รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรอีก 5 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน อียิปต์ เยเมน และมัลดีฟส์ ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจ และการขนส่ง กับกาตาร์ เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งครั้งแรกของบรรดาประเทศสมาชิกกลุ่มสภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย (Gulf Cooperation Council: GCC) ที่ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี บาห์เรน กาตาร์ คูเวต และโอมาน แต่มาตรการคว่ำบาตรและการกดดันกาตาร์ให้ยอมจำนนโดยการเปลี่ยนนโยบายเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีความหมายสำคัญต่อภูมิภาคนี้และนานาประเทศ
เป็นเรื่องคาดหมายได้ยากว่า มาตรการรุนแรงของซาอุฯ จะบานปลายหรือไม่ จนนำไปสู่การเปลี่ยนระบอบปกครองของกาตาร์ โดยการส่งทหารเข้าไปกาตาร์ เพื่อให้ผู้ครองนครคนปัจจุบัน คือ อิเมียร์ทามิน บิน ฮามัด (Tamin bin Hamad) หมดอำนาจลงไป เป้าหมายดังกล่าวนี้ ต้องได้รับการสนับสนุนเห็นชอบจากสหรัฐอเมริกา ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การเปลี่ยนระบอบในตะวันออกกลางต้องอาศัยการสนับสนุนจากมหาอำนาจภายนอก ผู้นำซาอุฯ เองก็รู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการใช้มาตรการรุนแรงกับกาตาร์ หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ไปเยือนซาอุฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นครรัฐที่มี Soft Power
นับจากปี 2000 เป็นต้นมา ภายในระยะเวลา 15 ปี กาตาร์เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นประเทศอยู่ชายขอบที่หนังสือนำเที่ยว Lonely Planet เคยเขียนว่า เป็นสถานที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดในโลก กลายมาเป็นมหานครที่มีตึกระฟ้าเรียงรายแบบเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก และกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของ “ตะวันออกกลางใหม่” กาตาร์เป็นประเทศตะวันออกกลางที่มีโยบายเชิงรุกในเวทีระหว่างประเทศ และโดดเด่นในเรื่องกลยุทธ์ทำให้ประเทศกลายเป็นตราสินค้า (State Branding) โดยประสบความสำเร็จมากที่สุดเมื่อ 2 ธันวาคม 2010 ที่สมาคม FIFA เลือกให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกในปี 2022
หลังจากนั้นอีก 15 วันต่อมา พ่อค้าขายผลไม้ชาวตูนิเซียชื่อโมฮัมหมัด เบาซิซิ จุดไฟเผาตัวเอง จนกลายเป็นชนวนปฏิกิริยาลูกโซ่การประท้วงทั่วโลกอาหรับ โดยเฉพาะที่อียิปต์และลิเบีย ที่เรียกว่า อาหรับสปริง กาตาร์มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นพัฒนาการใหม่ๆ ไม่ใช่ภัยคุกคาม สำนักข่าวอัลจาซีรา ที่ตั้งอยู่ในกาตาร์ รายงานข่าวเหตุการณ์ประท้วงต่างๆ ในมุมมองแตกต่างจากสำนักข่าวทางการของประเทศเหล่านี้ แต่ท่ามกลางความปั่นป่วนทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน กาตาร์เองกลับเป็นประเทศที่มีความสงบและเจริญรุ่งเรือง
ความมั่งคั่งของพลังงานด้านก๊าซธรรมชาติ และวิสัยทัศน์ของผู้นำการเมือง ทำให้กาตาร์ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอำนาจอิทธิพลของตะวันออกกลาง กาตาร์มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากอิหร่านกับรัสเซีย แท่นขุดก๊าซธรรมชาติของกาตาร์ในบริเวณที่เรียกว่า North Field เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่สุดในโลกและแหล่งรายได้สำคัญของกาตาร์ แต่เป็นพื้นที่อยู่ติดกับแหล่งก๊าซของอิหร่าน กาตาร์ไม่มีกำลังทหารพอที่จะปกป้องแหล่งพลังงานนี้ ทำให้ต้องมีนโยบายที่เป็นมิตรกับอิหร่าน ข้อเรียกร้องของซาอุฯ ให้กาตาร์มีนโยบายต่อต้านอิหร่านจึงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
บทบาทที่โดดเด่นของกาตาร์ยังเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำอาหรับรุ่นใหม่ ที่มีอำนาจในช่วงการเปลี่ยนจากศตวรรษ 20 สู่ศตวรรษ 21 กาตาร์มีผู้นำรุ่นใหม่ชื่อ อิเมียร์ ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัน ธานิ (Emir Hamad bin Khalifa Al Thani) ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 1995 ฮาหมัดเป็นผู้สร้างสถานีโทรทัศน์ข่าวดาวเทียมอัลจาซีราขึ้นมา และแสดงบทบาทนำในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค กลางปี 2013 ฮาหมัดโอนอำนาจการปกครองให้กับบุตรชายชื่อ ทามิน บิน ฮาหมัด (Tamin bin Hamad) ทามินมีบทบาทในการสร้างระบบสุขภาพและการศึกษาที่ก้าวหน้าของกาตาร์ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022
กาตาร์มีพลเมืองประมาณ 2 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ ที่เป็นชาวกาตาร์เองมีราวๆ 3 แสนคน แต่การเป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กๆ และประชากรน้อย ไม่ได้เป็นข้อจำกัดต่อการสร้างบทบาทและอิทธิพลของกาตาร์ กาตาร์กลับมีอิทธิพลมากกว่าประเทศยักษ์ใหญ่ดั้งเดิม เช่น อียิปต์ หรือซาอุดีอาระเบีย เพราะในยุคโลกาภิวัตน์ ระยะทางใกล้หรือไกลและขนาดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญลดน้อยลงไป รายได้ที่มาจากทรัพยากรด้านพลังงาน เศรษฐกิจรูปแบบทุนนิยมโดยรัฐ ทำให้รัฐสามารถใช้ความมั่งคั่งไปลงทุนในโครงการเป้าหมายเฉพาะ ทำให้กาตาร์ประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์สร้าง “ตราสินค้าที่เป็นประเทศ” และมีอิทธิพลที่เรียกกันว่า “อำนาจอ่อน” (Soft Power)
คำว่า “ตราสินค้า” หมายถึงความคิดของผู้บริโภคต่อสินค้า คำว่า “ตราสินค้าที่เป็นประเทศ” หมายถึงความคิดของโลกภายนอกที่มีต่อประเทศนั้น กาตาร์เป็นประเทศเล็กแบบนครรัฐ จุดอ่อนคือไม่มีกำลังทหารพอที่จะปกป้องตัวเอง การอยู่รอดจึงต้องอาศัยกลยุทธ์สร้าง “ตราสินค้าประเทศ” เพื่อให้กาตาร์มีภาพลักษณ์เป็นประเทศหัวก้าวหน้าและเป็นกลางในหมู่ประเทศมุสลิม สิ่งที่คู่กันไปกับการสร้างตราสินค้าประเทศ คือ เรื่องอำนาจอ่อน ที่เป็นความสามารถของประเทศในการอาศัยวัฒนธรรม ความคิด และนโยบายการเมือง เป็นปัจจัยสร้างการยอมรับจากประเทศอื่น
ความเป็นมาของวิกฤติ
ที่ผ่านมา ซาอุฯ และยูเออีไม่พอใจต่อท่าทีและนโยบายของกาตาร์ ที่แตกต่างจากประเทศสมาชิกกลุ่ม GCC หลังจากเหตุการณ์อาหรับสปริง กาตาร์มีท่าทีเป็นมิตรกับพรรคการเมืองและขบวนการกลุ่มอิสลาม เช่น กลุ่ม Muslim Brotherhood ของอียิปต์ ขบวนการฮามาส (Hamas) สถานีข่าวดาวเทียม อัลจาซีรา ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากทางการกาตาร์ ก็รายงานข่าวการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศอาหรับ
ในคำแถลงเป็นทางการของซาอุฯ ได้กล่าวหาว่าผู้ปกครองกาตาร์กระทำการต่อต้านและละเมิดอธิปไตยของซาอุฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เช่น Muslim Brotherhood กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม ISIS ใช้สื่อโทรทัศน์ดาวเทียมโจมตีซาอุฯ จากการกระทำที่ละเมิดดังกล่าว ซาอุฯ จึงตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ทั้งหมด เช่น การทูต เศรษฐกิจ การนำเข้าอาหาร และการบิน และให้นักการทูตและชาวกาตาร์เดินทางออกจากซาอุฯ ข้อกล่าวหาของซาอุฯ สรุปได้เป็น 3 ประเด็น คือ ความสัมพันธ์ของกาตาร์กับอิหร่าน การที่กาตาร์ไม่ยอมเรียกกลุ่ม Muslim Brotherhood ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย และการสนับสนุนสถานีโทรทัศน์ข่าวดาวเทียมอัลจาซีรา
แต่สิ่งที่ไม่ชัดเจนก็คือ อะไรเป็นเหตุการณ์ที่เป็นชนวนทำให้ซาอุฯ กับอีก 5 ประเทศ ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ แต่สื่อต่างๆ รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2017 ว่า เป็นสาเหตุของวิกฤติทางการทูตครั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานข่าวว่า เดือนเมษายน กาตาร์จ่ายเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อไถ่ตัวสมาชิกราชวงศ์ 26 คน ที่ถูกพวกกองกำลังชีอะห์ในอิรักจับตัว ขณะที่เดินทางไปล่าสัตว์ทางใต้อิรัก เมื่อเดือนธันวาคม 2015 ค่าไถ่ตัว 700 ล้านดอลลาร์จ่ายให้กับกองกำลังของอิหร่านและกองกำลังพวกชีอะห์ อีก 300 ล้านดอลลาร์ จ่ายให้กับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในซีเรีย ที่เกี่ยวพันกับพวกอัลกออิดะห์ ประเด็นนี้ ซาอุฯ และยูเออีถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้าย
ในเดือนพฤษภาคม เกิดเหตุการณ์ที่เว็บไซต์สำนักข่าวกาตาร์ (Qatar News Agency) ถูกแฮ็ก สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า หน้าเว็บไซต์ของสำนักข่าวกาตาร์ปรากฏข้อความเท็จที่อ้างว่าเป็นคำพูดของอิเมียร์ ทามิน บิน ฮามัด เจ้าผู้ปกครองกาตาร์ที่กล่าวว่า “อิหร่านเป็นตัวแทนอำนาจภูมิภาคและอิสลามที่ไม่อาจเพิกเฉย และเป็นการไม่ฉลาดที่จะเผชิญหน้ากับอิหร่าน อิหร่านคืออำนาจใหญ่สำหรับเสถียรภาพของภูมิภาคนี้” กาตาร์ชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ และไม่รู้แหล่งที่มา
การไปเยือนซาอุฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนพฤษภาคม มีส่วนทำให้ทางการซาอุฯ เกิดความมั่นใจที่จะนำนโยบายแข็งกร้าวมาใช้กับกาตาร์ นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า หลังจากการมาเยือนของทรัมป์ ซาอุฯ และยูเออีเห็นเป็นช่วงโอกาสที่จะเล่นงานกาตาร์ให้ยอมจำนน เช่น เรียกร้องให้ปิดสถานีโทรทัศน์ข่าวดาวเทียม และให้กาตาร์เลิกมีนโยบายต่างประเทศแบบอิสระ ทรัมป์เองเขียนข้อความในทวิตเตอร์หลังจากเกิดวิกฤตินี้ว่า “ในช่วงที่ผมเดินทางไปตะวันออกกลาง ผมแถลงว่าจะต้องไม่มีการให้เงินสนับสนุนอุดมการณ์หัวรุนแรงอีกต่อไป บรรดาผู้นำต่างๆ ก็ชี้มือไปที่กาตาร์”
เหตุการณ์ในอนาคต
วิกฤติทางการทูตของกาตาร์ ทำให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาในตะวันออกกลาง ประเทศสมาชิกกลุ่ม GCC คือ คูเวตและโอมาน ไม่ได้ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ แต่พยายามดำเนินการหาทางออกเพื่อให้มีการประนีประนอม ส่วนตุรกีให้การสนับสนุนแก่กาตาร์ และเรียกร้องให้ยกเลิกการปิดล้อมกาตาร์
แม้ทรัมป์จะออกมาพูดต่อต้านกาตาร์อย่างเปิดเผย แต่ท่าทีของทรัมป์ก็ไปขัดกับนโยบายทางการของสหรัฐฯ เช่น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม ที่มีท่าทีเป็นกลาง สหรัฐฯ มีฐานทัพอากาศใหญ่ในตะวันออกกลางเรียกว่า al-Udeid ตั้งอยู่ในกาตาร์ ฐานทัพนี้มีปฏิบัติการทางทหารในช่วงสงครามอิรักกับอัฟกานิสถาน และมีภารกิจรับผิดชอบนับจากอียิปต์จนถึงปากีสถาน ปัจจุบัน เป็นศูนย์ปฏิบัติการทางทหาร ที่ทำสงครามกับกลุ่มรัฐอิสลาม ISIS นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ กล่าวเรียกร้องให้ผ่อนคลายการปิดล้อมต่อกาตาร์ เพราะสร้างปัญหาต่อความพยายามของสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับพวก ISIS
นับจากเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2011 เป็นต้นมา ตะวันออกกลางมีสภาพที่แตกต่างจากเดิม ในอดีต ปัญหาตะวันออกกลางถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน ระหว่างนิกายซุนนีกับชีอะห์ ปัจจุบัน ประเทศในตะวันออกกลางแบ่งขั้วออกเป็นประเทศที่สนับสนุนขบวนการอิสลามการเมืองกับประเทศที่ต่อต้านขบวนการนี้ ท่าทีนี้กลายมาเป็นนโยบายต่างประเทศของแต่ละฝ่าย วิกฤติการทูตระหว่างซาอุฯ กับกาตาร์ยิ่งทำให้การต่อสู้กับขบวนการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ยากลำบากมากขึ้น
เอกสารประกอบ
Wikipedia.org. 2017 Qatar Diplomatic Crisis.
Kristian Coates Ulrichsen. Qatar and the Arab Spring, Oxford University Press, 2014.