ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเมิน”ทักษิณ” โพสต์ภาพที่อังกฤษ-ครม.อนุมัติ 8.7 หมื่นล้าน พยุงราคาข้าว-ประกันสุขภาพหักภาษีปีละ 15,000 บาท

นายกฯเมิน”ทักษิณ” โพสต์ภาพที่อังกฤษ-ครม.อนุมัติ 8.7 หมื่นล้าน พยุงราคาข้าว-ประกันสุขภาพหักภาษีปีละ 15,000 บาท

20 กันยายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามสื่อภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่ภาคกลาง

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 ณ อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่ภาคกลาง (ครม.สัญจร ครั้งที่ 2) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ซึ่งการประชุม ครม.สัญจร ครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2560 โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีการลงพื้นที่ใน จ.สุพรรณบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชนนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณประชาชนทั้ง 2 จังหวัด ที่ให้การต้อนรับ ครม. เป็นอย่างดี

“อาจมีการล่าช้าบ้าง แต่รัฐบาลก็ต้องการให้เกิดการรับรู้รับทราบโดยทั่วกันในทุกพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะรัฐบาลดำเนินการในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงต้องลงมาติดตามความก้าวหน้าของงานในฟังก์ชันที่รัฐบาลได้ทำมา 3 ปีแล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัดตอบเรื่องสนใจการเมือง – ยันไม่มี “ดีล” นักการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องวันนี้เริ่มสนใจการเมืองบ้างหรือยัง ว่า การเมืองท่านก็รู้อยู่แล้วว่ามันคืออะไร การเมืองไม่มีอะไรที่จะสงบได้ เพราะเป็นการสร้างความนิยมของทางการเมือง เพราะฉะนั้น ใครจะว่าอะไรก็ตาม ผมก็รับไปแก้ไข ไปหาข้อเท็จจริงแล้วนำมาสู่การตรวจสอบ ผมก็ทำทุกเรื่อง ตรงนี้ผมคงไม่ตอบอย่างอื่น ออกสื่อก็วุ่นวายไปหมด

“เรื่องการเมืองก็ให้เป็นเรื่องการเมืองไป ผมก็ยินดีตอบรับทุกคนทุกพื้นที่ อยากจะมาก็มา แล้วก็ไม่ได้เป็นข้อตกลงใดทั้งสิ้น เพียงแต่ให้ทุกคนรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ ทุกคนที่ยังอยู่ในแวดวงการเมืองในอนาคต หรือ เคยอยู่มาแล้วต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ มันก็จะเป็นขั้นต้นของการปรองดองนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมก็มีแค่นั้นเอง หลายคนไปพาดเป็นเรื่องการเมืองไปดีลอะไร ไม่มีหรอกครับไม่ต้องดีล ถ้าใครคิดเห็นว่าเดินหน้าไปด้วยกันได้ มาช่วยกันดู ช่วยกันคิดกับเรา ก็ดีจะได้ไม่ขัดแย้ง วันหน้าเลือกตั้งใครเป็นรัฐบาลเราจะได้ไม่มีปัญหากันอีกในโอกาสต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องของนายประภัตรที่ให้รัฐบาลแบ่งงบประมาณจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มาสนับสนุนราคาข้าวให้ดีขึ้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณของแต่ละโครงการไว้อย่างเหมาะสมและมีความสมดุลในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความเป็นธรรมลดความเลื่อมล้ำที่เน้นดูแลผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการดูแลภาคการเกษตร ซึ่งยอมรับว่าทั้งหมดต้องทำผ่านหลายมาตรการและใช้งบประมาณจำนวนมาก ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือ การพัฒนาพื้นที่ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วน

มอบ”ดอน”ประชุม UN โชว์แผน SDGs ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่เวทีโลก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ตนได้มอบหมายให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ร่วมประชุม ซึ่งปีนี้การประชุมจะเน้นไปที่เรื่องประชาชน ความสงบ ความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และแผนเอสดีจี 2015-2030 ซึ่งเราจะไปพูดถึงแนวทางที่ปฏิบัติในประเทศของเรา ชักชวนทุกคนให้ได้นำสิ่งที่ไทยทำแล้วเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หัวตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปขับเคลื่อนด้วยว่าทำอย่างไร

