ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ : Heritage Industry-เศรษฐกิจคิดใหม่ ประยุกต์ทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดธุรกิจให้เป็น (ตอนที่3)

เวทีปัญญาสาธารณะ : Heritage Industry-เศรษฐกิจคิดใหม่ ประยุกต์ทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดธุรกิจให้เป็น (ตอนที่3)

9 ตุลาคม 2017


สำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวเจาะสืบสวนสอบสวนในลักษณะ Data Journalism แต่ในอีกบทบาทหนึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมประสาน เพื่อสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ โดยการเปิด “พื้นที่กลาง” ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองมุมต่าง การจุดประกาย การผลักดัน ให้เกิดแรงเคลื่อนที่เป็นพลังของประชาชนที่ตื่นรู้ ตื่นตัว สร้างสังคมที่ขับเคลื่อนกันด้วยข้อมูล องค์ความรู้ ให้เป็นปัญญาสาธารณะที่ใครก็หยิบไปใช้ได้ เพื่อให้เกิด “โอกาส” การเชื่อมต่อและต่อยอดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พบกับ“เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1” หัวข้อ “Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ?”

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่องHeritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย(ภาพจากขวามาซ้าย) ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ,ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร,ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.,นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้ดำเนินรายการ

ต่อจากตอนที่2

พชรพร: ในแง่ของกฎหมาย จำเป็นต้องแก้กฎหมายหรือแก้โครงสร้างยังไง เพื่อจะทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกรณีจังหวัดน่านสามารถขยายต่อยอดไปได้ หรือมีอะไรที่ขยายแบบโมเดลเดียวกันโดยไม่ต้องพึ่งบุคคลใด แต่ทำให้เป็นระบบ จะต้องทำอย่างไรบ้าง

รัฐธรรมนูญใหม่ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลรักษามรดกวัฒนธรรม

เอิบเปรม: ในส่วนกรมศิลปากร ผมเคยเป็นกรรมการแก้ไข พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุฯ ของกรมศิลปากร เราจะแก้ไขกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามีมาตราหนึ่งที่บอกว่าให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกวัฒนธรรม

กรมศิลปากรก็ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยนักโบราณคดี สถาปนิก อัยการ นักกฎหมาย และนักวิชการ ก็มาจับเข่าคุยกัน แล้วก็ร่างมาตราต่างๆ ออกมา

ขณะนี้อยู่ระหว่างกลับไปกลับมา เพราะเมื่อผ่านจากกรมศิลปากรไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็เห็นว่าควรจะเพิ่มมาตรา โดยให้เอาอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาทำส่วนหนึ่ง แต่กรมศิลปากรในฐานผู้ถือกฎหมายยังต้องรับผิดชอบอยู่ เราก็มานั่งคิดกันว่า ถ้าแบบนี้อธิบดีกรมศิลปากรก็รับผิดชอบคนเดียว

จนถึง ณ วันนี้ มีกติกาใหม่ออกมาแล้วว่า จะประกาศกฎหมายใหม่ต้องทำ Public Hearing เพราะฉะนั้นก็โปรดติดตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่มีเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มันจะออกมาเป็นยังไง

แต่ผมอยากให้มองว่า เราจะสุดขั้วไปข้างใดข้างหนึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ต้องนึกถึงความสมดุลของท้องถิ่น ความสมดุลของโครงสร้างรวมทั้งหมด

สมดุลไม่ได้หมายความว่าสองข้างต้องเท่ากันเสมอไป ข้างหนึ่งใหญ่ข้างหนึ่งเล็กมันก็สมดุลได้ เพราะในแต่ละที่ แต่ละถิ่น แต่ละสเกลของโครงสร้างก็ไม่เหมือนกัน

มันมีหลักการจัดการทรัพยากรอยู่โครงสร้างหนึ่ง คือ ไม่ว่าเราจะจัดการทรัพยากรอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ประมง หรือป่าไม้ เราจะต้องมีความรู้และจะต้องใช้สอย คือมีความรู้แล้วเก็บความรู้ไว้สืบสาน ไว้เป็นการอนุรักษ์ แล้วจะอนุรักษ์ไปทำไมถ้าไม่ใช้ประโยชน์ ก็ต้องใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์

