ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” สั่งคลังขยายเวลา “ช็อปช่วยชาติ” – มติ ครม. ต่ออายุพักหนี้ ธ.ก.ส. ช่วยน้ำท่วม 52,000 ราย

“บิ๊กตู่” สั่งคลังขยายเวลา “ช็อปช่วยชาติ” – มติ ครม. ต่ออายุพักหนี้ ธ.ก.ส. ช่วยน้ำท่วม 52,000 ราย

31 ตุลาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า การประชุม ครม. ในวันนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งวันนี้เริ่มประชุม ครม. เร็วเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงบ่ายนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดขอนแก่นเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา พร้อมพบปะให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเครื่องบิน Embraer บ.ท.135 จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ไปยังท่าอากาศยานขอนแก่น

สั่งคลังขยายเวลา “ช็อปช่วยชาติ” เพิ่มกำลังซื้อ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ในช่วงกำลังซื้อยังต่ำว่า ตอนนี้หลายๆ อย่างเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจมหภาคและการส่งออก ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งได้ประโยชน์จากตรงนั้น ไม่ใช่มาบอกว่าไม่มีใครได้ประโยชน์เลย เพราะทั้งหมดนี้รัฐไม่ได้เป็นคนทำ คนจะผลิต คนจะแปรรูปขาย ก็เป็นเรื่องของเอกชนหรือภาคธุรกิจ จากการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

“ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจมีจำนวนแรงงานอยู่ประมาณ 10 ล้านคนที่ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นอะไรที่มันดีขึ้น คน 10 ล้านคนตรงนี้ก็ได้รับแล้ว หลายกิจกรรมก็ได้ไปด้วย ยกเว้นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น เกษตรกร ผู้ผลิตต้นทาง แต่เขาก็ขายของได้ ส่วนที่ราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำก็มีหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ยางพารา ประเด็นคือต้องสร้างการรับรู้เชิงมหภาคให้ได้ ซึ่งต้องดูกันตั้งแต่ต้นทางว่าจะทำอย่างไร ปริมาณยางล้านตลาด ต้องพยายามรับซื้อยางในประเทศให้ได้ วันนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนเสริมสร้างตรงนี้ การผลิตยางรถยนต์ การขยายโรงงานก็กำลังทำอยู่ 3 ปีที่ผ่านมากำลังก่อสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ในหลายพื้นที่ด้วยกัน จากผลการวิเคราะห์คาดว่าจะสามารถใช้ยางในประเทศได้หลายแสนตัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงมาตรการช็อปช่วยชาติว่า ขณะนี้ตนได้สั่งให้กระทรวงการคลังศึกษามาตรการช็อปช่วยชาติว่าจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาก็ทำกันทุกปี ปีนี้ก็ต้องมาศึกษารายละเอียดว่าจะสามารถขยายระยะเวลาให้นานขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และการหมุนเวียนของเงินได้ดีขึ้น

ยันยังไม่ได้รับแจ้งที่อยู่ “ยิ่งลักษณ์”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการติดตามตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าขณะนี้ตนยังไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ที่ใด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอนและกฎหมาย

เมื่อถามว่ามีรายงานมาด้วยหรือไม่ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์พำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรหรือประเทศใด พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่รู้ ไม่ทราบ มีแต่การบอกเล่ากันไปมา สื่อมวลชนเขียนบ้าง อะไรบ้าง สังคมโซเชียลเขียนกันไปเลอะเทอะ แต่ที่สำคัญคือประเทศที่อดีตนายกรัฐมนตรีพำนักอยู่ก็ต้องยืนยันกลับมา ระบบราชการเขาทำงานแบบนี้ ถ้าจะไปฟังอะไรอย่างอื่นก็คงไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การรับรองของประเทศที่เป็นเจ้าของพื้นที่

วอนหยุดจี้ถาม “ปลดล็อกการเมือง”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อกทางการเมืองเพื่อดำเนินการกิจกรรมของพรรคการเมืองได้ ว่า เรื่องนี้อย่าห่วงกังวล คสช. เป็นผู้กำกับดูแลและควบคุม ซึ่งตนในฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ได้ให้หลักการว่าบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อยปลอดภัย ไม่เกิดความวุ่นวายสับสนเพราะการเมือง ขณะเดียวกันต้องดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอยู่แล้ว

“ขอให้เชื่อมั่น ผมเองก็รู้และคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่ ท่านก็เห็นอยู่แล้วว่าวันนี้ยังไม่เรียบร้อย มีการพูดจาให้ร้ายกันเยอะแยะไปหมด ท่านต้องหยุดสิ หยุดเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนสบายใจ ให้ประชาชนมีความสุข ผมไม่อยากให้ประชาชนรังเกียจการเมืองหรือนักการเมือง หรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ผมไม่ต้องการเลย หรือว่าผมดีกว่า มันไม่ใช่ ผมต้องการให้ทุกคนสงบ และเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เป็นธรรมาภิบาล และเป็นรัฐบาลที่มีความโปร่งใสในวันข้างหน้า วันนี้ผมพยายามทำทุกอย่าง จะเห็นได้ว่ากฎหมาย มาตรการปราบปรามการทุจริตทยอยออกมาเรื่อยๆ ถ้าท่านจะมาบอกว่ารัฐบาลนี้ก็ทำเหมือนกัน ผมว่าไม่เหมือน ลองไปดูข้อเท็จจริงมีอะไรออกมาบ้างในช่วงที่ผมเป็นรัฐบาล ก็ได้รับการตรวจสอบทุกอัน จะผิดหรือถูกเป็นเรื่องของการตรวจสอบ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า คงต้องรอพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องมีการคัดสรรออกมาก่อน จึงกำหนดร่างระเบียบกติกาออกมาได้ และประกาศพื้นที่ได้ ก็นำไปสู่การประกาศวันเลือกตั้งอีกครั้ง ทั้งหมดมีส่วนประกอบเยอะ ไม่ใช่ประกาศปลดล็อกแล้วก็โครมครามในขณะที่อย่างอื่นยังไม่พร้อม ก็จะวุ่นไปหมด เวลานี้บ้านเมืองก็สงบดีอยู่ การจะนำไปสู่การเลือกตั้งต้องไปโดยสงบ เมื่อเลือกตั้งแล้วก็ต้องสงบ ได้รัฐบาลที่ดี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าเรื่องสมัครสมาชิกพรรคการเมือง ตนจะหาทางให้จนได้ ให้นักการเมืองไปเตรียมตัวกันไว้ว่าจะหาเสียงอย่างไร โดยขอว่าเรื่องปลดล็อกอย่าถามตนบ่อยนัก เพราะทำให้คิดหาทางไม่ออก ทำให้ล่าช้า ขอให้ตนได้คิดและสรุปออกมาก่อน จากนั้นถึงจะเปิดเผยออกมา ทีเดียวจบ โดยยืนยันว่า ทันเวลาอยู่แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขอถามว่าวันนี้ท่านไม่ได้ทำอะไรกันเลยใช่หรือไม่ ก็ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้โครมครามใช่หรือไม่ หรือว่าไม่ได้กระดิกกระเดี้ยวอะไรกันเลย 3 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองไม่ได้ทำอะไรกันเลยหรือ เขาก็ทำของเขา เพียงแต่ไม่เปิดเผย ไม่ต้องไปห่วงหรือ กลัวว่าเขาจะทำอะไรทันหรือไม่ทัน ต้องนึกถึงคนเก่า คนใหม่ พรรคใหม่ พรรคเก่า พรรคเล็ก พรรคใหญ่ พรรคกลาง เยอะแยะไปหมด ก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

นายกฯ จวก “วรชัย” ถามอนาคตหัวหน้า คสช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนายวรชัย เหมะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงอนาคตของตัวเอง ว่า อยากถามว่านายวรชัยเป็นใคร ผมเป็นใคร มันไม่ใช่ ผมไม่จำเป็นต้องไปตอบคำถามเขา แต่เขาควรจะตอบคำถามผมมากกว่า เอาแค่นั้น อนาคตเป็นเรื่องของผมเอง

“หลังจากนี้ไปผมจะตอบคำถามไม่ไปกระทบกระทั่งกับใคร แต่ขอให้เคารพสิทธิของผมบ้าง ผมก็มีหน้าที่ ความรับผิดชอบของผมในการทำงานทุกอย่าง ทุกประเด็น ถ้าสื่อไม่ช่วย หรือคนทั่วไปไม่ช่วย และไม่เข้าใจ มันก็จะวุ่นวาย สับสน กลับไปเหมือนเดิม ทุกคนต้องการแบบนั้นหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ ต้องถามคนไทยทั้งประเทศด้วย อย่าไปถามคุณอะไรที่มาถามผมแบบนี้ ใครก็ตามที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ผมขอฝากคำถามกลับไปว่าสิ่งที่เขาจะทำให้ดีขึ้นมันเป็นอย่างไร และหลายคนที่ออกมาพูดก็เคยอยู่ในการบริหารเรื่องเหล่านี้มา แต่เขาทำได้หรือเปล่า และสถานการณ์ในวันนั้นกับวันนี้ต่างกันหรือไม่ หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วันนั้นอาจจะทำได้ แต่วันนี้ทำไม่ได้ เพราะเหตุผลอะไร ก็มีแต่คนมาติติง แต่ไม่บอกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร ฉะนั้นอยากให้สื่อไปถามไอ้คนที่จะมาถามผมทุกคนว่าถ้าเป็นเขาจะทำอย่างไร พูดมาตอนนี้เลย อย่ารอพูดตอนหาเสียง ต้องพูดตอนนี้เลย ประชาชนจะได้ชื่นชมว่ามันดีกว่าสิ่งที่ผมทำ ถ้าไม่ถามกลับไป มันก็มากดทับรัฐบาลอยู่แบบนี้ มันไม่เป็นธรรม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัดตอบคำถาม “มีชัย” ตั้งลูกสาวเป็นเลขาฯ

สำหรับกรณีนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ สมาชิก คสช. และประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถูกวิจารณ์ ที่ตั้งบุตรสาวนั่งตำแหน่งรองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. ว่า กรณีดังกล่าวก็เป็นไปตามที่นายมีชัยชี้แจง ตนไม่มีความเห็นเพิ่มเติม

เตรียมหารือราชทัณฑ์ คัดนักโทษช่วยงานกองทัพ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสภากลาโหมมีแนวความคิดนำนักโทษมาอบรมช่วยงานกองทัพว่า การที่สภากลาโหมมีแนวคิดนำนักโทษมาช่วยงานต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องการนำมาใช้งาน เพราะอย่างไรทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการฝึกอบรมนักโทษอยู่แล้ว เช่น งานช่างไม้ต่าง ๆ

“ผมก็มีแนวคิดของผม ในเมื่อเราก็มีการทำงานเกี่ยวกับเรื่องอาวุธ และคนเหล่านี้ก็มีความสามารถอยู่แล้ว วันหน้าจะมีอาชีพที่ถูกต้องได้หรือไม่ เช่น มาเป็นลูกจ้าง พนักงาน ของกรมสรรพาวุธ ทำนองนี้ มิฉะนั้นเราจะเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องคัดเลือกและหารือกับกรมราชทัณฑ์ก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่ ต้องเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่ ทำให้ทุกคนมีคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่จับดำเนินคดี เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วไม่มีงานทำ กลับไปสู่วงจรเดิมอีก ต้องคิดใหม่ และหาวิธีการให้เหมาะสม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกฯ กำชับ “ลอยกระทง” อย่าสนุกจนหลุดโลก

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการจัดงานประเพณีลอยกระทง ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 นี้ ว่า ตนคิดว่าการจัดงานประเพณีลอยกระทงครั้งนี้ ขอให้ทำอย่างเหมาะสมตามที่เห็นสมควร รักษาวัฒนธรรมประเพณี และลดการสร้างความสนุกหลุดโลก มิฉะนั้นจะสร้างปัญหา ทั้งการเดินทาง การดื่มสุรา และการขับรถ เกี่ยวพันกันไปหมด สำหรับกฎระเบียบกติกานั้น กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ดูแล

