ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจปี’62 โตได้แค่ 2.6% มั่นใจปีหน้าฟื้นตัวกลับมา 3.2% ตามเศรษฐกิจโลก

สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจปี’62 โตได้แค่ 2.6% มั่นใจปีหน้าฟื้นตัวกลับมา 3.2% ตามเศรษฐกิจโลก

18 พฤศจิกายน 2019


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ (กลาง)เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และดร.วิชญายุทธ บุญชิต (ซ้าย) รองเลขาธิการ สศช.

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาส (QGDP) หรือจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสดังกล่าวเติบโต  2.4% และทำให้ 3 ไตรมาสรวมกันเฉลี่ยแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโตได้ 2.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ในด้านการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งขยายตัวในเกณฑ์ดี 4.2% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้า ภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ฯลฯ ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้อาจจะยังต้องศึกษาในเชิงลึกต่อไปอีกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคได้ไปใช้จ่ายอย่างไรและกระจายตัวออกไปแค่ไหน แต่อย่างน้อยจากตัวเลขก็เชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนเอาไว้ไม่ให้ลงไปมากได้

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.4% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัว 3.1% ในขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างทรงตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 48.5 ลดลงเล็กน้อยเทียบกับ 49.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 1.5% และมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว 4.2% ลดลงต่อเนื่องจากหดตัว 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มที่ส่งออกมากกว่า 60% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -7.5% เหลือหดตัว 5.9% ส่วนกลุ่มที่ส่งออกระหว่าง 30-60% หดตัวมากขึ้นจาก 4.4% ในไตรมาสก่อนหน้ามาเป็นหดตัว 5.9% ในไตรมาสนี้ และสุดท้ายกลุ่มที่ส่งออกน้อยกว่า 30% พลิกจากขยายตัว 1% ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นหดตัว -2.3% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 65% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 65.6%

สำหรับภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21% สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 20.5% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.7% เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลขยายตัว 5.6% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 0.8% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21.6% เทียบกับอัตราเบิกจ่าย 16.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 19.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 63,295 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตได้ 0% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 4.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลง 0.4% และราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.4% กลุ่มประเทศที่ส่งออกไปดีขึ้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย สะท้อนสัญญาณการปรับตัวจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ดีขึ้น หากรวม 3 ไตรมาสพบว่าภาคส่งออกไทยหดตัวไป 2.7% เทียบกับที่เคยตัว 9.1% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนภาคการท่องเที่ยว กลับมาขยายตัวดีอีกครั้งที่ 6.6% เทียบกับไตรมาสก่อนที่ 3.7% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.2% เทียบกับ 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า นำโดยกลุ่มอินเดียและจีน เช่นเดียวกับรายได้จากนักท่องเที่ยว 476,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับ 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 64.08% ลดลงจาก 65.38% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 261,800 ล้านบาทลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 55,333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.8% ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม เทียบกับการลดลง 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลง 6.6% เทียบกับการลดลง 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของปริมาณการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง 3.8% สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก ขณะที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลง 0.2% เทียบกับการลดลง 0.1% ในไตรมาสก่อนหน้า

“ประเทศไทยเหมือนกับประเทศอื่นๆที่เผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจโลกและปัญหาการส่งออก หลายประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ภาวะเศรษฐกิจก็ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐ จีน มาเลเซีย อินเดีย อินโดนิเซีย มีบางประเทศที่ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า อย่าง ญี่ปุน ไต้หวัน เวียดนาม และไทยด้วย สอดคล้องกับภาคส่งออกของหลายประเทศที่ติดลบกันหมด ยกเว้นเวียดนาม ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าเขาได้รับอานิสงค์ที่ดีจากการย้ายฐานการผลิต ดังนั้นเรื่องการส่งออกยังคงเป็นปัญหาของไทยมา 2-3 ไตรมาสแล้ว ซึ่งเริ่มส่งผลต่อสาขาการผลิตภาคอุสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยติดลบ 1.5% นี่เป็นปัจจัยแรกที่เป็นตัวดึงเศรษฐกิจของไทยอยู่” ดร.ทศพร กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เป็นตัวดึงเศรษฐกิจลงมาอยู่ โดยปัจจัยแรกคือค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่ รวมไปถึงการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวพันกันอยู่จากเดิมที่อยู่ระดับ 4-5% ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ลดลงมาเหลือประมาณ 2.4% และคาดว่าทั้งปีจะเหลือ 2.8% ทำให้การลงทุนการผลิตของภาคเอกชนถดถอยลงไป แต่ปีหน้าคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยที่สองคือการใช้จ่ายภาครัฐเป็นที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปีที่มีการเลือกตั้งและกว่าจะมีรัฐบาลก็มาถึงช่วงกลางปี และสุดท้ายคือปัจจัยเรื่องภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่จะเป็นเรื่องเบรกซิทที่จะเลือกตั้งใหม่ เรื่องการเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

“จากการคาดการณ์ปัจจุบัน เรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาในปลายปีนี้และต้นปีหน้า โดยคาดว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการเจาะตลาดของกระทรวงพาณิชย์ มีการปรับการจับตลาดในบางประเทศหรือสินค้าบางชนิดมากขึ้น และน่าจะส่งผลไปถึงการลงทุนของเอกชนด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัว คือการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่อยู่ในระดับที่ดีขึ้น อีกปัจจัยคือมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินการไปและคาดว่าจะต้องดำเนินการต่อไป และสุดท้ายคือการปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของค่าเงินบาท และภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อภาคเกษตรของไทยได้”

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจ ดร.ทศพร กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง 2% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 4.3% และ 2.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.2% ของจีดีพี

ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2.7 – 3.7% หรือค่ากลางที่ 3.2% และคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 2.3% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 3.7% และ 4.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.5 – 1.5% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.6% ของจีดีพี

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวเสริมเกี่ยวกับการส่งออกที่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้าว่าเริ่มจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ปรับตัวลดลงมาก จากตัวเลขของกองทุนเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ระบุว่าจะเติบโตได้เพียง 3% ซึ่งต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551 แต่ในปีหน้าไอเอ็มเอฟก็คาดว่าจะเติบโตได้ 3.4% ทำให้การค้าโลกปรับตัวดีขึ้นด้วยและเป็นแรงสนับสนุนต่อภาคส่งออกของไทย

นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวของภาคส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ดีขึ้นสะท้อนจากการส่งออกรวมจากที่หดตัว 4-5% ตอนนี้กลับมาทรงตัวที่ 0% และหากไม่รวมทองคำ การส่งออกไทยแม้ว่ายังหดตัวที่ 4.8% แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 5.8% หากหักสินค้าเกษตรและน้ำมันที่มีความผันผวนสูง การส่งออกไทยจะหดตัวที่ 3.2% เท่านั้นสะท้อนสัญญาณที่ดีและมีเสถียรภาพมากขึ้น

“สิ่งที่น่าสนใจคือว่าเวลาดูตัวเลขการส่งออกไปยังสหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจเขาจะชะลอตัวลง แต่การส่งออกของเราก็ยังแข็งแกร่งอยู่ สะท้อนว่าภาคส่งออกไทยเริ่มปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้า เช่นเดียวกันในตลาดของจีนหลังจากหดตัวติดต่อกันมา 4-5 ไตรมาส ตอนนี้การส่งออกก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 3 สินค้าที่อยู่ในมาตรการกีดกันทางการค้ากลับมาขยายตัวได้ดีกว่าสินค้าที่อยู่นอกมาตรการฯ เป็นปัจจัยที่สะท้อนการปรับตัวที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้เราเชื่อว่าแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทในปีหน้าน่าจะไม่แรงเท่ากับปีนี้ สุดท้ายคือปัจจัยราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังทรงตัวจากปีนี้ที่ปรับลดลงมากจนส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกของสินค้ากลุ่มน้ำมันและปิโตรเลียม ดังนั้นถ้าปีหน้าราคาน้ำมันทรงตัวก็น่าจะลดแรงกดดันต่อมูลค่าส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้ได้ในปีหน้า”