ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: ครม. แจกหนัก เพิ่มบัตรคนจน – อดีต ขรก. 2 หมื่นล้าน-เบี้ยประชุมศาล 207 ล้าน/ปี ” และ “สัญญาณสันติภาพ 2เกาหลีระเบิดป้อมทหารตามแนวชายแดน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: ครม. แจกหนัก เพิ่มบัตรคนจน – อดีต ขรก. 2 หมื่นล้าน-เบี้ยประชุมศาล 207 ล้าน/ปี ” และ “สัญญาณสันติภาพ 2เกาหลีระเบิดป้อมทหารตามแนวชายแดน”

24 พฤศจิกายน 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 17-23 พ.ย. 2561

  • ครม. แจกหนัก เพิ่มบัตรคนจน 3.1 ล้านใบ- อดีต ขรก. 2 หมื่นล้าน-เบี้ยประชุมศาล 207 ล้าน/ปี
  • คค. ไฟเขียว รถร่วมฯ ขึ้นค่าโดยสารหลังปีใหม่
  • เพิ่มสิทธิประกันสังคม ตรวจสุขภาพฟรีใน รพ. ที่ผู้ประกันตนเลือก
  • ปลดล็อกกัญชาผ่าน สนช. วาระแรกแล้ว
  • สัญญาณสันติภาพล่าสุด สองเกาหลีระเบิดป้อมทหารของตนตามแนวชายแดน

ครม. แจกหนัก เพิ่มบัตรคนจน 3.1 ล้านใบ – อดีต ขรก. 2 หมื่นล้าน – เบี้ยประชุมศาล 207 ล้าน/ปี

ที่มาภาพ : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ในช่วงสัปดาห์คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยหลายโครงการ โดยเว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า วันที่ 20 พ.ย. 2561 น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดเวลาแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงจำนวนกว่า 3.1 ล้านราย ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดยจะกระจายบัตรไปยังสำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่นำไปแจกให้แก่ผู้มีสิทธิ ซึ่งการแจกบัตรรอบแรกเริ่มสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค. 2561 และทยอยแจกบัตรต่อไปให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ม.ค. 2562

นอกจากนี้ น.ส.สุทธิรัตน์ยังเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ ให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 1 แสนบาท มีผู้ได้สิทธิ 6.59 แสนคน เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังเติมเงินข้าราชบำนาญที่ได้บำเหน็จน้อยต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท จำนวน 5.27 หมื่นคน ใช้เงิน 558 ล้านบาท

โดยนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 เพื่อ ปรับเพิ่มเงินให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญซึ่งได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรวมกันทุกประเภท และรวม ช.ค.บ. แล้ว ต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วจะได้รับเงิน เดือนละ 10,000 บาท

ขยายเพดานของวงเงินบำเหน็จดำรงชีพให้แก่ผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพิ่มอีก 100,000 บาท จากเดิมที่ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 400,000 บาท เป็น ให้ขอรับได้ในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยหากผู้รับบำนาญเคยขอรับบำเหน็จดำรงชีพ ไปบางส่วนแล้ว ให้ขอรับได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังไม่ครบตามสิทธิ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนเว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมีติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อกำหนดบทบัญญัติให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมสามารถออกระเบียบเพื่อกำหนดเบี้ยประชุมของข้าราชการตุลาการที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาได้ ด้วยเสียงเอกฉันท์ 145 เสียง โดยไม่มี สนช. ลุกอภิปรายทักท้วงแต่อย่างใด ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ต้องจัดงบประมาณเพื่อจ่ายค่าเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและชั้นอุทธรณ์ รวม 207,360,000 บาทต่อปี แบ่งเป็นการประชุม 2 ครั้งต่อเดือน และ 24 ครั้งต่อปี โดยมีรายละเอียดรายการที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุม ซึ่งเคยเสนอต่อที่ประชุมสนช. ในวาระแรก โดยประธานที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา, ศาลอุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, ศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ได้เบี้ยประชุม 10,000 บาทต่อครั้ง องค์ประชุมได้เบี้ยประชุมครั้งละ 8,000 บาท, เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการรวมถึงผุ้เข้าร่วมประชุม ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท โดยเหตุผลสำคัญที่ต้องเสนอแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 193 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมที่กฎหมายบัญญัติ

ในส่วนของการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ได้ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาว่า จะเข้าข่ายเป็นการ “แจกเงินก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ เพราะมีรัฐมนตรีถึง 4 คนที่อยู่ในพรรคดังกล่าวนี้ คือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค

ต่อเรื่องดังกล่าวนั้น ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รอทำการตรวจสอบว่าจะเข้าขายการใช้นโยบายหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. บอกว่า เป็นเรื่องที่สำนักงาน กกต. จะพิจารณา โดยตามอำนาจแล้ว หากมีมูลสามารถดำเนินการตรวจสอบได้เลยโดยไม่ต้องมีผู้ร้อง และเชื่อว่ากรณีนี้จะถูกนำมาตรวจสอบด้วยเช่นกัน แต่หากพบว่าไม่เข้าข่ายความผิดจะยุติเรื่อง

คค. ไฟเขียว รถร่วมฯ ขึ้นค่าโดยสารหลังปีใหม่

ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (http://bit.ly/2Qcv8yt)

เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดเผยหลังหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. (รถร่วมฯ) เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) ว่า กระทรวงคมนาคมเห็นใจผู้ประกอบการรถร่วมฯ เพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนบุคลากร ค่าซ่อมบำรุง และมาตรการช่วยอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็กำลังจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2562

กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นำข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารของผู้ประกอบการทั้ง 3 ประเด็น ไปเสนอให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจพิจารณาว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ ควรปรับในอัตราเท่าไหร่ และควรดำเนินการเมื่อไหร่ หากคณะกรรมการฯ อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร กลุ่มรถร่วมฯ ก็ควรดำเนินการหลังเทศกาลปีใหม่ 2562 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม รถร่วมฯ ถือเป็นบริการสาธารณะ จึงไม่ใช่ธุรกิจที่ต้องได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยอาจมีกำไรบ้างเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ นอกจากนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการว่า ต้องปรับปรุงบริการในภาพรวมให้ดีขึ้น มีการติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ต, จีพีเอส และปรับปรุงมารยาทพนักงานบนรถ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการรถร่วมฯ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็พร้อมให้ความร่วมมือ

นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน นายวิทยา เปรมจิตร์ เผยว่า ผู้ประกอบการรถร่วมฯ พอใจกับผลประชุมครั้งนี้ โดยหากที่ประชุมคณะกรรมการขนส่งทางบกอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารตามข้อเสนอ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ก็อาจจะปรับขึ้นค่าโดยสารในวันที่ 5-6 มกราคม 2562 และพร้อมยกระดับบริการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี

นอกจากนี้ต้องการให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาดูช่วยแผนธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องต้นทุน ความคุ้มค่า และช่วงเวลาการคืนทุนเหมือนธุรกิจขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ประกอบการกล้าลงทุนและสามารถอยู่รอดได้

นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง นางสาวภัทรวดี กล่อมจรูญ เผยว่า ยอมรับว่าตอนนี้คุณภาพของรถร่วมฯ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะผู้ประกอบการไม่มีทุนไปพัฒนา ซึ่งถ้าหากได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสารก็จะนำเงินไปปรับปรุงสภาพรถและพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารมีทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1. ขอปรับค่าโดยสารรถเมล์ร้อน จาก 9 บาทตลอดสาย เป็น 12 บาทตลอดสาย 2. รถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) จาก 13 บาทเป็น 15 บาท พร้อมปรับเพิ่มระยะทางละ 2 บาท และ 3. รถเมล์ใหม่ที่จะเข้าสู่โครงการปฏิรูป ขอให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 20 บาทใน 4 กิโลเมตรแรก และระยะต่อไปให้จัดเก็บ 25 บาท โดยมีแค่ 2 อัตราเท่านั้น

เพิ่มสิทธิประกันสังคม ตรวจสุขภาพฟรีใน รพ. ที่ผู้ประกันตนเลือก

ที่มาภาพ: rawpixel จากเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2QfwDvR)

วันที่ 22 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยในสุขภาพของผู้ประกันตน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม ปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตน โดยสาระสำคัญได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ครอบคลุมในหลายกรณี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามมาตรา 63 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558

“กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงภาวะผิดปกติต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การป้องกันหรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพ อาทิ การตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม การตรวจความเข้มข้นของโลหิต เพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจการทำงานของไต การตรวจไขมันในเส้นเลือด เพื่อหาความเสี่ยงโรคเรื้อรัง ที่พบบ่อยไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดอุดตันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชน ณ สถานพยาบาลตามที่ผู้ประกันตนเลือกไว้”

สำหรับการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน คณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการตรวจสุขภาพตามช่วงอายุและความถี่ในการตรวจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมได้เตรียมการพัฒนา ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการผู้ประกันตน ซึ่งจะทำให้สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมให้ความร่วมมือในการบริการแก่ผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น

“กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงสุขภาพของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ จึงขอแนะนำให้ผู้ประกันตนใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเอง และตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ณ สถานพยาบาลตามที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออนามัยที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศมีการขับเคลื่อนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ปลดล็อกกัญชาผ่าน สนช. วาระแรกแล้ว

ที่มาภาพ: Rick Proctor จากเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2QaowRh)

วันที่ 23 พ.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 145 คะแนนรับหลักกาวาระแรก ร่างแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เพื่อปลดล็อกการนำกัญชามาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยมีกำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช. เพื่อลงมติอีกครั้ง

นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว กล่าวว่า ร่างแก้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 วรรค 2 ทั้งจากเว็บไซต์ที่มีผู้เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ถึง 99.03% และเปิดเวทีรับฟังความเห็น รวมถึงได้ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว โดยไม่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายฉบับอื่นมาประกบ แต่มีข้อสังเกตที่เป็นความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรม การกฤษฎีกา และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

สำหรับสาระสำคัญร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การให้มีกัญชาไว้ในครอบครอง โดยต้องได้รับอนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ และครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือใช้การปฐมพยาบาล

สัญญาณสันติภาพล่าสุด สองเกาหลีระเบิดป้อมทหารของตนตามแนวชายแดน

ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (http://bit.ly/2Qi0LXm)

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 โดยอ้างจากรายงานของสำนักข่าวกางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ว่ากองทัพประชาชนเกาหลี (เคพีเอ) ระเบิดทำลายป้อมสังเกตการณ์ทางทหาร 10 แห่ง ที่ตั้งอยู่ตามแนวเขตปลอดทหาร (ดีเอ็มซี) โดยมีทหารของเกาหลีใต้สังเกตการณ์ทุกขั้นตอนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเขตปลอดทหาร ทั้งนี้ การดำเนินการของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นหลังกองทัพเกาหลีใต้ระเบิดทำลายป้อมสังเกตการณ์ทางทหารในจำนวนเท่ากัน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ทั้งสองประเทศไม่เคยเปิดเผยจำนวนป้อมสังเกตการณ์ของตามแนวชายแดนว่ามีจำนวนเท่าใด แต่สำนักข่าวยอนฮัปรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เกาหลีเหนือมีป้อมสังเกตการณ์ทางทหารตามแนวชายแดนมากกว่าเกาหลีใต้หลายเท่านัก โดยหลังการระเบิดครั้งนี้น่าจะยังเหลือป้อมประจำการอยู่ตามแนวเขตปลอดทหารอีกมากถึง 150 แห่ง ในขณะที่ของเกาหลีใต้เหลืออยู่อีกประมาณ 50 แห่ง

ทั้งนี้ บรรยากาศที่เขตปลอดทหารบนคาบสมุทรเกาหลีมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับสวนทางกับการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับรัฐบาลเปียงยางในหัวข้อ “การปลดนิวเคลียร์” โดยกองทัพเกาหลีใต้ เคพีเอ และศูนย์บัญชาการสหประชาชาติ (ยูเอ็นซี) ที่มีกองทัพสหรัฐเป็นกำลังหลัก ซึ่งดูแลพื้นที่ความมั่นคงร่วมบนฝั่งใต้ของเขตปลอดทหาร มีมติร่วมกันเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ว่าทั้งสามฝ่ายจะถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากจุดสังเกตการณ์บริเวณพื้นที่ความมั่นคงร่วมสองฝั่งให้เหลือเพียงฝ่ายละ 35 นาย และเจ้าหน้าที่ทุกนายจะไม่มีการพกอาวุธ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของสันติภาพ