ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงการท่อร้อยสายลงดิน (2): สปท. ชี้ปัญหาสายสื่อสาร – เคเบิล บริษัทขาดบรรษัทภิบาลที่ดี ยื่นครม.- องค์กรอิสระ แก้ลักพาดสายบนเสาไฟฟ้า

โครงการท่อร้อยสายลงดิน (2): สปท. ชี้ปัญหาสายสื่อสาร – เคเบิล บริษัทขาดบรรษัทภิบาลที่ดี ยื่นครม.- องค์กรอิสระ แก้ลักพาดสายบนเสาไฟฟ้า

21 สิงหาคม 2017


หลังจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิ (กฟภ.) ว่าจ้างผู้รับเหมางานไปดำเนินการนำสายไฟฟ้าที่แขวนอยู่บนเสาไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน ตามนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม รองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียน” ปรากฏว่า ผู้รับเหมาส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่กฟน.ไม่สามารถรื้อถอนเสาออกจากพื้นที่ได้ เนื่องจากมีสายสื่อสาร สายเคเบิลทีวีและอุปกรณ์สื่อสาร ทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต สายสำรองและสายที่เลิกใช้งานไปแล้วเป็นจำนวนมาก พาดอยู่บนเสาไฟฟ้า

บางพื้นที่รื้อถอนเสาไฟฟ้าออกแล้ว ก็มีการนำสายสื่อสารและอุปกรณ์ไปพาดไว้กับต้นไม้ สะพานลอย เสาสัญญาณไฟจราจร และชายคาบ้าน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อเจ้าของทรัพย์สิน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ และทัศนียภาพโดยรวม ปัจจุบันผู้ประกอบการโทรคมนาคมยังคงพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดตามปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น จนอาจถึงขั้นวิกฤติเป็นอันตรายต่อประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมไม่สามารถขอปักเสาใหม่หรือขอเช่าใช้เสาจากการไฟฟ้าได้อีก เพราะความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาไฟฟ้าตอนนี้ค่อนข้างเต็มขีดจำกัด ไม่สามารถแบกรับน้ำหนักสายสื่อสารและสายเคเบิลที่เพิ่มขึ้นได้อีก ถึงแม้ปัจจุบันการใช้ระบบสื่อสารแบบไร้สายจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมก็ยังใช้ระบบลากสายเพื่อรองรับโครงข่ายการสื่อสารอยู่

บริเวณถนน พระรามที่ 6
บริเวณถนนสีลม พาดบนหลังคา-กันสาด
บริเวณซอยศาลาแดง สีลม

การดำเนินการของผู้ประกอบการโทรคมนาคม โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ที่ส่อเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การลักพาดสายสื่อสารอย่างต่อเนื่อง หรือยอมรับผิด ชำระค่าสินไหมให้การไฟฟ้าแล้วไม่ดำเนินการรื้อถอนสายสื่อสาร ลักพาดสายกันต่อไป การประกอบธุรกิจดังกล่าวนี้ถือว่าขัดต่อหลักการกำกับดูแลที่ดี อันส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ อาจเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายอาญา ถึงแม้ว่าการกระทำความผิดฐานละเมิดมีอายุความ 1 ปี แต่เนื่องจากเป็นการกระทำผิดที่ต่อเนื่อง สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ แต่ กฟน. และ กฟภ. ก็ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรื้อถอนสายและอุปกรณ์การสื่อสารออกจากเสาไฟฟ้า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรืออาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้

จากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า ปัจจุบัน นอกจาก กฟน. ได้เปิดบริการให้เช่าท่อร้อยสายใต้ดินเองแล้ว กฟน. ได้อนุญาตให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ลงทุนวางท่อและเปิดให้บริการเช่าท่อร้อยสายลงดินได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้เอกชนขุดวางท่อร้อยสายเอง โดยบริษัททีโอทีมีการวางท่อร้อยสายใต้ดินมากที่สุด กระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 25,000 ท่อกิโลเมตร (จำนวนท่อคูณความยาวของสาย) เฉพาะในกรุงเทพฯ มีประมาณ 20,000 ท่อกิโลเมตร

สำหรับการกำหนดอัตราค่าเช่าท่อร้อยสาย ทั้งในส่วนของ กฟน. และทีโอที ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยบริษัททีโอทีคิดค่าเช่าท่อทั้งที่เป็นสายธรรมดาและไฟเบอร์ออปติกที่ระดับความลึก 4-5 เมตร 20,000 บาทต่อปีต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร ส่วน กฟน. จะคิดค่าเช่าท่อในอัตราที่ถูกกว่าบริษัททีโอที 50% ขณะที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมองว่าเป็นอัตราที่แพงเกินไป หากนำสายสื่อสารและอุปกรณ์ลงใต้ดินโดยการเช่าท่อของบริษัททีโอทีและ กฟน. จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 10 เท่า เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการไม่เช่าท่อร้อยสายของบริษัททีโอทีและ กฟน.

ด้านหน้ากระทรวงการคลัง

หลังจากรับทราบปัญหาทั้งหมด ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สปท. จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท โอทาโร จำกัด ร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิรูปของ สปท. ส่งให้คณะรัฐมนตรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ปัญหาการรื้อถอนเสาไฟฟ้า มีข้อเสนอแนะให้ กฟน. และ กฟภ. ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการพาดสายสื่อสารและติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารบนเสาไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และดำเนินคดีแพ่งเพื่อบังคับชำระหนี้และเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่างเคร่งครัดดังนี้

1.1 ให้การไฟฟ้าบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ให้มีการพาดสายและอุปกรณ์การสื่อสารที่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น ไม่เป็นเหตุหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดิน หรือทรัพย์สินนั้นเกินสมควร และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หรือไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ และทัศนียภาพโดยรวม

1.2 ให้การไฟฟ้าแจ้งให้ผู้ทำการละเมิดมาดำเนินการรื้อถอนสายหรืออุปกรณ์ออกจากเสาไฟฟ้าภายใน 45 วันนับจากวันที่ผู้กระทำการละเมิดได้รับหนังสือแจ้ง หากครบกำหนดเวลาแล้วผู้กระทำการละเมิดไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยให้ครบถ้วน หรือกรณีชำระเงินครบถ้วนแล้วแต่ไม่ดำเนินการรื้อถอนสายและอุปกรณ์ออกจากเสาไฟฟ้า ให้การไฟฟ้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบดำเนินการ รื้อถอนตามระเบียบต่อไป

2. กรณีการลักพาดสายสื่อสารที่เป็นการกระทำผิดต่อเนื่อง มีข้อเสนอแนะให้กฟน. กฟภ. และ กทม. ทำหนังสือแจ้งกรรมการบริษัทและผู้จัดการ ดำเนินการรื้อสายหรืออุปกรณ์การสื่อสารที่ไม่ได้รับอนุญาตออกจากเสาไฟฟ้า หากไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วน หรือชำระเงินครบถ้วนแล้วแต่ยังไม่รื้อถอนสายหรืออุปกรณ์สื่อสารออกจากเสาไฟฟ้า ให้การไฟฟ้า ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลหรือนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ พ.ร.บ.เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล

สะพานลอย บริเวณถนนพระรามที่ 6

3. ดำเนินการให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมาเช่าท่อร้อยสายลงดิน ดังนี้

3.1 ให้ดำเนินการรื้อถอนสายหรืออุปกรณ์ออกจากเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัดในเส้นทางที่ กฟน. และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าท่อร้อยสายลงดินและเส้นทางวิกฤติ

3.2 ให้ กฟน. นำท่อสำรองทั้งหมดมาใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเช่าท่อร้อยสายลงดิน หาก กฟน. มีความจำเป็นต้องใช้ท่อสำรอง ให้ กฟน. ดำเนินการแก้ปัญหาเป็นกรณีไป

3.3 กรณีเส้นทางที่ยังไม่มีการให้เช่าท่อร้อยสายลงดิน ให้ กฟน. และ กฟภ. อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่พาดสายอยู่เดิมทำการพาดสายได้เป็นการชั่วคราว โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องเก็บคืนสายที่เลิกใช้งานแล้วและรวบรัดสายให้อยู่ในระเบียบเรียบร้อย และจะต้องรื้อถอนสายทันทีที่มีการเปิดให้บริการเช่าท่อร้อยสายลงดิน

4. กรณี กฟภ. ไม่มีนโยบายให้เช่าท่อร้อยสายนั้น มีข้อเสนอแนะให้การไฟฟ้าดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

5. กรณีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการรื้อถอนสายสื่อสาร ให้ดำเนินการดังนี้

5.1 ให้การไฟฟ้าดำเนินการตรวจสอบสายและดำเนินการแก้ไขกรณีการใช้สายสื่อสารที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ เช่น การใช้สายสื่อสารที่ไม่เป็นไปตามแถบสีที่กำหนด หรือการพาดสายเกินกว่าปริมาณที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

5.2 ให้การไฟฟ้าตรวจนับและจัดระเบียบสายสื่อสาร คัดแยกสายสื่อสารที่ได้รับอนุญาตถูกต้องและไม่ได้รับอนุญาตออกจากกัน เพื่อดำเนินการตามระเบียบ

5.3 ให้การไฟฟ้าดำเนินการปลดสายสื่อสารและอุปกรณ์ที่ชำรุดหรือไม่ได้ใช้งานเนื่องจากลูกค้าเลิกใช้บริการ รวมทั้งสายสำรองทั้งของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้งที่ได้รับอนุญาตให้พาดสายและที่ละเมิดพาดสาย ออกจากเสาไฟฟ้าและดำเนินการตามระเบียบ

6. การบริหารจัดการโครงการในภาพรวมตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ มีข้อเสนอแนะให้การไฟฟ้า 3 หน่วยงาน คือ กฟน. กฟภ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศลงดินร่วมกัน โดยกำหนดแผนการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดรับกัน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการใช้สายสื่อสาร วิธีการดำเนินการติดตั้ง และรวมโครงการจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะควบรวมการประมูลเข้าด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสในการแข่งขัน ทำให้ได้ผู้ประมูลงานมากขึ้น ได้รับสินค้าและบริการที่ดีขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ

ด้านหน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า