เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อมวลชน ดังนี้
เผยเลือกตั้งก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นงานสำคัญของประเทศว่าจะมี 2 ช่วง โดยช่วงแรกคือการเตรียมงานของรัฐบาลเพื่อเข้าสู่ช่วงพระราชพิธีฯ ซึ่งจะทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา รัฐบาลกำหนดเองไม่ได้ ดังนั้นในช่วงนี้จะทำอย่างไรให้การขับเคลื่อนประเทศทั้งหมดรวมทั้งการเลือกตั้งมีความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร
ส่วนช่วงที่ 2 คือการจัดพระราชพิธีฯ ดังกล่าวที่ปฏิบัติตามจารีตประเพณี ซึ่งมีพิธี 10 กว่าอย่าง โดยจะใช้เวลาหลายวัน ซึ่งกำลังรอเวลาทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา แต่ก่อนหน้านั้นคือการเตรียมน้ำ เตรียมดิน เตรียมความพร้อมทุกพื้นที่ทุกจังหวัดทั้งประเทศ
“นี่คือความสงบร่วมเย็นของประเทศไทย น้ำ จะทำยังไงให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จะช่วยกันได้มั้ย ผมก็ไม่อาจจะไปสั่งอะไรได้หรอก เรื่องนี้เป็นเรื่องเหนือหัว”
เมื่อถามว่าจะมีการเลือกตั้งก่อนงานพระราชพิธีบรมราชภิเษกหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยังไงก็เลือกตั้งก่อนอยู่แล้ว”
ยังไม่ตัดสินใจอนาคตการเมือง
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีพรรคพลังประชารัฐแสดงความชัดเจนเทียบเชิญเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่าเป็นความชัดเจนของพรรคพลังประชารัฐ แต่ตนเองยังไม่ตัดสินใจใดๆ ทั้งนั้น
“พรรคประชารัฐเขาก็ชัดเจน แต่ทำไมผมจะต้องไปชัดเจนกับเขาด้วย เขาพูดก็พูดไปสิ ผมยังไม่ตัดสินใจทั้งนั้น ทำไม จะเลือกตั้งพรุ่งนี้กันหรือไง อยากรู้เหรอ ก็ยังไม่ให้รู้ ถ้ายิ่งอยากรู้ก็ไม่ให้รู้ ถ้าไม่อยากรู้ เดี๋ยวจะพูดเอง”
เมื่อถามว่าดีใจหรือไม่ที่มีคนเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต่อไป พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนถือหลักบารมี 10 ประการ ไม่ยินดียินร้ายกับคำชมหรือติฉินนินทา แต่เห็นว่าที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออาจเป็นเพราะเห็นว่าทำงานดี ประเทศสงบสุข พร้อมกับบอกว่าไม่จำเป็นจะต้องทำโพลสำรวจคะแนนนิยม เพราะที่ผ่านมามีการทำกันมากอยู่แล้ว
หนุนพรรคการเมืองมียุทธศาสตร์แก้ปัญหาประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าพรรคพลังประชารัฐมีรัฐมนตรีที่ทำงานร่วมกับทำงานจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณานะ ถ้าพรรคใดที่ทำงานแล้วสอดคล้องกับที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าผมตัดสินใจเข้าไปการเมือง ผมก็ต้องหนุนพรรคเหล่านี้มั้ง แต่การที่ผมจะเป็นนายกฯ หรือเปล่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ธงของผมก็คือสนับสนุนพรรคการเมืองที่เดินหน้าประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ พรรคอื่นว่ามาสิยุทธศาสตร์เขาว่ายังไง อาจจะดีกว่าพรรคพลังประชารัฐก็ได้ ลองเสนอยุทธศาสตร์มา มากกว่าที่จะมาติฉินกันอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่เคยพูดว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร มีแต่บอกว่าจะทำอย่านั้นอย่างนี้ ให้ราคายางสูงขึ้น ราคาข้าวสูงขึ้น แล้วทำยังไงล่ะ ผมพูดทุกอย่างว่าผมทำยังไง เขาก็ต้องพูดกับผมว่าเขาจะทำยังไงด้วย ประชาชนจะได้เกิดข้อเปรียบเทียบ”
ส่วนกรณีที่มีพรรคการเมืองบางพรรคปฏิเสธหารือการพูดคุยวันที่ 7 ธันวาคม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็แล้วแต่ท่าน การจะทำงานเพื่อชาติเพื่อประชาชนต้องเอากติกาเป็นหลัก ไม่ใช่มาสู้กับกติกา เหมือนนักมวยจะขึ้นชก มันก็ต้องฟังกติกา แล้วเตรียมตัวเองให้พร้อมเข้ามาสู่การเลือกตั้ง ให้ประชาชนเขาตัดสินดีกว่า อย่ามาอะไรกันเลย มันเสียเวลาประเทศชาติ เดินหน้าลำบาก”
ปัดใช้ ม.44 แก้ปมยื่นบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินว่า ป.ป.ช. กำลังทบทวนอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้น
“ก็ไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ทุกคนมีสิทธิ์ของเขาพอสมควร แต่การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน เจ้าหน้าที่ หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ โอเค แต่อย่างอื่นควรไม่ควรก็ไปหารือกันมา อย่าไปมองว่ามันดีทั้งหมดหรือเสียทั้งหมด คนดีก็มีเยอะอยู่ เหตุผลของแต่ละคนก็มีอยู่ ก็ต้องรับฟังกันบ้าง”
