เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งคำถามที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีในวันนี้ล้วนเป็นคำถามถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาตามนัดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา และมีรายงานว่าได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
“บิ๊กตู่”เสียใจ คดีจำนำข้าวรัฐบาลตกเป็นจำเลยสังคม
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามที่ว่ารู้สึกอย่างไรที่วันนี้ฝ่ายความมั่นคงกลายเป็นจำเลยของสังคมแทนที่จะถามว่าทำไมนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องหนีไม่ฟังคำตัดสินศาลตามนัดว่า ตนรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้ เพราะเรื่องต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วเป็นการดำเนินการของรัฐบาลนี้ที่นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้มุ่งหวังว่าจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิธีการของกระบวนการยุติธรรม
“อยากให้คิดย้อนกลับไปด้วยว่าคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญทุกกรณี ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นได้หนีไปหลายคนด้วยกัน ก็จำเป็นต้องขอความร่วมมือไปยังต่างประเทศ ส่วนนี้ก็ขึ้นกับเขาด้วยว่าจะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือ ก็ต้องดำเนินการกันต่อไป”
ต่อคำถามว่าต่อไปจะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ นักการเมืองหรือคนมีฐานะร่ำรวยจะไม่เคารพกระบวนการศาล พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องบอกสังคมว่านี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนที่เรารัก เราเชื่อถือ คนที่ศรัทธาแล้วเป็นเช่นนี้ สังคมจะว่าอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่าเดี๋ยวจะต้องหาให้ได้ เพียงแต่ขอเวลาสักหน่อย เพราะมีความเกี่ยวพันกับต่างประเทศด้วย ข้อสำคัญคือตนไม่ต้องการให้มีการพูดให้ร้ายกันไปก่อนว่าเกี่ยวข้องกับประเทศใด เนื่องจากอาจทำให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามมาได้
ยอมรับฝ่ายความมั่นคงยังไม่รายงานเส้นทางหลบหนี”ยิ่งลักษณ์”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการติดตามเส้นทางการหายตัวโดยระบุว่า กรณีดังกล่าวฝ่ายความมั่นคงยังไงก็ยังตอบไม่ได้ตอนนี้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ให้นักการเมืองบางส่วนต้องขออนุญาตก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนและฝ่ายการเมืองเห็นว่าเป็นการละเมิดจึงได้ยกเลิกไป ทำให้ในครั้งนี้นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศจึงไม่มีการมาขออนุญาต และระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาคดี ศาลได้ตกลงกับจำเลยแล้วว่าให้มีการประกันตัวโดยมีวงเงินประกัน 30 ล้านบาท ว่าจะไม่หลบหนี ซึ่งเงินส่วนนั้นตอนนี้ได้ถูกยึดไปแล้ว
“เส้นทางการหายตัวผมได้สั่งทางการไปแล้ว ให้ตรวจเช็คหลายทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็รอคำตอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ผมก็ยังไม่ทราบว่าเขาจะตอบมาว่าอย่างไร ในเรื่องการเข้า-ออกตรงไหน ไปขึ้นเครื่องบินที่ไหน ไปอย่างไร ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนเรื่องการเกาะติดการเคลื่อนไหว พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีความวุ่นวายสับสนพอสมควรในการติดตามทุกที่ทุกแห่ง กลายเป็นว่ารัฐบาลไปรังแกเขา จึงผ่อนผันให้โดยให้เฝ้าตรวจหน้าบ้าน ดูการเข้า-ออกจากบ้าน ซึ่งหากเป็นการติดตามจะต้องใช้คนจำนวนมาก ประมาณ 20-30 คน และรถอีกหลายคัน
โดย พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาก็ไม่สามารถจะติดตามได้ขนาดนั้น ขอให้เข้าใจเหตุผลด้วย ไม่ได้เป็นการแก้ตัวแต่อย่างไร อีกไม่นานจะรู้ว่าออกทางไหน ไปอย่างไร มีใครช่วยหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันว่าฝ่ายมั่นคงไม่มีทางปล่อย เว้นแต่คนชั่วบางคนมีการปล่อยปละละเลย ได้รับผลประโยชน์ อะไรทำนองนี้ ก็ต้องหาเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า ขณะนี้ได้ประสานงานเพื่อตามหาตัว นางสาวยิ่งลักษณ์ไปยังประเทศใดบ้าง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นประเทศรอบบ้าน และประเทศปลายทาง ถามทุกประเทศ ทั้งในกลุ่มซีแอลเอ็มวี สิงคโปร์ ยูเออี ตนถามหมด
ปัดตอบประเด็นลี้ภัย หวั่นกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ต่อคำถามว่า ในที่สุดแล้ว รัฐบาล คสช. จะสามารถนำอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์กลับสู่กระบวนการตัดสินศาลได้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า หากอยู่ต่างประเทศก็จะมีการขอความร่วมมือ ขอให้มีการส่งตัว ซึ่งกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถจับได้ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ หรือกรณีของทายาทกระทิงแดง ที่ได้ติดต่อประสานงานไปกว่า 170 ประเทศ ก็ยังไม่สามารถติดตามจับได้เลย ก็ต้องหาวิธีการทางกฎหมายให้ได้
“จากนี้ใครจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ต้องไปถามท่าน (นางสาวยิ่งลักษณ์) แต่คิดว่าไม่เป็นการสมควร ในเมื่อท่านกระทำความผิด อันนี้คือความผิดเดียวคือการหลีกเลี่ยงการไปศาล แล้วถูกยึดเงินประกัน ในเรื่องของคดีที่อยู่ในกระบวนการยังไม่มีการตัดสิน ต้องรอเดือนหน้าว่าผลจะออกมาว่าอย่างไร การเคลื่อนไหวในต่างแดนขอสื่ออย่าไปขยายความมาก ตอนนี้เพียงหาให้ได้ก่อนว่าออกไปทางไหน หากออกไปทางที่มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นก็ต้องลงโทษ ผมยืนยันผมลงโทษหมดทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาก็หนีแบบนี้ออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศตั้งสถานีวิทยุเถื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน 3 ปีที่ผ่านมาสื่อนำเสนอมีการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม รัฐบาลไม่มีประชาธิปไตย สิ่งนี้ทำให้เกิดผลเสียเวลา ต่างประเทศมองว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเปล่า ทั้งที่เรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม จึงอยากฝากให้ช่วยคิดด้วย ผมอยากทำให้มันถูกต้อง แม้ว่าผมจะเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องก็ตาม” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับเรื่องลี้ภัยทางการเมืองนั้น ตนขออย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะนี่เป็นการหนีการฟังคำพิพากษาอย่างเดียว คดียังไม่ถูกตัดสิน ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าจะขอลี้ภัยได้ การประสานงานกับต่างประเทศเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะใช้ช่องทางทางการทูต พร้อมกันนี้ต้องตรวจเช็กไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตามชายแดน ศุลกากร ทุกคนต้องยืนยันมาด้วยหลักฐาน ไม่ใช่ปากเปล่า และต้องเช็กวิทยุการบิน ท่าอากาศยาน ถ้าเป็นในประเทศเราตรวจเช็กได้ทั้งหมด แต่ถ้าต่างประเทศเราจะได้ข้อมูลอย่างไร ยังไม่รู้เหมือนกัน ส่วนสถานการณ์ความสงบอยู่ที่ประชาชนทุกคนน่าจะเข้าใจ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการอะไร
“การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์หายตัวไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคงก็กังวล เพราะประชาชนยังให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้มาก ซึ่งส่วนนี้ยังต้องไปว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องของผู้ร้ายหนีคดี ก็ต้องลดการให้เกียรติกันไป ซึ่งที่ผ่านมาตนให้เกียรติมาตลอด กระบวนการติดตามตรวจสอบที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ คือ ส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าหน้าบ้าน คอยสังเกตว่าการเข้า-ออกจากบ้าน แต่ตอนนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่กลับบ้านแล้ว ถามว่าไปไหนก็ต้องมาว่ากันอีกที่ วันที่ 23 สิงหาคม 2560 ทุกอย่างยังปกติ จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2560 มีการออกจากบ้านตามปกติ และก็หายไปเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวปิดท้ายการตอบคำถามถึงกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า “วันนี้อย่ายกความรับผิดชอบทั้งหมดให้ผม เพราะผมหนักอก เข้าใจหรือไม่ ถ้าท่านเป็นผม ท่านจะรู้ว่าท่านทำไม่ได้หรอก จะช่วยใครผมก็ช่วยไม่ได้ อย่าเอาเรื่องนี้ไปพันกับเรื่องโน้น และวันนี้เห็นมีการนำคลิปอะไรของผมไปออกกันเต็มไปหมด มันคนละเวลา คนละเรื่อง ตอนนั้นผมเป็นลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา ผมเคารพทุกคน เขาออกไปเส้นทางไหนมันปิดกันไม่มิดหรอก เดี๋ยวก็หาเจอจนได้ ใจเย็นๆ อย่าให้เรื่องอื่นมันพังไปด้วย ผมขอร้อง อย่าให้สิ่งที่ผมพยายามทำมา 3 ปี มันล่มสลายไป เพราะคนๆเดียว ผมขอแค่นี้ได้ไหม”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่หากนางสาวยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว ทั้งทางดคีอาญาและแพ่งต่อนโยบายจำนำข้าวแล้ว
