ThaiPublica > คอลัมน์ > มรดกโบราณคดี: ขุด เพื่ออะไร?

มรดกโบราณคดี: ขุด เพื่ออะไร?

8 สิงหาคม 2017


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

เมื่อเด็กไทยจะเรียนประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือ วิชาทางสังคมศาสตร์ คำถามที่ผู้ใหญ่มักตั้งคือ “แล้วจะทำอะไรกิน?”

ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติที่ผ่านมาโดนใช้ในสังคมในลักษณะของวัตถุหรือเนื้อหาที่คงที่ ไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ในขณะที่เทคโนโลยีและโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงตามกระแสของสังคม

เมื่อมูลค่าของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมีเนื้อหาเพียงลักษณะ “ข้อมูล” ที่เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือเป็นเพียงสิ่งของที่เราเก็บเอาไว้แสดงหรือเชิดชู

ดังนั้น พิพิธภัณฑ์และโบราณสถานของไทยปรียบเสมือนคลังเก็บของไว้เล่าเรื่อง โดยมีปัญญาชนกลุ่มน้อยมีบทบาทในการสืบค้นหาของในคลังข้อมูลเหล่านี้มาเล่าเป็นความบันเทิงให้แก่สังคมส่วนใหญ่ “ข้อมูล” จึงไม่มีการเปลี่ยนสภาพเป็นความรู้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสมัยใหม่ได้

ในทางกลับกัน หากข้อมูลมีการนำมาใช้เป็นความรู้ โบราณคดีและประวัติศาสตร์จะกลายเป็น “ทุน” ทางอุตสาหกรรมบริการและสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง เช่น การนำหลักการวิเคราะห์โบราณคดีและประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์สังคมในงานที่ปรึกษาสำหรับหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างๆ ความรู้พิเศษในเชิงสถาปัตยกรรมเทคโนโลยี การนำโบราณคดีและประวัติศาสตร์มาใช้ในสื่อ ฯลฯ

โบราณคดีคืออะไร?

สำหรับคนทั่วไป เมื่อพูดถึงวิชาโบราณคดี ภาพแรกที่นึกถึงคงจะไม่พ้น อินเดียนา โจนส์ ตะลุยป่าสู้กับเหล่าผู้ร้ายและกู้สมบัติออกมาได้จากวิหารโบราณที่ลึกลับ

แท้จริงแล้ว งานของนักโบราณคดีจริงๆ นั้นคือการศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ผ่านวัตถุและร่องรอยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการศึกษาตั้งแต่ของโบราณเป็นหมื่นปี ไปจนถึงโบราณคดีอวกาศหรือการศึกษาขยะอวกาศเพื่ออธิบายบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของการสำรวจอวกาศในแต่ละสมัย

ราวๆ 80% ของเวลาจะใช้กับการอ่านหนังสือ ศึกษาแผนที่ ประเมินทฤษฏีเสียมากกว่าการขุดหรือสืบหาแหล่งโบราณคดี หรือถ้ามีโครงการจะขุดอะไร ก็เป็นเรื่องของการเตรียมเอกสาร ส่วนเวลาที่เหลือก็คือการนำเสนอข้อมูลตามงานสัมมนาต่างๆ กับตีพิมพ์ตามสื่อ โดยเนื้อหาที่ตีพิมพ์นั้นจะแยกออกเป็นสองส่วน คือ สำหรับ “คนในวงการ” หรือ เรื่องที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่คนทั่วไปไม่สนใจ เรื่องเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือที่ตีพิมพ์ในมหาวิทยาลัยหรืองานสัมมนา ส่วนเรื่องสำหรับ “คนนอกวงการ” คือหนังสือที่พิมพ์ออกสู่สาธารณะ เช่น หนังสือในพิพิธภัณฑ์หรือออกข่าวและสื่อต่างๆ จะมีเนื้อหาที่เน้นความตื่นเต้นและบอกเล่าเรื่องราวโดยรวม

ข้อมูลใหม่ๆ ทางโบราณคดีสามารถนำมาแปลงเป็นความรู้ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมหรือ Heritage Industry ได้ หากมีการลงทุนเพื่อพัฒนาและวิจัยแบบเป็นระบบ ดังนั้น งานโบราณคดีและประวัติศาสตร์จึงเป็นงานผลิตทุนทางวัฒนธรรมแบบหนึ่ง

