ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” วอนเห็นใจรัฐบาล อย่าตั้งฉายาเพื่อความสนุก – มติ ครม.เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป 1-3%

“บิ๊กตู่” วอนเห็นใจรัฐบาล อย่าตั้งฉายาเพื่อความสนุก – มติ ครม.เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป 1-3%

24 ธันวาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

“บิ๊กตู่” วอนเห็นใจรัฐบาล อย่าตั้งฉายาเพื่อความสนุก – มติ ครม.เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป 1-3%

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุมในวันนี้ถือเป็นการประชุม ครม.นัดสุดท้ายของปี 2562 โดยนายกรัฐมนตรีได้อวยพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2563 กับ ครม.โดยระบุว่า “ในเมื่อเราทำงานเข้าขากันแล้ว ปีใหม่นี้ ขอให้ช่วยกันตั้งใจทำงาน สุขภาพแข็งแรง ช่วยกันดูแลบ้านเมือง” 

นอกจากนี้ยังได้อวยพรให้กับประชาชนทุกคน โดยระบุว่า “ปีใหม่ขอให้ทุกคนได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นคนดีในสังคม เป็นคนที่มีคุณภาพ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน คือดื่มไม่ขับซึ่งเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพื่อทุกคนกลับได้อย่างปลอดภัย หากพลขับมีการดื่มสุราวันนี้ต้องติดคุกหมด เจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบไปด้วย เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ขอให้ทุกคนเดินทางปลอดภัย เราคงพบกันบ้างไม่พบกันบ้างในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทุกคนมีภาระมีหน้าที่กลับไปเยี่ยมบ้านอย่างปลอดภัย อย่าคึกคะนองดื่มสุราระหว่างขับรถ รวมถึงสื่อด้วย ขอให้ปลอดภัยกลับมาปีใหม่เห็นหน้ากันพร้อมเพรียง ขอทุกคนมีความสุขตลอดไป”

แสดงความเสียใจ – จัดเยียวยาครอบครัวชาวนราธิวาสที่เสียชีวิต 3 ราย

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จังหวัดนราธิวาส กรณีเจ้าหน้าที่สำคัญผิด ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งก็ไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันแรกที่ทราบเรื่องแล้วให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเร่งรัดเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต

“ขอให้ทุกคนมั่นใจ ซึ่งผมได้เน้นย้ำในการปฏิบัติงานให้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชาวบ้านยิ่งขึ้นว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

อย่าเหมา โรงงานปิดตัว เหตุทนพิษ ศก.ไม่ไหว – ชี้เปิดใหม่เพิ่ม 3 เท่า

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม คาดหวังว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นจะดีขึ้นจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกตอนนี้ไม่ค่อยดีทุกประเทศกำลังลำบากในช่วงนี้ ฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ หากทำให้ความรู้สึกโดยรวมรู้สึกอยู่ตลอดว่าไม่ดีมากๆ ก็เกินเลยไป

“ถ้าสร้างความมั่นใจว่าเรายังไปได้อยู่ อาจจะชะลอตัวบ้างแต่หากเราร่วมมือกันทั้งรัฐ รัฐวิสาหกิจ ประชาชน และภาคธุรกิจ ปรับเปลี่ยนบ้าง เช่นในปลายปีนี้รัฐบาลได้ทดลองนำร่องในการเปิดถนนคนเดินทั่วประเทศ ซึ่งครั้งที่ผ่านมาตนได้ไปร่วมในพิธีเปิดนี้ด้วย เชื่อว่าการกระตุ้นการจับจ่ายระยะสั้นลงในแต่ละจังหวัดนั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากมีการหมุนเวียนได้ดีขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา และหากเมื่อภาครัฐมีงบประมาณเพิ่มเติมไปในระบบทุกอย่างน่าจะดีขึ้น”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการอื่นที่รัฐคิดไว้ก็มีมาก อาทิ โครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย โครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บข้าว ปรับปรุงคุณภาพข้าว เสริมกับการประกันราคาข้าว รวมความถึงพืชเกษตรอื่นๆ ด้วย ซึ่งตนรู้สึกดีใจที่ราคาปาล์มดีขึ้น นี่คือการแก้ปัญหาทั้งระบบ ที่ผ่านมาอาจจะช้าเพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนการบวนการ เครื่องจักร วันนี้ก็เดินหน้าไปได้ด้วยดี มาตรการลดภาระสินเชื่อที่อยู่อาศัย โครงการบ้านดีมีดาวน์ เป็นการลดภาระสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และเรื่องการปรับเปลี่ยนการซื้อบ้านสำหรับผู้ไม่มีกำลังซื้อคือบ้านให้เช่า ราคา 999 บาทต่อเดือน รัฐบาลทำงานในลักษณะนี้

