ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศึกษาจากเสิ่นเจิ้น” จากหมู่บ้านชนบทสู่นครหลวง เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำเพิร์ล

“ศึกษาจากเสิ่นเจิ้น” จากหมู่บ้านชนบทสู่นครหลวง เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำเพิร์ล

23 กันยายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ในอดีตก่อนเปิดประเทศ ธรรมาภิบาลการปกครองของจีนในสมัยสังคมนิยม คือการผลิตนโยบายเรื่อง “การศึกษาแบบอย่าง” (model) กับตัวบุคคล โรงงาน หรือท้องถิ่นใดหนึ่ง ในสมัยประธานเหมา เจ๋อตุง คำขวัญของจีนคือ “ศึกษาจากต้าชิ่ง” ในเรื่องอุตสาหกรรม และ “ศึกษาจากต้าจ้าย” ในเรื่องเกษตรกรรม ทั้งเพื่อแสดงว่า จิตใจรวมหมู่ของคนเรา สามารถเอาชนะอุปสรรคทางเศรษฐกิจ

แต่ในยุคหลังเหมา เจ๋อตุง เสิ่นเจิ้นกลายเป็นแบบอย่างของความสำเร็จในนโนบายการเปิดประเทศ โมเดลเศรษฐกิจของเสิ่นเจิ้นกลายเป็นผลิตผลการพัฒนาที่เรียกว่า “จีนสมัยใหม่” หลังจากประสบความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และความปั่นป่วนทางการเมือง ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-76) จีนเริ่มใช้นโยบายตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อบูรณาการจีนกับเศรษฐกิจโลก ลักษณะคล้ายๆกับไต้หวันและเกาหลีใต้ เคยตั้ง “เขตผลิตเพื่อส่งออก” ขึ้นมา

แต่ไม่มีเมืองไหนในโลก ที่เติบโตรวดเร็วเท่ากับเสิ่นเจิ้น ในปี 1979 เมื่อจีนเริ่มใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เสิ่นเจิ้นยังเป็นหมู่บ้านชนบทเล็กๆ มีประชากรแค่ 30,000 คน ล้อมรอบหมู่บ้านคือทุ่งนา ปัจจุบัน เสิ่นเจิ้นมีประชากร 13 ล้านคน มากกว่านิวยอร์ก ตึกสูงในเสิ่นเจิ้นมีอายุไม่เกิน 30 ปี ความสำเร็จของเสิ่นเจิ้นมีอยู่หลายด้าน เช่น การพัฒนาของเมือง ระบอบสังคมนิยมของจีน ที่สามารถบูรณาการกับเศรษฐกิจกลไกตลาด และยังเป็นแหล่งที่บรรดาเจ้าหน้าที่ของจีน จะมาเรียนรู้ “ศึกษาจากเสิ่นเจิ้น” เพื่อเข้าใจเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด

ที่มาภาพ : https://www.press.uchicago.edu/ucp/books/book/chicago/L/bo24731869.html

จุดเริ่มต้นโมเดลการพัฒนา

หนังสือชื่อ Learning from Shenzhen (2017) เขียนไว้ว่า แนวคิดการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของเสิ่นเจิ้นขึ้นมาในปี 1979 นั้น ผู้นำจีนหัวปฏิรูปต้องประสบปัญหาท้าทายว่า เขตเศรษฐกิจจะกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่อนปรนให้แก่พวกล่าอาณานิคมตะวันตกสมัยใหม่หรือไม่ เหมือนกับที่หลังจากพ่ายแพ้สงครามฝิ่นในปี 1842 จีนถูกบังคับต้องให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปี หรือว่ามีหนทางใด ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นประโยชน์ต่อจีน โดยที่ไม่เสียหลักการเรื่องอธิปไตย

ปัญหาดังกล่าวนี้คือสิ่งที่ท้าทายเติ้งเสี่ยวผิงว่า อะไรคือวิธีการดีสุดที่จีนจะเชื่อมโยงกับโลกภายนอก เติ้งเสี่ยวผิงสนับสนุนการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา นอกจากต้องการจะดึงเงินทุนจากต่างชาติ ยังต้องการให้เป็นแบบอย่างการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนทั่วประเทศ หากจะไปเริ่มที่เมืองใดเมืองหนึ่ง อาจมีปัญหาโต้แย้งกันมาก กล่าวกันว่า เติ้งเสี่ยวผิงพูดเปรียบเทียบเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ว่า “เยนอานก็เป็นเขตๆหนึ่งเหมือนกัน” ในสมัยสงคราม เยนอาน (Yanan) มณฑลส่านซี คือศูนย์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่อยู่ในป่าเขา

ปี 1979 จีนประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง คือ เสิ่นเจิ้น ซูไห่ ซัวเถา และเซียะเหมิน แต่เสิ่นเจิ้นที่อยู่ติดกับฮ่องกง เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่และโด่งดังที่สุด แนวคิดของเติ้งเสี่ยวผิงเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้จำกัดเรื่องการผลิตเพื่อส่งออก แต่ยังเป็นเขตที่มีความหลากหลายในอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการท่องเที่ยว และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นจุดที่สามารถดึงดูดนักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเล จากฮ่องกงและไต้หวัน

จากเขตเศรษฐกิจสู่การส่งออก

Learning from Shenzhen เขียนไว้ว่า ปี 1980 เมื่อจีนตั้งเขตเศรษฐกิจเศษขึ้นมานั้น การส่งออกกำลังเป็นโมเดลเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับกันแล้วอย่างกว้างขวาง เพราะนโยบาย “การผลิตทดแทนการนำเข้า” ประสบความล้มเหลว แต่ทว่า ลำพังเพียงแค่การตั้งเขตผลิตเพื่อการส่งออก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ไม่มากมายอะไร

