ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกตรวจการบ้าน “Doing Business 2019” หลายดัชนีเริ่มส่งผลนับคะแนน

ธนาคารโลกตรวจการบ้าน “Doing Business 2019” หลายดัชนีเริ่มส่งผลนับคะแนน

15 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ทีมวิจัยจากธนาคารโลกเดินทางมาเก็บข้อมูลและติดตามผลการปรับปรุงการให้บริการภาครัฐ เพื่อนำไปประกอบการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ รายงาน Doing Business 2019 โดยผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้ข้อมูล

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ทีมวิจัยจากธนาคารโลกเดินทางมาเก็บข้อมูลและติดตามผลการปรับปรุงการให้บริการภาครัฐ เพื่อนำไปประกอบการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ รายงาน Doing Business 2019 โดยผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้ข้อมูล

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดทำรายงานของปีนี้ได้เริ่มต้นเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งธนาคารโลกทำเป็นประจำทุกปีในประมาณ 150 กว่าประเทศ เพื่อให้เห็นภาพของการทำธุรกิจและอุปสรรคด้านกฎระเบียบในประเทศต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนถึงปิดกิจการ โดยการมาของทีมเก็บข้อมูลครั้งนี้ ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ แยกต่างหากจากที่ปรึกษาที่จะเน้นด้านนโยบายและธนาคารโลกประจำประเทศไทยที่จะดูภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ จะมาหารือพูดคุยถึงรายละเอียดต่างๆ ที่อาจจะเห็นไม่ตรงกันระหว่างข้อมูลของหน่วยงานรัฐและข้อมูลที่เก็บมา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วน ก่อนจะนำกลับไปจัดทำรายงานต่อไป

เริ่มต้นธุรกิจลดเหลีอ 3 ขั้นตอน 2 วัน – พร้อมเปิดระบบจดทะเบียนออนไลน์

โดยช่วงเช้า นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าให้ข้อมูลด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) ก่อนจะให้สัมภาษณ์ว่า ในด้านการเริ่มต้นธุรกิจ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 78 ในรายงานฉบับปี 2017 ก่อนจะปรับเป็นอันดับที่ 36 ในรายงานฉบับปี 2018 ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-Filing ซึ่งช่วยลดขั้นตอนลงเหลือ 5 ขั้นตอน 4.5 วัน คือ จองชื่อ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การทะเบียนจัดตั้ง การนำเงินเข้าธนาคาร และในปีนี้กรมรวบรวมให้ระบบการจองชื่อและจดทะเบียนจัดตั้งทำไปพร้อมกันบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมแล้วจะลดขั้นตอนเหลือเพียง 3 ขั้นตอน 2 วันเท่านั้น

นอกจากนี้ กรมฯ ได้พัฒนาระบบ e-Registration จนแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และกำลังส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาใช้งานมากขึ้น โดยปัจจุบันมีการใช้งานประมาณ 10% ของการจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งต้องรอการประเมินจากธนาคารโลกว่าเพียงพอที่จะนับว่าเป็นความสำเร็จในปีนี้หรือไม่

สุดท้ายกรมฯ ได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมจัดตั้งบริษัทจากเดิมที่เก็บตั้งแต่ 5,500-275,000 บาทตามทุนจดทะเบียน ปัจจุบันได้ลดลงเป็นอัตราคงที่ 3,850 บาท และสำหรับคนที่จดทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมอีก 30% เพื่อจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบ โดยคาดว่าการลดค่าธรรมเนียมและให้ส่วนลดจะทำให้รัฐบาลเสียรายได้ภาษีไปประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

แก้กฎหมายบังคับคดี-มุ่งหน้าสู่ระบบ Paperless

ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับดัชนีด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงในส่วนของการบังคับคดี ได้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยปิดช่องว่างต่างๆ เช่น การประวิงคดี การรองรับทรัพย์สินประเภทใหม่ๆ การคุ้มครองทรัพย์ ซึ่งในปีที่ผ่านมายกร่างไม่ทันการเก็บข้อมูลของธนาคารโลก ในปีนี้คาดว่าจะทำให้ขั้นตอนลดลงได้จาก 100 วันเหลือ 75 วัน นอกจากนี้ ยังนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับกระบวนการทางศาล ซึ่งมีจำนวนคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะได้คะแนนเพิ่มเติมทางส่วนนี้

สำหรับดัชนีด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย ได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่หลังจากไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขมานาน เช่น แก้ไขให้บุคคลที่ครอบครองสินทรัพย์ของลูกหนี้ต้องแจ้งเจ้าหนี้ภายใน 30 วันหลังจากมีคำสั่ง นอกจากนี้ ยังเริ่มเรื่องการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ มีระบบคิวสำหรับประชาชนที่เข้ามารับบริการ ซึ่งทำให้เห็นข้อมูลว่ามีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในอนาคตจะเดินหน้าสู่ระบบ “ไร้กระดาษ” หรือ Paperless อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และมีการเชื่อมโยงข้อมูลสินทรัพย์กับหน่วยงานนายทะเบียนของรัฐ 16 แห่ง ทำให้สามารถติดตามพิทักษ์ทรัพย์ได้สะดวกมากขึ้น

“การเชื่อมโยงข้อมูลและแก้ไขกฎหมายคาดว่าจะทำให้ลดระยะเวลาการทำงานได้อย่างน้อย 20 วัน นอกจากนี้ อัตราการชำระเงินคืนเจ้าหนี้หรือ Recovery Rate จาก 68% ในปีที่แล้ว ก็คาดว่าจะปรับขึ้นเช่นกัน เพราะการติดตามทรัพย์ทำได้สะดวกขึ้น แต่ต้องรอดูว่าธนาคารโลกรวมทั้งเอกชนที่ตอบแบบสอบถามจะประเมินอย่างไร ทางกรมฯ ตั้งเป้าไว้ว่าน่าจะไปถึง 75% ได้ ส่วนหนึ่งรัฐบาลเองก็มีการเดินสายสร้างความเข้าใจกับเอกชนถึงความสำคัญและวิธีประเมินของธนาคารโลกที่จะเน้นไปที่บริษัทขนาดเล็ก บางครั้งเอกชนที่ตอบแบบสอบถามเป็นเอกชนขนาดใหญ่ก็อาจจะติดกับรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเอกชนก็เข้าใจและให้ความร่วมมือดีมากว่าต้องคำนึงตามโจทย์ของธนาคารโลกด้วย” นางสาวรื่นวดี กล่าว

ปรับปรุงขั้นตอนตรวจตึกเหลือ 3 จาก 15 –  กำหนดให้ใบอนุญาตภายใน 15 วัน

ด้านนายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนของ กทม. ได้ปรับปรุงใหญ่ 2 ประเด็น คือ 1) ลดการตรวจสอบจาก 7 ครั้งเป็น 3 ครั้ง คือ ก่อนก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง และหลังก่อสร้าง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและประเภทของสิ่งก่อสร้างมาตั้งแต่แบบก่อสร้าง 2) การขอใบรับรองอาคาร หรือ อ.6 จากเดิมระยะเวลา 30 วัน ได้ลดลงเหลือเพียง 15 วัน

ด้านนายเสถียร เจริญเหรียญ รักษาการวิศกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้กำหนดระยะเวลาการขอใบอนุญาตให้ชัดเจนและเหมาะสมมากขึ้น และจะนำไปประยุกต์ใช้กับท้องถิ่นต่างๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาคารที่มีความซับซ้อนมาก เช่น อาคารสูง ได้แนะนำว่าต้องน้อยกว่า 45 วัน และกลุ่มอาคารขนาดเล็กทั่วไป เช่น สูงน้อยกว่า 15 เมตร หรือมีพื้นที่น้อยกว่า 2,000 ตารางเมตร แนะนำเอาไว้ว่าต้องน้อยกว่า 10 วัน นอกจากนี้ กำลังยกร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการขอใบอนญาตได้

เชื่อมโยงโฉนดที่ดินทั่วประเทศ บริการข้ามสำนักงานฯ

ด้านนายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมที่ดินปรับปรุงและพัฒนาการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐมา ตั้งแต่ มิถุนายน 2560 – 1 พฤษภาคม 2561 ดังนี้

1) การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงนามบันทึกข้อตกลงเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 เพื่ออํานวยความสะดวกในการลดขั้นตอน ระยะเวลา ค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ประกอบการทางธุรกิจ ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อขอคัดสําเนาเอกสารนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ใน 4 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลรายการหนังสือรับรองนิติบุคคลและรายละเอียดวัตถุประสงค์, บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น, หนังสือบริคณห์สนธิ, ข้อบังคับของนิติบุคคล โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ปัจจุบันในระยะเริ่มต้น เริ่มให้บริการในเขต กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง 33 จังหวัด 73 สํานักงาน และคาดว่าในอีก 1-2 ปีจะเชื่อมโยงครบทั้ง 460 แห่งทั่วประเทศ

