ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. อนุมัติขึ้น “เงินค่าครองชีพ” ขรก. ชั้นผู้น้อยย้อนหลัง 1 ต.ค. แล้ว! รายได้รวมต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

ครม. อนุมัติขึ้น “เงินค่าครองชีพ” ขรก. ชั้นผู้น้อยย้อนหลัง 1 ต.ค. แล้ว! รายได้รวมต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท

19 พฤศจิกายน 2014


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการพิจารณาปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) โดยการพิจารณาโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการดังกล่าว จะยึดหลักเพิ่มรายได้ของข้าราชการชั้นผู้น้อย ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และอยู่ในระดับสูงกว่ารายได้ของภาคเอกชนในระดับเดียวกัน ส่วนข้าราชการระดับกลางและชั้นผู้ใหญ่ ยังไม่มีการพิจารณา

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างชั้นผู้น้อยที่รายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท เพื่อให้รายได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาท ส่วนกรณีของข้าราชการและลูกจ้างที่มีรายได้เกินกว่าเดือนละ 10,000 บาทอยู่แล้วจะมีการปรับเพิ่มให้ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท ขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนของแต่ละบุคคล(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การปรับเงินเดือนชั้นผู้น้อย

โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดไม่เกิน 1,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีผลให้ข้าราชการผู้น้อยที่เคยได้รับเงินค่าครองชีพชั่วคราวมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 500-1,000 บาท การปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราวตามแนวทางนี้ จะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อย 380,000 คน

ทั้งนี้ ข้าราชการระดับสูง นอกจากได้รับเงินเดือน
ตามประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง ในแต่ละเดือนข้าราชการยังได้เงินประจำตำแหน่ง (สายงานที่ได้รับ) ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่กำหนดขึ้นสำหรับข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่หลักในตำแหน่งที่ ก.พ. กำหนด เช่น ตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะด้านการบริหารซึ่งมีความรับผิดชอบทั้งด้านการบริหารแผนงาน แผนเงิน และแผนคนในองค์กร รวมทั้งตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถทางด้านอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการกำหนดเงินประจำตำแหน่งนั้น ก็เพื่อลดความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทนของภาคราชการกับอัตราตลาด และเพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียกำลังคนในภาคราชการในขณะนั้น

นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนนอกเหนือจาก เงินเดือนซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินประจำตำแหน่ง มีขึ้นเพื่อลดความแตกต่างของอัตราค่าตอบแทนภาคราชการกับอัตราตลาด และเพื่อรักษาไว้ซึ่งกำลังคนคุณภาพในภาครัฐซึ่งในขณะนี้มีการสูญเสียไปสู่ภาคเอกชนจำนวนมาก โดยข้าราชการที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งจะได้รับเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนเท่ากับเงินประจำตำแหน่ง ยกเว้นตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ จะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนในส่วนนี้ และข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่ไม่ได้รับเงินประจำตำแหน่งจะได้รับค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน

สุดท้าย ข้าราชการจะได้รับเงินเพิ่ม เป็นค่าตอบแทนที่กำหนดขึ้นตามลักษณะของงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และขวัญกำลังใจในการปฏิบัติราชการ โดยจะจ่ายให้กับข้าราชการที่มีสภาพการทำงานไม่น่าอภิรมย์ ยากลำบากตรากตรำ เสี่ยงภัย เคร่งเครียด กดดัน หรือเป็นการทำงานที่มีสภาพการทำงานเสี่ยงอันตรายทั้งต่อชีวิตร่างกาย อาจมีผลกระทบต่อร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคจากการปฏิบัติงาน การสูญเสียอวัยะ หรือเป็นการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์สูง ซึ่งเป็นสาชาที่ขาดแคลน มีการสูญเสียผู้ปฏิบัติงานออกจากระบบราชการเป็นจำนวนมาก

เงินเพิ่มนี้มี 3 ประเภท คือ เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ (พ.ข.ต.) และค่าครองชีพชั่วคราว ค่าตอบแทนที่กำหนดขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนตามหลักความพอเพียง กล่าวคือ ให้ข้าราชการมีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพ ถือเป็นการกำหนดค่าตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Pay) ในระบบค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญ

โดยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยครั้งนี้ จะได้รับเงินค่าครองชีพชั่วคราว เพื่อให้สามารถใช้จ่ายดำรงชีพได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น