ThaiPublica > เกาะกระแส > จุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลก เมื่อเผชิญภัยจากโรคระบาด หรือสงครามยูเครน

จุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลก เมื่อเผชิญภัยจากโรคระบาด หรือสงครามยูเครน

16 เมษายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)

Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) แถลงเมื่อเดือนมีนาคมนี้ว่า การแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain – GSC) คือการทำให้มีประเทศจำนวนมากขึ้น ได้เข้าร่วมในเครือข่ายระบบการผลิตระหว่างประเทศ ซึ่งเธอใช้คำว่า “โลกาภิวัตน์ซ้ำ” (Reglobalization)

ผู้อำนวยการ WTO กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการผลิตขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศยากจนและประเทศไม่มีทางออกทางทะเล มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการผลิต GSC การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่ทำให้การค้าโลกถดถอยลง แต่อยู่ที่การทำให้ระบบอุปทานการผลิตกลับมาแบบเดิม ต้องอาศัยการผลิตที่กระจายไปประเทศต่างๆมากขึ้น

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่อุปทานโลกประสบปัญหาชะงักงันอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลก ประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้า ความล่าช้าในการขนส่ง และราคาสินค้าสูงขึ้น นอกจากนี้ การบุกยูเครนของรัสเซียและการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก ทำให้เกิดการหยุดชะงักในด้านห่วงโซ่อุปทานโลกเพิ่มมากขึ้น

จุดเปาะบางของการผลิต GSC

บทความชื่อ The Modern Supply Chain Is Snapping ใน theatlantic.com เขียนไว้ว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริการของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์ รัฐบาลสหรัฐฯในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำกฎหมาย Defense Production Act 1950 กลับมาใช้ใหม่ ที่ให้อำนาจรัฐบาลสั่งการให้ธุรกิจผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันประเทศ แม้ธุรกิจจะขาดทุนในการผลิตก็ตาม มาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯนี้ ทำให้เห็นถึงรากฐานที่เปาะบางของระบบการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่

ในภาวะปกติ ห่วงโซ่อุปทานของโรงพยาบาลสหรัฐฯจะดำเนินการ โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งอาศัยการจัดซื้อเวชภัณฑ์ ผ่านกลุ่มการจัดซื้อรวมกันหรือ Group Purchasing Organization (GPG) ที่อาศัยซัพพลายเออร์หลายราย ระบบการจัดซื้อดังกล่าวสามารถรวบรวมการจัดซื้อได้ในปริมาณมาก แต่เมื่อเกิดปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ก็จะส่งผลกระทบต่อทุกโรงพยาบาล

ที่มาภาพ : https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/03/supply-chains-and-coronavirus/608329/

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ไม่มีภาคส่วนการผลิตใดเลยในสหรัฐฯ ที่ไม่อาศัยการผลิตจากจีน ชิ้นส่วนการผลิตมาจากจีนมีทั่วไปหมด จนธุรกิจไม่รู้ว่า สินค้าของตัวเองมีชิ้นส่วนจากจีนจำนวนมากแค่ไหน หรือธุรกิจก็ไม่รู้ว่า ตัวเองได้ชิ้นส่วนจากจีนมาอย่างไร

ทำไมห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่จึงมีจุดอ่อนจากภัยคุกคาม เช่นโรคระบาดโควิด-19 หรือสงครามในยูเครน ปัญหาจุดอ่อนดังกล่าวมาจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ในบทบาทการของจีน ที่มีต่อการผลิตสินค้าในโลกเรา

จีนกับห่วงโซ่อุปทานโลก

บทความใน Harvard Business Review (HBR) ชื่อ How Coronavirus Could Impact the Global Supply Chain ผู้เขียนโดย David Simchi-Levi ผู้เชี่ยวชาญด้าน Global Supply Chain กล่าวว่า จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2001 เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2002 เศรษฐกิจจีนมีสัดส่วน GDP เท่ากับ 4.3% ของโลก ปัจจุบันอยู่ที่ 16% หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า

นอกจากสัดส่วนเศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจโลก ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่สำคัญพอๆกัน คือแรงกดดันในการลดต้นทุนของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ธุรกิจต่างๆหันไปใช้กลยุทธ์เรียกว่า lean manufacturing คือวิธีการผลิตที่ลดการสูญเปล่า เช่นการมีสินค้าในสต๊อกต่ำ กลยุทธ์ offshoring คือย้ายการผลิตไปต่างประเทศ และกลยุทธ์ outsourcing คือการโอนการผลิตให้กับผู้รับเหมาภายนอก หรือในต่างประเทศ

