ThaiPublica > เวทีปัญญาสาธารณะ > เวทีปัญญาสาธารณะ : “โบราณคดีชุมชน” เครื่องมือขับเคลื่อนงานพัฒนา สร้างจุดร่วม ชวนชุมชน เข้าถึง ใช้ประโยชน์ แบ่งปันคุณค่าทางวัฒนธรรม (ตอนที่ 2)

เวทีปัญญาสาธารณะ : “โบราณคดีชุมชน” เครื่องมือขับเคลื่อนงานพัฒนา สร้างจุดร่วม ชวนชุมชน เข้าถึง ใช้ประโยชน์ แบ่งปันคุณค่าทางวัฒนธรรม (ตอนที่ 2)

8 ตุลาคม 2017


สำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวเจาะสืบสวนสอบสวนในลักษณะ Data Journalism แต่ในอีกบทบาทหนึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมประสาน เพื่อสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ โดยการเปิด “พื้นที่กลาง” ให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มองมุมต่าง การจุดประกาย การผลักดัน ให้เกิดแรงเคลื่อนที่เป็นพลังของประชาชนที่ตื่นรู้ ตื่นตัว สร้างสังคมที่ขับเคลื่อนกันด้วยข้อมูล องค์ความรู้ ให้เป็นปัญญาสาธารณะที่ใครก็หยิบไปใช้ได้ เพื่อให้เกิด “โอกาส” การเชื่อมต่อและต่อยอดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม พบกับ“เวทีปัญญาสาธารณะ ครั้งที่ 1” หัวข้อ “Heritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ?”

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจัดกิจกรรมเวทีปัญญาสาธารณะครั้งที่ 1 เรื่องHeritage Industry: เศรษฐกิจคิดใหม่ ทำอย่างไรที่จะนำมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจ? ณ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย(ภาพจากขวามาซ้าย) ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ, ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเอิบเปรม วัชรางกูร นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.,นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้ดำเนินรายการ

ต่อจากตอนที่1

พชรพร: หน้าที่และบทบาทนอกเหนือจากการเข้ามาท่องเที่ยว แม้กระทั่งการลดการเอาเปรียบในแง่การพัฒนาที่เกิดขึ้น เพราะว่าเรื่องปากท้องเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ปรากฏการณ์ที่เราเริ่มเห็นคือการทำลายแหล่งโบราณคดี การลักลอบขุด ปัญหาเหล่านี้มันเกี่ยวโยงกลับไปถึงรายได้เสริมทั้งหมด มันมีทางออกอย่างอื่นไหมที่ชุมชนเหล่านี้จะผลิตของหรือสร้างอะไรที่เกี่ยวกับการหารายได้เสริมในแง่ปากท้อง ซึ่งเท่าที่ทราบพิพิธภัณฑ์เริ่มมีโครงการ

วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา ทำอย่างไรให้ชุมชนรู้คุณค่า

ศาริสา: พิพิธภัณฑ์เปรียบเสมือนองค์กรที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชน ให้กับคนในสังคม และทำงานด้านพระคุณมากกว่าพระเดช คนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมเปรียบไปแล้วก็เหมือนคนที่ต้องกรีดเลือดตัวเองกิน เพราะการทำงานวัฒนธรรมเป็นงานที่ไม่ได้ก่อเกิดรายได้ และไม่ได้ให้ผลชี้เป็นชี้ตายกับใคร

งานวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นเรื่องไกลตัวมาก เพราะคนที่เกิดขึ้นมาในชุมชน อยู่ในวัฒนธรรม อยู่ในองค์กรต่างๆ หรืออยู่ในพื้นที่มรดกโลก เขาไม่ได้เรียนรู้ว่ามีสิ่งที่มีคุณค่าอย่างไรบ้าง มีวัตถุทางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างไรบ้าง

คนภายนอกมองเห็นจุดเด่นนี้ แต่คนในชุมชนเขาไม่เคยรู้ว่าเขามีอะไร เขาห่วงใยแต่เรื่องปากท้อง เขาไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เขามีอยู่นี้จะไปต่อยอดหรือมีคุณค่ายังไง จะเอาสิ่งที่มีไปทำให้ก่อเกิดรายได้ยังไง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์จะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน ให้กับคนในสังคมได้รับรู้ว่าสิ่งที่มีอยู่ด้านมรดกโลกต่างๆ มันมีความสำคัญ มันมีคุณค่ายังไง

แต่ถ้าตามนโยบายที่รัฐบาลให้มา รัฐบาลมุ่งหวังแต่เรื่องของการก่อเกิดรายได้ แต่ไม่เคยหันกลับมามองว่าจริงๆ แล้วคนในชุมชนหรือคนในประเทศมีความพร้อมในการเรียนรู้เรื่องมรดกวัฒนธรรมอย่างจริงจังหรือยัง เข้าใจไหมว่ามรดกวัฒนธรรมคืออะไร ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาด้วยหรือไม่ ประชาชนแทบไม่ได้เรียนรู้เลย

จากประสบการณ์ที่อยู่อยุธยามา อยุธยาเป็นมรดกโลก เป็นแหล่งที่ชาวต่างชาติหรือคนไทยภูมิใจว่ามันคือมรดกโลก แต่คนอยุธยาแทบจะไม่รู้คุณค่าของคำว่ามรดกโลกเลย มรดกโลกคืออะไร มรดกโลกทำให้ฉันอิ่มท้องหรือเปล่า ทำให้เกิดอาชีพหรือเปล่า คนอยุธยาไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้ เขาเรียนรู้แค่ว่าทำมาหากินไปวันๆ