ในปัจจุบัน Heritage หรือมรดกทางวัฒนธรรมได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในสิทธิของประชาชนสำหรับหลายๆ ประเทศในยุโรปเพราะมรดกทางวัฒนธรรมหรือโบราณสถานต่างๆ นั้นมีผลต่อมูลค่าความสุขและความสร้างสรรค์ของคนในเมือง เหมือนกับอากาศที่บริสุทธิ์หรือการปลูกต้นไม้ที่ดี การที่เมืองมีผังและโครงสร้างที่มีความเป็น “โบราณ” หรือศิลปะก็ทำให้เกิดสภาวะสร้างสรรค์และความสุขแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองได้ และยังทำให้เกิดเอกลักษณ์ของเมืองขึ้นอีกด้วย

เดิมผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ผันตนเองมาทำงานวิจัยด้านโบราณคดีโดยยังคงใช้หลักการวิเคราะห์เชิงเศรษฐมิติและทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์กับข้อมูลโบราณ การที่ได้มาสัมผัสกับวิชาโบราณคดีทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือ “ผลผลิต” ที่ได้จากวิชาโบราณคดีในโลกปัจจุบัน?’ และ ‘จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่ถูกมองข้ามนี้สร้างมูลค่าทางทุนเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ?’

สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอคือภาพลักษณ์และแนวโน้มของวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ไม่ได้เป็นศาสตร์โดดที่ถูก “วางไว้บนหิ้ง” หรือแม้แต่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีหากมีการศึกษาที่ทันสมัยและแนวทางที่ถูกต้อง

ทำไมประวัติศาสตร์และโบราณคดีถึงถูกวางไว้บนหิ้ง?

รากฐานของโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งในไทย เป็นสิ่งที่รับมาจากวัฒนธรรมอาณานิคมตะวันตก ดังนั้น ประโยชน์ของโบราณคดีจึงถูกปกครองด้วยแนวความคิดซึ่งมี “รัฐ” และ ความสนใจของยุโรปเป็นศูนย์กลาง ในยุคแรกโบราณคดีที่ศึกษาโดยต่างชาติมักเน้นแนวทางการศึกษาและเก็บโบราณวัตถุ (antiquarian) หรือโบราณสถานเป็นของสวยงาม มากกว่าศึกษาเพื่อเข้าใจบริบทของสังคมและวัฒนธรรมในวงกว้าง

สำหรับรัฐไทย ประวัติศาสตร์และโบราณคดีถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันความศิวิไลซ์ของรัฐและสังคมภายใต้กระแส White Man’s Burden หรือแนวคิดของฝรั่งที่ยืนยันความถูกต้องของการล่าอาณานิคมเพื่อพัฒนาสังคมต่างๆ ให้ศิวิไลซ์ไปตามคติตะวันตก เมื่อยุคอาณานิคมหมดไป หน้าที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็ยังคงมีรัฐเป็นศูนย์กลางต่อไปโดยที่มีความพยายามกระจายตัวออกมาเรื่อยๆ แต่เพราะโครงสร้างเดิมนั้นเน้นทุนสนับสนุนจากรัฐเป็นหลัก ทำให้รายได้ที่ควรมาจากเอกชนไม่ได้กระจายตัวมาสนับสนุนการศึกษาเหมือนในตะวันตก

เมื่อขาดทุนสนับสนุนและบุคคลากรที่เพียงพอ โบราณคดีจึงมีปัญหาเดียวกับการรักษาทรัพยากรอื่นๆ คือ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและศึกษาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จากการค้นพบแหล่งโบราณคดีใหม่ที่ต้องมีค่าดูแลบำรุงรักษาอยู่เรื่อยๆ แต่งบประมาณและคนไม่เพียงพอ ในขณะที่รัฐก็ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากแหล่งโบราณคดีมาสนับสนุนกิจกรรมการรักษาและศึกษาแหล่งโบราณคดีได้ กลายเป็นต้นทุนจมน้ำ อุตสาหกรรมไม่สามารถสร้างรายได้และเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจอย่างที่ควรเป็น

การขุดในโบราณคดี หยุดขุดและสำรวจก่อนเพื่อลดต้นทุนในการรักษา?

