ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยัน คุมโซเซียลไม่เกี่ยว “ซิงเกิลเกตเวย์” – มติ ครม. เคาะบัตรสวัสดิการ ขรก. – ผู้มีรายได้น้อย 1.7 พันล้าน -งัด ม.44 ทบทวนโทษปรับ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

นายกฯ ยัน คุมโซเซียลไม่เกี่ยว “ซิงเกิลเกตเวย์” – มติ ครม. เคาะบัตรสวัสดิการ ขรก. – ผู้มีรายได้น้อย 1.7 พันล้าน -งัด ม.44 ทบทวนโทษปรับ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

5 กรกฎาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน

ยัน คุมโซเซียลไม่เกี่ยว “ซิงเกิลเกตเวย์”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้มีการคุมโซเชียลมีเดีย ว่า กรณีดังกล่าวอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องซิงเกิลเกตเวย์  ส่วนในกรณีที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นก็ต้องหาทางตรวจสอบให้ได้ ถ้าตรวจสอบไม่ได้ปัญหาก็จะไม่มีแนวทางแก้ไขอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ  ซึ่งตรงนี้พอที่จะมีวิธีการอื่นไหมหรือไม่อย่างไรก็ยากให้ช่วยกันไตร่ตรอง แต่ถ้าหากมีวิธีการที่ดีกว่านี้ก็อยากให้เสนอกันมา ถ้าไม่มีโปรดรับไปพิจารณาทีว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะครอบคลุมทุกด้าน

ตั้ง พล.อ. บุญสร้าง นั่ง ปธ.ปฏิรูปตำรวจฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้ง พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับได้ให้แนวทางการทำงานไปแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ระดับจังหวัดด้วย จะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการเพื่อทำงานร่วมกันในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด และเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น มีความสุข แต่สายการบังคับบัญชายังขึ้นตรงกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม

วันอาสาฬหฯ ชดเชย 10 ก.ค. วันเดียวไม่หยุดเพิ่ม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กรณีวันอาสาฬหบูชาตรงกับวันเสาร์ ที่ 8 กรกฎาคม 2560 ส่วนวันอาทิตย์ ที่ 9 กรกฎาคม 2560 ตรงกับวันเข้าพรรษา ซึ่งปีนี้ทาง ครม. ได้อนุมัติชดเชยวันหยุดแค่เพียงวันเดียวเท่านั้น ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 เพื่อให้ตรงตามกฏกติกาของวันหยุดราชการ

เผย เกษตรฯ เตรียมคลอด 8 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีโครงการ 8 มาตรการออกมาอีก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ให้สอดคล้องกับส่วนของการลงทะเบียนไปด้วยในเวลาเดียวกัน ต้องเอาของใหม่และของเก่ามาปรับเข้าหากันถึงจะเดินหน้าไปใหม่ได้ และถ้าหากทำการช่วยอุดหนุนหรือช่วยเหลือมากไปจะผิดกลไกการค้า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาก็โดนติในเรื่องของข้าว ที่ทำวงจรราคาข้าวผิดไปหมด ถึงแม้จะผลิตมาให้มากเข้าไว้และราคาก็สูงขึ้นเป็นไปไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้น อย่าไปหลงเชื่อในคำบิดเบือน พอประชาชนหลงเชื่อก็ทำให้ไม่อยากมาร่วมมือกับรัฐบาลในการทำใหม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้สื่อก็ต้องช่วยด้วย

สั่งทางหลวงชี้แจงโครงการก่อสร้างสนามกีฬา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการก่อสร้างสนามกีฬาตามข้อตกลงของการกีฬาแห่งประเทศไทยกับกรมทางหลวง ปีงบประมาณ 2555-2558 วงเงินกว่า 965 ล้านบาท ว่า ตนได้สั่งการให้กรมทางหลวงชี้แจงถึงการดำเนินการว่า ในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยจะทำอย่างไรให้เกิดความเรียบร้อย รวมไปถึงพยายามหาปัญหาที่เกิดขึ้นว่าอยู่ตรงไหน ส่วนอะไรที่ทุจริตก็ต้องทำการสอบสวน และทำการลงโทษให้ได้

ชี้ กทม. ทำเสื้อโปโล 2 แสนตัว อ้างนายกฯ ไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี สำนักการคลังกรุงเทพมหานคร จ้างทำเสื้อโปโล 2 แสนตัว (ตัวละ 248 บาท) วงเงิน 50 ล้าน ซึ่งใช้งบเร่งด่วนโดยอ้างว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ท้วงติงเรื่องเสื้อไม่มีสัญลักษณ์ทำให้แยกไม่ออกว่าเสื้อโปโลที่ทาง กทม. ทำนั้นไม่ได้มาสอบถามตน ซึ่งตรงนี้เหมาะสมหรือไม่จะมาอ้างตนไม่ได้

“จะใส่อะไรก็ได้ ใส่เสื้อและทำงานหรือเปล่า ไม่ใส่เสื้อมันทำงานมากกว่า งั้นไม่ต้องใส่เสื้อก็ได้ เดี๋ยวเสื้อเลอะ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เคาะบัตรสวัสดิการ ขรก. – ผู้มีรายได้น้อย 1.7 พันล้าน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และผูกพันงบประมาณ สำหรับโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จำนวน 124 ล้านบาท ครอบคลุมข้าราชการ 4.5 ล้านคน และโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิตามโครงการการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 1,581 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนผู้มีรายได้น้อยกว่า 14 ล้านคน รวมวงเงิน 1,705 ล้านบาท

“กรมบัญชีกลางจะเป็นผู้จัดทำบัตรทั้ง 2 ชนิด และจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากการใช้บัตรประมาณ 20 ล้านราย รูปแบบของบัตรสวัสดิการรัฐจะมีตัวชิปอยู่ 2 แบบ คือ ชิปแบบแตะกับเครื่องเหมือนกับที่ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อจะได้เข้าไปรับบริการขนส่งได้ทุกรูปแบบ ส่วนชิปอีกตัวจะเอาไว้ใช้กับการจ่ายค่าบริการด้านต่างๆ และจะมีแถบแม่เหล็กด้วย โดยบัตรนี้จะเชื่อมโยงกับตัวร่วมหรือบัตรแมงมุม นำไปใช้กับบริการของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ซื้อสินค้าลดราคาจากร้านธงฟ้า รับเงินสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม และเมื่อเงินในบัตรหมดก็สามารถเติมเงินได้” นายกอบศักดิ์กล่าว

สำหรับการจัดทำบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาการเบิกค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน การสร้างข้อมูลเบิกจ่ายโดยผู้ไม่มีสิทธ์ รวมถึงการทุจริตโดยการเวียนเทียนรับยาไปขายต่อ จึงนำระบบการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตมาบังคับใช้ โดยเมื่อไปรักษาพยาบาลผู้มีสิทธิ์จะต้องแสดงบัตร และจะมีการตรวจสอบสิทธิ์และเงื่อนไขการเข้ารับบริการว่าสามารถเบิกได้หรือไม่ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งแต่ละปีมีงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 4,000-5,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินในส่วนดังกล่าวถึงปีละ 70,000 ล้านบาท ส่วนบัตรสวัสดิการรัฐเป็นการจัดทำให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ได้มาลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้

อำนวยความสะดวกผู้มีใบอนุญาต ต่ออายุง่ายผ่าน 4 ช่องทาง

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. …. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ ผ่าน 4 ช่องทาง โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สถานที่ราชการอีกต่อไป ได้แก่ 1) จุดชำระค่าธรรมเนียม (เคาน์เตอร์เซอร์วิส) 2) ธนาคาร 3) ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และ 4) ศูนย์บริการร่วมหรือศูนย์รับคำขออนุญาต

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการนำร่องใน 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รวม 19 ใบอนุญาต จาก 72 หน่วยงานที่ต้องมีการขอใบอนุญาตจากทางราชการ ได้แก่