รัฐบาลของตนจะต้องชดใช้บริษัทคิงส์เกต ผู้ประกอบการเหมืองแร่ออสเตรเลียที่จังหวัดพิจิตร ท่านต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวด้วยหรือไม่ว่า ขออย่านำคดีรับจำนำข้าวมาเทียบกับเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งกรณีของบริษัทอัครา รัฐบาลและ คสช.ดำเนินการเพราะมีการเรียกร้องจากประชาชน ที่ร้องเรียนเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหยุดการทำงาน ซึ่งไม่ได้หมายความให้เขาเลิก เพียงแต่หยุดต่อใบอนุญาตไปก่อน เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจน ฉะนั้น หากเราทำเพื่อประชาชนมันควรเสี่ยงหรือไม่ ตนต้องคำนึงถึงประชาชนหรือไม่ ในขณะที่บริษัทเองก็สามารถต่อสู้คดีได้ ซึ่งตนไม่ได้รับประโยชน์จากการเปิดหรือปิดเหมืองแต่อย่างใด และเหมืองนี้เกิดมาก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ
“ผมพยายามทำตามคำเรียกร้อง แต่เมื่อทำแล้วเกิดปัญหา ก็ให้รัฐบาลรับผิดชอบ มันเป็นคนละเรื่องกับคดีจำนำข้าว เพราะเป็นเรื่องการทุจริต ต้องแยกแยะให้ออก ตอนนี้ทางบริษัทฯก็ยังไม่เรียกร้องอะไร เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา และถ้าพูดในเรื่องของกฎหมาย กรณีที่ผมใช้มาตรา 44 ในประเทศนี้ ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ผมทำได้ทั้งหมด ส่วนกฎหมายอนุญาโตตุลาการ กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องสู้คดีกันไป แต่เมื่อผมใช้มาตรา 44 ไปแล้ว ผมก็ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะกฏหมายคุ้มครองผม แต่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของต่างชาติด้วย แยกแยะหน่อยผมทำเพื่อใคร การนำคดีมาเทียบกันแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรมกับผมเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว
กลาโหมเลื่อนแถลงผลงาน ชี้คนสนใจ”คดียิ่งลักษณ์”มากกว่า
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระทรวงกลาโหมเลื่อนการแถลงผลงานด้านความมั่นคงในวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ออกไปอย่างไม่มีกำหนดว่า ผมยอมรับว่ามีการเลื่อนจริง ซึ่งเป็นการเลื่อนในทุกๆหน่วยงาน เพราะขณะนี้รัฐบาลมีงานต้องทำหลายอย่าง อีกทั้งต้องจัดการกับปัญหาอื่นๆด้วย ถ้าแถลงข่าวช่วงนี้ประชาชนก็จะไม่สนใจ เพราะวันนี้ประชาชนสนใจอยู่เรื่องเดียว
“ผมแถลงอะไรไป พวกคุณก็ไม่ฟัง แล้วมาถามผมเรื่องเดิมๆ เลยต้องเลื่อนออกไปก่อน และหลายอย่างอาจจะไม่เกิดผลในตอนนี้ อาจจะเกิดในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่อย่างไรก็ต้องเกิดภายในปีนี้ ถ้ามีการแถลงเรื่องดีๆ ในช่วงนี้ก็จะหายไปหมด สื่อก็จะถามแต่เรื่องคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถามกันทุกวัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สั่งขสมก.ทบทวนTOR-ปรับราคากลางจัดซื้อรถเมล์ NGV ใหม่
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการประมูลจัดหารถเมล์ใหม่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลังยกเลิกประมูลรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เนื่องจากไม่มีเอกชนร่วมประมูล ว่า จะดำเนินการให้เร็ว ทำให้เกิดความโปร่งใสและเหมาะสม ยืนยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใคร ซึ่งตนได้สั่งการไปยังคณะกรรมการพิจารณาร่างเอกสารการจัดซื้อ(TOR) ทบทวนราคากลางกันใหม่ หากพบว่า คณะกรรมการฯคนไหนไปเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใด ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ขสมก.ก็ต้องไปดู รถเมล์ใหม่จะมี 2 ประเภท คือ ประกอบใหม่ทั้งคันและนำเข้ามาจากต่างประเทศ ราคาก็แพง หรือประกอบในประเทศเพื่อนบ้านมาเสียภาษีอีก 30% ก็อีกเรื่องหนึ่ง การประกวดราคาครั้งที่ผ่านมา ขสมก.ใช้ราคาที่ผู้ชนะการประมูลเสนอ นำมากำหนดเป็นราคากลางตามระเบียบจัดซื้อ ทำให้เกิดปัญหาไม่มีผู้สนใจยื่นซองประกวดราคา ก็ต้องหาวิธีแก้ เราไม่ต้องการจะช่วยใคร แต่ถ้ากรรมการช่วย ผมก็ต้องลงโทษ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ปฏิเสธเด้งผอ.สำนักพุทธฯเข้ากรุ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี ครม. มีมติย้าย พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)มาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการสำนักนายกรัฐมนตรีว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นการเด้ง เพราะได้ทำงานสำเร็จแล้ว จึงย้ายมาอยู่ใกล้ๆนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยงานในเรื่องการปฏิรูปศาสนา ไม่ได้เป็นการลงโทษ เป็นการปรับย้าย แต่งตั้งหมุนเวียน