“ผมต้องการให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ไตรมาส 4 ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผลไปยังไตรมาสแรกของปี 2563 รวมทั้งการลงทุนในรัฐวิสาหกิจต่างๆ เกือบแสนล้านบาท ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว ต้องจ่ายใช้เงินอย่างเหมาะสม ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันด้วยความเข้าใจจะไปบังคับเขาไม่ได้ แต่หากต้องการมีรายได้ดีขึ้นก็ต้องปรับเปลี่ยนกันบ้าง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต เพราะไม่เช่นนั้นจะกระเทือนไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ การปลดพนักงาน ธุรกิจปิดตัว รัฐบาลก็มีมาตราการรองรับไว้หลายด้าน จึงไม่อยากให้เหมารวมว่า เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าตรวจสอบดูจะพบว่า หลายโรงงานเขาสมัครใจที่จะปิดตัวเอง เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว หรือ ไม่สามารถพัฒนาสินค้าได้ จึงจำเป็นต้องปิดตัวลง ซึ่งมีโรงงานที่ปิดตัวลงจำนวน 1,480 แห่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีการเปิดโรงงานใหม่ ๆ มากขึ้นเพิ่มเป็นสามเท่า มีการจ้างงานใหม่จำนวน 178,733 คน มีมูลค่าการลงทุนแสนล้านบาทมีการหมุนเวียนแรงงานแต่จะมีการพัฒนาหรือเปล่าก็ขึ้นกับทุกคนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งภาวะการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี วันนี้ตัวเลขการจ้างงานมีมากกว่าคนตกงาน ถือเป็นเรื่องธรรมดาของโลกปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่ายินดีจากงาน OTOP City 2019 มหกรรมของขวัญของฝากจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จัดขึ้นที่ อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 15-23 ธันวาคม ที่ผ่านมา มียอดขายพุ่งทำลายสถิติการจัดงานในรอบ 5 ปีมานี้ มูลค่า 1,372,544,399 บาท  ซึ่งตนอยากฝากให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของตลาด เพราะทางเลือกผู้บริโภคมีมากขึ้น ทำให้การค้าขายระบบค้าปลีกได้รับผลกระทบมากพอสมควรในเรื่องนี้ หากผลิตสินค้าเดิมๆ ก็จะเป็นหาต่อไปในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการทางการเงินวันนี้ ทุกคนทราบดีว่าเรามีปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งตัว ซึ่งมีมาจากหลายสาเหตุ โดยเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานต่างๆ เพื่อหามาตราการการผ่อนคลายว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้มีมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการออกมาตรการที่จะให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ จึงไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกกันมากเกินไป

วอนเห็นใจรัฐบาล อย่าตั้งฉายาเพื่อความสนุก

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการตั้งฉายารัฐบาล ว่า ตนไม่ได้สนใจตรงนี้มากมาย แต่ตนอยากให้มองย้อนกลับไป โดยไม่อยากให้ใครมาตั้งฉายาในลักษณะที่เป็นความสนุกสนานมากเกินไป ต้องเห็นใจว่ารัฐบาลพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และทุกคนที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในระบบ ไม่ว่าคนเก่าหรือคนใหม่ก็ต้องไปดูว่าประชาชนเลือกใครมา ถ้าประชาชนเลือกมาตนก็ไม่มีตัวเลือกมากนักที่จะทำอย่างอื่นได้ ตนต้องบริหารงานให้ได้ ด้วยวิธีการคือทำอย่างไรให้เขาเข้าใจการดำเนินงานของรัฐบาลในวันนี้

“ผมคิดว่าทุกอย่างยังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ฉะนั้นอย่าโจมตีเรื่องนี้มากนัก หากจะให้คนใหม่เข้ามาก็ต้องไปดูด้วยว่าคนใหม่เป็นอย่างไร เข้ามาแล้วจะทำอะไรบ้าง ทำได้หรือเปล่า บ้านเมืองจะเสียหายหรือเปล่าต้องไปดูตรงนั้น ผมมองในมุมของความมั่นคงไปด้วย ในเรื่องของสถาบันต่างๆ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างอยู่คู่กับประชาชนชาวไทยไปได้นานเท่านาน” นายกรัฐในตรี กล่าว

แจงแปรรูปหมอนยางพาราเป็นแค่แนวคิด

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีข้อสั่งการให้แปรรูปยางพารา ที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวคิดในการนำมาแปรรูปเป็นหมอนยางพารา โดยมีกระแสวิพากวิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณต่อกรณีดังกล่าวที่อาจเอื้อต่อการทุจริต และหน่วยงานองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ที่รับผิดชอบมีปัญหาขัดข้องไม่สามารถดำเนินการได้ ว่า เรื่องของหมอนยางพาราตอนนี้ยังไม่ข้อยุติใดๆ ทั้งสิ้น ยืนยันว่ายังเป็นเพียงแนวคิด ถ้าคิดแล้วผิดก็ไม่ต้องทำเท่านั้นเอง ต้องดูว่าราคาแพงรึเปล่า คุ้มค่าหรือไม่ ช่วยแก่ปัญหายางพาราหรือเปล่า

“ก็แค่เขาคิดมา ยังไม่มีการเสนออะไรให้ผมทราบ ผมเห็นมาจากในสื่อ ผมก็ได้บอกในที่ประชุมไปแล้ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เร่งจัดระเบียบที่ดิน คำนึงคนจนเป็นหลัก

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม ถึงการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนว่า เป็นปัญหาที่ภาครัฐได้แก้มายาวนาน จึงมีกลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ขึ้นมา รวมถึงกลไกแผนที่มาตรา 1: 4,000 เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเป็นพื้นที่ โดยใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าจะพื้นที่ป่า หรือพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยมาแต่เดิม แต่หากตรงไหนไม่มีปัญหาก็ไม่ได้ใช้แผนที่ 1:4,000 ตรงไหนที่มีการบุกรุก พิสูจน์สิทธิแล้ว บางอย่างต้องปรับเป็นการเช่าที่ให้ถูกต้อง เป็นการพิจารณาร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำที่ดินเหล่านั้นมาให้ผู้ไม่มีที่ทำกิน ที่ผ่านมาดำเนินการไปหลายแสนครัวเรือนแล้ว

และยังมีอีกเยอะ ตอนนี้มีปัญหาทุกจังหวัด ตนได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ตอนนี้ขอให้รู้ไว้ว่าอย่าบุกรุกกันอีก และตอนนี้ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ภาครัฐต้องหามาตรการที่เหมาะสม อันไหนที่ผิดชัดก็ขอให้คืน ปรับเปลี่ยนไปเป็นเช่า เราต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดในที่ดินที่มีจำนวนน้อย ต้องนึกถึงคนยากจนเป็นหลัก ไม่ใช่ดูแลคนรวยหรือดูแลคนจน ถ้าคิดแบบนี้แก้ไม่ได้สักอัน

ย้ำมาตรการดูแลคนรายได้น้อย ไม่ใช่ “ประชานิยม”

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม ถึงมาตรการในการดูแลประชาชนว่า ตนได้มอบนโยบายไปแล้วว่า นโยบายของรัฐบาลนี้ต้องนำเป้าหมายมาเป็นตัวกำหนดในการจัดทำโครงการต่างๆ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือไม่ได้เรียกว่าเป็นประชานิยม เพราะประชานิยมคือการหว่านลงไปทั้งหมด โดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขอยันว่าไม่เหมือนกับประชานิยม เพราะเราไม่ได้ให้ทั้งหมด แต่เราให้กับผู้ที่รายได้ต่ำกว่าแสนบาทต่อปี เพราะเราต้องดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย เรื่องนี้ขอให้ทำความเข้าใจกันให้ดี

“อย่ามาบอกว่านายกฯ เห็นว่าไม่ชอบประชานิยม ก็ผมเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้น ไม่ใช่ประชานิยม ถ้าเป็นประชานิยมก็ต้องทำให้คนรักผมทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่าง การดูแลเด็กตั้งแต่ 0-6 ปี เพื่อให้มีคุณภาพในการเลี้ยงดู หลายๆ เรื่องต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่จะต้องดูแลถึงระดับปริญญา จะเอาเงินที่ไหนไปดูแลแบบนั้น เรายังไม่มีรายได้ที่สูงพอ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของประชานิยม เพราะคนที่ได้รับประโยชน์ตรงนี้คือ แม่ประมาณล้านกว่าคนเท่านั้น และยังใช้เงินไม่มากเท่าไร วันหน้ามีเงินมากกว่านี้ก็ดูแลตรงอื่นไปด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ห่วงภัยแล้ง – ชี้เพิ่ม พท. เก็บน้ำ 4 เท่า ก็ไม่พอ

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม เรื่องภัยแล้งวันนี้ตนได้รับรายงาน และตนก็มีความเป็นห่วงมาโดยตลอดเรื่องสถานการณ์ฝนในช่วงที่ผ่านมานั้นน้อยมาก และทิ้งช่วง อากาศหนาวก็เข้ามาความแห้งแล้งก็เริ่มปรากฏ แต่คงจะไปเกิดผลกระทบมากๆ หลังจากปีใหม่ไปแล้ว ทั้งนี้ตนขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมไว้ด้วย โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค

“รัฐบาลได้สั่งให้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลทั้งหมด 500 กว่าบ่อ ซึ่งดำเนินการเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ก็คงจะหางบประมาณในการจัดเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค และรวมความไปถึงเรื่องน้ำประปาต่างๆ ด้วย รวมถึงการจัดเตรียมรถส่งน้ำขนน้ำไปให้บริการ และน้ำการเกษตรต้องมีปัญหาแน่นอน ฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาคู่กับคนไทยมาโดยตลอด การแก้ปัญหานั้นต้องแก้อย่างต่อเนื่อง โครงการขนาดใหญ่ใช้งบประมาณสูงมากและใช้เวลายาวนานก็ต้องดำเนินการต่อไปในหลายๆ ส่วน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากความห่วงใยถึงภาคการเกษตร ให้เกษตรกรระมัดระวังบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช ซึ่งด้านรัฐบาลจะเตรียมมาตรการเสริมในช่วงที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ นอกจากนี้น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศนั้นน้อยลง การกักเก็บน้ำเป็นไปได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีการระบายน้ำน้อย เพราะน้ำต้นทุนน้อยมาก จากฝนที่ตกน้อย มีผลแน่นอนกับการเกษตร ขอให้ทุกคนร่วมมือกันอดทนและฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้ รัฐบาลก็พยายามอย่างยิ่งยวดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลสามารถขยายและปรับพื้นที่เก็บกักน้ำไปได้ถึง 4 เท่า แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก เพราะพื้นที่การเกษตรนั้นกระจายตัวในทุกภูมิภาคของประเทศ ก็ต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแก้ปัญหาได้เต็มประสิทธิภาพ

สั่ง มท. ลุยแก้รถติดแยกเอสพลานาด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการแก้ปัญหาจราจรบริเวณแยกเอสพลานาด ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นมีห้างสรรพสินค้า เอสพลานาด และตลาดรถไฟอยู่ใกล้เคียงกัน รัฐบาลได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่ามีปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณโดยรอบทั้งหมด รวมถึงพื้นที่บริเวณศูนย์วัฒนธรรมด้วย โดยวันนี้ตนได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเรียกประชุมและหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