การขุดค้นทางโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงๆ นั้นถือว่าริเริ่มช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ ไทยเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่ได้ดำเนินการทางโบราณคดีอย่างเป็นแบบแผนด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ ทำให้มีการ “ขุด” ศึกษา และ เก็บรักษามาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีทางโบราณคดีเชิงวิทยาศาสตร์จะเข้ามาทีหลังก็ตาม

ขั้นตอนที่ทุกคนรู้จักกันดีคือการ “ขุด” แต่ในวิชาโบราณคดีนั้น การขุดมีหลากหลายชนิดโดยสามารถแบ่งออกหลักๆ ตามนี้:

    1) ขุดเพื่อตรวจสอบ (Test Pit) กล่าวคือ เปิดหลุมเล็กๆ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องว่ามีอะไรที่สร้างโดยมนุษย์อยู่ใต้ดินหรือไม่ อายุเท่าไหร่ หรือถ้าศึกษาเชิงธรณีวิทยาก็จะดูเรื่องของดินหรือการเปลี่ยนแปลงทางระดับน้ำหรือสภาวะอากาศในยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ชั้นดินที่ถูกทับถมนั้นเป็นเสมือนตู้แช่แข็งข้อมูลทางธรรมชาติและสังคมผ่านกาลเวลาอันยาวนาน นอกจากจะได้ข้อมูลทางโบราณคดีแล้วการขุดยังให้ข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมและธรณีวิทยาด้วย

    2) ขุดเพื่อกู้หรือซ่อมแซมตกแต่ง (Rescue Archaeology) การพัฒนาสมัยใหม่ เช่น การก่อสร้าง การขยายตัวของเมืองมักทำให้เกิดการค้นพบแหล่งโบราณคดีขึ้น หรือ แม้แต่ภัยทางธรรมชาติก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีได้ ดังนั้นจึงต้องมีการขุดเพื่อกู้หรือก็คือการเก็บข้อมูลให้มากที่สุดก่อนที่จะสูญเสียหรือเสื่อมสภาพ การขุดชนิดนี้มีเนื้อหาทางด้านอนุรักษ์ และหากมีการซ่อมแซมก็มักสร้างงานให้กับช่างและผู้ผลิตอุปกรณ์และบริการสำหรับบำรุงรักษาโบราณสถานได้

    3) การขุดค้นเพื่อศึกษา (Research Archaeology) โครงการศึกษาโบราณคดีนั้นอาจจะใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีหรือการสร้างหัวข้อวิจัยขึ้น โดยขนาดของโครงการจะทำในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ โครงการระดับเล็กใช้ผู้ชำนาญการน้อย มีนักโบราณคดีจำนวนไม่มาก และขุดเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์โดยรวม โครงการระดับกลางถึงใหญ่อย่างที่เรามักเห็นกันในต่างประเทศจะประกอบด้วยบุคคลากรหลายสาขาวิชา โดยมากมักเป็นความร่วมมือระหว่างนักโบราณคดีกับนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ไปจนถึงสถาปนิก ช่างภาพ หมอ วิศวกร ฯลฯ เพราะแก่นแท้ของวิชาโบราณคดีคือการใช้สหสาขาวิชามาวิเคราะห์ “ชุดข้อมูล” จากอดีตนั่นเอง งานขุดระดับนี้หาได้ยากในประเทศไทยและภูมิภาค

แม้ว่าการขุดจะเป็นวิธีที่ทำให้ได้เห็นภาพและเข้าใจอดีตมากที่สุด แต่การขุดแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา การจ้างคนงาน การเก็บของ การวิเคราะห์หรือส่งตรวจทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายของการบำรุงรักษาแหล่งที่ขุดขึ้นมาได้ หรือถ้ากลบทับที่ดินดังกล่าวก็มักเกิดปัญหาการบุกรุกหรือลักลอบขุดขึ้น โดยที่ค่าเสียหายเหล่านี้ทำให้แหล่งโบราณคดีนั้นสูญหายไปมากมาย ยิ่งถ้าหากการขุดเป็นไปโดยไม่ครอบคลุมหรือมีผู้ชำนาญการครบทุกมิติแล้ว โอกาสที่จะเสียข้อมูลไปอย่างอย่าง “กู่ไม่กลับ” นั้นเกิดขึ้นได้เยอะมาก

ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาลดปัญหาจากการขุดในระยะยาวโดยการศึกษาโบราณคดีจากการไม่ขุดหรือที่เรียกกันว่าโบราณคดีแบบไม่รุกราน (non-invasive archaeology) ซึ่งหลายๆ ชนิดมีความคุ้มกว่าในการลงทุนและยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงสหสาขาวิชาและเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้าถึงงานวิจัยโบราณคดีและมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้นด้วย

การขุดค้นทางโบราณคดีทั่วไป (archaeological excavation) นั้นเป็นขั้นตอนการศึกษาที่เป็นการรุกราน (invasive) ข้อมูลในชั้นดิน ถ้าจะให้เปรียบแล้วนักโบราณคดีก็เหมือนกับหมอผ่าตัดประวัติศาสตร์ พอลงมือผ่าคนไข้ไปแล้ว แผลที่ผ่ากว่าจะหายก็ใช้เวลานานและไม่ใช่ว่าการผ่าตัดจะสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอ อาจจะต้องมีการผ่าซ้ำหรือผ่าอีกไม่ได้ ซึ่งเปรียบเสมือนหลักฐานที่นักโบราณคดีพยายามจะหาและอาจจะหาไม่ได้เสมอไป มากไปกว่านั้นยังทิ้งแผลไว้กับร่องรอยทางประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะโบราณคดีนั้นต่างกับการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเอกสาร ตรงที่เป็นการศึกษาด้วยการทดลองที่ไม่สามารถกลับมาศึกษาซ้ำในแบบเดียวกันได้อีก

ฟิลิป เอ บาร์เคอร์ (Philip A. Barker) นักโบราณคดีชาวอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า “แหล่งโบราณคดีทุกแหล่งนั้นเป็นเอกสารที่สามารถอ่านได้โดยผู้ที่มีความชำนาญแค่ครั้งเดียว เพราะในการอ่านเอกสารนั้นก็คือการทำลายเอกสารไปในเวลาเดียวกัน”

สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ละเอียดแล้ว แม้แต่วิธีการเรียงตัวของชั้นดินหรือส่วนผสมเล็กน้อยที่นักโบราณคดีมักส่งไปตรวจแค่ชนิดดินนั้น ก็เป็นประวัติศาสตร์การพัฒนาและการใช้ที่ดินของมนุษย์ในมือผู้เชี่ยวชาญที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสาขาวิชาโบราณคดี ที่สำคัญกว่านั้น ข้อมูลเหล่านี้จะมีค่าในมือของผู้ที่ทำงานต่างสาขา เช่น การพัฒนาที่ดิน

ปัจจุบันมีการเสนอให้วิชาโบราณคดีเป็นส่วนหนึ่งในสาขาวิชาการศึกษาภูมิทัศน์ (Landscape Study) และแน่นอนมีนักวิชาการเกี่ยวกับการศึกษาเมือง (Urban Studies) และการพัฒนาโครงสร้างเมืองและชุมชน หลายๆ คนให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดีในเชิงความสัมพันธ์กับคุณภาพเมืองและชุมชนรวมไปถึงบทบาทของเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย

ดังนั้น หากขุดอย่างไม่พร้อม โอกาสที่ข้อมูลโบราณคดีจะต่อยอดองค์ความรู้ทางโบราณคดีและเสริมสร้างการพัฒนาแบบอื่นก็หายไปพร้อมๆ กับการทำลายจากการศึกษานั่นเอง ดังนั้น การขุดจึงควรเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการศึกษาและขุดเมื่อแน่ใจว่าเก็บข้อมูลได้ทุกด้านทั้งบุคลากรและเวลาและในทุกแง่ของสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพราะทรัพยากรทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด (non-renewable resource)