จนกระทั้งเมื่อไต้หวันกับเกาหลีใต้ นำเอาแนวคิดการผลิตเพื่อส่งออก มาเป็นนโยบายการพัฒนาของประเทศโดยรวม ทำให้กลายเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการส่งออกเป็นตัวนำ นโยบายดังกล่าวสร้างความสำเร็จให้กับ “เสือแห่งเอเชีย” ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน เวลาต่อมา นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ก็กลายเป็นยุทธศาสตร์ของจีน ในส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การใช้ยุทธศาสตร์การผลิตเพื่อส่งออก ทำให้การผลิตอุตสาหกรรมย้ายจากประเทศตะวันตก มายังโรงงานในเอเชียที่ค่าแรงถูก ในช่วงปี 1980-2005 การจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตของเอเชียตะวันออก เพิ่มจาก 27 ล้านคน เป็น 69 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 42 ล้านคน ตัวเลขนี้ช่วยสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของเอเชียในด้านการผลิตอุตสาหกรรม เพราะภูมิภาคอื่นๆ มีการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง

เมื่อจีนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การผลิตอุตสาหกรรมกำลังย้ายฐานการผลิตสู่แหล่งที่ได้เปรียบด้านต้นทุน เสิ่นเจิ้นจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตอุตสาหกรรมโลก แต่เมื่อเติบโตไปได้ระยะเวลาหนึ่ง เสิ่นเจิ้นก็เผชิญกับปัญหาการท้าทาย 2 อย่าง คือ การผลิตอุตสาหกรรมของโลก ย้ายจากการใช้แรงงานเข้มข้น มาเป็นการผลิตที่อาศัยความรู้ และมณฑลต่างๆของจีนแข่งขันกัน ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

นับจากปี 1985 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมไฮเทคเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเสิ่นเจิ้น บริษัทไฮเทคที่เป็นธงนำของจีน เช่น หัวเหว่ยและเทนเซนต์ ตลอดจน Foxconn ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ Dell, HP และ Apple ต่างก็มีโรงงานผลิตในเสิ่นเจิ้น การผลิตสินค้าไฮเทคมีสัดส่วน 60% ของการผลิตทั้งหมด ขณะเดียวกัน เสิ่นเจิ้นก็หันมาเน้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ หรือแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่คาร์บอน รวมทั้งธุรกิจด้านการเงิน เช่น บริการเรื่องเงินร่วมลงทุน ฯลฯ

แผนพัฒนาเขต Greater Bay Area ที่มาภาพ : https://www.bayarea.gov.hk/en/home/index.html
ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/business-47287387

โครงการ Greater Bay Area

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศแผนพัฒนาเขต Greater Bay Area ที่ประกอบด้วยกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เพื่อสร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแบบเดียวกับซิลิคอนแวล์เลย์ของสหรัฐฯ โดยในปี 2025 เสิ่นเจิ้นจะมีบทบาทเป็นแนวหน้าของการเป็นมหานครชั้นนำในด้านการพัฒนาที่มีคุณภาพ ศูนย์กลางนวัตกรรม การประกอบการและการสร้างสรรค์

เว็บไซต์ xinhuanet.com รายงานว่า ในปี 1979 ก่อนจีนจะเปิดประเทศ เศรษฐกิจของเสิ่นเจิ่นมีมูลค่าแค่ 196 ล้านหยวน ปี 2018 พุ่งขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านหยวน หรือ 335 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เสิ่นเจิ้นทั้งเมืองมีมูลค่าผลิตภัณธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่าฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ เฉลี่ยพื้นที่ 1 ตารางเมตรของนครเสิ่นเจิ้น สร้างเศรษฐกิจมูลค่า 1.2 พันล้านหยวนหรือ 168 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เสิ่นเจิ้นได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงของ Greater Bay Area คำว่า Greater Bay Area มีความหมายทั้งทางภูมิศาสตร์ และการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของจีนใต้ แต่สำหรับจีนเอง เสิ่นเจิ้นหมายถึงอุตสาหกรรมไฮเทค ศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ และการพัฒนากับวิจัย ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของ Greater Bay Area มีมูลค่า 1.34 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2030 คาดว่าจะเพิ่ม 3 เท่าเป็น 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ หาก Greater Bay Area เป็นประเทศ จะมีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ G-20

ความสำเร็จของเสิ่นเจิ้นนั้น คล้ายๆกันกับความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันและเกาหลีใต้ จากจุดเริ่มต้นที่เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่ผลิตเพื่อส่งออก กลายเป็นโมเดลที่จีนนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศ จนกลายเป็น “โรงงานโลก” และการบูรณาการของจีนกับเศรษฐกิจโลก

Hong Kong Science Park ที่มาภาพ :https://www.bayarea.gov.hk/en/opportunities/it.html#opportunitiesPhoto-1

ประเทศต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่อินเดียจนถึงแอฟริกา รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนมองเสิ่นเจิ้นเป็นแบบอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในปี 2011 ประธานสมาคมอุตสาหกรรมของเยอรมัน เคยเสนอวิธีแก้วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซว่า กรีซควรจะเปลี่ยนเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ภายในกลุ่มยูโรโซน

แต่สำหรับเสิ่นเจิ้น ทุกวันนี้ไม่ได้มองตัวเองว่า เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังจะเป็นมหานครของโลก ที่ไล่ตามนครเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลก อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง โตเกียว หรือนิวยอร์ก และมุ่งมั่นที่จะเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่

เอกสารประกอบ
Learning from Shenzhen, edited by Mary Ann O’Donnell, Winnie Wong and Jonathan Bach, The University of Chicago Press, 2017.