2) การพัฒนาโปรแกรม “LandsMaps” สําหรับให้บริการค้นหาตําแหน่งรูปแปลงที่ดิน ด้วยระบบภูมิสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต ดําเนินการได้ทางเว็บไซต์ http://dolwms.dol.go.th และทางอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ โดยติดตั้งแอปพลิเคชัน LandsMaps เป็นการอํานวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาและเข้าถึงข้อมูลรูปแปลงที่ดิน ราคาประเมินที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการรังวัด ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร เบอร์ โทรศัพท์ และที่ตั้งของสํานักงานที่ดิน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ปัจจุบันพัฒนาโปรแกรมให้สามารถค้นหาข้อมูลรายละเอียดของแปลงที่ดินจากสถานที่สําคัญโดยไม่ต้องระบุเลขที่โฉนดที่ดิน รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลแนวเขตที่ดินกับสํานักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นการอํานวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการสามารถตรวจสอบแนวเขต zoning) โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสํานักงานเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วถึง 22 ล้านราย เฉลี่ยสูงสุดมีผู้ใช้บริการถึงประมาณ 38,000 รายต่อวัน ต่อไปในอนาคตจะสามารถตรวจสอบแนวเขตผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินของกรมโยธาธิการและผังเมืองในทั่วประเทศ

3) การให้บริการต่างสํานักงานที่ดินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (LandsFax) ในงานบริการ 3 ประเภท ได้แก่ การตรวจสอบหลักทรัพย์, การขอสําเนาภาพลักษณ์ และการขอหนังสือรับรองราคาประเมิน ซึ่งผู้ขอรับบริการสามารถยื่นคําขอ ณ สํานักงานที่ดินแห่งใดก็ได้ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อราชการ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2561 ในพื้นที่ 830 สํานักงาน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วประมาณ 900,000 ราย

เร่งทำความเข้าใจเอกชนตอบแบบสอบถามยื่นภาษี

ด้านนางสาวพัดชา พงศ์กีรติยุต รองอธิบดีและรักษาการที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากร กล่าวว่า อันดับของประเทศไทยคงที่มาโดยตลอด เนื่องจากการตอบแบบสอบถามเรื่องจำนวนวันการกรอกและยื่นภาษีที่สูงถึง 160 ชั่วโมงต่อปีหรือเกือบ 7 วัน มานับ 10 ปี แม้ว่ากรมฯ จะปรับเปลี่ยนกระบวนการให้แบบฟอร์มสั้นลงเหลือเพียง 8 หน้าและสามารถกรอกผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจากการทดสอบด้วยการกรอกแบบสอบถามของผู้สอบบัญชีภาษีอากร พบว่าใช้เวลาเพียงเฉลี่ย 13 ชั่วโมง และปีนี้เมื่อลองให้ผู้ตอบแบบสอบถามกับธนาคารโลกลองกรอกประมาณ 20 กว่าคนก็พบว่าใช้เวลาต่ำสุด 6 ชั่วโมง สูงสุด 50 ชั่วโมง เฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นต้องชี้แจงกับธนาคารโลกต่อไป

“ปัญหาน่าจะเกิดจากการกรอกแบบสอบถามของธนาคารจะบอกว่าปีที่ผ่านมาใช้เวลาเท่าไหร่ และปีนี้ใช้เวลาเท่าไหร่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ให้อธิบายเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นก็อาจจะทำให้ผู้ตอบหลายรายไม่สามารถตอบได้ชัดเจน และการบอกว่าปีที่แล้วใช้เวลาเท่าไหร่ ทำให้ผู้ตอบเลือกจะตอบเหมือนปีที่แล้ว ทำให้จำนวนชั่วโมงก็คงที่มา 130 ชั่วโมงเป็น 10 ปีแล้ว เราก็ขอว่าไม่ให้บอกปีที่แล้วได้ไหม ถ้าอยากจะรู้ก็วัดตรงๆ ปีนี้ไปเลยว่ากรอกกันจริงเท่าไหร่ ก็น่าจะช่วยได้ อย่างไปเทียบกับกัมพูชา เขาต้องนั่งรถไปยื่นด้วยซ้ำ ไม่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยังแค่ 26 ชั่วโมงเอง” นางสาวพัดชา กล่าว

นอกจากนี้ ในปีนี้กรมยังแก้กฎระเบียบอีกว่า การยื่นงบการเงินประกอบ หากยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว ให้ถือว่ายื่นแล้ว ไม่ต้องยื่นซ้ำซ้อน โดยกรมจะดึงข้อมูลจากหลังบ้านแทน รวมทั้งทำระบบให้ใช้งานง่ายมากขึ้น ทำให้ระยะเวลาควรจะลดลงได้อีก ขณะที่ด้านกระบวนการหลังยื่นภาษี (Post-filing Index) เช่น การขอคืนภาษีต่างๆ ซึ่งเพิ่งนำมาใช้เพียง 2 ปี ในปีแรกคะแนนไม่ได้ดีมาก แต่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้คะแนนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยยังถูกท้วงติงในเรื่องการใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ แต่กรมฯ ต้องชี้แจงอีกว่าที่ผ่านมากรมฯ ใช้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

เตรียมเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟังแผนปฏิรูป

สำหรับด้านอื่นๆ รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนเรื่องความยากง่ายในการทำธุรกิจ ระบุว่า

  • ด้านการขอใช้ไฟฟ้า  การไฟฟ้านครหลวงและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอำนวยความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์และเพิ่มจำนวนธนาคาร/ตัวแทน ที่รับชำระค่าบริการการขอใช้ไฟฟ้า
  • ด้านการได้รับสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเชื่อมข้อมูลหลักประกันการชำระหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนจากการจดทะเบียนไปเป็นจดแจ้ง และนำ Pay-in slip และ e-Receipt มาใช้ในการชำระเงิน
  • การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยให้เข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความสะดวกในการฟ้องร้องคดีของผู้ถือหุ้น
  • ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกันพัฒนาและเปิดให้บริการรายงานเรือเข้าและบัญชีสินค้าสำหรับเรือ และเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้าและแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขตศุลกากรการท่าเรือ (e-Matching) ผ่านระบบ National Single Window การให้บริการพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับของถ่ายลำและการขนส่งต่อเนื่องเปลี่ยนยานพาหนะ (e-Transition) กระบวนการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้า (Pre–Arrival Processing) และฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร (Tariff e-Service)
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร.

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า รายงานการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจหรือ Doing Business ของธนาคารโลก ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยขยับอันดับจาก 46 เป็นอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการปฏิรูปมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยการจัดอันดับจะเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1) สำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถามภาคเอกชนและภาครัฐ 2) รายงานการปฏิรูปการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ และ 3) การยืนยันข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

การประชุมในครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลในส่วนของหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการโดยตรง เพื่อเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาบริการในแต่ละด้านตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของ Doing Business ให้ธนาคารโลกได้ทราบ ที่สำคัญในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ทีมธนาคารโลกจะเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังผลการดำเนินการปฏิรูปที่ผ่านมา และทิศทางการดำเนินการในอนาคตด้วย  โดย Doing Business จะประกาศผลให้ทราบในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ต่อไป

จับตา Doing Business จากอันดับ 26 ในปี 2560

อนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน Doing Business 2018: Reforming to Create Jobs หรือรายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2561 โดยประเทศไทยมีอันดับ 26 จาก 190 ประเทศของโลก โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับสูงสุดซึ่งสะท้อนการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ของโลก คือ การขอใช้ไฟฟ้า ได้อันดับสูงสุดที่อันดับ 13 ของโลก รองลงมาคือการคุ้มครองผู้ลงทุน ได้อันดับ 16, การแก้ปัญหาการล้มละลาย ได้อันดับ 26, การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา ได้อันดับ 34, การเริ่มต้นธุรกิจ ได้อันดับ 36, การได้รับสินเชื่อ ได้อันดับ 42, การขออนุญาตก่อสร้าง ได้อันดับ 43, การค้าระหว่างประเทศ ได้อันดับ 57, การชำระภาษี ได้อันดับ 67 และการจดทะเบียนทรัพย์สิน ได้อันดับ 68

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของคะแนนจากประเทศที่ดีที่สุด (Distance to frontier: DTF) 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนว่าแต่ละประเทศแข่งขันกับตัวเองได้ดีแค่ไหน พบว่า การเริ่มต้นธุรกิจได้คะแนนสูงสุดที่ 92.34 คะแนน รองลงมาคือการขอใช้ไฟฟ้า 99.09 คะแนน, การค้าระหว่างประเทศ 84.1 คะแนน, การชำระภาษี 76.73 คะแนน, การแก้ปัญหาการล้มละลาย 75.64 คะแนน, การขออนุญาตก่อสร้าง 74.58 คะแนน, การคุ้มครองผู้ลงทุน 73.33 คะแนน, การได้รับสินเชื่อ 70 คะแนน, การจดทะเบียนทรัพย์สิน 68.75 คะแนน และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา 67.91 คะแนน

ในแง่การเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอันดับเพิ่มขึ้น 20 อันดับ มีตัวชี้วัดที่อันดับเพิ่มขึ้น 6 จาก 10 ตัวชี้วัด โดยที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือการเริ่มต้นธุรกิจและการชำระภาษี เพิ่มขึ้น 42 รองลงมาคือการการได้รับสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 40 อันดับตามมาด้วยการขอใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 24 อันดับ, การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง เพิ่มขึ้น 17 อันดับ และสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นคือการคุ้มครองผู้ลงทุน เพิ่มขึ้น 11 อันดับ ขณะที่ตัวชี้วัดที่ลดลง 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ การแก้ปัญหาการล้มละลาย ลดลงเล็กน้อย 3 อันดับ รองลงมาคือการขออนุญาตก่อสร้างและการค้าระหว่างประเทศ ลดลง 1 อันดับ และมีตัวชี้วัดที่อันดับคงเดิม 1 ตัวชี้วัดคือการจดทะเบียนทรัพย์สิน