แล้วโบราณคดีแบบไหนที่ไม่ได้ทำลายล้าง? แนวทางโบราณคดีที่ไม่รุกราน (non-invasive archaeology)

การพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ได้ช่วยให้ผลกระทบจากการรุกรานด้วยการขุดเป็นไปน้อยที่สุด ขั้นตอนที่นิยมปฏิบัติกันมีตั้งแต่ grid survey (เอาคนเรียงแถวตีตารางตามแผนที่) ไปจนถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อศึกษาแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใต้ผิวดิน การนำนวัตกรรมมาใช้ในโบราณคดี เปิดโอกาสให้บุคลลากรที่ไม่ใช่นักโบราณคดีโดยตรงมาทำหน้าที่ในเชิงโบราณคดีได้ ทั้งพวกที่ทำเป็นงานอดิเรกจนถึงนักเล่นกล้องหรือภาพถ่ายมืออาชีพ หากจะแยกโบราณคดีที่ไม่รุกรานแล้วมีคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

ภาพการใช้ Google Earth วิเคราะห์ผ่าน Aerial Photography ซ้อนกับการใช้ข้อมูลจากการทำธรณีฟิสิกส์ชนิดวัดเครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก รัฐ Ohio สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีของ Hopewell Culture (พศว ที่ ๕ ถึง ๑๐)
ที่มาภาพ: Jarrod Burks http://www.archaeologicalconservancy.org/grant-new-high-tech-research-steel-earthworks/

1) โบราณคดีทางอากาศ (aerial archaeology)

เป็นการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศหรือดาวเทียม ธรรมชาติของข้อมูลดังกล่าวถูกจำกัดด้วยสภาพอากาศและแสง ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ศึกษาได้ในทุกแหล่งโบราณคดี ข้อดีคือเร็วและได้ภาพรวมจุดหนึ่งแต่ถือเป็นข้อมูลที่หยาบและไม่ละเอียดมาก สามารถใช้หาภาพรวมแหล่งโบราณคดีได้จากการดูร่องรอยการเพาะปลูก (crop mark) และ ร่องรอยการพัฒนาดิน (soil mark) วิธีการศึกษาชนิดนี้ได้มีการนำมาใช้ในการศึกษาเมืองโบราณ สทิงพระโบราณ โดย Janice Stargardt จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยมีการนำสังเกตรอยเงา (shadow mark) และแสงที่สะท้อนบนผิวทุ่งนามาใช้แยกแปลงการปลูกข้าวสมัยใหม่กับอดีต เป็นเทคนิคการถ่ายรูปที่ต้องใช้เครื่องบินกับเวลาของแสงอาทิตย์และความชื้นที่มีจำกัด

นอกจากนี้ยังมีการนำกูเกิลและภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้อย่างกว้างขวางในการทำงานด้านการสำรวจแหล่งโบราณคดี นักประวัติศาสตร์หรือผู้ศึกษาลักษณะการเปลี่ยนแปลงของที่ดินและแผนที่ มักมีการนำภาพถ่ายทางอากาศเก่าๆ โดยเฉพาะชุดสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาวิเคราะห์ ปัจจุบันชุดที่นิยมมากคือ William-Hunt Collection ที่ถ่ายภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้

2) LiDAR (Light Detecting and Ranging)

เป็นเทคโนโลยีที่แต่เดิมใช้ศึกษาทางธรณีวิทยาและนิเวศน์ ในไทยมีการนำมาศึกษาระบบนิเวศน์ชายฝั่งและภูมิศาสตร์ชายฝั่ง แต่ปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ในวิชาโบราณคดีในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่กัมพูชามีการค้นพบเมืองมเหนทรบรรพต (Mahendraparvata) โดยใช้นวัตกรรมนี้ และอาจจะมีการใช้กับเมืองศรีเกษตรในเมียนมาเร็วๆ นี้ ปกติแล้วเทคนิคนี้มักมีราคาแพง สามารถทำได้จาก อวกาศ เครื่องบิน หรือระดับพื้น ปัจจุบันหน่วยเครื่องไลดาร์สามารถหาได้ในราคาหลักพันต้นๆ และสามารถนำมาติดกับระบบโดรนได้ ซึ่งเป็นวิธีที่นักโบราณคดีใช้หาแหล่งโบราณคดีในแถบป่าแอมะซอนของลาตินอเมริกาใต้ วิธีการทำงานของไลดาร์จะใช้การยิงพัลส์ (pulse) แสงลงพื้นเพื่อให้สะท้อนข้อมูลระดับความสูงและตำแหน่งของพื้นดินผ่านระบบ GPS กลับมาที่เครื่อง ที่เหลือจะเป็นการตัดแต่งภาพเพื่อให้หาข้อมูลว่ามีเนินโบราณหรือโครงสร้างโบราณอยู่ที่ไหน ข้อจำกัดของไลดาร์คือหากที่ดินโดนถมและพัฒนาเยอะๆ จะไม่ค่อยเห็นร่องรอยโบราณ มักนิยมใช้ในแปลงนา ที่ดินเปิด หรือป่า

3) การศึกษาธรณีฟิสิกส์ (Geophysics Survey)

การศึกษาธรณีฟิสิกส์แยกออกเป็นสามชนิด คือ เครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก (Magnetometer) การวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า (Earth Resistance Survey) หรือ Geoelectric Survey และเครื่องเรดาร์หยั่งความลึกศึกษาชั้นดิน (Ground Penetrating Radar “GPR”) ทั้งสามวิธีนี้ใช้ทุนทรัพย์น้อยและไม่ต้องใช้แรงงานมาก ได้ข้อมูลมากกว่าการขุดในเวลาที่น้อยกว่า และเป็นสิ่งที่ควรทำกับแหล่งโบราณคดีทุกแหล่งก่อนที่จะมีการขุด เพราะจะเป็นผังประกอบการตัดสินใจเรื่องตำแหน่งและความลึกของการขุดที่ดี ข้อเสียคือต้องใช้ข้อมูลความรู้ทั้งสามชนิดและความรู้เรื่องการตัดแต่งข้อมูลที่ดีควบคู่กับความชำนาญเรื่องสภาพดินแหล่งดินในพื้นที่จึงจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วนักโบราณคดีจะให้ผู้ชำนาญด้านธรณีวิทยามาทำ GPR แต่จะไม่ค่อยได้ภาพอะไรมากกว่าความลึกของสิ่งที่รบกวน ปัญหาคือการปรับเครื่องให้ตรงกับสภาพดินและการที่ทำ GPR อย่างเดียวโดยไม่ได้นำข้อมูลจากภาพอื่นมาประกอบ

ตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยในการสำรวจแบบ non-invasive archaeology
เอเยนต์ขายอุปกรณ์และตู้กันความชื้นที่งานสัมมนาโบราณคดีโลกที่ประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ได้พัฒนาตนเองมาเป็นผู้ค้าเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและงานวิจัยโดยแข่งขันกับตลาดตะวันตก การขายเทคโนโลยีและอุปกรณ์พวกนี้ยังมีผลในการขยายตลาดการศึกษา เช่น งานของมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยต่างๆ เป็นการสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโดยตรงและอาศัยวิชาโบราณคดีในการสร้างจุดเด่นในการใช้งานเทคโนโลยี

ดังนั้น การศึกษาและเก็บข้อมูลเชิง non-invasive archaeology จึงไม่ได้มีประโยน์เฉพาะกับวิชาโบราณคดีเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับข้อมูลเชิงพัฒนาที่ดินและการอนุรักษณ์อีกด้วย เพราะไม่ทำให้มีการขุดและสามารถควบคุมการพัฒนาที่ดินได้ชัดเจนขึ้น แม้จะมีความร่วมมือเริ่มเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานทางโบราณคดีของไทยกับหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่มีการแปรรูปนวัตกรรมมาเป็นสินค้าส่งออกแบบเกาหลีหรือญี่ปุ่น มากไปกว่านั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ยังสามารถนำมาใช้ในการสำรวจหาทรัพยากรและทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย เช่น การสร้างโมเดลเมืองโบราณเพื่อการศึกษาและการค้า ดังนั้น วิถีของโบราณคดีเชิงไม่รุกรานจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองและนำมาต่อยอดได้อย่างกว้างขวางในอนาคต