ดังนั้น สมดุลของเสาหลัก บางทีบางเรื่องหลักหนึ่งเล็ก หลักหนึ่งใหญ่ ดังนั้นจะรักษาสมดุลก็เป็นเรื่องของระบบการศึกษาที่ผู้รู้จะต้องแชร์และปรับเพื่อใช้ในแต่ละกรณี

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเจอมากับตัวเองสมัยเป็นนักโบรารณคดีก็คือ ไม่ทราบเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาหรือใคร ที่รับนโยบายจากข้างบนลงมาว่าให้โรงเรียนทำพิพิธภัณฑ์ ผมเจอโรงเรียนหนึ่งที่ทำให้อึ้ง คือครูให้นักเรียนไปดูว่าที่บ้านมีโบราณวัตถุอะไรบ้างแล้วเอามาส่งให้ครู แล้วจะได้คะแนน

ก็เละทั้งตำบลครับ เด็กก็คุ้ยเอามาให้ครู ครูก็ไม่รู้เอามาจากไหน เพราะครูรับคำสั่งมาอีกที ไม่รู้จะบอกยังไง ก็ต้องห้ามว่าทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย พ.ร.บ.โบราณสถาน นี่คือส่วนหนึ่งก็หนักไปข้างหนึ่ง แบบที่จะปล่อยให้ทำไปเองก็ถ่วงหนักไปอีกข้าง ตรงนี้ล่ะครับที่ต้องหาสมดุล

ผมคิดว่ามันทำได้ทั้ง 2 กรณี แต่ต้องใช้เวลา จะต้องพัฒนาทั้งครู พัฒนานักเรียน พัฒนาหลักสูตร พัฒนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา รัฐมนตรีวัฒนธรรมด้วย มันถึงจะสร้างสมดุลได้

พชรพร: ในแง่กลไกที่จะทำให้หน่วยงานรัฐหลายๆ หน่วยงานมาพัฒนาเรื่องนี้แล้วเดินไปด้วยกันได้ง่าย มันมีอะไรเป็นประเด็นแรกที่ต้องแก้

นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร

เอิบเปรม: การสื่อสารครับ คุยกันให้มาก แลกเปลี่ยนกันให้มาก คนที่รู้ก็เล่าสู่กันฟังไปสู่ผู้ที่ไม่รู้ ไม่ใช่ว่านักวิชาการจะเป็นผู้รู้ เก่งไปเสียหมด ชาวบ้านก็รู้ แต่ทุกฝ่ายต้องรับฟังในแต่ละกลุ่ม ในแต่ละระดับ แล้วหาสมดุล

ใช้ไพล็อตกรุ๊ป Fast Track สร้างข้าราชการรุ่นใหม่

สายันต์: ประเด็นนี้รัฐมนตรีท่านหนึ่งที่ผมเคยคุยด้วยก็ถามว่า ถ้ากระทรวงวัฒนธรรมจะทำอย่างที่อาจารย์ทำ จะทำยังไง ท่านบอกว่าผมสั่งการไประดับหนึ่งแล้ว เขาไม่เก็ต เรื่อง Cultural Root รากวัฒนธรรม

ผมก็บอกว่าเอาวิธีการของ ก.พ.ร. (คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) มาใช้สิ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงข้าราชการ อย่าไปเปลี่ยนแปลงข้างบน อย่าไปเปลี่ยน ซี 8 แต่เอาซี 3 4 5 6 มาตั้งเป็นไพล็อตกรุ๊ป แล้วไปหาพื้นที่ทำโปรเจกต์แบบที่ผมทำ พื้นที่ที่มันเด่นๆ ทางอีสานก็หาสักพื้นที่หนึ่ง ภาคกลาง ภาคใต้ หาสัก 5-6 พื้นที่แล้วทำ Fast Track ให้เขา เอาไปเทรนด์แล้วทำกับชาวบ้านจริงๆ แล้วมันจะเกิดโมเดลขึ้นมา ภายใต้การกำกับของกระทรวงโดยตรง

