ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คดีจำนำข้าว – มติ ครม. เก็บภาษีบาปเพิ่ม 2% หนุนผู้สูงอายุ 4,000 ล้านบาท/ปี

นายกฯ ยันไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คดีจำนำข้าว – มติ ครม. เก็บภาษีบาปเพิ่ม 2% หนุนผู้สูงอายุ 4,000 ล้านบาท/ปี

1 สิงหาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งการประชุมในวันนี้ใช้เวลานานเป็นพิเศษเนื่องจากมีวาระประชุมที่สำคัญหลายวาระ โดยเฉพาะเรื่องของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

แจงไม่มีปกปิดอ่างเก็บน้ำแตก – ขอ ปชช. ฟังคำเตือน “อุตุฯ” บ้าง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีคณะรัฐมนตรีไทย (ครม.) พิจารณามาตรการช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัย ว่า กำหนดมาตรการไว้ครบถ้วนแล้ว และวันนี้ได้มีการขออนุมัติของกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อย ส่วนเรื่องการฟื้นฟูต้องให้หน่วยงานสรุปอีกครั้งหนึ่ง แต่ในเรื่องการซ่อมแซมบ้านเรือนต่างๆ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำการช่วยเหลือฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ตนอยากจะเตือนให้เชื่อคำเตือนของกรมอุตุวิทยาหรือรัฐบาลที่พยายามเตือนมาโดยตลอด เพราะหลายท่านมีความรู้สึกว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ คงไม่เป็นอะไรมาก แต่ท้ายที่สุดนั้นได้เกิดความเสียหายตามมา

ส่วนความเสียหายขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา บางพื้นที่ตกลงมา 300 มิลลิเมตร เกินกว่าที่กำหนดไว้ เมื่อน้ำท่วมมากๆ ก็กัดเซาะเขื่อนไปเรื่อยๆ บวกกับเขื่อนสร้างมานานกว่า 63 ปี ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรง ตนจึงมองว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ปกติสามารถรับน้ำได้อย่างแน่นอน แต่ครั้งนี้น้ำได้ไหลเข้ามา 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนรับได้อยู่ที่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่น้ำจะล้น เพราะปริมาณน้ำมันมหาศาล ฉะนั้นเรื่องที่จะเถียงกันว่าแตกไม่แตกนั้นตนมองว่าไร้สาระ เพราะต่อให้น้ำจะท่วม มันก็ท่วม

“จะปกปิดเรื่องอ่างเก็บน้ำแตกทำไม เมื่อน้ำมันล้นเกินสันเขื่อนขึ้นมาก็มีการกระทบผิวบนผิวล่าง มีการกัดเซาะจนแตก 2 ช่วง ช่วงละ 20-40 เมตร ทั้งได้แจ้งเตือนไปบ้างว่าปริมาณน้ำมันมาก เรื่องของเขื่อนนั้นไม่ได้มีการเตรียมมาตรการเอาไว้ ซึ่งรอบนี้มันไม่ไหว ส่วนเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำท่วมปี 2554 คนละประเด็นกัน อย่าไปย้อนถึงเรื่องเก่าเลย จงทำอันใหม่ให้ดีที่สุด และอย่าไปฟังคนเก่าพูด เพราะจะมีการโต้เถียงกันไปมา ไม่ได้ประโยชน์อะไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันไม่มีแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คดีจำนำข้าว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงปิดคดีว่า ได้มีผู้คนเดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 1,200 คน ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องของขั้นตอนทางกฎหมาย อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ให้มากนัก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลพิจารณาต่อไป

ต่อคำถามกรณีหลังศาลมีคำตัดสินคดีรับจำนำข้าว 25 สิงหาคม 2560 สถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร และจะมีคำแนะนำประชาชนอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการซ้ำรอยปี 2557 นั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว่วา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตน แต่ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชาชน หรือกลุ่มนักการเมืองมากกว่า ตนเพียงแต่คิดว่าต้องเดินประเทศไทยด้วยกระบวนการยุติธรรม และให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ทำงานไป ซึ่งตนไม่เคยไปสั่งอะไรให้กระบวนการยุติธรรมทำ

“ผมไม่ได้ชี้นำ ผมเพียงแต่ชี้แจงว่า ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร เป็นขั้นตอนของพยานฝ่ายโจทก์อยู่แล้ว เพราะว่าผมต้องร่วมมือกับหน่วยงานในการที่จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยจะต้องมีการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ข้าวเสีย ข้าวไม่เสีย แค่นั้น เพราะถ้าไม่ตรวจสอบคลังก็จะเละเทะเหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้ได้ตรวจสอบไปหมดแล้ว และมีการลงนามโดยเจ้าของคลังเซ็นทุกคลัง ผมตรวจสอบมากกว่าไปยืนตรวจด้วย เอา DNA มาตรวจ ข้าวไทย ข้าวต่างประเทศ ข้าวป่น มีหมด ชี้แจงมาหลายรอบแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ตั้ง “วัลลภ” นั่งเลขาฯ สมช. เหมาะสมแล้ว – ยันไม่มี จนท. ไทยอุ้มโกตี๋

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการแต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ ว่า เป็นการพิจารณาของฝ่ายความมั่งคงที่คิดว่าช่วงนี้มีความจำเป็นต้องมีผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานความมั่นคง ส่วนเลขาธิการคนเก่าก็ต้องดูแลด้วย เพื่อไม่ให้เสียกำลังใจ แต่แค่ในช่วงนี้อยากจะขอให้คนใหม่ได้เข้ามาทำหน้าที่การงานสักระยะหนึ่งก่อน ส่วนคนเดิมก็จะต้องทำการปรับยศให้สูงขึ้น

สำหรับกรณีกระแสข่าวชายชุดดำอุ้มนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) จากบ้านพักที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้รับรายงานจากฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่จากไทยทำ เพราะลาวก็มีกฎหมายของเขา ต้องตรวจสอบต่อไป ที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือและติดตามข้อมูลของโกตี๋มาโดยตลอด

มติ ครม. อื่นๆ  

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวาสุด) พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (กลาง) นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ผ่อนเกณฑ์ค้ำประกัน “SMEs ทวีทุน” – ดันเงินเข้าระบบ 81,000 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติผ่อนปรนเกณฑ์โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) วงเงินสินเชื่อ 100,000 ล้านบาทของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่ง ครม. อนุมัติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 แต่จนถึงปัจจุบันกลับมีผู้ประกอบการใช้บริการเพียง 19,000 ล้านบาท และเหลือวงเงินสินเชื่ออีก 81,000 ล้านบาท โดยการผ่อนปรนเกณฑ์ครั้งนี้มีเป้าหมายให้ บสย. เร่งค้ำประกันค้ำประกันเงินสินเชื่อและผลักดันออกไปให้เร็วที่สุด และเน้นไปที่สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ แบ่งเป็น 1) ให้รับรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแทนผู้ประกอบการจำนวน 4 ปี โดยปีแรกรัฐจะรับภาระทั้งหมด 1.75% ของวงเงินสินเชื่อ ก่อนจะลดลงปีละ 0.5% ในอีก 3 ปีที่เหลือ หลังจากนั้นผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเองจนจบโครงการ  2) เพิ่มเพดานภาระค้ำประกัน (Coverage Ratio) จาก 23.75% ของวงเงินสินเชื่อเป็น 30% ซึ่งทำให้สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการสามารถปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องชดเชยต้นทุนของการดำเนินโครงการแก่ บสย. แบ่งเป็นการชดเชยค่าธรรมเนียม กระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อนำงบกลางมาชดเชยให้ คาดว่าจะต้องใช้วงเงิน 3,240 ล้านบาท ขณะที่การชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการเพิ่มเพดานภาวะค้ำประกัน ต้องรอผลประดำเนินงานว่าเสียหายเพียงใด แต่คาดการณ์ว่าจะต้องชดเชยเป็นวงเงิน 5,062 ล้านบาท รวม 8,302.5 ล้านบาท

“ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมาจากประสบการณ์ของหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องมาหารือกันและคาดว่าจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อที่เหลือน่าจะปล่อยออกไปได้หมดภายในสิ้นปี 2560 โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 27,000 ราย และสร้างสินเชื่อใหม่ในระบบสถาบันการเงิน 136,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 108,000 ตำแหน่ง มีการลงทุนในเครื่องจักรยกระดับการผลิตและธุรกิจต่างๆ และสุดท้ายมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 370,000 ล้านบาท” นายอุตตมกล่าว

นอกจากนี้ จากการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตกลงกันว่าต้องสนับสนุนมาตรการที่ไม่ใช่การเงินไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยสมาคมธนาคารไทยจะเน้นไปที่การให้ความรู้ทางการเงินสมัยใหม่ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเน้นไปการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตใหม่ ความรู้ด้านตลาด และการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เป็นต้น

เก็บ “ภาษีบาป” เพิ่ม 2% อุดหนุนผู้สูงอายุ 4,000 ล้านบาท/ปี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ โดยมีสาระสำคัญให้กองทุนผู้สูงอายุมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนสุราและยาสูบ หรือ “ภาษีบาป” จำนวน 2% ต่อปี และไม่เกินปีละ 4,000 ล้านบาท มาจัดสรรเงินเป็นรายได้แก่กองทุนฯ ให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินงาน

“จากการสำรวจผู้มีรายได้น้อยในปี 2559 พบว่ามีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยประมาณ 2.3 ล้านคน และในปีล่าสุดคิดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 3 ล้านคน ซึ่งปกติรัฐบาลมีความช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่ 600-1,000 บาทต่อเดือนตามขั้นอายุ, เงินสงเคราะห์กรณีขาดผู้อุปการะอีก 300 บาทต่อเดือนของกระทรวงมหาดไทย รวมจะได้เงินช่วยเหลือตั้งแต่ 900-1,300 บาทต่อเดือนตามขั้นอายุ ครม. จึงเห็นชอบให้จัดสรรเพิ่มเติมจากภาษีบาป นอกจากนี้ กฎหมายยังรองรับให้รับเงินจากการให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้มากสละสิทธิ์เบี้ยยังชีพของตนเข้ามาสบทบในกองทุน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้เพิ่มเติมอีกปีละ 4,000 ล้านบาท” นายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีอื่นๆ ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ตามกฎหมายสุราและยาสูบ จำนวนรวม 5.5% ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 2%, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) 1.5% (ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี), กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 2% และหากรวมกองทุนผู้สูงอายุอีก 2% จะทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีอื่นๆ นอกจากภาษีสุราและยาสูบ เพิ่มขึ้นเป็น 7.5%

อนึ่ง ปัจจุบันในปี 2559 รัฐบาลจัดเก็บภาษีสรรพสามิตส่วนสุรา เบียร์ และยาสูบ ได้ 213,569 ล้านบาท โดยเป็นเงินอุดหนุนสำหรับ สสส. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แห่งละ 4,271 ล้านบาท และสำหรับ TPBS 2,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีเงินอุดหนุนตั้งแต่ปี 2558-2560 จำนวน 1,474 ล้านบาท โดยนำไปสนับสนุนและปล่อยเงินกู้แก่ผู้สูงอายุแล้ว 1,000 ล้านบาท เหลือเงินในกองทุนเพียง 465.9 ล้านบาท

ปรับ”ASEAN Digital Hub” ขยาย “ความจุ” แทน “โครงข่าย” รองรับการใช้ข้อมูล

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันสถานการณ์ด้านการใช้ข้อมูลของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าประเทศไทยมีการเติบโตของการใช้ข้อมูล (Bandwidth) ระหว่างประเทศประมาณ 65% ต่อปีของการใช้งานทั้งหมด ซึ่งจากขีดความสามารถปัจจุบัน หากไม่มีการขยายเพิ่มเติมประมาณปลายปี 2562 จะทำให้ความสามารถในการรองรับการใช้งานของบางเส้นทางไม่เพียงพอ ประกอบการปรับโครงสร้างของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ดำเนินการหลัก จึงจำเป็นจะต้องปรับรายละเอียดโครงการให้มีความสอดคล้องกัน โดยยังคงวงเงินที่ 5,000 ล้านบาทเช่นเดิม

ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงเหลือเพียง 3 โครงการจาก 5 โครงการ ได้แก่ 1) ปรับจากโครงการขยายโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศเพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบเคเบิลใต้น้ำ วงเงิน 1,200 ล้านบาท เป็นจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนเพื่อเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา และจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังสถานีเคเบิลใต้น้ำจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สงขลา สตูล ขนาดความจุรวม 2,300 Gbps (จิกะไบต์ต่อวินาที) วงเงิน 2,100 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อดึงดูดความสนใจของ Content Provider รายใหญ่ให้มาตั้งฐานข้อมูลในประเทศไทย

2) ปรับจากโครงการจัดหาเคเบิลใต้น้ำเชื่อมโยงระหว่างประเทศในเส้นทางญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา เพื่อเชื่อมโยงกับระบบเคเบิลขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 400 Gbps วงเงิน 379.1262 ล้านบาท, โครงการจัดหาอุปกรณ์เพื่อขยายความจุระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีอยู่เพื่อให้มีขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 2,000 Gbps วงเงิน 92.7823 ล้านบาท และโครงการขยายความจุระบบเคเบิลใต้น้ำเพื่อให้ระบบมีขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 1,450 Gbps วงเงิน 1,300 ล้านบาท เป็นโครงการขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีเป็น 1,770 Gbps วงเงิน 720 ล้านบาท

โดยให้เหตุผลว่าในโครงการแรก ระบบเคเบิลใต้น้ำของ กสท. ยังสามารถรองรับความต้องการได้และควรยกเลิกการดำเนินงาน ขณะที่โครงการที่ 2 พบว่าความต้องการในภาพรวมยังไม่มีความจำเป็นต้องขยายความจุดังกล่าว และสุดท้าย โครงการที่ 3 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในภาพรวมและจำเป็นต้องปรับจำนวนการขยายความจุใหม่

3) ปรับจากโครงการสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ (สายเคเบิลขนาดย่อม) เชื่อมต่อจากจังหวัดสงขลาไปยังระบบเคเบิลใต้น้ำ เพื่อขยายขีดความสามารถในการเชื่อมต่อไปประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 2,000 Gbps วงเงิน 2,028.1654 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ที่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแปซิฟิก เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์การใช้งานวงจร โดยระบบออกแบบให้มีความจุเบื้องต้นจากประเทศกับประเทศต่างๆ รวม 200 Gbps วงเงิน 2,180 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ามีความคุ้มค่ากว่าทั้งในแง่ของเงินลงทุนและการเพิ่มความหลากหลายของระบบ อีกทั้งเส้นทางจะถูกออกแบบให้ไม่ซ้ำกับระบบที่มีอยู่เป็นการเพิ่มเสถียรภาพของโครงข่ายระหว่างประเทศ

ไฟเขียวมาตรการภาษี ช่วยน้ำท่วมอีสาน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. อนุมัติมาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 ได้แก่ มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แบ่งเป็น

มาตรการภาษี

1) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.1) กรณีบุคคลธรรมดา สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้สุทธิ ตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 และตามข้อ 2 (70) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

1.2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554

ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลร่วมกันบริจาคเงินหรือทรัพย์สินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้มากยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้สามารถนำจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ไปหักเป็นค่าลดหย่อน/รายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากสิทธิการหักรายจ่ายตามปกติอีกเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบ ผ่านส่วนราชการ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี องค์การหรือสถานสาธารณกุศล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

2) มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

2.1) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับตัวอาคารหรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุดหรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งในลักษณะถาวรกับห้องชุดในอาคารชุดที่ได้จ่าย ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท

2.2) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ได้จ่ายระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินสามหมื่นบาท ทั้งนี้ ต้องออกเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรการสินเชื่อ

ส่วนมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือ คือ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 (ปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560) ตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2560 เพิ่มเติม โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank ดำเนินโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 (โครงการฯ) วงเงิน 5,000 ล้านบาท และรัฐบาลชดเชยในวงเงินไม่เกิน 825 ล้านบาท ในการนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการฯ ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในปี 2560 โดยการกำหนดเขตพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติตามโครงการฯ นี้ ให้เป็นไปตามที่ ธพว. กำหนดเป็นคราว ๆ ไป ทั้งนี้ ให้มีระยะเวลาการขอสินเชื่อ 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรือจนกว่าจะเต็มวงเงินแล้วแต่อย่างหนึ่ง อย่างใดจะถึงก่อน

อนุมัติ 4,000 ล้านบาท พัฒนาระบบไฟฟ้าระยะที่ 2 รับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อการรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินโครงการ วงเงิน 4,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี แบ่งเป็นจากการกู้ในประเทศ 3,000 ล้านบาท และรายได้ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการอนุมัติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ที่อนุมัติให้ลงทุนพัฒนาไป 6 พื้นที่ ขณะที่ครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส ซึ่งจะลงทุนในสถานีไฟฟ้าและสายส่ง รวมไปถึงระบบจำหน่ายไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมให้คำนึงถึงเมืองคู่แฝดอีกฝั่งหนึ่งด้วย เพื่อให้ดำเนินการเชื่อมโยงได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ผ่านกรอบงบประมาณ 2562 รับยุทธศาสตร์ชาติ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์งบประมาณปี 2562 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จะไปมอบนโยบายแก่ส่วนราชการต่างๆ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 โดยจะเน้นตามกรอบของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยจะเน้นการใช้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 จำนวน 10 ด้าน รวมไปถึงการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ทั้งนี้ กรอบงบประมาณจะมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงของชาติ รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ, ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, การพัฒนาคน, การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการเติบโตจากภายใน, ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและเพิ่มมประสิทธิภาพการบริหารของภาครัฐ โดยจะมีแผนงานทั้งสิ้น 58 แผนงาน

เห็นชอบอุดหนุนต้นทุนปัจจัยรอบ 59/60 ชาวนาตกสำรวจ 409 ล้านบาท

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตตามหลักเกณฑ์ของโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ   ให้แก่เกษตรกรกลุ่มที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของโครงการแต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเนื่องจากความคลาดเคลื่อนในกระบวนการดำเนินงาน จำนวน 40,985 ราย  คิดเป็นวงเงินไม่เกิน 409.85 ล้านบาท  โดยให้ดำเนินการภายในระยะเวลา 90 วัน  นับถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ และให้ กค. กำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรโดยผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้ถูกต้องครบถ้วน  โดยจะต้องไม่มีการหักเงินที่เกษตรกรพึงได้รับจากโครงการไปใช้เพื่อการอื่นก่อน เช่น การชำระหนี้ที่เกษตรกรมีอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลที่มีลักษณะเป็นโครงการที่ดำเนินงานครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศและมีประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายของโครงการนั้นๆ ได้อย่างทั่วถึง  ครบถ้วน   และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เห็นควรมอบหมายให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการดำเนินการ ดังนี้ 1) ดำเนินการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ถึงขั้นตอนและเงื่อนไขของการดำเนินโครงการโดยละเอียด ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์วิธีการเข้าร่วมโครงการและกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการทราบอย่างทั่วถึง  เพื่อลดโอกาสการเกิดข้อผิดพลาดอันเกิดจากความคลาดเคลื่อนในกระบวนการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง 2) หากตรวจสอบพบว่า มีข้อผิดพลาดในการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะเมื่อข้อผิดพลาดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายควรได้รับ  ให้ส่วนราชการเจ้าของเรื่องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาด รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายและประชาชนรับทราบถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ได้รับผลกระทบถึงความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล

ผ่านงบกลาง 5 พันล้าน – ค่าเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” – “บางใหญ่-กาญจนบุรี”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) วงเงิน 5,112 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 500 ล้านบาท ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 4,612 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 1,842 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานโยธา จำนวน 2,770 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไว้ เพื่อให้สามารถจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและจ่ายค่างานล่วงหน้า 15% ได้

ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558, 8 มีนาคม 2559 และ 20 กันยายน 2559 อนุมัติให้ ทล. ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 76,600 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินลงทุน 49,120 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 125,720 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 ซึ่งกระทรวงฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณและได้โอนเปลี่ยนแปลงเงินงบประมาณโครงการอื่นของ ทล. มาเพื่อใช้ดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2561 แล้ว

อย่างไรก็ตาม พบว่าแผนการดำเนินงานของทั้ง 2 โครงการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ยังขาดงบประมาณอีกจำนวนทั้งสิ้น 5,112 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาได้สำรวจพื้นที่โครงการเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2551 เพื่อใช้ในการออกแบบก่อสร้างโครงการ โดยมิได้สำรวจทรัพย์สินเพื่อการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือกำหนดค่าทดแทนตามกฎหมาย กระทรวงคมนาคมจึงได้เสนอสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 11,920 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 500 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 7,484 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานโยธาโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 3,936 ล้านบาท

ออก ม.44 ปลอบใจ ขรก. อดเลื่อนตำแหน่ง

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คสช. เห็นชอบให้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เพื่อกำหนดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ ในกรณีที่มีศักยภาพ และความพร้อมแต่ยังไม่สามารถปรับย้ายไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ โดยจะทำการปรับเลื่อนขั้นให้ เช่น จากซี 9 เป็นซี 10 หรือจากซี 10 เป็นซี 11 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งเดิมต่อไป ซึ่งจะเปิดโควตา 10 อัตรา สำหรับข้าราชการทั่วประเทศ แบ่งเป็นส่วนของข้าราชการในระดับซี 9 ที่จะเลื่อนไปเป็นซี 10 จำนวน 5 ตำแหน่ง และข้าราชการระดับซี 10 ที่จะเลื่อนไปเป็นซี 11 จำนวน 5 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินการให้กระทรวง หรือหน่วยงานต้นสังกัดนำเสนอชื่อและเหตุที่ต้องดูแลเยียวยาข้าราชการคนดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี โดยรายชื่อที่ผ่านความเห็นชอบจะนำเสนอ ครม. และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทำการแต่งตั้งต่อไป ซึ่งในวันนี้มีข้าราชการ 2 รายที่ได้รับการเยียวยา คือ นายสมเกียรติ ศรีประเสริฐ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สามารถปรับเลื่อนไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ ด้วยสถานการณ์บ้านเมือง และข้อจำกัดในการทำงานใต้บังคับบัญชาของข้าราชการการเมือง

“ที่ผ่านมามีการออกใช้มาตรา 44 กับกรณีเช่นนี้เป็นการเฉพาะเรื่องเฉพาะราย ตัวอย่าง กรณี พล.อ. ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มาจากส่วนราชการทหาร ในวันนั้นท่านรองเลขาฯ สมช. ท่านเดิมมีอาวุโสควรที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช. แต่ด้วยความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นควรเป็น พล.อ. ทวีป มากกว่า จึงมีคำสั่งตาม มาตรา 44 ออกมา เพื่อให้ท่านรองเลขาฯ ได้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นแต่ยังคงทำงานอยู่ที่เดิม ซึ่งในครั้งนี้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ไว้เป็นส่วนรวม” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เผยรายชื่อ ขรก. ไม่พบทุจริต 30 ราย ค้างตรวจ 193 ราย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า จากกรณีคำถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินการกับข้าราชการที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมามีการออกคำสั่งมาแล้ว 9 ฉบับ รวมข้าราชการที่ถูกตรวจสอบทั้งสิ้น 353 ราย (ไม่รวม 70 รายที่ถูกตรวจสอบล่าสุด)แบ่งเป็น 5 กลุ่ม

  • ผู้ที่ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ ให้จบเรื่องไป จำนวน 58 ราย แบ่งเป็น การปลดจากคำสั่งเนื่องจากไม่มีเหตุต้องดำเนินการต่อไป ให้กลับคืนตำแหน่งเดิม จำนวน 4 ราย อยู่ระหว่างการรอปลดจากคำสั่ง 2 ราย เสียชีวิต 2 ราย เกษียณอายุและไม่สามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ 11 ราย และพ้นจากตำแหน่งโดยการลาออก หรือครบวาระ ขาดคุณสมบัติ หรือต้องคำพิพากษาให้ออกจากตำแหน่งจำนวน 39 ราย
  • ได้รับการสอบสวนแล้วไม่พบความผิด จำนวน 30 ราย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากองค์กรตรวจสอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ในการให้ยุติเรื่องโดยไม่มีความผิด และมีการคืนตำแหน่งกลับให้ทั้งหมด โดยจะมีการประกาศรายชื่อผ่านทางเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมหรือสำนักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่อไป
  • กลุ่มที่สอบสวนแล้วพบว่ามีความผิด และมีคำสั่งลงโทษแล้ว จำนวน 72 ราย แบ่งเป็น ลงโทษไล่ออก 14 ราย ลงโทษปลดออก 2 ราย ให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีโทษ 44 ราย
  • กลุ่มที่สอบสวนเสร็จแล้วให้ลงโทษเล็กน้อย อาทิ การคาดทัณฑ์ ตัดเงินเดือน กักยาม ตักเตือน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากองค์กรตรวจสอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว จำนวน 12 ราย
  • การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ 193 ราย แบ่งเป็น ต้นสังกัดตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด หรือให้ลงโทษเล็กน้อย แต่ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วย จึงมีการดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมจำนวน 22 ราย ต้นสังกัดยังสอบสวนไม่เสร็จ 165 ราย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนกรรมการตรวจสอบกลางคันเมื่อพบว่าอาจมีข้อขัดแย้งกับผู้ถูกตรวจ

เห็นชอบกฎหมาย 7 ชั่วโครต – ป.ป.ช. รับลูกเตรียมยกเลิก กม. เดิม

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ราชการมีความสุจริตและปฏิบัติงานโดยความระมัดระวัง ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนไปปนกับประโยชน์ส่วนรวม

“กฎหมายนี้ถูกเรียกว่ากฎหมาย 7 ชั่วโคตร เดิมจะบังคับใช้แค่นายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้จะบังคับใช้กับข้าราชการทุกระดับ ตลอดจนพนักงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และภาคเอกชนที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการของรัฐ ซึ่งจะครอบคลุมถึงญาติใน 4 ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน, บุพการี, คู่สมรส, พี่น้อง รวมไปจนถึงบุตรบุญธรรม”

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์กว้างๆ ไว้ คือ

1. ห้ามกระทำการที่ขัดผลประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม

2. ห้ามรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ประเมินเป็นเงินได้ เว้นแต่เป็นการให้ตามประเพณีนิยม

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตีความกฎหมายนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า จะตีความว่าเอาซองตราครุฑราชการไปใช้ หรือเอาโทรศัทพ์มือถือไปชาร์จไฟหลวงก็ผิด แบบนี้ก็มากเกินไป แต่ถึงเวลาจริงจะมีการออกกฎหมายลูก ต้องออกระเบียบแต่ละหน่วยงาน ให้อนุญาตทำได้แค่ไหนอย่างไร กันอีกครั้ง สำหรับ ป.ป.ช. ที่ได้เข้าร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ จะทำการยกเลิกกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่กำหนดห้ามข้าราชการรับเงินเกิน 3,000 บาทไว้ แล้วมาบังคับใช้กฎหมายนี้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“วิษณุ” รายงานเดทไลน์ตั้งซูเปอร์บอร์ดยุทธศาสตร์ – คกก.ปฏิรูปประเทศ 11 คณะ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในประชุม ครม. นายวิษณุได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ได้ประกาศใช้แล้ว ซึ่งจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน (ภายใน 30 สิงหาคม 2560) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการย่อย 11 คณะ คณะละ 15 คน ขณะนี้รัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปไปแล้ว 2 ด้าน คือด้านการศึกษาและตำรวจ  ซึ่งคณะที่เลือกจะต้องดำเนินการตั้งให้แล้วเสร็จภายวันที่ 15 สิงหาคม 2560