ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.พ.ร. แจง “Doing Business 2018” ธนาคารโลกชม 4 ตัวชี้วัด รอผลจัดอันดับตุลาคมนี้

ก.พ.ร. แจง “Doing Business 2018” ธนาคารโลกชม 4 ตัวชี้วัด รอผลจัดอันดับตุลาคมนี้

3 กรกฎาคม 2017


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

กล่าวได้ว่าผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business จัดทำโดยธนาคารโลก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความยากง่ายในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ล่าสุดในปี 2559 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 46 จากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก ผลจากอันดับดังกล่าวเป็นแรงกดดันและสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน รวมทั้งการให้บริการของหน่วยงานภาคราชการพอสมควร

ผลประเมินธนาคารโลกชื่นชม 4 ด้าน

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในการเชื่อมโยงประสานการทำงานของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการผลักดันปลดล็อกปมปัญหาต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคของการทำธุรกิจในไทยว่าครั้งหลังสุดทางธนาคารโลกได้มาเก็บข้อมูลในประเทศไทยแล้ว โดยรายงานจะออกในเดือนตุลาคมนี้ ในเบื้องต้นธนาคารโลกได้ส่งข้อมูลแบบไม่เป็นทางการมาว่าประเทศไทยพัฒนาอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ, การจดทะเบียนทรัพย์สิน, การคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย และการแก้ปัญหาการล้มละลาย ทั้ง 4 อันนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าเขาเห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ธนาคารโลกยังมีเกณฑ์ประเมินเพิ่มเติมหลังการปรับปรุงแล้วว่าผลกระทบของสิ่งที่ทำไปเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารโลก อาทิ จะต้องมีคนเข้ามาใช้บริการจำนวนมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น ระบบประกันสังคมที่ปรับปรุงให้สามารถจ่ายเงินแบบออนไลน์ จะต้องมีคนใช้มากกว่า 50% เป็นต้น คาดว่าอีกประมาณหนึ่งเดือนจะส่งข้อมูลให้ธนาคารโลกเพิ่มเติม

“ขณะนี้เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะให้คะแนนเราอย่างไร การจัดอันดับต้องรอเดือนตุลาคม แม้ว่าเราปรับปรุงไปเยอะแล้ว ถ้าเกิดอีก 20 ประเทศเขาก็ปรับปรุงไปเยอะกว่าเรา อันดับเราอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่เราเชื่อว่าหลายประเทศที่ปรับปรุงไปแล้วคงไม่ได้ปรับปรุงใหญ่ทุกปี ฉะนั้นปีนี้อันดับเราน่าจะดีขึ้น” ดร.ทศพร กล่าว

เปิดตัว Doing Business Portal ผลักดันเริ่มต้นธุรกิจ

ดร.ทศพร กล่าวต่อถึงตัวอย่างที่ชัดเจนและได้ดำเนินการไปว่า ในปีนี้ได้ทำเรื่อง Doing Business Portal เนื่องจากธนาคารโลกระบุว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่สอดคล้องกับระบบของสากลที่ต้องเป็นระบบแบบ Single Form จบที่จุดเดียว ตัวอย่างเช่น ต้องการจดทะเบียนธุรกิจผ่านเว็บไซต์ E-registration ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่เมื่อเข้าไปกรอกเอกสารแล้ว จะต้องเข้า-ออกจากเว็บไซต์หน่วยงานดังกล่าวไปที่หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จะขอจดทะเบียนเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต้องออกไปยังเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ถ้าจะทำเรื่องประกันสังคมต้องไปที่เว็บไซต์ประกันสังคม

ดร.ทศพร กล่าวว่า สิ่งที่ทำจะเหมือนสิงคโปร์ที่มีระบบ License One หรือ Corporate Pass โดยจะนำใบอนุญาตทั้งหมดมารวมขออนุญาตพร้อมกันในแบบฟอร์มที่ต่อเนื่องเป็นแบบฟอร์มเดียว ดังนั้น เมื่อหน่วยงานแรกถามข้อมูลเบื้องต้นบางอย่างแล้ว เช่น ชื่อบริษัท รายละเอียดต่างๆ อีกหน่วยงานจะถามข้อมูลเสริมอื่นๆ ที่ต้องการต่อไปทันที แล้วค่อยนำข้อมูลที่ได้มาแบ่งปันกันหลังบ้าน ส่วนนี้ได้คุยกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งยินดีสนับสนุนงบประมาณให้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

“เราได้นำเสนอที่ประชุม ท่านนายกรัฐมนตรีก็เห็นชอบในหลักการ แต่เสริมว่าอยากให้ออกมาเร็วภายใน 3 เดือนก่อนได้หรือไม่ จากตัวชี้วัดทั้งหมดเราก็จะเริ่มการเริ่มต้นธุรกิจมาทำให้มันต่อเนื่องกันและให้จบที่เว็บไซต์เดียว เรียกว่า Portal อันนี้ แต่ 3 เดือนมันคงยังทำอะไรไม่ได้มาก เราก็วางแผนว่าภายใน 1 ปีจะได้จำนวน 15 ประเภทธุรกิจ และปีต่อๆ ไปขยายไปจนครบทุกใบอนุญาตในการทำธุรกิจ” ดร.ทศพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลจะต้องพัฒนาระบบยืนยันตัวบุคคล หรือ Digital ID ขึ้นมาก่อน ซึ่งตอนนี้กำลังทำงานร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกำลังเลือกว่ารูปแบบของประเทศไทยจะใช้ลักษณะใด

ดร.ทศพรกล่าวต่อว่า ในส่วนของการเริ่มต้นธุรกิจ รัฐบาลได้ยกเลิกการส่งข้อบังคับการทำงานและการใช้ตราประทับบริษัทเพิ่มเติมด้วย ส่วนเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สิน รัฐบาลยกเลิกการขอสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ และหันมาเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับกรมที่ดินหลังบ้านแทน ส่วนของการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย รัฐบาลเปิดช่องให้สิทธิของผู้ลงทุนรายย่อยมากขึ้น เช่น การเรียกประชุมวิสามัญ การฟ้องกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย การเข้าถึงเอกสารต่างๆ และประเด็นสุดท้ายคือการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย รัฐบาลได้แก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายใหญ่โดยตรงให้ดีขึ้น

แจง ม.44 เพื่อเร่งผลักดันสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำอยู่แล้ว

ดร.ทศพรกล่าวว่า การปรับปรุงหลายประเด็นเดินหน้าไปได้เร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอานิสงส์ของการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามอำนาจตาม ม.44 ได้แก่ คำสั่ง คสช. ที่ 21/2560 ซึ่งช่วยปลดล็อกหลายๆ เรื่อง โดยตอนแรกที่นำเรื่องส่งไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้พบว่าหลายเรื่องคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาเตรียมจะแก้ไขอยู่ หากต้องรอพิจารณาเสร็จและส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะช้าเกินไปและเสียเวลารอโดยใช่เหตุ รัฐบาลจึงตัดสินใจว่าไม่จำเป็นต้องรอ เพราะนอกจากได้คะแนนจากธนาคารโลกแล้ว ยังช่วยผลักดันการทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้เร็วขึ้นไปด้วย จึงออกเป็นคำสั่ง ม.44 ซึ่งในปัจจุบันก็เห็นผล ธนาคารโลกก็ยอมรับว่าสิ่งที่ได้ออกมามันทำให้เกิดประโยชน์จริงๆ

“ตอนแรกธนาคารโลกไม่เข้าใจ เราอธิบายกันอยู่นานว่า ม.44 คืออะไร เขาก็สงสัย เราบอกว่ามันเหมือน executive order ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คุณวิษณุก็อธิบายธนาคารโลกไปอีกว่าในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็มีบทบัญญัติเหมือนมาตรา 44 อยู่ด้วย บอกว่านี่แหละประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็มีคล้ายๆ กัน เราก็ใช้ตรงนี้ พออธิบายไปแบบนี้เขาเลยเข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร” ดร.ทศพรกล่าว

แจงบางอย่างทำไม่ได้ ไม่คุ้มค่า – ต้องแก้กฎหมายใหญ่

สำหรับตัวชี้วัดอื่นๆ ดร.ทศพรกล่าวต่อว่า “ก.พ.ร. มีแผนงานอยู่ทั้ง 10 ตัวชี้วัดของธนาคารโลก บางเรื่องเราคิดว่าเราจะไม่ทำ เราไม่ได้เชื่อธนาคารโลกทุกอย่าง อะไรที่มีผลกระทบสูงหรือไม่เหมาะกับประเทศไทยรัฐบาลก็เลือกที่จะไม่ทำ แต่ส่วนไหนที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์และธนาคารโลกแนะนำ หรือทำให้ประเทศเรามีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นก็ตัดสินใจทำ ส่วนนี้จะจัดประชุมกันทุก 2 เดือนโดยมี คุณวิษณุ, คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวร่วมหารือ”

หลายตัวชี้วัด หลายหน่วยงานยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะหลายเรื่องต้องแก้ไขกฎหมาย ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณาและดำเนินการนาน อย่างกฎหมายล้มละลาย กฎหมายภาษี  หรือเรื่อง National Single Window ยังเป็นจุดที่กรมศุลกากรจะต้องปรับปรุง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างธนาคารโลกกับของรัฐบาลไทย ตัวอย่างเช่น เรื่องระยะเวลาการชำระภาษี ถ้าย้อนกลับไปดูของไทยจะติดเรื่องชั่วโมงการคำนวณภาษี 260 ชั่วโมงแล้วไม่ค่อยได้ปรับขึ้นมา ตรงนี้ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะคุยกับกรมสรรพากรก็แจ้งว่ากลุ่มลูกค้าของเขาใช้เวลาในการกรอกเร็วกว่า แต่พอธนาคารโลกไปสำรวจ เขาจะสำรวจบริษัทบัญชีใหญ่ๆ พวกนี้บางทีอาจจะมีเรื่องระยะเวลาที่ต้องทำนานกว่าปกติโดยรวม

“กรมสรรพากรได้ไปประเมินกับผู้เสียภาษีแต่ละคน ว่าเราใช้เวลากรอกนานเท่าไหร่ สรรพากรบอกว่าของเราใช้เวลา 10 ชั่วโมง ตัวเลขมันต่างกันเยอะมากกับธนาคารโลกบอกว่าเป็นร้อยชั่วโมง ขณะที่กรมสรรพากรยืนยันว่าไม่ถึง เราเสียภาษีเราก็รู้ว่ามันไม่ถึงเป็น 100 ชั่วโมง” ดร.ทศพรกล่าว

เร่งหารือเอกชน สร้างความรับรู้เข้าใจ

ดร.ทศพรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้หารือกับเอกชนมากขึ้นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลได้ดำเนินการไป โดยในปีหนึ่งจะเชิญบริษัทกฎหมาย, บริษัทบัญชี และภาคเอกชนมาครั้งสองครั้ง เพื่อชี้แจงว่ารัฐบาลปรับอะไรไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะบริษัทกฎหมายและบริษัทบัญชีจะค่อนข้างมีความสำคัญที่สุด เพราะนักธุรกิจจากต่างประเทศยังอาศัยบริษัทกฎหมายและบริษัทบัญชีจดทะเบียนธุรกิจให้ หรือทำธุรกรรมให้ หรือแม้แต่คนไทยเอง เราบอกว่าตอนนี้เปิดบริษัทเข้าจดทะเบียน E-registration ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้แล้ว แต่บางคนอาจจะคุ้นชินกับการจ้างบริษัทบัญชี เพราะต้องจ้างตรวจสอบบัญชีอยู่แล้ว ก็ฝากจดทะเบียนให้ด้วยและไม่ได้ใช้ความสะดวกที่รัฐบาลทำให้ ทั้งที่ไม่ต้องใช้บริการบริษัทบัญชีแล้ว ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่คงต้องใช้เวลาค่อยๆ พัฒนาต่อไป

“เวลาธนาคารโลกมาประชุม เริ่มต้นจะมาประชุมกับทางภาคราชการ แต่คือฟังหูเดียว แล้วลงไปประชุมกับภาคเอกชน เขาจะสุ่มตัวอย่างเอกชน ซึ่งประเด็นนี้เราก็กังวลใจอยู่เหมือนกัน เพราะว่าบางทีเราเปลี่ยนไปแล้ว แต่ภาคเอกชนอาจจะยังไม่รับรู้รับทราบ เราก็พยายามจะสื่อสารกับทางภาคเอกชนตรงนี้ ถ้าเอกชนไม่ได้บอกว่าเราเปลี่ยนแปลง คะแนนเราก็ไม่ได้เหมือนกัน” ดร.ทศพรกล่าว

ก.พ.ร. ผลักดันประสานงาน เชื่อมโยงหน่วยงานราชการ

ดร.ทศพรกล่าวถึงหน้าที่ของ ก.พ.ร. ว่า ปัจจุบันเป็นหน่วยงานประสานงานเชื่อมโยงแต่ละหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับกรมที่ดิน เวลาประชุมก็เชิญทุกฝ่ายมาประชุม ส่วนนี้โชคดีที่คุณสมคิดและคุณอภิศักดิ์เป็นหัวโต๊ะคอยประชุมทุก 2 เดือนประสานงานต่างๆ ให้ ขณะที่ด้านกฎหมายมีคุณวิษณุช่วยปลดล็อกให้ กลายเป็นคณะทำงานใหญ่ระดับประเทศเลย ซึ่งหากปล่อยให้หน่วยงานดำเนินงานเป็นปกติอาจจะยังไม่เดินไปถึงไหน

ส่วนการขับเคลื่อนในระดับหน่วยงาน ถือว่าได้ใช้ประโยชน์ของการมีธนาคารโลกเข้ามาประเมิน เอาประเทศไทยไปเทียบกับทั่วโลกว่าประเทศที่ดีที่สุดวันนี้เป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น เรื่องเลิกส่งข้อบังคับแรงงาน ธนาคารโลกเอามาให้ดูว่าทั่วโลกไม่มีใครส่งกันแล้ว มีแค่ประเทศไทยที่เดียวที่ทำอยู่ รัฐบาลจึงบอกว่าแล้วจะทำไปทำไม ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร รัฐบาลจึงปรับให้คนทำข้อบังคับแรงงานตามกฎหมายแล้วติดไว้ที่โรงงานตัวเอง แล้วถึงเวลาราชการก็เข้าไปตรวจสอบภายหลัง เรียกว่า Post Audit แบบทั่วโลกปฏิบัติกัน

ดร.ทศพรกล่าวอีกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยราชการได้เปลี่ยนวิธีการทำงานไปมาก ตัวอย่างเช่น กทม. ส่วนงานด้านโยธา ที่ตรวจเรื่องอาคาร สมัยก่อนต้องตรวจค่อนข้างถี่ทุก 15 วัน ธนาคารมาบอกเราว่าทั่วโลกใช้ระบบบริหารความเสี่ยง เพราะอาคารแต่ละประเภทก็ควรจะมีวิธีการตรวจที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นอาคารไม่สูงก็ไม่ต้องไปตรวจสอบละเอียดมาก อาคารโกดังธรรมดาก็บริหารความเสี่ยงแทนไม่ต้องละเอียดเท่า ทำให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) ปรับเปลี่ยนระเบียบ กทม. ให้ตรวจ 3 ครั้งเท่านั้น คือ ก่อนเริ่มดูแบบก่อสร้าง ขณะก่อสร้าง และดำเนินงานเสร็จ

“ส่วนนี้เปลี่ยนวิธีการทำงาน แต่เดิมภาคราชการต้องตรวจสอบเข้มงวด ตรวจละเอียด ไม่มีหลักมีการ อันนี้ก็เปลี่ยนวิธีการทำงาน เป็นอันที่เราได้อานิสงส์จากธนาคารโลก ใช้วิธีบริหารความเสี่ยง เปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล เปลี่ยนเรื่องกฎหมายที่อาจจะล้าสมัยแล้ว เราก็เปลี่ยน 3 อันใหญ่ๆ ให้ระบบของเราทันสมัยขึ้น แต่อย่างที่บอกว่าอะไรที่ดูแล้วไม่เกิดประโยชน์เราก็สงวนไว้ก่อน ยอมไม่ได้แต้มดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น เราจะประสานกับหน่วยงานหลายหน่วย เรามีเวทีให้หน่วยงานเข้ามาอธิบายชี้แจงว่าวิธีนี้ทำแล้วคุ้มหรือไม่ เราจะได้ออกเป็นนโยบาย ส่วนราชการก็เห็นภาพ ธนาคารโลกเป็นกระจกส่องเรา บางทีไม่เชื่อ ไม่ยอมเปลี่ยน เขาเอาข้อมูลมาให้ดู ทั่วโลกเขาปรับหมดแล้ว” ดร.ทศพรกล่าว

ถอดบทเรียนนโยบายชัดเจน-ผู้ใหญ่คุมงานเอง

ดร.ทศพรกล่าวสรุปว่า ปัจจุบันหน่วยงานราชการกระตือรือร้น อยากที่จะปรับปรุงระบบต่างๆ ให้ดีขึ้น บางทีมีข้อจำกัด กฎหมายแก้ยาก รัฐบาลจะปลดล็อกให้ แล้วที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดๆ คือทุกหน่วยงานเริ่มหันหน้ามาคุย ทำงานร่วมมือกันมากขึ้น แต่เดิมทุกคนรู้โจทย์แต่ต่างคนต่างทำไป วันนี้เริ่มมาเชื่อมโยงกัน อย่างกระทรวงการคลังกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน ก็ได้มานั่งคุยกัน นั่งเจรจากันนอกรอบ บางทีไม่เข้าใจกันมากกว่า แต่พอมาคุยกันเห็นว่าตรงนี้เชื่อมกันได้ก็เริ่มต้นทำ เช่น ข้อมูลที่ไหลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปที่กรมที่ดินได้ ตอนแรกกรมที่ดินก็กังวลว่าเขาจะเป็นอะไรไหม ในฐานะเจ้าหน้าที่จะโดนฟ้องศาลหรือไม่ กระทรวงพาณิชย์มายืนยันว่าแม้ว่าจะไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรมา แต่ยังเป็นข้อมูลของราชการ มันใช้ได้ เช่น บริษัทนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น จดทะเบียนที่ดินได้ เป็นต้น

“เราถอดบทเรียนออกมาจากการทำงาน อันแรกคือนโยบายต้องชัดเจน ที่สำคัญคือต้องมีผู้ใหญ่มาช่วยดูแล จังหวะช่วงนี้อาจจะปลดล็อคอะไรต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ในแง่หนึ่งถ้าไม่มี ม.44 คงทำได้ยาก เพราะต้องรอแก้ในสภาอีกยาว หรือบางเรื่องเราก็ไม่สามารถอิงระดับนโยบายมาเคาะได้ แต่ครั้งนี้มีท่านวิษณุเคาะ มีท่านสมคิดเคาะ มีกระทรวงคลังเคาะ เราก็ทำงานได้ง่ายขึ้น เทียบกับสมัยก่อนที่อาจจะเดินได้แต่มันช้ากว่านี้ ตอนนี้มีปัจจัยเกื้อหนุนได้ดีขึ้น เป็นจังหวะที่ได้ขยับต้องรีบยิงให้เข้าเป้า” ดร.ทศพรกล่าว