เพราะฉะนั้น 3 ปี เราจะได้ข้าราชการรุ่นใหม่ ซึ่งเข้าใจเรื่องการทำงานกับชาวบ้าน ใช้กฎหมายเป็น และสื่อสารกันได้ง่ายๆ ตรงๆ ผมคิดว่าเราส่งไปสัก 40 คน 20 คนควรจะต้องได้ ฉะนั้น 20 คนนี้ก็จะมาระเบิดต่อเมื่อกลับมาทำงานเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าโปรเจกต์ต่างๆ

ผมคิดว่าต้องลงทุนอย่างนี้ เพราะกระทรวงมีอำนาจอยู่แล้ว กรมมีอำนาจอยู่แล้ว แล้วก็มีเงิน มีพื้นที่ของตัวเองในรูปพิพิธภัณฑ์หรือโบราณคดี หรืออื่นๆ ในมิติของศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวง มันทำได้หมด ถ้าจะนำร่องโบราณสถานแบบโบราณคดี ก็ทำได้เลยเพราะอำนาจอยู่ที่กระทรวง ที่กรม เพราะเป็นข้าราชการอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ข้าราชการรุ่นใหม่ที่เข้ามา ใครมีแววไม่มีแววก็จับลงพื้นที่ คนละ 6 เดือน คนละปี ผมคิดว่าพอเขากลับมา เขารับผิดชอบงานโปรเจกต์อื่นๆ เขาก็ไปทำงานกับภาคประชาชนได้แน่นอน

คือเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยวิธีปฏิบัติภายใต้นโยบายของกระทรวงเอง ยังไม่ต้องไปเปลี่ยนกฎหมาย เพราะบางทีเปลี่ยนกฎหมายไปแล้วคนไม่เก็ตเขาก็ไม่ไป ก็วนอยู่อย่างนี้ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อน วิธีปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นเอง

ตอนผมออกไปทำ ผมไม่ใช้กฎหมายเลย แต่ทำอย่างไรไม่ให้ชาวบ้านมาทำแล้วผิดกฎหมาย เงื่อนไขนิดเดียวคือขออนุญาตอธิบดีกรมศิลป์ ในฐานะที่เราเป็นนักโบราณคดี เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เราเป็นคนขออนุญาต

บางทีก็ให้ชาวบ้านเป็นคนขอเอง แล้วให้ชาวบ้านบอกว่าคนที่จะไปดูแลควบคุมคือเรา ซึ่งตามเกณฑ์ของกรมศิลปากรคือมีนักโบราณคดีอาชีพที่ไว้ใจได้เป็นคนดูแล เขาก็อนุญาตให้ทำ ก็ทำตามระเบียบ

ซึ่งตรงนี้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุด หาพื้นที่นำร่อง แล้วส่งคนเข้าไปทำ มีการกำกับดูแลติดตาม ยิ่งถ้าผู้ใหญ่มีนโยบายชัดเจน มีวิสัยทัศน์ชัดเจน ก็ลงไปกำกับดูแลด้วยตัวเอง ผมคิดว่าภายใน 3 ปีเห็นรูปธรรมเกิดขึ้น

แต่ระหว่างนั้นจะแก้กฎหมายอะไรก็ว่าไป คือในพื้นที่ทำงาน อาจจะไปเลือกพื้นที่ที่องค์การบริหารท้องถิ่นต้องการทำด้วย ไปทำร่วมกันเลย อาจจะมีพันธมิตรอื่นๆ เช่น อพท. การมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้น และท้ายที่สุดทำยังไงให้ตรงนั้นเขาพึ่งตัวเองได้

อย่างวันนี้ที่น่าน ผมไม่ต้องไปดูอะไรเลย ชาวบ้านจัดการของเขาเองในระดับที่เขาจัดการได้

ฉะนั้น หลักการก็คือ ทำแบบจนๆ ทำแบบไม่มีเงิน ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันล้วงกระเป๋าออกมา ช่วยกันหยิบโน่นหยิบนี่ออกมา อันนี้จะได้ผลในระดับหนึ่ง

(ภาพซ้ายไปขวา)นายเอิบเปรม วัชรางกูร,ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์,ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์

พชรพร: เราได้ในส่วนว่าจะทำยังไงกับชุมชนแล้ว ทีนี้อยากจะขยายว่าในบทบาท นอกจากรัฐบาลแล้ว นอกจากภาคชุมชนแล้ว ในแง่ของสื่อมวลชนหรือธุรกิจสื่อ มีบทบาทยังไงในการเชื่อมโยงตรงนี้ หรืองานในส่วนการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ หรือการพัฒนาท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งในแง่ของนักประวัติศาสตร์ รบกวนอาจารย์สุเนตรเล่าเรื่องบทบาทของประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนถ่ายมาสู่สื่อมวลชนหลักว่ามีการเปลี่ยนแปลงกระแสการใช้มรดกทางวัฒนธรรมอย่างไร

จะสื่อเรื่องมรดกวัฒนธรรมอย่างไร

ดร.สุเนตร: ปกติสื่อจะไม่ได้ทำข่าวทั่วไป สื่อจะทำข่าวเมื่อมีกรณีหรือมีประเด็น เพราะว่าสื่อเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในการเสนอสื่อ การเสนอเรื่อง เขาก็ต้องคาดหวังว่าเรื่องนั้นสามารถจะขายได้ คนให้ความสนใจ

ประเด็นที่มันจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อมันมีประเด็นทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ทำภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ขึ้นมา มีความต่อเนื่อง สืบเนื่องพอควรในกระบวนการทำ สื่อก็จะค่อนข้างติดตาม ให้ความสำคัญ มันก็จะมีความพยายามถ่ายทอดในสิ่งเหล่านี้ หมายความว่า สื่อไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ แต่สื่อจะลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ต่อเมื่อมันมีกรณีหรือมีประเด็น

แต่ประเด็นที่เราจะมีปัญหากับสื่อเสมอ ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องประเด็นด้านโบราณคดี คือสื่อที่เข้าไปเอาข้อมูล ในช่วงหลังผมคิดว่าเขาขาดประสบการณ์พอสมควร หรืออาจจะบอกว่าขาดพื้นความเข้าใจในเรื่องที่จะทำพอสมควร

ตรงนี้ก็เป็นไปได้ว่า บางทีการให้ข้อมูลออกไปหรือการนำเสนอออกไป มันจะเจอการผิดพลาดโดยสม่ำเสมอ เช่น บางทีมาสัมภาษณ์เราเสร็จ แล้วก็ตัดบางตอนไป ไม่ได้เอาไปทั้งหมด แต่ก็มักตัดเอาเฉพาะตอนที่เขาเห็นว่ามันสอดประสานกับสิ่งที่แม่ข่ายต้องการ

ตรงนี้มันจะเกิดขึ้นได้ผมคิดว่า ปัจจุบันผู้ที่ทำงานด้านนี้สามารถที่จะเป็นสื่อด้วยตัวเองได้ก่อน เพราะฉะนั้นตอนนี้มันมีสื่อ 2 แบบ คือ สื่ออย่างที่เราเข้าใจกัน อาจจะจะเป็นหนังสือพิมพ์ อาจจะเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์ อันนั้นอย่างหนึ่ง กับการสร้างสื่อของเราเอง เปิดเว็บไซต์ของเราเอง

และถ้าเรื่องที่เราทำ อย่างเรื่องที่ท่านอาจารย์สายันต์ทำอยู่ แน่นอนที่สุดว่าจะต้องมีแฟนคอยติดตาม ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะมีแรงหรือเปล่าที่จะคอยอัพเดทข้อมูลต่างๆ แต่พร้อมที่จะมีคนตาม เพราะว่าพอมันเกิดประเด็นต่างๆขึ้นมาในทางประวัติศาสตร์เราไปเปิดในพันทิป คนสนใจมากมายมหาศาล เข้ามาแสดงความคิดเห็นตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นในมิติตรงนี้ ผมคิดว่าในกระบวนการการสื่อสารด้วยฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ ทางโบรารณคดี เราสามารถที่จะเป็นคนควบคุมข้อมูลเองได้ อันนี้อันหนึ่ง

กับถ้าเราจะให้สื่อ ซึ่งเป็นตัวแทนเราไปถ่ายทอด ผมแนะนำเลยว่าเขียนให้เลย ถ้าคุณจะเอาไปลงสกู๊ป ผมเตรียมไว้ให้แล้ว คืออย่างน้อยที่สุดโดยพื้นฐานมันไม่ทำให้เป้าของเราเสียไป

