ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เล็งเพิ่มโทษอาญาพระ “อาบัติปาราชิก” — มติ ครม. ลดภาษีดีเซล 5 บาท 2 เดือน เริ่ม 21 พ.ค. นี้

นายกฯ เล็งเพิ่มโทษอาญาพระ “อาบัติปาราชิก” — มติ ครม. ลดภาษีดีเซล 5 บาท 2 เดือน เริ่ม 21 พ.ค. นี้

17 พฤษภาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ ไม่หวั่นแคมเปญ “ชวนคนเสื้อแดงกลับบ้าน”-เล็งเพิ่มโทษอาญาพระ “อาบัติปาราชิก-มติ ครม.ลดภาษีดีเซล 5 บาท 2 เดือน เริ่ม 21 พ.ค.นี้-โยกงบฯประกันรายได้แจกชาวนาไร่ละ 1,000 บาท 5.8 แสนไร่

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว รวมทั้งมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี

แจงผลประชุม ‘อาเซียน-สหรัฐฯ’

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ผ่านมาถือว่าได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีการหารือความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและมองผลประโยชน์ร่วมกัน มุ่งสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ทุกด้าน ทั้งนี้มีสิ่งที่เน้นย้ำ 3 เรื่องคือ 1. บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐและอาเซียน โดยเฉพาะความช่วยเหลือต่างๆ ด้านมนุษยธรรม 2. การร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและอาเซียนโดยสหรัฐฯ และ 3. บทบาทของสหรัฐฯ และอาเซียนในการร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“ทั้งหมดนี้ฐานะที่เราเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียน ก็จะมีบทบาทสำคัญร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 1 ถึง 2 ปีนี้” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ห่วงแรงงานเกษตรขาดแคลน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมครม.วันนี้ได้อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564-2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น จึงสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพการผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนได้เน้นย้ำให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) โดยจะต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มปริมาณ คุณภาพ ผลผลิต รายได้ ลดต้นทุน ความเสี่ยงจากลมฟ้าอากาศ มีการจัดทำ big data ภาคการเกษตร การติดตั้งสถานีวัดอากาศ การพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ การสนับสนุนให้มีการเช่า-แชร์เครื่องจักรทางการเกษตร ตลอดจนขยายสู่ตลาดออนไลน์และการสร้าง Start Up ภาคการเกษตร

“ผมก็เป็นกังวลกับภาคแรงงานเกษตร วันนี้เราก็ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วย การขาดแรงงานด้านการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรมาเสริม แต่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร ผมก็ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ รายงานความคืบหน้าให้ครม.ทราบทุก 3 เดือน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

จัดทำแผนรองรับสังคมสูงวัยปี 2566-80

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบแผนปฏิบัติงานผู้สูงอายุระยะที่ 3 พ.ศ. 2566-2580 โดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงแผนดังกล่าวว่า “เราจะเห็นว่าคนเราอายุยืนขึ้น สถิติการแต่งงานลดลง การมีบุตรก็ลดลง ดูได้จากยอดนักเรียนที่เข้าสู่โรงเรียนชั้นอนุบาลก็น้อยลง วันนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมวัย เราก็จะต้องทำแผนปฏิบัติการที่กำหนดให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กรมกิจการผู้สูงอายุ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ”

ชื่นชม WHO ยกย่องไทย รับมือโควิด-19 ได้ดี

พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลก หรือ Medical and Wellness Hub ว่าล่าสุดประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งจะเปิดสำนักงานในเดือนสิงหาคม 2565

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า WHO ได้รับการยอมรับประเทศไทยเป็นประเทศที่รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็นลำดับตัน ๆ ของโลก ประเทศไทยมีความได้เปรียบและความพร้อมที่ทั่วโลกยอมรับ เช่น มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงในการให้บริการรักษา มีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ที่ให้การรักษาระดับสากล มีโรงพยาบาลมาตรฐาน JCI ถึง 58 แห่ง มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก

“เป็นต้นทุนที่น่าภาคภูมิใจที่บุคลากรการแพทย์ของไทยไม่แพ้ใครในโลก และเชื่อมั่นว่าเราจะก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำ ด้านการแพทย์ของโลกในอนาคต” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

แจ้งลดภาษีอุ้มดีเซล-เบนซินช่วยเฉพาะกลุ่ม

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอุ้มน้ำมันดีเซล เนื่องจากเป็นต้นทุนการผลิต การบริการ ขนส่งมวลชน ขณะที่เบนซินจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม

“เราจะพิจารณาเฉพาะกลุ่ม ท่านทั้งหมดก็ทราบดีว่าใช้เงินจำนวนมาก แล้วเราจะเอาจากที่ไหน ที่เหลือถ้าพอช่วยกันได้ก็ช่วยกันก่อน สิ่งสำคัญที่สุดคือทำยังไงเราจะช่วยกันประหยัดพลังงาน จะได้ลดค่าใช้จ่าย รัฐบาลอยากช่วยทุกวัน ทุกคนก็ทราบดีว่าเรามีรายได้แค่ไหน เราใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใดในการแก้ปัญหาทุกอย่าง เรายังให้ทุกอย่าง ไม่ได้หยุดอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้การจัดเก็บรายได้จะลดลงก็ตาม แต่ถ้าเราทำอย่างไม่ระมัดระวังวันหน้าปัญหาจะทับซ้อนกลับมา” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

เล็งเพิ่มโทษอาญาพระ “อาบัติปาราชิก”

พลเอกประยุทธ์ ตอบผู้สื่อข่าวถึงกระแสด้านลบในวงการสงฆ์ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักพุทธศาสนา ได้ติดตามประเด็นเหล่านี้ อย่างไรก็ตามพระสงฆ์มีรูปแบบการปกครองตามระเบียบสงฆ์อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนอย่าทำให้วงการสงฆ์เสียหาย

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มว่ามีการทบทวนให้เพิ่มบทลงโทษทางอาญาเมื่อพระสงฆ์ ‘ปาราชิก’ อย่างไร พลเอกประยุทธ์ตอบเพียงแค่ “กำลังทำกันอยู่เท่าที่ถามมา”

แจงกำหนดเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ตรงวันรัฐประหาร “ไม่เกี่ยวกัน”

พลเอกประยุทธ์ ตอบผู้สื่อข่าวกรณีเลือกตั้ง กทม.วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งวันดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับวันรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ว่า “ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กทม. ผมมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่ผมจะเลือกเท่านั้นเอง สิ่งไหนที่พูดมา ถ้าใครพูด ก็กลับไปดูเก่า ๆ มาด้วยว่าทำอะไรมาแล้วแต่ละคน…แล้วใครจะไปรัฐประหาร ใครจะทำ ทำมาเมื่อไร เพราะอะไร ย้อนกลับไปดูพฤติกรรมสมัยก่อนแล้วกัน ถ้าใครจะว่า บ้านเมืองอยู่มาวันนี้ได้ สงบแบบนี้ เพราะอะไร แล้วใครจะอยากให้เกิดอีก ไม่มีหรอก ผมก็ไม่อยากทำ”

สั่ง ศธ.ถอดบทเรียนปฏิรูปการศึกษาล่าช้า

ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ และรัฐบาลจะต้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในการจัดการเรียนการสอนส่งเสริมการศึกษา แบบ active learning เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เน้นส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน ให้นักเรียนสามารถคิดเป็นทำเป็น มีทักษะความรู้นำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะครูและนักเรียนจะต้องมีความรู้และเข้าใจวิธีการสอนออนไลน์

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงศึกษาธิกาารถอดบทเรียนการศึกษา ที่ยังพบว่าการพัฒนาด้านการศึกษามีความล่าช้า ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ตรงจุดและเกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

ชู “Smart farming” ทางรอด-อนาคตเกษตรกรไทย

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า Smart Farming เป็นทางรอดและอนาคตของเกษตรกรไทย เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นภาคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงแนะให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และทำให้การใช้แรงงานน้อยลง ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดปัญหามลพิษ ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยการใช้พื้นที่การเกษตรอย่างคุ้มค่าทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการใช้งบประมาณชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ และเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า

ชื่นชมทัพนักกีฬาไทยแข่งซีเกมส์ 2022

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ยังชื่นชมทัพนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งนักกีฬาเป็นเสมือนฑูตกีฬาทางวัฒนธรรม ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย

เปิดเวทีสาธารณะ- ไม่เกี่ยวเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

คำถามว่า “อยากให้นายกรัฐมนตรี ให้ความมั่นใจงานปาฐกถาพิเศษ ‘อนาคตประเทศไทย’ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ไม่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณเลือกผู้ว่ากทม.” ดร.ธนกร รายงานคำตอบของพลเอกประยุทธ์ว่า “เกี่ยวกันตรงไหน เป็นการทำความเข้าใจ เปิดเวทีเสวนาให้เข้าใจการทำงานของรัฐบาลฟังความคิดเห็นและตอบคำถาม”

ไม่หวั่นแคมเปญ “ชวนคนเสื้อแดงกลับบ้าน”

ดร.ธนกร ตอบคำถามถึงแคมเปญของพรรคเพื่อไทย ‘ชวนคนเสื้อแดงกลับบ้าน’ ซึ่งอาจเป็นการปลุกความขัดแย้งรอบใหม่ ว่า “มีกฎหมายอยู่แล้ว หากเกิดความรุนแรงวุ่นวาย ก็เป็นหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร 2 เดือน เริ่ม 21 พ.ค.นี้

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สาระสำคัญ โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันและรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ โดยปรับอัตราภาษีลงประมาณ 5 บาท/ลิตรตามชนิดของน้ำมันดีเซล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ถึง 20 กรกฎาคม 2565 โดยเป็นมาตรการต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2565 ที่ส่งผลให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ปรับลดลงประมาณ 3 บาท/ลิตร มีผลบังคับใช้ถึง 20 พฤษภาคม 65

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า การลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ ถือเป็นมาตรการทางภาษีในระยะสั้น เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ซึ่งเป็นต้นทุนในภาคการผลิตและภาคการขนส่งในทุกอุตสาหกรรม ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อภาระค่าของชีพของประชาชน จากสถานการณ์ราคาสินค้าในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นที่อาจจะอยู่ในระดับที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงความจำเป็นต้องต่อเนื่อง ในการดูแลประชาชนและผู้ประกอบการอย่างทั่วหน้า ขณะเดียวกันการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาคประชาสังคมควบคู่กันไปด้วย

ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี’66 ตั้งงบกลาง 5.9 แสนล้านบาท

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายงบกลาง 590,470.0ล้านบาท รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329.6 ล้านบาท รายจ่ายบูรณาการ 218,477.7 ล้านบาท รายจ่ายบุคลากร 772,119.1 ล้านบาท รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 206,985.6 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 306,618.0 ล้านบาท

โอกาสนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 64 คน ประกอบด้วยกรรมาธิการ ฯ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ 16 คน ประกอบด้วยข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ซึ่งไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ โดยที่ระบุไว้แล้ว จำนวน 4 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำหรับกรรมาธิการ ฯ ในสัดส่วนพรรคการเมือง จำนวน 48 คน แบ่งเป็นส.ส. ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 27 คนและ ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวน 21 คน ที่ผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

โยกงบฯประกันรายได้แจกชาวนาไร่ละ 1,000 บาท 5.8 แสนไร่

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 เพิ่มเติม 594.64 ล้านบาท รวมวงเงินโครงการทั้งสิ้น 55,567.36 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จะเดิมที่สิ้นสุด 31 พฤษภาคม 2565 และขยายระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 จากเดิมที่สิ้นสุด 30 เมษายน 2565

สาเหตุที่ต้องขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติมในครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรอบที่ 1 ปีการผลิต 2564/65 ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565 มีจำนวน 62,117,643 ไร่ เพิ่มขึ้น 583,099 ไร่ จากเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้ 61,534,544 ไร่ โดยใช้วงเงินจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มอีก 594.64 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายงบประมาณคงเหลือจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/2565

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ณ วันที่ 11 เมษายน 2565 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้โอนเงินให้เกษตรกรในโครงการแล้ว 4.63 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 53,871.65 ล้านบาท

ผ่านแผนปฏิบัติการรองรับสังคมสูงวัย

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบบูรณาการการทำงานเชิงรุกในการรองรับสังคมสูงวัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปี 2564

แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง 2) เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ 3) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ 4) เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 – 59 ปี ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 – 35 ปีข้างหน้า ให้ได้ตระหนักและเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุฯ ฉบับนี้ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ.2566-2570) และแผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566-2580) ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการย่อย 4 แผน ดังนี้

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 1 เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนสูงวัย ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ 1) ส่งเสริมให้ประชากรอายุ 25 – 59 ปี เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการออมเพื่อยามชราภาพ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติแบบหลายชั้น เป็นต้น 2) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการชราภาพ ตระหนักถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีและมีความรับผิดชอบต่อผู้สูงอายุ 3) ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันและสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล 4) เร่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ 5) ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 2 ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ 1) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปหลักประกันยามชราภาพ เป็นต้น 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสุขภาพ เช่น พัฒนาระบบสุขภาพรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เป็นต้น 3) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสังคม 4) ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสภาพแวดล้อม เช่น ปรับสภาพที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอก

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 3 ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้ 1) แปลงแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติและผลักดันให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนอย่างมีบูรณาการตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับท้องถิ่น 2) ติดตามและประเมินผลนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ 3) ปฏิรูประบบกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินงานของทุกภาคส่วน 4) วางระบบกำลังคนด้านผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในระดับชาติและระดับพื้นที่ 5) เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการจัดการงานด้านผู้สูงอายุ 6) พัฒนาระบบพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 7) พัฒนาระบบปกป้องและฟื้นฟูผู้สูงอายุและครอบครัวในยามเกิดวิกฤต 8) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ

แผนปฏิบัติการย่อยที่ 4 เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้ 1) ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 2) ส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ

“รัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสังคมสูงวัยไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย โดยต้องสร้างความตระหนักในกลุ่มคนวัยทำงานถึงความสำคัญของการออมเงิน และการเตรียมตัวเองสู่การเป็นผู้สูงอายุและอยู่ในสังคมสูงอายุ อีกทั้งสร้างทัศนคติใหม่ให้มองผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคมและเป็นผู้มีศักยภาพหากได้รับการส่งเสริมโอกาส” ดร.รัชดากล่าว

รับทราบ GDP ปี’65 โต 2.5-3.5%

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกและแนวโน้มของปี 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.2% จำแนกเป็น (1) การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น3.9% (2) การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 0.8% (3) การอุปโภคภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น 4.6% (4) ปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 10.2% (มูลค่าการส่งออก USD เพิ่ม 14.6%) (5) ปริมาณการส่งออกบริการเพิ่มขึ้น 30.7% (6) สาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 4.1% (7) สาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.9% (8) สาขาการค้าเพิ่มขึ้น 2.9% (9) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้น 34.1% (10) สาขาขนส่งเพิ่มขึ้น 4.6% (11) สาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น 0.2% (12) สาขาก่อสร้างภาคเอกชนลดลง 5.5%

ส่วนประมาณการตัวเลขแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตอยู่ที่ 2.5-3.5% ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3.5% ส่วนแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยสาขาอื่น อาทิ การบริโภคภาคเอกชน 3.9% การลงทุนภาคเอกชน 3.5% การลงทุนภาครัฐ 3.4% มูลค่าการส่งออก (รูปเงิน USD) 7.3% และเงินเฟ้อ 4.2 – 5.2% สำหรับปัจจัยสนุบสนุนปี 2565 อาทิ 1. การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง ควบคู่กับความคืบหน้าการกระจายวัคซีน 2. ฐานรายได้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจขยายตัวตามภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการส่งออก 3. การผ่อนปรนมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยยกเลิกมาตรการ Test&Go ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 อาทิ 1. ภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงและจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 2. เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง 3. ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนและมาตรการคว่ำบาตร 4. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ รัฐบาลมีแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจปี 2565 ดังนี้
1. การรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เช่น

    (1) การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิตเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนและธุรกิจสามารถปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างต่อเนื่อง
    (2) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว

2. การสนับสนุนการฟื้นฟูของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น

    (1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์ไปยังพื้นที่เมืองรอง รวมทั้งกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม
    (2) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า
4. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เช่น

    (1) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562-2564 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
    (2) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและประกอบการและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
    (3) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค

5. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่น เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.5 ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ
6. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
7. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

ผ่านแผนบริหารจัดการน้ำปี’66 กว่า 3.3 แสนล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบแผนดังกล่าว และให้ใช้พิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 โดยทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แจ้งสำนักงบประมาณ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 เรียบร้อยแล้ว

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 59,334 รายการ วงเงินรวม 334,256 ล้านบาท จาก 26 หน่วยงาน 77 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเมื่อแยกตามลุ่มน้ำจะมีรายการที่สำคัญ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2,521 รายการ วงเงิน 53,118 ล้านบาท, ลุ่มน้ำมูล 6,683 รายการ วงเงิน 34,723 ล้านบาท , ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ 10,302 รายการ วงเงิน 29,589 ล้านบาท , ลุ่มน้ำชี 5,889 รายการ วงเงิน 27,887 ล้านบาท , ลุ่มน้ำท่าจีน 1,542 รายการ วงเงิน 21,275 ล้านบาท , ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน 1,499 รายการ วงเงิน 17,875 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่เมื่อแยกตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 จะประกอบด้วย การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค 6,381 รายการ วงเงิน 18,383 ล้านบาท , การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 27,754 รายการ วงเงิน 147,882 ล้านบาท , การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 3,630 รายการ วงเงิน 125,640 ล้านบาท , การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 2,028 รายการ วงเงิน 19,484 ล้านบาท , การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ 18,817 รายการ วงเงิน 1,575 ล้านบาท และการบริหารจัดการ 724 รายการ วงเงิน 21,289 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า เมื่อแยกตามกระทรวงและหน่วยงาน พบว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์วงเงินมากที่สุด 159,226 ล้านบาท 15,862 รายการ รองลงมาเป็น กระทรวงมหาดไทย 142,115 ล้านบาท 22,194 รายการ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 22,170 ล้านบาท 20,971 รายการ , กระทรวงคมนาคม 6,274 ล้านบาท 61 รายการ , สำนักนายกรัฐมนตรี 2,135 ล้านบาท 77 รายการ , กระทรวงกลาโหม 1,264 ล้านบาท 133 รายการ , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 645 ล้านบาท 29 รายการ , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 398 ล้านบาท 5 รายการ

เห็นชอบแผนพัฒนาประชากร 3 ด้าน 6 ยุทธศาสตร์

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาประชากร เพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาวปี 2565-2580 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีกรอบแนวทางการพัฒนาประชากรให้ความสำคัญกับ 3 ด้านได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการแก่และตายอย่างมีคุณภาพ โดยต้องมีวาระการพัฒนาบนฐานของกระบวนทัศน์ใหม่และคำนึงถึงอิทธิพลของเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และเจเนอเรชั่น ที่จะส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชากรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต

ทั้งนี้ร่างแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ปี 2565-2580 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ได้แก่ การสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ และพัฒนาระบบที่เอื้อต่อการมีและการเลี้ยงดูบุตร, การพัฒนายกระดับผลิตภาพประชากร, การยกระดับความมั่นคงทางการเงิน, การสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดการตายก่อนวัยอันควร และมีระบบดูแลระยะยาวและช่วงท้ายของชีวิต, การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพกับทุกกลุ่มวัยและการบริหารจัดการด้านการย้ายถิ่น

โดยจะแบ่งลำดับความสำคัญในการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน เน้นการจัดการกับปัญหาที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 มุ่งให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เยียวยาครอบครัวที่เปราะบางและผู้ว่างงาน และระยะยาว มุ่งเน้นการสร้างครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาประชากรรุ่นถัดไปให้มีคุณภาพและการเสริมความแข็งแกร่งของระบบการดูแลคนรุ่นพ่อแม่เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง ตามแนวคิด “ชุมชนน่าอยู่ สุขภาวะดี มีงานทำ”

สำหรับภาพอนาคตประชากรไทยระยะยาวสรุปได้ดังนี้คือ ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นและจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป จำนวนประชากรรวมจะลดลง และในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 14.3 แต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.85 และในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคนในทุก 10 ปี ในขณะที่ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 37.55 ล้านคนในปี 2560 เพิ่มเป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580 ทางออกหนึ่งคือ การใช้ระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงาน นอกจากนี้สัดส่วนผู้สูงอายุหญิงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชาย และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีระดับการศึกษาต่ำ ขณะที่อัตราสูงวัยในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สศช.ยังระบุด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเจเนอเรชั่น Alpha ซึ่งเกิดในช่วงปี 2553 เป็นต้นไป ซึ่งประชากรกลุ่มนี้ใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเอง เนื่องจากมีพลังความรู้ความสามารถที่มาก ขณะเดียวกันก็มีความสนใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์ให้โลกนี้ดีขึ้น แต่การอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้คนกลุ่มนี้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อมนุษย์คนอื่นเท่าที่ควร ทำให้มีความเข้าใจระหว่างกันน้อยลง ไม่เคารพซึ่งกันและกัน จึงจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องหาแนวทางตั้งรับอย่างเหมาะสม

รับรองผลประชุมการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่าง ปท.

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของเวทีทบทวนการโยกย้ายย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศ และคำมั่นโดยสมัครใจของไทย ซึ่งจะเป็นเอกสารผลลัพธ์ในเวทีการประชุมของสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อการโยกฐานถิ่นฐานที่ปลอดภัยเป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe , Orderly and Regular Migration : GCM) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ต้องมีการจัดเวทีทวบทวนทุกๆ 4 ปี เพื่อติดตามความคืบหน้าในการนำ GCM ไปปฏิบัติ ซึ่งเวทีการทบทวนครั้งแรกจะมีขึ้นในวันที่ 17-20 พ.ค. 2565 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาความคืบหน้า ฯนั้น จะเป็นการยืนยันความสำคัญของหลักการและวัตถุประสงค์ของข้อตกลง GCM และสะท้อนความคืบหน้า ความท้าทาย ช่องว่างและข้อเสนอแนะในการดำเนินการตามข้อตกลง อาทิ การต่อยอดการดำเนินการและแนวปฏิบัติที่ดีในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานและวัคซีน การเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

การเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบและปกติ การสร้างช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ความเปราะบางอื่นๆ การดำเนินการในด้านต่างๆ อาทิ ข้อมูลด้านสิทธิและพันธกรณีแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การยอมรับการพิสูจน์อัตลักษณ์ทางกฎหมาย การยอมรับทักษะและวุฒิการศึกษา การลดค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับประเทศต้นทาง การบูรณาการการโยกย้ายถิ่นฐานในแผนพัฒนาระดับชาติและกรอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศ การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี และการสนับสนุนการเงินแก่ Migration Multi-Partner Trust Fund

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างคำมั่นโดยสมัครใจของประเทศไทยเกี่ยวกับการดำเนินการตาม GCM ได้แก่ 1) ให้บุตรของผู้โยกย้ายถิ่นฐานทุกคนที่เกิดในประเทศไทยได้รับการจดสูติบัตร 2) พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มต่างๆ มากขึ้น 3) นำมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) ส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและขจัดการเลือกปฏิบัติและตีตราผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

กฟน.แจงปัญหาโครงการสายไฟฟ้าลงดินล่าช้า

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)ปี 2564 ซึ่งตามแผนโครงการดังกล่าว กฟน.รับผิดชอบดูแลครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร กรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2570 รวม 8 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 55.7 กิโลเมตร และมีแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการระยะทาง 180.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ระยะทางรวม 25.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 17.2 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 ช้ากว่าแผนร้อยละ 5.41 ได้แก่ โครงการนนทรีระยะทาง 6.3 กิโลเมตร , โครงการพระราม 3 ระยะทาง 10.9 กิโลเมตร

ส่วนแผนงานเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก ระยะทางรวม 22.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 ช้ากว่าแผนร้อยละ 13.84 ดังนี้ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร, โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทาง 14.3 กิโลเมตร และแผนงานเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2568 อยู่ระหว่างดำเนินการ 120.2 กิโลเมตร ช้ากว่าแผนร้อยละ 2.45 ดังนี้

    1. โครงการพื้นที่เมืองชั้นในรวม 12.6 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนวิทยุ 2.1 กิโลเมตร, ถนนพระราม 4 ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร , ถนนอังรีดูนังต์ 1.8 กิโลเมตร, ถนนชิดลม 0.7 กิโลเมตร, ถนนสาทร 3.6 กิโลเมตร, ถนนหลังสวน 1.3 กิโลเมตร และถนนสารสิน 0.8 กิโลเมตร

    2. โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง รวม 7.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนเจริญราษฎร์ 3.8 กิโลเมตร , ถนนเพชรบุรี 1 กิโลเมตร และถนนดินแดง 2.6 กิโลเมตร

    3. โครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นรวม 100.2 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า 87.1 กิโลเมตร และโครงการในพื้นที่ร่วมกรุงเทพมหานคร 13.1 กิโลเมตร เช่น ถนนพรานนก

ขณะที่แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินฉบับปฏิบัติการเร่งรัด ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2570 ช้ากว่าแผนร้อยละ 4 ได้แก่ โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ 4.4 กิโลเมตร,โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถึง ถนนติวานนท์ 10.6 กิโลเมตร และโครงการตามแนวรถไฟฟ้า สายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ซอยสุขุมวิท 81-ซอยสุขุมวิท 107 ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณ กฟน.ได้วางแผนการเบิกจ่ายเงินในปี 2564 จำนวน 4,161 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2564 เบิกจ่ายเงินได้รวม 2,276 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.71 ของแผนการเบิกจ่าย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป กฟน. ได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด แต่เนื่องจากในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง พบปัญหาอุปสรรค ทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ เช่น การเพิ่มระดับความลึกของบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อหลบอุปสรรค รวมทั้งปัญหาการได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ล่าช้า ทำให้เริ่มงานก่อสร้างได้ช้ากว่าแผนงานที่กำหนด จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด

ต่ออายุข้อตกลงจัดตั้งศูนย์ ‘อาเซียน – ญี่ปุ่น’ อีก 5 ปี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการต่ออายุความตกลงว่าด้วยการก่อตั้งศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น (ASEAN – Japan Centre : AJC) ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 – 24 พฤษภาคม 2570 และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยในสมาชิกคณะมนตรีของศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น เป็นผู้แทนในการลงนามให้การรับรองต่ออายุความตกลงฯครั้งนี้ มีสาระสำคัญคือ วัตถุประสงค์เพื่อการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการส่งเสริมการค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การส่งเสริมการไหลเวียนของการลงทุน รวมถึงการถ่ายทอดทักษะ และเทคโนโลยีระหว่างญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน การกระตุ้นการท่องเที่ยวทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ขณะที่กิจกรรมต่างๆที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงฯ เช่น แนะนำ และประชาสัมพันธ์ในญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน ถึงผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โอกาสการลงทุน และทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งของญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน, บริหารจัดการอาคารแสดงนิทรรศการแบบถาวรของศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น, ช่วยเหลือและให้คำแนะนำในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนบุคลากร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลประโยชน์ทั้งของญี่ปุ่น และสมาชิกอาเซียน, เป็นช่องทางสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว , วิจัยและศึกษาเกี่ยวกับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนบุคลากรตามความจำเป็น เป็นต้น

สำหรับศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงฯ เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับญี่ปุ่น โดยมีคณะมนตรีจำนวน 11 ราย จากประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ต่ออายุ “วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์” คุมองค์การเภสัชฯอีกวาระ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1.การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายคธาทิพย์ เอี่ยมกมลา ผู้ตรวจราชการกรม (ผู้อำนวยการระดับสูง) กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ดำรงตำแหน่ง สถาปนิกใหญ่ (สถาปนิกทรงคุณวุฒิ) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายดนัย ธีวันดา สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง นายอภิชาติ รัตนราศรี ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    2. พันตำรวจเอก อัครพล บุณโยปัษฎัมภ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการแต่งตั้ง นายวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 390,000 บาท ตามมติคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 และครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งกระทรวงการคลังได้เห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ

6. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 1 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ผู้ครองตำแหน่งอยู่เดิมได้รับอนุญาตให้ลาออก คือ นายทาวัน ทวีถาวรสวัสดิ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหาร ระดับต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เพิ่มเติม