“วันนี้ได้รับความร่วมมือพอสมควรในการแก้ปัญหาระยะสั้น จัดหาที่จอดรถชั่วคราวต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปจอดในพื้นที่ใกล้ตลาดมากเกินไปทำให้มีปัญหาเรื่องการสัญจรไปมาบนถนนดังกล่าวซึ่งเป็นถนนหลักในการสัญจร อยากบอกว่าเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้มีการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานอื่นเป็นการชั่วคราวเพื่อจอดรถ วันนี้จอดซ้อนคันกันมากไปแก้อย่างอื่นก็ไม่ได้ ย้ายตลาดก็ไม่ได้ ก็เดือดร้อนกันไปหมด ฉะนั้นก็ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งแท็กซี่และรถส่วนบุคคลด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เตือน ปชช. อย่าตื่น หลังได้รับจม.เรียกเสียภาษีที่ดิน

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ตนทราบว่าทุกคนตื่นตระหนกจาการที่ได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งตนอยากให้มองก่อนว่าเจตนารมย์ของหน่วยงานคือการเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ ให้ตรงกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพย์สินโดยตรง เพราะงบประมาณเหล่านี้ก็สนับสนุนรายรับ รายจ่ายของท้องถิ่นด้วย เพื่อไปพัฒนาพื้นที่

“หากเรามีงบประมาณท้องถิ่นน้อยเกินไป เราก็ต้องเอางบกลางไปเสริมมาก งบกลางนั้นต้องทำอย่างอื่นอีกเยอะ เพราะอย่างนี้นทำอย่างรจึงจะเข้มแข็งได้ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป วันนี้อยากทำความเข้าในว่าที่ต้องเสียภาษีมี 2 อย่างคือ กรณีอื่นๆ ที่ไม่ได้มีรายได้เพิ่มเติมอันนี้เสียภาษีน้อยมากอยู่แล้ว ส่วนที่สองคือการแปลงบ้านไปให้เช่า ก็ต้องเสียภาษีอีกอัตราหนึ่ง เพราะมีรายได้ขึ้นมา นี่เป็นหลักการสำคัญอยู่แล้ว เขาจะได้พิจารณาเก็บภาษีให้ถูกต้องแค่นั้นเอง ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปรีดภาษีจากใคร” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้ประชาชนยังคงมีเวลาอีก 4 เดือน ที่แจ้งไปอย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพียงขอให้ช่วยไปแจ้งรายละเอียดว่าบ้านที่มีตรงนู้นตรงนี้ใช้ประโยชน์เพื่ออะไร ถ้าไม่แจ้งก็เดือนร้อนกันไปหมด คนทำงานก็ทำไม่ได้ เก็บอะไรก็ไม่ได้ข้อมูลไม่มี ฉะนั้นต้องยอมรับในกติกาด้วย เราต้องช่วยพัฒนาประเทศกันไปด้วย

สั่งคณะทำงานตรวจ “คอลเซ็นเตอร์” หน่วยงานรัฐ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ตนได้ย้ำเตือนในที่ประชุม ครม.ไปอีกครั้งหนึ่งสำหรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารกับประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะมีการตรวจสอบโดยคณะทำงานของรัฐบาลจะตรวจสอบไปยังศูนย์บริการต่างๆ ของกระทรวงและกรมต่างๆ ว่าสามารถตอบคำถามของประชาชนได้จริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นตนจะถูกครหาว่านายกฯ พูดแล้วในทางปฏิบัตินั้นทำไม่ได้ เพราะขอข้อมูลจากใครไม่ได้

“ทุกคนก็โยนกันไปมา ผมจะตรวจสอบเอง และผมได้สั่งให้รัฐมนตรี สั่งให้ปลัดกระทรวง กรมต่างๆ ไปกวดขันศูนย์ให้ข้อมูลข่าวสารตามเบอร์โทรศัพท์ต่างๆ ก็ขอให้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด อย่าใช้เพื่อความสนุกสนานแกล้งเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องวางตัวให้เหมาะสม ต้องตอบคำถามให้ได้ อย่าโยนกันไปมา หากตอบไม่ได้ก็ต้องชี้ให้ชัดว่าจะไปถามที่ไหน ต่อไปนี้ต้องมีการกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ รวมความไปถึงศูนย์ให้บริการเรื่องธุรกิจเอกชนต่างๆ ฉะนั้นประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำงานของรัฐบาล และต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมด้วย ทางรัฐมนตรีก็รับไปดูแลทั้งหมด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป 1-3%

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2563 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563 แบ่งเป็นรายละเอียด 5 ด้าน

  • หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้พลวัตเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากในอดีต อีกทั้งโครงสร้างตะกร้าเงินเฟ้อไทยที่มีสัดส่วนของอาหารและพลังงานสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาอาหารสดในประเทศและราคาพลังงานโลกที่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น ทำให้ปัจจัยภายนอกประเทศต่าง ๆ เช่น สงครามทางการค้า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นจะเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ในการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง. จะพิจารณาความสำคัญของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือก (policy trade-off) ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

  • เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. จึงมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2563 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทยนอกจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบเป้าหมายเป็นช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริง
  • การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน กค. และ ธปท. จะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน รวมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ (1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาส เพื่อสร้างการรับรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับแนวทางการตัดสินใจนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
  • การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปจะผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
  • การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

“นอกจากนี้ ท่านนายกฯ ยังได้สั่งการให้หารือเกี่ยวกับการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่ากระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงานทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เป็นเวทีหารือพูดคุยแลกเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความสอดคล้องกัน โดยไม่ใช้การแทรกแซงการทำงานของธปท. ธปท.ยังคงมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเต็มที่อยู่เหมือนเดิม” ศ.ดร.นฤมล กล่าว

