ThaiPublica > เกาะกระแส > “วลาดิเมียร์ ปูติน” พักร้อนที่ไซบีเรีย มนต์เสน่ห์ของดินแดนที่ลี้ลับ

“วลาดิเมียร์ ปูติน” พักร้อนที่ไซบีเรีย มนต์เสน่ห์ของดินแดนที่ลี้ลับ

10 สิงหาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

วลาดิเมียร์ ปูติน พักร้อนในไซบีเรีย ที่มาภาพ : rbth.com

สัปดาห์แรกของสิงหาคม ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกาและรัสเซียต่างก็ถือโอกาสลางานพักร้อน โดนัลด์ ทรัมป์ พักร้อนแบบยังทำงานอยู่นาน 17 วันที่สโมสรกอล์ฟ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ส่วนวลาดิเมียร์ ปูติน พักร้อนที่เขตป่าเมืองหนาว (Taiga) ในภาคใต้ของไซบีเรีย แต่สื่อต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น CNN, New York Times หรือ The Guardian ได้นำภาพถ่ายการพักร้อนของ วลาดิเมียร์ ปูติน ออกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

แม้จะเป็นผู้นำที่มีภารกิจมากมาย แต่ในช่วง 1-3 สิงหาคม ปูตินหยุดแวะมาพักผ่อนที่เมือง Tuva ทางภาคใต้ของไซบีเรีย และตั้งอยู่ทางเหนือของมองโกเลีย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมือง Blagoveshchensk ที่อยู่ทางรัสเซียตะวันออกไกล (Russia Far East) ช่วงพักผ่อนสั้นๆ 2-3 วันในพื้นที่เขตป่าเมืองหนาว ทางการรัสเซียได้เผยแพร่ภาพถ่ายปูตินกำลังตกปลาในทะเลสาบ เข้าป่าเก็บเห็ด และเดินลุยป่า โดยมีรัฐมนตรีกลาโหม Sergei Shoigu และผู้บริหารเขต Tuva ร่วมคณะด้วย

ภาพการพักร้อนของปูตินเต็มไปด้วยกิจกรรมนอกสถานที่ สะท้อนการใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาสามัญ ของผู้นำการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของโลก New York Times บรรยายภาพการพักร้อนของปูตินว่า ช่วงพักร้อนกลางแจ้ง ปูตินเลือกที่จะไม่สวมเสื้อ เบ็ดตกปลาเป็นอุปกรณ์สำคัญ เมื่ออยู่ที่ทะเลสาบ แม้ในช่วงฤดูร้อน แม้น้ำในทะเลสาบจะยังคงเย็น แต่ปูตินก็แสดงให้เห็นว่าการดำน้ำในทะเลสาบเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง และเวลาสวมเสื้อ ปูตินจะเป็นคนมีรสนิยมแฟชั่นแบบลุยๆ ที่เสื้อมีกระเป๋าหลายใบ

ดินแดนที่ลี้ลับ

คนรัสเซียเรียกไซบีเรีย (Siberia) ว่า ซิเบียร์ (Sibir) แต่คนทั่วโลกรู้จักและมีภาพลักษณ์ต่อดินแดนไซบีเรีย ที่มาจากหนังสือนิยายขายดีของ Boris Pasternak เรื่อง Doctor Zhivago และนิยายของ Aleksandr Solzhenitsyn เรื่อง The Gulag Archipelago นักประพันธ์รัสเซียทั้ง 2 คนนี้ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ทั้งนิยาย ภาพถ่าย และภาพยนตร์ตะวันตก ทำให้คนทั่วโลก เกิดจิตนาการต่างๆ ที่ลี้ลับเกี่ยวกับไซบีเรีย

รถไฟทรานไซบีเรียมีเส้นทางแถบทางใต้ของไซบีเรีย พื้นที่อากาศไม่ได้หนาวเย็นเป็นจุดแข็งเหมือนกับทางเหนือไซบีเรีย

ไซบีเรียไม่มีพรมแดนที่แน่นอน แต่มีพื้นที่ใหญ่ครอบคลุม 3 ใน 4 ของดินแดนรัสเซีย เทือกเขาอูราล (Ural) ที่ทอดยาวจากทะเลอาร์กติกมาจนถึงคาซัคสถาน คือพรมแดนทิศตะวันตกของไซบีเรีย เทือกเขาอูราลเป็นเส้นแบ่งระหว่างยุโรปกับเอเชีย จากเทือกเขาอูราล ดินแดนไซบีเรียขยายมาถึงทะเลญี่ปุ่นและทะเลแบริ่ง รัสเซียเรียกไซบีเรียในส่วนนี้ว่ารัสเซียตะวันออกไกล (Russia Far East) ทางใต้ของไซบีเรียคือพื้นที่พรมแดนระหว่างรัสเซียกับคาซัคสถาน มองโกเลีย และจีน พื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าที่มีพวกชนเผ่าเร่ร่อนอาศัยอยู่ ในอดีต จีนต้องสร้างกำแพงเมืองจีนขึ้นมาเพื่อป้องกันการรุกรานของชนเผ่าเร่ร่อนพวกนี้

ความลี้ลับของไซบีเรียทำให้คนทั่วโลกมีความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนหลายอย่าง ประการแรก คือ เข้าใจผิดว่าไซบีเรียคือดินแดนของน้ำแข็งและหิมะ มีอุณหภูมิไม่เคยสูงกว่าจุดเยือกแข็ง เป็นความจริงที่ว่าพื้นที่ที่คนเราอาศัยอยู่ที่มีอุณหภูมิติดลบมากสุดในโลกอยู่ที่ไซบีเรีย หมู่บ้านชื่อ Oimiako เคยบันทึกอุณหภูมิว่าลบ 71 องศาเซลเซียส แต่อากาศที่หนาวเย็นของไซบีเรียก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ทางใต้ของไซบีเรียมีอากาศหนาวติดลบแค่ 15 องศา และมีอากาศอุ่นในฤดูร้อน เช่น พื้นที่เขต Tuva ที่ปูตินเดินทางไปพักผ่อนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รถไฟสายทรานส์ไซบีเรียจึงมีเส้นทางวิ่งอยู่แถบทางใต้ของไซบีเรีย

ความเข้าใจผิดประการที่สอง คือ ไซบีเรียเป็นดินแดนคุมขังนักโทษการเมือง โดยถูกส่งให้ไปอยู่ในค่ายกักกันแรงงาน ในอดีต นักโทษหลายล้านคนถูกส่งมาอยู่ในค่ายใช้แรงงานในไซบีเรีย ที่ Aleksander Solzhenitsyn เรียกว่า Gulag แต่หนังสือพิมพ์ในตะวันตกยังคงใช้คำว่าไซบีเรีย ที่หมายถึงเรือนจำ ในปี 2012 เมื่อสมาชิก 3 คนของคณะนักร้องรัสเซียวง Pussy Riot ถูกตัดสินจำคุก หนังสือพิมพ์บางฉบับในอังกฤษพาดหัวข่าวว่า “Pussy Riot ถูกส่งไปไซบีเรีย” ทั้งๆ ที่ถูกคุมขังในเรือนจำอื่นๆ ของรัสเซียส่วนยุโรป

สถานีรถไฟเมืองวลาดิวอสต๊อก ปลายทางของรถไฟสายทรานไซบีเรีย ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b0/Vladivostok_Railway_station

รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย

แต่เรื่องดีๆ เกี่ยวกับไซบีเรียคือ รถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ทุกวันนี้ ไซบีเรียคือดินแดนที่ถูกตัดผ่านด้วยเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย รัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ทั้งประเทศมีทั้งหมด 11 เขตเวลา (Time Zone) หากเวลาที่เมืองวลาดีวอสตอคอยู่ที่ 6 โมงเช้า เวลาที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจะอยู่ที่ 19.00 น. เฉพาะดินแดนไซบีเรียมีทั้งหมด 8 เขตเวลา เส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียจึงเหมือนกับเป็นกระดูกสันหลังของประเทศที่เชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน ในสมัยสหภาพโซเวียต รถไฟทรานส์ไซบีเรียใช้ขนนักโทษต่างๆ มายังค่ายกักกันในไซบีเรีย

รถไฟสายทรานไซบีเรีย ที่มาภาพ: titantravel.co.uk

เมื่อกล่าวถึงรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย หมายถึงรถไฟที่วิ่งตลอดเส้นทางอยู่บนดินแดนรัสเซีย จากนครมอสโกมาจนถึงเมืองวลาดิวอสตอค มีระยะทางทั้งหมด 9,288 กิโลเมตร ที่ชานชาลาสถานีรถไฟเมืองวลาดิวอสตอคจะมีอนุสาวรีย์มีชื่อเสียงตั้งอยู่ โดยมีตัวเลขเขียนว่า 9,288 นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปกับอนุสาวรีย์นี้ เมืองอูลัน-อูเด (Ulan-Ude) ตอนกลางของไซบีเรีย เป็นสถานีชุมทาง ที่มีรถไฟสายทรานส์มองโกเลียวิ่งแยกลงไปทางใต้จนถึงนครปักกิ่ง ภาพยนตร์เรื่อง Transsiberian (2008) ก็มีเนื้อหาเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนรถไฟสายทรานส์มองโกเลีย จากปักกิ่งไปมอสโก

รถไฟทรานส์ไซบีเรียใช้เวลาสร้าง 25 ปี ในช่วงระหว่าง 1891-1916 ปัจจุบัน การเดินทางจากมอสโคว์มาวลาดิวอสตอคใช้เวลา 7 วัน ในอดีตใช้เวลา 9 วัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 รถไฟทรานส์ไซบีเรียสร้างชื่อเสียงให้กับการส่งออกผลิตภัณฑ์เนยของไซบีเรียไปยังยุโรปตะวันตก หนังสือชื่อ Travels in Siberia ผู้เขียน Ian Frazier เขียนไว้ว่า ในปี 1903 ช่วงที่เลนิน ผู้นำปฏิวัติรัสเซีย ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ พรรคพวกคนหนึ่งบอกเลนินว่า กลิ่นเนยหอมมาก เลนินพูดตอบว่า คงจะเป็นเนยของเรา ที่มาจากไซบีเรีย โดยเฉพาะเนยที่มาจากทุ่งหญ้า Barabinsk ที่ตัวเองเคยลี้ภัยไปอยู่ 2 ครั้ง แม่บ้านคนอังกฤษก็บอกว่า พวกเธอรู้จักเนยที่มาจาก Barabinsh

การท่องเที่ยวที่ขายอากาศและหิมะ

หลังการล่มสะลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมากในช่วงทศวรรษ 1990 แต่นับจากปี 2000 เป็นต้นมา ไซบีเรียกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียฟื้นตัว เพราะ 80% ของน้ำมันดิบ 85% ของก๊าซธรรมชาติ และ 80% ของถ่านหินอยู่ในไซบีเรีย ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัสเซียหลังยุคคอมมิวนิสต์ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมั่งคั่งขึ้นมาใหม่

ภาพถ่ายปูตินพักผ่อนในไซบีเรียอาจต้องการจะสื่อให้คนรัสเซียเองได้เห็นถึงมนต์เสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวในไซบีเรีย และหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เว็บไซต์ siberiantimes.com รายงานว่า บริษัทท่องเที่ยวในออสเตรเลียชื่อ 56th Parallel กำลังเปลี่ยนภาพลักษณ์ของไซบีเรียให้กลายเป็นปลายทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมีฐานะ รักการผจญภัย และต้องการไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่คนไม่แออัด

ในฤดูหนาว ไซบีเรียมีแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการเล่นสกี แหล่งอบซาวน่า การนั่งเรือโฮเวอร์คราฟต์ นั่งแคร่เลื่อนหิมะลากโดยสุนัข การแสดงบัลเลต์ และเหล้าว็อดก้าดีที่สุดในโลก ส่วนหน้าร้อน ไซบีเรียก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการเดินท่องป่าเมืองหนาว ล่องแพ ปีนเขา หรือพายเรือคายัก

ปูตินและคณะล่องเรือในทะเลสาบของไซบีเรีย ที่ภาพ : rbth.com

แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของไซบีเรียมีศักยภาพเพราะมีลักษณะคล้ายๆ กับสถานที่ท่องเที่ยวของสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่กลายเป็นแบบอย่างความสำเร็จของการท่องเที่ยวว่า ทำอย่างไรจะสามารถขายอากาศและหิมะ สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ส่วนใหญ่เพาะปลูกไม่ได้ และมีหิมะปกคลุมปีหนึ่งหลายเดือน

แต่สวิตเซอร์แลนด์มีอยู่อย่างหนึ่งที่ธรรมชาติให้มา คือทิวทัศน์ที่สวยงามของภูเขา ในระยะแรกๆ พวกมาท่องเที่ยวเป็นนักผจญภัย แล้วต่อมาก็เป็นนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องอาศัยนักท่องเที่ยวที่มีรายได้เหลือใช้และระบบขนส่งที่คนมีเงินพอจะจ่ายได้ แต่ความสำเร็จของการท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังมาจากความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชมต่อ “คุณภาพที่สูง” ของสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่า “ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์”

เอกสารประกอบ
Ian Frazier. Travels in Siberia, Farrar, Straus and Giroux, 2010.
Janet M. Hartley. Siberia, Yale University Press, 2014.