ThaiPublica > คอลัมน์ > PISA 2015 บทเรียนสำคัญจากระดับนานาชาติ

PISA 2015 บทเรียนสำคัญจากระดับนานาชาติ

21 ธันวาคม 2016


ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ทุกคนในวงการการศึกษาคงไม่พลาดติดตามข่าวเรื่องการประกาศผลการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) ประจำปี 2015 หรือ PISA 2015 ที่จัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD โดยการสอบในครั้งนี้ OECD เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นหลัก (ข้อสอบกว่าร้อยละ 60 เป็นข้อสอบวิทยาศาสตร์) และเป็นครั้งแรกที่จัดการสอบทั้งหมดด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทั้ง 72 ประเทศที่ต้องส่งตัวแทนเยาวชนอายุ 15 มากกว่า 500,000 คนเข้าร่วมสอบด้วยระบบใหม่นี้(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

pisa1

ผลการสอบในปีนี้ประเทศไทยทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ได้เท่ากับ 421 409 และ 415 ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากการสอบในปี 2012 ประมาณ 11-32 คะแนน โดยวิชาการอ่านมีการลดลงมากที่สุด ทำให้ประเทศไทยมีอันดับคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ที่ลำดับที่ 54 ทั้งคู่ ส่วนวิชาการอ่านได้อันดับที่ 57 จาก 72 ประเทศที่เข้าร่วมประเมินในครั้งนี้ ส่วนประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยรวมสามวิชาสูงสุด 10 อันดับเรียงตามลำดับ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง-จีน ญี่ปุ่น มาเก๊า-จีน เอสโตเนีย ไต้หวัน แคนาดา ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ และ จีน-4 มณฑล จะเห็นว่า 7 ใน 10 ล้วนเป็นประเทศจากเอเชีย โดยประเทศเวียดนามได้คะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลกในการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านนั้นเวียดนามทำอันดับได้ที่ 21 และ 27 จาก 72 ประเทศตามลำดับครับ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

pisa2

pisa3

หลายท่านอาจสงสัยว่า “แล้วเยาวชนไทยที่ได้เหรียญโอลิมปิกวิชาการทุกปี ปีละหลายสิบเหรียญ มากกว่าหลายประเทศ หายไปไหน ทำไมคะแนนเฉลี่ยของไทยถึงไม่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก?”

เรื่องนี้ OECD ได้ให้ความกระจ่างเอาไว้ด้วย Pie Chart ที่แสดงจำนวนและสัดส่วนเยาวชนผู้ทำคะแนน PISA ได้สูงสุดในระดับที่ 5-6 ถ่วงน้ำหนักประชากรของแต่ละประเทศเทียบประชากรโลก สังเกตได้ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีเยาวชนอายุ 15 ที่ได้คะแนนสูงสุดมากถึง 300,000 คน คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของประชากรวัยนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ญี่ปุ่น แม้จะมีเยาวชนอายุ 15 ที่ได้คะแนนสูงสุด 174,000 คน ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทียบกับฐานประชากรแล้วกลับสูงมากถึงร้อยละ 15.3 ของประชากร ส่วนสิงคโปร์ แม้จะได้คะแนนเฉลี่ยเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เมื่อนำเด็กเก่งทั้งหมดจากประเทศสิงคโปร์ไปเทียบสัดส่วนกับประชากรโลกแล้ว ชิ้น Pie สิงคโปร์เหลือเล็กนิดเดียวอยู่ทางด้านบนซ้ายของภาพ ส่วนประเทศไทยนั้นมีจำนวนเด็กเก่งอยู่หลักพันคนเท่านั้น จึงแสดงอยู่รวมกับอีก 50 ประเทศที่เหลือในส่วนอื่นๆ (Others)

pisa4

แม้ผลคะแนนสอบ PISA แต่ละครั้งจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่นักการศึกษาจำนวนมากทั่วโลกกลับไม่เชื่อว่าข้อสอบ PISA ซึ่งวัดเพียงแค่ทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) ของผู้เข้าสอบใน 3 วิชา ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง สามารถประเมินความสำเร็จของระบบการศึกษาได้ สังคมยังคาดหวังทักษะและคุณลักษณะอื่นๆ ของเยาวชนอีกมากมายที่ข้อสอบ PISA วัดไม่ได้

Professor Andreas Schleicher ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาแห่งองค์การ OECD ก็ออกมายอมรับว่า OECD เองกำลังพัฒนาข้อสอบ PISA ให้สามารถวัดทักษะเชิงพฤติกรรม (Non-cognitive Skills) ที่สังคมคาดหวังจากการศึกษาในอนาคต เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ ที่สำคัญ OECD มิได้ต้องการให้ประเทศต่างๆ นำคะแนน PISA ไปจัดอันดับแข่งขันกัน แต่ต้องการให้นำผลการวิเคราะห์คะแนน PISA ไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและพัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งในแง่การส่งเสริมคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยบทเรียนที่สำคัญจาก PISA 2015 ครั้งนี้คือ

1) แม้ยากจนก็เก่งได้ถ้าระบบดี แม้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยเฉพาะสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของผู้เรียนและโรงเรียนคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคะแนน PISA ของนักเรียน แต่กลับมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่มีระบบการศึกษาที่สามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กยากจน ได้ไม่แพ้ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศเวียดนาม และเอสโตเนีย เป็นต้น

