ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางพ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ส่งออก-นำเข้า-คลังสินค้า-ชิปปิ้ง ปรับตัวอย่างไร เมื่อ กฎหมายใหม่บังคับใช้ 13 พ.ย.นี้

กางพ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ส่งออก-นำเข้า-คลังสินค้า-ชิปปิ้ง ปรับตัวอย่างไร เมื่อ กฎหมายใหม่บังคับใช้ 13 พ.ย.นี้

30 ตุลาคม 2017


10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการจำนวนมาก ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จ่ายค่าปรับ 2-4 เท่าของมูลค่าสินค้าหรือค่าภาษีที่ยังจ่ายไม่ครบถ้วนให้กรมศุลกากร คิดเป็นมูลค่า 31,432 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นำมาจัดสรรให้ผู้แจ้งเบาะแส (สายสืบ) 3,939 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม (ศุลกากร, ตำรวจ, ดีเอสไอ) 4,576 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 22,918 ล้านบาท

ต่อมา กลุ่มผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ทำหนังสือร้องเรียนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยส่งถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอให้รัฐบาลแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขระเบียบการจ่ายเงินสินบน-รางวัล เพื่อลดแรงจูงใจเจ้าหน้าที่ศุลกากร รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่มีความคลุมเครือ เปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจ กระทรวงการคลังใช้เวลายกร่างกฎหมาย 2 ปี เสนอคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบหลักการ แต่ยังไม่ทันได้เสนอที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำร่างกฎหมายดังกล่าวนี้เข้าที่ประชุม ครม. ถึง 3 ครั้ง ยังไม่ทันได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาอีก

จนกระทั่งมาถึงยุค คสช. รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง และผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ครั้งแรกวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานถ้อยคำเสร็จเรียบร้อย ก็ส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นวาระเร่งด่วนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ใช้เวลาในการพิจารณา 157 วัน ที่ประชุม สนช. วาระ 3 ก็มีมติผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน

นับถอยหลังอีก 2 สัปดาห์ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่ภาคเอกชนรอคอยมานานเกือบ 6 ปี กำลังจะมีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ แตกต่างจาก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469(ฉบับเดิม) ประเด็นไหน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร และชิปปิ้ง เตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไร

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงที่มาและเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายศุลกากรว่า สืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานาน มีการแก้ไขเพิ่มเติมกันหลายครั้ง สถานการณ์การค้าของโลกมีการพัฒนาและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายศุลกากรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อำนวยความสะดวกทางการค้า และสร้างความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากร

ประเด็นหลักๆ ที่มีการแก้ไขปรับปรุงคือเรื่องการปรับลดเงินสินบน-รางวัลนำจับ กฎหมายเดิมกำหนดให้จ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับไว้ที่อัตรา 55% ของเงินค่าขายของกลางหรือเงินค่าปรับ กฎหมายฉบับใหม่ปรับลดเหลือ 40% รวมทั้งกำหนดเพดานในการจ่ายเงินสินบน-รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสและเจ้าหน้าที่เอาไว้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาท ยกตัวอย่าง กรณีลักลอบนำเข้าสินค้าหรือหลีกเลี่ยงอากร กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแส 30% ของเงินค่าขายของกลางหรือเงินค่าปรับ กฎหมายใหม่ปรับลดเหลือ 20% ส่วนการจ่ายเงินรางวัลให้เจ้าหน้าที่เดิมจ่าย 25% ของเงินค่าขายของกลางหรือเงินค่าปรับ กฎหมายใหม่ปรับลดเหลือ 20% และจ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 5 บาทต่อคดี ส่วนกรณีตรวจพบผู้ประกอบการชำระอากรไม่ครบ (อากรขาด) แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถติดตามเรียกเก็บภาษีส่วนที่ขาดกลับคืนมาได้ กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ในอัตรา 10% ของเงินค่าภาษีที่เรียกเก็บได้เพิ่มเติม แต่กำหนดเพดานการจ่ายเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อการตรวจพบ

“ที่ผ่านมามีคดีความหรือข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่ค้างอยู่ที่สำนักกฎหมายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาข้อพิพาทต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว กฎหมายศุลกากรฉบับใหม่จึงกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต้องพิจารณาคำร้องให้เสร็จเสร็จภายใน 180 วัน หากมีเหตุผลความจำเป็นสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 90 วัน” นายกุลิศกล่าว

ส่วนกรณีที่มีความผิดฐานลักลอบหรือหลีกเลี่ยงอากรนั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องทำคดีให้เสร็จหรือหาข้อยุติให้ได้ภายใน 3 ปี หากยังหาข้อยุติไม่ได้ให้ขยายเวลาได้อีก 2 ปี และที่สำคัญ ต่อไปนี้อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะใช้อำนาจเรียกเอกสารจากผู้ประกอบการมาตรวจสอบโดยไม่มีเหตุอันควรสงสัยไม่ได้เหมือนในอดีต หากจะจับเขาก็ต้องมีหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานก็จับไม่ได้ เพราะมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่หาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ ในส่วนนี้ถูกตัดออกไปทั้งหมดแล้ว

นายกุลิศกล่าวต่อว่าในกฎหมายใหม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถเข้าตรวจค้นในที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องขออนุมัติศาลออกหมายค้น แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องแสดงบัตรพิเศษที่ได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลกากรเท่านั้น ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะมีอำนาจจับกุมผู้ที่ซื้อสินค้าผิดกฎหมาย เช่น สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ สินค้าห้ามนำเข้า จับเฉพาะพ่อค้าที่ไปรับสินค้าประเภทนี้มาขาย ไม่ได้จับผู้บริโภค ส่วนการพิจารณาโทษปรับนั้น กฎหมายฉบับเดิม ผู้การกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่าสถานเดียว แต่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดโทษปรับ 0.5-4 เท่า ทั้งนี้การพิจารณาความหนัก-เบาของโทษปรับนั้น กฎหมายใหม่ให้ดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ซึ่งตนกำลังเร่งยกร่างระเบียบและหลักเกณฑ์การพิจารณาโทษปรับที่มีความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ขณะนี้คณะทำงานทั้ง 10 ชุดได้ยกร่างกฎหมายในระดับอนุบัญญัติศุลกากร เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศกรมศุลกากร เสร็จเรียบร้อย พร้อมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

ส่วนกรณีขนสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่ 3 หรือ สินค้าถ่ายลำ นายกุลิศกล่าวว่า กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องนำสินค้าออกจากราชอาณาจักรไทยภายใน 90 วัน ส่วนกฎหมายใหม่กำหนดให้ต้องนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรไทยภายใน 30 วัน หากไม่นำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดระยะเวลา ถือเป็นการนำเข้าสินค้า ต้องเสียภาษีหรือตกเป็นของแผ่นดิน รวมทั้งสินค้าที่ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งยึด-อายัด ผู้ประกอบการต้องเร่งนำสินค้าออกจากด่านศุลกากรให้เสร็จภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลาจะถูกยึดและนำมาขายทอดตลาด

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ หลังจากที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นใบขนสินค้า จัดส่งเอกสารที่ใช้ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากร และชำระค่าอากรผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ต่อไปนี้ผู้ประกอบการไม่ต้องยื่นเอกสารที่กรมศุลกากร รวมทั้งการขอคืนค่าอากร ตามมาตรา 19 ทวิ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอคืนอากรได้ที่ด่านศุลกากรทุกทั่วประเทศ จากเดิมขอคืนอากรได้เฉพาะด่านศุลกากรที่ส่งออก ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการไม่แน่ใจเรื่องการกำหนดราคา ถิ่นกำเนิดสินค้า ควรจัดอยู่ในพิกัดใด สามารถยื่นคำร้องขอให้กรมศุลกากรออกคำวินิจฉัยล่วงหน้าก่อนนำเข้าได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในอัตราเดิม คือ ฉบับละ 2,000 บาท สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 เป็นอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ส่วนใหญ่ยังคงเก็บในอัตราเดิม