  1. การขอต่ออายุใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ ใบอนุญาตการนำเข้าซึ่งเมล็ดควบคุมพันธุ์เพื่อการค้า ใบอนุญาตการส่งออกซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า และใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม
  2. พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ได้แก่ ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3
  3. พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ การเป็นผู้จัดการกองทุนรวม การเป็นผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ การเป็นผู้แนะนำการลงทุน การเป็นผู้วางแผนการลงทุน และการเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน
  4. พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ การเป็นผู้แนะนำการลงทุน การเป็นผู้วางแผนการลงทุน การเป็นผู้วิเคราะห์การลงทุน การเป็นผู้จัดการการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า การเป็นเจ้าหน้าที่จัดการซื้อขายด้านสินค้าเกษตร
  5. พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใบอนุญาตการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร ใบอนุญาตเป็นส่งออกสินค้าเกษตร และใบอนุญาตเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตร

หนุนข้าวอินทรีย์ – ข้าว GAP 2.8 พันล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/2561 ยกระดับราคาข้าวในการดำเนินการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีการปฏิบัติตามระบบเกษตรที่ดี (GAP) ครบวงจร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (2561-2565) วงเงินงบประมาณ 2,873 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย 2,484 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการ 389 ล้านบาท

“เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาราคาตลาดของข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ไม่ต่างจากราคาตลาดทั่วไป วันนี้จึงมีมาตรการชี้นำราคาเพื่อให้ชาวนานามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยมีพื้นที่เป้าหมายใน 77 จังหวัด โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการให้ชาวนาผลิตข้าวอินทรีย์ในราคาที่ดีตามคุณภาพได้ไม่น้อยกว่า 594,000 ตันข้าวเปลือก และขายข้าวเปลือกที่ได้รับรอง GAP ในราคาที่ดีตามคุณภาพไม่น้อยกว่า 10.3 ล้านตันข้าวเปลือก ในช่วงปีการผลิต 2560-2564” นายณัฐพรกล่าว

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการจับคู่กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการสามารถขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) จากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสรรโควตา 10% ของโควตาการส่งออกข้าวไปยังอียูจำนวน 2,000 ตันต่อปี สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ รวมทั้งสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อการส่งออก รวมถึงจะมีการประชาสัมพันธ์ให้มีการบริโภคข้าวอินทรีย์และข้าว GAP มากขึ้น

ยอมหัก ณ ที่จ่าย เว้นภาษีปลายปีผู้ได้รางวัลโครงการสนับสนุนอีเพย์เมนต์

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินรางวัลจากโครงการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

“จากการส่งเสริมให้คนใช้อีเพย์เมนต์โดยการจูงใจผ่านการชิงรางวัล 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งผู้ที่ได้รางวัลหากยอมให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จะไม่ต้องนำเงินรางวัลดังกล่าวไปคำนวณภาษีปลายปี ซึ่งกรณีนี้ยกเว้นให้เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น สำหรับร้านค้าที่ได้รับรางวัลดังกล่าวไม่ถูกนับรวมด้วย” นายณัฐพร กล่าว

ไฟเขียวงบ 2 หมื่นล้าน “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ”

นายณัฐพร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาด้านการเกษตร “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” วงเงินงบประมาณ 22,895.36 ล้านบาท โดยใช้เงินจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2560 มีเป้าหมายเป็นเกษตรกรเข้าร่วมโครงการชุมชนละ 500 ราย รวมเกษตรกรจำนวน 4,550,500 ราย ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะสนับสนุนชุมชนเกษตรชุมชนละ 2.5 ล้านบาท จำนวน 9,101 ชุมชน

นายณัฐพร กล่าวว่า เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการโครงการฯ ระดับชุมชนให้เข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรต้องรวมกลุ่มเพื่อเสนอโครงการกลุ่มละไม่น้อยกว่า 10 คน จะต้องเป็นกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ทันที มีประโยชน์กับชุมชน เป็นโครงการที่เน้นการจ้างแรงงานในชุมชนเป็นหลักไม่น้อยกว่า 50% ของวงเงินโครงการที่ได้รับการสนับสนุน ยกเว้นกรณีจำเป็นและมีเหตุผลที่สมควรให้การจ้างงานลดลงมาเหลือไม่น้อยกว่า 30%ได้