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราต้องการจะสื่ออะไรต่างหาก ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้เรากำลังสื่อของ 2 ชั้น ชั้นหนึ่งคือการให้ข้อเท็จจริง เช่น เราอาจจะพูดถึงเรื่องการขุดค้นที่นี่ การค้นพบของที่นั่น ของที่ค้นพบหรือของที่ขุดค้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีความสำคัญยังไง อันนั้นเป็นมิติหนึ่ง

อีกมิติหนึ่งที่เราจะบอกให้รู้ก็คือ การให้ความหมายหรือคุณค่าต่อการดำรงอยู่ของเรา ต่อการเป็นอยู่ของเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องตีค่าด้วยเงินก็ได้ แต่ทำให้เห็นว่าเราเป็นสังคมที่มีรากฐานของการพัฒนา ของอารยธรรมที่สืบทอดยาวนาน

เรามีสิ่งที่สั่งสมและสามารถจะนำเสนอได้ สิ่งที่สั่งสมมานั้นมันมีมิติหลายมิติที่สัมพันธ์อยู่ เช่น คติความเชื่อ ปรัชญา หรืออะไรอีกเยอะแยะมากมาย ซึ่งมันจะช่วยยกระดับและความเข้าใจของคนต่อสิ่งที่เราทำ

ไม่เช่นนั้นบางครั้งผมก็เห็นใจนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี มันมีช่องว่างมาก ระหว่างสิ่งที่เขาทำอยู่ กับสิ่งที่สังคมจะเข้าใจความหมายว่าคนเหล่านี้ทำอะไรกัน สิ่งที่เขาทำมีความหมายยังไง ทำไมเราจะต้องเข้าไปร่วมมือกับเขาด้วย ตรงนี้เหนื่อย

แต่ถ้าสมมติว่า สื่อที่เรากำลังจะสื่อออกไป ที่กำลังบอกว่าสื่ออะไร สื่อได้ใน 2 ระดับ คือ ให้ข้อเท็จจริงด้วย และให้เห็นถึง Value ในสิ่งที่เราทำอยู่พร้อมกันไป ถือว่าเป็นการให้การศึกษากับภาคสาธารณะ ทำสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งคู่ขนานกันเสมอ

แต่ความสำคัญในการขับเคลื่อนนี้ จริงๆ มันจะต้องทำโดยประสานกันเป็นเครือข่ายพอควร ไม่อย่างนั้นมันเหนื่อย เช่น สมมติว่าอย่างที่อาจารย์สายันต์ทำอยู่อาจารย์ก็คงเหนื่อย แต่อันหนึ่งที่ผมชอบน่านโมเดลมากคือ ทุกคนที่น่าน เมื่อจะคิดถึงการขับเคลื่อนจังหวัด ให้จังหวัดเป็นอย่างไร เขาคิดด้วยคอนเซ็ปต์หรือด้วยฐานแห่งความเข้าใจ แล้วจัดชั้นความสำคัญเดียวกัน

สมมติว่า คุณจะไปเปิด 7-11 ในเมือง ไม่ใช่คุณจะเอาสีสันของ 7-11 ไปใส่ได้ เพราะเมืองมีสีของเมือง มีสถาปัตยกรรมของเมือง เพราะฉะนั้นคุณจะไปสร้างอะไรให้แปลกแยกไม่ได้ คุณจะต้องทำในสิ่งที่ค่อนข้างสอดประสาน

ซึ่งแน่นอนที่สุดอาจจะเป็นเงื่อนไขของชุมชนที่เขาอาจจะออกระเบียบออกมา แต่ทุกคนตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดไปจนถึงนักการภารโรงเขาพูดสิ่งเดียวกัน เขาคิดสิ่งเดียวกัน แล้วเขาทำสิ่งเดียวกัน อันนี้ที่อยากให้เห็นสิ่งนี้ที่อยุธยา แต่มันก็ใหญ่กว่าเยอะ มันก็หลากหลายกว่าเยอะ แต่เรากำลังพูดถึงในมิติของประเทศ

ถ้าเราสามารถจัดลำดับชั้นความสำคัญได้ แล้วเมื่อเราจะพูดถึงการอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรม ทำไมเราต้องมีวัฒนธรรมอยู่ ตอนนี้ภาษาเดียวที่พูดก็คือจะขายวัฒนธรรมให้ได้ราคายังไง คือพูดภาษานี้ภาษาเดียว