ปรับกรอบบริหารนโยบายการคลังเป็น 4 ปี

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐรายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้มีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบให้มีการปรับระยะเวลาของแผนการคลังระยะปานกลางจากเดิม 3 ปีเป็น 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยแผนการคลังฉบับนี้จะเป็นแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564-2567) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ)

2. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1 – 4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565 – 2567 มีแนวโน้มที่ GDP จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.3-4.3 (ค่ากลางร้อยละ 3.8) และเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 (ค่ากลางร้อยละ 4.0) ในปี 2566-2567 จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออกและแรงกระตุ้นจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วงร้อยละ 0.9 – 1.9 (ค่ากลางร้อยละ 1.4) ในปี 2565 มาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 ถึง 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) ในปี 2566 และร้อยละ 1.2 – 2.2 (ค่ากลางร้อยละ 1.7) ในปี 2567

  • สถานะและประมาณการการคลัง ดังนี้

  • เป้าหมายและนโยบายการคลัง ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหากในระยะต่อไปภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ 3 ด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
    •  มาตรการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สงป. จะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงาน
    • มาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดย กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบเพื่อให้มีการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม อีกทั้งจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งรายได้จากภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
    • มาตรการด้านการรักษาวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะจะต้องยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) ในการบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้ง ดำเนินการทางการคลังอย่างรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย

    ขยายเวลาลดหย่อน บริจาคเงินสถานศึกษา

    ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ) โดยมีสาระสำคัญคือขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการศึกษา โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

    ต่อมาตรการลดหย่อนภาษี SMEs อีก 2 ปี

    ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)] โดยมีสาระสำคัญคือเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (มาตรการพี่ช่วยน้อง) ที่ให้สามารถลดหย่อยภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่าย ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง

    ยกเว้นภาษีส่งเสริม e-payment ไม่เกิน 1 พันบาท

    ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์) โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดให้เงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินชดเชยดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งพันบาท

    นายกฯรับข้อเสนอเครือข่ายสตรี สั่งทุกกระทรวงร่วมบูรณาการ

    ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 มีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ความก้าวหน้านโยบายผู้หญิง” ที่สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มเครือข่ายสตรีได้ยื่นข้อเสนอแก่นายกรัฐมนตรีผ่านตนเอง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้หญิงให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

    “ทั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องในช่วงเช้า ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นในวาระอื่น ท่านนายกก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบข้อเสนอประกอบด้วย 1.ปฏิรูปโครงสร้างงานพิทักษ์เด็กสตรีและการค้ามนุษย์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.พัฒนาบุคลากรระดับท้องถิ่นให้มีความเข้าใจในเรื่องการคุ้มครองเด็กและบุคคลในครอบครัว 3.เร่งดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์ควบคุมสุราและยาเสพติด เนื่องจากสองสิ่งนี้สร้างภาระและเป็นเหตุแห่งความรุนแรงในครอบครัว 4.กระทรวงศึกษายกระดับหลักสูตรเรื่องเพศศึกษาให้เป็นแบบครอบคลุม สอนเรื่องทักษะชีวิต บทบาทในครอบครัวของชายหญิง การให้เกียรติเพศตรงข้าม และการปกป้องตนเอง 5.แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เป็นต้น”

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงกลับไปทบทวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้อง และยังได้แต่งตั้งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบการบูรณาการแก้ปัญหาเพราะหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เพิ่มเติมจากที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกำลังขับเคลื่อนการยุติการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ การส่งเสริมทัศนคติที่ถูกต้องเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

    สั่งทุกหน่วยเร่งขับเคลื่อนนโยบาย รองรับสังคมคนชรา

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.รับทราบสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันมีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ และพิจิตร จังหวัดที่มีอัตราผู้สูงอายุต่ำที่สุด 3 อันดับสุดท้ายคือ ภูเก็ต ชลบุรี และสมุทรสาคร ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยอยู่ที่ 77 ปี และมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.5 คน

    ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อประชากรวัยเด็กลดลง นำไปสู่ความจำเป็นต้องยุบและควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ประชากรวัยทำงานที่ลดลงทำให้ต้องขยายอายุการทำงาน นำเข้าแรงงานบางประเภท การใช้เทคโนโลยีทดแทน และต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ในส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการจัดระบบสวัสดิการและการประกันสังคมแก่ผู้สูงอายุ การบริการทางด้านสุขอนามัย และการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ สำหรับปี 2561 รัฐบาลได้จ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุจำนวน 8.38 ล้านคน เป็นเงินงบประมาณ 66,000 ล้านบาท และดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สิ้นเดือนธันวาคม มีผู้บริจาค 811 ราย เป็นจำนวนเงิน 2.8 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้สูงอายุ 11.7ล้านคน ยังเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 4.36 ล้านคน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่า โดยในภาพรวมเป็นการทำงานนอกระบบร้อยละ 88.2 ซึ่งเท่ากับเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกอบด้วย