ส่วนผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน, โรงพักสินค้า, ที่มั่นคง (สถานที่ที่ใช้เก็บสินค้าที่ยังไม่ได้ชำระภาษี) และท่าเรือ นายกุลิศกล่าวว่า เดิมไม่มีใบอนุญาต แต่หลังจากกฎหมายใหม่มีผลบังคับ ผู้ประกอบการประเภทนี้ต้องมายื่นคำร้องขอใบอนุญาตจากอธิบดีกรมศุลกากร หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนดก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต รวมทั้งตัวแทนออกของ หรือ “ชิปปิ้ง” ด้วย ที่ผ่านมากรมศุลกากรปล่อยให้ภาคเอกชนควบคุมกันเอง เช่น สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการชิปปิ้งทุกรายต้องมาจดทะเบียนกับกรมศุลกากร โดยกรมศุลกากรจะออกระเบียบจริยธรรมทางวิชาชีพมากำกับดูแล หากผู้ประกอบการชิปปิ้งมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือกระทำความผิด ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตและส่งรายชื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ห้ามจดทะเบียนใหม่

ด้านนางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร กล่าวถึงประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่มีผลบังคับ ตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ประเด็นแรก ตามมาตรา 258 ระบุว่า ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรตามมาตรา 2 ทวิ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอากรชุดใหม่ภายใน 180 วันนับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับ แต่อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 258 นี้ไม่รวมถึงคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 112 สัตต ทันทีที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชุดนี้ต้องสิ้นสุดลง

ประเด็นที่ 2 สำหรับผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บน, ที่มั่นคง, เขตปลอดอากร, ทําเนียบท่าเรือ, คลังสินค้า และโรงพักสินค้า ที่ดำเนินกิจการอยู่ก่อนวันที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินกิจการต่อไป หากไม่ได้ประกอบกิจการถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล เป็นอันตกไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบกิจการประเภทนี้ต้องมาขอใบอนุญาตจากกรมศุลกากร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

ประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องสินค้าผ่านแดนและสินค้าถ่ายลำ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 260 ระบุว่า ไม่ให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 102 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาบังคับใช้กับกรณีที่มีการทำความตกลงระหว่างประเทศไปแล้ว (Agreement) กล่าวคือ มาตรา 102 และ 103 กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการต้องนำสินค้าผ่านแดนออกจากราชอาณาจักรไทยภายใน 30 วัน หากไม่นำสินค้าออกตามกำหนดเวลา สินค้านั้นตกเป็นของแผ่นดิน ขณะที่ความตกลงระหว่างประเทศ กำหนดให้นำสินค้าออกจากราชอาณาจักรไทย 90 วัน ดังนั้น ในบทเฉพาะกาล มาตรา 260 จึงต้องกำหนดข้อยกเว้น โดยให้ผู้ประกอบกิจการกลุ่มนี้ต้องนำสินค้าออกจากราชอาณาจักรไทยภายใน 90 วันเหมือนเดิม ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยได้ทำความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันไปแล้ว

ประเด็นที่ 4 เรื่องสินบน-รางวัล บทเฉพาะกาล มาตรา 261 กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบน-รางวัลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 102 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 สำหรับการกระทำความผิดที่ตรวจพบก่อน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ (จ่ายสินบน-รางวัล 55%) ตรงนี้หมายความว่า หากกรมศุลกากรตรวจพบผู้ประกอบการกระทำความผิดก่อนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 คดีสิ้นสุด ให้จัดสรรเงินสินบน-รางวัลตามสัดส่วนที่กำหนดในกฎหมายฉบับเดิม แต่ถ้าตรวจพบการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ให้จ่ายเงินสินบน-รางวัลตามที่กฎหมายใหม่กำหนด (40%)

ประเด็นสุดท้าย บทเฉพาะกาล มาตรา 262 ระบุว่า บรรดากฎหมายอนุบัญญัติ ตั้งแต่พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคําสั่งที่ออกโดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ให้บังคับใช้ต่อไป แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 หากขัดแย้งกับกฎหมายฉบับใหม่ ระเบียบนั้นนำมาใช้บังคับไม่ได้