“ตั้งแต่ผมเข้ามาเป็นนายกฯ ผมลงนามในคำสั่งย้ายข้าราชการไปหลายคน โดยที่ไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวกันมาก่อนเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกัน เสนอรายชื่อขึ้นมา ผมก็พิจารณาเหตุผลแล้วก็ลงนามเห็นชอบ ท่านผู้อำนวยการ พศ. ได้รับมอบหมายให้ทำงานสำคัญ ดังนั้น จึงตกเป็นเป้าใหญ่ หลายคนเลยเข้าใจว่ารัฐบาลไม่พอใจ ซึ่งความจริงนั้น รัฐบาลพอใจผลงานของท่าน จึงสั่งย้ายให้มาช่วยกันทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะท่านรู้ปัญหาทั้งหมด แต่ถ้าจะย้ายกับไปดีเอสไอก็ไม่ได้แล้ว เพราะซีท่านสูงขึ้น (ซี 10) จึงย้ายมาอยู่กับผม เป็นคณะกรรมการปฏิรูป มาช่วยกันทำงาน อย่าไปให้ร้ายท่านเลยท่านเป็นคนดี ก่อนหน้านี้ผมเป็นคนแต่งตั้งท่านไปดำรงตำแหน่งที่พศ.เอง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการผมยึดหลักคุณธรรม ใครไม่มีความผิดคืนให้เขา ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการ พศ.ที่ว่าง ก็หาคนที่เหมาะสมรักษาการแทนไปก่อน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สั่งลุยแก้น้ำท่วมถนนสุขุมวิท
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้สั่งการให้มีการพิจารณาหาเเนวทางแก้ไขปัญหาฝนตกจนเกิดน้ำท่วมบริเวณถนนสุขุมวิท โดยทำทางระบายน้ำไปยังแหล่งกักเก็บน้ำ โดยปกติก็มีทางเบี่ยง ทางเลี่ยงอยู่เเล้ว ต้องไปดูว่าต่อไปจะทำอย่างไร เพราะคนใช้ถนนสุขุมวิทเป็นจำนวนมาก ซึ่งให้กระทรวงมหาดไทยเเละกระทรวงคมนาคม กำลังศึกษาหาทางแก้ไขอยู่ สำหรับการสร้างเเก้มลิงเเละทำนบกั้นน้ำนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศึกษา ไม่ให้กระทบพื้นที่ป่าเเละไม่ผิดกฎหมายสิ่งเเวดล้อม อาจมีการขยับเลื่อนลงมา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับป่าไม้ เเต่อาจจะกักเก็บน้ำได้น้อยลง
“ผมพยายามจะทำให้ได้ในปี 2561 เเต่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ผมไม่ได้โทษประชาชน เพราะเขายากจนอยู่ในพื้นที่ฝนเเล้ง น้ำท่วมมานาน พอจะขุดลอกคลอง ก็ติดปัญหาเรื่องสิ่งเเวดล้อม นอกจากนี้จะมีการตัดยอดน้ำภาคเหนือตอนล่างช่วง จ.สุโขทัย ที่มีปัญหาน้ำท่วมตลอด แต่จะขุดลอกก็บอกเสียระบบนิเวศน์ เเล้วจะทำอย่างไร ผมก็เหนื่อยใจ จะสร้างเขื่อนขุดคลองก็ไม่ได้ เเต่อยากให้รัฐบาลแก้น้ำท่วมฝนเเล้ง นี่คือความยากง่ายในการทำงานของรัฐบาล” นายกรัฐมนตรีกล่าว
เตรียมยืนอุทธรณ์คดี”ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ยันไม่มี “ล้มมวย”
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีศาลยกฟ้อง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” รัฐบาลจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ว่า กรณีนี้รัฐบาลเป็นโจทก์ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ คสช. ให้ความสำคัญ หลังจากศาลยกฟ้อง รัฐบาลก็ต้องอุทธรณ์ ซึ่งคดีนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเสียภาษี ขณะนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ โดยยืนยันว่าไม่มี “ล้มมวย”
ตั้ง”เดชณรงค์”นำทีมตรวจโกดังข้าวซ้ำ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการตรวจสอบโกดังข้าว 8 คลังใหม่อีกครั้งว่า ตนได้มีการสั่งการมาโดยตลอด ซึ่งเบื้องต้นมีการตรวจสอบมาแล้วไม่พบความผิดปกติ แต่ตนได้สั่งให้มีการตรวจอีกครั้ง โดยตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มี พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ ที่ผ่านมาก็ตรวจสอบมาโดยตลอด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางก่อนที่ส่งถึงมือผู้ประมูล ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ไปตรวจสอบกระบวนการนำข้าวออกมาจากคลัง ทำได้อย่างไร เพราะหากไม่ทำก็จะมีปัญหาว่าละเว้น
มติ ครม. มีดังนี้
จัดมาตรการชุดใหญ่ หนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 5 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการทางการตลาด (Marketing) เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจบริการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพิจารณาทบทวนยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนเป็นระยะเวลา 3 ปีให้ครอบคลุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ รวมทั้งทบทวนเงื่อนไขของการใช้สิทธิสำหรับโครงการที่ระยะเวลาส่งเสริมเดิม ยังไม่สิ้นสุดลง, กระทรวงการคลังจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ผู้ประกอบการ 300% ของค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์, สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณสำหรับหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อบริการประชาชน เช่น โรงพยาบาลรัฐ เป็นต้น
2) มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้พัฒนาระบบ หรือ System Integrator (SI) เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จากปัจจุบันมีประมาณ 200 รายเป็น 1,400 ราย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ กรมศุลกากรพิจารณายกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าสำเร็จรูปหลายรายการถูกยกเว้นภาษีอากรนำเข้าไปแล้ว ขณะที่ชิ้นส่วนยังถูกเก็บภาษีอยู่,ให้บีโอไอดำเนินการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมและขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบระบบอัตโนมัติเป็นระดับ A1 และให้พิจารณาส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยให้อยู่ในขอบข่ายของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
3) มาตรการสร้างอุปทาน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต มาตรฐานและผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมัน จัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมบุคลากรให้มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 1,500 คนภายใน 5 ปี, กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมันและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เร่งจัดทำข้อตกลง Mutual Recognition Agreement (MRA) ร่วมกับประเทศต่างๆในภูมิภาค, ให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมกับ Center of Robotics Excellence (CoRE) จัดทำแผนและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านหุ่นยนต์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industrial Transformation Center: ITC) เพื่อพัฒนาศักยภาพของเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์
4) มาตรการสร้าง Center of Robotics Excellence (CoRE) สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และส่งเสริมการใช้งานด้านต่างๆ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 แห่ง (เป็นสถาบันการศึกษา 5 แห่ง ร่วมกับสถาบันไทย-เยอรมันและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ร่วมกันจัดตั้งและมีภารกิจ ได้แก่ จัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการและผู้ออกแบบระบบ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกและรับรองคุณสมบัติของ SI, พัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ร่วมกับ SI และผู้ประกอบการต่างๆ, พัฒนาบุคคลากร, ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge Transfer)
5) มาตรการอื่นๆ เช่น พิจารณาสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู่ต่างๆ ในเชิงวิชาการและอุตสาหกรรม เป็นต้น
“สำหรับเป้าหมายแบ่งเป็น ระยะสั้น ปี 2560 จะต้องมีการลงทุนในหุ่นยนต์ฯ ไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท ขณะที่ในระยะกลางปี 2561-2564 คาดว่าจะต้องมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท และมีการผลิตโดยให้หุ่นยนต์ไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนโรงงานทั้งหมดจากที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 30% มีการผลิตหุ่นยนต์ภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 30% ของความต้องการนำเข้าทั้งหมด โดยมูลค่านำเข้าปัจจุบันอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท” นายอุตตมกล่าว
ทุ่มงบ 41,940 ล้านบาท แจกสวัสดิการช่วย”คนจน”
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ครม.อนุมัติมาตรการประชารัฐสวัสดิการ หรือ การให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย หลังจากที่เปิดลงทะเบียนก่อนหน้านี้จำนวน 14 ล้านคน แต่ได้ตรวจสอบแล้วมีสิทธิเข้าข่ายได้รับสวัสดิการเพียง 11.67 ล้านคน ทั้งนี้ มาตรการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) มาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รัฐบาลจะช่วยวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยถ้ามีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทต่อปีขึ้นไปจะได้วงเงิน 200 บาทต่อเดือน ขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้รับวงเงิน 300 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังได้รับส่วนลดในการซื้อก๊าชหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน 2) มาตราการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แบ่งเป็นวงเงินในการเดินทางสำหรับ รถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ และรถ บขส. ประเภทละ 500 บาทต่อเดือนแยกจากกัน อนึ่ง วงเงินทั้งหมดจะคิดเป็นรายเดือน หากประชาชนใช้ไม่หมดจะถูกตัดและเริ่มต้นใหม่ทุกต้นเดือน
ทั้งนี้ การใช้บัตรจะเป็นลักษณะบัตรเงินสด (e-Money) โดยมาตรการแรกประชาชนจะต้องใช้จ่ายผ่านเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทยอยคัดเลือกร้านค้าให้กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ และขยายเครื่องรับบัตรฯ ตามโครงการ National e-Payment ของรัฐบาลออกตามไป ขณะที่มาตรการที่ 2 ในส่วนของรถเมล์และรถไฟฟ้าจะใช้ระบบตั๋วร่วมหรือระบบแมงมุมของรัฐบาลโดยสวัสดิการส่วนนี้จะให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยใน กทม. และจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, อยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิตบัตร เนื่องจากต้องใช้ชิปการ์ด 2 ใบในบัตรและมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 30 บาทต่อใบและให้สามารถให้บริการสวัสดิการได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากรถเมล์และรถไฟฟ้าปัจจุบันให้บริการเพียงใน กทม. และจังหวัดข้างเคียงเท่านั้น โดยคิดเป็นจำนวนผู้มีรายได้น้อย 1.3 ล้านคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากผู้รายได้น้อยในจังหวัดอื่นๆ ย้ายเข้ามาอาศัยในเขต กทม. และจังหวัดข้างเคียง สามารถมาขอเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปการ์ด 2 ใบได้ ขณะที่รถ บขส. และรถไฟยังใช้วิธีจ่ายเงินผ่านเครื่องรับบัตรฯ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ บัตรดังกล่าวยังสามารถเติมเงินใช้รูดจ่ายปกติในลักษณะบัตรเดบิตได้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเริ่มแจกจ่ายบัตรดังกล่าวในวันที่ 21 กันยายน 2560 และเริ่มต้นใช้งานได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ซึ่งปัจจุบันนี้บัตรกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิตและกระจายไปยังหน่วยลงทะเบียนต่างๆ โดยประชาชนจะต้องตรวจสอบว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีสิทธิดังกล่าวหรือไม่ ก่อนจะไปรับบัตรตามหน่วยลงทะเบียนที่เคยลงทะเบียนไว้ และหากทำบัตรหายจะต้องเสียค่าทำบัตรใหม่ในกรณีบัตรชิปการ์ดเดียวประมาณ 50 บาท และบัตรแบบ 2 ชิปการ์ดประมาณไม่เกิน 100 บาท
“สำหรับงบประมาณคาดว่ารัฐบาลจะใช้วงเงินในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ปีละ 41,940 ล้านบาท โดยนำมาจากกองทุนประชารัฐ ซึ่งปัจจุบันได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2561 มาแล้ว 46,000 ล้านบาท แต่โดยรวมถือว่าประหยัดกว่าระบบรถเมล์-รถไฟฟรีที่ใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นลักษณะเหมาจ่าย โดยจ้างขสมก.เดินรถเมล์โดยไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทำให้รัฐบาลต้องอุดหนุนเงินมากกว่า ขณะที่ระบบใหม่จะจ่ายเฉพาะเจาะจงลงไปที่ผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น และทำให้ผู้ให้บริการต่างๆ ต้องแข่งขันกันมากขึ้น อย่างรถเมล์ของเดิมเหมาจ่าย 800 คัน ต้องอุดหนุน 3,600 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันจะต้องอุดหนุนลดลงไปถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี หรือรถไฟก็ประหยัดได้ปีละ 156 ล้านบาทเป็นต้น” นางสาวสุทธิรัตน์กล่าว
ดีเดย์แจกตั๋วร่วม”แมงมุม” 1 ตุลาคมนี้
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการดำเนินงานนำระบบตั๋วร่วมมาใช้ในการเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชน หรือ ระบบบัตรแมงมุม โดยคาดว่าจะเริ่มต้นใช้งานที่รถเมล์ของ ขสมก. ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 พร้อมกับการใช้งานบัตรสวัสดิการภาครัฐจำนวน 800 คัน ก่อนจะขยายจนครบทั้งหมด 2,600 คันภายในต้นปี 2561 ขณะที่ระบบรถไฟฟ้าจะเชื่อมต่อได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 4 สาย ได้แก่สายสีม่วง น้ำเงิน เขียว และ Airport Rail Link ส่วนระบบรถไฟฟ้าใหม่ๆ ทางหลวงพิเศษ และเรือโดยสาร จะทยอยดำเนินการตามมาหลังจากนั้น ทั้งนี้ บัตรแมงมุมสามารถใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการนอกภาคขนส่ง รวมทั้งรองรับการจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐที่ได้อนุมัติไปในวันเดียวกันนี้ ขณะที่การบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม ในช่วงแรกสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะโอนอำนาจการดูแลไปยังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2561 รฟม. จะตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดูแลต่อไป