แต่ถ้าสมมติเราลองเปลี่ยนภาษาพูดบ้างไหม ถ้าเราเปลี่ยนภาษาพูดให้คนพูดในภาษาเดียวกันนั้นบ้าง มันก็จะเกิดการขับเคลื่อน ทุกองคาพยพมันจะไปด้วยกัน แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยๆ สร้าง ผมคิดว่าแน่นอนที่สุดภาครัฐอาจจะเป็นผู้นำ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาครัฐเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบการขับเคลื่อนนี้

นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์

พชรพร: ในแง่ Value ที่เกิด ถ้าเราไม่มองในแง่มูลค่าราคา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกมา เปลี่ยนมุมมองคุณค่าของการใช้ศิลปะอยุธยาทั้งหมดเลยที่ออกสื่อหลังจากนั้น อาจารย์ช่วยขยายประสบการณ์ในแง่ความเปลี่ยนแปลงในการนำประวัติศาสตร์มาใช้

ประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดธุรกิจให้เป็น

ดร.สุเนตร: สิ่งที่ผมต้องบอกอันดับแรกก่อน ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ท่านเห็นในภาพยนตร์ อยุธยาจะต้องเป็นอย่างนั้น ตีเส้นตรงนี้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอสตูม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรต่างๆ ยังไม่ใช่อย่างนั้น แต่ที่มาของตัวละครนั้นมันมายังไง

แต่เดิมทีผมอยากจะบอกว่า กรมศิลปากรผูกขาดความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ อย่างเช่นว่าเครื่องแต่งกายต่างๆ ถ้าเป็นการแต่งตัวของพม่า กรมศิลป์ก็จะมีชุดของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของคองบอง (ราชวงศ์คองบอง) ตอนปลาย เป็นยะตะนะโป ยะตะนะโปที่พูดถึงก็คือมัณฑะเลย์ ก็จะมีมินดง ธีบอ เป็นช่วงเวลานั้น แต่ประยุกต์ทุกสมัย ตั้งแต่บุเรงนองลงมา เป็นต้น การแต่งกาย คอสตูม หรือว่าอะไรต่างๆ ก็จะเป็นในลักษณะอย่างนั้น

ตอนที่ท่านมุ้ยมาทำภาพยนตร์ ผมค่อนข้างให้เครดิตท่าน คือท่านมุ้ยทำวิจัยเยอะมาก ทำวิจัยอย่างน่าอัศจรรย์มาก ถ้าผมบังเอิญไม่พอทราบเรื่องพม่าบ้าง ผมจะไม่มีทางที่จะได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษา

เพราะว่าท่านเชิญผมไปให้ข้อมูลในทางพม่า แล้วผมก็อยากจะได้พม่าอย่างที่มันไม่ใช่เป็นพม่าที่รู้กัน อย่างคาแรกเตอร์ในยุคสมัยนั้น ส่วนใหญ่เราจะรู้ก็มีแต่บุเรงนองกับตะเบงชะเวตี้ ในยุคสมัยของพระมหาจักรพรรดิเรื่อยลงมา

แต่พอเราไปอ่านพงศาวดารพม่า มันมีคาแรกเตอร์หลายตัว เช่น พ่อบุเรงนอง เมงเยสีหตู มีเจ้าเมืองตองอู มีพระเจ้าแปร ตะโดธรรมราชา มีคาแรกเตอร์ มีชื่อเหล่านี้อยู่ในพงศาวดาร จะบอกว่าอย่างน้อยมันก็มีชุดวิจัยอยู่ เราก็นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้กับท่าน

ถามว่าแล้วคอสตูมมายังไง เราก็พาท่านมุ้ยไปพม่า ไปดูว่านักวิชาการพม่า นักประวัติศาสตร์ศิลป์พม่า เมื่อเขาจะจินตนาการอดีตของเขา เขามีงานไลเซนส์ยังไง งานอะไหล่ยังไง จิตรกรรมฝาผนังเป็นยังไง

