ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ประเมินน้ำท่วมครั้งนี้ใช้ “งบฉุกเฉิน” 30,000 ล้าน – มติ ครม.เห็นชอบกปภ.ลงทุน 6 โครงการ 11,000 ล้าน

นายกฯ ประเมินน้ำท่วมครั้งนี้ใช้ “งบฉุกเฉิน” 30,000 ล้าน – มติ ครม.เห็นชอบกปภ.ลงทุน 6 โครงการ 11,000 ล้าน

17 กันยายน 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ประเมินน้ำท่วมครั้งนี้ใช้ “งบฉุกเฉิน” 30,000 ล้าน – มติ ครม.เห็นชอบกปภ.ลงทุน 6 โครงการ 11,000 ล้าน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ประเมินน้ำท่วมครั้งนี้ใช้ “งบฉุกเฉิน” 30,000 ล้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ว่า ขั้นตอนในการดำเนินการมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และการฟื้นฟูหลังจากนั้น ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็มีวงเงินที่สามารถใช้จ่ายได้ จากเดิมที่มีการแก้ไขกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไป ที่สามารถใช้เงินงบกลางในการช่วยเหลือเยียวยา ตรงนี้จะนำไปใช้ในช่วงที่ 3 ช่วงการฟื้นฟูเป็นหลัก

“ในการช่วยเหลือวันนี้มีงบประมาณอยู่ 50 ล้านของทุกจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนทั้งจากน้ำท่วมและอื่นๆ ถ้าไม่พอก็มาขอจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจะให้ไปเป็นก้อนๆ ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าการใช้งบประมาณมีขั้นตอนของมันอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ให้อะไร เราเผชิญสถานการณ์แบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้หนักหน่อยในบางพื้นที่ ซึ่งต้องไปตรวจสอบ เพื่อใช้จ่ายวงเงินงบประมาณที่ปลดล็อกให้สามารถใช้ได้ถึง 50,000 ล้านบาท (ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ให้ใช้จ่ายในกรณีงบกลางฯ ไม่เพียงพอ) ซึ่งประเมินมาแล้วคล่าวๆ ณ วันนี้ต้องใช้วงเงินไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท ก็ต้องทยอยดำเนินการต่อไป”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า อย่าไปสร้างความไม่เข้าใจอีกเลย บางคนบอกว่ารัฐบาลไม่รู้หรือไงว่ามีเงินอยู่ ตนอยากบอกว่าทำไมจะไม่รู้ เพราะงบประมาณก็อยู่กับตน แต่กฎหมายก็มีอยู่ ว่าเงินสามารถใช้ในส่วนใดได้บ้าง ไม่ใช่ว่าตนจะนำมาใช้ได้ทั้งหมดทุกอัน ถ้าใช้ได้ทั้งหมดงบประมาณก็มีปัญหา

“งบฉุกเฉินก็มีส่วนของงบฉุกเฉิน งบกลางก็ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ แต่ต้องแบ่งขั้นตอนการใช้จ่ายเงินตรงนี้ให้เหมาะสม เพราะมีเงินอยู่เท่านี้จะไปใช้ในขั้นตอนไหน ไม่ใช่พอรู้ว่ามีเงินจะใช้หมด คิดอย่างนี้ไม่ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โต้ไม่ได้คิดช้า – สั่งทุกหน่วยช่วยผู้ประสบภัยแสนครัวเรือน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลคิดช้าในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มัวแต่รอขั้นตอน โดยปฏิเสธว่ารัฐบาลไม่คิดช้า เพราะตนได้คิดล่วงหน้าไว้ตลอดตั้งแต่ก่อนน้ำท่วม เรื่องการป้องกันต่างๆ แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้คาดการณ์ว่าฝนจะตกมากถึง 500 มิลลิเมตร ขอให้ทุกคนฟังตรงนี้ด้วย ทั้งหมดเป็นแผนงานที่คิดและดำเนินการจากหลายกระทรวงหลายหน่วยงาน มีทั้งแผนเผชิญหน้า แผนเผชิญเหตุ และการปรับเปลี่ยนวิธีการช่วยเหลือ ทั้งหมดรัฐบาลคิดไว้ล่วงหน้าทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นจะสับสนอลม่านมากว่านี้

“ตกมาถึง 500 มิลลิเมตร แต่ขีดความสามารถในการรับน้ำของไทยทำได้ประมาณ 200 มิลลิเมตรเท่านั้น โดยปีหนึ่งๆ ฝนตกในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 1,000 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่กรณีนี้ฝนตกเพียง 5 วัน 500 มิลลิเมตร ก็ต้องแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์ เพราะฉะนั้นไม่ได้คิดช้า”

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญวันนี้ขั้นตอนคือ 1) ช่วยชีวิตและช่วยเหลือประชาชนก่อน ทุกหน่วยงานต้องเข้าช่วยให้ทันท่วงที แต่ก็มีปัญหาที่หลายคนไม่อยากย้ายจะย้ายก็ไม่ทันแล้ว ดังนั้นบอกก็ให้ฟังกันด้วย 2) ตั้งศูนย์ดูแลประชาชน จัดหาอาหาร น้ำดื่ม จัดหมอดูแลสุขภาพ 3) แผนการระบายน้ำ ก็มีการจัดทำเครื่องผลักดันน้ำนับร้อยเครื่องเพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด และ 4) การเยียวยา ซ่อม สร้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ รัฐบาลได้หารือและวางมาตรการกรอบการเยียวยามาโดยตลอดทั้งเฉพาะหน้าและการฟื้นฟู ซึ่งครอบคลุมทุกจังหวัด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ตนได้เร่งรัดทุกกระทรวง ซึ่งหลายหน่วยงานก็ลงไปหมดแล้ว หากพื้นที่ใดยังได้รับการดูแลไม่ทั่วถึงขอให้แจ้งมายังศูนย์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในระดับพื้นที่ ของรัฐบาลก็มี ของมหาดไทยก็มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปอภ.) ก็มีศูนย์ของ ปอภ. ทุกกระทรวงนั้นมีหน่วยงานที่ลงไปช่วยเหลือ ตลอดจนถึงกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข

“วันนี้ทราบว่ามีประชาชนเดือดร้อนในเรื่องของสุขภาพจิตประมาณ 19 คน กระทรวงสาธารณสุขก็เข้าไปดูแลแล้ว ให้พบกับเจ้าหน้าที่ของกรมสุขภาพจิต ซึ่งวันนี้อธิบดีกรมสุขภาพจิตก็ลงไปอยู่ในพื้นที่ เพื่อทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น รวมถึงผู้ป่วยเจ็บที่อยู่ตามบ้านก็ได้ลำเลียงออกมาดูแลในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว วันนี้คาดว่าจะเสียหายประมาณ 1 ล้านไร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 1 แสนครอบครัว ซึ่งคำนวณออกมาแล้วก็ใกล้เคียงวงเงินที่มีอยู่ ผมก็จะใช้อย่างเต็มที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง ซึ่งการเยียวยาก็มีกฎหมายของเขาอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็มีเรื่องการบรรเทาหนี้ ลดดอกเบี้ยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วันนี้ก็เร่งสำรวจความเสียหายต่างๆ เพื่อเยียวยาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

หลังจากนั้นต้องสำรวจความเดือดร้อนในช่วงหลังน้ำลด ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหามาตรการเสริม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชน้ำน้อย หรือการรักษาระดับปริมาณพืชผลทางการเกษตร ต้นทุนเมล็ดพันธุ์พืช ตลอดจนถึงการจัดหาแหล่งน้ำต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินทั้งหมด โดยยังคงอยู่ในส่วนของวงเงินที่รัฐบาลสามารถใช้จ่ายได้ในการเยียวยา ไม่ใช่เงินทั้งก้อนเอามาใช้หมดในตอนนี้ วันหน้าก็ไม่มี

เผยสถานการณ์น้ำดีขึ้น – ชวนปชช.ร่วมบริจาคเงิน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น ระดับน้ำลดลงไปแล้ว 40 เซนติเมตร เพราะระบบระบายน้ำปกติจากลำน้ำสาขาต่างๆ เช่น ลำน้ำชี ลำน้ำมูล เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามประสิทธิภาพแล้ว ส่งผลให้การระบายน้ำลงแม่น้ำโขงดีขึ้น ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงต่ำ โดยคาดว่าสถานกาณร์จะบรรเทาลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หากไม่มีฝนตกมาเพิ่มอีก แต่หลังจากนั้นก็คือการเตรียมการฟื้นฟู ซึ่งจะใช้งบประมาณที่ตนกล่าวไปให้เหมาะสม ทั่วถึงทุกกิจกรรมอย่างไร