2) ครูต้องพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกัน ครูเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของเยาวชนในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ผลการวิเคราะห์ของ OECD ชี้ให้เห็นว่า ครูที่มีเทคนิคการสอน (Instructional Process) ที่ดี โดยเฉพาะเทคนิคการสอนที่มีความยืดหยุ่นทั้งต่อผู้เรียนที่มีความสมรรถนะสูงและต่ำ รวมทั้งผู้เรียนที่มีปัญหาพฤติกรรม นอกจากนั้น OECD พบว่า ผู้เรียนที่ได้รับคำแนะนำ (Feedback) จากครูเป็นรายบุคคลมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นถึงทักษะการเรียนรู้ที่ดีกว่า ที่สำคัญ ประเทศส่วนใหญ่จะมีผลคะแนนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยทางสถิติ หากครูช่วยเหลือกัน พัฒนาการเรียนการสอน (เรารู้จักกันในชื่อของ PLC – Professional Learning Community) โดยพบว่าสูงขึ้นเฉลี่ย 9 คะแนนในบรรดากลุ่มประเทศ OECD บางประเทศสูงขึ้นมาก เช่น ประเทศสโลวีเนียที่สูงขึ้นกว่า 36 คะแนน เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่ไม่มี PLC

3) เวลาเรียนไม่สำคัญเท่าเรียนอย่างไร คุณภาพการใช้เวลาในชั้นเรียนสำคัญกว่าจำนวนเวลาที่ใช้ ผลการวิเคราะห์ของ OECD พบว่า ระบบการศึกษาที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากทั้งในชั้นเรียนและหลังเลิกเรียน ประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุดทุกประเทศใช้เวลาเรียนต่ำกว่าปีละ 1,000 ชั่วโมงทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น ประเทศฟินแลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น ล้วนใช้เวลาเรียนรวมทั้งในและนอกชั้นเรียนน้อยกว่าไทยราว 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

4) เรียนด้วยความสุขและมุ่งสู่อนาคต อีกปัจจัยหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในบ้านเราเท่าใดนัก แต่ OECD แสดงให้เห็นว่ามีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของเด็กเยาวชนในระดับนานาชาติ คือความสุขในการเรียนรู้ และความคาดหวังในการประกอบอาชีพของนักเรียน โดยผลการวิเคราะห์ทางสถิติชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่สนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ และสนใจประกอบอาชีพสายวิทยาศาสตร์ในอนาคต ล้วนทำคะแนนได้ดีในวิชาวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น ดังนั้น ครูและสถานศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กเยาวชนรักและสนุกกับการเรียนรู้ รวมทั้งเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสำคัญการเรียนรู้ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต จะช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีได้

5) ในไทย นักเรียนหญิงเก่งกว่านักเรียนชายสวนทางโลก ความแตกต่างของผลคะแนนระหว่างเพศของเยาวชนไทยมีผลตรงกันข้ามกับค่าเฉลี่ยนานาชาติซึ่งนักเรียนชายมีคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนหญิงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่นักเรียนหญิงไทยกลับทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ได้สูงกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยทางสถิติ เช่นเดียวกับวิชาการอ่านที่นักเรียนหญิงไทยก็ยังคงทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนชายอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนชายหญิงไทยไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

6) ครูใหญ่ครูน้อยสำคัญกว่ารัฐบาลกลาง OCED พบว่า บทบาทความเป็นผู้นำของครูและผู้อำนวยการโรงเรียนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของผู้เรียน และมากกว่าการสั่งการจากหน่วยงานส่วนกลางซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์ทางลบกับคะแนนสอบของนักเรียนในการสอบครั้งนี้ โดย OECD อธิบายว่า ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในปัญหาและบริบทของโรงเรียนและผู้เรียนมากที่สุด การมีอิสระในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในโรงเรียนของตนเองย่อมจะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าให้ผู้อื่นเป็นผู้ตัดสินใจ

แม้ว่าคะแนนของประเทศไทยในรอบนี้จะยังไม่ดีขึ้นกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่การสอบ PISA ก็ไม่ได้วัดทุกสิ่งทุกอย่างของการศึกษาและคุณภาพเยาวชนได้ ยังมีสิ่งดีๆ อีกมากของระบบการศึกษาไทยและเด็กไทยที่ไม่แพ้ใครในโลกแต่ไม่อาจวัดได้ด้วยการสอบ 3 วิชาภายใน 2 ชั่วโมง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

pisa5

ทุกคนในแวดวงการศึกษาไทยควรเรียนรู้จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสอบ PISA 2015 ในครั้งนี้ และนำไปเตรียมการอย่างเป็นรูปธรรมให้ประเทศไทยมีพัฒนาการในทางที่ดียิ่งขึ้น โจทย์สำคัญครั้งต่อไปในปี 2018 คือเรื่องความสำคัญในการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) ซึ่งข้อสอบจะเน้นเรื่องการอ่านเป็นหลัก และในปี 2021 จะเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ซึ่งองค์การ OECD ได้เริ่มทำงานร่วมกับ สสค. สสวท. และกระทรวงศึกษาธิการแล้ว หากประเทศไทยใช้โอกาสที่ได้เป็นกลุ่มประเทศนำร่องนี้อย่างจริงจังเราก็จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในต้นแบบของโลกได้ในอนาคต

ขณะนี้ สสค. สพฐ. และ สสวท. กำลังร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ร่วมกับองค์การ OECD และอีก 14 ประเทศทั่วโลกซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสอบ PISA ในปี 2021 (พ.ศ. 2564) โดยในปีการศึกษา 2559 มีโรงเรียน 107 โรงเรียนและเด็กเยาวชน 2,000 คน รวมทั้งครูและศึกษานิเทศก์ 150 คนเข้าร่วมโครงการวิจัย

หากรัฐบาลไทยขยายผลการวิจัยนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยจะมีความพร้อมในการประเมินในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างแท้จริง