มติ ครม. มีดังนี้
ท้ายปี 61 จัด “ช็อปช่วยชาติ – ของขวัญปีใหม่” เอาใจคนไทย
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร “มาตรการช็อปช่วยชาติ” ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถนำค่าซื้อสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ 1) ยางล้อรถยนต์ ยางล้อรถจักรยานยนต์ และยางล้อรถจักรยาน 2) สินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และ 3) หนังสือ รวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) แต่ไม่รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ไปหักเป็นค่าลดหย่อนสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
“โดยบุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องซื้อระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2562 ซึ่งในกรณีผู้มีเงินได้จ่ายค่าซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวทั้ง 2 ปีภาษี จะได้รับลดหย่อนตามที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษีแต่รวมกัน 2 ปีภาษีแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท” นายณัฐพรกล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบมาตรการ/โครงการ ที่กระทรวงต่างๆ จัดเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน โดยมีมาตรการ/โครงการที่น่าสนใจ เช่น มาตรการคงอัตราดอกเบี้ย ต่ำสุดที่ร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน โดยสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการแบ่งเบาภาระในการคงดอกเบี้ยต่ำ และโครงการมอบบ้าน สร้างชุมชน ไทยทุกคนมั่นคง เข้มแข็ง 2,562 หลัง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มอบบ้านมั่นคง จำนวน 1,096 หลัง มอบบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 1,254 หลัง มอบบ้านริมคลอง จำนวน 212 หลัง จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
มหกรรมลดราคาสินค้าออนไลน์ Thaitrade.com 30% ภายใต้โครงการ “มอบความสุขปีใหม่ 2562”, จัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ ณ ห้างทั่วประเทศ (มากกว่า 13,500 สาขา) “ลดหนักจัดเต็ม New Year Grand Sale” ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ประจำวัน เครื่องแต่งกาย และสินค้าอื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนถึงการขยายเวลาให้บริการและอำนวยความสะดวกทางการค้า แก่ผู้ประกอบการต่างๆ เป็นของขวัญปีใหม่จากกระทรวงพาณิชย์
ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งของขวัญปีใหม่ เช่น มาตรการลดราคาผลิตภัณฑ์องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก) ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2561 – 5 มกราคม 2562, ลดราคาที่พักนักท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค. 61 – 28 ก.พ. 62 ลดราคาที่พักนักท่องเที่ยว (ลด 10%) ในบริเวณพื้นที่สวนป่าแม่ยาว-แม่ซ้าย จังหวัดเชียงราย, สวนป่าเขากระยาง จังหวัดพิษณุโลก, สวนป่าแม่ละเมา จังหวัดตาก, สวนป่าทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี, สวนป่าเกริงกระเวีย จังหวัดกาญจนบุรี และสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ เป็นต้น
อ่านรายละเอียดของขวัญปีใหม่จากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม
ไฟเขียวสินเชื่อ 5,000 ล้าน หนุนแปรรูปยางพารา – ส่งออกแสนตัน
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร มีเป้าหมายในการสนับสนุนสถาบันเกษตร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสถาบันเกษตรกรในการรวบรวมหรือแปรรูปยางพาราและจำหน่ายไปยังต่างประเทศ จำนวน 100,000 ตัน ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2563
ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าวจะใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 199.50 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริง
“รัฐบาลจะจัดสรรงบประมานอุดหนุน โดยจ่ายขาดให้กับสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการในการรวบรวมยางพาราในอัตราร้อยละ 2 บาทต่อกิโลกรัม ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยโอนเงินผ่าน ธ.ก.ส. ตามต่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง” นายณัฐพรกล่าว
