายไปได้มากขนาดไหน เพราะว่าตอนนี้จะเน้นเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ถ้าดูทวารวดี ก็ดูศรีมโหสถ ดูนครปฐม ดูอู่ทอง แต่ถามว่าไปดูชุมชนนอกเมืองมั้ย เพราะชอบตีความว่าชุมชนนอกเมืองเป็นก่อนประวัติศาสตร์ เป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีความหมาย แต่จริงๆ แล้วข้อมูลระดับย่อยมีความหมายมากที่สุด

ไทยพับลิก้า : การแลกเปลี่ยนข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตอนนี้ในแง่ข้อมูลส่วนใหญ่ในระดับภูมิภาคจะเน้นเรื่องการเสวนา ซึ่งเป็นการพรีเซนต์เปเปอร์ คือมีการติดต่อกันมากขึ้น แต่ข้อมูลระดับอาเซียนยังไม่มี

“มีนักโบราณคดีอาวุโส ดร.โนเอล แทน จากองค์กรชื่อ “ซีมีโอ สปาฟา” (ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts – SAEMEO SPAFA) พยายามที่จะเอาข่าวไทยและข่าวโบราณคดีภูมิภาคทุกอย่างไปสร้างเป็นเว็บไซต์ชื่อ Southeast Asian Archaeology Blog ผสานว่ามีข่าวอันนั้น เจออันนี้ มีเรื่องนี้เกิดขึ้น”

แต่ถ้าถามว่าระดับเป็นโปรเจกต์เลย อย่างเช่นที่เรียกว่า Roman Economy Project ที่จัดเก็บการกระจายตัวของเหรียญทุกตระกูลของโรมันทั่วยุโรปไปถึงแอฟริกาเหนือ แล้วก็ดูการกระจายตัวของชนิดหม้อ ขนาดเมือง ประชากร มีอย่างนั้นมั้ย ไม่มีค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องสร้างขึ้น

แม้กระทั่งสมัยยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ประชากรระดับไหน ยังเถียงกันอยู่เลย เพราะว่ามันดูเฉพาะเอกสารทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ไปดูหลักฐานโบราณคดี

ไทยพับลิก้า: ยังต้องทำอีกเยอะ

มีพื้นที่อีกเยอะ ข้อเสียของการที่ไม่มีคนทำก็คือ มันไม่มีข้อมูลและไม่มีรากฐาน แต่ข้อดีคือมันเป็นโอกาส โมเดลนี้ในเอเชียทั้งภูมิภาคยังไม่มีการทำ ขนาดเศรษฐกิจยุคโบราณ ตัวแปรที่มาช่วยทำ Heritage Consultancy ก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า: ในแง่ของประเทศไทย นักธุรกิจ หรือมีใครสนใจอยากทำเรื่องพวกนี้ไหม

รู้จักอยู่ท่านสองท่าน แต่ก็มีคนสนใจอยู่

ไทยพับลิก้า: อยากเห็นเอกชนลุกขึ้นมาทำเอง โดยที่ไม่ต้องรอรัฐ

นี่คือสิ่งที่อยากผลักดันมากที่สุด คือให้เอกชนเริ่มทำขึ้นมา อย่างไรก็ตาม โลกของวิชาการ ถ้าวิชาการมากเกินไป มันเป็นโลกของความฝัน สิ่งที่ตัวเองชอบ Economic History ก็คือมันควบคุมภาคทฤษฎีที่เกิดจากสังคมศาสตร์ไม่ให้เป็นความฝัน แต่ให้กลับมาก่อน เช็คว่ามันจริงมั้ย กลับมาอยู่กับความเป็นจริง