“ระยะเวลาดำเนินโครงการจะต้องเบิกจ่ายงบประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินงบประมาณภายในเดือนกรกฎาคม 2560 และอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ พล.อ. ประยุทธ์ เน้นย้ำในที่ประชุม ครม. ให้เบิกจ่ายภายในเดือนสิงหาคม 2560 และช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรกำลังรอการเก็บเกี่ยวอยู่โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งกว่าผลผลิตจะออกก็ไม่ต่ำกว่าเดือนสิงหาคม-กันยาน ดังนั้น โครงการ 9101 นี้จะช่วยเกษตรกรได้มาก สำหรับตัวเลข 9101 ทางกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มาจากรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 และปีที่ 1 ในรัชการที่ 10” นายณัฐพร กล่าว

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน, พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.co.th

งัด ม.44 ทบทวนโทษปรับ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้ชี้แจงการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ใน 2 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดรายละเอียดในการบรรเทาผลกระทบจากฎหมายการรุกล้ำลำน้ำ และการผ่อนผันการใช้มาตรา 101, 102, 119, 122 ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

“การออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อแก้ปัญหาสำคัญใน 2 เรื่องให้เป็นไปตามพันธกรณีและมาตรฐานสากล กรณีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจถูกปฏิเสธการซื้อสินค้า สำหรับกรณีของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว หากออกเป็นพระราชบัญญัติจะต้องใช้เวลาในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ขณะที่สถานการณ์ค่อนข้างบีบรัด จึงมีความจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก. และการที่รัฐบาลไม่ออกเป็นมาตรา 44 ตั้งแต่แรกเพราะ มาตรา 44 ใช้สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และใช้เป็นการชั่วคราว ในขณะที่ พ.ร.ก. นั้นจะเป็นกฎหมายระยะยาวและถาวร จึงจะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งทางสายกลางคือต้องออกเป็น พ.ร.ก.” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวได้มีการกำหนดโทษปรับขั้นต่ำขั้นสูง 400,000-800,000 บาท ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนายจ้างที่จ้างแม่บ้าน หรือนายจ้างที่เป็นเจ้าของโรงงาน ก็ต้องถูกปรับในอัตราเดียวกันโดยไม่คำนึงว่านายจ้างมีสถานะใด ขณะที่ลูกจ้างเองก็มีโทษปรับ 200,000-300,000 บาท โทษดังกล่าวค่อนข้างหนัก ซึ่งเหตุที่กำหนดโทษในอัตราดังกล่าวเนื่องจาก พ.ร.ก. นี้อยู่ในกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งมีอยู่ 4 ฉบับ และมีอัตราโทษในระดับเดียวกัน คือโทษตามมาตรฐานค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อโทษมีความรุนแรงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานฉับพลัน เป็นภาวะสุญญากาศ ดังนั้นคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 จึงออกมา โดยมีหลักการ คือ

  1. ประกาศเจตนารมณ์โดยยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ยังมีนโยบายต่อต้าน ไม่ลดราวาศอกให้กับการค้ามนุษย์ ถ้าปรับ 800,000 บาท แล้วเบาไป อาจจะขึ้นถึง 1 ล้านบาทก็ต้องทำ
  2. รัฐบาลยังคงห่วงเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และไม่ยอมให้อะไรมาฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้จะมีการผ่อนปรน 4 มาตรา 101, 102, 119, 122 ใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โทษปรับ โดยจากเดิมผ่อนปรนไว้ 120 วัน เปลี่ยนเป็น 180 วัน

ทั้งนี้ ทั้ง 4 มาตราจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2561 ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่จับไม่ปรับและไม่ดำเนินคดี และจะผ่อนปรนในการเดินทางของแรงงานเพื่อกลับไปดำเนินการเรื่องต่างๆ รวมถึงนายกรัฐมนตรีได้กำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่รีดไถ หากพบเจ้าหน้าที่กระทำผิด สามารถร้องเรียนได้ที่รัฐบาลและศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด รวมถึงต้นสังกัดของหน่วยงานนั้นๆ ระหว่างนี้ขอให้กระทรวงแรงงานไปทบทวน พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวว่าจะเปลี่ยนกำหนดโทษหรือมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยให้เวลา 4 เดือน และส่งมาให้รัฐบาลพิจารณาต่อภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมาตรา 44 จะออกภายในวันนี้

ด้านนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แบ่งแรงงานต่างด้าวเป็น 3 ประเภท 1) มีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานเป็นที่เรียบร้อย 1.3 ล้านคน 2) มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้ได้อยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องดำเนินการให้มีบัตรประจำตัวให้ทันในวันดังกล่าว ซึ่งเราได้ทำข้อตกลงกับเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยเมียนมาได้ออกศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทยถึง 5 ศูนย์ด้วยกัน ซึ่งเขาได้เริ่มนำเอกสารมาแจกให้แรงงานของเขา ขณะที่ทางการลาวจะดำเนินการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในเดือนหน้า 3) แรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้น ประเมินว่ามีไม่น่าเกิน 1 ล้านคน เพราะทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 1 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลนี้ ได้ดำเนินการไปแล้ว 400,000 คน ตนมั่นใจว่าเราจะดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวให้เรียบร้อยภายใน 6 เดือน

ม.44 เคาะ ขยายเวลา ปชช. แจ้งรุกล้ำ 60 วัน – ยื่นหลักฐาน 180 วัน

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. ได้พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมในการขยายระยะเวลาให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่รุกล้ำน่านน้ำไทย แจ้งต่อเจ้าหน้าที่อีก 60 วัน และจะมีเวลาอีก 180 วันสำหรับนำหลักฐานมายืนยัน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาอีกไม่เกิน 180 วัน เพื่อพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยผู้ที่มาแจ้งในระยะเวลาดังกล่าวจะไม่มีโทษทางอาญาและไม่ต้องเสียค่าปรับ โดยออกเป็นคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 32/2560

“สำหรับผู้ที่รุกล้ำน่านน้ำก่อนปี 2515 ในเขต กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ เพียงมาแจ้งขออนุญาตเพื่อขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนการรุกล้ำหลังปี 2515-2537 จะมีการพิจารณาว่าจะให้อยู่ต่อหรือต้องรื้อถอน โดยจะพิจารณาตามเกณฑ์ 1) สิ่งรุกล้ำต้องไม่เป็นอันตรายในการเดินเรือ หรือกระทบสิ่งแวดล้อม 2) การรุกล้ำให้กระทำเท่าที่จำเป็น 3) ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคารและผังเมือง ส่วนหลังปี 2560 จะไม่อนุญาตให้มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ ยกเว้นสิ่งปลูกสร้างประโยชน์ต่อราชการและสาธารณะตามที่กำหนดไว้เท่านั้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นายกฯ ฝากกลอนเป็นคำลังใจ ครม.

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แต่งกลอนเพื่อให้กำลังใจ ครม. ชื่อ “กำลังใจครม” โดยมีใจความว่า

“ช่วยกันทำ ต่อไป ไม่ยอมแพ้

ช่วยกันแก้ อุปสรรค อย่าหวั่นไหว

ไทยทุกคน ช่วยกัน ฝันให้ไกล

สิ่งยิ่งใหญ่ เกิดตาม ด้วยความดี

มาวันนี้ เวลา ไม่คอยท่า

ต้องก้าวหน้า สง่างาม พร้อมศักดิ์ศรี

ให้คนไทย เข้าถึง ที่ควรมี

เกิดสิ่งดี ถ้วนทั่ว ทุกตัวคน

อุปสรรค คือพลัง กำลังใจ

ก้าวข้ามไป ให้ได้ ทุกแห่งหน

แผ่นดินนี้ อยู่ได้ ประชาชน

อย่ากังวล ใช้ปัญญา มาใคร่ครวญ

ทำสิ่งใด รอบคอบ ทุกปัญหา

ช่วยกันนำ ช่วยกันพา อย่าคืนหวน

แก้สิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่ง ไม่เรรวน

ไทยทั้งมวล สุขอยู่ ด้วยมือเรา”