“ผมลงไปแล้วก็เห็นสภาพ และนึกภาพออกตลอด รวมถึงได้รับรายงานอยู่ตลอดในช่องทางออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบการดำเนินงานของรัฐบาลอยู่แล้ว มีการมอบภารกิจไปแล้ว โดยผมมีหน้าที่ในการติดตามการทำงาน หากส่วนไหนงบประมาณไม่พอรัฐบาลก็พร้อมให้ไปดูแลเมื่อขอขึ้นมา แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ไปแจกเลยคงไม่ได้ในเวลานี้ เพราะผิดกติกา ต้องรัดกุมเพราะเป็นการใช้เงินของรัฐบาล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจและเอกชนในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งตนมีความสุขที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานกับรัฐบาล ซึ่งในค่ำวันนี้ก็จะมีการเปิดรับบริจาคที่ช่อง 9 โดยตนจะไปร่วมรับมอบเพื่อนำเงินเหล่านี้มาสมทบทุนในการช่วยเหลือน้ำท่วม ซึ่งเป็นเงินที่จะนำมาใช้ในการดูแลประชาชนเพิ่มเติมนอกไปจากวงเงินที่รัฐบาลสามารถใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย เพราะบางอย่างใช้วงเงินนี้ไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องนำเงินบริจาคมาเสริมให้ รัฐบาลบริหารจัดการงบประมาณเช่นนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่จะไม่ให้อะไรเลย

“ผมเป็นห่วงแค่หลังจากนี้ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งได้ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องเหล่านี้ คืนนี้ก็ขอแรงช่วยบริจาคในรายการพิเศษ ร่วมใจพี่น้องไทยช่วยเหลือน้ำท่วม เวลา 19.30 น. ถ่ายทอดทางช่อง 9 MCOT HD 30” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เผยไม่ตื่นเต้นตอบปมถวายสัตย์ ฯ พรุ่งนี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความพร้อมในการชี้แจ้งปมถวายสัตย์ปฏิญาณ ว่า ตนนั้นพร้อมเสมอ เมื่อไรที่สามารถดำเนินการได้ตนก็พร้อมที่จะไปตอบ และไปรับฟังความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ของเขา ยืนยันไม่ตื่นเต้น

“ไม่มีตื่นเต้นอะไรสักอย่าง เพราะเลยเวลา เลยขั้นตอนที่ตื่นเต้นในทุกเรื่องแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่านายกฯ จะอยู่ร่วมการอภิปรายจนจบหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ผมคิดว่าผมจะอยู่ให้ได้มากที่สุด ผมก็ต้องทำงานด้วย และการอธิปรายผมก็ไม่ได้ไปขัดข้อง ขัดแย้งอะไรเขาอยู่แล้ว ผมอยู่ไม่อยู่ท่านก็อภิปรายกันได้อยู่แล้ว แต่ผมก็จะอยู่ให้ได้มากที่สุดแล้วกัน ผมก็มีภารกิจของผมอยู่ด้วย”

เมื่อถามว่านายกฯ เตรียมข้อมูลพร้อมแล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า “ข้อมูลก็มีอยู่แล้ว ผมไม่ได้เตรียมด้วยตัวเอง ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้เตรียม อีกทั้งตนก็ต้องฟังหัวข้อกฎหมาย และข้อมูลแนวทางมาจากการร่างรัฐธรรมนูญ ความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ของแต่ละอันเป็นอย่างไร ผมก็ชี้แจงได้เท่านั้น และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก็มีผลอยู่ด้วย ก็ฟังกันบ้างแล้วกัน”

เมินฝ่ายค้านลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม – ชี้ความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากรัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีการมองว่าการแก้ไขน้ำท่วมเป็นการแย่งชิงพื้นที่กันของพรรคการเมือง ว่า ในส่วนของพรรครัฐบาลเป็นหน้าที่ที่เขาต้องลงไปอยู่แล้ว และลงไปในพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ เป็นการมอบความรับผิดชอบให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ได้รับผิดชอบเป็นภาค เป็นกลุ่มจังหวัดไป เขาก็ลงไปได้

“ส่วนของฝ่ายค้านนั้นก็เป็นเรื่องของเขา ผมก็ไม่อยากไปทะเลาะกับเขา แต่ก็ขอให้เข้าใจว่า ความช่วยเหลือส่วนใหญ่นั้นต้องมาจากรัฐบาล เขาจะไปช่วยอะไรเล็กๆ น้อยๆ ตรงนู้นตรงนี้ก็เรื่องของเขา แต่ถ้าจะมาโจมตีในภาพใหญ่ก็ลำบากนะที่จะมองกันแบบนั้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อกรณีพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะร่วมกันจัดงานเลี้ยงคืนนี้ โดยอ้างเพื่อระดมทุนนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตนทราบมาเบื้องต้นว่า หากเขาจัดขึ้นมาจะนำเงินมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ตนก็ยินดี ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือพรรคการเมืองใดก็ตาม หากทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่อย่าเอามาบิดเบือนให้ร้ายซึ่งกันและกันเลย ไม่เกิดประโยชน์

ยันไม่กีดกัน ACT ร่วมสังเกตการณ์ขยายสัมปทานทางด่วน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาชน (ACT) จะมีการส่งผู้สังเกตการณ์คุณธรรมเข้าสังเกตการณ์การขยายสัมปทานทางด่วนต้องใช้มติ ครม.ว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่ขัดข้องใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ตนยังไม่ทราบว่าเรื่องมาจากไหนอย่างไรในขณะนี้ ในการตรวจสอบต่างๆ ก็ได้ให้แนวทางไปแล้ว ให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันสามรถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกงานทุกโครงการ รัฐบาลไม่กีดกันอยู่แล้ว

แจงตำรวจขอข้อมูล นศ. มุสลิม ทำฐานข้อมูลปกติ – ไม่ได้ละเมิดสิทธิ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีตำรวจสันติบาลส่งหนังสือถึงมหาวิทยาลัย สอบถามมหาวิทยาลัยถึงรายละเอียดข้อมูลของนักศึกษามุสลิม ว่า กรณีนี้ตนยังไม่ทราบเลย ต้องตรวจสอบอีกที แต่ตนทราบมาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการชี้แจงแล้ว ว่าเป็นเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลด้านการข่าวและข่าวกรองตามปกติ ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร

“บางทีรัฐบาลบริหารอะไรไม่ค่อยได้เพราะไม่มีข้อมูล ที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า ซึ่งบิ๊กดาต้านั้นไม่ได้ต้องการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใครทั้งสิ้น ก็ต้องเห็นใจด้วยว่าทำเพื่ออะไร อย่าไปจับผิดจับถูกอะไรเขาได้ไหม ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดจะไปทำอะไรเขาได้ ลองคิดดูแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลสารเคมี 3 ชนิด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้องลงไปตามสต็อกข้อมูลสารเคมี หลังขอข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรไม่ได้ ว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ได้ ตนถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เปิดเผย การยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตนคาดว่าจะได้ความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ที่จะมีการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะแสดงรายละเอียดและเหตุจำเป็นต่างๆ ในการพิจารณาสารทดแทนสารเคมีทั้ง 3 สารด้วยต่อไป

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

จัดงบกลางแก้โรคใบด่างมันสำปะหลังเพิ่มอีก 286 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการดูแลโรคใบด่างในมันสำปะหลังภายหลังจากที่ ครม.อนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณสำหรับเงื่อนไขต่างๆ โดยในครั้งนี้ได้อนุมัติวงเงิน 286 ล้านบาทจากงบกลางของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แบ่งเป็นวงเงินสำหรับกำจัดมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างไร่ละ 3,000 บาท และวงเงินสำหรับชดเชยรายได้ 3,000 บาทต่อไร่ รวมเป็น 6,000 บาทต่อไร่ โดยเงื่อนไขสำหรับเกษตรกรที่เข้าข่ายการชดเชยสำหรับการกำจัดมันสำปะหลังจะต้องเป็นเกษตรกรมันสำปะหลังที่มีไร่มันสำปะหลังที่ติดโรคใบด่าง โดยต้องเพาะปลูกตั้งแต่เมษายน-กันยายน 2562 และมีต้นมันสำปะหลังที่มีอายุมากกว่า 2 เดือน ทั้งนี้เกษตรกรต้องยินยอมให้ถอนกำจัดตามหลักเกณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร ขณะที่วงเงินชดเชยรายได้จะได้รับภายหลังหยุดการเพาะปลูกมันสำปะหลังไปในระยะเวลา 2 เดือนก่อน

“งบประมาณครั้งนี้เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วที่ประมาณ 270 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณของการดำเนินการและประชาสัมพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้ จากเดิมที่จะแบ่งจ่ายตามกระบวนการกำจัดมันสำปะหลังที่ติดโรค 2 ขั้นตอน แต่ครั้งนี้ได้ปรับปรุงให้เป็นว่าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ครบถ้วนของกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ต้นและปรับเงินก้อนที่สองเป็นส่วนของการชดเชยรายได้ที่ต้องรออย่างน้อย 2 เดือนแทน” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

อนุมัติงบ 1,766 ล้าน ให้ กอช.ดึงคนออมเงินเพิ่ม 7 แสนราย

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ประจำปี 2563 วงเงิน 1,766 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพิ่มคนเข้ากองทุนจาก 700,000 คนในปีก่อนหน้าเป็น 1.4 ล้านคน เพื่อผลักดันให้การออมเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้เดิมในปี 2561 กอช.ได้รับงบประมาณ 144 ล้านบาทและมีคนเข้าร่วมกองทุน 700,000 คน ก่อนที่ปีถัดมาจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 299 ล้านบาทด้วยเป้าหมายคนร่วมกองทุนเท่าเดิม

เห็นชอบ กปภ.ลงทุน 6 โครงการ 11,000 ล้าน

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่าครม.เห็นชอบให้การประส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2561 เกี่ยวกับการก่อสร้างปรับปรุงและขยาย เพื่อแก้ปัญหาในระบบผลิตและการจ่ายน้ำประปาทั้งการขาดแคลนน้ำดิบ ระบบผลิตชำรุด กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ระบบจ่ายน้ำไม่มีประสิทธิภาพสาเหตุจากท่อเล็ก ท่อเก่าหมดอายุการใช้งาน แบ่งออกเป็น 6 โครงการ ดังนี้

1) สาขาบ้านฉาง (รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : EEC ) ก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบและสถานีผลิต-จ่ายน้ำ วางท่อส่งน้ำ วงเงิน 1,736.009 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดิบและกำลังผลิตใกล้เต็มศักยภาพ

2) สาขาพังงา-ภูเก็ต ปรับปรุงเพิ่มความจุสระพักน้ำดิบ ก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบและสถานีผลิต-จ่ายน้ำ วางท่อส่งน้ำ วงเงิน 3,870.908 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดิบและกำลังผลิตไม่เพียงพอ

3) สาขาอุดรธานี – หนองคาย –หนองบัวลำภู ก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบและสถานีผลิต-จ่ายน้ำ วางท่อส่งน้ำ วงเงิน 2,506.798 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอ

4) สาขาแม่สาย–(ห้วยไคร้)-(แม่จัน)-(เชียงแสน) ก่อสร้างโรงสูบน้ำน้ำดิบและสถานีผลิต-จ่ายน้ำ วางท่อส่งน้ำ วงเงิน 1,085.807 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากประกาศเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

5) สาขานครศรีธรรมราช ก่อสร้างโรงสูบน้ำน้ำดิบ รางชักน้ำ และสถานีผลิต-จ่ายน้ำ วางท่อส่งน้ำ วงเงิน 1,471.109 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากำลังผลิตใกล้เต็มศักยภาพ

6) สาขากันตัง-(สิเกา-ปากเมง) ก่อสร้างโรงสูบน้ำน้ำดิบและสถานีผลิต-จ่ายน้ำ วางท่อส่งน้ำ วงเงิน 356.321 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากำลังผลิตไม่เพียงพอ

รวมทั้ง 6 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 11,026.952 ล้านบาท มาจากเงินอุดหนุนรัฐบาล จำนวน 7,332.691 ล้านบาท (ร้อยละ 66.50) เงินกู้ภายในประเทศ จำนวน 2,444.230 ล้านบาท (ร้อยละ 22.17) และเงินรายได้ของ กปภ. จำนวน 1,250.031 ล้านบาท (ร้อยละ 11.33)

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จพร้อมใช้งานประมาณปี 2564 จะสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก 239,618 ราย มีกำลังการผลิตน้ำเพิ่มขึ้น 332,400 ลบ.ม./วัน จ่ายน้ำผ่านท่อใหม่ในเขตจ่ายน้ำและพื้นที่ข้างเคียงรวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 1,727.402 กิโลเมตร

ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยประชุมกรรมการวิสาหกิจเพื่อสังคม

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการร่างหลักเกณฑ์การได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและอนุกรรมการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) เสนอ โดยที่ประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้เบี้ยประชุมเดือนละ 10,000 บาท ส่วนกรรมการได้เดือนละ 8,000 บาท และสำหรับอนุกรรมการที่คณะกรรมการดังกล่าวแต่งตั้ง ประธานอนุกรรมการจะได้เดือนละ 5,000 บาทและอนุกรรมการได้เดือนละ 4,000 บาท

ขณะที่ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมจะได้เดือนละ 3,000 บาท ส่วนกรรมการได้ 2,400 บาท และสำหรับอนุกรรมการที่คณะกรรมการดังกล่าวแต่งตั้ง ประธานอนุกรรมการจะได้เดือนละ 2,000 บาทและอนุกรรมการจะได้เดือนละ 1,600 บาท

“นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเบี้ยประชุมของคณะกรรมการตามกฎหมายน่าจะน้อยเกินไปที่จะดึงดูดคนเก่งๆ ให้เข้ามาช่วยทำงาน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางปรับปรุงให้สูงขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากการบริหารวิสาหกิจเพื่อสังคมจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามรถสูงและต้องมีค่าตอบแทนที่ดึงดูดเพียงพอด้วย” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

ไฟเขียวร่างปฏิญญาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และอนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 74 ร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการยืนยันความสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและยืนยันความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะเร่งและขยายความพยายามในการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ภายในปี 2573

ขยายเวลาเบิกงบฯเยียวยาผู้เสียหายคดีอาญา 176 ล้าน

รายงานข่าวสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม.มีเห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่กระทรวงการคลัง (กค.) อนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2562 แล้ว จำนวน 176.79 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้เดิมกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รวมทั้งได้ปรับแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาสมทบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา รวมจำนวน 300.50 ล้านบาท 6,008 ราย ได้เบิกจ่ายเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2562

แต่จากข้อมูลณ วันที่ 23 สิงหาคม 2562 ยังคงมีค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาและมีมติให้จ่ายอยู่อีก จำนวน 242.21 ล้านบาท โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ประมาณการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ โดยเทียบเคียงกับสถิติการพิจารณาจ่ายของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ และคณะอนุกรรมการฯ จึงคาดการณ์ว่าระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2562 มีคำขอของผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาที่จะพิจารณาจ่ายได้ จำนวน 176.79 ล้านบาท และต้องขออนุมัติเพิ่มเติม

เตรียมเลือกตั้งใหม่ เขต 5 นครปฐม

รายงานข่าวสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม เขตเลือกตั้งที่ 5 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้เลือกตั้งภายใน 45 วัน

ตั้ง “พล.ต.ต.ปรีชา” นั่งเลขา ปปง – “จินางค์กูร” ขึ้นรองเลขาสภาพัฒน์

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง อาทิ

  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่งตั้ง นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เสนอให้ พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
  • กระทรวงวัฒนธรรม แต่งตั้ง นายประทีป เพ็งตะโก ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศิลปากร
  • สำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับโอน นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • กระทรวงอุตสาหกรรม แต่งตั้ง 1. นายณัฐพล รังสิตพล ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 3. นายประกอบ วิวิธจินดา ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 4. นายจุลพงษ์ ทวีศรี ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 5. นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  • กระทรวงเกษตรฯ แต่งตั้ง 1. นายมนัส กำเนิดมณี ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 2. นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 3. นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ ดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมหม่อนไหม 4. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
  • กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1. นายมณฑล สุดประเสริฐ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2. นายชยพล ธิติศักดิ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 3. นายกฤษณ์ คงเมือง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 4. นายทรงพล ใจกริ่ม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 5. นายทวีป บุตรโพธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 6. นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 7. นายภิญโญ ประกอบผล ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 8. นายราชิต สุดพุ่ม ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง  สำนักงานปลัดกระทรวง 9. นายอำพล อังคภากรณ์กุล ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 10. ให้ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดยะลา 11. นายสมเจตน์ จงศุลวิศาลกิจ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดหนองบัวลำภู

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 17 กันยายน 2562เพิ่มเติม