      (1)เสริมทักษะหรือเพิ่มทักษะใหม่ให้กับแรงงานสูงอายุภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
      (2)สร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุ ด้วยการออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขตามวัยของแรงงาน
      (3)สร้างแรงจูงใจและขยายสิทธิประโยชน์ให้กับนายจ้างที่จ้างแรงงานสูงอายุ
      (4)ขยายอายุในการเริ่มรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้ยาวนานกว่าที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ในกรณีของแรงงานภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม
      (5)หามาตรการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพ
      (6)เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกิจกรรมเพื่อสังคม(Corporate Social Responsibility : CSR) ของภาคเอกชนในการส่งเสริมสร้างงานแก่ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ
      (7)ปรับแก้กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ รวมทั้งขยายอายุเกษียณของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
      (8)สร้างมโนทัศใหม่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อให้สังคมเห็นว่าผู้สูงอายุมีพลังและมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงาน

    ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กองทุนการออมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯเสนอ

    ขยายเวลาสมัครเป็นผู้ประกันตนถึง 65 ปี

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.เห็นชอบขยายอายุผู้ประกันตนจาก 60 ปีเป็น 65 ปี ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสืบเนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและยังมีสุขภาพแข็งแรงสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ และเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครม.จึงเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ขยายคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม จาก “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์” ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าประกันตนตามมาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร รวมไปถึงพนักงานอิสระต่างๆ

    “สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ เช่น เจ็บป่วยจะได้รับค่าชดเชยวันละ 300 บาท (ไม่เกิน 30 วันต่อปี) หากทุพพลภาพจะได้รับเงินทดแทน กรณีเสียชีวิตได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินและระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ” ผศ.ดร.รัชดา กล่าว

    อนึ่ง จากการประมาณการข้อมูลประชากรเพศชายเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 61-65 ปี จำนวน 4 ล้านคน ในปี 2563 คาดว่าจะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 63,768 คน เป็นเพศชาย 1.4% เพศหญิง 1.75% จำนวนเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลคิดเป็น 45,147,600 บาท การประกันตนมีสามทางเลือกด้วยกันคือ 1) ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ70บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท 2) ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 100บาท รัฐจ่ายสมทบ50 บาท 3) ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 300บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท

    ออกกฎกระทรวง รับมือโรคระบาดในสัตว์

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ เพื่อป้องกันโรคระบาด มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านประเทศไทย โดยจะกระทำได้ผ่านในอาณาเขตท่าเข้าหรือท่าออกเท่านั้น อธิบดีเป็นผู้มีอำนาจออกประกาศกำหนดพื้นที่ตรวจโรคและทำลายเชื้อโรคสำหรับสัตว์หรือซากสัตว์ภายในบริเวณท่าเข้าหรือท่าออก ผู้ประสงค์จะนำเข้าส่งออก หรือนำผ่านสัตว์หรือซากสัตว์ต้องยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย และให้สัตวแพทย์ประจำท่าเข้าตรวจสอบหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์หรือหนังสือรับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ซึ่งออกโดยสัตวแพทย์ของประเทศที่นำสัตว์หรือซากสัตว์นั้นมา หากไม่มีหนังสือรับรองหรือมีแต่การรับรองไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงตามเงื่อนไขฯ ให้สัตวแพทย์ฯมีหน้าที่ตรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากสัตว์หรือซากสัตว์ที่จะนำเข้ามาในประเทศเพื่อทดสอบโรคได้ และให้กักสัตว์ไว้สังเกตอาการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพบโรคหรือพาหะของโรคระบาด สัตวแพทย์ฯประจำท่าเข้าดำเนินการทำลายหรือจัดการโดยวิธีที่เหมาะสม

    “ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้เวลาแก่ผู้ประกอบการได้มีเวลาเตรียมความพร้อม และทางกระทรวงเกษตรฯจะต้องแจ้งให้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ทราบ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาโรคระบาดในสุกรในปี 2562 ที่ผ่านมากว่า 27 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงเพื่อนบ้านของไทย แต่เนื่องจากไทยมีการขอครม.อนุมัติเพื่อเตรียมการรับมืออย่างเข้มงวดจึงไม่มีโนโรคระบาดเข้ามายังไทย ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคตจึงออกเป็นกฎกระทรวงนี้ให้มีผลบังคับใช้โดยทั่วไปด้วย” ผศ.ดร.รัชดา กล่าว

    อนุมัติเงินกู้ 2,158 ล้าน ช่วยลาว-เมียนมา สร้างสะพาน-สาธารณูปโภค

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.เห็นชอบให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาและลาว 2 โครงการ แบ่งเป็น

      1) โครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี (การปรับปรุงระบบน้ำประปา และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะ) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 777.77 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินงบประมาณ 50% และเงินกู้ภายในประเทศอีก 50% อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี) มีการใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญาเงินกู้

    ความสำคัญชองเมืองเมียวดี คือเป็นพื้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาและไทยเนื่องจากเป็นพื้นที่การค้าชายแดนกับไทยผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงประาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นเส้นทางการสัญจรของสินค้าและผู้คนจากไทยไปยังเมืองสำคัญต่างๆของเมียนมา การให้การช่วยเหลือในโครงการฯนี้จะเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคของเมียวดีให้สามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับเมือง และระดับประเทศบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ประชาชนที่อาศัยในเมืองเมียวดีจะสามารถเข้าถึงน้ำประปาได้อย่างทั่วถึงและประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางขยะที่น้อยลง

      2) โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือไทย – สปป.ลาว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 อนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานฯ ในส่วนของขอบเขตงานในฝั่งประเทศไทย วงเงินรวม 2,630 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแล้ว

    โดยในส่วนขอบเขตงานในฝั่ง สปป.ลาว รัฐบาล สปป.ลาว ได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก สพพ. ในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน วงเงินให้ความช่วยเหลือ 1,380.067 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินงบประมาณ 50% และเงินกู้ภายในประเทศอีก 50 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี) แบละมีการใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญาเงินกู้เช่นเดียวกัน