เห็นชอบ Smart VISA ดึงต่างชาติฝีมือดีพัฒนาประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ SMART VISA เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถสูง 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1) แรงงานทักษะสูง ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 2) นักลงทุน และ 3) กลุ่ม Startup หรือ Digital Nomad ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ โดยต้องผ่านคุณสมบัติต่างๆ เช่น ผ่านระดับการศึกษาขั้นต่ำ มีการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน มีการลงทุนมากกว่าขั้นต่ำที่กำหนด เป็นต้น โดยรัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ ได้แก่ สิทธิพำนักในประเทศไทยตามระยะเวลาที่กำหนดสูงสุดไม่เกิน 4 ปี (ขึ้นอยู่กับประเภทของกลุ่มบุคคล), ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit, ผู้ติดตาม (คู่สมรสและบุตร) ได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยเทียบเท่ากับผู้ที่ถือ SMART Visa และขยายระยะเวลาการรายงานตัวจากทุก 90 วัน เป็นทุก 1 ปี ทั้งนี้ ครม. ได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ประสานงานและเริ่มใช้ SMART Visa ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561
อนุมัติงบกลาง 2,225 ล้านบาท พัฒนาการเกษตร-แก้น้ำท่วม
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติจัดสรรงบกลางประจำปีงบประมาณ 2560 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้มีการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 11 โครงการ ใช้จ่ายเงินจากงบกลางปี 2560 ในกรอบวงเงิน 2,225.42 ล้านบาท โดยจะแบ่งออกเป็นแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 528.81 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 1,696.61 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 โครงการของกรมชลประทานวงเงิน 1,737.3 ล้านบาท และโครงการพัฒนาการเกษตรจำนวน 8 โครงการ วงเงิน 488.12 ล้านบาท ได้แก่
1) โครงการตลาดเกษตรอินทรีย์ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะมีการสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ตลาด อ.ต.ก. ในพื้นที่ปัจจุบันบริเวณพหลโยธิน ใช้งบประมาณ 9.17 ล้านบาท
2) โครงการพัฒนาตลาดน้ำ อ.ต.ก. จะมีการสร้างตลาดน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ อ.ต.ก. ปัจจุบันบริเวณริมคลองบางซื่อ ใช้งบประมาณ 25.54 ล้านบาท
3) โครงการโรงแช่แข็งผลไม้และห้องเย็นของ อ.ต.ก. ในพื้นที่ใต้อาคารจอดรถ 6 ชั้นและบริเวณพื้นที่ อ.ต.ก. ของแต่ละภูมิภาค ใช้งบประมาณ 20.25 ล้านบาท
4) โครงการสนับสนุนการสร้างปัจจัยพื้นฐานรวบรวมและจัดเก็บข้าวเปลือกคุณภาพ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ใช้งบประมาณ 232.01 ล้านบาท โดยดำเนินการในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใน 100 แห่ง
5) กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังจัดทำโครงการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพในสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ เพื่อจะอุดหนุนเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติแก่สถาบันเกษตรจำนวน 4 สถาบัน ใช้งบประมาณ 6.53 ล้านบาท
6) กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้จัดตั้งโครงการสร้างศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ใช้งบประมาณ 123.74 ล้านบาท
7) กรมวิชาการเกษตรได้จัดตั้งโครงการสร้างเครือข่ายเม็ดพันธุ์พืชเมล็ดพันธุ์ดี 3 ชนิด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง สนับสนุนการปลูกพืชหลังนาในพื้นที่แปลงใหญ่ ใช้งบประมาณ 16.90 ล้านบาท
8) กรมหม่อนไหมได้จัดตั้งโครงการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตไข่ไหม โดยการสร้างอาคารห้องเย็นจำนวน 5 หลัง รวมทั้งโรงเลี้ยงไหมขนาด 500 แม่พันธุ์ ใช้งบประมาณ 53.94 ล้านบาท
ปรับเพิ่มวงเงินจ้างที่ปรึกษาคุมงาน”รถไฟไทย-จีน”เป็น 3,5000 ล้านบาท