บทความของ HBR กล่าวว่า มาตรการของธุรกิจในลดต้นทุนการผลิตดังกล่าว หมายความว่า เมื่อเกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานขึ้นมา การผลิตจะหยุดลงอย่างรวดเร็วทันทีทันใด เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต บริษัทต่างๆเน้นการมีสต๊อกสินค้าต่ำ ทำให้มีสินค้าอยู่ในมือเป็นเวลา 15-30 วัน

วิธีการนี้ทำให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานมากขึ้นเช่นเดียวกัน บริษัทโตโยต้าก็เพิ่งแถลงว่า การผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นของไตรมาสที่ 2 ในปี 2022 จะลดลง 20% เพราะห่วงโซ่อุปทานยังประสบปัญหาที่ยืดเยื้อจากโรคระบาด

บริษัทระดับโลกจำนวนมาก ที่ยังมองไม่ออกว่า ธุรกิจของตัวเองมีความเสี่ยงอย่างไรจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในเอเชีย ทั้งนี้เพราะว่า มีบริษัทไม่กี่แห่งที่มีข้อมูลทั้งหมด ในเรื่องสถานที่ตั้งของโรงงานการผลิต ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้แก่ซัพพลายเออร์ของตัวเอง

ที่มาภาพ : aei.com

ที่ผ่านมา เหตุการณ์ เช่น การแพร่ระบาดของโรคซาร์สปี 2002-2003 ภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ระเบิดในปี 2010 แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นปี 2011 และน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทยปี 2011 ทำให้ธุรกิจเพิ่มสินค้าในสต๊อกนาน 15-30 วัน เทศกาลวันหยุดตรุษจีนที่นาน 1 สัปดาห์ อาจทำให้ธุรกิจเพิ่มสินค้าในสต๊อกอีก 1 สัปดาห์ ดังนั้น หากห่วงโซ่อุปทานเกิดหยุดชะงักที่นานกว่านี้ การผลิตก็ต้องหยุดลงทันที

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในระยะแรกของโควิด-19 บริษัทฮุนไดก็ประกาศระงับการผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้ เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนจากจีน เนื่องจากการขนส่งจากจีนมาสหรัฐฯหรือยุโรป ใช้เวลาราว 30 วัน แต่การขนส่งมาเกาหลีใต้ ใช้เวลาน้อยกว่านี้ ดังนั้น การหยุดชะงักของการผลิตในเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น จะเกิดเร็วขึ้นกว่าในสหรัฐฯหรือยุโรป

การทำงานของ GSC ที่เปลี่ยนไป

David Simchi-Levi กล่าวว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดคลื่นกระทบไปทั่วโลก สิ่งนี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทานโลก ธุรกิจจะถูกแรงกดดันให้กระจายสถานที่ประกอบการผลิตออกไปหลายประเทศ ผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ง่ายที่จะกระจายการผลิตไปที่ต่างๆ แต่บางอย่างก็ทำได้ยาก

การผลิตยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Heparin) อาจจะยังทำการผลิตในจีน แต่เสื้อผ้าของร้าน H & M หรือ Zara อาจย้ายการผลิตไปที่อื่น เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือมาเลเซีย โดยที่ธุรกิจยังได้ประโยชน์จากค่าแรงถูกเช่นเดิม หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ สามารถย้ายไปผลิตที่เม็กซิโกหรือบราซิล แต่ชิ้นส่วนบางอย่างก็ไม่สามารถกระจายแหล่งซื้อจัดหา เช่น การที่โลกเราพึ่งพาอย่างมากกับเซมิคอนดักเตอร์ชิปที่ผลิตจากไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจทั่วไปที่ว่า โลกาภิวัตน์มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว อาจเป็นความเข้าใจที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง รายงานล่าสุดของ UNCTAD เปิดเผยว่า การค้าโลกในปี 2021 มีมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ มากเป็นประวัติการณ์ สูงกว่ามูลค่าการค้าโลกในปี 2020 ถึง 25% และสูงกว่าปี 2019 ก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 13%

UNCTAD เปิดเผยอีกว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 การค้าของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งการนำเข้าและส่งออก มีปริมาณที่มากกว่าปี 2019 แต่การค้าของประเทศกำลังพัฒนา กลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก การส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นถึง 30% เทียบกับปี 2020
ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 การค้าโลกในทุกภาคส่วนเติบโตอย่างมาก ยกเว้นการค้าด้านอุปกรณ์โทรคมนาคม รถยนต์ และอุปกรณ์วัดความแม่นยำต่างๆ ที่เติบโตในระดับกลางๆ เพราะปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์

เอกสารประกอบ

The Modern Supply Chain Is Snapping, theatlantic.com
How Coronavirus Could Impact the Global Supply Chain by Mid-March, hbr.org
Global trade hits record high of $28.5 trillion in 2021, unctad.org