ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ :Heritage Industry เศรษฐกิจคิดใหม่ ไม่มีจุดยืนและความเข้าใจในความหลากหลายมรดกวัฒนธรรม ขาดศักยภาพในการผลักองคาพยพ (ตอนจบ)

เวทีปัญญาสาธารณะ :Heritage Industry เศรษฐกิจคิดใหม่ ไม่มีจุดยืนและความเข้าใจในความหลากหลายมรดกวัฒนธรรม ขาดศักยภาพในการผลักองคาพยพ (ตอนจบ)

10 ตุลาคม 2017


สำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวเจาะสืบสวนสอบสวนในลักษณะ Data Journalism แต่ในอีกบทบาทหนึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมประสาน เพื่อสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ โดยการเปิด “พื้นที่กลาง” ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองมุมต่าง การจุดประกาย การผลักดัน ให้เกิดแรงเคลื่อนที่เป็นพลังของประชาชนที่ตื่นรู้ ตื่นตัว สร้างสังคมที่ขับเคลื่อนกันด้วยข้อมูล องค์ความรู้ ให้เป็นปัญญาสาธารณะที่ใครก็หยิบไปใช้ได้ เพื่อให้เกิด “โอกาส” การเชื่อมต่อและต่อยอดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พบกับ“เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1” หัวข้อ “Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ?”

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่องHeritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย(ภาพจากขวามาซ้าย) ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ,ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร,ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.,นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้ดำเนินรายการ

ต่อจากตอนที่ 3

พชรพร: เท่าที่ทราบมา เกาหลีกลายเป็นว่า พอได้เงินจากตรงนี้มา ก็มาศึกษาวัฒนธรรมเพิ่ม สร้างตัวเองเป็นศูนย์กลางการศึกษาวัฒนธรรม เน้นแม้กระทั่งขายเทคโนโลยีออกขายเป็นผลิตภัณฑ์ มันเสริมกันทุกหน่วยงาน แค่เอาวัฒนธรรมนำ

ดร.สุเนตร: แต่จุดเริ่มต้นของเขา รัฐเป็นผู้นำ แล้วรัฐให้การสนับสนุนสตาร์ทอัป ถ้าสตาร์ทอัปไหนเป็นสตาร์ทอัปที่จะทำเพื่อตอบโจทย์นี้ รัฐบาลให้ทุน รัฐบาลให้การสนับสนุน สิ่งนี้ทำให้เห็นเรื่องนโยบาย และการผลักดันใช้นโยบายลงไปโดยมีทุนสนับสนุน

เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนมันเป็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นองคาพยพ ตั้งแต่ผู้ลงทุนหรือรัฐบาล ทั้งสองฝ่ายพูดภาษาเดียวกัน แล้วรู้ว่าเรากำลังจะผลักดันประเทศไปตรงไหน

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มันจะดีหรือไม่ดีก็ตามทีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าประเทศเราคิดว่าจะเดิน มันต้องมีตรงนี้ มันไม่ใช่เป็นปู เดินไปทางนั้นที ไปทางนี้ที และตอนนี้ก็ยังนั่งงอยู่ว่า มันจะเอายังไง

ใช้มรดกวัฒนธรรมเป็น State Apparatus

ดร.ชูวิทย์: ขอแชร์แนวคิดร่วมกับอาจารย์สุเนตรว่า ทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรม ทุกประเทศถูกอนุมานว่าจะต้องใช้วัฒนธรรมเป็น State Apparatus มันเป็นเครื่องมือของรัฐ

เครื่องมือของรัฐมันจะเชื่อมโยงกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่า มันมีเรื่องความได้เปรียบ 2 อย่างด้วยกัน คือ Comparative Advantage ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ นี่คือสิ่งที่พระเจ้าประทานให้มา

ซึ่งอาจารย์สุเนตรพูดชัดเจนว่า ทุนทางวัฒนธรรมของเกาหลีไม่ได้มากไปกว่าของไทยเลย นั่นหมายความเรื่องของสิ่งที่พระเจ้าประทานให้มาระหว่างไทยกับเกาหลี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมันไม่ได้ต่างกัน แต่มันมาเฉือนกันตรงมุมมองนโยบาย อย่างที่อาจารย์ว่า เรียกว่า Competitive Advantage ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน นั่นก็หมายความว่า ใช้กึ๋นของคน

ตอนที่สิงคโปร์ตัดตัวเองแยกออกมาจากมาเลเซียแทบร้องไห้ เพราะเป็นเกาะเล็กๆ ปลูกอะไรไม่ขึ้นเลย คือสิ่งที่พระเจ้าให้มา ทำอะไรไม่ได้เลย แต่ลี กวนยู ไม่ได้นั่งหายใจทิ้งไปวันๆ ถ้า ลี กวนยู ยอมจำนนต่อสิ่งที่พระเจ้าให้มา ป่านนี้สิงคโปร์อาจจะยากจนกว่าโซมาเลียก็ได้