เมิน”ทักษิณ”โพสต์ภาพอยู่อังกฤษ

กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพตัวเองขณะอยู่ที่ประเทศอังกฤษในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางไปปฎิบัติภารกิจที่อังกฤษ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การที่เขาโพสต์ภาพอะไรต่างๆ เป็นเรื่องของเขา ห้ามเขาไม่ได้ หากมันจะเกิดอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่เขา เขาเลือกของเขาเอง ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาไปควบคุมไม่ได้ พูดไปก็เท่านั้น และไม่ขอตอบคำถามพวกนี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของตน

ต่อคำถามความคืบหน้าการติดตามตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่เคยไปไล่ล่าใคร เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่เรื่องของคนไม่กี่คน ก็ขยายความขัดแย้งกันอยู่ได้ คำถามที่ส่งมาวันนี้ (19 ก.ย. 2560) ไม่ได้เกี่ยวกับการประชุม ครม.เลย แต่ไปเกี่ยวกับเรื่องคนหนี เดี๋ยวเขาก็จับจนได้ แต่ถ้าจับไม่ได้ แสดงว่าเขาไม่ให้ตัวมา ก็ต้องรออย่างนั้น ใครรู้ ก็ไปหาว่าอยู่ที่ไหนแล้วจะลงโทษกันอย่างไร ฝ่ายความมั่นคงก็ทำทั้งหมด

“นึกถึงสิ่งที่ก้าวหน้าบ้าง ถ้าเอาปัญหาเหล่านี้ที่พะรุงพะรัง สิ่งที่จะก้าวไป ก็จะก้าวช้า หรือ จะเริ่มใหม่ ก็เริ่มไม่ได้ เพราะเรื่องเดิมมันเยอะ ขอให้ลองย้อนดูว่าเกิดขึ้นอย่างไร ผมแก้ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ยังโดนสังคมและสื่อตำหนิแล้วจะทำไปเพื่ออะไร วันนี้มาที่นี่ ตั้งแต่ประชุมอารมณ์รุนแรงหน่อย เรากำลังให้ประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นปกติ เป็นสากล ซึ่งต้องใช้วิธีการพิเศษหรือไม่ หากใช้วิธีการปกติจะไปได้หรือไม่ มันก็ไม่ได้อยู่ดี หรือใครคิดว่ามีวิธีอื่น ผู้ติ ไม่มีผู้ก่อ ผมพยายามอยู่ตรงกลาง เอากฎหมายมาแก้ปัญหาทั้ง 2 ทางให้ได้ แต่ก็ยังมาไล่ตน ตกลงจะเอาอย่างไร วันนี้ไม่ได้อารมณ์เสีย แต่อารมณ์ไม่ดี” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันปมระงับบิน เคลียร์สายการบินแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการแก้ปัญหาด้านการบินโดยโดยใช้ คำสั่งตามมาตรา 44 มอบอำนาจให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ดำเนินการ โดยถามกลับว่าให้ตนใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาการบินโดยตรงนั้นแก้ได้หรือ กรณีนี้เป็นหน้าที่ของ กพท. อยู่แล้ว มิฉะนั้นนายกรัฐมนตรีต้องแบกรับทุกเรื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ในพื้นที่ภาคกลาง

“ทำอะไรก็ตามต้องอาศัยช่องทางทางปกติ วันนี้ก็มอบอำนาจให้เขาไปทำจะได้สบายใจ และวันนี้ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น ได้หารือกับผู้ประกอบการสายการบินทั้งหมดแล้วว่าเขาต้องยอมรับกติกาตัวนี้ มิฉะนั้นจะมีปัญหาต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ผมยังเร่งรัดให้ กพท. เร่งตรวจสอบสายการบินที่เหลือให้เสร็จตามกำหนดเวลา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

วันนี้ที่มาถามตนว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรนั้น ขอให้กลับไปคิดว่าเกิดปัญหามาได้อย่างไร การอนุมัติให้สายการบินนั้นๆ ทำการบินได้ทั้งที่ไม่มีความพร้อมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้อนุมัติ ต้องไปไล่เรียงดูตรงนั้นตนจะได้รู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร มิฉะนั้นมันยังวนอยู่ที่เดิม