ไม่ได้มีการปูพื้นในการจะให้ความรู้เขาในเรื่องนี้ มันก้าวกระโดดอย่างที่ทุกท่านพูด เหมือนเป็นเรื่องไกลตัวที่คนในชุมชนไม่เคยรู้ รู้เฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้จริงๆ แต่คนที่จะต้องรักษาวัฒนธรรม จะต้องอยู่ ต้องกินอยู่ในวัฒนธรรมตรงนั้นไม่ได้รู้อะไรเลยอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าจะทำอะไรสักอย่างมันสมควรจะต้องไปศึกษา วิเคราะห์วิจัย ให้ความรู้ หรือพูดคุยกับเขาว่าจะทำอะไร แล้วเอามรดกวัฒนธรรมที่เป็นของมีคุณค่าไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป ก็อาจจะทำได้

ยกตัวอย่างที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา มีโครงการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมรดกทางวัฒนธรรม” (Creative Fine Arts) เป็นเรื่องที่กรมศิลปากรตั้งต้นเรื่องมานานแล้ว พยายามเอาศิลปวัฒนธรรม เอาคุณค่าด้านมรดกของชาติมาต่อยอด เพื่อที่จะให้เกิดสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน โดยเน้นเรื่องใกล้ตัวที่สุดคือคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมของตัวเอง เอาลวดลาย เอารูปแบบ เอาศิลปะมาประยุกต์เป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้มีอะไรตอบโจทย์ไปกระตุ้นให้เขาเกิดความรู้สึกตรงนั้นเลย ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่ามันมีคุณค่า คุณจะคิดยังไง จะเอามรดกไปต่อยอดให้เกิดรายได้ยังไง เขาคิดไม่ออก

นางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

อย่างที่อยุธยา ประกาศไปโดยใช้วิธีการประกวด มีเงินรางวัล ตอนแรกคนที่ลงไปทำแทบร้องไห้ ประกาศไปรอบแรกมีคนมาสมัครแค่ 14 คน เหมือนกับเรารู้ของเราคนเดียว แต่ชาวบ้านไม่รู้ หรือคนที่ทำการค้าในเรื่องการผลิตของที่ระลึกเขาไม่รู้หรอกว่ามันดียังไง มันเป็นเป็นยังไง ก็หมดใจกันไปแล้ว

แต่เผอิญได้อาจารย์ที่ปรึกษาจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อาจารย์บอกว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ถ้าเราทำสำเร็จมันจะตอบโจทย์ให้ชาวบ้านเรียนรู้เลยว่าสิ่งที่เขามีอยู่ในมือมันสามารถผลิตเป็นของที่ระลึก ของใช้ ของกิน ที่มันจะกลับมาก่อเกิดรายได้ในชุมชนอยุธยา เราต้องผลักดันสู้ต่อไป ก็เลยลงพื้นที่ไปคุยตัวต่อตัวกับชาวบ้าน

ก็ผลักดันมาได้ประมาณ 400 กว่าชิ้น แต่ 400 กว่าชิ้นที่เข้ามาก็ไม่ได้ตอบโจทย์ตรงประเด็นหมดทุกประเภทที่เรามี ก็พยายามคัดหาที่พอจะไปได้ พอที่จะผลักดันให้เป็นที่ระลึกต่างๆ คนที่เขาคิดก็เอาสิ่งที่เขาเห็นใกล้ตัวในบ้าน เช่น โรตีสายไหมซึ่งเป็นของฝากอยุธยา ก็นำไปทำเป็นลวดลายผ้าปูที่นอน ลายปลอกหมอน หรืออย่างปลาตะเพียนหรือกุ้งแม่น้ำ ก็มาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับ หรืออยุธยามีวัดเยอะ ก็ไปเอาลวดลายยันต์มาทำผ้าคลุมไหล่ ทำล็อกเก็ต

ซึ่งพิพิธภัณฑ์มีหน้าที่จะต้องทำกิจกรรมแบบนี้บ่อยๆ ตอกย้ำเข้าไปบ่อยๆ เพื่อที่จะให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ว่าเขามีพื้นที่ที่จะมาใช้ประโยชน์ได้ แล้วพิพิธภัณฑ์ก็จะมีหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงระหว่างภาครัฐที่มีนโยบายกับชาวบ้านที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน ให้มันไปได้ตามนโยบายที่รัฐวางใว้

แต่ตราบใดที่รัฐหรือนักวิชาการมองแค่ความรู้สึกที่ตัวเองคิดเองได้ แต่ไม่เคยเข้าไปดูในพื้นที่ชุมชนที่เขาอยู่ในมรดกวัฒนธรรมตรงนั้น ไม่ได้ไปบอกเขาว่าเขามีของดีอะไร หรือเขาสามารถจะดึงอะไรขึ้นมาไปต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนได้ เขาจะไม่มีวันรู้เลย

พชรพร: ปัญหาตอนนี้ที่ทุกท่านพูดถึงคือความคลุมเครือ การเชื่อมโยงข้อมูล และการถ่ายทอดข้อมูลจากคนที่อยู่ในเซกเตอร์ที่มีความรู้ แล้วทำให้บทบาทของความรู้ การใช้ชีวิต หรือแนวทาง ลงไปสู่สังคมในวงกว้างมันมีความไม่แน่นอนอยู่ อยากทราบว่าจะมีกลไกลใด เช่น อาจจะบังคับว่าหน่วยงานที่เข้าไปขุดหรือศึกษาทำวิจัย มีหน้าที่อย่างไรกับชุมชนที่เข้าไปศึกษา หรือบริเวณประวัติศาสตร์ที่เข้าไปศึกษาเพื่อสานต่อความรู้ทั้ง 2 ทาง และนำความรู้ของชุมชนมาเผยแพร่ให้เป็นความรู้สาธารณะ ในขณะเดียวกันก็นำความรู้เฉพาะของผู้มีความรู้สืบเข้าไปให้ชุมชน

ดร.สุเนตร: ผมขออนุญาตให้ภาพว่าวัฒนธรรมที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ในปัจจุบันเป็น “วัฒนธรรมทุนนิยม” ในวัฒนธรรมทุนนิยมการตีราคาหรือการให้ค่าเป็นการให้ค่าทางวัตถุ นั่นหมายความว่าของชิ้นนี้จะมีค่าหรือไม่ ต้องเทียบเคียงว่าเอาไปขายได้เท่าไหร่ สามารถนำรายได้เข้าประเทศเท่าไหร่ หรือทำแล้วจะทำให้เพิ่มฐานะหรือความร่ำรวยขึ้นมาได้เท่าไหร่ มีการตีคุณค่าไปในทำนองนั้นเป็นสำคัญ

แต่เมื่อเราพูดถึงมรดกทางวัฒนธรรมหรือคุณค่าในทางวัฒนธรรม ก่อนที่เราจะเข้าสู่วัฒนธรรมทุนนิยม มันมีคุณค่าอันหลากหลายที่จะสามารถร้อยรัดสังคมเข้ามาอยู่ร่วมกัน มีการสืบสานวัฒนธรรม การสร้างคุณค่าของสิ่งที่เป็นวิถีแห่งการดำรงอยู่หรือปฏิบัติเหล่านี้ การให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นมันลดน้อยลงไป

รวมกระทั่งรัฐก็มองเห็นความสำคัญลดน้อยลงไป พอรัฐจะเข้ามามีบทบาทเรื่องนี้ รัฐก็จะเข้ามามีบทบาทในทำนองว่า ถ้าอย่างนั้นฉันอนุรักษ์แล้วกัน วิธีการอนุรักษ์ของรัฐก็เช่นว่า มีการทำวิจัย ทำสารานุกรม หรืออะไรต่างๆ หลายอย่าง และรัฐก็เชื่อว่าได้ทำงานแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐมองวัฒนธรรมเป็นของที่มันหยุดนิ่ง เหมือนกับว่าอะไรที่สวยสักชิ้นหนึ่งแล้วนำไปใส่ไว้ในตู้โชว์ แล้วก็คิดว่าเราได้ทำแล้ว

พอเกิดลักษณะอย่างนี้ ก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ทุกท่านพูดถึง มันเกิดช่องว่างขึ้น ระหว่างสังคมกับมูลค่า (Value) ของตัววัฒนธรรมที่มี เพราะว่าถ้าจะมีการรักษา ก็กลายเป็นของที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ชาวบ้านไม่รู้ว่ารัฐทำอะไร หรือมีคุณค่ายังไง หรือทำไมเขาต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ส่วนรัฐก็คิดว่าฉันได้ทำหน้าที่ในสิ่งเหล่านี้แล้ว และสิ่งที่สำคัญก็คือ อะไรก็ตามที่ฉันทำมันควรจะทำรายได้เข้าประเทศ

ถ้าจะตอบโจทย์ของพิธีกรต้องบอกว่า ต้องสร้าง “ความสำนึกรู้” (Consciousness) ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งให้กับสังคม คือ Consciousness ที่บอกว่ามรดกทางวัฒนธรรมหรืออะไรต่างๆ มันมีคุณค่าที่มากกว่าคุณค่าที่จะต้องตีเป็นราคา มีคุณค่าในลักษณะอื่นด้วย ที่มีคุณค่า มีความหมาย มีความสำคัญ ผมคิดว่ามิติตรงนี้เป็นมิติที่จะต้องเข้าใจก่อน

สมมติว่าถ้าเกิดความเข้าใจในมิติตรงนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ แล้วทำอย่างไรเราถึงจะทำให้ของที่มีคุณค่าเหล่านี้มันถูกให้ความหมาย หรือให้ความสำคัญ หรือสืบสาน ของที่มันจะสืบสานได้สมาชิกในสังคมต้องเห็นค่า ถ้าสมาชิกในสังคมไม่เห็นค่า ไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องสืบสานทำไม และยิ่งสังคมพัฒนาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เขายิ่งไม่รู้จักมันมากขึ้น ยิ่งไม่เห็นคุณค่ามากขึ้น

ศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์, ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์,นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา (ภาพซ้ายไปขวา)

แสดงว่าสิ่งที่ผิดปรกติในกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของบ้านเรา มันไม่เกิดส่งผ่าน อะไรต่ออะไรก็ตามมันไปอยู่ในตัวหนังสือ ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่กระบวนการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ลงไปถึงเยาวชน ไปถึงระบบวิธีคิดของชาวบ้าน มันไม่เกิด