แต่เขาใช้กึ๋นมองเห็นอีกด้านหนึ่งในสิ่งที่พระเจ้าให้มาว่า เป็นตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เป็นช่องแคบมะละกาไปแหลมมลายู ซึ่งการขนส่งสินค้าทางเรือของโลก โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออก จะส่งของไปอินเดีย ไปตะวันออกกลาง ไปยุโรป ต้องมาแวะเติมน้ำมัน เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าตรงนั้นพอดีเลย เอาดีมันทางเรื่องการให้บริการท่าเรือ

และเนื่องจากต้องมีการเติมน้ำมัน ก็เป็นคนกำหนดราคาน้ำมันทั้งๆ ที่ไม่ได้ผลิตน้ำมันสักหยด แต่กลายเป็นประเทศเล็กๆ ที่สามารถกำหนดราคากลางของตลาดน้ำมันโลกได้

มันเป็น State Apparatus ซึ่งรัฐจะใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ ในอดีตกาลรัฐก็ใช้วัฒนธรรมในเรื่องความเคารพยำเกรงต่อข้าราชการ การออกกฎระเบียบต่างๆ เป็นเครื่องมือในการใช้ควบคุม แล้วก็ขอให้ภาควิชาการไปค้นคว้ามาว่าวัฒนธรรมคืออะไร แล้วตั้งไว้ตรงนั้น ขอข้อเท็จจริงอย่างเดียว

เหมือนกับเรื่องสมเด็จพระนเรศวร ได้ข้อเท็จจริงแล้ว ในมิติของกรมศิลปากรได้แล้ว แต่แนวคิดในการ Capitalize ออกมาจาก State Apparatus อาจารย์สุเนตรใช้คำว่า Apply ผมชอบมากก็คือว่า มันต้องมาดูจริตแต่ละยุคสมัย ว่าทำยังไง State Apparatus ของรัฐมันจะไปใช้ในเรื่องการทำให้ยอมรับในกลยุทธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายคือประชาชน

เพราะฉะนั้น เกาหลีใต้ ถ้าย้อนไปประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว จะนึกถึงภาพข่าวต่างประเทศ จะเห็นว่าคนเกาหลีเดินขบวนประท้วง ทะเลาะในสภา ไม่เคยสงบ แต่วันนี้ทุกคนลืมหมด ทุกคนเห็นความสวยงาม Beauty Industry เป็นพวก Soft Power Industry หมดเลย เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

เพราะฉะนั้น รัฐบาลเขามีนโยบายชัดเจน แล้วทำอย่างไรก็ได้ที่มันไม่สูญเสียความเป็นอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมมากเกินไป อย่างที่อาจารย์สุเนตรบอกว่าในภาพยนตร์สมเด็จพระนเรศวรอาจจะไม่ใช่ของจริงทั้งหมด แต่เน้นเรื่อง Result-based คือต้องการ Result ให้คนรักชาติ ฉะนั้นคุณค่าของวัฒนธรรมมันมากมาย มันเหนือกว่าเศรษฐกิจด้วย มันไปในเรื่องจิตวิทยา ความมั่นคง หรือเรื่องอะไรต่างๆ ถ้าเกิดรัฐเล่นเป็น

ในส่วนเรื่องกฎหมาย ผมขออนุญาตแชร์ประเด็นว่า ถ้าไปดูวิชากฎหมายก็จะบอกว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมของรัฐที่หยาบที่สุด เพราะให้มองคนในแง่ร้ายก่อน แล้วท้ายที่สุดใช้กฎหมายกำราบและควบคุมประชาชนให้อยู่ในความต้องการที่รัฐพึงจะเห็น
ดังนั้น การทำงานที่ อพท. น้องๆ ทุกคนก็จะท่องขึ้นใจคำว่า

Co-creation คือ 5 ร่วม โดยจะดึงทุกคนมาทั้งหมด เพราะถ้าเอากฎหมายมา แต่ละกรมก็จะมีกฎหมายที่เหมือนสร้างกำแพงตัวเองสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เอื้อมไปทำงานกับอีกกรมไม่ค่อยได้ เราทำงานในพื้นที่แล้วจะรู้ว่ากฎหมายพวกนี้เป็นกำแพงที่ปิดกั้น พี่น้องข้าราชการเขาไม่ได้ตั้งใจ แต่เขาจำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ผิด

แต่ในการทำงานของ อพท. เราเอา 5 ร่วมมาทำเป็นแผนแม่บท เอาตัวละครทั้งหมดมาร่วมกัน อยู่ในแผนนี้ พี่ทางหลวงชนบท พี่อุทยานแห่งชาติ พี่ศิลปากร พี่พาณิชย์ มารวมกัน

แม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ เราก็ทำหลักสูตรท้องถิ่นเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งไปไกลกว่าเรื่องกฎหมายที่จะไปควบคุมให้คนรักชาติกำเนิดตัวเอง แต่ไปปลูกฝัง ไม่ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย แต่เป็นเครื่องมือทางสังคม เราก็พัฒนาร่วมกับกระทรวงศึกษา

5 ร่วมอย่างที่ว่าก็คือ 1. “ร่วมคิด” เช่น ในเขตพื้นที่พิเศษ ก. จะทำอะไรได้บ้าง มาร่วมคิดกัน รวมทั้งชุมชนด้วย เอกชนด้วย จากนั้นค่อย 2. “ร่วมวางแผน” ต่อมาคือ 3. “ร่วมปฎิบัติ” 4. “ร่วมรับผิดชอบ” และ 5. “ร่วมรับผลประโยชน์” ได้อย่างไร อันนี้สำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องเงินอย่างเดียว ก็เรียกว่า Co-creation 5 ร่วม

ทั้งหมดทั้งสิ้น แน่นอนว่าไม่ได้ 100% แต่ทำให้ทุกคนเริ่มมาจับเข่าคุยกันมากขึ้นภายใต้แผนแม่บท ซึ่งแผนแม่บทมันจับต้องไม่ได้หรอกครับ มันคือเปเปอร์อย่างหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่พิจารณาในการทำงาน ให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน สลายการกอดกฎหมายของตัวเอง

ในส่วนประเด็นบทบาทของสื่อ ผมมองว่าสื่อก็ Apply ได้ดี ในปัจจุบันสื่อเริ่มมองเห็นว่าถ้านำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเดียวคนก็ไปอ่านตำราก็ได้ แต่สื่อน่าสนใจมากขึ้นเพราะช่วงหลังๆ จะจบด้วย 2 ประเด็นก็คือ เสนอในเชิงช่วยกันรัก หวงแหน หรือในเชิงป้องกัน อย่าไปทำลายมรดกท้องถิ่นวัฒนธรรมต่างๆ

อีกประเด็นหนึ่งคือ สื่อจะจบด้วยเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ ว่าที่อ่านข่าวทั้งหมด ถ้าเราติดตามสิ่งที่เป็นมงคล เป็นคุณงามความดี เราจะได้หน้าได้ตา เราเป็นเหมือนฮีโร่คนนี้ เขาจะมีตัวอย่างอย่างนั้น

สื่อยุคใหม่จะ Apply ในการสำรวจจริตผู้เสพสื่อ ว่าถ้าเกิดเขาจะหาข้อเท็จจริงเขาจะไปคุยกับนักวิชาการ ไปอ่านตำราก็ได้ แต่สื่อจะมีบทบาทมากโดยเฉพาะกับประชาชนทั่วไปที่จะให้ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมทั่วไป เขาคงไม่มีแรงบันดาลใจ แต่สื่อจะเล่นบทบาทนี้ได้ดีมาก สื่อจะทำให้มันสนุกสนาน

อพท. ก็คิดตรงนี้เหมือนกันว่า ในการที่จะให้แต่ละพื้นที่มันมีพลังในการที่จะให้คนเข้ามา แล้วก็เรียนรู้ว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทำยังไง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา เรียกว่า “Destination Branding”

คือการ Brand ตัว Destination ใหม่ของเรา ยกตัวอย่างเช่น มาอยุธยาไม่ใช่เรื่องของความเคร่งขรึมกับเรื่องมรดก แต่ว่ามาแล้วสนุกสนาน ทำอย่างไรที่ไป Result-based ก็คือ Result ของเราต้องการให้คนเข้ามาเรียนรู้ เข้ามาประทับใจ เข้ามามีความสุข กับการรัก การหวงแหนมรดกต่างๆ

นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ (ซ้าย)และดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ(ขวา)

ไม่มีจุดยืนในความหลากหลายมรดกวัฒนธรรม

ศาริสา: ประเด็นที่อาจารย์สุเนตรพูด ที่ว่าเรามีมรดกทางวัฒนธรรมหลากหลายมาก แต่ว่าไม่มีจุดยืนหรือมีความคิดที่จะดึงส่วนเด่นของแต่ละจุดมาใช้ และในการที่จะให้ภาครัฐออกตัวไปดำเนินการอย่างเดียว มันไม่สามารถจะประสบความสำเร็จได้ แล้วภาคเอกชนมีความสำคัญมาก

แต่เมื่อดูในภาพรวมประเทศไทยแล้ว ไม่สามารถดึงภาคเอกชนเหมือนอย่างประเทศเกาหลีหรือญี่ปุ่นให้เข้ามาช่วยในงานด้านวัฒนธรรมได้อย่างเต็มตัว เพราะการทำงานวัฒนธรรมมันจะไม่ได้สิ่งตอบแทนที่เป็นเงิน ในเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง หรือชี้เป็นชี้ตายได้ แต่มันเป็นเรื่องของการจรรโลงคุณค่าความเป็นชาติ ของการรักษามรดกของประเทศไว้

แล้วสิ่งนี้สำคัญ มันบ่งบอกถึงความเป็นชาติเพื่อที่จะถ่ายทอดให้เรารู้ว่า ในรุ่นต่อๆ ไป ชาติไทยเป็นอย่างไร เรามีวัฒนธรรมเป็นยังไง มีคุณสมบัติพิเศษอะไร ที่เราไม่เหมือนชาติอื่น

ถ้ากลับมามองเกาหลีหรือญี่ปุ่นที่ทำตรงนี้สำเร็จได้ เพราะว่าคนเขามีความเสียสละมากกว่าคนในชาติเราหรือเปล่า ภาคเอกชนเขามีการตอบแทนสังคมมากน้อยว่าประเทศไทยหรือเปล่า

แต่จากประสบการณ์ที่เคยไปดูที่อื่นๆ เราจะพบว่าเรื่องพิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่นมีการตอบรับจากภาคเอกชนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ การบริจาคต่างๆ ที่ให้พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นเกียรติประวัติของคนที่มอบให้พิพิธภัณฑ์

การที่คุณบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ หรือมาดูการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ หรือมีส่วนร่วมอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะนำสิ่งที่คุณมีอยู่มาจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ มันการันตีถึงความมีคุณค่าที่มีเกียรติของคุณอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทยไม่เคยมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเลย แม้แต่รัฐบาลให้โปรโมชั่น เช่น ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์แล้วหักภาษีได้ ก็ไม่ได้ก่อเกิดอะไรขึ้นมาเลย

ทำให้เราเห็นว่าภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะผลักดันงานมรดกวัฒนธรรมของชาติให้สามารถไปเทียบเทียมประเทศอื่นได้ แต่ถ้าภาครัฐลุกขึ้นมาฝ่ายเดียวมันเป็นไปได้ยากมาก ถ้าภาคเอกชนเข้ามาสอดรับ มันอาจจะทำให้เกิดภาพที่เห็นชัดมากขึ้น และสามารถผลักดันหรือเป็นโมเดลให้การทำตรงนี้สำเร็จมากขึ้น

ในเรื่องสื่อก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าคนทำงานในภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องมรดกศิลปวัฒนธรรมเขาหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือตายไปกับพิพิธภัณฑ์ เราจะพบคำว่าวันเปิดพิพิธภัณฑ์ก็คือวันตายของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตรงนี้มันอยู่ที่คนที่บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ต่างหากว่า คุณมองเห็นประโยชน์ของคุณค่าพิพิธภัณฑ์ไหม

ถ้าคุณเห็นประโยชน์คุณค่าของพิพิธภัณฑ์ คุณต้องทำพิพิธภัณฑ์นั้นให้มีชีวิต ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งตอบโจทย์กับสังคม เป็นแหล่งที่ให้อะไรกับสังคมกลับไป ไม่ใช่นั่งเฝ้าของเฉยๆ

เพราะภาพลักษณ์ของกรมศิลปากรออกมาในปัจจุบันหรือในอดีต เขาคิดว่าคนที่เป็นภัณฑารักษ์ คือคนที่คร่ำครึ คือคนที่เฝ้าของ แต่ถ้าเข้ามาสัมผัสจริงๆ ภาพลักษณ์ตรงนั้นหลุดพ้นไปแล้ว

มรดกทางวัฒนธรรมตอบโจทย์ปากท้องคนได้อย่างไร

แล้วการจะทำให้พิพิธภัณฑ์สามารถจะตอบโจทย์สอดรับกับเรื่องเศรษฐกิจ มีเอกลักษณ์ที่เป็นชาติได้ คุณต้องเข้ามาสัมผัส เข้ามาเปิดใจ ต้องมีส่วนร่วมกัน ไม่ใช่ให้พิพิธภัณฑ์ทำอยู่คนเดียว แต่ไม่มีใครสนใจเลย ตรงนี้ก็ทำให้คนที่ทำงานหมดแรง หมดกำลังใจ

แต่พิพิธภัณฑ์ก็ต้องออกไปหาเครือข่ายด้วย ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในบ้านตัวเอง ต้องออกไปหาเพื่อนร่วมขบวนการ เราจัดแสดงงานต่างๆ แต่ไม่มีนักประชาสัมพันธ์ ไม่มีนักการศึกษาที่จะถอดแนวความคิดของภัณฑารักษ์ว่า คุณจัดอะไรที่มันบ่งบอกถึงความเป็นชาติ บ่งบอกโบราณวัตถุชิ้นนั้นว่ามีคุณค่ายังไงที่จะสามารถไปตอบโจทย์ด้านอื่น ด้านปากท้อง ด้านเศรษฐกิจ เราไม่มีตรงนี้

ถามว่าทุกวันนี้คนพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ใช่จะไม่สนใจตรงนี้ เราพยายามไปหาเครือข่าย แต่เครือข่ายเรื่องสื่อก็สำคัญ เพราะถ้าเป็นงานพิพิธภัณฑ์เขาไม่ได้อะไรกลับไปเลย ถ้าเรื่องนั้นไม่ได้เป็นประเด็นที่สนใจจริงๆ

อย่างเรื่องวัดอรุณฯ มันเป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจ สื่อก็เข้าไปโหมกระแส แต่ถามว่าคนที่เขาทำงานจริงๆ ที่ทำงานดี ที่สามารถจะเอางานตรงนั้นไปสร้างสรรค์ต่อยอดหรือทำให้เกิดเศรษฐกิจ คุณสนใจเขาไหม

อย่างพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาตอนนี้ มีโครงการใหญ่ระดับประเทศ คือ “โครงการจัดพิพิธภัณฑ์เครื่องทอง” เครื่องทองอยุธยาสามารถตอบโจทย์อะไรในอดีตกาลของอยุธยาได้เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบพระมหากษัตริย์ เรื่องระบบศาสนาพุทธ เรื่องการเรียนรู้ในเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก

ทำไมอยุธยามีเมืองเป็นทองคำในสายตาชาวยุโรป ทำไมอยุธยายิ่งใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทองหมด อย่างที่หมอหมอบรัดเลย์บอก แต่คนอยุธยาหรือแม้แต่คนในประเทศไทยรู้ไหมว่าทำไมอยุธยาถึงเป็นเมืองทอง ไม่มีใครรู้เลย

นอกจากนั้น ทองยังบอกเรื่องความสามารถของคนไทยในเชิงช่างสมัยโบราณว่าไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่เป็นเครื่องจักรอลังการ แต่เขาทำงานศิลปะที่เป็นทองคำออกมาได้สวยงามมาก ตรงนี้มันสามารถตอบโจทย์อะไรได้เยอะแยะ แต่จะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้เลยถ้าสื่อไม่ได้ให้ความสำคัญ แล้วคนที่ทำงานตรงนี้ถ้าไม่ได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับในส่วนอื่นๆ ก็ไม่สามารถทำให้การขับเคลื่อนเรื่องมรดกศิลปวัฒนธรรมเดินไปได้

เราก็พยายามทุกวิถีทาง มีการทำกิจกรรมมากมาย มีการทำวิจัย พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาทำมาหมดแล้ว หาเครือข่าย สถาบันการเรียนรู้ก็ไปทำ เวลาเด็กมาใช้บริการพิพิธภัณฑ์ ก็หาโมเดล หากิจกรรมให้เด็กตื่นตาตื่นใจว่าเข้าพิพิธภัณฑ์มาแล้วได้สัมผัส ได้รู้ว่ามรดกของประเทศชาติเป็นยังไง

เราทำกิจกรรมกล่องสมบัติขึ้นมา ให้เด็กสัมผัสว่าเครื่องทองอยุธยาสำคัญยังไง แบ่งเป็นฐานให้เด็กได้เรียนรู้ว่าทองคืออะไร มาจากไหน ทำไมทองถึงมีความสำคัญในอยุธยา และที่อยุธยาไม่ได้มีแค่ทองอย่างเดียว ยังมีมรดกด้านสถาปัตยกรรมของอยุธยาว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ให้เด็กเข้าไปเรียนรู้ทุกฐาน

นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

หลังจากนั้นก็จะให้เด็กพรีเซนต์ว่าที่ไปผ่านฐานต่างๆ มาได้เรียนรู้อะไร และได้ความประทับใจอะไรกลับไปบ้าง ตรงนี้จะตอบโจทย์ได้ระดับเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ถือว่าเราได้ทำงานทางด้านสร้างสรรค์เรื่องมรดกวัฒนธรรมให้กับเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้เรียนรู้ ได้หวงแหน ได้รู้ว่ารากเหง้าของเราเป็นยังไงในเรื่องศิลปวัฒนธรรม

เรื่องความเป็น 4.0 ของพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาก็มี ไปร่วมมือกับเนคเทค (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ: NECTEC) ว่าตอนนี้มีการใช้สมาร์ทโฟนเยอะ ก็ให้เนคเทคเข้ามาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง เราจะเป็นผู้ให้ข้อมูล

เขาก็บอกว่ามีทุนวิจัยอยู่อันหนึ่ง จะทำแอปพลิเคชันเกี่ยวกับคิวอาร์โค้ด แล้วให้เราใส่ข้อมูลเข้าไป เขาก็มาสอนเจ้าหน้าที่เรา โดยวางระบบให้สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลเองได้ แล้วเข้าไปในมิวเซียมพูล คนที่เข้าไปในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้เข้าไปเรียนรู้โบราณวัตถุแต่ละชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้

นอกจากนั้นเรายังคิดว่าเครื่องทองอยุธยามันยิ่งใหญ่ เป็นสมบัติล้ำค่า ก็เชิญสถาบันนิวเคลียร์แห่งชาติมาดูว่าเครื่องทองอยุธยามีส่วนผสมเป็นอะไรบ้าง มีแหล่งทองตรงไหน เพื่อจะทำให้เรารู้ว่าสภาพเศรษฐกิจในอยุธยาเป็นยังไง

และในปัจจุบันเราจะสามารถพลิกฟื้นวิชาการทำทอง ที่จะไปสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ไปต่อยอดให้สร้างสรรค์ ให้มีรายได้กลับเข้ามาในชุมชน ในประเทศไทย ในอยุธยาได้ต่อไป จะทำอย่างไร ซึ่งก็พยายามคิดค้นโดยเอาทุนทางวัฒนธรรม ที่เรามีเยอะมากมาย แต่เราไม่สามารถจะหาจุดเด่นที่จะไปขยายต่อไปได้

งานด้านพิพิธภัณฑ์และโบราณคดีขาดช่วง ต้อง”ปั้นคน”ด่วน ชี้ต่างคนต่างทำ

พชรพร: อยากให้ยกตัวอย่าง ที่เมื่อสักครู่พูดมามีเรื่องของการปฏิบัติการโดยใช้เทคโนโลยีกับปฏิบัติการในการจัดพิพิธภัณฑ์ หลายๆ ส่วนเป็นภาคธุรกิจ ซึ่งมีอยู่แล้ว จะทำอย่างไรที่จะดึงหน่วยงานเหล่านี้หรือสตาร์ทอัปใหม่ๆ ให้มารับสร้างแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ได้ หรือบริหารจัดการอย่างไรให้เขาออกมาผลิตของเพื่อพิพิธภัณฑ์

ศาริสา: ตรงนี้มีการจ้าง อย่างระบบการจัดทำปัจจุบันเราไม่ได้ทำงานหน้าเดียว บางสิ่งบางอย่างในเรื่องการจัดแสดง เราอาจไม่มีเทคโนโลยีที่จะมาทำให้เกิดภาพมิติ เกิดแคปชัน หรือเป็นสื่อในการจัดแสดงต่างๆ แต่เรามีความคิด ก็มีหลายบริษัทที่มาสอดรับในขบวนการจัดแสดง

ที่สำคัญอย่างที่ท่านอาจารย์สายันต์บอก เรื่องปั้น “คน” ขึ้นมาสำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี ตอนนี้ขาดช่วงไปเลย เพราะในการทำงานเรื่องมรดกศิลปวัฒนธรรม สองอาชีพนี้ต้องคู่ขนานไปด้วยกัน ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ทุกวันนี้นักโบราณคดีก็ขุดขึ้นมา แต่ของที่ได้ก็ไม่เคยบอกว่ามาจากไหน เป็นอะไรก็ไม่รู้ ส่วนพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่เก็บของจากหลุมจัดแสดง เพื่อจะไปนำเสนอว่าสิ่งนี้คืออะไร ให้กับชุมชน ให้กับสังคมรู้ แต่ปัจจุบันนักโบราณคดีก็ทำงานโบราณคดีไป ภัณฑารักษ์ก็ทำของตัวเองไป

ในอนาคตพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาเห็นโครงการตรงนี้ กะว่าจะจัดนักโบราณคดีเอาเฉพาะแค่สำนักที่ 3 ก่อน แล้วถ้าโมเดลนี้ใช้ได้ ก็จะนำไปใช้กับสำนักอื่น ก็คือเวลาภัณฑารักษ์ไปทำงานตรงไหน นักโบราณคดีต้องเข้ามาทำงานด้วยกัน ไปเรียนรู้ว่าหน้าที่ของภัณฑารักษ์ทำอะไรบ้าง เวลาเจอโบราณวัตถุเขาจัดการยังไง และมีขั้นตอนการจัดแสดงยังไง

ส่วนเวลานักโบราณคดีไปขุดที่ไหน ภัณฑารักษ์ก็ต้องเข้าไปดูว่าเขาทำยังไง เวลาที่เจอของในหลุมแล้วเอาของขึ้นมายังไง มันต้องควบคู่ไปด้วยกัน ถ้าจะทำให้งานวัฒนธรรมมีความเข้มแข็ง และสามารถจะไปถ่ายทอดให้กับสถาบันการศึกษา หรือเอาไปต่อยอดให้กับเยาวชน ตรงนี้สำคัญมาก การสร้างคน

โดยเฉพาะกรมศิลปากร ช่วงนี้บอกได้เลยว่าต้องยอมรับว่าเราขาดคนที่มีฝีมือ หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาในตอนนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่ตั้งใจทำงาน เราตั้งใจทำงาน แต่ด้วยระบบที่เราทำงานไม่ทัน และด้วยงบประมาณที่เข้ามาบีบว่าเราต้องทำไปตามงบที่เขาให้เรามา

ในสมัยก่อนเท่าที่เคยถามพวกพี่ๆ การบูรณะใช้คนกรมศิลป์ทั้งหมด แล้วก็ใช้แรงงานจากพื้นบ้านพื้นถิ่น แต่ด้วยระบบที่รัฐบาลให้เราเบิกจ่ายเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำให้ไม่สามารถจะทำตรงนั้นได้ เพราะมันมีช่วงเวลาบีบบังคับเรา ก็ต้องใช้ระบบจ้างเหมาเข้ามาบูรณะโบราณสถาน ตรงนี้ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีการปลูกฝังหรือผลิตคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา การทำงานก็จะด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ

ขาดความเข้าใจ ติงอย่าบ้าจี้กับคำว่า “มรดกโลก”

พชรพร: อยากถามคุณเอิบเปรมในฐานะนักโบราณคดีที่ทำงานในภูมิภาคเกี่ยวกับเรื่องมรดกวัฒนธรรม อยากทราบว่าประเทศไทยในสภาวะที่ยังงงๆ อยู่ แต่ปรากฏการณ์ภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวร ซึ่งทำให้เกิดเอฟเฟกต์ ทำให้มาเลเซียเริ่มสร้างหนังแบบเดียวกัน อินโดนีเซียสร้างหนังแบบเดียวกัน เหมือนกับว่าภูมิภาคนี้จับตามองไทย แล้วเน้นไทยเป็นผู้นำ มันมีทางไหม แล้วเราจะต้องวางแผนยังไง ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม และในโครงสร้างเศรษฐกิจเราจะต้องทำยังไง

นายเอิบเปรม วัชรางกูร (ซ้าย)และศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ (ขวา)

เอิบเปรม: ผมว่าเราไม่ต้องทำอะไร คืออย่าตั้งอกตั้งใจว่าเราจะเป็นศูนย์กลาง เราจะต้องยิ่งใหญ่ ส่วนตัวผมคำว่ามรดกโลก ผมเห็นว่าเป็นเรื่องบ้าจี้

ผมไม่เคยให้ความสำคัญของมรดกโลกมากไปกว่าป้ายเชลล์ชวนชิมหรือเปิบพิสดาร เพราะว่าป้ายมรดกโลกที่อยูตามหน้าอุทยานประวัติศาสตร์หรืออุทยานแห่งชาติมันคือป้ายเชลล์ชวนชิม ป้ายเปิบพิสดาร หรืออะไรก็แล้วแต่

มันไม่ใช่ประกาศนียบัตรยกย่องความเลอเลิศของสถานที่ มันเป็นป้ายแสดงว่าคุณมีมาตรฐานอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เอานะครับ ไม่ใช่ว่าเราจะต่อต้าน มรดกโลกเป็นของดี แต่เป็นส่วนหนึ่งของจุดขาย แต่ไม่ใช่ส่วนทั้งหมดของการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม นี่คือส่วนหนึ่งของความสมดุล

ก็คิดว่าควรจะมีมรดกโลก แต่ไม่ใช่ไปยึดถือว่าฉันจะต้องเป็นมรดกโลก จะต้องมีบัญชีมรดกโลกเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างนั้นผมคิดว่าเพ้อเจ้อ คือมีป้ายมันดี เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง เรามีมาตรฐาน มันก็แค่นั้น แต่ไม่ใช่ยึดมั่นว่าจะต้องมี จะต้องได้ จะต้องเป็นจุดเด่น เป็นจุดสำคัญ

ประเทศไทยมีตำแหน่งอยู่ในประชาคมโลกที่ดีพอสมควรในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโปรโมทศิลปวัฒนธรรม การโปรโมทกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ยกตัวอย่างงานโบราณคดีใต้น้ำตอนนี้พูดได้เลยว่าเราเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออก ยูเนสโกก็บอกว่าจะเสนอให้เราเป็นศูนย์ฝึก แต่มีเงื่อนไขว่าคุณต้องมีมาตรฐาน แล้วยูเนสโกก็จะมอบป้ายให้ แต่นั่นก็คือป้าย

ผมคิดว่าทิศทางของเราไม่จำเป็นจะต้องไปตั้งเป้าตั้งธงว่าจะเป็นศูนย์กลางเรื่องนี้ เราเดินวิถีขบวนการของสิ่งที่มันควรจะเป็นไปอย่างพอเพียง ไม่ใช่ว่าหยุดหรือถอยหลัง หรือไม่ใช่วิ่งไปข้างหน้า พอเพียงคือสมดุลของจังหวะ ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมในเวลา ในสถานที่ ในพื้นที่หนึ่ง

ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่รีบเร่งจนสะดุด คือรีบเร่งในสิ่งที่ควร อย่างเช่น เวลาเราพูดถึงทุนทางวัฒนธรรม ถ้าเราหลงทางเราก็จะรีบเร่งผลิตวัฒนธรรมทั้งๆ ที่เรามีทุน แต่เราเอาทุนไปรีบเร่งผลิต ตัวผลผลิตมันก็ต้องใช้ทรัพยากร มันหมดสิ้นไป

“ทุนวัฒนธรรมถ้ารีบเร่งผลิต ก็เหมือนกับทำป่าไม้ ทำเหมืองแร่ เรารีบเร่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งสูญเสียทรัพยากรมากเท่านั้น”

สิ่งที่ควรรีบเร่งเกี่ยวกับการจัดการทางวัฒนธรรม คือทำความเข้าใจในเรื่องของนามธรรม ทำความเข้าใจในเรื่องปรัชญาว่าอะไรคือทุน อะไรคือความเป็นเจ้าของ อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ไม่ใช่ไปทำความเข้าใจว่าขายแล้วรวย แต่ต้องทำความเข้าใจว่าเรามีอะไรอยู่ แล้วเส้นทางวิถีของมันจะเป็นยังไง อันนี้คือสิ่งที่จะต้องรีบเร่งทำความเข้าใจก่อน

ศาริสา: ถามว่าความเป็นมรดกโลกมันสำคัญกับแหล่งวัฒนธรรมของประเทศไทยไหม ถ้าในกรณีอยุธยา เท่าที่มองโดยตัวอยุธยาเอง ไม่มีความจำเป็นที่ยูเนสโกจะต้องมาการันตีว่าอยุธยาต้องเป็นมรดกโลก

แล้วความที่ยูเนสโกเข้ามาการันตี มันเหมือนการบีบบังคับเรามากกว่าที่จะต้องให้เราไปทำตามเขา แล้วทำไมเราจะต้องไปทำตามเขา อย่างกรณีอาจารย์สายันต์ทำบ่อสวก จากที่ไม่มีคนรู้จัก จนกลายเป็นที่รู้จักระดับประเทศ

ถามว่ามรดกโลกที่ให้อยุธยา มันช่วยอะไรอยุธยาบ้างหรือเปล่า ตรงนี้ไม่รู้ว่าทางผู้ใหญ่เคยกลับไปมองไหม แต่ถ้าถามดิฉันรู้สึกว่าด้วยความเป็นอยุธยา ด้วยความเป็นแหลงมรดกวัฒนธรรม อยุธยามีอะไรที่เป็นตัวของตัวเองที่โดดเด่น โดยไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยยูเนสโก

ตอนนี้ถ้ายูเนสโกเข้ามา เหมือนกับเขาบังคับให้เราต้องทำตามมาตรฐานเขามากกว่า แต่ถ้าปล่อยให้เราคิดเองทำเอง มันอาจจะเป็นภาพลักษณ์อีกแบบหนึ่งที่ออกมาในเรื่องศิลปวัฒนธรรม อาจจะทำให้เราก้าวออกมาเจอแนวทางใหม่ที่จะพัฒนาเรื่องมรดกศิลปวัฒนธรรมได้ดีกว่านี้หรือเปล่า

พชรพร: วันนี้ได้ข้อสรุปออกมา คาดการณ์ว่าประเทศไทยดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศที่อาจจะต้องอาศัย “อุบัติเหตุ” หน่อยๆ มากกว่านโยบายโดยตรง แต่ที่เราอาจจะต้องเริ่มกันเลย ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน อาจจะเป็นเรื่องของ “ศักยภาพ” การสร้างศักยภาพในทุกระดับ เพื่อที่จะขับเคลื่อนและสร้างบรรทัดฐานให้ตรงกันว่าวัฒนธรรมคืออะไร แล้วเราต้องการอะไร ต้องการให้ทิศทางเดินไปในแนวไหน ซึ่งเป็นข้อคิดกันต่อไปสำหรับเรื่องนี้ ขอบคุณมากค่ะ