ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดรายงาน EASA ยังเชื่อมั่นไทยแก้ปัญหาได้ – การบินไทยคว้าที่ 1 สายการบินพัฒนาการดี

เปิดรายงาน EASA ยังเชื่อมั่นไทยแก้ปัญหาได้ – การบินไทยคว้าที่ 1 สายการบินพัฒนาการดี

16 กรกฎาคม 2016


แม้ไทยยังถูกจัดเป็นประเทศเฝ้าระวังจากสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA)ในช่วงที่ผ่านมา แต่การตรวจมาตรฐานในรอบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ไทยยังคงรอดพ้นบัญชีดำ ไม่ถูกห้ามบินเข้าน่านฟ้ายุโรป และอีกหนึ่งข่าวดี หลังจากวิกฤติด้านการบินที่ไทยเผชิญมาอย่างหนักหน่วง 1 ปีเต็มก็ทำให้สายการบินไทย (Thai Airways) ได้ฉลองปีที่ 56 ด้วยการคว้าอันดับ 1 ของสายการบินที่มีการพัฒนามากที่สุดใน 12 เดือนที่ผ่านมา จาก Skytrax World Awards

นายจรัมพร โชติกเสถียร (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับมอบรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมของโลกจากสกายแทรกซ์ ประจำปี 2016 โดยการบินไทยได้รับ        2 รางวัล ได้แก่ รางวัลอันดับที่ 1 ประเภทสายการบินที่มีการปรับปรุงคุณภาพการบริการดีขึ้นมากที่สุด (World’s Most Improved Airline) และอันดับที่ 1 ประเภทสายการบินที่ให้บริการสปาเลาจน์ยอดเยี่ยม (World’s Best Airline Lounge Spa) นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 3 สายการบินที่ให้บริการ      ยอดเยี่ยม ได้แก่ สายการบินที่ให้บริการอาหารสำหรับชั้นประหยัดยอดเยี่ยม (Best Economy Class Onboard Catering) สายการบินที่มีพนักงานให้บริการยอดเยี่ยมของเอเชีย (Best Airline Staff Service       in Asia) และสายการบินที่ให้บริการภาคพื้นที่สนามบินยอดเยี่ยม (World's Best Airport Services) โดยมี      นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ (ที่ 5 จากซ้าย) รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี      และนางภัครา เรืองสิรเดโช (ที่ 3 จากซ้าย) รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น บริษัท          การบินไทยฯ ร่วมรับมอบรางวัล ณ เมืองฟาร์นโบโรห์ สหราชอาณาจักร
นายจรัมพร โชติกเสถียร (ที่ 4 จากซ้าย) กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับมอบรางวัลสายการบินยอดเยี่ยมของโลกจากสกายแทรกซ์ ประจำปี 2016 โดยการบินไทยได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลอันดับที่ 1 ประเภทสายการบินที่มีการปรับปรุงคุณภาพการบริการดีขึ้นมากที่สุด (World’s Most Improved Airline) และอันดับที่ 1 ประเภทสายการบินที่ให้บริการสปาเลาจน์ยอดเยี่ยม (World’s Best Airline Lounge Spa) นอกจากนี้ยังได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 3 สายการบินที่ให้บริการ ยอดเยี่ยม ได้แก่ สายการบินที่ให้บริการอาหารสำหรับชั้นประหยัดยอดเยี่ยม (Best Economy Class Onboard Catering) สายการบินที่มีพนักงานให้บริการยอดเยี่ยมของเอเชีย (Best Airline Staff Service in Asia) และสายการบินที่ให้บริการภาคพื้นที่สนามบินยอดเยี่ยม (World’s Best Airport Services) โดยมี นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ (ที่ 5 จากซ้าย) รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี และนางภัครา เรืองสิรเดโช (ที่ 3 จากซ้าย) รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น บริษัท การบินไทยฯ ร่วมรับมอบรางวัล ณ เมืองฟาร์นโบโรห์ สหราชอาณาจักร

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมาไทยได้รับข่าวดีจาก EASA มาแล้ว 1 ครั้งที่ไม่แบนสายการบินจากประเทศไทยที่ทำการบินเข้าน่านฟ้ายุโรป (การบินไทยและเอ็มเจ็ท) ทำให้คนในแวดวงการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหายใจได้ทั่วท้องขึ้นหลังเผชิญสถานการณ์อันหนักหน่วงจากการถูกปักธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และถูกลดอันดับจากสำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA)

ทั้งนี้ ตามประกาศของสหภาพยุโรป COMMISSION IMPLEMENTING REGULATION (EU) 2016/963 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 เกี่ยวการปรับปรุงรายชื่อสายการบินที่ห้ามเดินอากาศในสหภาพยุโรป โดยในครั้งนี้ไม่มีรายชื่อประเทศไทยในรายชื่อประเทศที่ถูกจำกัดการบิน ซึ่งสายการบินที่ถูกจำกัดการบินมีทั้งหมด 216 สายการบิน จาก 21 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน, แองโกลา (ได้รับยกเว้นหนึ่งสายการบิน), เบนิน, สาธารณรัฐคองโก, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี, อิเควทอเรียลกินี, เอริเทรีกาบอง (ได้รับยกเว้น 2 สายการบิน) อินโดนีเซีย (ได้รับยกเว้น 7 สายการบิน), คาซัคสถาน (ยกเว้นสายการบิน Air Astana), สาธารณรัฐคีร์กีซ, ไลบีเรีย, ลิเบีย, โมซัมบิก, เนปาล, เซาตูเมและปรินซิปี, เซียร์ราลีโอน, ซูดาน และสายการบินอิรักแอร์เวย์ จากอิรัก กับสายการบินบลูวิงส์ จากซูรินาเม ที่สายการบินที่ให้บริการเครื่องบินส่วนบุคคล

โดยรายงานในส่วนของประเทศไทยระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 มีการประชุมด้านเทคนิคอันเป็นส่วนหนึ่งของการให้คำปรึกษาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 โดย กพท. รายงานถึงการดำเนินการแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยต่างๆ รวมไปถึงการเพิกถอนใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) 1 สายการบิน เนื่องจากการดำเนินการด้านภาคพื้นมีปัญหาด้านความปลอดภัย สายการบินมีความไม่พร้อมด้านการเงิน ไปจนถึงการตรวจพบปัญหาเรื่องตารางเวลาการทำการบินและการปฏิบัติหน้าที่ของนักบินและลูกเรือ (Flight and Duty Time)

นอกจากนี้ กพท. รายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินการออก AOC ใหม่ให้กับสายการบินต่างๆ ที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรภายนอกที่มีศักยภาพ โดย กพท. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมากกว่าที่จะ “แก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว” ซึ่ง กพท. ได้อธิบายถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหา เพียงแต่ต้องการเวลาระยะหนึ่ง เนื่องจากได้ทำสัญญากับองค์กรภายนอกที่จะส่งผู้ตรวจสอบระดับสากลเข้ามาช่วยดำเนินการออกใบรับรองให้แก่สายการบิน ซึ่งต้องใช้เวลา 9 เดือนเป็นอย่างต่ำ และเป็นเรื่องหลักที่จะคลายปมข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) ของ ICAO

ทั้งนี้กพท. และ EASA ได้ลงบันทึกความร่วมมือไปในปี 2558 เพื่อขอแรงสนับสนุนจาก EASA ช่วยเหลือให้ กพท. สามารถบรรลุมาตรฐานสากลได้ในระยะยาว โดย EASA ยังไม่จำกัดการเดินอากาศสายการบินจากไทย เนื่องจากข้อมูลมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินที่ผ่านการรับรองและการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไทยและ กพท. ในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านการบิน (ถือว่าไม่พบข้อบกพร่องตามข้อกำหนด (EC) No 2111/2005)

Thaiairway

อย่างไรก็ตาม จะยังคงจับตาดู พร้อมให้คำปรึกษาหน่วยงานของไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 3 (2) ตามข้อกำหนด (EC) No 473/2006 โดยสายการบินประเทศไทยจะยังคงถูกตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยผ่านการตรวจสอบ ณ ลานจอด ตามข้อกำหนด (EU) No 965/2012. และหากพบว่ามีความเสี่ยงจากการละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล คณะกรรมการอาจพิจารณาที่จะดำเนินการตามข้อกำหนด (EC) No 2111/2005 ต่อไป

หลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่มุ่งไปที่การออก AOC ให้กับสายการบินใหม่ทั้งหมดชะงักไปชั่วคราว เนื่องด้วยปัญหาที่หลายเสียงในแวดวงการบินระบุว่า กำลังคนของ กพท. ยังไม่ลงตัว โดยมี น.ต. อลงกต พูลสุข ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ กพท. อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ซึ่งประกอบกับที่ EASA เข้ามาตรวจสอบไทยพอดี โดยความคืบหน้าล่าสุดจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจาก Cooperation Framework Agreement on Aviation สำหรับแก้ไขปัญหาด้านมาตรฐานการบิน วงเงิน 2.5 ล้านยูโร หรือราว 100 ล้านบาท รวมทั้งขอรับการสนับสนุนด้านบุคลากรจากองค์การกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของการบินพลเรือน จำนวน 7 คน มาให้คำแนะนำกับทางการไทย

แม้ธงแดงจาก ICAO จะเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องค่อยๆ แก้ไข รวมทั้งข้อกังวลที่จะไต่อันดับขึ้นมาอยู่ Category 1 ของ FAA จะชะลอไว้ก่อนได้ เพราะตอนนี้ไม่มีสายการบินใดของไทยทำการบินเข้าสหรัฐฯ และแม้ไทยจะวางแผนด้วยการขอเวลา พร้อมขอกำลังคนจาก EASA เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่หากรายงานครั้งหน้าไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพิ่มเติมไทยอาจต้องเผชิญสภาวะที่น่าหนักใจอีกครั้ง เพราะการไม่ถูกห้ามบินจาก EASA ถือเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่ช่วยการันตีมาตรฐานด้านการบินของไทย