รวมทั้งความสำนึกรู้ที่ว่า แหล่งโบราณสถานที่อยู่ในชุมชนของเขามีคุณค่าอันสัมพันธ์กับเขา ซึ่งเขาควรจะให้คุณค่า ให้ความสำคัญ เขาก็คิดว่ามันเป็นของหลวง พอเราไปล้อมรั้วป้องกัน เขายิ่งคิดว่ามันไม่ใช่ของฉัน มันเป็นของหลวง ก็ยิ่งเพิ่มช่องว่าง เราต้องมีกลไกที่ทำให้เราต้องมองเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึง มีคุณค่าจรรโลงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมมากว่าการทำรายได้เข้ารัฐ เสร็จแล้วเราต้องส่งผ่านความรู้ความเข้าใจนี้

วัฒนธรรมหลายอย่างทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ มันคือสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ แล้วไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ในแต่ละเจเนอเรชันจะรับรู้และเข้าใจโดยอัตโนมัติ มันไม่เป็นอย่างนั้น เราพูดถึงเพลงคลาสสิกก็ฟังได้ 3 นาที เพราะมันไม่มีกระบวนการในการจะสอนให้เราเข้าใจ ผมคิดว่าตรงนี้เป็นช่องว่างอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเริ่มมาคิดว่าเราควรจะทำยังไง

ในกระบวนการขับเคลื่อนที่สร้างสำนึกร่วมนี้ เพื่อให้เกิดแนวคิดร่วมกันในสังคม ต้องไม่เป็นบทบาทของภาครัฐเท่านั้น อาจจะต้องมีบทบาทของภาคเอกชน บทบาทภาคการศึกษา บทบาทของภาคส่วนหลายภาคส่วน ซึ่งเมื่อทุกคนคิดถึงอยุธยา อย่างน้อยที่สุดโจทย์แรกที่เขาตอบมันต้องเป็นโจทย์เดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งคิดโจทย์หนึ่ง คนหนึ่งคิดอีกโจทย์หนึ่ง แล้วต่างคนต่างทำกันไป เพราะแต่ละกลุ่มก็ต้องทำในสิ่งที่สนองผลประโยชน์ของกลุ่ม

เช่น บางกลุ่มคิดว่าจะทำให้มันเจริญ ฉะนั้นต้องสร้างโรงแรม ต้องมีโรงแรมระดับ 5 ดาวที่อยุธยา กลุ่มอนุรักษ์ก็เอ๋อ ว่าแล้วจะยังไงกัน ดังนั้นมันต้องมีแนวทางซึ่งเป็นแนวทางร่วมกันในการที่ทุกคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ เราพูดในภาษาเดียวกัน ตรงนี้จำเป็นจะต้องให้เกิดความเข้าใจและสร้างขึ้นมา

ซึ่งแน่นอน ภาครัฐอาจจะเป็นคนนำได้ เพราะมีศักยภาพสูงกว่า แต่ไม่ใช่ภาครัฐเดินไปคนเดียว ภาครัฐจะต้องมีกุศโลบายที่จะดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ให้เดินตามกันไป

ถ้าสมมติว่าคุณค่าในสิ่งเหล่านี้มันถูกพิทักษ์รักษาได้ ผลประโยชน์ในทางอื่น การท่องเที่ยวหรืออะไรก็ตาม มันก็จะตามมาเอง แต่ไม่ใช่ว่าเราเอาสิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง เพราะความยั่งยืนก็เป็นเรื่องน่ากลัวว่าจะเกิดขึ้น เช่น สมมตินักท่องเที่ยวจีนเข้ามาปีละ 30 ล้านคน จินตนาการสิครับว่าจะทิ้งอะไรไว้กับประเทศเราบ้างเมื่อเดินทางกลับไปแล้ว อันนี้คือสิ่งที่ต้องรู้ได้ และต้องจัดการได้

พชรพร: อยากจะต่อยอดอาจารย์สุเนตร ทราบว่าอาจารย์สายันต์ทำเรื่องลักษณะนี้ที่จังหวัดน่าน

นางสาวพชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์
มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ผู้ดำเนินรายการ

โบราณคดีชุมชน เครื่องมือขับเคลื่อนงานพัฒนา

สายันต์: ผมรู้สึกเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2535 ตั้งแต่สมัยอยู่กรมศิลปากร เห็นปัญหาการทำงาน และเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับเรา เขามีหน้าที่ขุดขาย เก็บขาย เราก็ไล่ตามจับ ก็ทะเลาะกันไป ทำเท่าไหร่ก็ไม่จบ

ตอนผมย้ายไปเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี 2542 ไปสอนพัฒนาชุมชน โดยนำมิติทางโบราณคดีกับวัฒนธรรมไปขับเคลื่อนงานพัฒนา ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในวงการพัฒนาชุมชน ผมใช้เวลา 7 ปีในการทำวิจัย ที่เดียวเรื่องเดียว เรื่อง “โบราณคดีชุมชน” ที่จังหวัดน่าน ตอนนั้นที่เลือกจังหวัดน่านเพราะไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดีมาก่อน เป็นจังหวัดที่ภาคประชาสังคมเข้มแข็งมาก แต่ว่าไม่เคยมีใครทำเรื่องโบราณคดี เรื่องวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมเลย

ก็เห็นว่าเป็นช่องว่างอันหนึ่งของเขา ก็ไปเจอพื้นที่ที่เป็นแหล่งเครื่องถ้วยชาม แหล่งเตาโบราณบ้านบ่อสวก สมัยนั้นขุดขายกันแหลกลาญ บางคนก็ซื้อที่ มีฝรั่ง มีญี่ปุ่น เข้าไปซื้อเป็นมหกรรมใหญ่มาก จนที่ดินที่อยู่นอกบ้านคนแหลกลาญไปหมด เพราะเขาไม่รู้ว่าเตาเป็นยังไง เพราะขุดเพื่อจะเอาเศษถ้วยเศษชามไปขาย