วอนสื่อหยุดวิจารณ์แก้ปัญหา 3 จว.ภาคใต้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า จะยังคงเดินหน้าพูดคุยต่อไป วันนี้ตนไม่อยากให้มีการไปปลุก เดี๋ยวก็จะไปไล่ล่าฆ่าฟันกันให้หมดไปข้างหนึ่ง มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องดูว่ากลุ่มที่พูดคุยมาครบหรือยัง ใครที่ยังไม่มาก็ต้องพยายามให้เขามา ถ้าตราบใดที่ยังมาไม่ครบ ยังรวมกลุ่มกันไม่ได้ ก็กำหนดอะไรไม่ได้ทั้งนั้น

“รัฐบาลมีความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม วันนี้อยากให้ทุกคนพึงระลึกเสมอว่าสิ่งใดก็ตามที่มีผลกระทบต่อการแก้ไขสถานการณ์ในภาคใต้ รัฐบาลจะระวังอย่างที่สุด เพราะเป็นประเด็นที่ต่างชาติให้ความสนใจ เหตุการณ์ในภาคใต้มันไม่เหมือนภูมิภาคอื่นในโลกใบนี้ เพราะคนเหล่านี้เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เขาใช้เทคนิคและยุทธวิธีที่ทำให้การตรวจสอบและการจับกุมเป็นไปได้ยาก เป็นการกระทำอิสระ แต่เขาไม่ได้รวมและยึดพื้นที่ ไม่มีกองกำลังที่ปรากฏกายชัดเจน หรือประกาศตัวเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาเป็นคนไทยทั้งสิ้น นับถือศาสนาต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีคนปลุกปั่นทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น เราจึงต้องแก้ด้วยกระบวนการและสันติวิธี บังคับใช้กฎหมายปกติ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลพยายามดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ใช้ชีวิตได้อิสระ ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงหรือมีสถานการณ์แย่ที่สุด ต้องมีการตรึงพื้นที่หรือปิดล้อม ตรวจค้นใช้กฎหมาย ใช้ยุทธวิธีทางทหารกวาดล้าง แต่ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผู้ก่อเหตุไม่เปิดเผยตัว ถึงเวลาก็เอาอาวุธมาลอบยิง ลอบวางระเบิด จึงต้องสู้ทุกมาตรการ ซึ่งตนไม่อยากให้ทุกคนขยายไปเรื่อยจนท้ายสุดเป็นความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม แล้วจะได้อะไรขึ้นมา ตนอยากจะรู้นัก วิจารณ์กันออกไป ไม่มีหลักการ ไม่มีความรู้ทางยุทธวิธี

ชี้เคยช่วยปม “โรฮิงญา”แล้ว จะให้ช่วยอะไรอีกก็บอกมา!

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนางออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออกมาเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของชาวโรฮิงญา เป็นคำถามสุดท้าย ว่า “ที่ผ่านมาเราให้เงินและการช่วยเหลือต่างๆ ไปแล้ว รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ แล้วจะให้ช่วยอะไรอีก เพราะที่ผ่านมาเราได้ช่วยไปแล้ว และพร้อมที่จะช่วยเหลืออีก ถ้าต้องการให้ช่วยก็ขอให้บอกมา หรืออยู่ดีๆ จะให้ไปช่วย จะให้รับคนของเขาเข้ามาอยู่หรืออย่างไร ให้ไปอยู่บ้านคนที่ถามก็แล้วกัน พูดหาเรื่องอยู่ได้ พูดทุกเรื่อง คิดกันบ้างหรือไม่ว่าเขาจะเข้าบ้านอยู่แล้ว รู้กันไหม”

มติ ครม. มีดังนี้

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เห็นชอบขุดคลองระบายน้ำบางบาล – บางไทร แก้อุทกภัยซ้ำซาก

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติในหลักการในการเตรียมความพร้อมโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้เสนอ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากอันเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เกินความสามารถในการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสายอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค เพิ่มศักยภาพด้านการเกษตรในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง รวม 229,138 ไร่

“ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่ไหลผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา มีความสามารถในการระบายน้ำตรงจุดที่แคบที่สุดได้เพียง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และบริเวณเมืองมีโบราณสถานหลายแห่งทำให้ไม่สามารถขุดลอกหรือขยายได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมือง โดยจะสามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อรวมกับขีดความสามารถสามารถระบายน้ำได้ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการจัดหาที่ดินควบคู่ไปกับการสำรวจออกแบบที่ดินเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งตามแผนงานจะออกแบบแล้วเสร็จในปี 2562 และจะมีการเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2562 แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2564

จัดงบกลาง 2.2 พันล้าน หนุนโครงการ 9101

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 ในวงเงินงบประมาณ 2,295 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประกอบไปด้วยเงินอุดหนุน (ทั่วไป) 2,250 ล้านบาท และงบดำเนินงาน 45 ล้านบาท

“เป้าหมายโครงการคือ ผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 4.9 แสนครัวเรือนในพื้นที่ 43 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ โดยกิจกรรมที่จะสนับสนุนจะเป็นกิจกรรมที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เช่น การปลูกพืชอายุสั้น การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารแปรรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมไปถึงการประมง โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยการผลิต ครัวเรือนละไม่เกิน 5,000 บาท เกษตรกร 1 ครัวเรือนจะสามารถเลือกทำกิจกรรมข้างต้นได้กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น และจะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันกลุ่มละไม่น้อยกว่า 10 ราย” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

อนึ่งโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ในครั้งนี้เป็นการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยได้รับไปก่อนหน้าในวงเงิน วงเงินงบประมาณ 22,895.36 ล้านบาท

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งข้อร้องเรียนมาทั้งจากที่ผ่านหน่วยงานและโดยตรงถึงตนเองว่า การอนุมัติโครงการ 9101 จะมีคณะกรรมการระดับชุมชน ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และมีคนที่ต้องรวบรวมส่งสำนักงบในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนนี้อาจจะมีการรวมกลุ่มกันแล้วไปกำหนดว่าเงินควรจะไปอยู่ที่ใคร ส่วนไหน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ กำชับให้หน่วยงานเข้าไปดูแลในระดับปฏิบัติ เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนโดยตรง

“พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า รับทราบเรื่องนี้แล้ว ซึ่งก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะสั่งการใน ครม. ครั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีโครงการ 9101 ว่ามีโครงการที่ไหนบ้างที่ไม่โปร่งใส มีการทุจริตในขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันจะประเมินผลเป็นระยะๆ และนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ท้ายที่สุดของโครงการให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์จะได้เป็นข้อพิจารณาสำหรับทำโครงการครั้งต่อไป ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้จะมีแนวทางแก้ไขได้อย่างไร” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

หักลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ 15,000 บาทต่อปี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสามารถยกเว้นเงินได้เท่าที่ผู้มีรายได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันสุขภาพตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

โดยปัจจุบันประชาชนสามารถหักลดหย่อนได้อยู่แล้วผ่านการยืนแบบแสดงภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รวมไปถึงเงินฝากที่มีข้อตกลงกับธนาคารผู้รับฝากเงินว่าจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ทางข้อตกลง โดยอาศัยการทรงชีพ หรือการมรณะของผู้ฝากเงิน และมีกำหนดระยะเวลาฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งในครั้งนี้ได้เพิ่มส่วนของประกันสุขภาพเข้ามา

“หมายถึงปกติทุกคนมีสิทธิ์อยู่แล้วจำนวน 100,000 บาท ขึ้นอยู่ว่าจะนำไปใช้กับเงื่อนไขใด เงื่อนไขที่ 1 ประกันชีวิต เงื่อนไขที่ 2 เงินฝากธนาคารที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันชีวิต ซึ่งทั้งสองอย่างต้องมีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป และในครั้งนี้เพิ่มเงื่อนไขที่ 3 เข้ามาคือเรื่องประกันสุขภาพ ซึ่งทั้ง 3 เงื่อนไขหากรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท และการจะทำประกันสุขภาพต้องไม่เกิน 15,000 บาท” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า กรณีดังกล่าวมีผู้ซักถามในที่ประชุมว่าทำไมไม่นำมารวมกันเป็น 115,000 บาท นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้อธิบายว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรได้คำนวณแล้ว และมีการตรวจสอบข้อมูลว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากจะไม่ได้หักครบ 100,000 บาท ดังนั้น การให้เพิ่มเงื่อนไขที่ 3 ได้นั้นประชาชนสามารถดำเนินการโดยอาศัยช่องที่ยังเหลืออยู่ใน 100,000 บาทแรก ส่วนประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จริงๆ คือประชาชนที่มีรายได้สูง เนื่องจากผู้มีรายได้สูงสามารถดูแลตัวเองได้ดีอยู่แล้ว อยากให้เงินที่ออกมาไปช่วยผู้มีรายได้ปานกลางหรือรายย่อย

“การที่จะทำเรื่องการหักลดหย่อนประกันสุขภาพได้ในวันนี้จะเป็นการช่วยให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีขึ้น และแบ่งเบาภาระทางการเงินของประชาชน แม้จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลบางส่วนแต่โดยรวมสามารถบรรเทาภาระการคลังของรัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้ไปพร้อมๆ กัน” นายกอบศักดิ์กล่าว

เห็นชอบร่างพ.ร.บ.อีอีซี – คาดบังคับใช้ใน 5 เดือน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. หลังจากทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กลับไปปรับปรุงแก้ไขแล้ว และหลังจากนี้จะมีการเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 4-5 เดือน

โดยในหลักการของกฎหมายยังคงยึดหลักร่างกฎหมายฉบับเดิม เช่น เรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ในการให้สิทธิ์กับคนต่างด้าวที่จะเข้ามาทำประโยชน์ภายในราชอาณาจักรรวมถึงคู่สมรส กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายใน หรือได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่อีอีซี

นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยคณะกรรมการฯ จะมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการและเป็นจุดบริการรวมศูนย์หรือวันสต็อปเซอร์วิส

แปรรูป TCDC เป็นองค์กรมหาชน ปั้นเอกชนสู่เป้าหมาย Thailand 4.0

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .… โดยเป็นการแยกตัวออกมาจากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน)

“สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (สศส.) ในอดีตคือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) เมื่อแปรรูปมาเป็นองค์การมหาชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งจัดเก็บข้อมูล สถิติองค์ความรู้ และนวัตกรรมต่างๆ พัฒนาผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน” นายณัฐพรกล่าว

นายณัฐพรกล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ Thailand 4.0 โดยที่ผ่านมาไม่ได้มีองค์กรใดดูแลในเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะเจาะจง ภารกิจต่างๆ ถูกซ่อนเอาไว้ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรเป็นรูปธรรมขึ้นมาภารกิจต่างๆ ก็จะโอนมาสู่องค์กรนี้ และในอนาคตจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยตรง

ชาวอยุธยากว่า 1,000 คน มาให้การต้อนรับ

เคาะ 8.7 หมื่นล้าน ช่วยชาวนารักษาเสถียรภาพราคาข้าว

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด จำนวน 3 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 87,216 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 86,276 ล้านบาท โดยที่ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้สำรองจ่ายไปก่อนและขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 406 ล้านบาท รวม 12,906 ล้านบาท มีเป้าหมายที่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน ให้รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ประมาณ 2.5 ล้านตัน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561

2) โครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี สินเชื่อ 21,010 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 4,038 ล้านบาท เป้าหมายที่ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ จำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 พฤศจิกายน 2560 – 28 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับภาคใต้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 กำหนดระยะเวลาคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้

“ข้าวเปลือกเหนียวจะกำหนดราคาเท่ากับข้าวเปลือกหอมมะลิ เนื่องจากปีที่ผ่านมาข้าวเหนียวมีราคาสูงกว่าข้าวเปลือกหอมมะลิ ซึ่งมีสภาวะผิดปกติ คือ ข้าวเหลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวตันละ 10,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 72,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,500 บาท โดยค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวอยู่ที่ราคาตันละ 1,500 บาท จะจ่ายพร้อมกับการจ่ายสินเชื่อก่อนตันละ 1,000 บาท และจ่ายหลังจากเกษตรกรนำเงินมาชำระหนี้ตันละ 500 บาท  นอกจากนี้ จะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ไร่ละ 1,200 บาทตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง แต่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ จำนวน 48,321 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินที่จ่ายให้เกษตรกร 47,273 ล้านบาท ค่าชดเชยต้นทุนให้ ธ.ก.ส. 1,028 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. 19 ล้านบาท” นายณัฐพรกล่าว

สำหรับอีกโครงการหนึ่งดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ คือ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร วงเงิน 940 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2561 เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก เป้าหมาย 8 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ซึ่งรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 10-180 วัน

ตลาดข้าวครบวงจรพลาดเป้า ขยายเวลาเพิ่มถึงสิ้นก.ย.นี้

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ในการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพปศุสัตว์ ปี 2559/2560 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561

“เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินงานโครงการมีหลายขั้นตอนและใช้เวลามาก ตั้งแต่การอนุมัติเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ การรวมกลุ่มเกษตรกร และการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ทำให้เกิดการจ่ายสินเชื่อล่าช้า โดย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2560  มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 13,711 ราย จากเป้าหมาย 30,000 ราย พื้นที่ปรับเปลี่ยน 68,555 ไร่ จากเป้าหมาย 150,000 ไร่ ได้รับการอุดหนุนค่าปัจจัยการผลิตแล้วประมาณ 12,000 ราย จำนวน 253 ล้านบาท จากทั้งหมด 600 ล้านบาท ทำสัญญาเบิกจ่ายเงินกู้ได้ 557.67 ล้านบาท จากเป้าหมาย 16,096 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับว่าให้ประเมินผลการดำเนินการ 6 เดือนก่อนแล้วค่อยหามาตรการต่อไป” นายณัฐพรกล่าว

นายณัฐพรกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ครม. มีมติในหลักการให้ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และตลาดข้าว GAP ครบวงจรกับผู้ประกอบการค้าข่าว เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินโครงการยังไม่สามารถเชื่อมโยงตลาดได้อย่างทั่วถึง โดยกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการซื้อข้าวคุณภาพจากโครงการดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ในการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ข้าว GAP และข้าวเพื่อสุขภาพ ระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับผู้ประกอบการค้าในจังหวัด

จี้พณ.ตรวจร้านค้าตุน เหล้า-บุหรี่

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ปรารภและสั่งการในที่ประชุม ครม. สำหรับการเพิ่มภาษีสรรพสามิตในส่วนของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีผลเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประสบปัญหาการกักตุนสินค้า โดยนายกรัฐมนตรีได้รับข้อร้องเรียนถึงกรณีดังกล่าวมาเป็นจำนวนมาก เช่น บุหรี่ขาดตลาดเป็นจำนวนมาก บางพื้นที่ร้านค้าส่งปิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นดัชนีชี้วัดว่ามีการกักตุนสินค้าเกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามกระทรวงพาณิชย์ว่ามีการตรวจสอบได้หรือไม่ว่ามีการกักตุนสินค้าหรือสต็อกสินค้าไว้หรือไม่ ซึ่งนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รายงานในที่ประชุมว่า การตรวสอบการกักตุนสินค้านั้นสามารถทำได้เพียงเพียงระบุจำนวนสินค้าที่ออกจากโรงงานผลิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะไปอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใดเป็นจำนวนเท่าใด

“นายกรัฐมนตรีขอให้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นควบคู่มาด้วย โดยสินค้าจะต้องมีวันที่ระบุชัดเจน เพื่อร้านค้าจะสามารถขายสินค้าได้สอดคล้องสภาพความเป็นจริง หมายความว่า ผู้ประกอบการรายใดซื้อสินค้ามาก่อนวันที่ผลิตก่อนจะมีผลในเรื่องการขึ้นภาษี จะต้องขายในราคาเดิม ส่วนที่รับมาภายหลังขึ้นราคาแล้วค่อยขายในราคาที่มีการขึ้นภาษี และเพื่อป้องปรามการกระทำของร้านค้าที่ผ่านมาได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ต้องลงไปตรวจสอบร้านค้าหาเหตุผลของร้านที่มีการปิดให้บริการก่อนที่อัตราภาษีใหม่มีผลบังคับใช้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นายกฯ เล็งสร้างโรงเรียนชาวนาทุกพื้นที่ปลูกข้าว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีปรารภในที่ประชุม ครม. ถึงกรณีที่ได้ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนชาวนาที่ จ.สุพรรณบุรี ที่เปิดสอนมาแล้ว 3 รุ่น ซึ่งนายกรัฐมนตรีประทับใจที่สมาชิกและนักเรียนโรงเรียนชาวนาได้บอกกล่าวในเวทีเสวนาเล็กๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพูดคุย จากกรณีที่ชาวบ้านระบุว่าเขามีแปลงนาเป็นครูใหญ่ มีบุคคลแวดล้อมเป็นครูน้อย

โดยชาวบ้านได้บอกเล่าให้นายกรัฐมนตรีฟังว่า พฤติกรรมของชาวนาเวลาที่มีใครแนะนำวิทยาการใหม่ นวัตกรรมใหม่ให้ เป็นสิ่งที่ยากลำบากพอสมควร เพราะชาวนาเชื่อว่าทำนามาหลายรุ่น แต่โรงเรียนชาวนาทำให้พบปัญหาจริงว่าที่ผ่านมาทำหลายเรื่องไม่สอดคล้องความเป็นจริง เช่น การซื้อยาฆ่าศัตรูพืชหลายชนิดทำให้ต้นทุนสูง จึงมีหลักสูตรเรียนย่อยถึงวิธีการทำนา ปลูกข้าว ด้วยวิธีแตกต่างกัน บางกลุ่มลองใช้สารเคมี บางกลุ่มใช้เกษตรอินทรีย์ บางกลุ่มใช้ชีวภาพ เพื่อเปรียบเทียบและหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อขยายผล

นายกรัฐมนตรี เยึ่ยมชมโรงเรียนชาวนา
ที่มาภาพ : thaigov.go.th

“นายกรัฐมนตรีต้องการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกฯ น้อยขับเคลื่อนให้มีโรงเรียนชาวนาแบบนี้ให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ที่มีการปลูกข้าว เพื่อให้เกษตรกรชาวนาเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์รุ่นใหม่ให้ได้ โดยเฉพาะในปี 2561 ที่จะมีอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านครบถ้วนนั้นยิ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงผู้ผลิต-ตลาดได้มากขึ้น และนายกรัฐมนตรีขอให้เพิ่มเติมเรื่องการจัดแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตของเกษตรกรชาวนาด้วย” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นายกฯเล็งเพิ่มเบี้ยคนชรา

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการปรับจากอดีตมา โดยมีการจ่ายเบี้ยให้ตามลำดับอายุตั้งแต่ช่วง 60 ปี จนถึง 90 ปีขึ้นไป ในอัตรา 600 บาท 700 บาท 800 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ โดยมีความเห็นว่าอัตราจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุนี้ยังต่ำไป จึงมีแนวโน้มที่จะยกระดับเบี้ยผู้สูงอายุให้สูงขึ้น

“จะมีผลตามมา 2 อย่าง คือ ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้น แต่รัฐจะต้องหางบประมาณมารองรับอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีแนวคิดหลายเรื่อง ทั้งการตั้งกองทุน ฯลฯ ตามที่เคยพูดคุยใน ครม. ที่ผ่านๆ มา แต่ ณ วันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่าอยากให้กระทรวงการคลังประกาศให้ได้ว่า ผู้สูงอายุรายใดที่มีรายได้สูง พร้อมจะสละสิทธิ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นำเบี้ยนั้นไปยังผู้สูงอายุอื่นที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่นัก ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเคยระบุว่า ประเทศเราวันนี้ จะแบ่งเฉลี่ยให้ทุกคนเท่ากันหมดคงไม่ได้ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในทุกเรื่อง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการหาวิธีให้เป็นไปตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยอาจทำการลงทะเบียนผู้สูงอายุทั้งหมด แล้วจึงขอให้ผู้สมัครใจทำการสละสิทธิ์ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และจะมีการประกาศรายชื่อผู้สละสิทธิ์ในฐานะคนไทยตัวอย่างให้ประชาชนทราบ สำหรับจะมอบสิ่งใดเพื่อยกย่องบุคคลเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไป

เสนอ 9,719 โครงการใช้งบ 5 หมื่นล้าน แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบความก้าวหน้าในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย หรือการรุกล้ำของน้ำเค็มสู่พื้นที่ลุ่มน้ำ ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ท่าจีน และเจ้าพระยา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การบูรณาการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงภัยต่อภัยแล้ง อุทกภัย และการรุกล้ำน้ำเค็มในพื้นที่น้ำจืดทั้งสิ้น 84 ล้านไร่ คิดเป็น 26% ของประเทศ

โดยในภาคกลาง มีพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย 3.8 ล้านไร่ และสุ่มเสี่ยงภัยแล้ง 4.1 ล้านไร่ ส่วนกรณีการรุกล้ำของน้ำเค็มในลำน้ำจืดทั้ง 3 แห่งรวมเข้ามาในฝั่งบก 230 กิโลเมตร ทั้งนี้มีข้อเสนอแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลาง ตามแผนบริหารจัดการน้ำระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2561-2562 มีโครงการตามแผนพัฒนา ทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของทั้งประเทศ รวม 9,719 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 51,092.47 ล้านบาท เแบ่งเป็น แผนงานโครงการของพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกล้ำในพื้นที่ภาคกลางตามกำหนดพื้นที่บริหารจัดการ 10 พื้นที่ จำนวน 952 โครงการ งบประมาณ 4,070 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์ 630,752 ไร่ มีปริมาณน้ำที่จะนำไปแก้ภัยแล้งเพิ่มขึ้น 7 ล้านลูกบาศก์เมตร

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อว่า และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูล กรมชลประทานได้เสนอโครงการเร่งด่วน 76 โครงการ งบประมาณ 6,020 ล้านบาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอโครงการ 33 โครงการ งบประมาณ 68.40 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 735,000 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 8.02 ล้านลูกบาศก์เมตร และกรมโยธาธิการและผังเมืองเสนอโครงการวางและจัดทำผังนโยบายบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำ 11 ลุ่มน้ำ งบประมาณทั้งสิ้น 330 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำ รวมทั้งสิ้น 6,418.4 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นงบประมาณสูงเพื่อให้รัดกุมจึงให้นำข้อมูลทั้งหมดให้เลขาฯ กนช. รวบรวมแผนงานทั้งหมดไปพิจารณาแล้วนำเสนอ กนช. และเสนอ ครม. ภายในสัปดาห์หน้าหรืออย่างช้าในสัปดาห์ถัดไป

ครม.เห็นชอบทิศทางการพัฒนาภาคกลาง 6 ด้าน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบทิศทางการพัฒนาภาคกลาง 6 ด้าน ได้แก่

  1. พัฒนากรุงเทพมหานครเป็นมหานครทันสมัยระดับโลก
  2. พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ และสร้างความเชื่อมโยงกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค
  3. ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
  4. บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
  5. เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ภาคกลาง-อีอีซี
  6. พัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาคเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับภาคเอกชนและท้องถิ่น ร่วมกันจัดลำดับแผนการพัฒนาในปี 2561 หรือ 2562 ซึ่งแผนงานส่วนใดที่รัฐบาลกับภาคเอกชนและท้องถิ่นเห็นตรงกันให้เร่งดำเนินการ เช่น ด้านการพัฒนาการคมนาคมขนส่ง ภาคเอกชนเสนอให้มีการปรับปรุงท่าเรือในลำน้ำเจ้าพระยา 17 แห่ง

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอให้ต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อให้เชื่อมต่อสายเอเชีย หรือก่อสร้างทางกลับรถบนถนนพหลโยธิน-มิตรภาพ สระบุรี-ทับกวาง หรือสร้างทางกลับรถบนถนนรังสิต-นครนายก และทางยกระดับข้ามคลองรังสิต เพื่อแก้ปัญหาจราจรและอุบัติเหตุในการกลับรถในช่องจราจร

ขณะที่ภาคเกษตรเสนอให้มีการร่นระยะเวลาในการปล่อยน้ำบริเวณพื้นที่ปลูกข้าว ให้ปรับพื้นที่น้ำท่วมเป็นแก้มลิง โดยการร่นระยะเวลาปล่อยน้ำให้เร็วขึ้น และเร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนหน้าฝน จากนั้นให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ โดยจะเร่งดำเนินการในทันที