นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงคมนาคม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม นางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการตรวจสอบของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration – FAA) ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558
นายอาคมกล่าวว่าตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (FAA) เมื่อวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2558 พบว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องดำเนินการแก้ไข จำนวน 35 ข้อ ต่อมา FAA ได้เดินทางมาตรวจติดตาม การแก้ไขข้อบกพร่อง ดังกล่าว เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคม 2558 พบว่ายังคงมีข้อบกพร่องที่ต้องดำเนินการแก้ไขอีก ซึ่ง กพท. ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ยังคงมีอยู่ดังกล่าวก่อนครบกำหนด 30 วัน ที่ FAA จะส่งผลการประเมินอย่างเป็นทางการ ให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยได้ส่งเอกสารข้อมูลการแก้ไขข้อบกพร่องที่ยังคงอยู่ทั้งหมดให้แก่ FAA เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 และ 19 พฤศจิกายน 2558
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้แจ้งผล การตรวจสอบระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทย โดย FAA แจ้งว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน คือ อยู่ในกลุ่ม Category 2 โดยสายการบินของไทยยังคงทำการบินไปสหรัฐอเมริกาตามที่มีอยู่เดิมได้เช่นเดิม แต่ไม่สามารถเพิ่มการให้บริการใด ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Category 2 มาแล้วเมื่อปี 2539 และสามารถกลับมาอยู่ในกลุ่ม Category 1 ได้ในปี 2540 และจากผลการตรวจสอบในปี 2544 และปี 2552 ประเทศไทยยังคงสามารถอยู่ในกลุ่ม Category 1 ได้
จากผลการตรวจสอบของ FAA ในการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Category 2 จะส่งผลกระทบต่อสายการบินของไทยในการปฏิบัติ การบินไปยังสหรัฐอเมริกา คือ
1. FAA จะไม่พิจารณาเพิ่มข้อกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติการ (Operation Specifications)
2. FAA จะแนะนำให้กระทรวงคมนาคม สหรัฐอเมริกา (Department of Transportation – DOT) มีมาตรการจำกัด การอนุญาตให้ทำการบินในเชิงพาณิชย์ โดยให้คงระดับตาม ที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ไม่ให้มีการเพิ่มจุดหมายปลายทาง ไม่ให้เปลี่ยนแบบอากาศยาน และไม่ให้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน
3. สายการบินของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถปฏิบัติการบิน โดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วม (Codeshare) กับสายการบินของไทยได้ แต่สายการบินของไทยยังสามารถดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา หรือของประเทศที่จัดอยู่ใน Category 1 ได้
4. อาจจะมีการทบทวน หรือจำกัดสิทธิทางเศรษฐกิจ (economic right) บางส่วนที่ได้รับภายใต้ข้อตกลงสิทธิทางการบินสองฝ่าย (Bilateral Air Transport Agreement) ปัจจุบันไม่มีสายการบิน ของไทยทำการบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกา หรือปฏิบัติการบิน โดยการ Codeshare กับสายการบินของสหรัฐอเมริกา และไม่มีสายการบินของสหรัฐอเมริกาดำเนินการ Codeshare กับสายการบินของไทย
ดังนั้น ผลกระทบจากผลการตรวจสอบของ FAA ข้างต้น จึงไม่ส่งผลต่อสายการบินของไทยโดยตรง ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกายังสามารถเดินทางโดยใช้บริการผ่านสายการบินที่เป็นพันธมิตร (partner) ได้
ส่วนแนวทางการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม
1. กระทรวงฯ จะมุ่งเน้นการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ ต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern – SSC) จากผลการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) เป็นสำคัญ และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องอื่น ๆ ควบคู่กันไป โดยจะนำผลการตรวจสอบของ FAA และข้อแนะนำจากการ มาเยือนของ EASA และ JCAB ร่วมเป็นแนวทางในการแก้ไข ข้อบกพร่องและปรับปรุงระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินของไทย คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถแก้ไขและปรับปรุงในภาพรวมได้ทั้งหมด
2. กระทรวงฯ จะกำกับให้ กพท. เร่งดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้าง การดำเนินงานของ กพท. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งเร่งรัด ในการจัดหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติและจำนวนที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานการกำกับดูแลความปลอดภัย การบินพลเรือนของ กพท. เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ว่าส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถเพิ่มความถี่ของสายการบินเดิมหรือเพิ่มเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางในสหรัฐฯ ได้
อีไอซีประเมินว่าการปรับลดระดับของ FAA จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ทำการบินไปยังสหรัฐฯ ได้ยกเลิกเส้นทางบินไปกลับ กรุงเทพฯ-โซล-ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2015 รวมถึงยังไม่มีแผนเพิ่มจุดบินใหม่ในสหรัฐฯ จึงทำให้สายการบินสัญชาติไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดระดับของ FAA นอกจากนี้ การที่ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้บริการของสายการบินอื่นทดแทนสายการบินของไทย ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับลดอันดับความปลอดภัยดังกล่าว
แต่ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาผลการประเมินของ European Aviation Safety Agency(EASA) ซึ่งมีแนวโน้มสอดคล้องกับผลการประเมินของ FAA จากกรณีศึกษาของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์พบว่า ผลการประเมินของ FAA และสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในกรณีของอินโดนีเซียนั้น FAA ปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินในเดือนเมษายน 2007 และ EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินอินโดนีเซียบินเข้าน่านฟ้าสหภาพยุโรปตามมาในเดือนมิถุนายน 2007 สอดคล้องกับกรณีของฟิลิปปินส์ที่ FAA ปรับลดระดับมาตรฐานด้านการบินในปี 2008 และ EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินของฟิลิปปินส์บินเข้าสหภาพยุโรปในปี 2010
อย่างไรก็ดี หาก EASA มีคำสั่งห้ามสายการบินสัญชาติไทยบินเข้าสู่ยุโรป แต่อีไอซีคาดว่าการบินไทยมีแนวโน้มได้รับการยกเว้นไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ทั้งนี้ คาดว่า EASA จะประกาศผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2015 และไทยมีความเสี่ยงในการถูกขึ้นบัญชีดำในลักษณะเดียวกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่อีไอซีประเมินว่า การบินไทยซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติไทยเพียงแห่งเดียวที่มีเส้นทางสู่ยุโรป อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรสายการบินที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยจาก IATA (IATA Operational Safety Audit: IOSA) จะยังคงสามารถให้บริการการบินสู่ยุโรปได้ ทำให้สถานการณ์อาจไม่รุนแรงมากนัก คล้ายคลึงกับกรณีของอินโดนีเซีย ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำจาก EASA แต่ยังคงมีสายการบินสัญชาติอินโดนีเซียถึง 4 สายที่ได้รับการยกเว้น ทำให้ยังสามารถทำการบินสู่ยุโรปได้
การปักธงแดงขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และการลดระดับของ FAA เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ จากผลการประเมินของ ICAO และ FAA ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยควรร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นการทบทวนการออกใบรับรองการเดินอากาศ (Air Operator’s Certificate: AOC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศ ทั้งนี้ จากบทเรียนของอินเดียพบว่าการคืนสถานะของ FAA สามารถทำได้ในระยะเวลาไม่นานนัก หากมีการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยอินเดียมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการออกใบอนุญาตใหม่ และใช้ระยะเวลาเพียง 1 ปี ในการเลื่อนอันดับเป็นประเภท 1 ของ FAA