มันไม่ตรงหรอกครับ เพราะว่าของยุคหงสาวดีมันไม่เหลือ แต่อย่างน้อยที่สุดเราเก็บของยุคพุกาม เราเก็บของยุคมัณฑะเลย์ เข้ามาผสมผสานและเรียนรู้จากอาจารย์พม่า ซึ่งเขาก็ประมาณการณ์ ก็เป็นงานวิจัยจำนวนหนึ่ง อันนั้นออกมาเป็นคอสตูมของพม่า
แต่มันก็จะต้องมีตัวแปร เพราะการทำหนังมันไม่ได้เหมือนกันกับการทำสิ่งอื่น เนื่องจากคนสร้างหนังบางครั้งต้องช่วยคนดูนิดหนึ่ง
อย่างเช่นคนดูบอกว่าคนไหนพม่า คนไหนคนไทย ก็ต้องให้เกราะพม่าเป็นแบบหนึ่ง เกราะไทยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อะไรอย่างนี้เป็นต้น

ตรงนี้ที่ใส่เข้ามา ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นด้วยซ้ำ ของมันอาจจะแชร์กันได้ ทั้งพม่าทั้งไทยก็อาจจะใช้เกราะจีนทั้งคู่ มันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ในภาพยนตร์มันเป็นเงื่อนไข

พอทำภาพยนตร์ออกมา จะทำยังไงดีให้ภาพยนตร์มันแข่งกับหนังประเภทย้อนยุคของฮอลลีวูดได้ ก็ต้องเริ่มคิดว่าคาแรกเตอร์จะเป็นยังไง คอสตูมจะเป็นยังไง โปสเตอร์จะเป็นยังไง ไม่ได้หมายความว่าอยุธยาหรือพระโคในยุคนั้นเป็นอย่างนั้น

แต่หมายความว่า ถ้าคุณจะสื่อสารกับผู้ชมของคุณในปัจจุบันนี้บนฐานของงานวิจัยที่คุณมี แล้วคุณจะประยุกต์เข้าไป จะเป็นยังไง เราก็ทำงานในลักษณะนี้ แต่ท่านมุ้ยก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าตรงนี้อย่าเชื่อผม ตรงนี้ผมคิดอย่างนั้น ผมคิดอย่างนี้

แต่คนที่ทำอย่างนั้นส่วนใหญ่เป็นผม เพราะผมเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมก็ต้องชี้แจงว่าประวัติศาสตร์ว่าอย่างนี้ พงศาวดารว่าอย่างนี้ คอสตูมที่เราเก็บได้ว่าอย่างนี้ แต่ที่ท่านมุ้ยทำอย่างนี้ เพราะมันมีเหตุผลอย่างนี้ๆ เราก็บอกหมดว่าข้อเท็จจริงอะไรเป็นอะไร

แต่มันมีผลทำให้ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเกิดเป็นมาตรฐานขึ้นมา มันได้เซ็ตมาตรฐานขึ้นมาใหม่ แทนมาตรฐานที่ครั้งหนึ่งกรมศิลปากรเซ็ต เพราะฉะนั้น พอไปดูหนังย้อนยุคของไทยเดี๋ยวนี้ ก็อปท่านมุ้ยหมดเลย แล้วคอยดูศรีอโยธยาก็จะใกล้เคียง คือฉากใกล้เคียงสุริโยทัย ความประณีตก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามอัจฉริยภาพของผู้สร้าง แต่โดยโครงสร้างเป็นโครงสร้างอย่างนั้น ก่อนสุริโยทัยเราไม่เคยเขียนอะไรอย่างนั้นเลย แต่ถามว่าท่านมุ้ยประมาณได้ยังไง ก็ไปค้นข้อมูลและจินตนาการว่ามันน่าจะประมาณนั้น ตอนนี้มันก็เซ็ตมาตรฐานนี้ออกมา

แล้วไม่ใช่แค่เป็นการเซ็ตมาตรฐาน เพราะภาพยนตร์ถูกนำไปใช้ในต่างประเทศ ถูกนำไปแก้ไขแพร่หลาย มันก็ทำให้ภาพลักษณ์ของอดีตของเรา เป็นภาพลักษณ์อีกชุดหนึ่งที่ออกไปในมาตรฐานนานาชาติ และต่อไปพอคนสร้างของเรื่องนี้ ก็จะอาศัยชุดนี้นี่แหละที่เข้าไปกำหนด สิ่งเหล่านี้ถ้าถูกทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะมาตอบประเด็นเรื่องเกาหลี เพราะเกาหลีมีนโยบายทำเรื่องนี้

