หลังจากที่กรมศุลกากรถูกตั้งคำถามจากบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 กรณีตั้งข้อกล่าวหาบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด สำแดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าตามข้อตกลง AFTA โดยที่ไม่มีพยานหลักฐานว่าเป็นเพียงคำกล่าวอ้าง วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร นำหลักฐานบางส่วน โดยเป็นภาพรถเมล์เอ็นจีวีที่ประกอบสำเร็จรูปขณะกำลังขับลงจากเรือบรรทุกสินค้าชื่อ “GLOVIS” มาจอดที่ท่าเรือแคลง ประเทศมาเลเซีย แสดงต่อสื่อมวลชน ขณะที่ ขสมก. เตรียมส่งหนังสือถึงบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด แจ้งบอกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 11.30 น. นายคณิสสร์ ศรีวัชระประภา ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ยื่นหนังสือ ร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ระหว่างบริษัทเบสท์รินฯ กับ ขสมก. ซึ่งกำหนดส่งมอบรถเมล์ทั้งหมดภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา
นายคณิสสร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทเบสท์รินฯ มีความตั้งใจที่จะนำรถเมล์เอ็นจีวี ของดีราคาถูกภายใต้นโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้โครงการมีความโปร่งใส โดยบริษัทเบสท์รินฯ เป็นผู้ชนะการประมูล เพราะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 600 ล้านบาท มากกว่าที่จ่ายค่าภาษีให้กับกรมศุลกากร แต่เหตุผลที่บริษัทเบสท์รินฯ ไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ปัญหาไม่ได้เกิจากบริษัทเบสท์รินฯ จัดหารถเมล์ไม่ได้ แต่เกิดจากข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์
ส่วนกระบวนการส่งมอบรถ บริษัทเบสท์รินฯ ได้มีการหารือร่วมกับ ขสมก. หลายครั้ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 บริษัทเบสท์รินฯ ประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. ที่ประชุมมีมติให้บริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก. 4 งวด คืองวดแรกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560, งวดที่ 2 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560, งวดที่ 3 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 และงวดที่ 4 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 รวมทั้งหมด 489 คัน ขณะนี้บริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถให้ ขสมก. แล้ว 390 คัน ในจำนวนนี้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 274 คัน อยู่ในความครอบครองของ ขสมก. แล้ว
ส่วนที่เหลืออีก 99 คัน ยังไม่สามารถนำรถออกมาส่งมอบให้ ขสมก. ได้ บริษัทเบสท์รินฯ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะอยู่ระหว่างการเจรจากับกรมศุลกากร เพื่อนำรถลอตนี้ออกมาส่งมอบให้ได้ แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่บริษัทไม่สามารถที่จะควบคุมได้ จึงอยากจะขอให้ ขสมก. ขยายสัญญาให้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด
“ครั้งนี้ทางบริษัทเบสท์รินฯ จึงอยากจะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบอกเลิกสัญญาของ ขสมก. ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของสาธารณชน บริษัทเบสท์รินฯ อยากให้คนไทยได้ใช้รถเมล์ลอตนี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในช่วงที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังพิจารณา ขอร้องให้ ขสมก. ชะลอการยกเลิกสัญญาออกไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีข้อสรุป” นายคณิสสร์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ขสมก. บอกเลิกสัญญากับบริษัทเบสท์รินฯ จะทำอย่างไร นายคณิสสร์ ตอบว่า ต้องดูที่เหตุผลของการยกเลิกสัญญาว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสัญญาหรือไม่ หากยกเลิกสัญญาเพราะผู้ขายกระทำผิดไม่สามารถส่งมอบรถให้ ขสมก. ได้ กรณีนี้ถือเป็นการยกเลิกที่ถูกต้อง ซึ่งบริษัทเบสท์รินฯ คงต้องดำเนินการจัดสรรรถเมล์ชุดนี้ต่อไป แต่ถ้าเป็นการยกเลิกที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด บริษัทเบสท์รินฯ ก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากับ ขสมก.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขสมก. ไม่รับรถเพราะบริษัทนำเข้ารถจากจีน ถือว่าไม่เป็นไปตามสัญญาใช่หรือไม่ นายคณิสสร์ กล่าวว่า จากการที่กรมศุลกากรแถลงข่าวตั้งแต่วันแรกว่ารถทั้งหมดไม่ได้ผลิตที่มาเลเซีย แต่นำเข้ามาจากจีน หากไปดูหนังสือที่กรมศุลกากรทำถึง ขสมก. ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ระบุว่า “กรมศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการสอบถามข้อเท็จจริงจากทางการมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ความหมายคือ ปัจจุบันข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏใช่หรือไม่ ข้อมูลที่กรมศุลกากรนำออกมาแถลงข่าว เป็นข้อมูลเดิมๆ ทั้งที่เป็นรูปภาพ ผมก็เคยชี้แจงไปแล้ว นั่นคือพยานแวดล้อม ไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบถามข้อเท็จจริง แต่บริษัทเบสท์รินฯ ถูกสังคมประณามไปแล้ว ตกเป็นจำเลย ในข้อกล่าวหาหลบเลี่ยงภาษี”
นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า “ทำไมบริษัทเบสท์รินฯ ต้องหลบเลี่ยงภาษีเพื่อมาแบกรับความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย ทั้งๆ ที่บริษัทยอมลดราคาให้ ขสมก. มากกว่าค่าภาษีที่เกิดขึ้นภายหลังอีก ผมไม่เห็นเจตนาที่จะทำเช่นนั้น ส่วนกรมศุลกากรบอกว่าบริษัทฉ้อฉลเรื่องภาษี ขอถามว่าการฉ้อฉลที่ว่านี้ทางบริษัทสมรู้ร่วมคิดกับกระทรวงอุตสาหกรรมการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียใช่หรือไม่ บริษัทซุปเปอร์ซาร่าติดต่อสั่งซื้อขายสินค้ากับมาเลเซีย ไม่ได้ไปติดต่อซื้อขายกับจีน เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเอกสารที่ตนได้มาจากผู้ขาย ออกโดยหน่วยงานมาเลเซีย ขอถามว่าตนฉ้อฉลตรงไหน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่บริษัทเบสท์รินฯ ไม่สามารถควบคุมได้”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ภาพถ่ายรถเมล์เอ็นจีวีทั้งคันกำลังขับลงจากเรือลงจอดที่ท่าเรือมาเลเซีย ถือเป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นรถผลิตจากจีนได้หรือไม่ นายคณิสสร์ กล่าวว่าสิ่งที่กรมศุลกากรนำเสนอเป็นเพียงข้อสงสัย หลังจากตั้งคำถามต่อผู้นำเข้าแล้ว กรมศุลกากรต้องทำตามขั้นตอน ทำข้ามขั้นตอนไม่ได้ ตามกฎระเบียบในภาคผนวก 1 กฎข้อ 18, 19, 24 หากกรมศุลกากรมีข้อสงสัยต้องทำหนังสือสอบถามหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตนไม่ทราบกรมศุลกากรดำเนินการหรือยัง หรือทำไปแล้ว มาเลเซียตอบกลับมา แต่คำตอบอาจไม่ตรง จึงไม่นำออกมาแสดงให้ใครเห็น
“ภาพถ่ายที่กรมศุลนำมาแสดงรถเมล์ขนส่งจากจีนเข้ามาจอดที่มาเลเซียก่อนส่งต่อมาไทย สิ่งที่กรมศุลกากรเห็นอาจจะเห็นแค่จุดเดียว ภาพรวมกรมศุลกากรเห็นทั้งหมดหรือยัง ก่อนที่รถเมล์วิ่งมาจากจีนมีขั้นตอนอย่างไร กรมศุลกากรเห็นหรือยัง ถ้ายังไม่เห็นก็ต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงก่อน รถวิ่งจากจีนเข้ามาใช้อะไหล่ชิ้นส่วนวัตถุดิบในมาเลเซียมากกว่า 40% ตามข้อตกลงหรือไม่ และประเทศที่ส่งออกสุดท้ายคือมาเลเซียออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตาม ATICA เป็นอธิปไตยของมาเลเซีย ต้องสอบถามว่าออกมาได้อย่างไร หากพิสูจน์แล้วเป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าปลอมหรือเท็จ ผมก็ต้องไปฟ้องร้องหน่วยงานที่ออก เพราะส่งเอกสารเป็นเท็จมาให้ผมใช้ และที่สำคัญ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นใบรับรองเท็จ ต้องรายงานเลขาธิการอาเซียน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมขอเรียกร้องให้กรมศุลกากรทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กรมศุลกากรมีสิทธิที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ต้องทำตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะมาตั้งข้อกล่าวหาโดยที่ท่านยังมีข้อสงสัยอยู่ แต่ท่านกล่าวหาบริษัทแล้ว” นายคณิสสร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทเบสท์รินฯ บอกว่าส่งมอบรถแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายคณิสสร์ กล่าวว่า ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบรถ ฝ่ายผู้ซื้อก็มีหน้าที่ตรวจรับมอบรถ เราทำหน้าที่ของฝั่งผู้ขายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งมอบสินค้าไปแล้ว ส่วน ขสมก. จะตรวจรับหรือไม่ มีเหตุผลอย่างไร ก็ต้องมาดูที่ข้อเท็จจริงว่าบริษัทเบสท์รินฯ จงใจทำผิดสัญญา หรือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัทเบสท์รินฯ จ่ายค่าปรับให้ ขสมก. กรณีส่งมอบรถไม่ได้ไปเท่าไหร่ นายคณิสสร์ กล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่ทราบ ค่าปรับต้องคำนวณอย่างไร เพราะบริษัทเบสท์รินฯ ส่งรถเป็นลอตๆ ไม่ได้จัดส่งครั้งเดียว 390 คัน ดังนั้น จะเริ่มคิดค่าปรับตั้งแต่ช่วงไหน ตั้งแต่วันที่ตนส่งมอบรถคันแรก หรือคิดวันที่ส่งมอบรถเมล์คันสุดท้าย การคำนวณค่าปรับครบคำนวณตั้งแต่วันที่ผมส่งมอบคับแรก หรือคำนวณวันที่ผมส่งมอบคันสุดท้าย ประเด็นนี้ยังไม่ได้คำตอบจาก ขสมก. แต่ตอนนี้ถือว่าบริษัทส่งมอบรถแล้ว เพราะ ขสมก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของบริษัทแล้ว ส่วนเหตุผลที่ส่งมอบรถเมล์ล่าช้า เกิดจากบริษัทที่รับจ้างติดตั้งระบบ GPS ติดตั้งอุปกรณ์ล่าช้า แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทเบสท์รินฯ ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าปรับให้ ขสมก. เนื่องจากบริษัทเบสท์รินฯ ใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์วงเงิน 330 ล้านบาท วางเป็นหลักประกันเอาไว้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่าไปชี้แจงต่อกรมศุลกากรหรือยัง นายคณิสสร์ กล่าวว่า บริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรแล้ว โดยขอวางเงินประกันเฉพาะค่าภาษีนำเข้าที่อัตรา 40% ไม่ประสงค์จะวางประกันพร้อมค่าปรับ เพื่อนำรถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน มาส่งมอบ ขสมก. ทางกรมศุลกากร แถลงข่าวแล้ว ไม่ให้ เพราะมีเหตุสงสัยว่าฉ้อฉลเรื่องภาษี
ผู้สื่อข่าวถามว่าบริษัทเบสท์รินฯ ยอมจ่ายค่าภาษี ค่าปรับสำหรับรถเมล์ 1 คันแรก ทำไมลอต 99 คัน ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ทั้งๆ ที่ถูกกล่าวหาเหมือนกัน นายคณิสสร์ กล่าวว่า รถเมล์ 1 คัน มีภาระไม่มาก บริษัทจึงยอมจ่ายค่าปรับ แต่ขอสงวนสิทธิตอบโต้ทางกฎหมาย รวมทั้งปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อ ส่วนลอต 99 คัน ต้องใช้เงินจำนวนมาก
สำหรับรถเมล์ลอต 390 คัน ที่ผ่านพิธีการศุลกากรแล้วจะกลับมาใช้สิทธิโต้แย้งกับกรมศุลกากรเมื่อไหร่ นายคณิสสร์ ตอบว่า เร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้รับหนังสือ Form D อย่างเป็นทางการจากมาเลเซีย ตอนนี้ตนเห็นสำเนาหนังสือแล้ว แต่หนังสือ Form D ที่เป็นทางการ กำลังรอการจัดส่งทางไปรษณีย์
ต่อมาในวันเดียวกันเวลาเวลา 14.00 น. นายคณิสสร์ ศรีวัชระประภา ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด พร้อมกับนายชนิด ศุทธยาลัย ที่ปรึกษากฎหมาย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง โดยโชว์หลักฐานใบขนสินค้าขาเข้าที่ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรลงบันทึกหมายเหตุเพิ่มเกินกว่าที่ผู้นำเข้าแจ้งต่อกรมศุลกากร กล่าวคือ ในใบขนสินค้าขาเข้าที่ผู้นำเข้าแจ้งต่อกรมศุลกากรลงบันทึกข้อความว่า “ขอสงวนสิทธิการขอคืนอากรภายหลังการนำเข้า โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D)” แต่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากร พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมเข้าไปว่า “ขอสงวนสิทธิการขอคืนอากรภายหลังการนำเข้า โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) มีปัญหาถิ่นกำเนิด เนื่องจาก คกก.ตรวจปล่อยรถยนต์ตรวจพบว่ารถยนต์ฯ มีถิ่นกำเนิดประเทศจีน เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี” ถือเป็นการต่อเติม แก้ไข ปลอมแปลงเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าของบริษัท จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจแหลมฉบัง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร 3 ราย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
นายคณิสสร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีลงโทษเจ้าหน้าที่ศุลกากร ฐานพยายามสร้างหลักฐานขึ้นมา โดยต่อเติมแก้ไข ปลอมแปลงเอกสารของบริษัท ซึ่งบริษัทไม่ได้เป็นผู้ทำขึ้นมา บริษัทต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม นำคนกระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
นายคณิสสร์ กล่าวว่า นี่คือเอกสารใบขนสินค้าที่บริษัท ซุปเปอร์ซาร่ายื่นต่อกรมศุลกากรครั้งแรก ใบขนสินค้าฉบับนี้บริษัทเขียนชัดเจนว่า “ขอสงวนสิทธิในการขอคืนอากรภายหลังการนำเข้า โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า” เพียงแค่นี้เอง จากนั้นบริษัทต้องรับข้อความข้างต้นเป็นความจริงทุกประการ หากไม่ถูกต้องครบถ้วน บริษัทยอมรับผิดตามกฎหมาย แต่หลังจากยื่นใบขนสินค้าขาเข้าฉบับนี้ให้กรมศุลกากรแล้ว ปรากฏว่ามีการต่อเติมข้อมูลในใบขนสินค้าที่บริษัทซุปเปอร์ซาร่าสำแดงในตอนแรก โดยมีการเพิ่มเติมหมายเหตุเข้าไปในใบขน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ขสมก. ไม่กล้าตรวจรับรถเมล์ และทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีการกระทำความผิด ข้อความที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเขียนเพิ่มเติมเข้าไป คือ “คณะกรรมการตรวจปล่อยรถยนต์ ตรวจพบว่ารถยนต์มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน เรื่องอยู่ระหว่างพิจารณาคดีตามแฟ้มคดี”
“คนที่สามารถเข้าไปเขียนข้อความเหล่านี้ได้ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่มี username และ password ประเด็นนี้อยากให้ทางผู้ใหญ่ในประเทศไทยลงมาตรวจดู ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ผมก็ไม่อยากโทษใคร และไม่อยากบอกว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ สื่อมวลชนคงพอคาดเดาได้ มีหลายประเด็นพยายามยัดเยียดข้อกล่าวหา อย่าง พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 ใช้กับสินค้าหัตถกรรม ก็เอามาใช้กับรถยนต์ และมีการปลอมแปลงเอกสารบริษัท ทั้งๆ ที่บริษัทยังไม่ได้กระทำความผิดใดๆ” นายคณิสสร์ กล่าว
นายชนิด กล่าวเสริมว่า ใบขนสินค้าขาเข้าหน้าแรกจะเป็นส่วนที่ผู้นำเข้าสำแดงรายการ และต้องลงนามรับรองข้อความด้านล่าง หากเกิดข้อผิดพลาดอะไร ผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องลงบันทึกหมายเหตุที่ช่องด้านหลังของใบขนสินค้า กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรลงบันทึกหมายเหตุที่หน้าแรก ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้นำเข้าสำแดง ทำให้ ขสมก. เข้าใจผิด คิดว่าเป็นรถเมล์ที่มีถิ่นกำเนิดประเทศจีน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ใบขนสินค้าทั้ง 2 ฉบับที่นำมาแสดงต่อสื่อมวลชน บริษัทเบสท์รินฯ ได้มาอย่างไร นายชนิด ตอบว่า หลักฐานนี้ได้รับตามใบขนสินค้าที่ผู้นำเข้าส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และหลังจากตรวจปล่อยรถเมล์แล้ว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรออกหลักฐานใบขนสินค้าฉบับนี้มาตรวจสอบความถูกต้อง ปรากฏว่ามีข้อความเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งไม่ใช่ข้อความของบริษัทแจ้งต่อกรมศุลกากร และทำให้ ขสมก. เข้าใจผิด คิดว่าบริษัทยอมรับสารภาพผิด ตามระเบียบเจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องลงหมายเหตุในช่องด้านหลัง ด้านหน้าเป็นของผู้นำเข้า หากมีข้อผิดพลาดผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งหมด ดังนั้น กรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรเติมข้อความอะไรเข้ามาแล้วทำให้บริษัทมีความผิด ถือเป็นการปรักปรำและปลอมแปลงเอกสาร
นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า “บริษัทซุปเปอร์ซาร่ายื่นเอกสารใบขนสินค้าขาเข้าทั้งหมด 3 ครั้ง นั่นหมายถึงมีการปลอมแปลงเอกสารนี้ถึง 3 ครั้ง ถือว่ามีความพยายามสร้างหลักฐานขึ้นมา ผมอยู่ในอาชีพนี้ ไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่วันนี้ผมไม่มีที่ถอย และไม่มีที่ยื่นในสังคมด้วย ที่ผ่านมากรมศุลกากรพยายามกล่าวหาว่าบริษัทกระทำความผิด จนกระทั่งล่าสุด ขสมก. ยกเลิกสัญญาด้วยหลักฐานที่กรมศุลกากรพยายามสร้างขึ้นมา ดังนั้น บริษัทไม่มีที่ถอยแล้ว จึงก็ต้องเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป ทางบริษัทเบสท์รินกรุ๊ปจะแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้งในวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.30 น. ที่ร้านอาหารเพลิน ถ.วิภาวดี”