ผมก็ลงไปทำสิ่งที่เรียกว่าโบราณคดีชุมชน ผมเสนองานวิจัยโบราณคดีชุมชน คนที่ให้ทุนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ กรมศิลป์ไม่ยอมคุณแน่นอน ทางฝ่ายพัฒนาชุมชนก็บอกว่าไม่เคยทำ เป็นไปไม่ได้หรอก แต่ผมบอกว่ามันมีคำคำเดียวที่เราต้องทำให้ได้คือ “การมีส่วนร่วม” ที่จะต้องยอมรับสิทธิชาวบ้านและคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในวงการ

ก็เสี่ยงมาก เพราะทุนก็หาไม่ได้ พอดีอาจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์ ท่านมีทุนเกี่ยวกับการศึกษาเซรามิกด้านโบราณคดี แต่ท่านไม่มีคนทำ ท่านก็เลยให้ผมมา 1 แสนบาท ผมก็เอาทุนแสนหนึ่งนั้นลงไปทำด้วยกระบวนการโบราณคดีชุมชน คือให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการขุด หรือใครจะมาช่วยทำอะไรก็ได้

เผอิญโชคดีที่จังหวัดน่านมีภาคประชาสังคมเข้มแข็งมาช่วยผม เงินที่ผมได้มาแสนบาทก็ใช้ไปน้อยมาก เพราะมีกำลังจากหมอ พยาบาล ใครต่อใครมาช่วยกันขุด ขุดหลุมหนึ่ง 3-4 วันก็เสร็จ ซึ่งระหว่างขุดมันเกิดกระบวนการที่ทำให้ชาวบ้านเขารู้สึกว่ามันเป็นของเขา เพราะเราไปขุดในเขตบ้านเขา

สิ่งแรกที่ทำคือ ทำอย่างไรให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของ ก็เอาชื่อเจ้าของบ้านมาตั้งเป็นชื่อเตา ชื่อหลุม คนก็ตกใจว่าของส่วนรวมไปตั้งชื่อบุคคลได้ยังไง

จนกระทั่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปปี 2544 ท่านก็ถามว่าทำไมตั้งชื่อแบบนี้ ก็เล่าให้ท่านฟังว่า ต้องการให้เขาเป็นหน่วยกล้าตายในการที่จะดูแลโดยไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องมีค่าตอบแทน ซึ่งจริงๆ แล้วสมเด็จพระเทพฯ ท่านทำก่อนผมเสียอีกเรื่องโบราณคดีชุมชน

ตอนที่ท่านเสด็จ ท่านก็ถามว่ามาทำอะไร ก็กราบบังคมทูลท่านว่ามาทำโบราณคดีชุมชน ท่านก็บอกว่ากำลังทำอยู่ที่สมโบร์ไพรกุก (ประเทศกัมพูชา) ให้อาจารย์ไปอบรมชาวบ้าน ท่านทำมาก่อนผม 3 ปีแล้ว ท่านก็เลยสนใจและอยากมาดูว่าอาจารย์ทำอย่างไรให้ชาวบ้านมาทำด้วยได้ แล้วกรมศิลป์ก็ไม่ว่าด้วย

ผมโชคดี ผมมีเงินทุนน้อย แต่ผมมีแรงสนับสนุนทางสังคมสูง ระหว่างที่ขุดค้น หนังสือพิมพ์ สื่อ ก็มาสัมภาษณ์กันเต็มไปหมด ของก็ไม่ได้เจออะไรมากมาย ก็เจอเตาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ระหว่างนั้นเราก็ให้ความรู้ไปเรื่อยๆ

สิ่งสำคัญคือมีสื่อมามากมาย ทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุท้องถิ่น ผมก็ให้สัมภาษณ์แค่ครั้งสองครั้ง หลังจากนั้นพอจะมาสัมภาษณ์ผม ผมก็บอกให้ไปถามแม่อุ๊ยคนนั้น ไปถามพ่ออุ๊ยคนนี้ที่นั่งขุด ปรากฏว่าทุกคนได้ออกสื่อ ออกข่าว ออกวิทยุชุมชน คนแห่กันมาหลายพันคน เจ้าของบ้านก็เป็นคนรับแขก นำชม เล่าอะไรต่ออะไร ผมสบายไม่ต้องพูดอะไร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราทำให้เขามีตัวตน ทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของ แล้วทั้งหมู่บ้านมาช่วยกัน ทั้งที่มีเงินนิดเดียว

หลังจากนั้นพอขุดเสร็จ ทำหลังคามุงหญ้าแฝก ก็เปลี่ยนคอนเซปต์ เพราะส่วนใหญ่พอขุดเสร็จ เก็บข้อมูลเสร็จแล้ว นักโบราณคดีก็จะกลบเพราะกลัวถูกทำลาย ชาวบ้านก็จำได้แค่ว่าเคยมีคนมาขุด ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรต่อ เราก็ไม่กลบและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ไว้ให้คนมาเที่ยว เพราะตอนนั้นคนก็แห่กันมาดูเยอะ

2 เดือนหลังจากนั้น สมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จเพื่อจะมาดู ก็ตื่นกันทั้งจังหวัด เพราะว่าหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ห่างจากจังหวัด 8 กิโลเมตร แม้แต่นายอำเภอก็ยังไม่เคยมา 70-80 ปี นายอำเภอยังไม่เคยลงมาที่นี่ แต่วันนี้เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมา ถนนก็ต้องทำใหม่ งานพัฒนาเข้ามาเต็มไปหมด ก็ไม่ต้องไปโฆษณาอะไร เพราะสื่อออกทีวี คนก็แห่กันไป คนไปน่านต้องไปที่นี่ นั่นคืองานปีแรกที่ผมเริ่ม

ดึงทีมคนขุดขายมาเป็นนักอนุรักษ์

ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ

พอปี 2543 ผมก็ทำต่อ ขอทุนต่อ คราวนี้ได้ทุนเพิ่ม และได้รางวัลจากโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เขาก็เปิดให้เขียนขอทุน ผมก็เขียนไปขอ 4.5 แสนบาท ก็ได้มา 4.5 แสนบาท ก็เอาเงินลงไปทำงานกับชาวบ้านต่อ

ตรงนี้ทำให้หมู่บ้านข้างๆ เริ่มขยับ เพราะแหล่งเตาไม่ได้อยู่เฉพาะตรงนี้เท่านั้น มันกระจายไป 3-4 หมู่บ้าน เขาก็เริ่มไปค้นว่ามันยังเหลือตรงไหนอีกบ้าง ขณะเดียวกันก็ยังมีคนขุดขายอยู่ ซึ่งวิธีที่จะหยุดได้คือต้องทำอย่างไรที่จะจับหัวหน้าทีมคนขุดขายมาเป็นนักอนุรักษ์กับเรา ผมใช้เวลาอยู่ 4 ปี ตอนนี้ไม่มีการขุดขายแล้ว ก็จับมาซื้อพื้นที่หนึ่งซึ่งมีเตาเผาอยู่ แล้วเราไปช่วยขุดให้ และให้เขาทำพิพิธภัณฑ์ตรงนั้น

ท้ายที่สุดคำตอบอยู่ที่ “พิพิธภัณฑ์ชุมชุมชน” ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา เป็นเจ้าของ และรู้สึกเป็นของเขาด้วย คำว่าชุมชนตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมาบริหารจัดการ แต่ใครคนใดคนหนึ่งที่เสียสละเป็นคนดูแลตลอดก็ได้ เวลามีกิจกรรมใหญ่ๆ ก็มาช่วยกัน

ต่อมาผมก็เอานักศึกษาสังคมสงเคราะห์ไปฝึกงาน ซึ่งเขาต้องฝึกงานสงเคราะห์ชุมชน ผมก็ใช้กิจกรรมการอนุรักษ์ การทำพิพิธภัณฑ์ ให้เขาทำ “พิพิธภัณฑ์บริบาล”

ทำอยู่ 7 ปี เริ่มจากพัฒนาคนมาดูแลในครอบครัว แล้วก็ไปในระดับชุมชน และระดับหลายๆ ชุมชนมาช่วยกันดูแล ฉะนั้น จากแหล่งเตา ปีที่ 2 ก็เป็นเรื่องพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งทางประชาคมน่านก็หาทุนมาให้ 1.5 แสนบาท ให้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ คล้ายๆ อาคารแบบเรือนเก่า

ก็ให้นักศึกษาที่เป็นสถาปนิกที่เรียนพัฒนาชุมชนออกแบบ ไปศึกษาบ้านโน้นบ้านนี้แล้วมาออกแบบเป็นบ้านโบราณ พอออกแบบแล้วไปเอาช่างมา ช่างบอกว่า 1.5 ล้านบาท ชาวบ้านก็ถอดใจว่าอาจารย์เอาเงินไปคืนเขาเถอะ

แต่มันก็ยังควบรวมอยู่กับการพยายามที่จะหยุดการขุดเพื่อขายและพัฒนาแหล่งเตาด้วย ก็ยังทำต่อ เพราะว่าตัวขุดค้นที่ขุดไว้ 2 หลุม เจอเตาสมบูรณ์ ก็เปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้อง โดยได้วัสดุเก่าจากโรงพยาบาลน่าน หาวัสดุตามท้องถิ่น แล้วก็จ้างช่าง

เงินค่าจ้างช่างก็ได้เลขาบริษัทเอไอเอส เขาเป็นคนน่าน เขาไปดู แล้วก็ถามชาวบ้านว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเอไอเอสบ้าง ชาวบ้านก็บอกว่าให้มาถามผม ผมก็ถามช่างว่าต้องการอะไร เขาก็บอกว่าต้องการแค่ค่าแรงมุงหลังคา 3 หมื่นบาท ผมก็บอกเอไอเอสไป เขาก็มอบให้ 3 หมื่น เอาไปใช้แค่ 1.8 หมื่นบาท การมีส่วนร่วมมันมาหลายทิศหลายทาง ในสิ่งที่เราเปิดประเด็นขึ้นมา
ในส่วนการสร้างพิพิภัณฑ์ เมื่อ 1.5 แสนบาทเป็นไปไม่ได้ ผมก็ตั้งโจทย์กับนักศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้สร้างได้ไม่เกิน 2 แสนบาท เพราะผมมีเงินรางวัลอยู่ส่วนหนึ่ง ก็ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม

นักศึกษาที่ออกแบบไว้ก่อนเขาก็บอกว่าศึกษามาหมดแล้ว ผมบอกว่าใช่ แต่เป็นการศึกษาแบบไม่มีส่วนร่วม พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยไม่ได้รู้เรื่องอะไรกับคุณ คุณไปดูบ้านเขาแล้วคุณคิดเอง ก็ออกแบบใหม่โดยเชิญผู้เฒ่าเล่าความหลังเรื่องบ้านมาเล่าให้ฟัง เลี้ยงข้าวมื้อนึง นักศึกษาเป็นคนซักถาม แล้วก็ร่างออกมาคล้ายของเดิมที่เขาออกแบบไว้แล้ว

แต่สิ่งที่เราได้มาคือ ชาวบ้านทุกคนส่วนใหญ่มองเห็นว่าเขากำลังจะทำอะไร และบ้านเก่าของเขา ความรู้ของเขา สำคัญอย่างไร มีความหมายอะไร เราจะมาใส่ไว้ตรงนี้ เมื่อแบบเสร็จแล้วเขาพอใจ เราก็เห็นแล้วว่าวัสดุอยู่ที่ไหน อยู่ตามใต้ถุนบ้าน ตามท้องไร่ท้องนา

เพราะเราศึกษาแล้วว่าคนเหนือ คนล้านนา เมื่อรื้อบ้านแล้ว เขาจะไม่เอาวัสดุอะไรมาทำมาใช้เลย เขาบอกว่าบ้านเก่ามันครึ มันมีผีเก่าอยู่ มันไม่เป็นมงคล ฉะนั้นไม่ว่าจะเสาดีขนาดไหน ไม้ กระเบื้อง ทิ้งหมด แล้วก็ไม่มีใครซื้อ ซึ่งเรือนหลังนี้เราจะสร้างด้วยวัสดุเหล่านี้ แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านยอมรับ คนเฒ่าคนแก่ยอมรับ นี่คือกระบวนการทางวัฒนธรรม

ก็ถามพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ว่า เสาที่อยู่ใต้ถุนบ้าน ถ้าเอามาทำเรือนหลังนี้ได้ไหม เขาก็อึ้งกันอยู่สักพัก ก่อนจะถามว่ามีคนอยู่ไหม มีคนมานอนไหม ก็บอกว่าไม่มี เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ทำความเข้าใจกันว่าพิพิธภัณฑ์คืออะไร เขาก็บอกว่าได้ ถ้าไม่มีคนอยู่ ไม่มีคนนอน เป็นบ้านพิพิธภัณฑ์ เอาวัสดุเหล่านี้มาใช้ได้ ก็ปลดล็อกเรื่องจะต้องมีเงินอีกกี่แสนไปซื้อไม้ เสา กระเบื้อง

พอประชุมเสร็จ กินข้าวเสร็จ ก็เดินกันไปตามบ้านขอเสา ขอกระเบื้อง บ้านแรกๆ เราก็ได้ฟรี พอไปหมู่บ้านข้างๆ เขาก็ขอขาย 200 บาท 150 บาท ฉะนั้น 2-3 วันเราก็ได้เสามาครบ 24 ต้น หมดเงินไปพันกว่าบาท ได้กระเบื้องเก่ามา 5 พันกว่าตัว แล้วเอาปูนมากวนน้ำ และเอากระเบื้องชุบลงไป แล้วตากแดด ก็เป็นกระเบื้องใหม่ บอกให้ช่างทำอย่างนี้ ปรากฏว่าใช้เงินไม่ถึง 5 พันบาท ได้กระเบื้อง 5 พันตัวใหม่เอี่ยม ไม่ต้องซื้อใหม่ สุดท้ายก็ใช้เงินไปประมาณ 1.8 แสนบาทเท่านั้นเอง

สร้างเสร็จปี 2544 ยังไม่ทันคิดว่าจะเปิดยังไง สมเด็จพระเทพฯ ส่งหมายกำหนดการมาว่าจะเสด็จ สมเด็จพระเทพฯ มาเปิดให้ กระบวนการพอมาถึงตรงนี้ ผมดังเลยในจังหวัดน่าน ชาวบ้านก็มาให้ผมไปช่วยดูว่าจะทำอย่างนี้

บวชดอยภูซาง อนุรักษ์เทือกเขาขวานหิน

ศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักวิชาการอิสระ

เราก็เห็นว่าความสนใจของคนเยอะขึ้นแล้ว เราจะขยายไปสู่แหล่งโบราณคดีที่ใหญ่กว่านี้อีกได้ยังไง ซึ่งใกล้ๆ กันมีเทือกเขาที่มีขวานหิน 12 ตารางกิโลเมตร วันดีคืนดีก็ไปเจอแหล่งใหม่ที่ดอยภูซาง

ก็ใช้ดอยภูซางเป็นจุดขับเคลื่อนหน่วยปฏิบัติจัดการระดับหลายชุมชน ระหว่างนั้นมีอีกหมู่บ้านหนึ่งทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนรวมทั้งหมู่บ้าน เราก็เลยมีหน่วยจัดการ 3 ระดับ คือ ระดับครอบครัว ระดับชุมชนเดียว และหลายๆ ชุมชนมาช่วยกัน

บัดนี้ก็ยังไม่ได้มีการจัดการอะไรต่อ หมื่นกว่าไร่ 12 ตารางกิโลเมตร ปีนั้นเราบอกว่าจะอนุรักษ์ จะอนุรักษ์กันยังไง เพราะชาวบ้านก็ใช้เป็นที่เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย แล้วก็มีคนเข้าไปเก็บขวานหินไปขาย

ก็เลยจัดกิจกรรม ให้นักศึกษาลงไปจัดกิจรรมมากมายใน 2 หมู่บ้าน โดยจัดกิจกรรมให้ชุมชนศึกษาตัวเอง และท้ายที่สุดก็มาลงเอยที่ว่า พื้นที่เหยียบกันอยู่คืออะไร เขาก็บอกว่าขี้กากหิน เราก็เติมว่ามันคืออะไร มันสำคัญอย่างไร จะอนุรักษ์กันยังไง ก็ตื่นกันใหญ่ พิพิธภัณฑ์ชุมชนก็เกิดขึ้นอีก 2 แห่ง

แต่ว่าพื้นที่ใหญ่ๆ จะทำยังไง ท้ายสุดก็ทำให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็บวชดอย เอาแค่ผ้าสามผืน ปักยอดดอย กลางดอย ตีนดอย แล้วก็ประชาสัมพันธ์ ระดมคนมาทำพิธีเหมือนบวชคน คนก็มาทั้งจังหวัด จัด 2 วัน 2 คืน นอนค้างกันบนดอย ปัจจุบันที่ตรงนี้ก็ยังมีกิจกรรมบวชดอยทุกปี ซึ่ง อพท. ก็ลงไปสนับสนุน

ตรงนั้นเราก็ได้องค์ความรู้เรื่องโบราณคดี หลังจากนั้นงบประมาณก็เข้าไป 30 กว่าล้าน ถึงบัดนี้งบประมาณพัฒนาต่างๆ มันลงไป ทั้งท่องเที่ยว ทั้งจังหวัด ทั้งซีอีโอ ลงไปถึง 200 ล้าน ในพื้นที่นั้น

แต่ว่าการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ การจัดการพื้นที่ การใช้ประโยชน์ยังไม่คุ้ม แหล่งโบราณคดีตอนนี้ที่เป็นแหล่งขวานหิน กำลังเริ่มถูกรุกด้วยรีสอร์ท เขาก็โฆษณาว่ามาดูขวานหินได้ อันนี้น่าเป็นห่วงมาก

คือพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่ทำในหมู่บ้าน ทำเพื่อให้เขาเห็นว่าของเก่ามันมีประโยชน์ยังไง จัดกระบวนการให้ชาวบ้านเห็นว่ากระบุงก้นพุๆ สำคัญยังไง ก็ให้นักศึกษาไปขับเคลื่อน ไปจัดกิจกรรม ไปเอาของเก่ามาหนึ่งชิ้นมาที่วัด แล้วไปชวนพออุ๊ยแม่อุ๊ยมาเล่าเรื่องของเก่า แล้วก็จดบันทึกไว้

ท้ายที่สุดก็บอกว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ ทุกคนทำ ไม่ใช้เงินสักบาทเดียว ผมทำอยู่ 7 ปี ก็เกิดในระดับหนึ่ง พอปีสุดท้ายสมเด็จพระเทพฯ เสด็จอีกครั้งหนึ่งที่ดอยภูซาง

ตอนบวชดอยให้เขาประกาศไว้แล้วว่าจะอนุรักษ์พื้นที่นี้เพื่อถวายสมเด็จพระเทพฯ ปรากฏว่าชาวบ้านที่เป็นผู้นำ คนเฒ่า คนแก่ มากอดผมเลย ไม่เคยคิดเลยว่าที่อาจารย์พูดจะเป็นจริง

ฉะนั้นเราโชคดีหลายชั้น เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินสนพระทัยเรื่องนี้ แล้วลงไปคลุกกับชาวบ้านด้วย ลงไปดูสิ่งที่ชาวบ้านทำ

ฉะนั้นกลไกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้ปัญหาเรื่องนี้มันลดไปได้คือ ทำให้คนในท้องถิ่นเขารู้สึกว่า อย่ามายุงอะไรกับเรื่องนี้ ฉันรักษาของฉันไว้ และฉันมีเป้าหมายทำถวายพระเทพฯ

คนยูเนสโกเคยมาถามผมตอนอยู่น่านว่าทำอย่างไรมันถึงเกิดขึ้นได้ ผมก็บอกว่ามันมี 2 อย่างที่คุณไม่มี คือ คุณไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และคุณไม่มีท่านพุทธทาส เพราะผมใช้หลักธรรมท่านพุทธทาสไปทำงานด้วย นี่คือสิ่งที่แตกต่าง

อีกอันหนึ่งก็คือ ผมทำงานด้วยการไม่มีอำนาจ ไม่มีทุนมากมาย แต่เรามีใจ ไม่เคยมีการจัดประชุมเป็นเวที ไม่เคยไปจัดในโรงแรม คุยกันตรงไหนก็ได้ ที่หมู่บ้าน ที่ใกล้ต้นไม้ มันก็ง่าย

ท้ายที่สุดเรามาเจอคำว่า Simplification ทำให้มันง่าย อย่าไปทำให้มันยาก อย่าไปใช้ภาษาอะไรที่มันยาก เวลาขุดค้น เชือกก็ไม่ขึง แต่เชือกอยู่ในหัวเรา หลุม กริช อยู่ในหัวเรา ภาษาโบราณคดีมันอยู่ในหัวเรา เราเป็นคนบันทึก แต่เวลาขุดก็อย่าให้มันแตก ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโบราณคดีชุมชนที่พื้นที่อื่นๆ เขาอยากจะทำบ้าง

[อ่านต่อตอนที่ 3 เวทีปัญญาสาธารณะ : Heritage Industry-เศรษฐกิจคิดใหม่ ประยุกต์ทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดธุรกิจให้เป็น (ตอนที่3)]