ThaiPublica > เกาะกระแส > จาก “คลองผดุงกรุงเกษม” ถึง “คลองประปา” จากเลขาสภาพัฒน์ถึงปลัดคลัง

จาก “คลองผดุงกรุงเกษม” ถึง “คลองประปา” จากเลขาสภาพัฒน์ถึงปลัดคลัง

18 เมษายน 2018


ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 เมษายน 2561 มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวง 2 ราย คือ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” และแต่งตั้งนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นปลัดกระทรวงการคลัง

โดยก่อนหน้านี้มีการประกาศลาออกข้ามทวีปของนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ผ่านทางไลน์กลุ่มสื่อมวลชน ทันที่ที่ประชุม ครม. วันที่ 10 เมษายน 2561 มีมติย้ายมานั่งในตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ซึ่งถูกย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แทนนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ที่ พม. มีคำสั่งให้ออกจากราชการ กรณีพัวพันกับขบวนการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง

การยื่นใบลาออกของนายสมชัย ไม่มีการยับยั้งใดๆจากนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ข่าววงในระบุว่าเป็นบุคคลที่คลุกวงในกันมาก่อน และการโยกย้ายครั้งนี้ในวงการราชการถือเป็นการลดชั้นโดยไม่มีความผิด

หากไม่นับนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์คนแรก ซึ่งถูกโอนย้ายมาจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นช่วงแห่งการสถาปนาสภาพัฒน์ การแต่งตั้ง “คนนอก” หรือข้าราชการกระทรวงอื่น มานั่งเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่มีการตั้งคนนอก เข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งประวัติการรับราชการของนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ก่อนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร. นายทศพรรับราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วน “คนนอก” ที่ถูกย้ายมานั่งเลขาธิการ สภาพัฒน์ ก่อนหน้านี้ ได้แก่ นายฉลอง ปึงตระกูล เริ่มรับราชการครั้งแรกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาในปี 2493 โอนย้ายมาเป็นข้าราชการระดับสูงของสภาพัฒน์ จากนั้นในปี 2499 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ต่อจากนายสุนทร นายฉลองเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์คนแรกที่จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1

คนถัดมา คือ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตลูกหม้อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงอุตสาหกรรม ถูกย้ายมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

ขณะที่นายอำพน กิตติอำพน เริ่มรับราชการครั้งแรก ปี 2524 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2547 นายอำพนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจะย้ายมาเป็นเลขาธิการ สภาพัฒน์

สำหรับการโยกย้ายนายปรเมธี วิมลศิริ ครั้งนี้ กระแสวิพากษ์วิจารณ์มองว่านายปรเมธีทำงานไม่เข้าตานาย ขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ของประเทศและแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านล่าช้า ขณะที่กระทรวงการคลังขับเคลื่อนงานนโยบายได้อย่างรวดเร็ว ทุกๆ สัปดาห์จะมีการนำเสนอนโยบายการคลังส่งเข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติไม่ต่ำกว่า 2 เรื่อง แต่ทำงานไม่ค่อยเข้าขากับรัฐมนตรีในสายงานที่กำกับดูแล หลายเรื่องรายงานตรงนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้รัฐมนตรีบางท่านทำเรื่องเสนอ ครม. สั่งย้ายนายสมชัย สัจจพงษ์ มาทำหน้าที่แทนนายปรเมธี และย้ายนายปรเมธีไป พม. โดยที่ไม่ได้เจรจาหรือทาบทามกันก่อน เพราะเกรงว่าจะย้ายไม่สำเร็จ ผลที่ตามมาเมื่อ ครม. มีมติ นายสมชัยแถลงข่าวลาออกจากราชการผ่านไลน์ระหว่างที่ปฏิบัติราชการในต่างประเทศ จากคลองผดุงกรุงเกษมจึงส่งผลกระทบมาถึงคลองประปา ทำให้ตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังว่างลง

“สมชัย สัจจพงษ์” คือใคร ทำอะไรมาบ้าง
นายสมชัย สัจจพงษ์ อายุ 57 ปี หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ เกียรตินิยม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจาก OHIO STATE UNIVERSITY ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2528 เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่นสักพักใหญ่ กลับมาเป็นอาจารย์พิเศษสอนระดับปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ปี 2539 นายสมชัย เข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย ฝ่ายเศรษฐกิจ กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง

หลังจากประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติต้มย้ำกุ้ง ช่วงปลายปี 2540 นายสมชัยถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการกองนโยบายวางแผนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในทีมงานเจรจาและยกร่างหนังสือแสดงเจตจำนงค์ (Letter Of Intent) ของกู้เงินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในสมัยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกาคลัง

นายสมชัยนั่งเป็นผู้อำนวยการกองนโยบายวางแผนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงปี 2543 ถูกย้ายไปเป็นผำนวยการกองนโยบายการออมและการลงทุน,ผู้อำนวยการกองนโยบานและวางแผนการคลัง และผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารความเสี่ยงด้านการคลัง จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ สศค. ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551

จากนักวิชาการ ลูกหม้อสศค. นายสมชัยเริ่มก้าวเข้าสู่กรมภาษี ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศุลกากรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ช่วงนั้นกรมศุลกากรเริ่มเข้มงวดกวดขันจับกุมขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา วันที่ 1 ตุลาคม 2553 นายสมชัยถูกย้ายมานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แค่ 1 ปี นายสมชัย ถูกย้ายกลับไปเป็นผู้อำนวยการ สศค.อีกรอบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554

นั่งอยู่ที่สศค.ได้ 2 ปี ครึ่ง นายสมชัย ได้รับการแต่งตั้งกลับไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากรรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 หลังนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เกษียณอายุราชการ นายสมชัย ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงการคลังมาจนถึงวันที่ 11 เมษายน 2561 (ยื่นหนังสือลาออก)

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งเคยผ่านงานกรมใหญ่ๆ มาหลายกรม เช่น อธิบดีกรมศุลกากร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตามประเพณีปฏิบัติของกระทรวงการคลังถือว่านายประสงค์มีความอาวุโสในทางราชการสูงที่สุดในกระทรวงการคลัง จึงไม่น่าแปลกใจที่นายประสงค์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงการคลังตามความคาดหมาย และ”ประสงค์” ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังนั่งประธานกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หลายฝ่ายจึงมองยาวถึงการต่อท่อน้ำเลี้ยงทางการเมืองในอนาคตของบางคนในรัฐบาลชุดนี้

ส่วนโผที่พลิก คือ นายเอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมสรรพากร กรมใหญ่ที่สุดในกระทรวงการคลัง

โผเดิมนายเอกนิติได้รับการทาบทามจากรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ให้ไปนั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร และโยกนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร มาเป็นอธิบดีกรมสรรพากร

ปรากฏว่าโค้งสุดท้าย ช่วงวันหยุดสงกรานต์ มีการเจรจากับผู้ใหญ่ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางคน ขอให้นายกุลิศปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรต่อไป เพราะภารกิจแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและการวางระบบพิธีการศุลกากรผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มีความก้าวหน้าไปได้ด้วยดี หากย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร นายกุลิศต้องไปเรียนรู้งานใหม่ อีกทั้งนายกุลิศยังมีภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาผลขาดทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังที่ถูกส่งไปนั่งเป็นกรรมการก่อนหน้านี้ จึงให้นายเอกนิติได้ไปเรียนรู้งานใหม่ที่กรมสรรพากร

และที่เป็นม้ามืด มาแรงวิ่งแซงรองปลัดกระทรวงการคลัง 4 คน ที่นั่งรอการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งระดับอธิบดี คือ นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีบางท่านในฐานะญาติ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แทนนายประภาส คงเอียด ซึ่งย้ายไปเป็นผู้อำนวยการ สคร.

ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องวุ่นๆ จากคลองผดุงกรุงเกษมถึงคลองประปา ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา