ThaiPublica > คนในข่าว > ปมเด้ง “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผอ. ขสมก. ข้อตกลงคุณธรรม “Integrity Pact” บกพร่อง

ปมเด้ง “สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล” ผอ. ขสมก. ข้อตกลงคุณธรรม “Integrity Pact” บกพร่อง

30 มีนาคม 2017


พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

1 ปี 19 วัน นับจากวันที่นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผ่านการสรรหาและเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 จนถึงวันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งย้ายนายสุระชัยไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ที่ประชุมบอร์ด ขสมก. นัดพิเศษ ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้งนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่รักษาการ ผู้อำนวยการ ขสมก. แทนนายสุระชัย

1 ปีที่ผ่านมา นายสุระชัยมีภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญคือการฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่มีปัญหาขาดทุนสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท และหนึ่งในแผนงานที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ คือ โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน เพื่อทดแทนรถเมล์เก่าที่มีสภาพทรุดโทรม ซึ่งจะทำให้ ขสมก. มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี ก่อนที่นายสุระชัยเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการการ ขสมก. วันที่ 20 มกราคม 2558 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้นำระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 489 คัน เป็นโครงการนำร่อง ขสมก. จัดประกวดราคาทั้งหมด 4 ครั้ง ล้มประมูลไป 2 ครั้ง

แต่หลังจากที่นายสุระชัยเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. ก็เริ่มจัดประกวดราคาอีก 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 ยังไม่ประสบความสำเร็จ พอครั้งที่ 4 ได้กลุ่มบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล เสนอมาต่ำที่สุดที่ 3,389 ล้านบาท คณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ตามข้อตกลงคุณธรรม จัดทำรายงานถึง ขสมก.ว่าการประกวดราคาครั้งนี้ โปร่งใส

วันที่ 30 กันยายน 2559 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน พร้อมระบบซ่อมบำรุง กับนายคณิสสร์ ศรีวชิระปะภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด

วันที่ 30 กันยายน 2559 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน พร้อมระบบซ่อมบำรุง กับนายคณิสสร์ ศรีวชิระปะภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด โดยมีกำหนดส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมดให้ ขสมก. ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559 นั่นหมายถึงผู้ประมูลได้มีเวลาในการจัดเตรียมส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันภายในเวลา 3 เดือนเท่านั้น

ขณะที่กำลังจะนำรถเมล์เอ็นจีวีมาส่งมอบให้ ขสมก. ตามสัญญา ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2559 บริษัท ซุปเปอร์ซ่าร่า จำกัด ผู้นำเข้าของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ถูกกรมศุลกากรแจ้งข้อกล่าวหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ (Form D) เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบหลักฐานที่อาจยืนยันได้ว่ารถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน ไม่ได้ประกอบที่มาเลเซียตามที่ระบุใน Form D แต่เป็นรถเมล์ที่ผลิตจากประเทศจีน จึงทำการอายัดรถเมล์ลอตนี้ไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หากบริษัทซุปเปอร์ซ่าร่าจะนำรถเมล์ออกจากอารักขากรมศุลกากร ต้องจ่ายภาษีและค่าปรับ 370 ล้านบาท

การที่กรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาบริษัทซุปเปอร์ซาร่าสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จครั้งนี้ ส่งผลทำให้ ขสมก. ไม่สามารถตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีที่บริษัทเบสท์รินฯ กำลังจะนำมาส่งมอบได้ เพราะในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ระบุว่า กลุ่มบริษัทเบสท์รินฯ ต้องนำรถเมล์เอ็นจีวีผลิตที่จีน ประกอบที่มาเลเซีย มาส่งมอบเท่านั้น ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ความเห็นว่า กระบวนการตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวี ขสมก. ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา

วันที่ 16 ธันวาคม 2559 นายสุระชัยจึงทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุด 2 ข้อ คือ 1. หากบริษัทเบสท์รินฯ วางเงินประกันให้กรมศุลกากรเพื่อปล่อยรถที่อายัด ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบแหล่งผลิต ขสมก. สามารถตรวจรับรถได้หรือไม่ 2. การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน TOR กำหนดคุณลักษณะของรถเมล์เอ็นจีวีเอาไว้กว้าง กล่าวคือ เป็นรถสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน หรือ เป็นรถที่ประกอบในประเทศไทยก็ได้ แต่เงื่อนไขในสัญญาข้อที่ 2 ระบุว่าต้องเป็นรถเมล์เอ็นจีวี ผลิตในประเทศจีน ประกอบในมาเลเซีย ถือว่าข้อความที่มีความขัดแย้งกันเป็นสาระสำคัญของสัญญาหรือไม่ และ ขสมก. สามารถตรวจรับรถเมล์ได้หรือไม่

หลังจากนายสุระชัยทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุดไปแล้ว ปรากฏว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่าเปลี่ยนวิธีการนำรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลือ 389 คัน ผ่านพิธีการศุลกากรใหม่ เพื่อนำมาส่งมอบให้ ขสมก. ครั้งนี้บริษัทซุปเปอร์ซาร่าไม่ได้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นรถประกอบมาเลเซีย และยอมจ่ายค่าภาษีในอัตรา 40% ของมูลค่า (อัตราทั่วไป) แต่ขอสงวนสิทธินำหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาขอคืนภาษีภายหลัง ช่วงนี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว “จับตา ขสมก. ส่งอัยการตีความคนละลอตสินค้าที่จะรับมอบ” นายสุระชัยให้สัมภาษณ์ “ไทยพับลิก้า” ยืนยันว่าไม่ได้ทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุดแค่ 100 คัน แต่สอบถามครอบคลุมไปทั้งหมด 489 คัน นอกจากนี้ ระหว่างให้สัมภาษณ์ นายสุระชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า “ช่วยหาหลักฐานใบขนสินค้าที่บันทึกหมายเหตุ (Remark) เป็นรถเมล์มีถิ่นกำเนิดประเทศจีนมายืนยัน ถ้าหาได้จะกราบขอบคุณ” (ฟังเสียงhttps://goo.gl/q2OQNj)

วันที่ 11 มกราคม 2560 บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ติดต่อด่านศุลกากร ขอนำรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลือ 389 คัน ผ่านพิธีการศุลกากร โดยไม่ยื่น Form D ระหว่างนำรถเมล์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และเตรียมส่งมอบ ขสมก. วันที่ 27 มกราคม 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าว “กางรีมาร์กกรมศุลฯ คณะกรรมการตรวจปล่อยรถ ตรวจพบรถเมล์มีถิ่นกำเนิดประเทศจีน” ทำให้ ขสมก. ไม่สามารถตรวจรับรถเมล์ที่บริษัทเบสท์รินฯ กำลังจะนำมาส่งมอบ รวมทั้งเตรียมบอกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัทเบสท์รินฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ชะลอการยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี ขณะที่กำลังมีปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดของรถเมล์เอ็นจีวี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 คณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. จัดประชุมร่วมกับบริษัทเบสท์รินฯ โดยที่ประชุมมีมติให้บริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก. 4 งวด คือ งวดแรกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 งวดที่ 2 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 งวดที่ 3 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 และงวดที่ 4 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 รวมทั้งหมด 489 คัน ขณะนี้บริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถให้ ขสมก. แล้ว 390 คัน ในจำนวนนี้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 274 คัน อยู่ในความครอบครองของ ขสมก. แล้ว

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ยื่นฟ้องศาลอาญาจังหวัดพัทยา ให้ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร 7 ราย ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบด้วย 1. นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร 2. นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร 3. นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง 4. นายธีระชาติ อินทริง นักวิชาการศุลกากรชำนาญการศุลกากร 5 นายวิฑูรย์ อาจารียวุฒิ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ สังกัดฝ่ายสืบสวนและปราบปราม 6. นายยงยุทธ ทองสุข นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และ 7. นายปิติณัช ศรีธรา หัวหน้าฝ่ายควบคุมทางศุลกากร โดยศาลจะนัดไต่สวนคดีในวันที่ 24 เมษายน 2560

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 บริษัทซุปเปอร์ซาร่าส่งเอกสารแถลงข่าวถึงสื่อมวลชน ระบุว่า ศาลจังหวัดพัทยา สั่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจปล่อยรถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน ตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด โดยวางเงินประกันค่าภาษีในอัตรา 40% ของมูลค่า แต่ไม่ต้องชำระค่าปรับ พร้อมออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรถยนต์ด้วย ทั้งนี้ ในตอนท้ายของเอกสารแถลงข่าวของบริษัทซุปเปอร์ซาร่า ปรากฏมีข้อความของนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ. ขสมก. ให้ความเห็นรวมอยู่ในเอกสารข่าวของบริษัทซูปเปอร์ซาร่าด้วย

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 กรมศุลกากรยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวข้างต้นและเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องของบริษัทซุปเปอร์ซาร่าหลังการไต่สวนพยาน ศาลจังหวัดพัทยาจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก่อนที่จะมีคำพิพากษา

ล่าสุดมีแหล่งข่าวจาก ขสมก. กล่าวว่า บริษัท เบสท์รินฯ ไปร้องศาลปกครอง ขอให้สั่งการ ขสมก. ตรวจรับรถ

ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปี 19 วัน โครงการจัดหารถเมล์ใหม่มาแทนรถแมล์เก่าไม่คืบหน้า ส่งผลกระทบต่อแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ตามระเบียบพัสดุของ ขสมก. ที่กำหนดให้ผู้อำนวยการ ขสมก. ทำหน้าที่บริหารสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่สัญญาไม่สามารถส่งมอบรถตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา และ ขสมก. เรียกเก็บค่าปรับจนครบ 10% ของมูลค่าโครงการ มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้บอกเลิกสัญญา แต่ผู้อำนวยการ ขสมก. ไม่ตัดสินใจ จึงจำเป็นต้องสรรหาคนใหม่มาทำหน้าที่นี้แทน