    ทั้งนี้ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง รูปแบบงานสะพานเป็นแบบ Extra dosed Prestressed Concrete ประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 405 เมตร (แบ่งครึ่งกับฝ่ายไทยแล้ว) และโครงสร้างเชิงลาดในพรมแดนลาวระยะทาง 130 เมตร โดยพื้นที่ก่อสร้างสำหรับงานในฝั่งไทยอยู่ในตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และส่วนฝั่ง สปป.ลาว อยู่ในเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ส่วนการก่อสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว เป็นถนน 4 ช่องจราจรมีความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร รวมระบบงานระบายน้ำและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยงานก่อสร้างถนนฝั่ง สปป.ลาว มีระยะทาง 2.86 กิโลเมตร และมีจุดสลับทิศทางจราจรในฝั่ง สปป.ลาว ส่วนงานอาคารด่านพรมแดนก่อสร้างตามมาตรฐานสากลประกอบด้วย 2 ส่วนแยกทางเข้าออกจากกัน คือ กลุ่มอาคารสำหรับตรวจผู้โดยสารและกลุ่มอาคารสำหรับตรวจสินค้า

    คมนาคมจัดของขวัญปีใหม่ ขึ้นทางด่วนฟรี – ลดค่าใช้จ่ายเดินทาง

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติของขวัญปีใหม่ 2563 ของกระทรวงคมนาคม ทั้งยกเว้นค่าผ่านทาง ขยายระยะเวลาให้บริการ และอำนวยความสะดวก เพื่อความปลอดภัย ครอบคลุมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ และขยายเวลาให้บริการ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แก่ประชาชนและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ครอบคลุมทั้งการเดินทางบก น้ำ และ อากาศ  รายละเอียด ดังนี้

    • การคมนาคมทางถนน
      • ยกเว้นค่าผ่านทาง 4 เส้นทาง ได้แก่ ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน และยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษในทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เวลา 01 น. ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 เวลา 24.00 น. พร้อมให้ส่วนลดค่าผ่านทางพิเศษสำหรับระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ ร้อยละ 5 ต่อเที่ยว ทุกด่านเก็บค่าผ่านทาง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มดำเนินการต่อจากการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษฯ หลังเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน
      • อำนวยความสะดวกในการชำระค่าผ่านทางโดยจำหน่ายคูปองในราคาถูกแทนการชำระด้วยเงินสดสำหรับผู้ใช้ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ในอัตราร้อยละ 5 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน การจ่ายเครดิตเงินคืนจากการเดินทางด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ชำระค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ (รถเมล์) โดยได้รับเครดิตเงินคืน 1 สิทธิ เท่ากับ 2 บาท สูงสุด 15 สิทธิ/บัตร/เดือน (30 บาท/บัตร/เดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2563
    • การเดินทางอากาศ
      • ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 จะมีการยกเว้นค่าบริการจอดรถยนต์ในลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  และ ให้บริการที่จอดรถโดยไม่คิดค่าบริการในบริเวณที่กำหนด จำนวน 3 จุด รวม 450 คัน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
      • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการจำหน่ายบัตรโดยสารราคาพิเศษ “Weekday Vacation” สำหรับการเดินทางวันจันทร์-พฤหัสบดี ราคาเริ่มต้น 1,300 บาท อีกทั้งสายการบินไทยสมายล์ ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางของประชาชนด้วย
    • การคมนาคมทางราง
      • มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือสายสีม่วง โดยกำหนดค่าโดยสารตามระยะทางค่าโดยสารสูงสุด20บาท (14-20บาท) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14-42บาท)
      • รถไฟฟ้า Airport Rail Link ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 05.30 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 02.00 น.
      • รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 6.00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 02.00 น.
      • ขยายเวลาให้บริการอาคารและลานจอดรถของ MRT ทั้ง 2 สาย โดยเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เวลา 5.00 น. ถึงวันที่ 1 มกราคม 2563 เวลา 03.00 น.
    • การคมนาคมทางน้ำ ใน“โครงการสูงวัยได้สิทธิ” ผู้สูงอายุที่ใช้บริการเรือในเขตกรุงเทพมหานคร จะได้ลดหย่อนค่าโดยสารเฉลี่ยร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป รวมทั้งจัดกิจกรรมล่องเรือสวดมนต์ข้ามปีภายใต้กิจกรรม “เจ้าท่าพาล่องสายชล สวดมนต์ภาวนาข้ามปี” ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562

    นอกจากนี้ในส่วนของการส่งเสริมความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกของประชาชน กระทรวงคมนาคมยังได้จัดตั้งจุดตรวจร่วมกับสำนักงานคณะกรรมอาชีวศึกษา จำนวน 259 จุด ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการฟรีในด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน บริการรถยก/รถลาก บริการตรวจเช็คสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฟรี 20 รายการ ณ ศูนย์บริการที่มีป้ายเข้าร่วมกิจกรรมของกรมขนส่งทางบก และศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถของ บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดทำแอปพลิเคชั่น “นำทาง (NUMTANG)” เพื่อให้บริการข้อมูลด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ

    “นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความหว่งใยถึงการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และได้ย้ำเตือนในเรื่องของความปลอดภัยใช้เรือในการเดินทางไปสวดมนต์ข้ามปีด้วย” นางสาวไตรศุลี กล่าว

    มท.เปิดสวนลอยฟ้า – พน.ลดราคาน้ำมัน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติ ของขวัญปีใหม่ จากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

      กระทรวงมหาดไทย จำนวน 9 โครงการ อาทิ สถานธนานุบาลทั่วไทย พร้อมใจลดอัตราดอกเบี้ย ลดอัตราดอกเบี้ย เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 0.25 ต่อเดือน จากเดิมร้อยละ 0.50 เงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท คิดอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จากเดิมร้อยละ 1.25 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 29 ก.พ.63 จัดระเบียบสายสื่อสารทั่วไทย ระยะทางรวม 10,020 กิโลเมตร บริการและอำนวยความสะดวกประชาชนโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ไม่ต้องใช้สำเนาเอกสาร ให้บริการ 59 หน่วยงานใน 214 งานบริการ ปรับปรุงการให้บริการรังวัดเฉพาะรายในสำนักงานที่ดินทั่วประเทศให้นัดรังวัดได้ภายใน 50 วัน เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส และสามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานรังวัดได้ทุกขั้นตอน ตลาดนัดเทศบาลคุณภาพมาตรฐานทั่วไทย 742 แห่ง สนับสนุนพืชผลทางการเกษตรปลอดสารพิษ เฝ้าระวังสารปนเปื้อน เปิดสวนสาธารณะลอยฟ้า หรือพระปกเกล้าสกายปาร์ค จุดแลนด์มาร์ก แห่งใหม่ของกทม.
      กระทรวงพลังงาน 3 โครงการ ได้แก่ 1.ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมัน B 10 และ E 20 ลง 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 25ธ.ค.62 – 10ม.ค.63 2.ตรึงราคาน้ำมันทุกประเภทเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ระหว่างวันที่ 25ธ.ค.62 – 2ม.ค.63 และ3.ตรึงราคาค่าไฟฟ้า โดยคงอัตราค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บเดือน ม.ค. – เม.ย.63 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย
      กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนหลายโครงการ อาทิ เข้าชมฟรีแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 36 จังหวัด 113 แห่ง ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.62 – 1 ม.ค.63 แจกเมล็ดพันธุ์ไม้มีค่า กล้าไม้ และพันธุ์กล้วยไม้ฟรี รับคืนซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจลดมลพิษจากรถโดยสารประจำทาง รถยนต์ และจักรยานยนต์ ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ จัดเร่งที่ดินอยู่อาศัย หรือทำกินในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ตามมติครม. โคครงการแก้ไขปัยหาขยะ อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำ เป็นต้น

    ลงพื้นที่ชัยภูมิ ติดตามแก้ปัญหาภัยแล้ง

    ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ในวันที่ 25 ธันวาคม 2563 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดชัยภูมิเพื่อติดตามการปัญหาภัยแล้ง และเยี่ยมชมการจัดการเกษตรไร่อ้อยสมัยใหม่ (Modern Farm) ด้วยนวัตกรรมและลดการสร้างมลพิษ พร้อมทั้งสร้างรายได้เสริมจากการทำการเกษตรตามนโยบายแห่งรัฐ

    โดยในช่วงเช้านายกรัฐมนตรีและคณะ จะออกเดินทางจากจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และเดินทางต่อโดยเฮลิคอปเตอร์ จากโรงเรียนกุดตุ้มวิทยา ไปยังบริเวณจัดงาน ณ คลองเทา บ้านหนองแหน จังหวัดชัยภูมิ เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูและพัฒนาคูคลองโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมปลูกต้นมะม่วง (พันธุ์เขียวเสวย) และปลูกหญ้าแฝกกับประชาชนด้วย

    จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังไร่กุดจอก (ไร่อ้อย) อ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อพบปะประชาชนและตรวจเยี่ยมการตัดอ้อย สางใบอ้อย และเก็บใบอ้อย ด้วยวิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ (Modern Farm) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืนจากองค์ความรู้ที่ได้มีการนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เสริมประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อยและลดการเผาอ้อยและลดค่า PM2.5 อีกด้วย

    ในบ่ายวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางต่อไปยังโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์) โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) โดยเยี่ยมชมการเรียนการสอนลักษณะการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Active Learning) เยี่ยมชมนิทรรศการพัฒนาทักษะอาชีพ ได้แก่ การทำน้ำอ้อยคั้นสด การจับจีบผ้า และการทำมาลัยมะกรูดใบเตย เยี่ยมชมการสาธิตการบังคับหุ่นยนต์ (Robotics) โดยเด็กพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการเขียนโปรแกรม (Coding) ณ ห้อง Learning Center และเยี่ยมชมแปลงเพาะชำอ้อยของโรงเรียนบ้านภูดิน (มิตรผลอุปถัมภ์) ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเย็นวันเดียวกัน

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า สำหรับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้าไปร่วมพัฒนาโรงเรียน พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ Learning Center เพื่อวางรากฐานการศึกษาแก่ลูกหลานชาวไร่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่รวมถึงลูกหลานคนในชุมชน ต่อยอดโครงการโรงเรียนประชารัฐ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นถึงความสำคัญในการให้เยาวชนไทยทุกคน ทุกที่ มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล

    ตั้ง “วัลลภ รักเสนาะ – สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล” เจรจาไฟใต้

    รายงานเพิ่มเติมจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอ แต่งตั้ง พลเอก วัลลภ รักเสนาะ และ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2562เพิ่มเติม