ลดวงเงินอุ้มชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท เหลือ 17,000 ล้าน
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบปรับโครงการช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ. 2561-2562 และหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการจ่ายเงิน จากวงเงิน 18,604.95 ล้านบาท เหลือ 17,512.73 ล้านบาท
เนื่องจากจำนวนพื้นที่ของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ และได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถูกต้องตามเกณฑ์นั้นปรับลดลงจาก 10,039,672.29 ไร่ เป็น 9,448,447 ไร่ โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริงไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ ในกรณีมีคนกรีดยางแบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 เดือน (ธันวาคม 2561 – กันยายน 2562)
อนึ่ง งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็นงบประมาณในการสร้างความเข้มแข็งฯ จำนวน 17,007,20 ล้านบาท งบประมาณชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. อัตรา FDR+1 จำนวน 369.90 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ธ.ก.ส. ให้แก่เจ้าของสวนและคนกรีดยาง จำนวน 9.12 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ จำนวน 126.50 ล้านบาท
อนุมัติงบฯ 3,458 ล้าน ช่วยชาวสวนปาล์ม ไร่ละ 1,500 บาท
นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน วงเงินงบประมาณ 3,458 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่จะจ่ายให้เกษตรกรวงเงิน 3,375 ล้านบาท, งบประมาณชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. จำนวน 73.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าธรรมเนียมโอนเงินของ ธ.ก.ส. วงเงิน 1.5 ล้านบาท และงบบริหารโครงการ 8.3 ล้านบาท
โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 150,000 ราย พื้นที่ไม่เกิน 2,250,000 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 22,500 บาท ระยะเวลาดำนินการ 10 เดือน (เดือนธันวาคม 2561 – กันยายน 2562) โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
“เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องแจ้งยืนยันขอรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ เกษตรกรต้องมีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะ, เป็นหัวหน้าครัวเรือนตามทะเบียนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้, เป็นเกษตรกรที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับ ธ.ก.ส. และเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์รวมทั้งสิ้น 47 รายการตามหนังสือของกรมป่าไม้ และเป็นพื้นที่ที่ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตแล้ว อายุมากกว่า 3 ปี” นายณัฐพรกล่าว
จัดงบกลาง 159 ล้าน ช่วยชาวไร่ยาสูบ 13,557 ราย
นานณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบเฉพาะฤดูกาลผลิต ปี 2561/2562 โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นเงิน 159.59 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ 3 ประเภท ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) และกรมสรรพสามิต จำนวน 13,557 ราย ดังนี้
ผู้ปลูกยาสูบประเภทเวอร์ยิเนีย จำนวนโควตารับซื้อลดลงทั้งสิ้น 4.36 ล้านกิโลกรัม ได้รับเงินช่วยเหลือกิโลกรัมละ 17.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 76.30 ล้านบาท
ผู้ปลูกยาสูบประเภทเบอร์เลย์ จำนวนโควตารับซื้อลดลงทั้งสิ้น 5.27 ล้านกิโลกรัม ได้รับเงินช่วยเหลือกิโลกรัมละ 9.80 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 51.65 ล้านบาท
ผู้ปลูกยาสูบเตอร์กิช จำนวนโควตารับซื้อลดลงทั้งสิ้น 2.26 ล้านกิโลกรัม ได้รับเงินช่วยเหลือกิโลกรัมละ 14.00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31.64 ล้านบาท
“โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน หลังจาก ครม. เห็นชอบ ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือในอัตรา 70% ของรายได้ที่ขาดหายไป โดยคำนวณจากปริมาณโควตาการผลิตใบยาสูบที่ลดลงในฤดูกาลผลิตปีก่อนเทียบกับฤดูกาลผลิตปีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบได้รับผลกระทบจากจำนวนโควตาที่ลดลง นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้หน่วยานที่เกี่ยวข้องหาทางส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบปลูกพืชชนิดอื่นแทนการปลูกยาสูบเพียงอย่างเดียว หรืออาจหาทางส่งเสริมปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นๆ ที่เหมาะสมแทน” นายณัฐพรกล่าว
อนุมัติงบฯ 7,022 ล้าน ลดดอกเบี้ยเกษตรกรรายย่อย
นอกจากนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณตามโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย จำนวน 7,021.96 ล้านบาท จากงบประมาณปี 2563
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่อนุมัติมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยภายใต้โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สำหรับต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี
เพิ่ม “ค่าป่วยการ อสม.” เดือนละ 600 เป็น 1,000 บาท
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ จากเดิมอัตราเดือนละ 600 บาทต่อคน เป็นเดือนละ 1,000 บาทต่อคน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12,656 ล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจาก อสม. มีภาระในการดูแลสุขภาพประชาชนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ที่ผ่านมายังไม่มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. ประกอบกับเดือนเมษายน 2562 จะเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของการดำเนินโครงการ อสม. เชิงรุก จึงเห็นควรปรับเพิ่มค่าป่วยการ อสม. ตามภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 600 บาท เป็น 1,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป
อนึ่งปัจจุบันมี อสม. ทั้งหมด 1,054,729 คน เป็นคนของ สธ. 1,039,729 คน และของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 15,000 คน
ยัน “ยอดหนี้สาธารณะ” ยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานจากกระทรวงการคลังในสัดส่วนหนี้สาธารณะตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติวินัยทางการเงินการเงิน การคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 และรับทราบรายงาน สถานะหนี้สาธารณะมีภาครัฐและความเสี่ยงทางการคลังตามมาตรา76 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
โดยยืนยันว่าหนี้สาธารณะยังคงอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของภาครัฐกำหนด ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สถานะร้อยละ 41.70 จากกรอบหนี้สาธารณะร้อยละ 60 สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณสัดส่วนร้อยละ 19.7 10 จากกรอบร้อยละ 35 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะ ร้อยละ 3.79 จากกรอบร้อยละ 10 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการร้อยละ 0.22 จากกรอบร้อยละ 5
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการการบริหารหนี้สาธารณะ ที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมธุรกิจบริการสินทรัพย์และธุรกิจสินเชื่อ ที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกันที่ปัจจุบันมีอยู่ 16 แห่ง เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์จำกัดมีหนี้เงินกู้คงค้างอยู่ 535,734 ล้านบาท สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงมีหนี้เงินกู้คงค้าง 31,198 ล้านบาท
“รายละเอียดทั้งหมด จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังรัฐในวันที่ 11 ธันวาคม นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการประชุม โดยจะมีการแถลงถึงรายละเอียดและการคาดการณ์ต่างๆ ให้ทราบต่อไป” นายพุทธิพงษ์กล่าว
อนุมัติงบฯ 763 ล้าน ให้ รพ.ตำบล 1,000 แห่ง ซื้ออุปกรณ์การแพทย์
นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติวงเงิน 763 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประมาณ 1,000 แห่ง จากทั้งหมด 9,800 แห่ง เพื่อยกระดับโรงพยาบาลและปรับปรุงให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น รองรับความแออัดของจำนวนผู้ป่วยในแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับปรุงไปแล้วประมาณ 5,000 แห่ง
เห็นชอบ ร่างแถลงการณ์ร่วมประชุม ไทย-ลาว ครั้งที่ 3
พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-ลาว ครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
โดยมีสาระสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้
- ด้านการเมืองและความมั่นคง เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูผู้ประสบเหตุอุทกภัยที่แขวงอัตตะปือ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ตามที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ร้องขอ และจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านการพัฒนาไทย-ลาว ปี 2562-2566
- ด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุมการส่งเสริมร่วมกันในด้านพลังงานและการพัฒนาการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไทย-ลาว รวมถึงอนุภูมิภาค ให้เป็นไปตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และ
- ด้านสังคมและการพัฒนาที่จะมีการร่วมมือกันแก้ปัญหาด้านแรงงานลาวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ประเทศลาวยังสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปี 2562 ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนการควบคุมร่วมบริเวณด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ระหว่าง จ.มุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต
รับทราบแผนบูรณาการลดอุบัติเหตุปีใหม่
พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. รับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 ตามที่คณะกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว ภายใต้หัวข้อการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร”
โดยแบ่งเป็น ช่วงเตรียมความพร้อม ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. – 26 ธ.ค.61 และช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. – 2 ม.ค.62 โดยนำเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงระดับพื้นที่ ตามระบบการเตือนภัยของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ปี 2558 มาวิเคราะห์ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1. พื้นที่เสี่ยงอันตรายสูงสุด จำนวน 35 อำเภอ 2. พื้นที่เสี่ยงอันตรายสูง จำนวน 109 อำเภอ 3. พื้นที่เสี่ยงอันตราย 687 อำเภอ 4. พื้นที่ภาวะมีความเสี่ยงน้อย 47 อำเภอ
นอกจากนี้ ยังมี 6 มาตรการหลัก ได้แก่
- มาตรการเสริม ประกอบด้วย 1. มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง ร่วมกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึก ความปลอดภัยทางถนน
- มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม โดยให้ อปท. ทุกแห่งจัดโครงการ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบและซ่อมแซมลักษณะกายภาพของถนน และจุดเสี่ยง ให้มีความปลอดภัย
- มาตรการลดความเสี่ยงด้านยานพาหนะ เป็นการกำหนดมาตรการ เพื่อกำกับ ดูแล รถโดยสารสาธารณะ และรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงตรวจสอบสภาพรถโดยสารให้มีความพร้อมก่อนออกเดินทาง
- มาตรการการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยมีการเตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์เครื่องมือ และการประสานงาน
- มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ โดยให้กระทรวงคมนาคม บูรณาการร่วมกับจังหวัดที่มีการสัญจรและแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัย
- มาตรการดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยให้จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และ กทม. พิจารณาหามาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนเป็นพิเศษในแต่ละพื้นที่ และ 1 มาตรการเสริม มีการกำหนดมาตรการในพื้นที่เสี่ยงอันตรายสูงสุด และพื้นที่เสี่ยงอันตรายสูง เป็นกรณีพิเศษ และให้มีรางวัลสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับจังหวัด และอำเภอที่มีสถิติการดำเนินการด้านการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนดีเด่น
อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2561เพิ่มเติม