ของกรณีท่านมุ้ยเป็นเรื่องไม่คาดคิด แต่ของเกาหลีเป็นนโยบาย มันต่างกันเยอะเลย เกาหลีเมื่อ 10 ปีที่แล้วเขาบอกจะทำอย่างนี้ อีก 10 ปีเขาก็ได้อย่างนี้ออกมา ของเราไม่ประกันว่ามันจะเป็นยังไง

ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่อย่างน้อยที่สุดมันได้ทำให้เห็นว่า สิ่งที่ท่านมุ้ยสร้างหรือทำขึ้นมา มันทำขึ้นมาจาก “ทุนทางวัฒนธรรม” ชุดใหญ่ชุดหนึ่ง แล้วเอาทุนทางวัฒนธรรมนั้นไปประยุกต์ เพื่อจะตอบโจทย์ของคนทำภาพยนตร์ ท่านอาจารย์ก็จะมีโจทย์ของท่าน ท่านก็จะเอาทุนทางวัฒนธรรมไปตอบโจทย์ของท่าน ผมอยู่ในแวดวงการศึกษาก็อาจจะไปตอบโจทย์ ก็มีโจทย์ของเราไป

“แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ทุนทางวัฒนธรรมของไทยยิ่งใหญ่มาก แต่ใช้น้อยมากเลย ถูกใช้น้อยมาก ภาครัฐก็ไม่ได้มองเห็นความสำคัญ ในขณะที่เกาหลี ทุนวัฒนธรรมผมบอกได้ว่าไม่ได้มากกว่าเรา แต่สามารถใช้ทุนทางวัฒนธรรมสร้างภาพลักษณ์ของเกาหลีขึ้นมา”

มันเกิดภาพลักษณ์ก่อน เกาหลีสร้างภาพลักษณ์ก่อน ฉะนั้นภาพของเกาหลีเราอาจจะบอกว่าเกาหลีคือสงครามเกาหลี แต่พอเกาหลีลุกขึ้นสร้างภาพชุดใหม่ขึ้นมา พอเราคิดถึงเกาหลีมันจริงอย่างนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เราคิดถึงแดจังกึม หรืออะไรต่ออะไร เราคิดถึงอะไรในชุดเหล่านั้น

ตรงนั้นมันคือภาพลักษณ์ชุดใหม่ที่เกาหลีสร้าง แล้วมันเป็นภาพลักษณ์ที่ขายได้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปถึงเนปาล ซื้อผลิตภัณฑ์เกาหลีหมด แล้วของที่มันตามมาจากนั้นก็คือภัตตาคารเกาหลี ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเกาหลี ซึ่งขึ้นมาแข่งกับญี่ปุ่น ได้

อันเป็นผลจากการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เกิดความน่าเชื่อถือขึ้น เกิดความไว้วางใจว่าเกาหลีมีความเก่าแก่ เกาหลีเป็นชาติมีอารยธรรม เกาหลีมีประวัติศาสตร์อันยาวไกล มีอะไรต่ออะไรหลายอย่าง แล้วภาพนั้นมันก็อยู่ในความรู้สึกนึกคิด อยู่ในความทรงจำของเรา เพราะฉะนั้นมันก็สร้างความใกล้ชิด ความคุ้นเคย ความไว้วางใจขึ้น ตรงนั้นมาก่อน สินค้าตามมาทีหลัง

“แต่ของเราไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาก่อนแน่ ผมพูดตามตรงว่า เราบอก 4.0 แล้วทุกคนก็ลุกขึ้นทำ 4.0 หมด แล้วผมตั้งคำถามว่า ตกลงทำอะไรกันครับเนี่ย”

[อ่านต่อตอนสุดท้าย เวทีปัญญาสาธารณะ :Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ความจริงของปัญหา ขาดจุดยืนความหลากหลายมรดกวัฒนธรรม กำแพงกม.สูงลิ่ว-งานบูรณะตกต่ำ(ตอนจบ)]