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างสัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant Services Agreement) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) โดยให้ปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.2 ที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้าง จากวงเงินเดิม 1,649.08 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) เนื่องจากเดิมไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความปลอดภัยไว้ ซึ่งในทางปฏิบัติต้องรวมในสัญญาด้วย โดยวิธีการปรับเกลี่ยจากค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวงเงินรวมของโครงการฯจำนวน 179,412.21 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560
ไฟเขียวกคช.กู้เงิน 464 ล้าน ลุยโครงการ”ประชานิเวศน์ 3″
นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบอนุมัติการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า (TOD) ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ประชานิเวศน์ 3) จำนวน 556 หน่วย วงเงินลงทุนรวม 464.40 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ภายในประเทศ 413.82 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาและเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้เงินรายได้ 50.59 ล้านบาท โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.)สามารถดำเนินโครงการได้ เมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสร้างเป็นอาคารชุด 8 ชั้น ในพื้นที่ 6.3 ไร่ ประกอบด้วย ห้องพักขนาด 25 ตารางเมตร 94 ยูนิต และห้องพักขนาด 30 ตารางเมตร 455 ยูนิต และเป็นพื้นที่ร้านค้าอีก 7 ยูนิต อยู่ห่างจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูประมาณ 2.5 กิโลเมตร ราคาตั้งแต่ 820,000-1,194,000 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่คนจบใหม่ ครอบครัวใหม่ รายได้ตั้งแต่ 24,700-35,300 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ประมาณ 30% และกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 35,300 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ประมาณ 70%
เห็นชอบ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม
นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญให้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ, ให้มีการจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มขึ้นในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ, กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มนำเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนด และกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มหากไม่ปฏิบัติหรือกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
เพิ่มชื่อ”ประวิตร” นั่งรอง ปธ.ยุทธศาสตร์ชาติ
พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีการเห็นชอบใน 3 ประการที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คือ
1) แต่งตั้ง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่มอีก 1 คน
2) เห็นชอบรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ, นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO), นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ, ด้านสังคม ได้แก่ นายบัณฑูรย์ ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส), ด้านการศึกษา ประกอบด้วย นายเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และอดีตเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูปประเทศและเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และด้านสาธารณสุข ได้แก่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิกสปช., นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
“สำหรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ยังสามารถแต่งตั้งได้อีก 5 ตำแหน่ง ซึ่งจะพิจารณา เพื่อแต่งตั้งเพิ่มเติมต่อไป” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว
3) เห็นชอบให้ส่งนายวิษณุ เป็นตัวแทนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปร่วมประชุมเพื่อชี้แจงต่อวาระการทำงานด้านปฏิรูป ในวันที่ 30 สิงหาคม 2560
นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ได้มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ขอรับโอนพ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ และทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง