ThaiPublica > เกาะกระแส > อนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 จุดเริ่มต้นสู่ยุค “ปฏิปักษ์โลกาภิวัตน์” (De-Globalization)

อนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 จุดเริ่มต้นสู่ยุค “ปฏิปักษ์โลกาภิวัตน์” (De-Globalization)

28 พฤษภาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : spiegel.de2

ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดกล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีก 18 เดือน จนกว่าโลกเราจะมีวัคซีนหรือยารักษาโรค ดังนั้น ความหวังที่จะเห็นสิ่งต่างๆกลับคือสู่ภาวะปกติในเร็วๆวัน คงจะเลือนรางออกไป ที่สำคัญ คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความหวาดกลัวนี้จะยังอยู่ติดตัวกับเราไปตลอด

สิ่งที่จะมาเป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ในการปฏิสัมพันธ์ของคนเราก็คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ลูกค้านั่งได้คนเดียวบนโต๊ะในร้านอาหาร คนที่ขึ้นลิฟท์ในอาคาร จะหันหน้าไปคนละมุม สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นความจริงใหม่ (new reality) ของการดำเนินชีวิต

ธุรกิจในยุค Social Distancing

ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกประเทศทั่วโลกเห็นพ้องเป็นฉันทานุมัติว่า จะต้องทำให้เส้นกราฟการแพร่ระบาดเป็นแนวนอน ส่วนมาตรการที่ใช้คือการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อไม่ให้คนติดเชื้อมีจำนวนมาก จนระบบสาธารณสุขพังทลายลง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอิตาลี ทั้งหมดนี้หมายความว่า การแพร่ระบาดจะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคขึ้นมา

มาตรการระยะห่างทางสังคม จะยังคงดำเนินไปเป็นเวลานาน เพราะตราบใดที่ยังมีคนติดเชื้อ การแพร่ระบาดสามารถประทุขึ้นมาได้อีก งานวิจัยของ Imperial College ในลอนดอนเสนอว่า ให้ใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมเข้มข้นมากขึ้น ทุกครั้งที่จำนวนคนติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาที่ห้อง ICU พุ่งขึ้น และผ่อนคลาย เมื่อจำนวนลดลง นักวิจัยของ Imperial College ยังให้ความหมายของ “ระยะห่างทางสังคม” ว่า “ครัวเรือนทั้งหมดลดการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ภายนอกครัวเรือนลง 75%”

จากคำจำกัดความดังกล่าวหมายความว่า การเรียนการสอนที่โรงเรียนจะหายไป 2 ใน 3 แต่ในระยะสั้น การระยะห่างทางสังคมจะกระทบอย่างมากต่อประเภทธุรกิจ ที่ต้องอาศัยคนหมู่มากมารวมตัวกัน เช่น ภัตตาคาร ร้านกาแฟ สถานบันเทิง โรงแรม โรงละคร โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า สนามกีฬา เรือสำราญ สายการบิน การขนส่งสาธารณะ และสถานเลี้ยงเด็กหรือคนชรา

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดธุรกิจที่เรียกว่า “เศรษฐกิจปิดประตู” (shut-in economy) ที่ลูกค้าไม่ต้องมาใช้บริการที่ร้าน แต่อาศัยการจัดส่งสินค้าแทน บางธุรกิจจะปรับตัว เช่น ธุรกิจออกกำลังกาย ก็หันไปขายอุปกรณ์ออกกำลังให้กับลูกค้าเพื่อใช้ในบ้าน และมีการสอนการออกกำลังกายทางออนไลน์

อวสานของโลกาภิวัตน์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นบททดสอบสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะโลกาภิวัตน์ของเศรษฐกิจโลก ห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลกพังทลายลง ประเทศต่างๆกักตุนสินค้าเวชภัณฑ์ และออกมาตรการจำกัดการเดินทาง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการประเมินใหม่ต่อการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลก โลกาภิวัตน์ทำให้การแพร่ระบาดของโรค เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เวลาเดียวกัน ก็ทำให้ธุรกิจ การผลิต ของประเทศต่างๆ พึ่งพากันลุ่มลึกมากขึ้น สิ่งนี้กลายเป็นจุดอ่อนเมื่อเกิดโรคระบาด

บทความชื่อ Will the Coronavirus End Globalization as We Know It? ใน foreignaffairs.com กล่าวว่า บทเรียนจากไวรัสโควิด-19 ไม่ได้อยู่ที่ว่าโลกาภิวัตน์ล้มเหลว แต่บทเรียนอยู่ที่ว่า แม้จะมีคุณประโยชน์ แต่เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ก็มีจุดเปราะบาง แตกง่าย และรับมือไม่ได้ เมื่อเกิดแรงกดดัน หรือถูกโจมตีแบบอย่างไม่คาดหมายมาก่อน ไวรัสโควิด-19 ช่วยทำให้ประเทศและบริษัทธุรกิจทั้งหลายค้นพบว่า พวกเขามีจุดอ่อนอย่างไร

หลายทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทธุรกิจพยายามขจัดระบบสำรองการผลิต เช่น การสต๊อกชิ้นส่วนอะไหล่ของการผลิต ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงไปได้มาก เพราะเป็นการลดทรัพยากรการผลิต ที่ยังไม่ได้ใช้งาน แต่การมีชิ้นส่วนอะไหล่ที่น้อยเกินไป ก็ทำให้ธุรกิจเปาะบาง เมื่อเผชิญวิกฤติอย่างเช่นโควิด-19 ทำให้เกิดการพังทะลายของห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ

ที่มาภาพ : spiegel.de2

แนวคิดปกติทั่วไปเห็นว่า โลกาภิวัตน์ทำให้ตลาดการค้าระหว่างประเทศเติบโตขึ้นมา ผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์จากการแบ่งงานการผลิตระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิต ที่มาจากหลายประเทศ ระบบแบ่งงานการผลิตเฉพาะอย่าง ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และการเติบโตของธุรกิจ

จุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน

แต่โลกาภิวัตน์ได้สร้างระบบการผลิตที่พึ่งพากันและกันที่ซับซ้อน บริษัทผู้ผลิตยอมรับระบบห่วงโซ่อุปทานโลก โดยการผลิตเป็นแบบระบบเครือข่าย ชิ้นส่วนต่างๆของสินค้า สามารถกระจายการผลิตไปหลายสิบประเทศ การผลิตแบบชำนาญเฉพาะด้าน ยิ่งทำให้หาผู้ผลิตรายอื่นมาทดแทนได้ยาก การผลิตแบบกระจายไปทั่วโลก ทำให้ประเทศต่างๆพึ่งพาอาศัยกันและกันมากขึ้น เพราะไม่มีประเทศไหนที่จะสามารถผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ได้ในทุกขั้นตอนทั้งหมดของการผลิต แม้กระทั้งการผลิตยารักษาโรค

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นถึงจุดเปราะบางของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก เศรษฐกิจบางภาคส่วนมาถึงจุดการผลิตต้องหยุดชะงักลง เพราะการแพร่ระบาดของโรคทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศใดหนึ่ง ไม่สามารถทำการผลิตได้ เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปกังวลถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะโรงงานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าวในอิตาลี ต้องระงับการผลิตลง

ในอดีต อุตสาหกรรมการผลิตจะมีสต๊อกชิ้นส่วนการผลิต เพื่อรับมือกับวิกฤติ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ ธุรกิจจำนวนมากเห็นด้วยกับคำพูดของ Tim Cook CEO ของ Apple ที่กล่าวว่า “สต๊อกสินค้าคือสิ่งที่เลวร้ายมูลฐาน” ธุรกิจจึงหันไปอาศัยห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบบส่งมอบทันเวลา (just-in-time) แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้การผลิตแล็ปท็อปลดลง 50% และการผลิตสมาร์ทโฟนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 ลดลง 12%

สถานการณ์แบบคอขวดเหมือนกับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยังเป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้กับโควิด-19 สารเคมีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขาดแคลนในหลายประเทศ บริษัท 2 แห่งที่เป็นผู้ผลิตสารเคมีรายใหญ่ คือ บริษัทดัตช์ชื่อ Qiagen และสวิสชื่อ Roche ก็ไม่สามารถเพิ่มการผลิตสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น การขาดแคลนดังกล่าวทำให้การผลิตชุดตรวจเชื้อในสหรัฐฯ ล่าช้าออกไป

ก่อนหน้าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 จีนเป็นผู้ผลิตหน้ากากอนามัยถึง 50% ของการผลิตในโลก เมื่อเกิดโรคระบาด รัฐบาลจีนเป็นผู้ซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยนี้ทั้งหมด ทำให้เกิดการขาดแคลนในโลก หลายประเทศห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัย รวมทั้งเยอรมนี ทั้งๆที่เป็นประเทศสมาชิกกลุ่มอียู ที่มีสภาพเป็นตลาดเดียว โดยการเคลื่อนย้ายสินค้าต้องเป็นไปอย่างเสรี

สู่ยุคปฏิปักษ์โลกาภิวัตน์

บทความชื่อ The Beginning of De-Globalization ใน spiegel.de กล่าวว่า วิกฤติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐกิจโลก หลักประกันความมั่นคงในการผลิต กำลังมีความสำคัญมากกว่าเรื่องประสิทธิภาพ จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา EY กับบริษัทเยอรมัน 145 แห่ง 1 ใน 3 บริษัทมีแผนงานที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน โดยมาเน้นหนักในเรื่องความมั่นคงในการผลิต มากกว่าในเรื่องราคา

บทความของspiegel.de กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นจุดอ่อนในโมเดลเศรษฐกิจของเยอรมัน แม้จะเป็นโมเดลที่ทำให้เกิดผลกำไรในอุตสาหกรรมการส่งออก บริษัทอย่างอะดิดาส ที่ใช้ระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิตจากต่างประเทศอย่างมาก และเคยเป็นโมเดลของหลายบริษัท จะประสบปัญหาท้าทายมากที่สุด เพราะทำการผลิตสินค้าด้วยตัวเองเพียง 5% เท่านั้น แต่สินค้า 95% ของอะดิดาสผลิตโดย 630 บริษัท ที่ตั้งอยู่ใน 52 ประเทศทั่วโลก

มาตรการหนึ่งที่ใช้รับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ก็คือการหันกลับไปใช้กลยุทธ์ธุรกิจการผลิต ที่เคยอยู่คู่กับมนุษย์เรามายาวนานจากอดีต คือวิธีการการสต๊อกสินค้าหรือวัตถุดิบ แต่สต๊อกก็ทำให้เกิดภาระต้นทุน ทำให้ที่ผ่านๆมา ธุรกิจหันไปหาห่วงโซ่อุปทาน เพราะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าที่เคยปฏิบัติกันมา แต่ธุรกิจข้ามชาติกำลังทบทวนความคิดนี้ เพราะเหตุนี้ ความต้องการพื้นที่เก็บสต๊อกจึงกำลังพุ่งขึ้นอย่างมากในขณะนี้

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วยเปิดโปงให้เห็นจุดอ่อนของระบบการแบ่งงานการผลิตระหว่างประเทศ เช่น มาจากแหล่งผลิตแห่งเดียว หรือจากภูมิภาคเดียว เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมา จุดอ่อนดังกล่าวก็ปรากฏขึ้น

ขณะเดียวกัน ไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาวะการเมืองโลก เมื่อเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ประเทศต่างๆก็หันไปใช้นโยบายห้ามการส่งออก หรือเข้ายึดผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน แม้การดำเนินนโยบายนี้ จะกระทบต่อพันธมิตรหรือประเทศเพื่อนบ้าน

เอกสารประกอบ

We’re not going back to normal, March 17, 2020, technologyreview.com
The Beginning of De-Globalization, May 05, 2020, spiegel.de
Will the Coronavirus End Globalization as We Know It? March 16, 2020 foreignaffairs.com