“สำหรับผู้ที่ต้องการจัดงานก็ต้องไปยื่นเรื่องขออนุญาตจากอำเภอ จังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะการจัดงานต่างๆ ต้องอยู่ในความสงบเรียบร้อย อย่าให้เกินเลยกันไปมาก ส่วนเรื่องการปล่อยโคมลอยก็ต้องได้รับอนุมัติก่อนเช่นกัน ซึ่งในบางพื้นที่จำเป็นต้องละเว้นการปล่อยโคมลอย เพราะถือเป็นเรื่องอันตราย อย่างไรก็ตาม ขอย้ำให้ทุกคนรักษาประเพณีวัฒนธรรมและสนุกสนานกันพอสมควร ซึ่งก็จะมีการจัดงานเทศกาลปีใหม่ตามมาอีก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้พระราชพีธีฯ ผ่านไปแล้ว ขอทุกฝ่ายให้อภัย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีประชาชนไม่พอใจผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเกี่ยวกับการบริหารจัดการคนที่มางานพระราชพิธีฯ ถวายดอกไม้จันทน์ ว่า เรื่องความไม่พอใจที่ไหนก็ตามในเรื่องของพระราชพิธีฯ นั้นจบไปแล้ว ทำทุกอย่างถวายพระเกียรติไปแล้ว มีบางอย่างที่อาจจะไม่พอใจ ก็ขอให้ให้อภัยกันเถิด ทุกคนก็หวังดี เจตนาดี แต่วิธีการอาจจะแก้ไขไม่ได้มากเท่าไรเพราะมีคนมาร่วมพิธีจำนวนมาก

“วิธีการใดก็แก้ยาก คนเยอะขนาดนี้ ประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมงานพระราขพิธีทั้งหมด 21 ล้านคน เฉพาะในกรุงเทพมหานครกว่า 1 ล้านคน ทุกคนให้ความสนใจกับงานพระราชพิธีมาก เพราะแกนหลักของเราคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน” นายกรัฐมตรีกล่าว

เร่งตั้ง สนง.จัดการน้ำฯ – เตือนภาคใต้ฝนตกหนักถึง 3 พ.ย. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมและมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย ว่า ขณะนี้ต้องทำความเข้าใจก่อน เรามีลุ่มแม่น้ำทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากพายุ ทำให้มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ยืนยันว่ารัฐบาลมีการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด แต่จะบอกว่าไม่ท่วมเลยก็เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีน้ำสะสมจากภาคเหนือ ปริมาณทั้งหมดไม่แตกต่างจากปี 2554 แต่พยายามทำให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด

“ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเพาะปลูกให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเวลา ทำให้สามารถใช้ 12 ทุ่งเป็นแก้มลิงธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้สามารถบรรเทาได้พอสมควร วันนี้ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ แต่อย่างไรก็ต้องมีปัญหา เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ เราต้องเร่งการระบายน้ำให้เร็วที่สุดก่อนน้ำทะเลจะหนุน ขณะนี้ระดับน้ำค่อยลดลงอย่างช้าๆ เราลดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือประมาณ 2,600 ลูกบาศก์เมตร และมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อยๆ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการเตรียมการรับมือน้ำท่วมภาคใต้ ว่า แม้จะไม่มีข่าวว่าจะมีมรสุมเข้า แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2560 – 3 พฤศจิกายน 2560 จะมีฝนตกในภาคใต้

นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้เร่งจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้จัดการประชุมได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในส่วนข้อมูลต่างๆ ฝ่ายแผน ฝ่ายปฏิบัติ จะรวบรวมแผนงานงบประมาณทั้งหมดของทุกหน่วยงานมาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ ในการที่จะอนุมัติเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อที่จะอนุมัติในโครงการต่างๆ ต่อไป

“รัฐบาลทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค น้ำประปา ต้องทำให้ครบ 75,000 กว่าหมู่บ้าน ที่ผ่านมาเหลือ 9,000 กว่าหมู่บ้าน ยังไม่ครบ และน่าจะครบภายในปีนี้ หรืออย่างช้าในปีหน้า ส่วนในเรื่องน้ำในพื้นที่การเกษตร ทั้งประเทศเราทำได้ไม่เกิน 40% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด แต่ติดปัญหาเรื่องความสูงเพราะเราต้องปั๊มน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปที่สูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณมาก คลองส่งน้ำก็ทำได้ยาก เราจำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเกษตร จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยกันทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือ ในเรื่องการดูแลความเสียหายของบ้านเรือน ทุกอย่างมีกฎหมายอยู่แล้ว โดยจะนำมาขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็ว และวันนี้ผมได้สั่งการให้เร่งสำรวจในพื้นที่ที่น้ำท่วม บางพื้นที่ไม่เคยท่วมแล้วถูกน้ำท่วมก็เป็นความเสียหาย ซึ่งจะต้องไปดูในรายละเอียด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้าย) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)

ต่ออายุพักหนี้ ธ.ก.ส. ช่วยน้ำท่วม 52,000 ราย

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบขยายกรอบมาตรการโครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2559/2560 เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีเงินกู้เดิมกับ ธ.ก.ส. และได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยขอเพิ่มลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ประสบภัยเพิ่มเติม แบ่งเป็นส่วนที่ไม่เป็นเอ็นพีแอลอีก 47,539 ราย มูลหนี้ 8,595.05 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะต้องชดเชยดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส. 5% เป็นเวลา 2 ปีตามมาตรการเดิม 859.5 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้าที่เป็นเอ็นพีแอล ธ.ก.ส. จะรับภาระดอกเบี้ยทั้งหมดเพิ่มอีก 4,801 ราย

ทั้งนี้ เดิม ครม. มีมติขยายเวลาชำระคืนต้นเงินกู้ที่เกษตรกรมีอยู่กับ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ออกไปเป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ไม่จำกัดวงเงินขั้นสูง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2560 ตามกำหนดชำระเดิม โดยการลดอัตราดอกเบี้ย แยกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่เกษตรไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ธ.ก.ส. งดคิดดอกเบี้ยจากเกษตรกรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2561 ในวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. 5% ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และรัฐบาลจะต้องชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ในอัตรา 5% ต่อปี เป็นเงินปีละ 1,965.50 ล้านบาท รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นเงิน 3,931 ล้านบาท ส่วนกรณีที่เกษตรกรเป็นหนี้เอ็นพีแอล ธ.ก.ส. จะงดคิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปีเช่นเดียวกัน ในวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย โดย ธ.ก.ส. รับภาระดอกเบี้ยทั้งหมดแทนเกษตรกร

ขยายเวลาลดหย่อยภาษี-บริจาคเงินช่วยน้ำท่วมถึงสิ้นปี

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติขยายกรอบมาตรการการเงินการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 ซึ่งเดิมอนุมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 โดยขยายระยะเวลาของมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเดิมระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 เป็นถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

ทั้งนี้ เดิมมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.1) กรณีบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิ ตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 และตามข้อ 2 (70) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

1.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554

ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลร่วมกันบริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มากยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้สามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ไปหักเป็นค่าลดหย่อน/รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากสิทธิการหักรายจ่ายตามปกติอีกเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบ ผ่านส่วนราชการ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี องค์การหรือสถานสาธารณกุศล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา

เห็นชอบวงเงินสินเชื่อ 1.5 พันล้าน แทรกแซงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 ในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 2560/61 เพื่อเป็นการช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตในช่วงที่ออกมาก เป็นเงินทุนหมุนเวียนวงเงิน 1,500 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ย 4% ต่อปี แบ่งเป็นเก็บจากกลุ่มเกษตรกร 1% และรัฐบาลรับภาระ 3% หรือคิดเป็นวงเงิน 45 ล้านบาท

ทั้งนี้ เดิมสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ว่าในปี 2560 จะมีปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 4.43 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศที่ 8.1 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2560 ผลผลิตเริ่มกระจุกตัวออกสู่ตลาดมาก ประมาณ 70% ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ประกอบกันผลกระทบจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งให้ผลผลิจที่ออกมามีความชื้นสูงและไม่สามารถปรับปรุงคุณภาพได้ทัน ทำให้ราคามีแนวโน้มปรับลดลง กระทรวงพาณิชย์จึงเสนอให้ ครม. อนุมัติมาตรการดังกล่าว

ตั้ง “พสุ” นั่ง ประธาน กนอ.

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งนายพสุ โลหารชุน ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แทนผู้ที่ลาออก ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. วันที่ 31 ตุลาคม 2560ที่นี่!