ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 17 ปีสินบนรางวัลกรมศุลฯ “เจ้าหน้าที่-สายสืบ” รับเงิน 15,181 ล้านบาท – อธิบดีระบุสังคายนา กม. ใหม่ เกลี่ยความเหลื่อมล้ำ

17 ปีสินบนรางวัลกรมศุลฯ “เจ้าหน้าที่-สายสืบ” รับเงิน 15,181 ล้านบาท – อธิบดีระบุสังคายนา กม. ใหม่ เกลี่ยความเหลื่อมล้ำ

15 กุมภาพันธ์ 2016


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ยื่นแบบคำขอข้อมูลสถิติการจ่ายเงินสินบนและรางวัลเจ้าหน้าที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาต่อกรมศุลกากร โดยขอให้จำแนกตามประเภทคดี อาทิ คดีลักลอบขนสินค้าหนีภาษี และคดีหลบเลี่ยงภาษี สำแดงราคา อัตราภาษี เป็นเท็จ พร้อมกับระเบียบในการจัดสรรเงินสินบนรางวัลให้กับผู้แจ้งเบาะแสและเจ้าหน้าที่

ล่าสุด เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร แจ้งให้มารับข้อมูลสถิติการจ่ายเงินสินบนรางวัล โดยเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายชี้แจงว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรไม่ได้จัดเก็บข้อมูลสถิติการจ่ายเงินสินบนและรางวัลแยกตามประเภทคดี (คดีลักลอบและคดีหลีกเลี่ยง) แต่จัดเก็บข้อมูลการจ่ายเงินสินบนรางวัลจำแนกตามประเภทของผู้รับเงิน คือ ผู้แจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับเงินรางวัลนั้น กรมศุลกากรก็ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลจำแนกประเภทว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหรือตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเงินรางวัลนำจับจากกรมศุลกากรเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ โดยเป็นข้อมูลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2558

Print

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2542-2558) มีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 กรณีลักลอบนำเข้าสินค้า ถูกยึดของกลางขายทอดตลาด และกรณีหลบเลี่ยงภาษีต้องจ่ายค่าปรับ 2-4 ของมูลค่าสินค้า รวมกันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 31,432 ล้านบาท กรมศุลกากรนำเงินจำนวนนี้มาจัดสรรจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลทั้งสิ้น 8,514 ล้านบาท โดยจ่ายให้ผู้แจ้งเบาะแส (สายสืบ) 3,939 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม (ศุลกากร, ตำรวจ, ดีเอสไอ) 4,576 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 22,918 ล้านบาท

สำหรับปีที่มีการจ่ายเงินสินบนรางวัลมากที่สุด 5 อันดับมีดังนี้

อันดับ 1 ปีงบประมาณประมาณ 2553 กรมศุลกากรจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 1,834 ล้านบาท โดยจ่ายเงินสินบนให้ผู้แจ้งเบาะแส หรือ “สายสืบ” 935 ล้านบาท และจ่ายให้เจ้าหน้าที่ 898 ล้านบาท ถือว่าเป็นปีที่กรมศุลกากรจ่ายเงินสินบนรางวัลมากที่สุดในประวัติการณ์ และยังเป็นปีที่มีการจ่ายเงินสินบนให้สายสืบมากที่สุดในรอบ 10 ปีด้วย

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ยอดการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลในปีงบประมาณ 2553 มีจำนวนมากที่สุด เนื่องจากในปีนั้นมีผู้นำเข้ารายใหญ่ที่กระทำความผิดฐานสำแดงเท็จลงนามยอมรับความผิดต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ กรมศุลกากร และจ่ายเงินค่าปรับ 2 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมค่าอากร เช่น คดีนำเข้าเหล็กฉาบซิลิกอน คดีนี้มีผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายยอมจ่ายเงินค่าปรับและค่าอากรให้กับกรมศุลกากรเฉพาะในปีงบประมาณ 2553 ประมาณ 1,000 ล้านบาท และยังมีคดีนำเข้าอะไหล่รถยนต์ โดยคดีมีผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งใช้สิทธิข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด จึงถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังพร้อมค่าปรับอีก 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมค่าอากร ต่อสู้คดีกันมานาน ในที่สุดยอมจ่ายค่าปรับให้กับคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ 2 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมอากร คิดเป็นเงิน 880 ล้านบาท

อันดับ 2 ปีงบประมาณ 2558 มียอมรวมการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 958 ล้านบาท จัดสรรเป็นเงินสินบนให้สายสืบ 448 ล้านบาท เป็นเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ 509 ล้านบาท

อันดับ 3 ปีงบประมาณ 2557 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 900 ล้านบาท จ่ายให้สายสืบ 458 ล้านบาท จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ 442 ล้านบาท

อันดับ 4 ปีงบประมาณ 2554 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 851 ล้านบาท จ่ายให้สายสืบ 394 ล้านบาท จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ 457 ล้านบาท

อันดับ 5 ปีงบประมาณ 2556 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 766 ล้านบาท จ่ายให้สายสืบ 361 ล้านบาท จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ 405 ล้านบาท

Print

หากนำสถิติการจ่ายเงินสินบนรางวัลล่าสุดที่ได้รับจากกรมศุลกากรมารวมกับฐานข้อมูลเดิมที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเคยรวบรวมไว้ พบว่าในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542-2558) กรมศุลกากรจ่ายเงินสินบนรางวัลให้สายสืบและเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 15,181 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2553 เป็นปีที่มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลมากที่สุดในรอบ 17 ปี อันดับ 2 ปีงบประมาณ 2548 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 1,101 ล้านบาท อันดับ 3 ปีงบประมาณ 2547 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท อันดับ 4 ปีงบประมาณ 2546 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 1,062 ล้านบาท และอันดับ 5 ปีงบประมาณ 2545 มีการเบิกจ่ายเงินสินบนรางวัลทั้งสิ้น 1,056 ล้านบาท

ต่อเรื่องนี้นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้เคยกล่าวก่อนหน้านี้โดยยืนยันว่า ยังคงเดินหน้าแก้ไขร่างพระราชบัญญัติศุลกากร 2469 ซึ่งมีผลบังคับใช้มานานกว่า 90 ปี ถึงเวลาถูกสังคายนาครั้งใหญ่ หลังจากร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษที่มีนายพนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด และนางพรทิพย์ จาละ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขและตรวจทานถ้อยคำร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ทั้ง 300 มาตรา โดยจัดหมวดหมู่ตามบทบาทและภารกิจใหม่ของกรมศุลกากร อาทิ เรื่องอำนวยความสะดวกทางการค้า หมวดการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ หมวดของการปกป้องสังคม รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสินบนรางวัลใหม่อย่างบูรณาการ

“ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามด่านศุลกากรไม่อยากมานั่งในตำแหน่งวิชาการ เพราะไม่ได้อะไร เนื่องจากไม่ใช่งานหลักของกรมศุลกากร อยากไปประจำการที่ด่านศุลกากรมากกว่า ในอนาคตหากมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเสร็จเรียบร้อย เรื่องการจ่ายเงินสินบนรางวัลจะไม่มีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของเจ้าหน้าที่อีกต่อไป” นายกุลิศกล่าว

สินบน เงินรางวัล

สินบน เงินรางวัล2

อนึ่ง การแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสินบนรางวัลตามที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่มีสาระสำคัญดังนี้ 1. ปรับลดอัตราการจ่ายเงินรางวัลที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม เดิมจ่าย 25% ของเงินรายได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับ ปรับลดเหลือ 15% และกำหนดเพดานในการจ่ายเงินรางวัลไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อคดี ส่วนเงินสินบนที่จ่ายให้สายลับที่แจ้งความนำจับให้จ่ายในอัตราเดิมที่ 30% แต่จ่ายเงินสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคดี

2. ปรับปรุงบทลงโทษตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 โดยพิจารณาโทษตามเจตนาของการกระทำความผิด แบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1) ความผิดฐานลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง 2) ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร และ 3) ความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด (สินค้าที่อยู่ในการควบคุมและกำกับดูแลของหน่วยงาน 90 แห่ง)

ตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนรางวัล 2517 มอบอำนาจให้อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดโดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ดังนี้

1. กำหนดให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบการกระทำความผิด 1 ใน 3 ของเงินรางวัล หากมีเจ้าหน้าที่ที่ตรวจพบการกระทำความผิดหลายคน ระเบียบฉบับนี้กำหนดให้แบ่งจ่ายคนละเท่าๆ กัน

2. เงินรางวัลส่วนที่เหลือ 2 ใน 3 นำมาจัดสรรให้กับผู้สั่งการให้จับกุม ผู้จับกุม ผู้ร่วมจับกุม ผู้ตรวจพบการกระทำความผิด ผู้ร่วมวางแผนหรือร่วมดำเนินการก่อนการจับกุม ผู้ดำเนินการภายหลังการจับกุมอันเป็นประโยชน์ช่วยการจับกุมเป็นผลสำเร็จ และผู้ที่ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่แต่ได้ช่วยเหลือให้การจับกุมหรือการตรวจพบการกระทำความผิดเป็นผลสำเร็จ ซึ่งการจัดสรรเงินรางวัลในส่วนนี้ประกอบไปด้วยอธิบดี 12 ส่วน, รองอธิบดีคนละ 11 ส่วน, ผู้อำนวยการสำนักคนละ 10 ส่วน, หัวหน้าส่วนซี 7 และ 8 ได้คนละ 9 ส่วน, ซี 7 และซี 8 ที่ไม่ใช่หัวหน้าส่วนได้คนละ 8 ส่วน, ซี 5 ซี 6 คนละ 7 ส่วน, ซี 3 ซี 4 ได้คนละ 6 ส่วน, ซี 2 ได้คนละ 5 ส่วน, ซี 3 ได้คนละ 4 ส่วน, ซี 1 ได้คนละ 3 ส่วน และผู้ช่วยเหลือไม่ได้จับกุมโดยตรงได้คนละ 1 ส่วน ลดหลั่นกันมาตามลำดับ

อ่านเพิ่มเติม: ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่